วันพฤหัสบดีที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2557

รำลึกเหตุการณ์ 9/11 บทเรียนอันล้ำค่าของสหรัฐ



 
ยุทธการตีผึ้ง ต่อหัวเสือแตกรัง เรียนผูกก็ต้องเรียนแก้เองของสหรัฐ

นับจากเหตุการณ์ช็อคโลก เครื่องบินพาณิชย์ 2 ลำ (สายการบินอเมริกันแอร์ไลน์ ไฟล์ท 11,สายการบินยูไนเต็ดแอร์ไลน์ ไฟล์ท 175) ถูกจี้บังคับวิ่งเข้าชนตึกแฝด เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ทั้ง 2 อาคาร เมื่อวันที่ 11 sep 2001 โดยผู้ร่วมก่อการที่คาดว่าจะเป็นผู้ก่อการร้ายชาวมุสลิม ที่ภายหลังสหรัฐได้ออกมาชี้เป้าว่าเป็นฝีมือของพวกอัลกอฮิดะห์ นำโดยนายอุสมะห์ บินลาเดน ยังมีเครื่องบินของสายการบินอเมริกันแอร์ไลน์ ไฟล์ท 77 ที่พุ่งไปตกบริเวณใกล้กับเพนตาก้อน และสายการบินยูไนเต็ดแอร์ไลน์ ไฟล์ท 93 ที่ผู้ก่อการต้องการจี้บังคับแต่ไม่สำเร็จ โดยผู้โดยสารบนเครื่องบินช่วยกันต่อสู้และกอบกู้สถานการณ์เอาไว้ได้ (จนเป็นที่มาของ ภ.เรื่อง United 93) ที่มีเป้าหมายคืออาคารรัฐสภาในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. นั่นแหละ ทั้งหมดนี้นำความเสียหายมาสู่ทั้งสหรัฐและของโลก มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 3,000 คน สูญหาย 227 คน โดยมีผู้ร่วมก่อการร้ายประมาณ 19 คน นอกเหนือจากประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่เสียชีวิตในเหตการณ์แล้วยังมีนักผจญเพลิงหรือนักดับเพลิงก็เสียชีวิตไปเป็นจำนวนมากด้วย และนี่เป็นที่มาที่ทำให้ ปธน.จอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช ของสหรัฐ (ในขณะนั้น) ประกาศทำสงครามถล่มอัฟกานิสถาน ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของพวกตาลีบัน ซึ่งเป็นผู้ให้ที่พักพิงแก่พวกอัลกอฮิดะห์ของอุสมะห์ บินลาเดน เป็นที่มาของปฏิบัติการพายุทะเลทราย หนที่ 2 (หนแรกคือสงครามอ่าวเปอร์เซีย ถล่มอิรักหนแรก สมัย ปธน.จอร์จ บุช ผู้พ่อ) ข้ออ้างที่สหรัฐร่วมกับนาโต้ ทำการบุกถล่มอิรักหน 2 ก็คือ ใส่ร้ายว่าอิรักมีอาวุธนิวเคลียร์ จึงมีความชอบธรรมที่จะเข้าไปจัดการ แรกๆ ทำเป็นส่งเจ้าหน้าที่จากองค์การสหประชาชาติเข้าไปค้นหา อ้างว่าไม่ได้รับความร่วมมือจากอิรัก พออิรักเริ่มมีท่าทีอ่อนข้อยอมให้กองกำลังทหารจากนานาชาติเข้าไปตรวจสอบได้อย่างละเอียด ก็ไม่ทันเสียแล้ว สหรัฐฝืนมติสหประชาชาติด้วยการบุกโจมตีอิรักโดยทันที โดยไม่ฟังเสียงทัดทานจากประเทศพันธมิตร และเสียงวีโต้จากชาติสมาชิกหลักอย่างจีน รัสเซีย