วันพุธที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2557

เราได้อะไรจากการติดตามข่าวช่อง 3 อนาล็อกถูกฟ้อง กับ vs กสทช.


ผู้เขียนอยากให้มองในหลายๆ มิติ เหมือนข่าว 3 มิติ นั่นแหละ (ลึก รวดเร็ว รอบด้าน)  ขยาย : ลึกลับซับซ้อน ซ่อนเงื่อน เพื่อนทรยศเสมอ ,  รวดเร็ว ปาน กามนิตหนุ่ม  เรื่องการดูดผู้ประกาศข่าว และดาราชื่อดังจากช่องคู่แข่ง , รอบด้าน ทั้งด้านนักลงทุน ผู้ถือหุ้น ด้านการตลาดและหารายได้ ยกเว้นด้านการสื่อสารกับผู้ชมและคนดู ช่างมันปะไร ยังไงแกก็ต้องดูละครและข่าวของช่องฉันเป็นหลักอยู่แล้ว
 

มิติแรก เกิดการดราม่า ระหว่างห่วงโซ่อาหารอุบาทว์ของวงการทีวีอนาล็อก (โบราณ) ระหว่าง แฟนละครที่อยากดูละครช่อง 3 อนาล็อก จึงต้องง้อช่อง 3 , ส่วนช่อง 3 อยากได้ค่าโฆษณาซึ่งเป็นรายได้หลักจากเอเจนซี่โฆษณาและสินค้า จึงต้องง้อเอเจนซี่และเจ้าของสินค้า ส่วนเอเจนซี่และเจ้าของสินค้าต้องการผลตอบรับด้านยอดขายสินค้า จึงอยากได้เรตติ้งรายการที่ดี จึงต้องง้อฐานคนดู ซึ่งก็คือแฟนละครหรือแฟนรายการข่าวนั่นแหละ กลายเป็นห่วงโซ่อาหาร หรืองูกินหางอยู่อย่างนี้ ถามว่า กสทช.มาเกี่ยวอะไรด้วย (กสทช.เป็น regulator หรือผู้คุมกฎ)  ในสายตาของคน 3 กลุ่มนี้ เขาไม่ได้แคร์หรือสนใจอะไรกับ กสทช.ด้วยเลย แกมายุ่งอะไรด้วย “ฉันกำลังเริงร่าอยู่ในบึงน้ำเน่าของฉัน ที่อบอวลด้วยความสุขหรรษา และเป็นโลกส่วนตัวของฉันมาตั้งนานแล้ว”  หงายเงิบไปเลย กสทช. ทำตัวเหมือนผู้จัดการดาราตัวอิจฉาของละครไทยน้ำเน่า

มิติที่ 2 มิติของโลกความเป็นจริง ซึ่งก็คือมูลเหตุต้นตอของเรื่องนี้ บรรดาตัวแทนผู้บริหารของทีวีดิจิตอล รวมตัวกันไปฟ้องต่อ กสทช. ให้บังคับให้ช่อง 3 อนาล็อกระงับหรือหยุดออกอากาศรายการผ่านช่องทางเคเบิ้ลทีวีหรือระบบดาวเทียม หากมิใช่ช่องทีวีดิจิตอลที่ประมูลมา เนื่องจากสร้างความเสียหายและเอาเปรียบผู้ประกอบการช่องทีวีดิจิตอลอื่นๆ ที่ประมูลใบอนุญาตประกอบกิจการมาด้วยต้นทุนและเงื่อนไขที่แตกต่างกัน หรือไม่ก็ต้องนำเอารายการจากช่องอนาล็อกทั้งหมดมาขึ้นอยู่บนแพล็ตฟอร์มของทีวีดิจิตอล แม้นว่าช่อง 3 จะมีช่องทีวีดิจิตอลของตนเองอยู่แล้วถึง 3 ช่อง (3SD,3HD,3 family) แต่ก็ไม่ได้นำเอารายการจากช่องอนาล็อกมาลงไว้ทั้งหมด เลือกที่จะมีผังรายการที่แยกส่วนจากช่องอนาล็อก แต่เอาเปรียบผู้ประกอบการรายอื่นๆ ด้วยการที่ตนเองมีช่องทางออกในทุกแชนแนล หรือทุกแพล็ตฟอร์ม ทั้งอนาล็อก เคเบิ้ล ดาวเทียม ทีวีดิจิตอล ไอพีทีวี เพย์ทีวี  เรื่องนี้หากไปลองถามชาวบ้าน คนเดินดินกินข้าวแกงโดยทั่วไป หลายคนยังสับสนและงุนงงอยู่ว่านี่มันถกเถียงกันประเด็นเรื่องอะไรกันเหรอ ไม่เข้าใจยากจะอธิบายให้เข้าใจได้โดยง่าย หากว่าเป็นผู้ที่ไม่ไดสนใจ หรือติดตามข่าวสารเรื่องของการเปลี่ยนผ่านของทีวีอนาล็อกสู่ทีวีดิจิตอลก็จะไม่เข้าใจ และงงกับศัพท์แสงมากมาย ผู้เขียนจึงอธิบายกับคนใกล้ตัวง่ายๆ อย่างนี้ว่า จำตอนที่ เมื่อสมัยก่อน ที่ท้องสนามหลวงเคยเป็นย่านการค้าตลาดนัดวันหยุดได้มั๊ย (ถ้าเกิดไม่ทันก็ไม่เป็นไร แต่นึกภาพแล้วจะเข้าใจได้ง่าย)  กทม.มีดำริที่จะเคลียร์พื้นที่บริเวณท้องสนามหลวงให้เป็นสถานที่รองรับงานพระราชพิธี เป็นสวนหย่อมให้คนกรุงได้นั่งพักผ่อน เป็นปอดของคนกรุงเทพฯ อีกที่หนึ่ง ต้องการปรับทัศนียภาพบริเวณลานท้องสนามหลวงให้เป็นจุดรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการมาเยี่ยมชมวัดพระแก้วและบริเวณพระบรมมหาราชวัง และเพือความสวยงามของบริเวณรอบเกาะรัตนโกสินทร์ จึงมีนโยบายให้ย้ายร้านค้า และเพิง เต็นท์ แผงลอย ที่อยู่บริเวณท้องสนามหลวงทั้งหมดให้ย้ายไปค้าขายที่บริเวณที่ กทม.จะจัดให้ใหม่ (ซึ่งปัจจุบันก็คือบริเวณตลาดนัดสวนจตุจักรนั่นเอง)ในช่วงแรกร้านค้าสวนใหญ่เป็นร้านขายหนังสือ มีการต่อต้าน ดื้อดึง ไม่ยอมย้าย อ้างสารพัดเหตุผล ว่าหากย้ายทำเลไปอยู่จตุจักร ซึ่งทั้งไกลและอยู่ชานเมือง แล้วยังเป็นจุดที่คนยังไม่รู้จัก เกรงว่าจะขายไม่ได้ ไม่มีคนไปเดิน จึงมีร้านค้าที่ยังต้องการปักหลักขายอยู่ที่สนามหลวงไม่ยอมย้าย อุปมาอุปไมก็เปรียบเสมือนช่อง 3 อนาล็อกในเวลานี้ เพราะเกรงว่าพอย้ายไปทีวีดิจิตอล (จตุจักร) กลัวโน่นกลัวนี่ หรือกล่าวโดยสรุปก็คือกลัวเสียผลประโยชน์ก้อนโตจากที่ตนเคยได้จากทำเลเก่านั่นเอง กสทช.ก็เปรียบเหมือน กทม.นั่นเอง ที่เป็นเจ้าของสถานที่หรือผู้คุมกฎ แต่ช่อง 3 กลับอ้างเงื่อนไข ประกาศ คสช.ฉบับที่ 27 อ้างรายละเอียดข่าวนี้ (เมื่อวันที่ 2 ก.ย.2557 พันเอกนที ศุกลรัตน์ ประธานคณะกรรมการกิจการกะจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ หรือ กสท. เปิดเผยว่า ที่ประชุม กสท.วาระพิเศษมีมติเอกฉันท์ ให้สำนักงาน กสทช.ทำหนังสือถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เรื่องแนวทางปฏิบัติของประกาศ ฉบับที่ 27 เพื่อขอความชัดเจนเกี่ยวกับประกาศ ฉบับที่ 27 ที่ทำให้ช่อง 3 ยังคงออกอากาศได้ทุกแพลตฟอร์มในขณะนี้ จากเดิมที่ต้องออกอากาศได้เฉพาะภาคพื้นดินตั้งแต่ 2 กันยายนเป็นต้นไป และให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เชิญ ช่อง3 และทีวีดิจิตอล 24 ช่อง หารือวันพรุ่งนี้ เพื่อหาทางออกร่วมกัน เวลา 14 นาฬิกา ที่สำนักงาน กสทช.   ประธาน กสท. กล่าวต่อว่า ระหว่างรอความชัดเจน กสท. ยืนยันว่าช่อง 3 ยังคงออกอากาศได้ทุกแพลตฟอร์มตามปกติเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน ซึ่งการเข้าประชุมครั้งนี้มีกรรมการ 4 คน ยกเว้น พันโท พีระพงษ์ มานะกิจ ซึ่งติดภารกิจ  สำหรับ ประกาศ คสช. ฉบับที่ 27 กำหนดผู้ให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบอนาล็อก คือ ช่อง 3 5 7 9 11 และไทยพีบีเอสสามารถออกอากาศรายการได้ตามปกติผ่านโครงข่ายดาวเทียมและเพย์ทีวี ดังนั้น แม้ว่า กสท. จะสิ้นสุดการขยายเวลาการเป็นผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไปของช่องอนาล็อก ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนแล้ว และทุกโครงข่ายไม่จำเป็นต้องนำช่อง 3 ไปออกอากาศ แต่เนื่องจากขณะนี้ผู้ประกอบการโครงข่ายปฏิบัติตามประกาศ คสช. จึงต้องขอความชัดเจนในเรื่องนี้จาก คสช. อีกครั้งทั้ง 5 ช่องที่เหลือได้ออกอากาศคู่ขนานทั้งระบบอนาล็อกและดิจิตอลมีเพียงช่อง 3 ที่ยังไม่ยอมออกอากาศคู่ขนาน เพราะเห็นว่าโครงข่ายทีวีดิจิตอลยังไม่เข้าถึง ) ทำให้ดูเหมือนว่าช่อง 3 ยังคงมีสิทธิ์ที่จะอยู่ในน่านน้ำสีเทาได้ แล้ว กสทช.ก็ไม่มีสิทธิ์จะมาบังคับให้ฉันต้องย้ายหรือขนสินค้าหนังสือของฉันไปขายที่จตุจักรด้วย ในขณะที่ร้านหนังสือเจ้าปัญหาร้านนี้ ยังคงมีร้านหนังสือเปิดใหม่อีก 3 ร้านอยู่ที่จตุจักร ซึ่งมีสินค้าหนังสือคนละแบบกับที่มีในร้านเดิมที่สนามหลวงด้วย เอากับเขาสิ งานนี้ทำให้ประชาชนคนดูได้เห็นความจริงในหลากหลายมิติทีเดียว เช่น ได้รู้ว่า อ๋อที่แท้แล้วช่อง 3 มันเป็นผู้เล่นที่มีอิทธิพลอยู่ในตลาดมากที่สุด แม้กระทั่งผู้คุมกฎมันก็ยังกล้าคัดง้างได้ อีกด้านหนึ่ง ประชาชนคนดูอย่างเราๆ นั้นก็ได้เห็นถึงประสิทธิภาพ การทำงานที่บรมห่วย ควรมอบโล่ห์ให้กับหน่วยงาน กสทช.