Best Picture : Nominations 9 Choice
1. Amour (ภ.จากออสเตรีย) 2.Argo 3.Beasts of the Southern Wild 4.Django Unchained 5. Les Miserables 6.Life of Pi 7.Lincoln 8. Silver Linings Playbook 9.Zero Dark Thirty
Best Director : Nominations 5 Choice
1.ไมเคิล ฮานาเก้ จาก Amour 2.เบ็นห์ เชตลิน จาก Beasts of the Southern Wild 3.อังลี จาก Life of Pi 4. สตีเว่น สปีลเบิร์ก จาก Lincoln 5.เดวิด โอ.รัสเซลล์ จาก Silver Linings Playbook
Best Original Screenplay : Nominations 5 Choice
1.ไมเคิล ฮานาเก้ จาก Amour 2.เควนติน ทาแรนติโน่ จาก Django Unchained 3.จอห์น เกตินส์ จาก Fight 4. เวส แอนเดอร์สัน และ โรมัน คอปโปล่า จาก Moonrise Kingdom 5.มาร์ค โบล จาก Zero Dark Thirty
Best Adapted Screenplay : Nominations 5 Choice
1.คริส เทอร์ริโอ จาก Argo 2. ลูซี่ อลิบาร์และ เบนห์ เชตลิน จาก Beasts of the Southern Wild 3. เดวิด มากี จาก Life of Pi 4. โทนี่ คุชเนอร์ จาก Lincoln 5. เดวิด โอ รัสเซลล์ จาก Silver Linings Playbook
หนังที่ผู้เขียนให้เป็นตัวเต็งในการประกาศผลรางวัลออสการ์ครั้งนี้มีเพียง 5เรื่อง คือ Argo , Les Miserables, Life of Pi, Lincoln และ Zero Dark Thirty และในจำนวนนี้มีถึง 3 เรื่องที่ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนั้นไม่เข้ารอบในการถูกเสนอชื่อเข้าชิงในตัวเลือกสุดท้าย ได้แก่ เบน เอฟเฟล็ค จาก Argo ,ทอม ฮูเปอร์ จาก Les Miserables และ แคเธอริน บิเกโลว์ จาก Zero Dark Thirty บางคนบอกไม่เห็นแปลกก็ในเมื่อภาพยนตร์ที่ได้เข้าชิง ภ.ยอดเยี่ยมมีถึง9 เรื่องแต่สาขาผู้กำกับมีเพียง 5 เรื่อง น้ำหนักที่ให้ไม่เท่ากัน ยังไงเสียก็ไม่มีทางที่จะได้ในสัดส่วนเท่ากัน ทำให้เป็นอีกปีนึงที่มีโอกาสสูงที่ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม กับสาขาผู้กำกับจะมาจากคนละเรื่องกัน รวมไปถึงสาขาบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมด้วย นั่นเท่ากับว่าจะเป็นอีกปีนึงที่จะไม่สามารถสะท้อนแนวทางหรือธีมหลักของปีนี้อย่างเด่นชัด เพราะจะสะเปะสะปะ ไปคนละทาง แต่ก็สามารถบ่งบอกได้ว่าคุณภาพโดยภาพรวมอุตสาหกรรมภาพยนตร์นั้นมีความโดดเด่นหลากหลายไปในหลายๆ แนวทางมากขึ้น