จึงเป็นที่มาของการบุกทำลายประเทศอิรักอย่างย่อยยับ จับกุมตัวผู้นำอย่างนายซัดดัม ฮุสเซ็น ขึ้นศาลทหารระหว่างประเทศ ภายหลังถูกศาลตัดสินแขวนคอ และสหรัฐยังเข้าไปเจ้ากี้เจ้าการหนุนผู้นำคนใหม่ลงสมัครเลือกตั้งชิงตำแหน่งผู้นำคนใหม่ของอิรัก ท่ามกลางความขัดแย้ง แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ทั้งซุนหนี่ ชีอะห์ และพวกชาวเคิร์ดอีก จนขาดดุลยภาพ และแตกแยกกันมากขึ้น กลายเป็นรัฐที่ล้มเหลว ผู้นำที่สหรัฐและชาติพันธมิตรยุโรปหนุนหลังก็มีสถานะง่อนแง่น จนต้องมีการเปลี่ยนแปลงผู้นำอีกในเวลาต่อมา มีการลอบสังหารผู้นำจากกลุ่มเสียผลประโยชน์ฝ่ายตรงข้ามและฝ่ายต่างๆ จนท้ายที่สุดจำต้องจัดตั้งรัฐบาลที่มีแกนนำร่วมจากกลุ่มและฝ่ายต่างๆ เพื่อให้สามารถแบ่งผลประโยชน์ลงตัวและสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ สหรัฐนั้นคงกองกำลังทหารไว้ในอ่าวเปอร์เซียร่วมๆ 40,000 นาย ในจำนวนนี้มีทหารจากชาติสมาชิกนาโต้ และพันธมิตรของสหรัฐร่วมอยู่ด้วยเกินครึ่ง เป็นเวลากว่า 10 ปี จนเมื่อนายบารัค ฮุสเซน โอบาม่า ก้าวขึ้นเป็น ปธน.ผิวสีของสหรัฐ จึงมีนโยบายที่จะถอนกำลังทหารออกจากอิรัก เมื่อปี 2011 สหรัฐประกาศว่าสงครามอิรักยุติลงอย่างเป็นทางการแล้ว และก็ทยอยถอนกำลังทหารออกจากอิรักจนหมด และเมื่อปี 2ปีมานี้สหรัฐสามารถเด็ดหัวหรือสังหารผู้นำใหญ่สุดของอัลไคด้าตัวสำคัญอย่างอุสมะห์ บินลาเดนได้ที่ปากีสถานซึ่งเป็นแหล่งกบดานลับ โดยที่รัฐบาลของปากีสถานเองก็ไม่รู้ ซึ่งนั่นเป็นการหยามเกียรติและตบหน้าผู้นำของปากีสถานอย่างชัดเจน จนเกิดความขัดแย้งและสัมพันธภาพของสหรัฐกับปากีสถานก็ไม่ดีเหมือนเก่าแล้ว บทบาทและความแข็งกร้าวของอิหร่านมีมากขึ้นตลอดช่วง 10 ปีมานี้ กลายเป็นคู่ขัดแย้งใหม่ในตะวันออกกลางของสหรัฐ เหตุการณ์สงครามกลางเมืองในซีเรียที่จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่สงบ อีกทั้งมีข่าวว่าพวกตาลีบันกลับมามีอิทธิพลใหม่ในอัฟกานิสถาน พร้อมๆ ด้วยเกิดการแตกสาขาและผู้นำขบวนการอัลกอฮิดะห์คนใหม่ต่อจากอุสมะห์ บินลาเดน และล่าสุด การถือกำเนิดขึ้นของกลุ่มกองโจรที่สถานปนาตัวเองขึ้นมาใหม่ในนาม “ไอเอสไอเอส”  ซึ่งก่อปฏิบัติเย้ย ท้าทายโลกตะวันตกหลายอย่าง และกำลังเป็นภัยคุกคามใหม่ ซึ่งอาจะจะมาแทนหรือมาสมทบกับพวกอัลกอฮิดะห์ก็เป็นได้ จึงเป็นที่มาของเมื่อ 2วันก่อน โอบาม่าประกาศกร้าวจะโจมตีและทำลายกลุ่มไอเอสให้ราบคาบ ซึ่งพวกไอเอสท้าทายสหรัฐและแนวร่วมชาติตะวันตก