วันอังคารที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2557

นายกมาจากดาวอังคาร พวกสื่อสารมวลชนมาจากดาวศุกร์


ช่วงนี้มีแต่คนบ่น เสียงกร่นด่าว่า กล่าวหารัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ มากขึ้นทุกวัน สังเกตดูจากโพลล์ที่เพิ่งออกมา ก็มีนัยสำคัญว่าคะแนนนิยมท่านเริ่มลดลง เมื่อเทียบกับช่วงที่เพิ่งจะเข้ามา นี่เพิ่งผ่านไปได้เพียง 5 เดือนเท่านั้นเอง และโร้ดแม็ปก็เดินไปตามแผนที่ท่านได้วางเอาไว้ แล้วเหตุไฉนกระแสความนิยมจึงเดินสวนทางเช่นนี้ สาเหตุคงมาจากผลงานที่ไม่เข้าตา ต้องใจประชาชนมากนัก เราจึงขอลองมาไล่เรียงดูเล่นๆ เอาคร่าวๆ กันหน่อย ได้แก่

 
 
 

-นโยบายปะผุโป๊วสีในช่วงแรกๆ ที่เพิ่งเข้ามา เช่น จัดระเบียบสื่อทีวี โดยเฉพาะดาวเทียมพวกคอการเมืองทั้งหลาย โดยคำสั่งประกาศกฏอัยการศึก , การจัดระเบียบวินมอเตอร์ไซด์,รถตู้,รถเมล์,รถยนต์ส่วนบุคคล,รถแท็กซี่,รถไฟหวานเย็น  (ถ้ารถไฟฟ้าไม่วิ่งตรงรางก็คงโดนจัดระเบียบด้วย)  ล็อตเตอรี่ราคาแพง,ราคาสินค้าในห้างแพง,รวมถึงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งหลาย,ราคาน้ำมันลดลงเป็นบางชนิด แต่เพิ่มสวนทางในราคาแก๊สแทนในเวลาต่อมา, หาบเร่แผงลอยที่ตั้งบนทางเท้าและล้ำเส้นจนคนต้องลงไปเดินบนถนน, จัดระเบียบจราจร เข้มงวดกฎให้มากขึ้น,จับกุมพวกมีอาวุธ ยาบ้า ยาเสพติด,จับกุมแหล่งการพนัน-ตู้ม้า-โต๊ะบอล ,การจับกุมหรือเข้าไปตรวจสอบผู้บุกรุกที่ดิน ป่าสงวน หรือเขตอุทยาน ,ตรวจสอบโกดังรับจำนำข้าว เพื่อประเมินความเสียหายและสต็อกข้าวที่เหลือ ,เข้มงวดสถานบันเทิง ปราบแก็งค์ซิ่งมอเตอร์ไซด์ ,กวดขันเรื่องวัยรุ่นตีกัน ,การทำแท้งหรือรับจ้างอุ้มบุญ ,จัดระเบียบพวกหากินบริเวณชายหาด,ออกหมายจับแกนนำจาบจ้วงสถาบันหมิ่นเบื้องสูง (เพิ่งมาทำจริงจังในช่วงหลัง) ,จับกุมเว็บหมิ่นสถาบัน ดูเหมือนทุกอย่างเข้าไปปะผุ ตบแต่งให้ดูดี แต่เป็นปัญหาหมักหมมมานาน แต่ดูเหมือนยิ่งแก้ มันก็วนกลับมาใหม่ไม่จบสิ้น เนื่องจากไม่ได้ขุดรากถอนโคนที่ต้นตอของปัญหาที่แท้จริง เพียงทำเพื่อสร้างภาพว่าได้ทำในทุกเรื่อง เหมือนที่ท่านมักมาพูดแถลงทุกคืนวันศุกร์ในช่วงเวลาไพร์มไทม์ ทั้งๆ ที่งานเหล่านั้นเป็นส่วนงานที่พวกข้าราชการมีหน้าที่ต้องทำและมารายงานต่อท่าน แต่ท่านนำเอาสิ่งเหล่านี้มาพูดให้ประชาชนฟังว่านี่คือผลงานที่ทำลงไป เอามาพูดให้ประชาชนฟัง บังคับให้ฟัง ไม่เอาไปออกช่อง 11 เพราะไม่มีคนดู แต่ประชาชนต้องเปลี่ยนหนีไปช่องเคเบิ้ลทุกทีที่มีเธอ หรือบทเพลงคืนความสุขตามมาหลอกหลอนอีกแล้ว  
 
 

