กระแสการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่หนนี้ สำหรับผู้เขียนถือว่ากร่อยและก็น่าเบื่อเป็นที่สุด เต็มไปด้วยการสร้างภาพ เกมการเมือง สาดโคลนใส่กันของ 2 พรรคใหญ่ที่มีลักษณะไม่ต่างจากสนามเลือกตั้งใหญ่ ประกอบกับตัวเลือกผู้สมัครที่มีวิสัยทัศน์ ความสามารถในการบริหาร ประสบการณ์เก่งๆ ที่น่าสนใจแทบไม่มี พลอยทำให้ตัวผู้เขียนเองไม่ค่อยได้สนใจติดตามข่าวการหาเสียงของผู้สมัครผู้ว่าฯ ในหนนี้ซักเท่าไร เชื่อว่าคนกรุงเทพฯ โดยส่วนใหญ่ก็มีมุมมองคล้ายๆ กับผู้เขียนด้วยเช่นกัน สังเกตจากคนรอบข้าง และสื่อต่างๆ ไม่ค่อยได้นำเสนอข่าวในมุมที่สร้างสรรค์ หรือประเด็นปัญหาในแง่นโยบายที่มาตอบโจทย์ได้อย่างเป็นรูปธรรมเท่าที่ควร ถามว่าผู้เขียนจะไปเลือกตั้งผู้ว่าฯ ในครั้งนี้หรือไม่ ตอบได้เลยว่าก็คงจะต้องไปเลือกตั้งอย่างแน่นอน เพราะเป็นคนกรุงเทพฯ ตั้งแต่กำเนิด ชีวิตเราเกิด โต เรียน ทำงาน ในกรุงเทพฯมาตลอด เจอปัญหาที่ต้องเผชิญด้วยตนเองมากมาย จึงต้องสนใจ ใส่ใจ และอยากได้ผู้ว่าฯ ที่เป็นคนที่มีความสามารถมาแก้ไขปัญหาให้เราได้จริงๆ
ผู้สมัครผู้ว่าฯ แบบใดที่ผู้เขียนจะไม่เลือกอย่างแน่นอน ก็คือ ประเภท รถไฟ เรือเมล์ ลิเก ตำรวจ (ไม่ได้รังเกียจผู้สมัครที่เคยมีอาชีพเหล่านี้ แต่หมายถึงบุคลิก ลักษณะนิสัย พฤติกรรมที่เข้าข่ายคนประเภทนั้นๆ รวมไปถึงนโยบายที่เอามาขายเกี่ยวกับเรื่องเหล่านั้นด้วย) ผู้สมัครประเภทเล่นปาหี่ ชอบสร้างภาพ จัดอีเว้นท์เก่ง เหล่านี้คงจะเป็นช้อยส์แรกๆ ที่ตัดทิ้งไปก่อนเลย ผู้สมัครที่เป็นตัวเต็งในผลโพลล์ต่างๆ ไม่มีผลต่อการตัดสินใจของผู้เขียน เพราะไม่สนใจที่จะติดตามหรือเอามาเป็นน้ำหนักในการตัดสินใจ (เรื่องทัศนะเกี่ยวกับโพลล์ผู้เขียนได้เคยเขียนวิเคราะห์วิจารณ์ไว้ในบทความชิ้นนึงในบล็อกมาแล้ว) ผู้สมัครที่นำเอานโยบายประเภทถ้าเลือกฉันแล้วคุณจะได้โน่นได้นี่ เข้าข่ายประชานิยม ถ้าเป็นโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่จริงจะรับไว้พิจารณา แต่ผู้เขียนจะดูด้วยว่าจะเป็นจริงได้ในแง่รูปธรรมด้วยหรือไม่ และต้องไม่ไปสร้างภาระหนี้สินใช้งบประมาณเกินตัวด้วยหรือไม่ ประเภทนโยบายเกินจริง ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเป็นไปได้ หรือบนพื้นฐานแห่งความเป็นเหตุเป็นผล เหมาะสมกับวิถีหรือครรลองที่ควรจะเป็น ผู้เขียนจะถือรวมเป็นนโยบายขายฝัน ประชานิยม เตรียมจะทุจริตเชิงนโยบาย ก็จะไม่เลือกผู้สมัครผู้ว่าฯ ท่านนั้นอย่างแน่นอน
10 ประเด็นพื้นฐานที่จะต้องนำมาพิจารณาประกอบกับนโยบายของผู้สมัครผู้ว่าฯ ซึ่งเป็นปัญหาพื้นฐานของกรุงเทพฯ มีดังนี้
1.ปัญหาขยะ ความสะอาด การแยกขยะ การจัดเก็บ และการทำลายขยะ ของกรุงเทพฯ รวมถึงมาตรการดูแล ปรับเงิน ลงโทษผู้ที่ไม่ให้ความร่วมมือหรือทิ้งขยะไม่เป็นที่เป็นทาง รวมถึงขยะตามลำคลองแม่น้ำ ระบบระบายน้ำเสียของอุตสาหกรรม