หรือ กสท.ให้เขาตอนสิ้นปีด้วย นอกเหนือจากต้องหงายเงิบเมื่อรู้ว่าแต่ละคนที่กินตำแหน่งใน กสทช.นั้น กินเงินเดือนกันคนละขั้นต่ำ 4 แสน จนถึงหลักล้านเลยทีเดียว จากเงินภาษีประชาชน แต่ทำงานได้เพลียและอ่อนด้อยกว่ามูลค่าของเงินเดือนหรือรายได้ที่ตนเองได้รับ อย่างไม่รู้จะหาคำใดมาสรรเสริญเยินยอได้อีก ล่าสุด พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ออกมาเฉ่งกลับไปยัง กสท.ว่ามันเป็นหน้าที่ของคุณมั๊ย ที่จะตัดสินใจในเรื่องนี้ ไม่ต้องโยนเรื่องนี้มาให้ คสช.เป็นผู้ทุบโต๊ะ หน้าที่ของตนแต่ไม่ทำ (พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา หัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม (คสช.) รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ออกมาระบุว่าจะส่งเรื่องให้ฝ่ายกฎหมาย คสช.เพื่อขอแนวปฏิบัติที่ชัดเจนของประกาศ คสช.ฉบับที่ 27 กรณีปัญหาสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ระบบแอนะล็อกพ้นจากฟรีทีวีตั้งแต่วันที่ 2 ก.ย.ที่ผ่านมาจะสามารถออกอากาศผ่านดาวเทียม และเคเบิลทีวีได้หรือไม่ว่า ประกาศของ คสช.ทุกฉบับตั้งแต่ฉบับแรก วันที่ 22, 23, 27 พฤษภาคมที่ผ่านมา ไม่มีฉบับใดหรือข้อไหนที่บอกเรื่องการจัดการความถี่เรื่องนี้เลย เริ่มตั้งแต่คำสั่งฉบับแรก เป็นการประกาศให้สถานีโทรทัศน์หยุดทำการ ต่อมาเริ่มให้ฟรีทีวี และสถานีวิทยุออกอากาศได้ ยกเว้นวิทยุชุมชน  จากนั้นได้ประกาศอนุญาตให้ทีวีระบบบอกรับสมาชิกออกอากาศได้ เพียงแต่ขอความร่วมมือในเรื่องเนื้อหา จนถึงขณะนี้ทีวีของช่องสีเสื้อต่างๆ ก็ออกอากาศได้จนครบทุกสถานี ดังนั้น ประกาศของ คสช.จึงไม่มีอะไรเกี่ยวกับการจัดระบบแอนะล็อก หรือดิจิตอลของ กสทช.เลย เป็นเรื่องการสร้างกระบวนการของ กสทช.เอง ซึ่ง กสทช.ต้องตัดสินใจบนพื้นฐานตรงนั้น กสทช.ต้องเข้าใจบทบาทของตัวเอง คำสั่ง คสช.3 บรรทัดแรกอ่านแล้วก็จะเข้าใจทันทีว่าไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับ กสทช.เลย ตนไม่เข้าใจว่าทำไมถึงไม่เข้าใจเจตนารมณ์ เพราะหากได้อ่านรายละเอียดจนเข้าใจก็จะทราบว่า คสช.ไม่เคยก้าวล่วงการจัดระบบ เรื่องนี้ กสทช.ต้องไปคุยกับเอกชนคู่กรณีเอาเอง  ผมอ่านคำสั่ง คสช.