Argo ภายหลังจากภ.เรื่อง Good Will Hunting เบน เอฟเฟล็ก ก็พาตัวเองไปล้มลุกคลุกฝุ่นกับราซซี่อยู่หลายปีดีดัก เล่นหนังฟอร์มยักษ์บ้าง ฟอร์มย่อมๆ บ้าง จนกระทั่งเมื่อปี 2007 ทายาทตระกูลเอฟเฟล็กผู้นี้ก็นำเสนอตัวเองในบทบาทแห่ง “คนทำหนัง” อย่างเต็มตัว กับผลงานเรื่อง Gone Baby Gone โดยมีเคซี่ เอฟเฟล็ก น้องชายของเขา และนักแสดงรุ่นเก๋าอย่างมอร์แกน ฟรีแมน แสดงนำ ตัวหนังแม้จะเข้าไปไม่ถึงพรมแดงออสการ์แต่ทว่าก็ได้รางวัลมาจากหลายเวที เช่นเดียวกับกระแสเสียงแห่งความชื่นชมในฐานะคนทำหนังที่น่าจับตามอง หลังจากนั้นอีก 2-3 ปี เบนก็กลับมาอีกทีกับผลงานเรื่อง The Town หนังอาจจะไม่ได้อะไรติดไม้ติดมือเลยในแง่รางวี่รางวัล แต่ก็ยังยืนว่าเบน เอฟเฟล็ก ยังมั่นคงอยู่บนถนนสายนี้ เขาดูคล้ายๆ กับรุ่นก่อนหน้าหลายคนที่ผันตัวเองจากนักแสดงมาเป็นผู้กำกับภาพยนตร์และสร้างผลงานได้ดี ไม่ว่าจะเป็นโรเบิร์ต เรดฟอร์ด จอร์จ คลูนี่ย์ หรือแม้แต่คลินต์ อีสต์วูด ที่หลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เบนจะเป็นปู่คลินต์คนต่อไป แน่นอน ปีนี้ เบน เอฟเฟล็ก ก็ได้พิสูจน์ตัวเองในฐานะคนมีคุณภาพอีกครั้งหนึ่ง กับหนังซึ่งคาดหวังได้ว่า น่าจะไปไกลถึงออสการ์ในบางสาขารางวัล
Argo เป็นหนังระทึกขวัญการเมืองซึ่งเล่าเรื่องย้อนกลับไปในช่วงยุค 70 ปลายๆ คาบเกี่ยวกับ 80 เป็นเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นในสมัยการบริหารประเทศของประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์ หนังหยิบยกเอาสถานการณ์การลุกฮือขึ้นของประชาชนชาวอิหร่านที่ก่อการปฏิวัติ บุกจู่โจมสถานทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงเตหะรานและจับตัวประกันไว้ได้ 52 คน อย่างไรก็ดี ในช่วงขณะอันชุลมุนวุ่นวายนั้น ชาวอเมริกัน 6 ชีวิตได้อาศัยช่วงเวลานั้นหลบหนีและเข้าไปลี้ภัยอยู่ในบ้านของทูตแคนาดา และก็เป็นภารกิจของรัฐบาลอเมริกาที่จะต้องหาหนทางเพื่อไปช่วยเหลือคนทั้งหกให้ได้กลับบ้าน แต่นั่นไม่ง่ายเลย เพราะกองกำลังปฏิวัติที่เคร่งครัดเข้มงวดในการตรวจสอบคนเข้าเมืองชนิดที่แทบจะหารูโหว่รอยรั่วไม่เจอ และภายหลังถกเถียงกันอยู่นาน ในที่สุด รัฐบาลสหรัฐฯ ก็อนุมัติวิธีการที่นำเสนอขึ้นมาโดยสายลับซีไอเอที่ชื่อโทนี่ เมนเดซ ท่ามกลางความรู้สึกแบบเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่งว่าจะเป็นไปได้ แต่การใช้ข้ออ้างเพื่อเข้าไปถ่ายทำหนังในประเทศอิหร่าน ก็ดูจะเป็นหนึ่งในหนทางที่น่าจะดีที่สุดในบรรดาตัวเลือกทั้งหมด โทนี่ เมนเดซ จึงรวบรวมสมัครพรรคพวกตั้งกองถ่าย “หนังเก๊ๆ” ขึ้นมากองหนึ่ง โดยมีแผนลับซ่อนอยู่เบื้องหลัง ว่ากันอย่างตรงไปตรงมา หนังอย่าง Argo นั้นอาจจะไม่ถูกจริตกับคนดูที่คาดหวังหนังแอ็กชั่นเท่าใดนัก แม้จะมีรายละเอียดเกี่ยวกับการช่วยเหลือตัวประกันแบบเดียวกับหนังตระกูล Taken แต่ความโดดเด่นของงานชิ้นนี้ ไม่ได้ขึ้นตรงต่อฉากแอ็กชั่นการต่อสู้ หากแต่อยู่ที่ชั้นเชิงในการเล่นบรรยากาศความกดดันบีบคั้นและลุ้นระทึกชนิดที่ทำให้เราหายใจติดขัดจนถึงขั้นนั่งไม่ติดเบาะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช่วงท้ายของหนัง เมื่อเรื่องราวพัฒนาการไปสู่จุดพีคอย่างถึงที่สุดแล้ว
