วันพฤหัสบดีที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2556

Editor's Talk ทบทวนอดีต เพื่อมองไปในอนาคต


เมื่อมองย้อนไปในอดีตช่วง 1 ปีที่ผ่านมา กับเมื่อมองไปในอนาคตอีกช่วง 1 ปีนี้ เราจะพบว่ามีส่วนที่คล้ายคลึงกันอยู่มาก เกือบจะเรียกได้ว่าเรายังคงต้องเผชิญกับปัญหา วิกฤติ หรือสิ่งแวดล้อมเดิมๆ ยังคงเจอกับปัจจัย ตัวแปรที่ยังดำรงอยู่ ก็ยังต้องเผชิญอยู่เหมือนเดิม และปัจจัย ตัวแปรที่เพิ่มขึ้นมาใหม่หรือมีการเปลี่ยนแปลงไป ก็ยังต้องเผชิญในแบบที่ต้องปรับตัวตาม หรือวิเคราะห์และมีสติในการแก้ปัญหาเพิ่มมากขึ้น เรียกได้ว่าตราบใดที่เรายังมีชีวิตอยู่หรือคงสถานะความเป็นมนุษย์อยู่นั้น เรายังคงต้องเผชิญกับสิ่งใหม่ๆ รอบตัวเราที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา(ซึ่งคนละความหมายกับคำว่าโลกหมุนรอบตัวเรา) ไม่ว่าจะเป็นความเปลี่ยนแปลงจากภัยธรรมชาติ การพัฒนาด้านเทคโนโลยี การติดต่อสื่อสาร ความก้าวหน้าทางด้านการแพทย์ การรวมกลุ่มความร่วมมือต่างๆ การแข่งขัน การกีดกันการค้า ข้อพิพาท ความขัดแย้งด้านผลประโยชน์ทั้งส่วนตน ส่วนรวมระดับชาติ ประเทศ หรือระดับโลก การเพิ่มขึ้นหรือลดลงของประชากรทั้งที่อพยพเคลื่อนย้ายเข้าออก อันเกิดจากการเดินทางท่องเที่ยว การเปิดประเทศ แรงงานข้ามชาติ การรวมเป็นประชาคมเศรษฐกิจใหม่ การเมือง เศรษฐกิจ สังคม ค่านิยม เทรนด์ กระแส ความเชื่อ ศาสนา วัฒนธรรม การศึกษา ภาษา ดนตรี ศิลปะ แฟชั่น การแสดง กีฬา สันทนาการ การบริการ การแลกเปลี่ยน การค้า การลงทุน ฯลฯ ทั้งหลายเหล่านี้คือตัวแปรที่เป็นตัวกำหนดสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอก ที่มีผลมากระทบกับวิถีชีวิตของเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น สิ่งที่เราทำได้ก็คือการเตรียมความพร้อม เพื่อรับมือ หรือปรับตัวให้เข้ากับสังคมแวดล้อมเหล่านั้นให้ได้ และโลกก็นับวันจะมีทิศทางในด้านพลวัตหรือความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในอัตราเร่งหรือก้าวกระโดดมาก โดยเฉพาะในยุคนี้หรือศตวรรษนี้ ไปสู่สังคมอารยมากขึ้น