ด้วยคลิปขู่จะตัดคอนักข่าวชาวอเมริกันและชาติอื่น หากว่าสหรัฐยังไม่เลิกแทรกแซงกิจการภายในของอิรักและชาติมุสลิมในตะวันออกกลาง ผู้เขียนจึงคิดว่านี่คงจะเป็นจุดเริ่มต้นใหม่ของปฏิบัติการพายุทะเลทรายครั้งที่ 3 อีกเป็นแน่ และความวุ่นวาย ขัดแย้ง สงครามในอิรักจะยังไม่จบ และอาจเป็นจุดเล็กๆ ของจิกซอว์อีก 1 ใบไปสู่ภาพใหญ่ที่เรียกว่าสงครามโลกครั้งที่ 3 ในอนาคต อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะว่าอย่าลืมนะว่าความขัดแย้งที่แผ่ซ่านอยู่ในเวลานี้ ทั้งในอียิปต์ ลิเบีย ซีเรีย อิรัก ยูเครน ฉนวนกาซาร์ ต่างล้วนมีสหรัฐเข้าไปเกี่ยวข้องหนุนหลังด้วยทุกที่ ยังไม่นับความขัดแย้งที่สหรัฐมีอยู่กับจีน บริเวณคาบสมุทรเกาหลีอีก ยังไม่นับรวมภัยจากโรคร้ายอีโบล่า ภัยธรรมชาติ เอาแค่ภัยจากก่อการร้ายอย่างเดียว สหรัฐและชาติยุโรปรับไหวมั๊ยหล่ะ พลอยทำให้ประเทศต่างๆ เดือดร้อนไปทั่วโลก เพราะว่าผลประโยชน์ของสหรัฐมีอยู่กระจัดกระจายไปทั่วโลก บางทีผู้ก่อการร้ายมันก็ไม่จำเป็นต้องลงมือในประเทศสหรัฐเอง เหมือนเหตุการณ์ 9/11 เพราะนับจากวันนั้น โลกก็ไม่เคยสงบสุขอีกเลย เวลาจะขึ้นเครืองบิน มีข้อห้ามเยอะแยะ การตรวจตราละเอียดถี่ยิบ มาตรฐานความปลอดภัยทำให้ไปริดรอนสิทธิส่วนบุคคลของนักเดินทางทั่วโลกวุ่นวายไปหมด นี่ยังไม่นับปริศนาของเครืองบินสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ เที่ยวบิน MH 370 ที่สูญหายไปอย่างไร้ร่องรอย ก็ล้วนมีส่วนเกี่ยวโยงไปยังสหรัฐอีกเช่นกัน ทำให้รู้สึกเลยว่าเหตุการณ์ต่างๆ บนโลกนี้ อยู่ในการควบคุมของประเทศอย่างสหรัฐคอยกดปุ่มบังคับอยู่ และชาติทุกชาติต้องเล่นไปตามเกมที่สหรัฐกำหนดนั่นเอง ระวังนะ ยุทธการตีผึ้งและต่อหัวเสือแตกรัง มันจะย้อนมารุมต่อยและเล่นงานคนตีเอง สหรัฐจนถึงวันนี้ก็ยังไม่เคยสรุปบทเรียนของตนเอง ชอบเรียนรู้ที่จะผูกปมซ่อนเงื่อน สร้างปัญหาขึ้นมา แต่ไม่เคยเรียนรู้ที่จะแก้ไขปัญหาของโลกใบนี้ให้ใครได้เลย ยิ่งเข้าไปแก้ เข้าไปแทรกแซงก็ยิ่งบานปลาย ดูอย่างประเทศในโลกมุสลิม กับกระแสอาหรับสปริงสิ จนป่านนี้มีประเทศไหนสงบสุขได้ซักประเทศนึงไหม เพราะเมื่อทุกคนลุกขึ้นมาเรียกร้องประชาธิปไตย มันจะตามมาด้วยการเปิดประเทศให้เป็นเสรี ตามมาด้วยเศรษฐกิจแบบทุนนิยม และสุดท้ายก็จะล่มสลาย กลายเป็นเหยื่อของประเทศมหาอำนาจทุกทีไป ตามสูตรสำเร็จของไอ้กันมัน จึงมีคำกล่าวที่ว่า “อย่าไปเดินตามก้นไอ้กันมันมากเกินไป เวลานี้ประเทศมันก็ไม่ต่างจากจักรรวรรดิโรมันที่กำลังจะล่มสลาย” อยู่แล้ว