(อ้างอิง : บทวิจารณ์บางส่วนของคุณอภินันท์ บุญเรืองพะเนา ในเว็บผู้จัดการ)
Les Miserables เล่าเรื่องความทุกข์ยากของผู้คนหลากหลาย ที่เกี่ยวกระหวัดกันอยู่ในช่วงกลียุคของฝรั่งเศส (เนื่อเรื่องเกิดขึ้นในช่วงปี 1815-1832...ซึ่งเป็นปีที่เกิดการปฏิวัติฝรั่งเศสอันล้มเหลว) โดยเน้นไปที่ตัวละครหลักอย่าง ฌอง วัลฌอง(ฮิวจ์ แจ็คแมน) อดีตนักโทษซึ่งโดนจำคุกเพียงเพราะไปขโมยขนมปังแค่หนึ่งก้อน , ฟองตีน (แอนน์ แฮทธาเวย์) หญิงสาวต่ำศักดิ์ไร้การศึกษา ที่โดนล่อลวงจากสังคมอันเลวร้าย จนต้องขายทุกอย่างในชีวิต แม้กระทั่งเกียรติยศของตัวเองเพื่อเป็นค่าเลี้ยงดูลูกสาว, โคเซ็ตต์ (อแมนดา ไซย์ฟรีด) ลูกสาวนอกสมรสของฟองตีน ซึ่งต่อมาวัลฌองได้รับมาเลี้ยงดูเป็นลูกบุญธรรม และฌาแวรต์ (รัสเซล โครว์) นายตำรวจผู้เคร่งครัด ที่คอยตามไล่จับวัลฌองตลอดทั้งเรื่อง ด้วยคิดว่าคนที่เคยทำผิดพลาดอย่างไรเสียก็ไม่มีวันเปลี่ยนเป็นคนดีได้.... “นี่ไม่ใช่ครั้งแรกและครั้งสำคัญของมิวสิคัล แต่มันเป็นครั้งแรกและครั้งสำคัญของเรื่องราวอันยิ่งใหญ่ที่ใช้รูปแบบมิวสิคัลมานำเสนอ” ฮูเปอร์ กล่าว ดังนั้นนอกจากการดึงรูปแบบของมิวสิคัลต้นฉบับมาทั้งบทเพลงและบทละครแล้ว เขาจึงไม่ลังเลใจที่จะใช้เทคนิคมากมายทางภาพยนตร์เพื่อมาขับเน้นให้เรื่องราวเข้มข้นขึ้น และสิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นจุดขายของ Les Miserables ฉบับนี้ก็คือ การที่ฮูเปอร์เลือกให้นักแสดงทุกคนร้องเพลงสดๆ ขณะถ่ายทำ แทนที่จะเป็นการบันทึกเสียงไว้ก่อนแล้วมาลิปซิงค์ทับทีหลัง นักแสดงจะได้ยินเสียงไกด์จากการบรรเลงเปียโนสดๆ ผ่านหูฟังเล็กๆ ทำให้พวกเขาสามารถกำหนดอารมณ์และจังหวะการขับร้องได้ ซึ่งฮูเปอร์บอกว่า”มันคือการปฏิวัติอย่างสมบูรณ์” และยังอธิบายเพิ่มเติมว่า “สัมผัสทางกวีจะทำให้นักแสดงมีเวลาเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อยในการสร้างรูปแบบความคิดใหม่ๆ และร้องมันออกมา” ทางด้านคาเมรอน แม็กอินทอช เจ้าของฉายา “The King of Musical” ผู้เคยเป็นโปรดิวเซอร์ให้แก่ Les Miserables ฉบับเป็นละครเวทีบรอดเวย์ และมิวสิคัลชื่อก้องโลกเรื่องอื่นๆ อย่าง Phantom of the Opera และ Miss Saigon ซึ่งได้มานั่งแท่นเป็นโปรดิวเซอร์ให้แก่ Les Miserables ฉบับนี้ด้วย ก็ได้เปรียบเทียบเรื่องนี้กับ Gone with the Wind มิวสิคัลจากฝั่งเวสเอ็นด์ ที่เคยโดนดัดแปลงมาเป็นภาพยนตร์จนโด่งดังถล่มทลายมาแล้วว่า “ผมรู้สึกเสมอว่าเนื้อหาของ Les Miserables สามารถทำเป็นมิวสิคัลในแบบ Gone with the Wind ได้