-พอเข้าสู่นโยบายหลักจริงๆ  กลับดูเลื่อนลอยจับต้องไม่ค่อยได้ และไม่ค่อยเป็นรูปธรรมมากนัก หรือเป็นรูปธรรม แต่ก็ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนอะไร อาทิ เรื่องจำนำข้าว มีการสรุปตัวเลขความเสียหายออกมา กว่า 18 ล้านตัน เหลือเป็นข้าวดีอยู่เพียง 10% ที่เหลือคือความเสียหาย คิดเป็นมูลค่าเกือบ 800,000 ล้านบาท ซึ่งหม่อมอุ๋ย (รองนายกฝ่ายเศรษฐกิจ) ออกมาเคาะกะลาแล้ว บอกว่าจะแก้ด้วยการออกเป็นพันธบัตรกระทรวงการคลังเพื่อล้างหนี้ก้อนโตจากนโยบายรับจำนำข้าว ทันทีที่มีการโยนกระดูกออกมา ผู้สื่อข่าวก็เอาไมค์ไปทิ่มปาก หม่อมอุ๋ยแล้วถามว่า เอ้า แล้วคนทำผิดไม่ต้องร่วมรับผิดชอบเหรอนี่ กลายเป็นประชาชนต้องมาเป็นผู้แบกรับหนี้ ก้อนนี้ที่ประชาชนไม่ได้เป็นผู้ทำ คล้ายเหตุการณ์ตอนช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งช่วงปี 40 ที่รัฐบาลสมัยนั้น ก็แก้ปัญหาหนี้สถาบันล้มกว่า 50 แห่งด้วยการ ตัดขายทอดตลาดทรัพย์สิน ให้ปรส.มาดูแล และออกเป็นพันธบัตรช่วยชาติเพื่อล้างหนี้ คราวนี้ก็อีหร็อบเดียวกัน แถมนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประยุทธ์) ก็ออกมาสำทับเรื่องนี้ว่า คนผิดก็ไปว่ากันที่ศาล ก็ไปฟ้องกันต่อไป จะให้รัฐบาลไปไล่บี้งั้นเหรอ คงไม่ได้ กล่าวโดยสรุปก็คือ ท่านจะไม่ลงไปสั่งการหาตัวผู้กระทำความผิด ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของศาล ทั้งๆ ที่ท่านเป็นรัฐบาลที่มาจากการทำรัฐประหาร และสาเหตุหนึ่งของการรัฐประหารครั้งนี้ ก็คือไม่อาจนั่งทนรอต่อความฉิบหายของประเทศจากโครงการรับจำนำข้าว ท่านจึงเข้ามาทำรัฐประหาร ส่วนข้ออ้างที่ท่านบอกว่า เข้ามาเพราะ 2 ฝ่ายทะเลาะกัน จะฆ่ากันตายอยู่แล้ว อันนี้ผู้เขียนคิดว่าฟังไม่ค่อยขึ้น คือถ้าใช้สาเหตุข้อนี้จริงๆ ท่านควรเข้ามาให้เร็วกว่านี้ ตั้งแต่ที่มีคนตายศพแรกแล้ว ทำไมรอจนมีคนตายมากมายกว่า 20 กว่าคน และบาดเจ็บอีกมากมาย คือถ้าเป็นประเทศอื่น ถ้ากองทัพมันทำรัฐประหารด้วยสาเหตุนี้จริงๆ มันต้องล้างบางทั้ง 2 ฝ่าย จับกุมทั้ง 2 ฝ่าย ไม่ใช่แค่ให้มารายงานตัวแล้วปล่อยกลับบ้านไป ส่วนใครทำความเสียหายใหญ่โตระดับโลกขนาดนี้ เขาคงสั่งยึดทรัพย์ อายัดทรัพย์สินทั้งหมดให้ตกเป็นของแผ่นดิน แล้วใช้กลไกของแบ็งค์ชาติจัดการ ไล่ล่าให้ผู้มีธนบัตรจำนวนมากตั้งแต่หลัก 10 ล้านบาท ต้องมาแลกเปลี่ยนเป็นซีเรียลใหม่ ล็อตให่ม่ เพื่อให้ผู้มีเงินสดจำนวนมากต้องนำเงินมาแจ้งรายงานที่มาที่ไป หากไม่นำมาแลก จะถือว่าเงินนั้นหมดค่า ใช้เป็นธนบัตรไม่ได้ ถามว่าทำเช่นนี้จะไม่กระทบระบบสถาบันการเงินหรือค่าเงินหรือ บอกได้เลยกระทบแน่ แต่ทำเพื่อระยะยาวและเป็นการดัดหลังพวกโกงคอรัปชั่นแล้วขนเงินออกนอกประเทศ จีนกับมาเลเซียเขายังเคยทำมาแล้ว จะกลัวอะไร ไม่เห็นเขาเจ๊งเลย คือมันมีวิธีการทำอยู่ เพียงแต่ผู้มีอำนาจกล้าตัดสินใจหรือไม่ คนที่ขนเงินออกนอกประเทศ มีใครบ้างน่าจะเดาๆ กันออก มีไม่มากหรอกในประเทศนี้ และพฤติกรรมชั่วๆ แบบนี้ จะปล่อยลอยนวลไว้ทำบิดาทำไม ในเมื่อคุณเป็นรัฐบาลที่กล้าทำรัฐประหาร ในบางเรื่องกลับไม่กล้าตัดสินใจ แต่ในบ้างเรื่องทำเด็ดขาดขึงขัง ประกาศออกทีวี ใช้ประกาศกฎอัยการศึก ตำหนิสื่อบางประเภทที่เป็นศัตรูกับตนเองยังทำได้ แต่คนที่ชั่วช้าทำลายประเทศในระดับโครงสร้างมหึมาขนาดนั้น กลับเงียบเป็นเป่าสากเลย
 

-การให้เงินอุดหนุน/ชดเชยชาวนา ไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 15,000 บาทต่อครัวเรือน และไม่เกิน 15 ไร่ ไปถามชาวนาจริงๆ สิ ว่าเขาแฮ็ปปี้มั๊ย หรือการให้เงินอุดหนุน/ชดเชย แก่เกษตรกรผู้ปลูกสวนยางพารา ค่าปัจจัยการผลิตไร่ละ 1,000 บาท สำหรับเกษตรกรรายย่อยที่มีที่ปลูกยางไม่เกิน 15 ไร่ ซึ่งก็ไม่ตอบโจทย์ที่จะทำให้ราคายางสูงขึ้น เป็นเพียงการเยียวยาเบืองต้นเท่านั้นเอง แต่เข้าใจว่าปัญหาเหล่านี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากรัฐบาลก่อนๆ รัฐบาลนี้ทำได้เพียงเข้ามาช่วยเหลือเยียวยา แต่ระยะยาวยังต้องเป็นการลงไปแก้ที่ต้นเหตุจริงๆ

-การแก้ปัญหาล็อตเตอรี่แพง ไปๆ มาๆ ก็แก้ไม่สำเร็จ กลับทำให้ราคาขายถีบตัวจาก 100 บาท ขึ้นเป็น 120 บาท แล้วในบางแผง หรืออาจสูงกว่านั้น ในบางเลข และบางงวด

-ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น เช่น ไมค์ของทำเนียบรัฐบาล ที่ถูกสื่อตั้งข้อสังเกต จนเป็นที่มาของการตรวจสอบ แต่ก็ตั้งคนของรัฐบาลเข้าไปตรวจสอบกันเอง แล้วออกมาแถลงกับสื่อว่า ไม่มีทุจริต เป็นเพียงการตั้งราคาสูงเกินไป หรือมีส่วนต่างเยอะ (อันนี้ถามจริงๆ แก้ตัว หรือแก้ผ้าเอาหน้ารอดกันแน่) ยังมีเรื่องของการทุจริตการสร้างสนามฟุตซอล ของโรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการทั่วประเทศ ที่กำลังเป็นปัญหาและมีการตรวจสอบอยู่ในเวลานี้ สุดท้ายก็จะกลายเป็นมวยล้มต้มคนดูอีกตามเคย จับผู้บงการตัวใหญ่ๆ ไม่ได้