เมื่อมองเข้ามาในประเทศของเรา ที่เรียกว่า “ประเทศไทย” นั้น ผู้เขียนรู้สึกได้เลยว่าสังคมไทยเราตื่นรู้หรือมีคนที่ก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นน้อยมาก ในช่วงหลายๆ ปีที่ผ่านมาเราไม่ได้แก้ปัญหาตัวแปร หรือปัจจัยเดิมๆ ที่เป็นต้นตอที่ฉุดรั้งให้เราเดินไปไหนไม่ได้มานานมากแล้ว ยังคงขบคิดปฏิบัติตนวนอยู่ในอ่างเหมือนเดิม ได้แก่ ปัจจัยด้านการเมือง ซึ่งมันยังผลไปกระทบเป็นลูกโซ่ไปถึงด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา ค่านิยม วัฒนธรรม ตามมาอีกมาก และพลอยให้ปัญหาด้านอื่นๆ เสื่อมทรุดลงไปด้วย ดังเช่น ทฤษฏีโดมิโน่ ทีพอมีตัวใดตัวหนึ่งล้ม ตัวอื่นๆ ก็จะล้มตามๆ กันไป ท้ายที่สุดก็จะล้มไปหมดทั้งกระดาน ซึ่งก็คือความเสียหาย สูญเสีย เสื่อมโทรม และล้าหลัง ซึ่งภาพนี้กำลังชัดขึ้นเรื่อยๆ และก็จะฉายภาพชัดที่สุดก็เมื่อเราเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซี่ยน (AEC) เมื่อถึงวันนั้น หากประเทศไทยยังคงก้าวเดินไปในแบบเดิมๆ ที่เป็นอยู่เวลานี้ เราคงได้มองเห็นภาพ “ประเทศไทย” ในเวทีระดับโลก หรืออาเซี่ยนว่าเป็นประเทศที่ล้าหลังที่สุด และด้อยพัฒนาที่สุดในประชาคมใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น หรือจะกลายไปเป็นผู้เล่นที่ไปถ่วงความเจริญของชาติอื่นๆ เขา อย่างไม่ต้องสงสัย ถึงเวลานั้นความอ่อนด้อย หรือจุดอ่อนที่เรามีก็จะถูกประเทศอื่นเขาเอาเปรียบได้ง่ายๆ ซึ่งผู้เขียนก็ไม่อยากให้ภาพนั้นเกิดขึ้นจริงเลย คนไทยทุกคนควรจะต้องตระหนักรู้ร่วมกัน กลับมาย้อนมองดูตัวเอง วิเคราะห์หาจุดแข็งจุดด้อย พัฒนาศักยภาพของตนเองให้มากขึ้นและเตรียมพร้อมที่จะแข่งขันหรือเผชิญกับปัญหาหรือความท้าทายใดๆ ที่กำลังจะถาโถมเข้ามา อย่างมีสติ รัดกุม มีการวางแผนที่ดี และเมื่อนั้นประเทศไทยของเราก็จะไม่มีวันแพ้ในเกมนี้อย่างเด็ดขาด คำถามที่ผู้เขียนอยากจะตั้งเอาไว้กับคนไทยทุกคนก็คือ เรากล้ามั๊ยที่จะเผชิญกับโลกความเป็นจริง แม้ว่าความจริงมันจะขมขื่นเพียงใด จากนั้นเราต้องตระหนักรู้ทุกเรื่องที่เป็นความจริงของประเทศนี้ได้แล้ว จากนั้นย้อนมองดูตัวเราเองค้นหาให้ละเอียด วิเคราะห์ทั้งคนและประเทศว่าเรามีจุดแข็งจุดอ่อนอย่างไร กำหนดวิสัยทัศน์ของประเทศร่วมกัน ว่าเราจะก้าวเดินไปในทางใดในเวทีโลก เราจะเป็นอะไร วางตำแหน่งของประเทศเราให้ชัดเจน เราอ่อนตรงไหนที่เป็นอุปสรรคในการที่เราจะไปให้ถึงจุดหมายนั้นก็เร่งพัฒนาขีดความสามารถด้านนั้นเสีย จะลงทุนกี่ล้านล้านก็ต้องทุ่มงบประมาณลงไป หมดเวลาโทษคนอื่น หมดเวลาของการคอรัปชั่น กัดกินประเทศนี้ได้แล้ว เราต้องมาเสียสละเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติโดยส่วนรวม ในระยะยาว เพื่อคนรุ่นหลังของเราจะได้มีที่ยืน มีเวทีของตนเอง และท้ายที่สุด มีชื่อประเทศเป็นของตนเองให้เรียกว่า “ฉันเป็นคนไทย ที่นี่คือประเทศไทย” ของฉัน และเราภูมิใจและรักในประเทศของเราครับ/ค่ะ  เราจะไม่ยอมให้ไอ้/อี คนไหนมาทำลายประเทศของเราอีกแล้ว      

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น