2.ปัญหาอากาศเป็นพิษ การสร้างปอดให้กรุงเทพฯ ให้มีอากาศหายใจ ได้สะดวกขึ้นสะอาดขึ้น การขจัดมลพิษจากท่อไอเสียรถยนต์ อากาศเป็นพิษจากโรงงาน ฯลฯ การอนุรักษ์หรือปลูกต้นไม้ตามถนนสำคัญ เพิ่มพื้นที่สวนสาธารณะต่างๆ
3.ปัญหาทางเดินเท้า หาบเร่แผงลอยเต็มฟุตปาธ ทางเดินเท้าลดลง ถนนเป็นหลุมเป็นบ่อ การขุดหลุม ขุดท่อต่างๆ รวมถึงทางสำหรับรถจักรยานยนต์วิ่งทั่วกรุง ทางข้ามม้าลาย สะพานลอยในจุดสำคัญ
4. ปัญหาความปลอดภัยตามจุดสำคัญ ซอกซอยเปลี่ยว บริเวณที่พักผู้โดยสารประจำทาง จุดที่ติดตั้งกล้องวงจรปิดอย่างทั่วถืง (ที่ไม่ใช่กล้องดัมมี่ด้วย) ไฟตามถนนหลักๆ ถนนสายรอง ต้องมีทุกจุด ความสว่างมากพอ
5. ปัญหาการระบายน้ำ ท่อระบายน้ำ คูคลอง การขุดรอกท่อ ฝังกลบอย่างเป็นระเบียบ มาตรการป้องกันการเกิดปัญหาฝนตกน้ำท่วม ส่วนการเปิดปิดประตูน้ำ อุโมงค์ต่างๆ เป็นเรื่องของโครงสร้างใหญ่ในการแก้ปัญหาน้ำท่วมของทั้งกรุงเทพฯ เป็นเรื่องใหญ่ที่สำคัญที่คนเป็นผู้ว่าฯ จะต้องให้ความสำคัญและมีความรู้ หรือมีทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนี้คอยดูแลอยู่แล้ว
6.ปัญหาการจราจรติดขัด (เป็นปัญหาโครงสร้างใหญ่ของเมืองหลวง ที่แก้ยาก) แต่ผู้ว่าฯ มีส่วนที่จะช่วยบรรเทาหรือลดปัญหาให้ลดลงได้โดยการ สำรวจทางลัดเพิ่ม ทางแยกที่สำคัญทำเป็นอุโมงค์และสะพานข้ามแยก ประสานงานกับตำรวจและขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม บริหารจัดการพวกรถโดยสารประเภทต่างๆ การคุมกำเนิดรถสาธารณะบางประเภทที่วิ่งทับเส้นทางหรือแย่งผู้โดยสารกัน การเก็บค่าผ่านทางเข้าเมืองสำหรับรถส่วนบุคคล(นั่งมาคนเดียว)ที่เข้าเขตจราจรชั้นใน ในช่วงเวลาเร่งด่วน(Rush Hour) การประชาสัมพันธ์ให้คนกรุงใช้รถสาธารณะ การทำจุดจอดรถสาธารณะเพิ่มเพื่อต่อรถไฟฟ้า (Park & Ride)
7.ปัญหาบริการสาธารณะสุข ไม่ได้หมายรวมเฉพาะสถานสาธารณสุขของกทม.เท่านั้น แต่รวมถึงโรงพยาบาลของรัฐหลายแห่งควรมีการปรับปรุงบริการให้รวดเร็ว การบริการที่สุภาพ มีน้ำใจ และกระจายตัวให้ทั่วถึง เพราะประชากรกรุงเทพฯปาเข้าไป 10 ล้านคนแล้ว โรงพยาบาลบางแห่งไม่สามารถรองรับปริมาณคนไข้ได้อย่างเพียงพอ แต่บางแห่งก็ล้างผู้คนมาก
8.ปัญหาบริการการศึกษา และสันทนาการ นอกเหนือจากสถานศึกษาของรัฐ ประเภทโรงเรียน วิทยาลัย รวมถึงสำนักศึกษาทางด้านศาสนา ควรมีการควบคุมมาตรฐานที่เข้มงวด รวมถึงการวัดผลที่มีประสิทธิภาพ รวมไปถึงสถานออกกำลัง ประเภทกีฬา เช่น สนามกีฬาตามชุมชนต่างๆ ควรจัดให้มีมากขึ้นและเปิดกว้างให้ประชาชนเข้าไปใช้บริการ อาจมีการเก็บค่ารักษาสถานที่บ้างแต่ไม่ควรจะแพงเกินไป และตั้งกฎเกณฑ์ที่ไว้ใช้ควบคุมระเบียบวินัยในการใช้สถานที่ตามสมควรด้วย
