วันศุกร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

มองออสการ์ มองฮอลลีวู้ด และทิศทางภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดในปีนี้

 เมื่อใกล้ถึงวันประกาศผลรางวัลออสการ์(Academy Award) ทุกปี จะมีเรื่องให้ต้องเขียนถึงได้ทุกที ปีนี้ก็เช่นกัน ซึ่งจะมีประเด็นที่น่าสนใจแตกต่างกันออกไปในแต่ละปี บทความชิ้นนี้ก็จะขอพูดถึงการวิเคราะหภาพยนตร์ที่จะเข้าชิงออสการ์ในปีนี้เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยที่จะไม่ใช่การกะเก็งรางวัลอะไรแต่อย่างใด (เพราะตัวผู้เขียนไม่ใช่นักวิจารณ์ภาพยนตร์,หรือเป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับวงการภาพยนตร์) เพราะไม่ได้มีความถนัด แต่จะขอตั้งข้อสังเกตจากความเห็นของตัวผู้เขียนเองในประเด็นที่คิดออก และน่าสนใจ และก็จะพูดถึงประวัติความเป็นมาของวงการภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด ความเป็นมาของรางวัลออสการ์ และก็ทิศทางของภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดในปีนี้ว่าจะมีทิศทางเป็นอย่างไรบ้าง รวมถึงหนังฟอร์มยักษ์ที่จะเข้าโรงฉายภายในปีนี้ว่าจะมีเรื่องใดที่น่าสนใจกันบ้าง


รายชื่อภาพยนตร์ที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์ เมื่อปี 2010 มีรายชื่อดังต่อไปนี้

1. Avatar 2.The Blind Side 3.District 9 4. An Education 5. Inglourious Basterds 6. Precious: Based on the Novel “Push” by Sapphire 7. A Serious Man 8. UP 9. Up in the Air 10.The Hurt Locker

รายชื่อภาพยนตร์ที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์ เมื่อปี 2011 มีรายชื่อดังต่อไปนี้

1.Black Swan 2. The Fighter 3. Inception 4. The Kids Are All Right 5. The King’s Speech 6. 127 Hours 7. The Social Network 8. Toy Story 3 9. True Grit 10. Winter’s Bone

รายชื่อภาพยนตร์ที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์ ในปีนี้ 2012 มีรายชื่อดังต่อไปนี้

1.The Artist 2.The Descendants 3.Extremely Loud and Incredibly Close 4. Hugo 5. Midnight in Paris 6. The Help 7.Moneyball 8. War Horse 9. The Tree of Life

ผู้เขียนรู้สึกว่าหนังชิงออสการ์ในปี 2010 มันเล่นกับจิตใจของมนุษย์ เป็นธีมของความเป็นมนุษย์ จริงๆ ไม่ว่าจะเป็น Avatar ,The Hurt Locker (หนังยอดเยี่ยมของปีนั้น) ไม่ว่าจะเป็น Inglourious Basterds, A Serious Man, UP หรือ Up in the Air หรือแม้กระทั่งกับหนัง Sci-Fi อย่าง District 9 ก็ตั้งคำถามกับคนดูถึงความสำคัญระหว่างจิตใจของมนุษย์จริงๆ ว่าเป็นอย่างไร ในขณะที่จิตใจของมนุษย์ต่างดาวกลับดีกว่ามนุษย์โลกเสียอีกใน Avatar,District 9 ในปีนั้น ผู้เขียนชื่นชอบ District 9,Inglourious Basterds, A Serious Man และ Up in the Air มาก ๆ ถือว่ามีสีสันไปคนละแบบในปีนั้น