-คดีฆ่านักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ 2 คน ก็เป็นการประจานระบบหรือกระบวนการยุติธรรมขั้นต้นของไทย ซึ่งรับไปเต็มๆก็คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ข้อกล่าวหาเรื่องการจับแพะ หรือจับกุมผิดคน หรือไม่ได้สืบสวน สอบสวนเอาผู้กระทำความผิดที่แท้จริงมาลงโทษ เรื่องนี้กลายเป็นกรณีศึกษาระดับโลก ถึงขนาดหน่วยงานอย่างสก็อตแลนด์ยาร์ด ต้องเข้ามาลงพื้นที่หาข่าว หาหลักฐาน และติดตามการสืบสวนสอบสวนโดยตนเอง เพราะไม่เชื่อในน้ำยา หรือความเชื่อถือในหน่วยงานที่เรียกว่า โปลิซไทย จริงๆ แล้วเรื่องนี้คนเป็นนายกรัฐมนตรี สามารถทุบโต๊ะเพื่อให้มีการรื้อคดี สอบสวนใหม่ได้ แต่ก็ไม่ทำ ยังคงเอาเครดิตของตนเอง (ซึ่งก็ไม่รู้ว่ามีหรือเปล่าในขณะนี้) ไปรับประกันความถูกต้องของคดีนี้อีก

-ปัญหาเศรษฐกิจดูไม่มีทีท่าว่าจะฟื้น และส่อแววว่าจะเดี้ยงยาวเสียด้วย จริงๆ เรื่องปัญหาเศรษฐกิจ ถ้าจะพูดลงรายละเอียดจะยาวเกินไป เอาไว้ไปพูดคุยในคอลัมน์หรือบทความอื่นแทน แต่กล่าวโดยสรุปก็คือกลไกทุกตัวของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมันเดี้ยงทุกตัว กอร์ปกับมาได้รัฐบาลที่เข้ามาเพียงมีวาระพิเศษเพียงแค่ประสานผลประโยชน์ของกลุ่มทุน กับกลุ่มการเมืองให้ลงตัวแค่นั้น ไม่ได้คิดอยู่ยาวเพื่อแก้ปัญหาแบบยั่งยืน ชนิดถอนรากถอนโคน หรือใช้กระบวนทัศน์ใหม่ในการเข้ามาแก้ มันจึงดูราวๆ การแก้ปัญหาแบบปะผุอย่างที่บอก อย่างที่สื่อหลายสำนัก ใช้คำว่า ประชานิยมแบบประยุทธ์ หรือประยุทธ์นิยมนั่นแหละ คือส่วนใหญ่เป็นการแก้ปัญหาแบบหยอดข้าวต้ม กันตาย เพื่อให้รอดจากห้องไอซียู ได้เป็นพอ ส่วนโรคจะหาย หรืออาการจะฟื้นได้เมื่อไหร่ หมอที่รักษาอยู่ในเวลานี้ไม่เก่งพอ ก็คิดดูว่ารัฐบาลขิงแก่ว่าแย่แล้ว แต่รัฐบาลชุดนี้ยิ่งกว่าขิงแก่ ประกอบด้วย ข้าราชการเก่ารากงอกมาก่อน คนของระบอบทักษิณยั้วเยี้ยยึ่บยั่บเต็มไปหมด ก็ดูอย่าง ณรงค์ชัย อัครเศรณี ออกมาพูดว่าต้องให้มีการอนุมัติสัมปทานพลังงานรอบที่ 21 โดยเร็ว อ้างว่าแก๊สจะหมดภายในปี 2560 พอโดนสื่อไล่ต้อนมากๆ เข้าก็อ้างว่าเป็นเพราะต้องทำให้เสร็จจบเกมภายใน 1 ปี เพราะห้วงเวลาการทำงานมีแค่นั้น นี่ย่อมเป็นการแบไต๋ออกมาหรือไม่ว่าตนเองมาเพื่อทำงานนี้เพียงเรื่องเดียวโดยใบสั่งของใครบางคน และรัฐบาลนี้ก็คงอยู่ไม่เกิน 1 ปี แล้วประชาชนจะไปคาดหวังอะไรได้กับรัฐบาล หรือบรรดาผู้บริหารชุดนี้ ที่ไม่รุ้ใครใช้ให้มา เข้ามาทำไม ลำพังข้อกล่าวหาที่ว่า รัฐบาล คมช.เคยถูกกล่าวหาว่า ทำรัฐประหารเสียของ แต่รัฐบาล คสช.ชุดนี้ยิ่งกว่าเสียของ เพราะมันเสียเวลา เสียความรู้สึก และเสียหายหนักกว่าเก่าด้วย