9.ปัญหาบริการนักท่องเที่ยว เนื่องจากกรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงติดอันดับโลกด้านการท่องเที่ยว เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก แต่จุดบริการนักท่องเที่ยวยังมีน้อย และไม่คลอบคลุมทุกพื้นที่ โดยเฉพาะป้ายบอกทางที่เป็นภาษาอังกฤษหรือป้ายสถานที่สำคัญที่เป็นภาษาอังกฤษยังมีน้อย แผนที่เส้นทางตามจุดท่องเที่ยวที่สำคัญยังมีน้อย รวมถึงประชาสัมพันธ์ที่พูดภาษาอังกฤษได้ตามแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญไม่เด่นชัด หรือแทบไม่มีเลยในบางจุด
10.ปัญหาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ สายไฟ สายโทรศัพท์ ป้ายโฆษณา ระเกะระกะทั่วกรุง โดยเฉพาะย่านสำคัญๆ ทางธุรกิจหรือแหล่งช็อปปิ้งที่สำคัญยังเห็นอุจาดตาจำนวนมาก จุดสัญญาณโครงข่ายเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตที่สำคัญอย่าง Wi-Fi รวมถึง 3G ยังมีน้อยและความเร็วความแรงไม่คงที่หรือจุดอับสัญญาณมีมาก
นี่เป็นเพียงนโยบายพื้นฐานหลักๆ คร่าวๆ ยังมีปัญหาอื่นๆ อีกมาก ที่คนเป็นผู้บริหารเมืองหลวงต้องเอาใจใส่ สิ่งที่ผู้บริหารเมืองควรเริ่มคิดได้แล้วก็คือการจัดระเบียบกรุงเทพฯ การกำหนดผังเมืองที่เหมาะสม การจะทำอย่างไรกับการจราจรในกรุงเทพฯ การจะทำอย่างไรที่จะทำให้กรุงเทพฯ หลวม ไม่แออัด การกระจายคน แหล่งทำงาน สถานที่ราชการออกนอกเขตชั้นใน กระจายตัวไปบริเวณรอบนอกมากขึ้น หรือเลยไปถึงการพิจารณาเมืองหลวงแห่งที่ 2 หรือเมืองบริวารที่กระจายตัวออกไปจากความแออัดคับคั่งชั้นใน ทางด่วนไม่ได้เป็นทางด่วนอีกต่อไปแล้ว บางทีคับคั่งรถติดมากกว่าทางทางลาดปกติเสียอีก การสัญจรทางน้ำเป็นอีกทางเลือกนึงที่แก้ปัญหาจราจรได้ แต่เรือโดยสารประจำทางที่ปลอดภัยและปริมาณที่น้อยไม่สามารถรองรับผู้โดยสารได้อย่างเพียงพอ และการเดินทางที่รวดเร็วในช่วงเวลาเร่งด่วน รวมถึงเส้นทางสำหรับรถจักรยานยนต์ที่ครอบคลุมทุกถนนสายหลักในกรุงเทพฯ อย่างเป็นรูปธรรมเสียที สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่คนกรุงเทพฯ ควรนำมาพิจารณาประกอบการตัดสินใจคนที่เสนอตัวมาเป็นผู้สมัครผู้ว่า ฯ เพราะยุคนี้แล้ว คนที่จะมาเป็นผู้บริหารเมืองต้องเป็นมืออาชีพ ตัวจริงเสียงจริงเท่านั้น ประเภทมือสมัครเล่นอยากมาทดลองงานคงไม่ได้ และกรุงเทพฯ ทุกวันที่ผ่านไปแต่ละวันมีแต่ปัญหาที่หมักหมมมากขึ้นเรื่อยๆ ต้องการคนที่ตั้งใจ อุตสาหะ มีความรู้จริง มาแก้ไขปัญหาให้พวกเราชาวกทม.ได้อย่างแท้จริง ประเภทสร้างภาพเก่งอย่ามาเลย คนกรุงเบื่อ และเคยมีประสบการณ์กับคนเหล่านี้มามากพอแล้ว เราจะไม่ให้โอกาสสำหรับคนที่ไม่พร้อม ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครต้องเป็นผู้บริหารมืออาชีพตัวจริงเท่านั้น