หนังเข้าชิงออสการ์ในปี 2011 ถือเป็นปีหินของออสการ์ หนังดราม่าที่มีบทเด่นแข็งโป๊กมาชนกัน ผู้เขียนขอเรียกว่าเป็นธีมของนักสู้ผู้ยิ่งใหญ่ เพราะหลายเรื่องนั้นตัวละครเอกต้องต่อสู้กับแรงบีบคั้น แรงกดดัน หรือข้อจำกัดของตนเอง เรียกว่าเป็นนักสู้ผู้ยิ่งใหญ่ และรางวัลแห่งชีวิตคือเครื่องพิสูจน์คุณค่าความเป็นคน ซึ่งเป็นปีที่หนังชิงออสการ์แข็งมากที่สุดปีนึง ซึ่ง The King’s Speech คือผู้ชนะของปีนั้น แต่จัดว่าทุกเรื่องที่เข้าชิงนั้นมีทางของตนเอง ที่แข็งแรงอยุ่แล้ว และก็ควรค่าต่อการเป็นหนังเยี่ยมได้ทุกเรื่อง ชอบที่สุดคงเป็น Black Swan ,The Fighter, Inception, The King’s Speech , 127 Hours, The Social Network เรียกว่าเป็นสูตรสำเร็จของหนังดราม่าหลากหลายรูปแบบมาชนกันทีเดียว ยอดเยี่ยมทุกเรื่องเลยในแนวทางของตน

หนังชิงออสการ์ในปีนี้ 2012 บอกตามตรงว่าเพิ่งได้ดูก็เพียงเรื่อง The Artist,The Descendants ,War horse เท่านั้นเอง แต่เมื่อดูจากหน้าหนังและเรื่องย่อของแต่ละเรื่อง และบางเรื่องมีโอกาสได้ชมเป็นหนังตัวอย่างมาบ้าง ก็พบว่ามีจุดร่วมหรือธีมที่สำคัญของปีนี้เหมือนกัน นั่นก็คือ โหยหาอดีต และตัวละครเอกสูญเสียความมั่นใจ อันเกิดจากการเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของชีวิตอะไรบางอย่าง และบททดสอบของชีวิต การแก้ไขปัญหา และยังต้องหาทางออกของชีวิตให้เจอ ซึ่งจะเป็น คีย์เวิร์ดของหนัง หรือประเด็นของเรื่องนั่นเอง ปีนี้จึงเป็นปีที่มีหนังดราม่าบทดีๆ เและธีมหลักของเรื่องดูแข็งแรงมาก พอๆกับปีที่แล้ว ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากันซักเท่าไหร่ จะต่างกันก็แค่ หนังเข้าชิงปีนี้น้อยกว่า 1 เรื่อง คือมี 9 เรื่อง ปีก่อนหน้านี้มีถึง 10 เรื่อง หนังตัวเก็งที่ถูกคาดหมายว่าจะได้รับรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมที่เด่นๆ มีดังนี้


The Artist เด่นมากทั้งในเรื่อง production design การแสดง ,บท, และความที่มันแปลก คือสร้างเป็นหนังย้อนยุคในแบบยุค 30’s คือเป็นหนังขาวดำ เป็นหนังเงียบ ฉากหลังเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับนักแสดงในวงการมายา ซึ่งก็ให้คุณค่าเป็นการคารวะต่อวงการภาพยนตร์ และความเป็นต้นแบบของหนังขาวดำ ยุคหนังเงียบหรือคลาสสิค เรื่องนี้จึงถูกจับตามองมากที่สุดหรือเต็ง 1 ที่คาดว่าจะประสบความสำเร็จในเวทีออสการ์หนนี้ โดยถูกเสนอชื่อเข้าชิงถึง 10 สาขารางวัล


Hugo เด่นมากในเรื่อง production design งานสร้างประเภทสเปเชี่ยลเอ็ฟเฟ็คท์ต่างๆ ,การแสดง, บท ซึ่งจุดเด่นคงเป็นหนังแบบแฟนตาซี จินตนาการ ผูกโยงไปกับการค้นหาของตัวละครที่เป็นเด็ก ซึ่งผู้ชมสามารถอินไปกับหนังได้ง่าย ถ้าเทียบเป็นขนมก็เป็นขนมหวานทานง่ายรสอร่อย และชื่อชั้นของผู้กำกับอย่างมาร์ติน สกอร์เซซี่ มานั่งกำกับ และนับเป็นหนังแหวกแนวที่สกอร์เซซี่ไม่เคยทำหนังแนวนี้มาก่อนด้วย ปู่แกถนัดทำหนังแนวอาชญากรรม เจ้าพ่อมาเฟียมากกว่า ถ้าไม่รู้มาก่อนหรือไม่บอกว่าใครกำกับนะ ยังคิดว่าหนังเรื่องนี้เป็นผลงานของสตีเว่น สปีลเบิร์ก ,ปีเตอร์ แจ็คสัน หรือ โรเบิร์ต โซเมอร์คิส เสียอีก เอาใจช่วยให้แกได้ออสการ์อีก 1 ตัว จากเรื่องนี้ เพราะโดยภาพรวมแล้วเป็นหนังดี ดูแล้วอิ่ม เปิดโลกจินตนาการสุดๆ ตัวหนังได้เข้าชิงมากที่สุดในปีนี้ถึง 11 สาขารางวัล