-ปัญหาการปฏิรูประบบพลังงาน (จริงๆ สภาปฏิรูปมีด้านต่างๆ ตั้ง 11 ด้าน บวกๆ) แต่แค่ดูการตัดสินใจของรัฐบาลที่จะให้มีการเซ็นอนุมัติสัมปทานพลังงานรอบที่ 21 โดยไม่รอฟังสภาปฏิรูป และไม่ฟังเสียงคัดค้านจากภาคประชาชนจริงๆ (ไม่ใช่ภาคประชาชนจัดตั้งมาชนอย่างแถววัดอ้อน้อย) ก็หมดความหวังแล้วขี้คร้านไม่ต้องไปดูเรื่องการปฏิรูปด้านอื่นๆ หรอก เพราะคงมีธงหรือมีการวางแบบ วางกฎเกณฑ์ของร่างรัฐธรรมนูญ หรือมีพิมพ์เขียวของร่างรัฐธรรมนูญที่ถูกออกแบบวางเอาไว้แล้ว โดยใคร ก็โดยเนติบริกรชื่อคุ้นๆ เจ้าเก่า ๆ อย่าง ศ.ดร.วิษณุ เครืองาม ,ศ.ดร.มีชัย ฤชุพันธ์ ,ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวัณโณ บลาๆๆ กลุ่มคนเหล่านี้ ถ้าตายแล้วเกิดใหม่ ในช่วง 10 ปีนี้ ก็ยังคงต้องเจอชื่อเหล่านี้เขียนรัฐธรรมนูญให้ประเทศสาระขัณฑ์อยู่ต่อไป ในวังวนเดิมๆ ฟังดูมีความหวังมั๊ยครับพี่น้อง (ใช้เสียงพี่อู๊ด เป็นต่อ จะฮามาก)
ประเทศไทยเคยมีรัฐบาลที่พูดน้อยอยู่ท่านหนึ่ง จนได้ฉายาจากสื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาลว่า เตมีย์ใบ้ นั่นก็คือ พณฯ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ แต่ผู้เขียนกลับชื่นชอบ ว่าเป็นนายกรัฐมนตรีที่ดีที่สุดของไทย (เฉพาะในช่วงที่ผู้เขียนยังจำความได้จนถึงปัจจุบัน) เหตุเพราะว่า ท่านเป็นคนที่ทำงานเก่ง รู้ปัญหา ไม่เล่นพรรคเล่นพวก ปราบโกงได้จริง แก้ปัญหาเศรษฐกิจโดยคำนึงถึงชาติเป็นใหญ่ ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ผลงานจึงเป็นตัวบ่งบอกความสามารถของท่าน ท่านเป็นคนให้สัมภาษณ์น้อย พูดน้อยต่อยหนัก ตรงประเด็นชั่วะๆ ไม่เสียเวลาต่อร้องต่อเถียงไร้สาระกับนักข่าว แถลงผลงานหรือเรื่องที่ต้องการสื่อให้ประชาชนสั้น กระชับ และตรงประเด็น ไม่ต้องโฆษณาประชาสัมพันธ์ตัวเอง เหมือนนายกฯบางคนในอดีต ไม่ต้องใช้สื่อของรัฐมาแก้ประเด็นปัญหาของตัวเอง หรือสร้างภาพลักษณ์ผลงาน อะไรใดๆ ทั้งสิ้น ขนาดท่านเป็นนายกฯ ที่มาจากการแต่งตั้ง ยังสร้างผลงานเอาไว้มากมาย กว่านายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง แบบไม้จิ้มฟันกับเรือรบ คือเทียบกันไม่ติดเลย ผู้เขียนจึงนึกถึงสุภาษิตที่ว่า "กรุงศรีอยุธยาไม่เคยสิ้นคนดี" แต่ยุคนี้คนดี ซื่อสัตย์และเก่งหายากมาก ที่ผานมาเราได้แบบครึ่งผีครึ่งคน เอ้ย..ครึ่งบกครึ่งน้ำ  เอ้ย....ครึ่งดีครึ่งเลว   เอ้ย....ถูกแล้ว  เอวัง ด้วยฉะนี้



ยุคต่างๆ ของการเมืองไทย ที่ประเมินโดยผู้เขียนเอง ดังนี้

1.ยุคล้มลุกคลุกคลาน  คือรัฐบาลส่วนใหญ่เป็นรัฐบาลทหาร  มีการปฏิวัติโค่นล้มอำนาจกัน โดยรัฐบาลที่มาจากพลเรือนอยู่ไม่ได้นาน หรือไม่ค่อยมั่นคง ได้แก่ สมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม จนถึง สมัย พล.อ.เกรียงศํกด์ ชมะนันท์ เหตุการณ์สำคัญๆ ในช่วงนี้ ได้แก่ เหตุการณ์ 14 ตุลา , 6 ตุลา กบฏเมษาฮาวาย  กลุ่มยังเติร์ก

2.ยุคก่อร่างสร้างประเทศ คือยุคที่ประเทศไทยรุ่งเรืองสุดๆ เป็นผู้นำการเมือง และเศรษฐกิจของอาเซี่ยน เป็นุยุคที่เปิดประเทศเทศให้มีการลงทุนจากต่างประเทศ เจริญก้าวหน้าในทุกด้าน ทุนสำรองประเทศมั่งคั่ง แต่ก็ได้สร้างเสือร้าย ระบบทุนนิยมผูกขาด การฉ้อฉลคอร์รัปชั่น อย่างใหญ่โต ผลประโยชน์ทับซ้อน ทุจริตเชิงนโยบาย โกงทั้งโคตร  ได้แก่  ตั้งแต่สมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จนมาถึงรัฐบาลขิงแก่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุฬานนท์  เหตุการณ์สำคัญในช่วงนี้ ก็คือ บุฟเฟต์คาบิเนต ,รัฐประหาร รสช.,พฤษภาทมิฬ, รัฐประหาร คมช. 19 กันยา

3.ยุคหายนะและพังทลาย  คือยุคที่พวกเรากำลังได้รับวิบากกรรมอยู่ในขณะนี้ยังไง การเมืองแบ่งขั้วแบ่งสีชัดเจน ผู้นำมาจากกลุ่มทุน 2 ขั้ว ผลัดกันเข้ามาบริหารประเทศ บนซากศพและหายนะของประเทศ ได้แก่ ตั้งแต่นายกสมัคร สุนทรเวช จนถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เหตุการณ์สำคัญช่วงนี้ก็คือ เหตุการณ์ 7 ตุลา ,พันธมิตรชุมนุมหน้าสนามบินดอนเมือง, เหตุการณ์เผาบ้านเผาเมือง ชุมนุมของนปช.ปี 53, เหตุการณ์ชายชุดดำยิงทหารบริเวณสี่แยกคอกวัว ,ชุมนุมปิดสี่แยกราชประสงค์, อภิมหาน้ำท่วมปี 54 ,การชุมนุมของมวลมหาประชาชน ปลายปี 56-57

วันพฤหัสบดีที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ย้อนความทรงจำ (4) หนังจีนชุดซีรี่ย์ฮ่องกงยุค 80's -90's ตอนที่ 4

 
 
สถานีโทรทัศน์เจียซื่อ หรือ CTV น่าจะเป็นสถานีโทรทัศน์ที่เก่าแก่อีกแห่งหนึ่งในฮ่องกง เดิมเจ้าของนักลงทุนและทีมงานเป็นชาวไต้หวัน ซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์จากต่างชาติที่รัฐบาลฮ่องกงเชื้อเชิญให้มาลงทุน ก่อตั้งเมื่อวันที่ Sep 7,1975 และต้องปิดตัวเองไปเมื่อวันที่ Oct 19,1978 รวมระยะเวลาเพียง 3 ปี กับ 1 เดือนเศษเท่านั้น  เหตุผลจากการแข่งขันกันอย่างรุนแรงระหว่างสถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นเจ้าถิ่นอย่าง RTV และ TVB นั่นแหละ ซีรี่ย์ของ CTV จึงมีการผลิตออกมาเพียงไม่กี่เรือง และส่วนใหญ่ใช้นักแสดงจากทางไต้หวัน โปรดักชั่นการถ่ายทำไม่ดีเท่า RTV หรือ TVB แต่บอกได้เลยว่าคลาสสิกทุกเรื่อง และแทบหาดูไม่ได้แล้วในปัจจุบัน ใครเกิดทันก็โชคดีไป สุดยอดแห่งหนังจีนกำลังภายในยุคโบราณต้องค่ายนี้เท่านั้น เราจะมาลองไล่เรียงกันไปทีละเรื่อง ดังนี้