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เมื่อวันที่ 10 กันยายน ประธานาธิบดีบารัค โอบามาของสหรัฐอเมริกาประกาศกร้าวว่า จะโจมตีกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอสหรืออีกชื่อหนึ่งคือไอซิล) ในซีเรีย และขยายวงของปฏิบัติการในอิรัก โดยเขาแถลงผ่านทางโทรทัศน์ในช่วงเวลาไพรม์ไทม์ว่า กลุ่มไอซิลที่ฆ่าตัดหัวนักข่าวชาวอเมริกันไป 2 ราย และยึดครองดินแดนส่วนหนึ่งทั้งในอิรักและซีเรีย ถือเป็นกลุ่มที่โหดเหี้ยมอำมหิตมากเป็นพิเศษ แม้ว่าจะวัดด้วยมาตรฐานที่นองเลือดของภูมิภาคตะวันออกกลางก็ตาม "จุดประสงค์ของเราชัดเจน เราจะบั่นทอนกำลัง และทำลายไอซิลในท้ายที่สุด ด้วยยุทธศาสตร์ต่อต้านการก่อการร้ายอย่างครอบคลุมและยั่งยืน" โอบามากล่าวในการนำสหรัฐเข้าสู่สงครามในต่างประเทศอีกครั้ง และว่า "ผมขอพูดให้ชัดว่า เราจะตามล่าผู้ก่อการร้ายที่คุกคามประเทศของเราไม่ว่าพวกเขาอยู่ที่ไหน นั่นหมายความว่า ผมจะไม่ลังเลในการจัดการกับไอซิลในซีเรีย เช่นเดียวกับในอิรัก นี่เป็นหลักการที่เป็นหัวใจสำคัญในตำแหน่งประธานาธิบดีของผม หากคุณคุกคามอเมริกา คุณจะไม่มีทางอยู่อย่างปลอดภัย"  ทว่าโอบามาระบุอย่างชัดเจนในการกล่าวสุนทรพจน์เป็นเวลา 14 นาทีว่า สงครามต่อสู้การก่อการร้ายครั้งนี้จะไม่เดินตามรอยสงครามภาคพื้นดินอันเหน็ดเหนื่อยในอิรักและอัฟกานิสถานเมื่อทศวรรษที่ผ่านมา "จะไม่มีการส่งทหารอเมริกันเข้าไปสู้รบในดินแดนของต่างชาติ" โอบามากล่าว ข่าวระบุด้วยว่า นับเป็นครั้งที่ 5 แล้วที่โอบามากล่าวต่อหน้าประชาชนชาวอเมริกันให้ตระหนักถึงมรดกตกทอดของเหตุการณ์โจมตีของผู้ก่อการร้ายเมื่อ 11 กันยายน พ.ศ.2544 หรือ 9/11 ซึ่งแต่ละครั้งที่เขาต้องกล่าวสุนทรพจน์ในวันครบรอบเหตุการณ์น่าสะพรึงกลัวนั้น โอบามาได้ปรับแต่งสารให้เหมาะสมกับช่วงเวลา และประเด็นต่างๆ อาทิ การรับใช้ชาติ การกลับมายืนหยัด ความอดกลั้นและความปรองดอง ในการกล่าวสุนทรพจน์ที่เป็นการตอบสนองภัยคุกคามของกลุ่มก่อการร้าย ก่อนหน้าวันครบรอบเหตุการณ์ 9/11 ปีนี้ โอบามาบอกว่า "เราไม่สามารถขจัดร่องรอยของความชั่วร้ายให้หมดไปจากโลกได้ และแม้กลุ่มก่อการร้ายเล็กๆ ก็มีความสามารถในการสร้างความเสียหายใหญ่หลวงได้ นั่นยังคงเป็นเรื่องจริงในวันนี้"  ผลสำรวจของศูนย์วิจัยพิวระบุว่า 6 ใน 10 ของชาวอเมริกันตอนนี้ กังวลอย่างมากกับการผงาดขึ้นมาของกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงทั่วโลก ที่นับว่าสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2550 ขณะที่ผลสำรวจของเอ็นบีซี นิวส์ร่วมกับวอลสตรีท เจอร์นัล ระบุว่า 47 เปอร์เซ็นต์ของชาวอเมริกันรู้สึกปลอดภัยน้อยกว่าช่วงก่อนหน้าเหตุการณ์ 9/11 โดยมี 26 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่รู้สึกปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ 

