นายเกรียงชัย บุญโพธิ์อภิชาติ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทซีพี ออลล์ ซึ่งทำธุรกิจร้านค้าสะดวกซื้อรายใหญ่ สุดในไทย ภายใต้ชื่อ"เซเว่น อีเลฟเว่น" กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติให้ลงนามในสัญญาซื้อหุ้นในบริษัทสยามแม็คโคร สัดส่วน 64.35% กับบริษัทเอสเอชวี เนเธอร์แลนด์ บี.วี. ในราคาหุ้นละ 787 บาท รวมมูลค่า 121,536 ล้านบาท
นอกจากนี้ บริษัทยังจะทำคำเสนอซื้อหุ้นสยามแม็คโคร (เทนเดอร์-ออฟเฟอร์) จากผู้ถือหุ้นรายย่อยที่เหลือทั้งหมดในราคาหุ้นละ 787 บาทเช่นกัน โดยคาดว่าการทำคำเสนอซื้อจะมี ขึ้นในราวเดือนส.ค.นี้ ส่งผลให้บริษัทประเมินว่าจะใช้เงินซื้อหุ้นสยามแม็คโครทั้งหมดราว 1.89 แสนล้านบาท
สำหรับแหล่งเงินทุนที่จะใช้ในการซื้อหุ้น จะมาจากกระแสเงินสดของบริษัท และการกู้ยืมจากสถาบันการเงิน โดยบริษัทยืนยันว่าจะไม่เพิ่มทุนจดทะเบียน
ทั้งนี้บริษัทซีพีออลล์จะแถลงข่าวการเข้าซื้อกิจการที่ธนาคารไทยพาณิชย์สำนักงานใหญ่เวลา 14.00 น.วันนี้ โดยคาดว่า ธนาคารไทยพาณิชย์จะเป็นสถาบันการเงินหลักในการสนับสนุนการปล่อยกู้ในกับดีลซื้อแม็คโคร
บริษัทซีพีออลล์ ระบุว่าการเข้าซื้อหุ้นสยามแม็คโครในครั้งนี้ เนื่องจากเห็นว่าผล ตอบแทนจากการลงทุนที่ดี และสยามแม็คโคร มีกลยุทธ์ทางการตลาดที่โดดเด่น ซึ่งบริษัท จะใช้แบรนด์แม็คโคร สร้างมูลค่าเพิ่มและทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อขยายธุรกิจรองรับ การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC)
บริษัทสยามแม็คโคร ประกอบธุรกิจศูนย์จำหน่ายสินค้าอุปโภค บริโภคแบบชำระเงินสดและบริการตนเองให้แก่ลูกค้าที่เป็นสมาชิกบัตรของแม็คโคร เป็นบริษัทในกลุ่มเอสเอชวีจากประเทศเนเธอร์แลนด์ ปัจจุบันมีสาขารวมทั้งสิ้น 57 สาขากระจายอยู่ทั่วประเทศ และร้านจำหน่ายอาหารแช่แข็งขนาดเล็ก"สยามโฟรเซ่น" อีก 5 แห่ง
สำหรับฐานะการเงินของบริษัทสยามแม็คโครปี 2555 มีรายได้รวม 114,956 ล้านบาท มีกำไรสุท่ธิ 3,556 ล้านบาท สินทรัพย์รวม 32,085 ล้านบาท
ด้านราคาหุ้นสยามแม็คโครปิดตลาดก่อนแขวนเอสพีอยู่ที่ 682 บาทต่อหุ้นส่วนราคาหุ้นซีพี ออลล์ วานนี้อยู่ที่ 43.50 บาท ขณะที่วันนี้ซีพีออลล์ขอพักการซื้อขายหุ้นด้านนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เกียรตินาคิน กล่าวว่ากรณีดีลซีพีออลล์ซื้อหุ้นสยามแม็คโครนั้น ถือเป็นดีลขนาดใหญ่ ซึ่งคงต้องติดตามข้อมูลให้ชัดเจนอีกครั้งแต่หากประเมินเบื้องต้น หากทั้งสองบริษัทควบรวมกัน ก็จะทำให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้นในระยะยาว
อย่างไรก็ตาม การทำดีลนี้จะทำให้ซีพี ออลล์ต้องกู้เงินมูลค่า 1.8 แสนล้านบาท โดยคิดในอัตราดอกเบี้ยลูกค้าชั้นดีปกติ จะมีภาระดอกเบี้ยจ่าย หมื่นล้านบาทต่อปี ขณะที่ความสามารถในการทำกำไรปัจจุบันของทั้งสองบริษัทอยู่ที่ 1.5 หมื่นล้านบาทต่อปี ทำให้บริษัทซีพี ออลล์ มีหนี้สินต่อทุนเพิ่มขึ้นเป็น 7 เท่า แต่ถ้าหลังควบรวมกันแล้ว ก็จะอยู่ที่ 5 เท่า ซึ่งยังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ยในกลุ่มค้าปลีกที่มีค่าพีอีเรโชเพียง 3 เท่า