ทุกฉบับอย่างละเอียดมา 2-3 วัน ยังไม่เห็นว่าตรงไหนไปเกี่ยวข้องกับการจัดระบบของ กสทช. จึงขอฝากไปบอกด้วยเลยตรงนี้ว่าไม่ต้องมาถามผม จะต้องมาถามทำไม ไปทำหน้าที่ของตัวเอง  ผู้สื่อข่าวถามว่า กสทช.ถูกวิจารณ์เรื่องการทำงานว่าไม่เหมาะสม ควรจะถูกยุบหรือไม่ พล.อ.ไพบูลย์กล่าวว่า ไม่ต้องมาถาม ไม่ตอบ บอกแล้วว่าไม่ยุ่งกับองค์กรอิสระ เมื่อถามต่อว่ากรณีที่ช่อง 3 อ้างคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 27 ฟ้องศาลปกครอง พล.อ.ไพบูลย์กล่าวว่า ไม่ขอก้าวล่วงคำสั่งของศาล ) ผู้เขียนอยากจะบอกว่า โสนน้าหน้า เจอตอกกลับหน้าแหกกลับไป เหตุการณ์ในครั้งนั้น กทม.ได้ใช้อำนาจที่ตนเองทำการลื้อร้านค้าที่ไม่ยินยอมย้าย ออกไปจากสนามหลวง เพื่อเคลียร์พื้นที่ ภายหลังจากนั้นไม่นาน ประมาณ 3 ปี ตลาดนัดสวนจตุจักรก็จุดติด คึกคัก มีการค้าขายเติบใหญ่จนกลายเป็นตลาดนัดวันหยุดที่ใหญ่ที่สุดของประเทศและติดอันดับโลกด้วย และทุกวันนี้ธุรกิจร้านขายหนังสือในสวนจตุจักรก็เป็นเพียงเศษเสี้ยวและฟันเฟืองเล็กๆ เท่านั้นในตลาดนัดสวนจตุจักรที่มีธุรกิจหลากหลาย และมูลค่าการซื้อขายต่อวันมากมายมหาศาล ผู้เขียนมิได้กำลังจะบอกใบ้อะไรนะ เพียงแต่อยากจะให้ผู้ติดตามข่าวนี้ ลองคิดดูว่า ทุกสิ่งในโลกมันล้วนไม่จีรัง แล้ววันหนึ่ง เหตุการณ์นี้ก็จะผ่านไป และกลายเป็นเรื่องเล่าขำๆ ในวันข้างหน้า อนาคตของทีวีดิจิตอลในวันข้างหน้าจะพัฒนาเติบใหญ่ พลิกโฉมวงการทีวีไทยไปขนาดไหน ไม่มีใครทราบ แต่ผู้เขียนเชื่อมั่นว่าจะไปไกลกว่ายุคอนาล็อกแบบเทียบกันไม่ได้เลย

 
มิติที่ 3 เวลาเราตามข่าวเรื่องอะไร เราต้องจับประเด็น สาระสำคัญของข่าวเรื่องนั้นให้ได้ ว่ามันมีประเด็นอะไร และผู้มีส่วนได้เสียหรือเกี่ยวข้องในเรื่องนั้น ออกมาเทคแอคชั่น อย่างไร  และนำไปสู่การคลี่คลายปัญหาหรือประเด็นข่าวนั้นหรือไม่ ส่วนฟีดแบ็คหรือความคิดเห็น กระแสสังคมจะวิพากษ์วิจารรณ์อย่างไร มันเป็นส่วนฉาบเคลือบที่ทำให้คนดู คนฟังไขว้ไขวหรือหลงประเด็นไปได้โดยง่ายหรือไม่ ผู้เขียนจึงมักหาประเด็นของเนื้อข่าวก่อน ว่ามีสาระสำคัญใจความน่าสนใจหรือไม่อย่างไรก่อน
ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นประชาชนคนดูคนหนึ่ง แต่เดิมไม่ได้สนใจติดตามข่าวนี้เลย เบื่อด้วยซ้า แต่เห็นสื่อต่างๆ นำมาพูดถึงบ่อย ตลอดช่วงเดือนนี้ เกือบทุกวัน เหมือนๆ กับข่าวเรื่อง น้องแก้มโดนข่มขืนบนรถไฟ,ข่าวโค้ชเชกับน้องก้อย ,ข่าวการอุ้มบุญน้องแกมมี่และชายชาวญี่ปุ่น(นายชิเกตะ)มาจ้างผู้หญิงไทยอุ้มท้องเด็ก 9 คน และต่อมาเพิ่มเป็นถึง 15 คน,กระแสข่าวการทำ ice bucket challenge เพื่อหาเงินเข้ามูลนิธิการกุศลเพื่อช่วยเหลือคนเป็นโรค ALS เป็นต้น ล้วนเล่นข่าวซ้ำๆ เป็นแรมเดือน หากเป็นเมืองนอก ประชาชนคนดูควรที่จะต้องฟ้องต่อหน่วยงานของรัฐหรือองค์กรอิสระที่ทำงานขาดประสิทธิภาพ ไม่สนองตอบต่อการบริการสาธารณะของประชาชน, องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคหรือประชาชนโดยทั่วไปน่าจะฟ้องช่อง 3 ที่เห็นแก่ตัว เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนโดยไม่คำนึงถึงสิทธิโดยพื้นฐานที่ประชาชนคนดูพึงจะได้ งานนี้นอกเหนือจากผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิตอลทุกรายที่ไม่ใช่ช่อง 3 จะเป็นผู้เสียหาย หรือเสียประโยชน์จากการแย่งฐานคนดู การวัดเรตติ้งที่ไม่สามารถเป็นตัวชี้วัดได้อย่างชัดเจน ค่าโฆษณาที่ยังไม่ยอมถอนตัวออกจากอนาล็อกหรือถูกถ่ายเทกลับไปยังทีวีอนาล็อกช่องนั้น ยังมีประชาชนคนดูที่ซื้อทีวีดิจิตอล หรือกล่องรับสัญญาณ set top box อีกจำนวนนับล้าน ที่ต้องเสียประโยชน์จากการที่ช่อง 3 ไม่นำรายการที่มีอยู่ในอนาล็อกมาออนบนแพล็ตฟอร์มทีวีดิจิตอล แต่ใน 3 ช่องที่มีอยู่ในทีวีดิจิตอล กลับมีรายการประเภทรีรันของเก่าอยู่มากมาย ไม่ยอมที่จะพัฒนาช่องให้มีรายการหลากหลายและออนไม่เต็มเวลาอีกด้วย ในฐานะที่ผู้เขียนไม่ได้เป็นแฟนคลับของทีวีช่อง 3 มานมนานแล้ว จึงไม่ค่อยได้ใส่ใจ และไม่ได้คิดว่าตนเองเสียประโยชน์อะไร เพราะต่อให้นำมาออนบนทีวีดิจิตอลก็คงไม่ค่อยได้ดูอยู่แล้ว เพราะยังมีรายการดีๆ อยู่อีกมากมายในช่องทีวีดิจิตอลช่องอื่นๆ ที่ตามดูไม่หมดอยู่แล้ว แต่เมื่อมองในภาพรวมและคนรอบข้าง ก็เห็นปรากฏการณ์ที่ยังคงบ้าช่อง 3 กันอยู่ จึงต้องเขียนบทความนี้มาช่วยเตือนสติ และมองข้ามผ่านไป และฝากเตือน กสทช.ให้ปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของตนเองให้เป็นที่พึ่งหวังของผู้มีส่วนได้เสีย และสมกับเป็นองค์กรผู้คุมกฏ ให้มีความน่าเชื่อถือ และสมค่ากับการเป็นผู้คุมทิศทางการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคทีวีดิจิตอลหน่อยเถอะ กราบขอบพระคุณแทนประชาชนคนดูทุกท่านมา ณ ที่นี้  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น