 
  
มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 2,996 คนจากเหตุวินาศกรรมครั้งนี้ ประกอบด้วยโจรจี้เครื่องบิน 19 คน และเหยื่อ 2,977 คนเหยื่อนี้แบ่งเป็น 246 คนบนเครื่องบินทั้งสี่เครื่อง (ซึ่งไม่มีผู้รอดชีวิตเลยแม้แต่คนเดียว), 2,606 คนในนครนิวยอร์ก ซึ่งมีทั้งที่อยู่ในอาคารระฟ้าทั้งสองและบนพื้นดิน และ 125 คนที่อาคารเพนตากอน เหยื่อเกือบทั้งหมดเป็นพลเรือน แต่มีทหาร 55 นายเสียชีวิตที่เพนตากอน

คนทำงานและผู้เยี่ยมชมมากกว่า 90% ที่เสียชีวิตในหอคอยทั้งสองนั้นอยู่บนหรือเหนือชั้นที่เป็นจุดที่ถูกเครื่องบินชน ในอาคารเหนือ มี 1,355 คนอยู่ในชั้นหรือเหนือชั้นที่เป็นจุดที่ถูกชน ซึ่งติดอยู่หรือเสียชีวิตด้วยการสูดหายใจเอาควันเข้าไป ตกลงหรือกระโดดออกจากอาคารเพื่อหนีควันและเปลวไฟ หรือเสียชีวิตหลังอาคารถล่มลงมาหลังจากนั้น มีอีก 107 คนที่อยู่ต่ำกว่าชั้นที่ถูกชนไม่รอดชีวิต ในอาคารใต้ มีปล่องบันไดปล่องหนึ่งยังไม่ได้รับความเสียหาย ทำให้มี 18 คนหลบหนีจากชั้นเหนือกว่าชั้นที่ถูกชนได้ ในอาคารใต้มีผู้เสียชีวิต 630 คน น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของผู้เสียชีวิตในอาคารเหนือ ผู้เสียชีวิตในอาคารใต้ลดลงอย่างมากจากการตัดสินใจของผู้ที่ทำงานอยู่ภายในซึ่งเริ่มอพยพเมื่ออาคารเหนือถูกเครื่องบินชน  ลำดับเหตุการณ์วินาศกรรมในครั้งนี้ ไม่ได้เกิดขึ้น ณ เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์เพียงแห่งเดียว แต่อาคารเพนตากอน ก็ได้ถูกโจมตีด้วย โดยมีการใช้เครื่องบินถึง 3 ลำในการก่อการ ซึ่งผู้ก่อการในครั้งนี้ได้เข้ายึดครองเพื่อบังคับให้พุ่งเข้าชนอาคารสำคัญ และยังมีเครื่องบินอีกหนึ่งลำที่ถูกปล้นด้วยแต่ไม่สามารถชนอาคารได้ ทั้งนี้คาดว่าการขัดขืนจากลูกเรือและผู้โดยสารทำให้เครื่องบินลำดังกล่าวตกลงในเขตชนบทที่ซอมเมอร์เซ็ต เครื่องบินที่ถูกปล้นทั้ง 4 ลำเป็นเครื่องบินโดยสารโบอิ้ง โดยเป็นรุ่น โบอิง 767-200ER จำนวน 2 ลำ (จากอเมริกันแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ 11 และยูไนเต็ดแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ 175) อีก 2 ลำเป็นโบอิง 757-200 (จากอเมริกันแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ 77 และจากยูไนเต็ดแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ 93) ทั้ง 4 ลำเป็นเที่ยวบินที่บินข้ามจากฝั่งตะวันออกไปตะวันตก ดังนั้นจึงบรรทุกน้ำมันเชื้อเพลิงไปเต็มที่ และเชื่อว่าการพังทลายของอาคารแฝดเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ น่าจะเกิดมาจากปริมาณน้ำมันจำนวนมากที่บรรทุกอยู่บนเครื่องบินเหล่านั้น