2 ผู้สมัคร ผู้ว่าฯกทม.ที่เป็นตัวเต็งสำคัญ จาก 2 พรรคการเมืองใหญ่ ระหว่าง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้สมัครหมายเลข 16 จากพรรคประชาธิปัตย์และ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครหมายเลข 9 ของพรรคเพื่อไทย
โดยล่าสุด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยอมรับได้กำชับให้ผู้สมัครของพรรคนำเสนอนโยบายในการหาเสียงเป็นหลัก ขณะที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เชื่อมั่นว่า การนำเสนอนโยบายที่เป็นไปตามหลักความเป็นจริง จะสามารถเพิ่มคะแนนนิยมของผู้สมัครได้
รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและติดตามนโยบายภาครัฐ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ผู้ติดตามการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ครั้งนี้วิเคราะห์บริบทในสนามเลือกตั้งว่า ยังไม่เห็นข้อได้เปรียบหรือเสียเปรียบของผู้สมัครทั้ง 2 คนอย่างโดดเด่น แต่ทั้ง 2 ฝ่ายต่างก็มีดีคนละด้าน โดยชี้ว่า คุณสมบัติของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ แม้จะได้เปรียบในด้านการบริหารที่มีประสบการณ์ แต่ก็เสียเปรียบเรื่องวัยวุฒิ เมื่อเทียบกับ พล.ต.อ.พงศพัศ
แต่ในด้านของ พล.ต.อ.พงศพัศ ก็เสียเปรียบที่ขาดประสบการณ์ แต่ถ้าเทียบเรื่องนโยบายของทั้ง 2พรรค อาจไม่เห็นความต่าง จึงต้องขึ้นอยู่กับกลยุทธการนำเสนอนโยบายหลักของผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.พรรคประชาธิปัตย์ เปิดแล้ว 10 มาตรการเร่งด่วน ขณะที่พรรคเพื่อไทย ชู 8 ยุทธศาสตร์หลักสร้างกรุงเทพฯ แบบไร้รอยต่อ ซึ่งในรายละเอียดต่างก็นำเสนอแนวนโยบายที่จะดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของคน กทม.ดูแลเรื่องรายได้และค่าครองชีพให้สอดคล้องกันเรื่องการจราจรก็เน้นที่จะเพิ่มความสะดวกในการเดินทาง นอกจากนั้นก็เป็นข้อเสนอเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ทั้งการบริการของ กทม.และการบริหารสาธารณะ
สุหฤท สยามวาลา ประกาศลงชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.เปิดนโยบาย “SURPRISE BKK FUN BKK SUHARIT RUN BKK!” ผ่านทวิตเตอร์ เน้นแปลกใหม่-สร้างสุข-ฉับไว วางแผนหาเสียงกับกลุ่มงดออกเสียง ไม่ไปเลือกตั้ง หวังใช้เงินน้อยที่สุดในโลกผ่านทางสื่อดิจิตอล-การแบ่งปันในสังคมออนไลน์ วอนอย่าตัดสินคนด้วยการแต่งตัว
นายสุหฤท สยามวาลา กรรมการผู้จัดการบริษัท ดี.เอช.เอ.สยามวาลา จำกัด ศิลปินนักแต่งเพลงและดีเจวัย 45 ปี ประกาศผ่านเว็บไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์ทวิตเตอร์ @suharit ยืนยันการตัดสินใจจะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในสมัยหน้า พร้อมแถลงนโยบายหาเสียงภายใต้แนวคิด “SURPRISE BKK FUN BKK SUHARIT RUN BKK!”