Life of Pi สร้างมาจากนิยายขายดีชื่อเดียวกันของยานน์ มาร์เทล นักเขียนชาวแคนาดาที่ตีพิมพ์ในปี 2001 ซึ่งขายได้มากกว่า 7 ล้านเล่มทั่วโลก และติดอันดับหนังสือขายดีของนิวยอร์กไทม์หลายสัปดาห์ นอกจากนั้น Life of Pi ยังได้รับรางวัล Man-Booker ของอังกฤษ ในสาขานิยายยอดเยี่ยมประจำปี 2002 อีกด้วย
Life of Pi เล่าเรื่องราวของ พิสซีน โมลิตอร์ พาเทล หรือ พาย พาเทล เด็กหนุ่มทายาทเจ้าของกิจการสวนสัตว์ในเมืองพอนดิเชอร์รี ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นดินแดนส่วนน้อยที่ตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส (พื้นที่ส่วนใหญ่ของอินเดียตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ) เขาเป็นเด็กฉลาดที่ได้รับการถ่ายทอดความรู้เรื่องธรรมชาติของสัตว์มาเป็นอย่างดี และนอกจากนับถือศาสนาฮินดูตามครอบครัวและเป็นมังสวิรัติแล้ว เขายังนับถือศาสนาคริสต์และอิสลามพร้อมกันไปด้วย ตามการอ้างคำพูดของมหาตมะ คานธี ที่ว่า “ทุกศาสนาล้วนเป็นสัจจะ” ในเวลาต่อมาครอบครัวของพาเทลตัดสินใจขายกิจการสวนสัตว์ทิ้ง แล้วย้ายไปอยู่แคนาดา ด้วยเหตุผลเรื่องสถานการณ์บ้านเมืองภายใต้การปกครองของรัฐบาลนาง อินทิรา คานธี ไม่สู้ดีนัก พวกเขาเดินทางด้วยเรือที่ขนสัตว์ไปเต็มลำเรือ แต่แล้วก็เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้น เมื่อเรือเกิดอับปางลงกลางทะเล แต่เขาก็รอดชีวิตมาได้ด้วยการลงเรือชูชีพได้ทัน แต่บนเรือลำนั้นไม่ได้มีแค่เขาคนเดียว แต่ยังมีเสือเบงกอลขนาดใหญ่นามว่า ริชาร์ด พาร์คเกอร์ ร่วมอยู่ด้วย นอกจากต้องดิ้นรนเอาตัวรอดจากภัยธรรมชาติและการขาดแคลนอาหารน้ำดื่มแล้ว เขายังต้องเอาตัวรอดจากการไม่ให้ถูกเสือจับกินเป็นอาหารอีกด้วย การผูกสัมพันธ์กับมันและฝึกมันให้เชื่องเป็นงานที่เขาต้องทำ ซึ่งจากที่เคยเป็นศัตรูคู่อาฆาตกัน แต่เมื่อเวลาผ่านไป พาย พาเทล ก็ได้พบว่าความผูกพันที่เขามีต่อ ริชาร์ด พาร์คเกอร์ กลับซับซ้อนกว่าที่เคยคิดไว้ สิ่งที่ทำให้นิยายเรื่องนี้ได้รับคำชื่นชม มาจากการที่หนังพูดถึงความศรัทธาได้อย่างน่าสนใจ ตัวละครหนึ่งถึงกับพูดว่า “คุณจะกลับมาเชื่อในพระเจ้า อีกครั้งหลังจากได้ยินเรื่องราวของพาย” ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่ได้รับทราบถึงเรื่องราวของพาย