The Descendants เด่นมากในเรื่องของการแสดง โดยเฉพาะพี่จอร์จ คลูนี่ย์ กับบทบาทการเป็นพ่อบ้าน หัวหน้าครอบครัวที่ไม่เคยทำหน้าที่ดูแลครอบครัวเลย เอาแต่หาเงิน แล้วเมื่อวันนึงภรรยาป่วยหนัก ต้องกลับมาดูแลภรรยาและลูกๆ เขาก็ต้องเผชิญโจทย์ยาก และปัญหาต่างๆ ตามมามากมายให้ตามแก้และตัดสินใจ , บทแบบนี้เข้าทางออสการ์ จะว่าเรื่องนี้ก็เดินไปใน 2 แนวทางพร้อมๆ กันคือเป็นทั้งดราม่าและคอเมดี้ด้วย ให้น้ำหนักพอๆ กัน ซึ่งเป็นส่วนผสมที่ลงตัว หนังแนวดราม่าปนตลกร้าย ซึ่งแอบเสียดสีสังคมเล็กๆ และสะท้อนชีวิตผู้คน สังคม เรื่องนี้จะเป็นทางถนัดของผู้กำกับที่ชื่ออเล็กซานเดอร์ เพนน์ ซึ่งแกก็ประสบความสำเร็จมาแล้วจากหลายๆเรื่องอาทิ About Schmidt , Sideways แต่ยังไม่เคยได้ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแค่นั้นเอง มาเอาใจช่วยอีกเรื่องนึงที่นานๆ ปีจะมีมาให้ดูซักเรื่อง หนังแนวแบบอารมณ์ดี เสียดสี ตลกร้าย และก็แอบดราม่าหน่อยๆ ไม่รู้จะพูดว่ายังไง แนวนี้ผู้เขียนชอบทุกทีเลย และมักมีไดอะล็อก บทพูดดีๆ กินใจ ซึ้งๆ ให้ได้น้ำตาร่วงก็มี หรือให้ได้นำไปคิดต่อ เติมเต็มชีวิตได้อีก

สถิติที่น่าจดจำ หรือข้อสังเกตของผู้เขียนก็คือ ในปีนี้เป็นปีของหนังผู้หญิงหรือ ตัวบทนำเอกเป็นผู้หญิงเป็นตัวชูโรง มีจำนวนมาก หลากหลาย และก็เนื้อหาดีๆ ก็หลายเรื่อง อีกทั้งยังได้เข้าชิงในหลากหลายสาขารางวัล อาทิ The Help (หนังที่พูดถึงความสัมพันธ์ของคนรับใช้หญิงผิวดำกับนายจ้างผิวขาว) ได้เข้าชิงทั้งนักแสดงนำ สมทบหญิง ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมด้วย ยังมี The Girl with The Dragon Tattoo (เป็นหนังที่สร้างรีเมคจากต้นฉบับที่เป็นหนังจากนวนิยายขายดีของสวีเดน) ,Brides Maids, The Lady(หนังประวัติของนางอองซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้านพม่า) , Iron Lady (หนังประวัติของอดีตนายกหญิงเหล็กของอังกฤษ นางมากาเร็ต แท็ตเช่อร์) , My Week With Marilyn (หนังประวัติเสี้ยวนึงของมาริลีน มอนโร) ยังมีอีกหลายเรื่องที่ไม่ได้ติดโผหนังออสการ์ แต่เป็นหนังที่ตัวนำเอกเป็นผู้หญิง อาทิ Martha Marcy May Marlene, Jane Eyre, Young Adult, Prom, Bad Teacher เป็นต้น