ลำดับเหตุการณ์ตามเวลาประเทศไทยในเหตุการณ์พอจะสรุปได้ดังนี้

11 กันยายน


·         19:45 น. เครื่องบินโดยสารของอเมริกันแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ 11 จากบอสตันเข้าชนอาคารเหนือ (อาคาร 1 เป็นอาคารที่มีเสาอากาศเห็นได้ชัด) ของเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ แล้วฉีกตัวอาคารเป็นช่องพร้อมทั้งเกิดเพลิงไหม้

·         20:03 น. เครื่องบินโดยสารของยูไนเต็ดแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ 175 จากบอสตันเช่นกัน พุ่งเข้าชนอาคารใต้ (อาคาร 2) ของเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ และเกิดระเบิดรุนแรง

·         20:43 น. เครื่องบินโดยสารเที่ยวบินที่ 77 ของอเมริกันแอร์ไลน์ ชนอาคารเพนตากอน เกิดควันไฟพวยพุ่ง มีการอพยพคนในทันที

·         20:45 น. มีการอพยพคนที่ทำเนียบขาว

·         21:05 น. อาคารใต้ ของเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ถล่มลง ท้องถนนปกคลุมด้วยกลุ่มควัน

·         21:10 น. บางส่วนของอาคารเพนตากอนถล่ม ขณะเดียวกันก็มีรายงานการตกของเครื่องบินโดยสารของยูไนเต็ดแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ 93 ที่เขตชนบทของซอมเมอร์เซ็ต รัฐเพนซิลวาเนีย ซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของพิตส์เบิร์ก

·         21:13 น. อาคารที่ทำการของสหประชาชาติเริ่มขนย้ายผู้คน โดยเป็นคนของสำนักงานใหญ่จำนวน 4,700 คน และจากยูนิเซฟกับฝ่ายอื่นของสหประชาชาติอีก 7,000 คน

·         21:28 น. อาคารเหนือ ของเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ถล่มยุบตัวลง คล้ายถูกตอกด้วยเสาเข็มจากด้านบน เกิดฝุ่นอันหนาทึบ และเศษหักพังกระจายไปทั่ว

·         21:45 น. อาคารที่ทำการของรัฐทุกอาคารในวอชิงตันอพยพคนทั้งหมด

·         21:48 น. ตำรวจได้ยืนยันว่ามีเครื่องบินตกที่ซอมเมอร์เซ็ต

·         21:53 น. มีการประกาศเลื่อนการเลือกตั้งขั้นต้นของนิวยอร์ก

·         22:18 น. อเมริกัน แอร์ไลน์ รายงานเรื่องเครื่องบินที่ถูกปล้น โดยเที่ยวบินที่ 11 เป็นเครื่องโบอิ้ง 767-200ER มีลูกเรือ 11 คน และผู้โดยสาร 81 คน ซึ่งกำลังเดินทางไปยังลอสแอนเจลิส ส่วนเที่ยวบินที่ 77 เป็นเครื่อง 757-200 กำลังเดินทางไปลอสแอนเจลิส โดยมีผู้โดยสาร 58 คน ลูกเรือ 6 คน เครื่อง 767-200ER เป็นลำที่ชนอาคารเหนือของเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ และเครื่อง 757-200 ชนอาคารเพนตากอน