เขากล่าวว่า ราคาซื้อหุ้นแม็คโครที่ 787 บาทต่อหุ้นนั้น ถือว่าสูงมากและสูงกว่าราคาในกระดานหลัก โดยหากเทียบมูลค่าหุ้นตามบัญชีของแม็คโคร พบว่าราคาดังกล่าวอยู่ที่ประมาณ 17.7 เท่าของมูลค่าตามบัญชี (book value) ซึ่งจะต้องดูเหตุผลอะไรที่สนับสนุนให้บริษัทซีพี ออลล์ยอมจ่ายในอัตราที่สูงขนาดนี้
กรุงเทพ ฯ 24 เม.ย. - นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) กล่าวยืนยันว่าไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุนเพื่อเข้าซื้อกิจการ บมจ.สยามแม็คโคร (MAKRO) เพราะบริษัทสามารถใช้เงินกู้และกระแสเงินสดที่มีอยู่ได้ แต่ก็ยอมรับว่าราคาซื้อหุ้น MAKRO ค่อนข้างแพง แต่เมื่อพิจารณาจากแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจในอนาคต ถือว่าคุ้มราคา ซึ่งทาง CPALL มีแผนจะขยายสาขา MAKRO ในต่างประเทศ อีกทั้งอาจจะมีการพัฒนาร้านสาขาไปสู่รูปแบบของซุปเปอร์มาร์เก็ตด้วยและในอนาคตยังมีแผนจะนำสินทรัพย์ของ MAKRO มาจัดตั้งเป็นกองทุนอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากทำเลที่ตั้งของ MAKRO เป็นทำเลที่มีศักยภาพในการเติบโตทางธุรกิจ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หุ้น บริษัท ซีพี ออลล์ (CPALL ) ร่วงร้อยละ 10.34 มาอยู่ที่ 39 บาท ลดลง 4.50 บาท ติดอันดับหุ้นที่มีการซื้อขายสูงสุดเป็นอันดับหนึ่ง ขณะที่หุ้น บริษัท สยาม แม็คโคร (MAKRO ) พุ่งมาอยู่ที่ 754 บาท เพิ่มขึ้น72 บาท หรือร้อยละ10.56 ติดอันดับหุ้นที่มีการซื้อขายสูงสุดเป็นอันดับสอง
บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส วิเคราะห์ว่า การที่บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) การซื้อกิจการ บมจ.สยามแมคโคร(MAKRO) โดยซื้อหุ้น MAKRO ที่ราคา 787 บาทต่อหุ้น คาดว่ากำไรจะเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นไป ส่วนการที่แหล่งเงินทุนส่วนใหญ่เป็นเงินกู้ ดังนั้นอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุนก็จะเพิ่มขึ้นเป็น 3.3 เท่า ณ ปลายปี 2556 และในอนาคตก็จะทยอยลดลง เมื่อมีการชำระคืนหนี้เงินกู้ สำหรับประโยชน์ที่ได้จากการซื้อกิจการคือ อำนาจในการต่อรองการสั่งซื้อสินค้ามาจำหน่าย จะแข็งแกร่งมาก อีกทั้งสามารถใช้สาขาของ MAKRO ที่มีอยู่มาบริหารให้มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังสามารถใช้ MAKRO ในการบุกตลาดในโซนเอเซีย เพราะไม่มีข้อจำกัดแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ดอกเบี้ยจ่ายที่สูงขึ้นและประโยชน์จากการซื้อในช่วงแรกๆจะยังไม่เห็นผลนัก จึงได้ปรับลดประมาณการกำไรสุทธิปี 2556 ลง ร้อยละ 3 แต่เพิ่มกำไรสุทธิปี 2557 อีกร้อยละ 8 เพื่อสะท้อนอัตรากำไรที่สูงขึ้น และได้รับกำไรจากการทำงบรวมกับ MAKRO เต็มปีบทวิเคราะห์จาก บล.เกียรตินาคิน ปรับราคาเป้าหมายเพิ่มเป็น 63 บาท แม้ซื้อ MAKRO แพงกว่ามูลค่าทางบัญชีหุ้น MAKRO ถึง 18 เท่า และสูงกว่าราคาตลาด ถึงร้อยละ 15 แต่ระยะยาวเรามีมุมมอง บวก ต่อโอกาสเติบโตโดยเฉพาะผลจากการประหยัดต่อขนาด การใช้ประโยชน์ร่วมกันจากระบบกระจายสินค้า และโอกาสขยายสาขาต่างประเทศ คาดว่าผลบวกจากการควบรวมจะเริ่มเห็นเต็มปี 2557 เป็นต้นไป ทำให้ประมาณการกำไรสุทธิปี 2556-2558 ของ CPALL จะเติบโตเฉลี่ย ร้อยละ 24 ดีขึ้นเทียบกับก่อนควบรวมเติบโต ร้อยละ 12.-สำนักข่าวไทย