เป็นปีแรกที่ในสาขาภาพยนตร์แอนิเมชั่นยอดเยี่ยมนั้น ไม่มีตัวเต็งจ๋าอย่างหนังของ Pixar เข้าชิงแบบนอนมา ว่าต้องได้ เพราะในปีนี้ หนังของ Pixar ไม่เด่นพอ และมีสตูดิโอหนังค่ายอื่นทำออกมาได้ดีกว่า จึงเป็นปีที่เปิดมากสำหรับสาขารางวัลนี้ ว่าสตูดิโอไหนจะประสบความสำเร็จในรางวัลนี้ ในเมื่อ Pixar ไม่มีตัวเต็งแบบนอนมา เข้ามาชิง รายชื่อหนังแอนิเมชั่นที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิง มีดังนี้ คือ A Cat in Paris หนังแอนิเมชั่นจากฝรั่งเศส ,Chico & Rita หนังแอนิเมชั่นจากสเปน ,Kung Fu Panda 2 ของค่ายดรีมเวิร์ค , Puss in Boots ของค่ายดรีมเวิร์ค , Rango ของค่ายพาราเม้าท์พิคเจอร์ จะสังเกตว่าดรีมเวิร์คเข้าชิงถึง 2 เรื่อง และเป็นปีที่ไม่มีคู่แข่งอย่าง Pixar ถ้าดรีมเวิร์ค ไม่ได้ในปีนี้ ก็ต้องถือว่าน่าเสียดาย เพราะโอกาสนั้นเปิดให้กับดรีมเวิร์คอย่างมากแล้ว

ประวัติความเป็นมาของเมืองมายาชื่อก้องโลกนาม “ฮอลลีวู้ด”


พูดถึง “ฮอลลีวู้ด” คนส่วนใหญ่รู้ดีว่า เป็นเมืองของการผลิตอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นเมืองที่คนหนุ่มสาวส่วนหนึ่งใช้เป็นแหล่งชุบตัว จากคนธรรมดาสามัญให้กลายเป็น “ดารา” นามกระเดื่อง จนมักจะรู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า “เมืองมายา” แต่ก็คงมีน้อยคนที่จะรู้ถึงประวัติและความเป็นมาของฮอลลีวู้ด สถานที่อันเป็นที่ตั้งของฮอลลีวู้ดอยู่ในเวลานี้ (ตั้งอยู่ไม่ห่างจากนครลอสแอนเจลิสไปทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือเล็กน้อย) แต่เดิมเป็นแต่เพียงพื้นที่ป่าธรรมดานี่เอง คนพวกแรกที่เข้ามาพบก็คือพวกนักสำรวจชาวสเปน เพราะขณะนั้นพวกอินเดียนแดงพื้นเมืองยังอาศัยอยู่ตามโตรกตามหุบเขา (canyon) แถบเทือกเขาซานตาโมนิกา ต่อมาภายหลังชาวอินเดียนเหล่านั้นจึงได้อพยพเข้ามาครอบครองแผ่นดินแถบนั้นภายใต้การปกครองของสเปน โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วนด้วยกัน คือ แถบทิศตะวันตกเรียกชื่อว่า “รานโชลาเบรีย” (Rancho La Brea) และด้านทิศตะวันออกเรียกชื่อว่า “รานโชลอสเฟลิซ” (Rancho Los Feliz) ต่อมาราวปี ค.ศ. 1870 (พ.ศ.2413 ตรงกับรัชสมัยรัชกาลที่.5 ของไทยเรา) จึงเริ่มมีการเพาะปลูกพืชพรรณเกษตรและธัญญาหารขึ้น มีทั้งการทำทุ่งหญ้าเฮย์สำหรับการเลี้ยงปศุสัตว์ ธัญพืช กล้วย และสัปปะรด และเมื่อมาถึงราวๆ ปี ค.ศ.1880 (พ.ศ. 2423) พื้นที่บริเวณดังกล่าวก็ถูกแบ่งซอยออกเป็นแปลงย่อยๆ และมีผู้ครอบครองกรรมสิทธิ์จนถึงปี ค.ศ. 1886 เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินด้านทิศตะวันตกส่วนหนึ่งมีชื่อว่านายวิลค็อกซ์และมีภรรยาชื่อว่า นางดีดา วิลค็อกซ์ (Mrs.Daeida Wilcox) นางได้ตั้งชื่อที่ดินส่วนนั้นว่า “ฮอลลีวู้ด” (Hollywood) แปลว่า ป่าฮอลลี่” หรือ “ป่าแห่งต้นฮอลลี่” เข้าใจว่าคงจะเป็นเพราะมีต้นไม้ชนิดนั้นอยู่อย่างชุกชุมกระมัง? จากนั้น เพียง 2-3 ปี นายวิลค็อกซ์ซึ่งน่าจะนับได้ว่าเป็นคนที่มีวิสัยทัศน์ในยุคโน้น ก็เริ่มวางแผนและกำหนดผังที่จะพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นชุมชนแห่งใหม่ขึ้น โดยสิ่งแรกที่เขาทำก็คือการจัดทำแนวถนน (เส้นที่ทุกวันนี้เราเรียกชื่อว่า “ถนนฮอลลีวู้ดบูลเลอวาร์ด” Hollywood Boulevard) แล้วเขาก็แบ่งที่ขายให้แก่คนที่มีเงินและกำลังมองหาทำเลดีๆ เพื่อสร้างบ้านพักอาศัย ซึ่งก็เป็นไปตามแผนของเขา ณ ถนนสายดังกล่าว ไม่ช้าไม่นานก็กลายเป็นย่านอันเป็นที่ตั้งวังและคฤหาสน์ของเจ้านายและผู้ดี เช่น เป็นวังของพระราชินีแอนน์,ผู้ดีแห่งยุควิกตอเรียของอังกฤษ (ราวศตวรรษที่ 19) และบ้านพักของนักสอนและเผยแพร่ศาสนา เป็นต้น จากนั้นนางวิลค็อกซ์ยังได้ริเริ่มจัดตั้งกองทุนขึ้นมาเพื่อสร้างโบสถ์ สร้างโรงเรียน และห้องสมุด จนทำให้ฮอลลีวู้ดกลายเป็นย่านที่มีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นอย่างรวดเร็ว ถึงปี ค.ศ. 1903 (พ.ศ.2446 ในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 ของไทย) ฮอลลีวู้ดก็มีการจัดการบริหารท้องถิ่นของตนเอง แต่เพียง 7 ปี ก็ต้องผนวกเข้ากับการบริหารของนครลอสแอนเจลิส เนื่องจากเกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ในขณะที่ลอสแอนเจสิล มีแหล่งน้ำเหลือเฟือ