นายสุหฤท กล่าวว่า หลักการทำงานจะอยู่ภายใต้ 3 แนวคิด ได้แก่ “surprise” หมายถึงสิ่งที่จะทำจะต้องสร้างความตื่นเต้นแปลกใหม่ สร้างความประหลาดใจในแง่บวก “fun” คือ เน้นความสุขอย่างเต็มที่ในการใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ และ “run” คือ เน้นความฉับไวในการทำงาน ไม่ปล่อยให้สูญเสียโอกาส ซึ่งจะเน้นโครงการที่ทำได้ง่ายไม่ซับซ้อน เช่น โครงการ “1 เขต 1 เสน่ห์” ส่งเสริมกิจกรรมขี่จักรยาน โยคะ ออกกำลังกาย นายสุหฤท กล่าวอีกว่า ส่วนการหาเสียงจะมุ่งไปที่กลุ่มคนที่เคยงดออกเสียง ไม่ไปเลือกตั้ง เนื่องจากที่ผ่านมา มีผู้มาใช้สิทธิน้อยมาก และคนหัวก้าวหน้าทุกช่วงอายุ เริ่มจากการหาเสียงผ่านทวิตเตอร์ เปิดให้พูดคุยสอบถามได้ และตั้งใจจะหาเสียงโดยใช้เงินน้อยที่สุดในโลกผ่านทางสื่อดิจิตอลและการแบ่งปันในสังคมออนไลน์เป็นหลัก “ผมอยากชวนผู้ที่มีบทบาทในสังคมวันนี้มาช่วยคิดเรื่องต่างๆ ที่จะสร้าง surprise และ fun ไปพร้อมๆ กัน เพียงแค่ขอโมเดิร์น นะครับ” นายสุหฤท กล่าวนายสุหฤท กล่าวด้วยว่า ส่วนกรณีที่มีผู้วิพากษ์วิจารณ์บุส่วนกรณีที่มีผู้วิพากษ์วิจารณ์บุคลิกและการแต่งกายของตนที่ดูแปลกนั้น ขอให้อย่าตัดสินตนจากรูปลักษณ์การแต่งตัว
พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร หมายเลข 11 กล่าวถึงการเปิดเวทีปราศรัยใหญ่ครั้งแรกว่า ตั้งใจนำเสนอนโยบายใหม่แก่คนกรุงเทพ โดยจะประกาศนโยบายใหม่วิถี 4 จี ประกอบด้วย สร้างกรุงเทพฯให้เป็นเมืองปลอดภัย เมืองที่มีคุณภาพชีวิตสดใส เมืองเศรษฐกิจดี และเมืองที่มีคนดี โดยโครงการผู้ว่ากทม. 4 จี คือการชูธงเน้นเรื่องคุณภาพชีวิตใหม่ของคนกรุงเทพ รหัสความปลอดภัยคนกรุงซึ่งเป็นเลขหมายเดียวกับหมายเลขของตนคือ 011 ซึ่งจะมีการเฝ้าระวังระบบความปลอดภัยโดยไอพีทีวี ซึ่งเป็นระบบที่ดีกว่าซีซีทีวี ที่เคยใช้อยู่เป็นเครือข่ายผ่านระบบอินเตอร์เน็ต จีพีเอสไร้สาย นอกจากนี้ยังมีนโยบายย้ายศาลาว่าการกรุงเทพจากเดิมตั้งอยู่ที่เสาชิงช้าไปอยู่ที่ทำการกรุงเทพทฯย่านดินแดง และปรับศาลาว่าการกรุงเทฯเดิมให้เป็นศูนย์ศิลปวัฒนธรรม พร้อมกันนี้จะจัดพื้นที่โรงงานยาสูบให้เป็นสวนป่าที่มีพื้นที่จอดรถใต้ดินด้วย สำหรับการแก้ปัญหาหาบเร่แผงลอยจะจัดระเบียบยกแม่ค้าพ่อค้าให้ไปค้าขายบนสะพานลอยฟ้าเพื่อให้มีพื้นที่ทำมาหากินที่แน่นอน ส่วนนโยบายที่มีการเรียกร้องกันมากจากคนกรุงเทพคือการสร้างเลนจักรยาน