ย้อนหลังไปในปี 2531 หรือกว่า 25 ปีที่แล้ว การเกิดขึ้นของศูนย์จำหน่ายสินค้าในรูปแบบ Cash and Carry ในนาม สยามแมคโคร คงสร้างความสั่นสะเทือนให้กับวงการค้าปลีกไทยไม่น้อย แต่บริบทที่เกิดขึ้นกับ สยามแมคโคร ในวันนี้กำลังเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ธุรกิจค้าปลีกไทย ไปไกลเกินกว่าที่ใครจะจินตนาการถึง
บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) เริ่มดำเนินธุรกิจศูนย์จำหน่ายสินค้าระบบสมาชิก แบบชำระเงินสดและบริการตนเอง ภายใต้ชื่อ “แม็คโคร” ด้วยการจดทะเบียนก่อตั้งบริษัท ในเดือน พฤษภาคม พ.ศ. 2531 หลังจากที่ SHV Holding บรรษัทที่มีโครงข่ายธุรกิจหลากหลายสัญชาติจากเนเธอร์แลนด์ รุกเข้ามาทำธุรกิจค้าปลีกในเอเชีย ซึ่งควบคู่กับการรุกเข้าไปทั้งใน มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
การเข้ามาในเมืองไทยของบรรษัทต่างชาติอย่าง SHV ในครั้งนั้น ย่อมต้องดำเนินไปโดยมีพันธมิตรธุรกิจขนาดใหญ่ของไทย เป็นส่วนหนึ่งของย่างก้าวก่อนที่จะลงหลักปักฐาน ซึ่งไม่แปลกที่ในครั้งนั้นชื่อของเครือเจริญโภคภัณฑ์จะปรากฏเป็นพันธมิตรสำคัญตั้งแต่เริ่ม “25 ปีที่แล้ว กลุ่มซีพีได้ชักชวน ให้ SHV Holding เปิดแม็คโครในเมืองไทย ในขณะที่ซีพี ก็เปิด 7-11 ซึ่งถือได้ว่า เราได้เป็นพี่น้องตระกูลเดียวกัน มาปีนี้เราได้มาผนวกกำลังกัน เพื่อพร้อมรับ AEC”
นั่นเป็นคำกล่าวของก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ที่ปรากฏอยู่ในช่วงหนึ่งของการแถลงข่าวการซื้อสยามแม็คโคร จากกลุ่ม SHV เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2556 ซึ่งสะท้อนวิธีคิดและรากฐานความสัมพันธ์ของทั้งสองกลุ่มธุรกิจนี้ได้เป็นอย่างดี และบ่งบอกนัยความหมายในเชิงยุทธศาสตร์ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ในการขยายธุรกิจค้าปลีกไทยไปสู่ตลาดสากลในอนาคตได้อย่างชัดเจน ประเด็นสำคัญที่หลายฝ่ายให้ความสนใจเกี่ยวกับดีลครั้งใหญ่ นี้อยู่ที่ อะไรเป็นเหตุให้ SHV Holding หนึ่งในบริษัทเก่าแก่เนเธอร์แลนด์ และมีโครงข่ายธุรกิจครอบคลุมทั้งกิจการขนส่ง อุตสาหกรรมน้ำมัน รวมถึงธุรกิจบริการด้านการเงิน และถือเป็นหนึ่งในกลุ่มบริษัทเทรดดิ้งและค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในโลก ถอนตัวออกจากประเทศไทย
SHV Holdings ถือกำเนิดขึ้นในปี 1896 ในฐานะ Steenkolen Handels-Vereeniging จากการควบรวมกันของผู้ค้าส่งถ่านหิน 8 รายในเนเธอร์แลนด์ เพื่อรองรับกำลังการผลิตที่เกิดขึ้นจาก Rheinisch-Westfälischem Kohlen-Syndikat วิสาหกิจด้านถ่านหินของเยอรมนี นอกจาก SHV จะผูกขาดการค้าและการขนส่งถ่านหินในเนเธอร์แลนด์ที่ทำให้ SHV เติบโตอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ก่อนที่ยุโรปจะเข้าสู่ภาวะสงครามโลกครั้งที่ 1 และ2 แล้ว