·         22:26 น. ยูไนเต็ดแอร์ไลน์ รายงานเรื่องเครื่องบินที่ถูกปล้นว่า เที่ยวบินที่ 93 ออกจากนิวอาร์ก รัฐเดลาแวร์ ไปยังซานฟรานซิสโก และตกที่เพนซิลวาเนีย

·         22:59 น. ยูไนเต็ดแอร์ไลน์ รายงานเรื่องเครื่องบินเที่ยวบินที่ 175 ที่กำลังเดินทางไปลอสแอนเจลิสว่า มีผู้โดยสาร 56 คน ลูกเรือ 9 คน โดยเป็นลำที่ชนอาคารใต้ของเวิลด์ เทรด เซ็นเตอร์

·         23:04 น. สนามบินลอสแอนเจลิส ซึ่งเป็นที่หมายของเครื่องบิน 3 ลำ อพยพคนทั้งหมด

·         23:15 น. สนามบินซานฟรานซิสโกซึ่งเป็นที่หมายของเครื่องบินเที่ยวบินที่ 93 อพยพคนทั้งหมด

12 กันยายน


·         03:10 น. อาคาร 7 ซึ่งมี 47 ชั้นของเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์เกิดเพลิงไหม้

·         04:20 น. อาคาร 7 ของเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ซึ่งไม่มีคนอยู่แล้วได้ถล่มลงมา โดยเกิดจากความเสียหายที่เกิดขึ้นหลังจากอาคาร 1 และอาคาร 2 (อยู่คนละฝั่งถนน) ถล่มลงก่อนหน้านี้ และอาคารรอบ ๆ บริเวณก็มีเพลิงไหม้ด้วย

·         04:30 น. เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลรายงานว่าเครื่องบินที่ตกในเพนซิลวาเนียอาจจะมีเป้าหมายในการชน แคมป์เดวิด หรือ ทำเนียบขาว หรือ อาคารรัฐสภา อาคารใดอาคารหนึ่ง

·         06:45 น. ตำรวจนิวยอร์กรายงานว่า มีเจ้าหน้าที่สูญหาย 78 นาย และเชื่อว่าพนักงานดับเพลิงประมาณ 200 นายเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ

·         08:22 น. เพลิงไหม้ที่อาคารเพนตากอนยังควบคุมไม่ได้ แต่สามารถจำกัดเขตการลุกลามได้แล้ว

ในขณะที่เกิดเหตุหายนะอยู่นี้ ประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช ได้เดินทางจากฟลอริดากลับสู่วอชิงตัน และได้ออกแถลงการณ์ในเหตุการณ์ โดยขอให้ประชาชนร่วมกันสวดมนต์ให้กับผู้เคราะห์ร้าย รวมทั้งยังประกาศว่า "ผู้ที่กระทำการครั้งนี้จะต้องชดใช้ในสิ่งที่ทำ"

ต่อมามีรายงานว่าอาคารอื่น ๆ ในบริเวณนั้นก็ได้พังทลายลงทั้งหมด (เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ประกอบด้วยอาคาร 7 หลัง) อย่างไรก็ตาม ภาพถ่ายจากดาวเทียมแสดงให้เห็นว่า อาคาร 5 ยังคงตั้งอยู่แต่ก็เสียหายเป็นอย่างมากเช่นกัน สำหรับจำนวนผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บนั้นยังไม่ทราบแน่นอน แต่พบศพแล้วกว่า 200 ศพ และยังสูญหายอีกประมาณ 6,000 คน (ณ วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2544)  สรุปผู้เสียชีวิตมีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 3,400 คน แบ่งเป็น เสียชีวิตบนเครื่องบิน 246 คน ในอาคารและพื้นดินของนครนิวยอร์ก 2,602 คน และในอาคารเพนตากอน 125 คน รวมถึงนักผจญเพลิงนครนิวยอร์ก 343 คน ตำรวจนครนิวยอร์ก 23 คน ตำรวจการท่าเรือของนิวยอร์กและนิวเจอร์ซี 37 คน และผู้สูญหายอีก 24 คน

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น