ตนมีแนวคิดใช้พื้นที่เลนใต้เส้นทางรถไฟฟ้าเป็นพื้นที่สำหรับจักรยานเนื่องจากกรุงเทพฯมีพื้นที่น้อยจึงจำเป็นต้องปรับสิ่งที่มีอยู่เดิมมาประกอบให้ใช้ร่วมกันได้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ยังกล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวผู้สมัครอิสระเตรียมรวมตัวโค่นผู้สมัครที่มาจากพรรคการเมืองโดยยอมรับว่ามีผู้สมัครอิสระหลายรายติดต่อเพื่อขอให้มีการรวมตัวของผู้สมัครอิสระเพื่อต่อต้านการซื้อสิทธิ และการทำโพลล์ที่ไม่ถูกต้อง แต่ตนมองว่าควรรอดูสถานการณ์ก่อน อย่างไรก็ตามเห็นว่าขณะนี้พรรคการเมืองพยายามสร้างกระแสว่าผู้ว่าฯต้องมาจากพรรคการเมือง เพื่อการทำงานที่ต่อเนื่อง ทั้งที่จริงแล้วหากกลับไปพิจารณาเจตนารมณ์การเลือกผู้ว่าฯจะรู้ว่าควรเป็นผู้ที่มีความเป็นอิสระ ไม่ถูกครอบงำ เน้นดูที่ความตั้งใจจริงเป็นหลัก ที่ผ่านมาจะพบว่าผู้ว่าฯที่มาจากพรรคการเมืองล้วนถูกตั้งข้อหาดำเนินคดีทั้งสิ้น
โฆสิต สุวินิจจิต ว่าที่ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯราชการกรุงเทพมหานคร
ชู 4 นโยบายบริหารกรุงเทพฯ
ในคอนเซ็ปต์ “กรุงเทพฯ 24 ชั่วโมง”
เน้นนโยบายที่ทำได้และช่วยแก้ปัญหาเร่งด่วน ทั้งแก้ไขปัญหาจราจร
ยกระดับ ร.ร.สังกัด กทม.เทียบเท่าโรงเรียนดังของรัฐบาล เล็งผุด ร.ร.สาธิต กทม.เป็น
ร.ร.กินนอนดูแลเด็กด้อยโอกาส หนุนเศรษฐกิจสู่อาเซียน และกรุงเทพฯต้องปลอดภัย 24
ชั่วโมง โดยหวังให้กรุงเทพมหานครเป็นศูนย์กลางแห่งอาเซียน
พร้อมขายฝันเอาใจคนกรุง ติดตั้งไว-ไฟ 20 เมกฯ
ให้เข้าถึงการใช้งานแท้จริง และปรับภูมิทัศน์ใหม่เก็บสายไฟลงใต้ดิน
เมื่อวันที่ 13 ม.ค.ที่ผ่านมา ณ สวนสมเด็จย่า 84 ถนนวิภาวดี นายโฆสิต สุวินิจจิต ว่าที่ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
แถลงข่าวเปิดนโยบายกรุงเทพฯ 4 นโยบาย แก้ไขปัญหาเร่งด่วนและสามารถทำได้ทันทีภายใต้กรอบ “กรุงเทพฯ 24 ชั่วโมง” โดย 4
นโยบายนั้น คือ แก้ไขปัญหาจราจร พัฒนาการศึกษา เศรษฐกิจรองรับ AEC
และบริการ 24 ชั่วโมงเพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน โดย นายโฆสิต กล่าวว่า วันนี้ กรุงเทพมหานครเป็นสังคมที่มีชีวิต 24
ชั่วโมง กรุงเทพฯต้องตอบสนองต่อประชาชนในทุกๆ ด้าน รองรับการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจและสังคมด้วยการให้บริการที่ทั่วถึง
และตลอด 24 ชั่วโมง หรือ 3 กะ
เพื่อให้กรุงเทพฯ เดินหน้าสู่การเป็นศูนย์กลางของ Asian ฉะนั้น