โรงถ่ายภาพยนตร์แห่งแรกได้เกิดขึ้นในแถบโรงเตี๊ยมของถนนซันเซ็ตและโกเวอร์ (Sunset & Gower) เมื่อปี ค.ศ.1911 (พ.ศ.2454 ตรงกับรัชสมัยรัชกาลที่ 6 ของไทย) โดยมีบริษัทเนสเตอร์ (Nester Company) มาตั้งเป็นรายแรก ต่อมาก็ได้แก่ เชชิล บี. เดอมิล และ เดวิด วาร์ก กริฟฟิธ (D.W. Griffith) เป็นรายต่อๆ มา การที่มีโรงถ่ายภาพยนตร์เกิดขึ้นก่อให้เกิดผลกระทบตามมามากมาย พื้นที่สีเขียวที่เคยใช้ทำการเกษตรด้านทิศใต้ของถนนฮอลลีวู้ดบูลเลอวาร์ด ได้ถูกแบ่งและกลายเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของคนงานในโรงถ่ายภาพยนตร์ไปมากมาย ยิ่งกว่านั้นก็เกิดตึกสูงๆ เพื่อการพาณิชย์อย่างต่อเนื่อง ทั้งในแถบไฮแลนด์ (Highland) คาฮูเองกา (Cahuenga) และแถบไวน์ (Vine) ทำให้เกิดศูนย์การค้าขึ้นมาถึง 3 มุมถนนเลยทีเดียว ยิ่งไปกว่านั้นยังมีธนาคาร ภัตตาคาร สโมสรราตรี (Night Clubs) เกิดขึ้นตามมาอีกมากมาย สถานที่หลายแห่งสร้างขึ้นตามแบบสถาปัตยกรรมอันทรงคุณค่าและมีเอกลักษณ์อันโดดเด่นของช่วงปี ค.ศ. 1920 –1930 ตรงกับปี พ.ศ.2463-2473 ,สมัยรัชกาลที่ 6 ของไทย) ซึ่งภายหลังทางการต้องเข้ามาขึ้นบัญชีสถาปัตยกรรมบางแห่งเป็นโบราณสถานเพื่อการอนุรักษ์ด้านศิลปะและวัฒนธรรมส่วนหนึ่งของฮอลลีวู้ดเอาไว้สำหรับดาราภาพยนตร์ ในระยะหลังๆ นี้ได้โยกย้ายจากฮอลลีวู้ด (ย่านโรงถ่าย) ไปอยู่แถบเบเวอรี่ฮิลล์ ทำให้จำนวนของร้านค้าและภัตตาคารพลอยผุดขึ้นตามไปด้วย จนถึงปี ค.ศ. 1960 (ตรงกับปี พ.ศ. 2503) ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ขึ้นอีก เพราะมีห้องอัดเสียงไปตั้งและดำเนินธุรกิจในฮอลลีวู้ดอย่างมากมาย และแถบทิศตะวันตกของถนนซันเซ็ตบูลเลอวาร์ด จนถึงทุกวันนี้ฮอลลีวู้ดกลายเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย มีชีวิตชีวา คึกคักทั้งกลางวันและกลางคืน เป็นเมืองแห่งความหรูหรา ฟุ้งเฟ้อ มีปริมาณเงินสะพัดหมุนเวียนอย่างรวดเร็ว และเป็นสวรรค์สำหรับดาราภาพยนตร์ผู้ร่ำรวยเงินทอง แต่อย่างไรก็ตาม “ฮอลลีวู้ด” ก็คือ “ฮอลลีวู้ด” เป็นได้ทั้งสถานที่ที่จะทำให้คนหนุ่มสาวที่มีความฝันได้มาตามหาฝัน ชุบตัวเป็นคนใหม่ เป็นซุปเปอร์สตาร์ เพื่อสร้างฐานะเงินทอง ชื่อเสียง มาแสวงหาคู่ใจ แต่ในขณะเดียวกันมันก็ฉาบโรยไว้ด้วย “มายาภาพ” ในหลายๆ ด้าน ซึ่งจะทำให้คนที่รู้ไม่เท่าทันต้องประสบกับความผิดหวังและหายนะได้เช่นเดียวกัน