จะเชื่อในพระเจ้า หลังจาได้ยินเรื่องราวดังกล่าว แต่สิ่งที่มั่นใจได้ก็คือ พวกเขาจะเชื่อในตัวมนุษย์อีกครั้ง นอกจากนั้นแล้ว ตัวนิยายยังพูดถึงการต่อสู้ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับนิยายสุดคลาสสิคขึ้นหิ้งระดับโลก The Old Man and the Sea ของเออร์เนสต์ แฮมมิ่งเวย์ ซึ่งประโยคคลาสสิกของแฮมมิ่งเวย์ที่ว่า “มนุษย์ถูกทำให้ตายได้ แต่ถูกทำให้ยอมแพ้ไม่ได้” ก็สามารถนำมาอธิบายถึงความอดทนและใจสู้ของพายพาเทล ได้เหมือนกัน Life of Pi จัดเป็นโปรเจ็คท์เจ้าปัญหาที่ใช้เวลานานกว่า 10 ปีกว่า กว่าจะสร้างเป็นหนังจริงได้ ผ่านมือผู้กำกับมาแล้วหลายคน รวมถึง เอ็มไนท์ ชยามาลานด้วย ในปี 2003 เขาขอถอนตัวไปในที่สุด อันเนื่องมาจากตัวหนังมีตอนจบที่หักมุม ซึ่งหนังทุกเรื่องของเขามีจุดหักมุมทุกเรื่องทำให้กลัวกระแสความคาดหวังจากคนดู จึงยอมถอนตัวไป ต่อมาในปี 2005 อัลฟองโซ คัวรอน ผู้กำกับชาวเม็กซิโกเข้ามารับผิดชอบแต่ติดสร้างหนังอีกเรื่องจึงขอถอนตัว, ฌอง ปิแอร์เฌอเนต์ เข้าจับโปรเจ็คท์นี้ในปี 2006 เกิดความขัดแย้งเรื่องทุนสร้างจึงถอนตัวเช่นกัน พอมาในปี 2009 โปรเจ็คท์เรื่องนี้มาอยู่ในมือของอังลี ผู้กำกับมากความสามารถ มีดีกรีผู้กำกับรางวัลออสการ์มาแล้ว และตัวเขาเมื่อได้อ่านบทแล้วก็สนใจที่จะสร้างทันที เขากล่าวว่า “มันเป็นเรื่องราวผจญภัยที่นำไปสู่คำถามซึ่งยิ่งใหญ่กว่านั้น ซึ่งถึงแม้ว่าหนังจะมีเนื้อหาค่อนข้างเหนือจริงอยู่บ้าง แต่ผมก็พยายามทำหนังให้ออกมาสมจริงที่สุด เพราะนั่นเป็นการชักชวนให้ผู้ชมเปิดใจเข้ามายังโลกที่เต็มไปด้วยสิ่งแปลกประหลาดมหัศจรรย์ได้ดีที่สุด ผมมองว่าภาพยนตร์นั้นเป็นหนทางในการเรียนรู้เกี่ยวกับโลกกว้าง เกี่ยวกับตัวเองและเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนกับศิลปะได้” อังลี กล่าวเสริม
Lincoln หนังเล่าเรื่องชีวประวัติของประธานาธิบดีผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาลของประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ชื่อ อับราฮัม ลินคอล์น กำกับโดยสตีเว่น สปีลเบิร์ก หนังนำเสนอเนื้อหาที่เป็นจุดสำคัญทางประวัติศาสตร์ของอเมริกาหลายช่วงตอน ผ่านตัวละครเอกคือ ปธน.