มังกรหยก เวอร์ชั่นแรก ฉายปี 1976 ไป่เปียวกับหมีเซียะ คลาสสิกสุดๆ
 
 
เพลงไตเติ้ลมังกรหยก เวอร์ชั่น 1976
 
เพลงไตเติ้ลจาก ซีรี่ย์ที่ผู้เขียนชอบที่สุดเรื่องนึง หลวงจีนซันเต๋อ
 
 
เพลงประกอบอันไพเราะจาก ซีรี่ย์ดัง เปาบุ้นจิ้น เวอร์ชั่นอี๋หมิง
 
อันนี้เพลงประกอบ ภ.ลูกมังกรหยก เวอร์ชั่น หลอเล่อหลิน กับหลี่ทงหมิง
 
ภ.เรื่องสุยถังฟงหวิน หรือศึกสองราชวงศ์
 
เพลงไตเติ้ลจากเรื่อง นางพญาผมขาว
 
เพลงไตเติ้ล ภ.ฤทธิ์มีดสั้น เวอร์ชั่นจูเจียง คลาสสิกที่สุดแล้ว
 
ฤทธิ์มีดสั้น เวอร์ชั่นนี้คิวบู๊มันส์ที่สุด สร้างโดย CTS หาดูยากแล้ว ตอนฉายช่อง 3 รู้สึกสนุกมาก
 
 
ความฝันในหอแดง 1 ใน 4 วรรณกรรมอมตะของจีน ที่สร้างซ้ำหลายเวอร์ชั่นมาก
 
 
 
 
   
 
ต่อมาก็คือสถานีโทรทัศน์ atv หรือก็คือสถานีโทรทัศน์ RTV เดิม โดยเปลี่ยนชื่อมาเป็น atv ในปี 1982 อันเนื่องมาจากมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นและบอร์ดผู้บริหารใหม่ โดยหนังจีนชุดภายใต้การผลิตของ atv เป็นเรื่องแรกก็คือ บูเช็คเทียน โดยนักแสดง ฝงเป๋าเป่า แสดงนำ
 
เรื่องต่อมาคือ จูกัดเหลียง หรือขงเบ้ง นั่นเอง
 
ซีรี่ย์ชุดเฮ้งบ่อกี้ สร้างจากการ์ตูนดังของฮ่องกง
 
 
เพลงนี้คลาสสิกมาก ส่งท้ายเป็นการอำลาบทความชุดนี้ทั้งหมด สวัสดี.......
 
 
 
 


วันพุธที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ย้อนความทรงจำ (3) หนังจีนชุดซีรี่ย์ฮ่องกงยุค 80's -90's ตอนที่ 3

 
ถ้าจะบอกว่าหนังจีนชุดกำลังภายในที่เริ่มนำมาฉายทางทีวี ที่เป็นของฮ่องกงจริงๆ เป็นเจ้าแรกก็ต้องเป็น RTV แทบจะยกทีมมาจากชอว์บราเธอร์กันเลย เพราะฉะนั้นงานของ RTV เกือบจะทั้งหมดเลย คิวบู๊มันส์ สนุกทุกเรื่อง พล็อตเรื่องเจ๋ง การดำเนินเรื่องสนุกเร้าใจ นักแสดงเล่นดี (ยกทีมมาจากชอว์บราเธอร์เกือบจะทั้งหมด และมีที่สร้างขึ้นมาใหม่บ้าง แต่ยังไม่ได้เป็นตัวนำ หรือเป็นตัวนำแต่ไม่โด่งดังเท่าดาราจากชอว์ อาทิ พานจื้อเหวิน,เหอเจียจิ้ง,อู่เว่ยกว๋อ) RTV เดิมเป็นสถานีวิทยุมาก่อน ก่อตั้งขึ้นในปี 1949  ต่อมาเริ่มผลิตรายการเพื่อนำเสนอในรูปแบบรายการโทรทัศน์ในปี 1957 ในรูปแบบเคเบิ้ลทีวี คล้ายๆ ทีวีบีก่อน และเริ่มเป็นฟรีทีวีในปี 1973 ผลิตหนังจีนชุดแข่งกับทีวีบี นับตั้งแต่นั้นมา

เกือบทุกเรื่องเป็นงานขึ้นหิ้งเข้าขั้นคลาสสิก ผู้เขียนชอบทุกเรื่องที่เป็นงานของ RTV แต่ไม่มีโอกาสดูจนครบ หรือช่อง 3,7 ไม่ได้ซื้อมาฉายทุกเรื่องก็ไม่รู้ สมัยนั้นวีดีโอก็ยังมีให้เช่าเป็นบางเรื่องเท่านั้น แต่ก็ยังตามเก็บไม่หมด ถ้าจะนับเฉพาะในกลุ่มหนังจีนชุดกำลังภายใน ต้องถือว่า RTV เหนือกว่า TVB และก็โด่งดังกว่าด้วย ทั้งในฮ่องกงและทั่วเอเชีย ถ้าไม่เชื่อ ลองทัศนาดู ทั้งหมดนี้เป็นงานของ RTV ล้วนๆ (สมัยยังไม่เปลี่ยนชื่อมาเป็น ATV)

ถ้าจะกล่าวถึงหนังจีนชุดกำลังภายในของ RTV โดยไม่กล่าวถึงดาราคู่บุญ หรือดาราผู้มีอิทธิพลของฝั่ง RTV ก็ย่อมขาดอะไรไปอย่าง นักแสดงเหล่านั้นคงหนีไม่พ้น ว่านจื่อเหลียง ฉีเส้าเฉียน หมีเซียะ หวีอันอัน เดวิดเจียง เลสลี่จาง ขอไล่เรียงไปทีละคนดังนี้