(ถอดความบางส่วนจาก บทความ "ฮอลลีวู้ด เมืองมายา ประวัติและความเป็นมา, ย้อนรอยหนังฝรั่ง, ไพบูลย์ แพงเงิน ,สำนักพิมพ์วสี ครีเอชั่น )

ประวัติความเป็นมาของรางวัลออสการ์ (Academy Award) 


พีธีมอบรางวัลออสการ์ครั้งแรกจัดขึ้นแบบงานเลี้ยงอาหารค่ำเล็กๆที่โรงแรม Roosevelt ในฮอลลีวู้ด บัตรเข้าชมราคา 5$ มีผู้ร่วมงานไม่ถึง 250 คน ปีต่อมาๆได้เปลี่ยนมาจัดที่โรงแรม Ambassador และโรงแรม Biltmore พีธีมอบรางวัลออสการ์ครั้งที่สองได้เริ่มมีการกระจายเสียงสดผ่านทางวิทยุ ต่อมาในปีค.ศ. 1953 จึงเปลี่ยนมาแพร่ภาพทางโทรทัศน์ขาวดำ มีผู้ชมหลายล้านคนในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ในปีค.ศ. 1966 พีธีมอบรางวัลได้แพร่ภาพทางโทรทัศน์สีเป็นครั้งแรก และมีการออกอากาศไปทั่วโลกตั้งแต่ปีค.ศ. 1969 เป็นต้นมา  ในช่วงทศวรรษแรก ธรรมเนียมปฏิบัติในการประกาศรางวัลสู่สาธารณชนจะทำโดยนำผลการตัดสินให้กับหนังสือพิมพ์ในเวลา 23 นาฬิกาของคืนวันงาน จนกระทั่งปีค.ศ. 1940 หนังสือพิมพ์ลอสเองเจลลิสไทม์แอบทราบผลการตัดสินและได้นำไปตีพิมพ์สู่สาธารณชนก่อนพิธีประกาศรางวัลจะเริ่มขึ้น นับแต่นั้นมา ผลการตัดสินจึงอยู่ในซองจดหมายที่ปิดผนึก พิธีประกาศผลรางวัลออสการ์ได้จัดที่โกดักเธียเตอร์นับตั้งปีค.ศ. 2002 จนถึงปัจจุบัน ในปีนี้ก็จัดขึ้นที่โกดักเธียเตอร์เหมือนเดิม แต่ได้มีการเปลี่ยนชื่อสถานที่ใหม่เป็นชื่อ  Hollywood Hiland Center อันเนื่องมาจากบริษัทโกดักฟิมล์ ซึ่งเป็นเจ้าของสถานที่ได้ถูกศาลพิทักษ์ให้เป็นบริษัทล้มละลายแล้ว