นโยบายหลัก ภายใต้กรอบ “กรุงเทพฯ 24 ชั่วโมง”
ต้องสอดคล้อง พร้อมแก้ปัญหา และพัฒนากรุงเทพมหานคร
โดยมี 4 นโยบายหลัก คือ นโยบายกรุงเทพฯเดินทางสะดวก 24 ชั่วโมง โดยจะเน้นการแก้ปัญหาจราจร
เพื่อให้การเดินทางในกรุงเทพฯสะดวก รวดเร็วยิ่งขึ้น
ซึ่งสิ่งที่ทำได้ทันทีหากได้รับเลือกให้เป็นผู้ว่าฯ กทม.คือ ติดป้ายบอกทางให้มากขึ้น
เนื่องจากสาเหตุหลัก อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กรุงเทพฯ รถติด คือ คนขับรถหลงทาง
เนื่องจากมีป้ายบอกทางน้อย บอกทางไม่ชัดเจน จึงได้เกิดปัญหาดังกล่าว ซึ่งการติดตั้งป้ายหาเสียงของตนในวันนี้ก็จะเน้นให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนให้มากที่สุด
ดีกว่าการติดป้ายหาเสียงแบบเดิมๆ ที่สามารถปัญหาการจราจรเพิ่มให้กับประชาชนที่ใช้ยวดยานในท้องถนนโดยจะติดตั้งบอกเส้นทางทั้งทางลัด
ทางแยก และระยะทาง เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์ในการเดินทาง
นโยบายการเรียนรู้ 24 ชั่วโมง โดยจะจัดตั้งโรงเรียนสาธิตกรุงเทพมหานคร
ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำ เพื่อรวบรวมเด็กๆ ที่ขาดโอกาสทางการศึกษาและการยกระดับโรงเรียนของกรุงเทพมหานครให้เทียบเท่ากับโรงเรียนที่มีชื่อเสียงประสานความร่วมมือกับโรงเรียนรัฐที่เด่นและดัง
ที่มีคณะครูอาจารย์เป็นที่ยอมรับในสังคมการศึกษา นำมาถ่ายทอดสดระบบการศึกษาผ่านโทรทัศน์ดาวเทียมและอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง
เพื่อให้นักเรียนในโรงเรียนสังกัด กทม.ทุกแห่ง ได้เรียนกับคณะครู อาจารย์ที่สอนอยู่ในโรงเรียนรัฐบาลที่เด่นดังทางการศึกษา
ยกระดับให้มีมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด และยังจะเป็นการเพิ่มคุณภาพการเรียนการสอนได้พร้อมๆ
กันด้วย
นายโฆสิต กล่าวต่ออีกว่า
ในส่วนของประชาชนทั่วไปก็จะมีเปิดไว-ไฟอินเทอร์เน็ต 20 เมกะไบต์ให้กับคนกรุงเทพทั่วกรุงเทพฯ
เพื่อให้คนกรุงเทพฯ เข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ตที่เป็นจริง นอกจากนี้ ยังมีการเปิดบริการห้องสมุดประชาชนในสังกัด
กทม.24 ชั่วโมง รวมทั้งเปิดศูนย์อินเทอร์เน็ต ให้ประชาชนสามารถเข้ามาใช้บริการได้สะดวกสบาย
นโยบายด้านเศรษฐกิจที่สำคัญ เพราะเราจะแข่งขันกับประเทศสิงคโปร์
ซึ่งประเทศไทยเรามีพื้นที่และภูมิประเทศที่ได้เปรียบประเทศสิงคโปร์อย่างมาก หากเราเปิดการทำงานได้ตามนโยบาย