ว่าน จือเหลียง (จีนตัวย่อ: 万梓良; จีนตัวเต็ม: 萬梓良; พินอิน: Wan Zìliang; อังกฤษ: Alex Man Chi-Leung, Alex Man) เกิดเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ค.ศ. 1957 ที่มณฑลกวางตุ้ง เป็นนักแสดงชื่อดังชาวฮ่องกง มีผลงานที่โดดเด่น ได้แก่ ฤทธิ์หมัดสะท้านบู๊ลิ้ม, ศึกสายเลือด, ยอดยุทธจักรมังกรฟ้า, เล็กเซียวหงส์, ซิยิ่นกุ้ย, เจงกิสข่าน ผู้พิชิต ส่วนภาพยนตร์ที่โดดเด่น ได้แก่ กระบี่ไร้เทียมทาน (เดอะมูฟวี่)

เข้าสู่แวดวงบันเทิงด้วยการเป็นนักแสดงในสังกัดของ ATV ในทศวรรษที่ 70 และต่อมาได้หันมาร่วมงานกับทาง TVB ในทศวรรษที่ 80

ชีวิตส่วนตัว สมรสกับเถียนหนิว ซึ่งเป็นนักแสดงเช่นกัน ในปี ค.ศ. 1992 และต่อมาในปี ค.ศ. 1996 ทั้งคู่ก็ได้หย่ากัน และต่อมาว่าน จือเหลียงได้สมรสใหม่กับกั๊ว หมิงหมิ่ง ในปี ค.ศ. 2002
 
 
ไตเติ้ลเพลงจาก ภ. ฤทธิ์หมัดสะท้านบู๊ลิ้ม (เรื่องของปรมาจารย์จางซันฟง เจ้าของวิชาเพลงมวยไท้เก๊ก) ว่านจื่อเหลียง แจ้งเกิดจากเรื่องนี้
 
 
ไตเติ้ลเพลงจาก ภ. ศึกสายเลือด  เรื่องนี้ทำให้ว่านจ่ื่อเหลียงโด่งดังไปทั่วเอเซีย
 
 

ฉี เส้าเฉียน (จีน: 徐少強; พินอิน: Xu Shao Qiang, อังกฤษ: Norman Tsui, Norman Tsui Siu-Keung, Norman Chu, Norman Chu Siu-Keung) นักแสดงชื่อดังชาวฮ่องกง เป็นที่รู้จักเป็นอย่างดีและมีผลงานที่เป็นที่นิยมโดยเฉพาะในยุคทศวรรษที่ 80

เกิดเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ค.ศ. 1950 ที่ฮ่องกง เข้าสู่วงการการแสดงเมื่ออายุเลย 30 ไปแล้วเมื่อเป็นนักแสดงในสังกัดชอว์ บราเธอร์ส โดยมีผลงานที่เป็นที่โดดเด่นและรู้จักกันเป็นอย่างดี คือ การรับบทเป็น ฮุ้ยปวยเอี้ยง ในละครโทรทัศน์แนวกำลังภายในเรื่อง Reincarnated หรือ กระบี่ไร้เทียมทาน ในปี ค.ศ. 1978 และ เฉียวฟง ใน Demi-Gods and Semi-Devils หรือ แปดเทพอสูรมังกรฟ้า ในปี ค.ศ. 1982

ส่วนผลงานเรื่องอื่น ๆ ได้แก่ Reincarnated II หรือ กระบี่ไร้เทียมทาน ภาค 2 ในปี ค.ศ. 1993 และรับบท หยางเย่ ประมุขแห่งตระกูลหยาง ใน Heroic Legend of the Yang's Family หรือ เปาบุ้นจิ้น ขุนศึกตระกูลหยาง ของ ATV ในปี ค.ศ. 1994 และรับบทร้ายซึ่งเป็นบทรับเชิญในภาพยนตร์เรื่อง The Duel ในปี ค.ศ. 2000
 
 
ไตเติ้ลเพลงจาก ภ.กระบี่ไร้เทียมทาน ที่โด่งดังไปทั่วเอเซีย และแจ้งเกิดฉีเส้าเฉียน ในบทฮุ้นปวยเอี๊ยง
 
ไตเติ้ลเพลงจาก ภ.ซิมเซ่งอี่  พยัคฆ์ลำพอง
 
 

หมี เซียะ (จีน: 米雪, อังกฤษ: Mai Suet, Mi Xue) มีชื่อจริงว่า มิเชล ยิม ไหว่หลิง (嚴慧玲, Michelle Yim Wai-ling) นักแสดงหญิงฮ่องกงที่มีชื่อเสียงโดยเฉพาะในยุคทศวรรษที่ 70 และ 80 มีชื่อเสียงจากการแสดงบทบาท อึ้งย้ง จากละครโทรทัศน์ของซีทีวี เรื่อง มังกรหยก จากบทประพันธ์ของ กิมย้ง  เธอเกิดที่เมืองอันฮุย มณฑลกวางตุ้ง มีน้องสาวที่เป็นนักแสดงเช่นกัน ชื่อ ซิดนีย์ ยิม (Sidney Yim, 雪梨) เริ่มฝึกฝนการแสดงตั้งแต่ปี ค.ศ. 1969 โดยเข้าโรงเรียนการแสดงของชอว์บราเดอส์ ในปี 1975 เธอเซ็นสัญญาเข้าสังกัดสถานีโทรทัศน์ซีทีวีของฮ่องกง ที่ก่อตั้งขึ้นใหม่ และได้รับบทนำในเรื่อง มังกรหยก คู่กับ ไป่ เปียว ที่กลายเป็นละครโทรทัศน์ที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในฮ่องกง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และไต้หวัน  หลังจากสถานีโทรทัศน์ซีทีวีเลิกกิจการในปี ค.ศ. 1978 เธอได้แสดงละครโทรทัศน์กำลังภายอีกหลายเรื่องให้กับสถานีโทรทัศน์แห่งเอเชีย เช่น ฤทธิ์หมัดสะท้านบู๊ลิ้ม (Tai Chi Master), นักชกผู้พิชิต (The Legendary Fok), ศึกสองนางพญา (Princess Cheung Ping), ศึกสายเลือด (The Dynasty), แผ่นดินรักแผ่นดินเลือด (The Radical City), จิ๋นซีฮ่องเต้ (The Rise of the Great Wall), 13 ฮ่องเต้ตำนานจักรพรรดิราชวงศ์ชิง (The Rise and Fall of Qing Dynasty) เป็นต้น ทำให้เธอได้รับฉายาว่า "ราชินีภาพยนตร์กำลังภายใน"