รางวัลออสการ์ (อังกฤษ: Oscar) หรือ อคาเดมีอวอร์ดส (อังกฤษ: Academy Awards) เป็นงานรางวัลทางภาพยนตร์ ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก จัดโดยสถาบันศิลปะและวิชาการทางภาพยนตร์ (อังกฤษ: Academy of Motion Picture Arts and Sciences หรือ อังกฤษ: AMPAS) โดยเริ่มจัดตั้งแต่ปีค.ศ. 1929 โดยในปีค.ศ. 2012 จะเป็นงานประกาศผลรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 84 และจะจัดขึ้นในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ณ ฮอลลีวู้ดไฮแลนด์เซ็นเตอร์ (โกดักเธียเตอร์เดิม)

ที่มาของคำว่า ออสการ์ นั้นยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ กรณีแรก ในชีวประวัติของนักแสดงหญิงรางวัลออสการ์ชื่อ Bette Davis ได้อ้างว่าเธอเป็นผู้ตั้งชื่อให้กับรูปปั้นนี้ เนื่องจากด้านหลังของรูปปั้นนั้นดูคล้ายของสามีคนแรกของเธอที่ชื่อ Harmon Oscar Nelson เธอจึงใช้ชื่อกลางของเขาตั้งชื่อรูปปั้นว่า ออสการ์ ทางด้านนิตยสารไทม์ได้มีการกล่าวถึงคำว่า ออสการ์ ในบทความที่เกี่ยวกับงานประกาศผลอคาเดมีอวอร์ดสครั้งที่ 6 ในปี ค.ศ. 1934 และกล่าวถึงการรับรางวัลของ Bette Davis ในปี ค.ศ. 1936  นอกจากนี้ยังมีการกล่าวถึงวอลต์ ดิสนีย์ ว่าเขาได้ขอบคุณอคาเดมีสำหรับรางวัลออสการ์ของเขาในต้นปี ค.ศ. 1932  กรณีที่สอง ได้มีการอ้างว่า Margaret Herrick เลขานุการผู้บริหารของอคาเดมี เป็นผู้ตั้งชื่อให้กับรูปปั้นนี้[4] ในปี ค.ศ. 1931 เธอเป็นคนแรกที่ได้เห็นถ้วยรางวัล เนื่องจากรูปปั้นนี้มีลักษณะคล้ายลุงของเธอ เธอจึงตั้งชื่อรูปปั้นนี้ตามชื่อลุงของเธอว่า ออสการ์ อย่างไรก็ตามทั้งคำว่า ออสการ์ และ อคาเดมีอวอร์ดส ต่างก็เป็นเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของสถาบันนี้  คืนประกาศผลรางวัล เป็นการถ่ายทอดสด โดยมากจะจัดหลังจากประกาศผู้เข้าชิงรางวัล 6 สัปดาห์ ดารานักร้องที่เข้าร่วมงานมักจะเดินบนพรมแดง แต่งชุดอย่างสวยงาม ถือเป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ของงาน นอกจากมีการมอบรางวัลต่างๆ ยังมีการแสดงเพลงจากผู้เข้าชิงรางวัลในสาขาเพลง มีการประมาณการว่า มีผู้ชมกว่า 1,000 ล้านคนทั่วโลก (ในปี 2546) ตัวงานได้แพร่ภาพออกทางโทรทัศน์ ในปี พ.