สหรัฐ ลินคอล์น (นำแสดงโดยแดเนียล เดย์-ลูอีส) ลินคอล์นเป็นคนที่พูดช้าๆ แต่ตรงไปตรงมา เป็นนักปฏิบัติที่เล็งผลเลิศที่สุด มีอดีตเป็นชายหนุ่มจากท้องทุ่งแห่งเคนตั๊กกี้ อินเดียน่า และอิลลินอยส์ ขณะเดียวกันเขามีการศึกษาตามระบบค่อนข้างน้อย ทว่ากลับเก่งกาจในการเติมความรู้ด้วยตนเองผ่านการอ่านหนังสือ เดย์-ลูอีส นั้นสวมบทบาทเป็นลินคอล์นได้เหมือนที่สุดในหลายซีนที่ต้องแสดงอารมณ์ หลากหลายอิริยาบถ ฉากที่สำคัญของเรื่อง ได้แก่ ฉากแอ็คชั่น สงครามในตอนต้นเรื่อง ฉากการพูดคุยต่อรองโดยการระดมเสียงเพื่อโหวตกฎหมายเลิกทาส ฉากสงครามกลางเมือง และสุดท้ายฉากการลอบสังหาร ปธน.ลินคอล์น ตัวเรื่องใช้วิธีการเล่าเรื่องแบบค่อยเป็นค่อยไป เดินเรื่องเนิบช้า ไม่มีการเร้าอารมณ์ใดๆ ซึ่งต่างจากหนังเรื่องอื่นๆ ของสปีลเบิร์ก ทำให้หนังเรื่องนี้ได้รับคำชื่นชมในกลุ่มของนักวิจารณ์เท่านั้น แต่คนดูโดยส่วนใหญ่อาจจะไม่ค่อยชอบหรือประทับใจเท่าที่ควร อาศัยการแสดงที่เยี่ยมยอดของเดย์-ลูอีส นำพาไปจนจบเรื่อง เกือบจะกลายเป็นหนังสารคดีอัตชีวประวัติคนดัง แต่เพราะประเด็นสำคัญๆ ในเรื่องประกอบกับการแสดงที่ดี จึงทำให้หนังเรื่องนี้ควรค่าแก่การเป็นหนังเยี่ยมได้เช่นเดียวกัน และควรค่าแก่การได้ชมอีกด้วย
Zero Dark Thirty การไล่ล่าบิน ลาเดนเป็นเหตุการณ์ร้อนที่คนทั้งโลกให้ความสนใจ หากจะนำมาทำเป็นพล็อตเรื่องที่ให้ความตื่นเต้นน่าสนใจไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะเป็นสิ่งที่คนทั้งโลกรู้บทสรุปอยู่แล้วและท่ามกลางข้อมูลมากมาย อะไรคือสิ่งที่ชายหนุ่มวัย 40 อย่างโบล(ผู้เขียนบท) ผู้ประกาศจุดยืนในการทำงานว่า “ผมหาข้อมูลแบบนักข่าว แต่จะเขียนบทแบบคนทำหนัง เลือกที่จะเล่า?” เขาตอบคำถาม “ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปฏิบัติการนี้ที่เราเห็นตามสื่อทั่วไปไม่มีความลึกเหมาะให้ทำหนังเลย ผมอยากได้อะไรที่มี “แง่มุมเกี่ยวกับความเป็นมนุษย์” กว่านั้นและ “เป็นเรื่องที่ยังไม่มีใครเคยเล่า” ซึ่งผลที่ได้ก็คล้ายกับ The Hurt Locker (เล่าเรื่องสงครามอิรักผ่านเรื่องทหารหน่วยกู้ระเบิด) นั่นเอง โบลเลือกที่จะก้าวข้ามนักการเมืองในทำเนียบขาวแล้วเพ่งความสนใจไปไว้ที่ฮีโร่ตัวจริงอย่างเหล่าสมาชิกหน่วยซีลและซีไอเอ ผู้อยู่เบื้องหลังปฏิบัติการ ซึ่งไม่เพียงเสี่ยงตายบุกไปกวาดล้างผู้ก่อการร้าย แต่ยังต้องอาศัยทั้งความกล้าและความเด็ดเดี่ยวอย่างยิ่งยวดเพื่อจะพิสูจน์ตัวเองต่อเสียงคำครหาของผู้คนแทบทั้งโลก ซึ่งไม่เชื่อว่าใครหน้าไหนจะจัดการกับบิน ลาเดนได้ และในบรรดาซีไอเอผู้สร้างประวัติศาสตร์นั้น โบลกับปิเกโลว์(มือเขียนบทและผู้กำกับ) พบข้อมูลน่าตะลึงที่พาหนังไปไกลขึ้นอีกขั้น....ใครหล่ะจะเคยจินตนาการว่า ศูนย์กลางแห่งปฏิบัติการล่าหัวครั้งนี้หาใช่ทหารหนุ่มผู้มาพร้อมซิกแพ็ค แต่คือหญิงสาวใบหน้าขาวเผือดผู้สามารถชี้เป้าสังหารบิน ลาเดน ได้อย่างถูกจุด!