 
ในเรื่องนี้รวบรวมดาราที่ผู้เขียนชื่นชอบไว้มากที่สุด สนุกที่สุดเรื่องนึงของ RTV 
 



อวี่ อันอัน (余安安, Yu An An) มีชื่อภาษาอังกฤษว่า แคนดิซ อวี่ (Candice Yu) เป็นนักแสดงหญิงชาวฮ่องกง มีชื่อเสียงจากภาพยนตร์ของชอว์บราเดอส์ในช่วงปลายทศวรรษ 1970 ถึงต้นทศวรรษ 1980เธอเริ่มแสดงภาพยนตร์ตั้งแต่อายุ 16 ปี และเข้าสังกัดชอว์บราเดอส์ตั้งแต่อายุ 17 ปี มีผลงานแสดงภาพยนตร์กำลังภายในหลายเรื่องในช่วงปี ค.ศ. 1977 ถึง 1979 ได้แก่ ศึกล้างเจ้ายุทธจักร (Death Duel), ศึกยุทธจักรหงส์บิน (The Sentimental Swordsman), ชอลิ้วเฮียงถล่มวังค้างคาว (Legend Of The Bat), ศึกยุทธจักรบัลลังก์เลือด (Murder Plot) และ ลูกมังกรหยก (Heaven Sword And Dragon Sabre) ต่อมาจึงได้แสดงละครโทรทัศน์ของสถานีโทรทัศน์แห่งเอเชีย เช่นเรื่อง กระบี่ไร้เทียมทาน (Reincarnated) และ จอมใจจอมยุทธ์ (Book and Sword)
 

หวีอันอัน เล่นหนังจอเงินมาก่อนหลายเรื่อง พอมาลงจอแก้ว ผลงานของเธอที่ดังที่สุดนอกเหนือจากศึกสองนางพญาแล้วก็เป็นเรื่อง กระบี่ไร้เทียมทานกับ ยอดยุทธจักรมังกรฟ้า นี่แหละ ที่ดังระเบิดระเบ้อ

เดวิด เจียง มีชื่อเป็นภาษาจีนว่า เจียง ต้าเหว่ย (อักษรจีนตัวเต็ม: 姜大衛, อักษรจีนตัวย่อ: 姜大) มีชื่อเดิมว่า เจียง เหว่ยเหนียน (姜偉年) เกิดเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ค.ศ. 1947 ที่เมืองซูโจว มณฑลเจ้อเจียง เข้าสู่วงการการแสดงด้วยการเป็นนักแสดงประกอบแอ็คชั่นในชั้นเรียนการแสดงที่ไต้หวัน และยังเรียนศิลปะการต่อสู้ตามพวกหลิว เจียเหลียง เมื่อปี ค.ศ. 1967 และเข้าสู่วงการบันเทิงอย่างจริงจังในปี ค.ศ. 1968 โดยเป็นนักแสดงประกอบของบริษัทชอว์ บราเดอร์ส หลังจากนั้นจึงมารับบทนักแสดงนำ โดยหลังจากที่ หวังหยู่ นักแสดงประจำของชอว์ฯย้ายไปรับงานแสดงที่ไต้หวัน เดวิด เจียงก็เข้ามาสวมบทจอมยุทธ์แทนหวังหยู่ และหลังจากนั้นเดวิด เจียง ก็กลายเป็นนักแสดงชั้นนำของชอว์ฯคนต่อมา โดยผลงานส่วนใหญ่เป็นภาพยนตร์กำลังภายในเกือบทั้งสิ้น เดวิด เจียง จัดเป็นนักแสดงชายที่มีรูปร่างหน้าตาไม่หล่อ ซ้ำยังมีรูปร่างเล็กและบอบบาง แต่มีความปราดเปรียว และมีจุดเด่นคือ การแสดงออกทางสีหน้าแววตาที่ผู้กำกับหลายคนเห็นตรงกันว่า เหมาะสมกับการรับบทนำในภาพยนตร์กำลังภายใน โดยเฉพาะที่ดัดแปลงมาจากบทประพันธ์ของโกวเล้ง ผลงานที่เป็นที่สร้างชื่อและเป็นผลงานที่ทำให้จดจำของเดวิด เจียง คือ เรื่อง The Wandering Swordsman ในปี ค.ศ. 1970 และเคยได้รับรางวัลนักแสดงชายยอดเยี่ยมและรางวัลนักแสดงชายผู้มีบุคลิกร่วมสมัยของเทศกาลภาพยนตร์เอเชีย จากภาพยนตร์เรื่อง Vengeance! ในปีเดียวกัน และ พั่นนี่ ในปี ค.ศ. 1973 ตามลำดับ จนได้รับฉายาว่า "ราชาภาพยนตร์เอเชีย" (亚洲影帝) อีกด้วย  ภาพยนตร์ที่เป็นที่รู้จักดีอีกเรื่องคือ The New One-Armed Swordsman (เดชไอ้ด้วน ตอนใหม่) ปี ค.ศ. 1971 และ The Blood Brothers ในปี ค.ศ. 1973 ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้ เดวิด เจียงแสดงร่วมกับ ตี้หลุง นักแสดงอีกรายที่มีชื่อเสียงโด่งดังในรุ่นเดียวกัน ทั้งคู่ยังมีผลงานแสดงร่วมกันต่อมาอีกหลายเรื่องจนกลายเป็น พระเอกหนุ่มคู่หูรุ่นใหม่ของวงการในยุคนั้น
 
ไตเติ้ลเพลงจาก ภ.ประกาศิตมังกรหยก
 
เดวิด เจียงมีผลงานการแสดงกว่า 70 เรื่อง นอกจากนี้ ยังมีผลงานกำกับการแสดงและเขียนบท และยังรับเป็นที่ปรึกษาด้านศิลปะการต่อสู้ให้กับภาพยนตร์หลาย ๆ เรื่องด้วย และระยะหลังยังหันมาแสดงละครโทรทัศน์ในสังกัดของทั้งบริษัท TVB และบริษัท ATV ในฮ่องกง ที่ยังมีผลงานมาถึงปัจจุบัน