24 ชั่วโมง รองรับการทำงานของ Head Office บริษัทชั้นนำทั่วโลก ที่เขามีเวลาการทำงานไม่ตรงกับเราเพื่อให้เขาสามารถติดต่อประสานทำธุรกรรมต่างๆ
ได้ และนโยบายภาษีที่เราจะเก็บเท่ากับสิงคโปร์ คือ 17% ซึ่งจูงใจทำให้เหล่าบริษัท
Head office เข้ามาตั้งในกรุงเทพฯ
ทำให้เราสามารถแข่งขันกับสิงคโปร์ได้ โดยเราจะได้เปรียบในด้านภูมิประเทศที่เป็นศูนย์กลางของการเดินทางในอาเซียน
รวมทั้งความทันสมัยต่างๆ ที่เราจะพัฒนารองรับในอนาคต
และนโยบายเป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมแห่งอาเซียน โดยจะสร้างให้กรุงเทพมหานครเป็นศูนย์กลางวัฒนธรรม
มาเป็นจุดเด่นในการสร้างเสริมเศรษฐกิจ ยกตัวอย่างเช่น การตั้งศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมอาเซียนที่จะรวบรวมวัฒนธรรมของทุกประเทศในอาเซียน,
พิพิธภัณฑ์กรุงเทพฯ เพื่อนำเสนอวัฒนธรรมของกรุงเทพ และสร้าง Hollywood
of Asia ศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรม สร้างโรงหนัง โรงละครแห่ง Asia
เพื่อการเรียนรู้วัฒนธรรมไทย พร้อมการแปรรูปวัฒนธรรมสู่ธุรกิจ
เพื่อหารายได้สู่ประเทศไทย และนโยบายสุดท้าย คือ นโยบายปลอดภัย 24 ชั่วโมง เป็นนโยบายที่จะทำให้คนกรุงเทพมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
มีความปลอดภัยตลอดเวลา โดยจะทำให้กรุงเทพฯมีไฟสว่างรอบกรุง มีกล้องวงจรปิด(CCTV)
รอบกรุง มี รปภ.ทั่วทั้ง 50 เขตในจุดเสี่ยง และจะมีการจัดตั้งศูนย์บริการข้อมูล
GPS ที่ติดในรถแท็กซี่ทุกคัน เพื่อให้คนกรุงเทพฯ
หรือประชาชนทั่วไป สามารถตรวจสอบเส้นทางการเดินทางของรถแท็กซี่ ที่บุตรหลาน
หรือตัวท่านนั่งใช้บริการว่าไปถูกเส้นทางหรือไม่ อีกกี่นาทีจะถึงจุดหมาย
รวมถึงการปรับภูมิทัศน์ให้กับเมืองหลวง ด้วยนโยบายนำสายไฟต่างๆ
บนเสาไฟฟ้าลงสู่ใต้ดิน ซึ่งนอกจากจะทำให้ภูมิทัศน์ของกรุงเทพฯ ดีขึ้นแล้ว ยังสามารถลดปัญหาความเสียหายต่างๆ
จากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น เช่น อุบัติเหตุรถเครนชนเสาไฟฟ้าล้มจนทำให้ไฟดับเป็นบริเวณกว้าง
ทำให้เศรษฐกิจเสียหายจำนวนมาก การที่นำสายไฟฟ้า หรือสายไฟต่างๆ ลงดิน ยังจะทำให้เราลดการตัดต้นไม้ที่สร้างความร่มรื่นริมสองข้างทางด้วย
และทั้งหมดคือนโยบายที่สามารถทำได้จริง และทำได้ทันที เพื่อให้คนกรุงเทพฯ มีสวัสดิภาพและสวัสดิการที่ดีขึ้น
เพราะกรุงเทพฯ ไม่ใช่เมืองหลวงของคนกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่เป็นเมืองหลวงของคนไทยทั้งชาติ