มายา (เจสสิกา แชสเทน) ถูกส่งตัวมายังสถานทูตอเมริกันในอิสลามาบัดและต้องเป็นประจักษ์พยานต่อวิธีการสอบสวนผู้ต้องหาอันสุดโหดเหี้ยมภายใต้นโยบายของรัฐบาล จอร์จ ดับเบิลยู บุช แรงกดดันจากความเคียดแค้นของผู้ชายรอบตัวเธอบีบให้มายาค่อยๆ จมลึกลงในหน้าที่และดึงดันกราดเกรี้ยวขึ้นเรื่อยๆ เธอแทบจะเป็นความหวังสุดท้าย เป็นเหตุผลเดียวที่ทำให้หน่วยซีลยังคงไล่ล่าบิน ลาเดนอยู่ แทบจะเป็นคนเดียวที่เดินหน้าควานหาตัวเขามาตลอดสิบปี และแทบจะเป็นคนเดียวที่เชื่อว่าเขาซ่อนตัวอยู่ในบ้านหลังนั้นที่แอบบอตทาลัด แหล่งข่าวเล่าว่า “เธอทำงานนี้เองมาตั้งแต่ต้น หน่วยซีลทำเพียงแค่ 40 นาทีสุดท้ายของปฏิบัติการเท่านั้น” และนี่แหละที่เป็นข้อมูลเด็ดที่ทำให้โบลตะครุบทันที เพราะการมีตัวละครนำเป็นหญิงสาวผู้เด็ดหัวบิน ลาเดนย่อมทำให้บทมีน้ำหนัก แข็งแรงกว่าการเป็นหนังไล่ล่าผู้ก่อการร้ายเฉยๆ (มายาและตัวละครทั้งหมดอ้างอิงมาจากข้อมูลจริงในแฟ้มลับซีไอเอ) แต่ใช้ชื่อสมมติเนื่องจากบรรดาเขาเหล่านั้นตัวจริงยังทำงานอยู่ ซึ่งต่างจากกรณี Argo ที่เปิดเผยตัวซีไอเอที่ชื่อ โทนี เมนเดซ ได้เพราะว่าเขาเกษียณงานแล้ว) อย่างไรก็ดี แต่ก็อย่าเพิ่งคาดหวังจะได้เห็นแง่มุมดรามาส่วนตัวของผู้หญิงคนนี้ เพราะนั่นไม่มีอยู่ในตำราเขียนบทของโบล “ทุกคนชอบพูดว่า ตัวละครต้องมีปูมหลัง แต่บังเอิญผมไม่ได้คลั่งไคล้ทฤษฏีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์นักหนา เวลาเจอใคร ผมไม่เคยสนใจใคร่รู้ว่าเขาเป็นคนยังไงตอน 6 ขวบ ผมชอบตัวละครที่นิยามตัวเองผ่านปัจจุบันขณะมากกว่า” เจสสิกา แชสเทน เสริมที่โบลพูดว่า “มายา ไม่อธิบายตัวเอง เธอไม่เสียเวลากับการเปิดเผยความรู้สึก ไม่เมาท์มอยชีวิตตัวเองให้ใครฟัง เธอจมดิ่งอยู่กับปฏิบัติการเท่านั้น ....เธอหวีผมแต่งหน้าบ้างมั๊ย คิดอะไรอยู่ในใจ ทำไมแสดงออกด้วยท่าทางและแววตาแบบนั้น ฉันต้องทำความเข้าใจตัวตนของเธอให้ได้ ตั้งแต่ก่อนถ่ายทำ เพราะนี่ไม่ใช่ตัวละครที่จะปั้นแต่งการแสดงอย่างเสแสร้งต่อหน้ากล้องได้”
(อ้างอิง : ถอดความบางส่วนจากบทวิจารณ์,แนะนำพรีวิวภาพยนตร์ในนิตยสารเกี่ยวกับหนัง 3 ฉบับ คือ Bioscope ฉบับที่ 132, Starpics ฉบับที่ 824 ปักษ์หลังเดือนธันวาคม 2012 , Entertain Extra 2013)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น