ในต้นปี ค.ศ. 2008 เดวิด เจียงได้รับเกียรติยกย่องให้เป็นหนึ่งในร้อยนักแสดงแห่งศตวรรษ ร่วมกับ เจิ้ง เพ่ยเพ่ย นักแสดงหญิงในบทบู๊เช่นเดียวกันร่วมยุค เนื่องในโอกาสกำเนิดภาพยนตร์จีนครบรอบ 100 ปี ในงานประกาศรางวัลภาพยนตร์จีนยอดเยี่ยม ครั้งที่ 5 ที่จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิงร่วมจีนแผ่นดินใหญ่ ไต้หวันและฮ่องกง ที่กว่างโจว  ชีวิตครอบครัว เดวิด เจียง สมรสกับ หลี่ หลินหลิน ซึ่งเป็นนักแสดงเช่นเดียวกัน มีบุตรด้วยกันทั้งหมด 3 คน
 

เลสลี จาง (อังกฤษ: Leslie Cheung) อดีตนักแสดงและนักร้องฮ่องกงที่มีชื่อเสียง เลสลี จาง เกิดเมื่อวันที่ 12 กันยายน ค.ศ. 1956 ที่เกาลูน มีชื่อเป็นภาษาจีนว่า จาง กั๊วหยง (อักษรจีนตัวเต็ม: 張國榮, อักษรจีนตัวย่อ: 国荣, พินอิน: Zhāng Guóróng) โดยมีชื่อแรกเกิดว่า จาง ฟะฉุง (張發宗; Chong Koet-yùng; Chong Fat-chûngเลสลี จาง เป็นลูกคนสุดท้องในบรรดาพี่น้องทั้งหมด 10 คน โดยที่พี่คนที่ 9 นั้นอายุห่างกันมากถึง 8 ปี บิดานั้นมีอาชีพเป็นช่างตัดเสื้อรายใหญ่ที่เคยตัดเสื้อให้กับบุคคลที่มีชื่อเสียงมาแล้ว เช่น วิลเลียม โฮลเดน หรือ อัลเฟรด ฮิตช์ค็อก ในวัยเด็กนั้นเลสลี จาง เคยเผยว่าตัวเองรู้สึกเหงามากที่ต้องถูกทิ้งให้อยู่โดดเดี่ยวกับบรรดาตุ๊กตาของเล่นต่าง ๆ และพ่อก็ไม่เคยควบคุมอารมณ์ตนเองได้เลย ซึ่งชีวิตในครอบครัวนั้นเต็มไปด้วยการทะเลาะเบาะแว้งและการใช้อารมณ์ ดังนั้นจึงโตมาด้วยการที่ยายเป็นผู้เลี้ยงดู  เลสลี จาง เข้าศึกษาด้านสิ่งทอที่มหาวิทยาลัยลีดส์ ประเทศอังกฤษ เพื่อสืบทอดกิจการของครอบครัว แต่ต้องกลับมาก่อนเรียนจบ เพราะบิดาป่วยหนัก เริ่มต้นอาชีพในวงการบันเทิงด้วยการเป็นนักร้องในช่วงต้นทศวรรษที่ 80 มีผลงานเพลงมากมาย ซึ่งในส่วนของการโปรโมตผลงานเพลงนี้ เลสลี จาง เคยมาโปรโมตในประเทศไทยด้วยในปี พ.ศ. 2525 ที่โรงแรมมณเฑียร  ส่วนผลงานทางด้านการแสดง เลสลี จาง เริ่มต้นด้วยภาพลักษณ์ในแบบ "เด็กเสเพล" หรือ "แบดบอย" ในวงการ มีผลงานในภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงหลายเรื่อง เช่น A Better Tomorrow ใน 2 ภาคแรก จากการกำกับของจอห์น วู ในปี ค.ศ. 1986 และ ค.ศ. 1987 ที่แสดงคู่กับนักแสดงรุ่นพี่อย่าง โจว เหวินฟะ และตี้หลุง หรือในภาพยนตร์ชุด โปเยโปโลเย ที่แสดงอยู่กับ หวัง จู่เสียน รวมทั้งรับบทนำในภาพยนตร์ของหว่อง คาไว ในเรื่อง Days of Being Wild ในปี ค.ศ. 1991, Ashes of Time ในปี ค.ศ. 1994 และ Happy Together ในปี ค.ศ. 1997  แต่บทบาทการแสดงที่ทำให้ เลสลี จาง ได้รับการกล่าวขานอย่างมาก คือ การรับบทเป็น เตี่ยอี๋ นักแสดงอุปรากรจีนที่เป็นรักร่วมเพศ จากภาพยนตร๋ในการกำกับของ เฉิน ข่ายเกอ เรื่อง Farewell My Concubine ในปี ค.ศ. 1993 ซึ่งเลสลี จาง สามารถตีบทแตก และทำให้ภาพยนตร์ประสบความสำเร็จอย่างมากในการเข้าฉายทั่วโลก รวมถึงได้มีชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมอีกด้วย  จากนั้นในปี ค.ศ. 2000 เลสลี จาง เปิดเผยว่าตนเองเป็นเกย์ รวมทั้งแต่งตัวเป็นผู้หญิงในการร้องเพลงบนเวทีอีกด้วย แม้เมื่อวัย 22 จะเคยขอ เหมา ซุ่นหวิน อดีตแฟนสาวแต่งงานด้วยก็ตาม  เลสลี จาง เสียชีวิตอย่างกะทันหันจากการทำอัตวินิบาตกรรมด้วยการกระโดดลงมาจากชั้น 24 ของโรงแรมแมนดาริน โอเรียนทัล ใจกลางฮ่องกง เมื่อเวลา 17.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น ในวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 2003 โดยเชื่อว่ามีสาเหตุจากความรักที่ไม่สมหวังกับผู้จัดการส่วนตัว โดยทิ้งจดหมายซึ่งเขียนว่าตัวเองได้รับความทุกข์ทรมานจากโรคซึมเศร้า


หนังจีนชุดเรื่องแรกๆ ของ RTV ขอเริ่มที่
 
ไอ้มังกรหมัดสิงโต หรือหวงเฟยหง โด่งดังมากในยุคนั้น  คำว่า  "ขี้โรคแห่งเอเซีย" มาจากเรื่องนี้นี่เอง
 
 
ไตเติ้ลเพลงจาก ภ.กระบี่แค้นคำรณ
 
หมายเหตุ ล่าสุดเจริญเคเบิ้ลทีวีเปิดช่องใหม่ ac1นำซีรี่ย์จีนตั้งแต่ยุค80's มาฉายใหม่ให้ชมเพียบ