SHV ยังขยายบริบททางธุรกิจด้านพลังงานไปสู่อุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ ซึ่งหนุนส่งให้ SHV มีสรรพกำลังทางการเงินในการรุกเข้าสู่ธุรกิจอื่นๆ ในเวลาต่อมา ความชำนาญการอย่างหนึ่งที่สะท้อนออกมาในรูปแบบการดำเนินธุรกิจหลากหลายของ SHV Holdings อยู่ที่ความสามารถในการบริหารจัดการธุรกิจที่พร้อมจะสร้างหลักประกันในการผูกขาดและลดความเสี่ยงด้วยการหลีกเลี่ยงการแข่งขันซึ่งถือเป็นมรดก ตั้งแต่ยุคของ Frits Fentener van Vlissingen ซึ่งนำพา SHV ให้ก้าวขึ้นมาเป็นบรรษัทข้ามชาติได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในช่วงของสงครามอีกด้วย SHV เริ่มเข้าสู่ธุรกิจค้าส่ง-ค้าปลีก ด้วยการจัดตั้งและเปิดMakro ในฐานะร้านจำหน่ายสินค้าระบบสมาชิก แบบชำระเงินสดและบริการตนเองแห่งแรก ที่เมืองอัมสเตอร์ดัมในปี 1968 ก่อนที่จะขยายสาขาไปเกือบทั่วโลก ทั้ง ยุโรป, อเมริกา และเอเชีย ข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่ในด้านหนึ่งอยู่ที่ยุโรป กำลังเกิดปัญหาวิกฤตขนานใหญ่ ซึ่งทำให้หลายฝ่ายเชื่อว่ากระบวนการถอนสมอออกจากไทยเป็นส่วนหนึ่งใน “จังหวะถอย” เพื่อดึงทรัพยากรไปทุ่มเทและใช้พยุงธุรกิจอื่นๆ ที่ยังสามารถเป็นหลักให้กับ SHV ได้ โดยเฉพาะในธุรกิจพลังงานซึ่งดูเหมือนจะเป็นคำตอบสำหรับอนาคตของ SHV และนี่อาจเป็นการยุติให้ Makro ของ SHV กลายเป็นชื่อในตำนานของธุรกิจค้าปลีก เพราะก่อนหน้านี้ SHV ได้ถอยออกจากการค้าปลีกทีละน้อยด้วยการขายกิจการ Makro ในยุโรปให้กับ Metro ยักษ์ใหญ่ในธุรกิจค้าส่งค้าปลีกจากเยอรมนี ในปี 1998 ขณะที่ในเอเชีย SHV ขายกิจการของ Makro มาเลเซียให้กับ Tesco จากอังกฤษในปี 2007 และทำให้สาขาของ Makro ถูกแทนที่ด้วยชื่อ Tesco Extra ในปีถัดมา SHV ก็ขาย Makro ในอินโดนีเซียให้กับกลุ่ม Lotte จากเกาหลี พร้อมกับการเปลี่ยนชื่อเป็น Lotte Mart Wholesale แม้ว่า SHV จะมีท่วงทำนองไปทางทยอยถอย Makro ออกจากเอเชีย แต่โครงข่ายของ Makro ในภูมิภาค อื่นๆ โดยเฉพาะในละตินอเมริกา ยังมีความแข็งแรงและครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่ โคลัมเบีย เปรู เวเนซุเอลา อาร์เจนตินา และบราซิล ซึ่งเฉพาะในบราซิล มีสาขาของMakro อยู่มากถึงกว่า 76 แห่งทีเดียว
การเข้าซื้อกิจการ Makro ในประเทศไทยของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ในสายตาของผู้ประกอบการหรือนักลงทุนจำนวนไม่น้อยอาจประเมินว่าเป็นดีลที่ over price แต่สำหรับเครือเจริญโภคภัณฑ์แล้ว พวกเขาเชื่อว่า การได้สยามแม็คโครเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในโครงข่ายธุรกิจ จะสามารถเสริมจุดแข็งและสร้างความมหัศจรรย์ของการลงทุนให้เกิดขึ้นได้ แต่การลงทุนที่ถือว่าเป็นดีลที่ยิ่งใหญ่เป็นประวัติการณ์ของสังคมธุรกิจไทย ด้วยมูลค่ารวมเป็น “เลขมงคล” 188,880 ล้านบาท ในครั้งนี้จะหนุนนำให้ CP All ก้าวไปสู่จุดที่มุ่งหวังหรือไม่ ยังต้องพิสูจน์
อ้างอิงข้อมูลจาก บทความที่ชื่อว่า “เปิดปูม SHV ก่อนถอนสมอ Makro จากไทย” นิตยสารออนไลน์ ผู้จัดการ 360องศา, www.gotomanager.com