ศ. 2496 ทางสถานี NBC จากนั้นจึงเปลี่ยนมือเป็นสถานี ABC ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519     การออกแบบตัวรางวัลหรือรูปปั้นออสการ์นั้น Cedric Gibbons ซึ่งเป็นผู้กำกับศิลป์ของเอ็มจีเอ็มและเป็นหนึ่งในสมาชิกเก่าแก่ของออสการ์ เป็นผู้ออกแบบรูปปั้นรางวัลออสการ์ Cedric ได้ใช้เรือนร่างเปลือยของนักแสดงเม็กซิโกคนหนึ่งที่ Dolores del Río ผู้เป็นภรรยาของเขาได้แนะนำให้รู้จัก ชื่อว่า Emilio Fernández เป็นแบบในการทำรูปปั้น โดยมี George Stanley เป็นผู้ร่างแบบบนดินเหนียว และมี Sachin Smith เป็นผู้หล่อรูปปั้นโดยใช้ส่วนประกอบ ดีบุก 92.5% ทองแดง 7.5% และชุบด้วยทองคำ โดยในส่วนฐานของรูปปั้นได้เพิ่มเข้ามาในภายหลัง แต่เดิมฐานจะทำจากหินอ่อน ในปีค.ศ. 1945 จึงเปลี่ยนเป็นโลหะ  แม่พิมพ์ต้นฉบับของรูปปั้นออสการ์ทำขึ้นในปีค.ศ. 1928 ที่ C.W. Shumway & Sons Foundry ในบาทาเวีย มลรัฐอิลลินอยส์ ซึ่งแม่พิมพ์ของถ้วยรางวัลเอมมีและรางวัล Vince Lombardi Trophy ก็ทำขึ้นจากที่นี่เช่นเดียวกัน ในแต่ละปีรูปปั้นรางวัลออสการ์จำนวนประมาณ 40 อัน จะทำขึ้นที่ชิคาโก โดยบริษัท R.S. Owens หากมีรูปปั้นใดทำออกมาแล้วไม่มีคุณภาพ รูปปั้นนั้นจะถูกตัดเป็นสองท่อนแล้วนำไปหลอมละลาย ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 รูปปั้นรางวัลออสการ์ที่มอบให้กับผู้รับรางวัลจะทำจากปูนปลาสเตอร์ โดยจะให้รูปปั้นที่ทำจากทองคำหลังสงครามสิ้นสุด  รูปปั้นมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Academy Award of Merit เป็นรูปอัศวินถือดาบครูเสดเอาปลายแหลมลงดิน ยืนบนม้วนแผ่นฟิล์ม สูง 13 นิ้วครึ่ง (34 เซนติเมตร)หนัก 8 ปอนด์ครึ่ง (3.85 กิโลกรัม) ทำจากบริทานเนียมชุบด้วยทองคำบนฐานโลหะสีดำ ออกแบบโดย Cedric Gibbons ตรงส่วนฐานที่เป็นม้วนแผ่นฟิล์มนั่นจะเป็นที่จารึก 5 ชื่อสาขาใหญ่ ๆ ของรางวัล อันประกอบไปด้วย นักแสดง เขียนบท กำกับการแสดง อำนวยการสร้าง และด้านเทคนิค

(อ้างอิงข้อมูลจาก วิถีพีเดีย สารานุกรมออนไลน์)   Link : http://oscar.go.com/

ทิศทางของภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดในปีนี้




ผู้เขียนได้มีโอกาสได้ฟังการสัมภาษณ์คุณปัณณทัต พรหมสุภา ผู้บริหารของบริษัท UIP ถึงทิศทางของหนังฮอลลีวู้ดในปีนี้ ซึ่งดำเนินรายการโดยคุณนันทขว้าง สิรสุนทร ในช่องแมงโก้ทีวี และก็บทสัมภาษณ์ของคุณปัณณทัต ในเอนเตอร์เทนเอ็กซ์ตร้า ที่กล่าวไว้ตรงกัน ว่าทิศทางของหนังฮอลลีวู้ดในปีนี้ จะมีอะไรที่ยิ่งใหญ่ และเป็นแนวทางใหม่ๆ ไม่ใช่หนังสูตรสำเร็จในแบบภาคต่อฟอร์มยักษ์อีกแล้ว เพราะหนังสูตรสำเร็จในแบบหนังภาคต่อนั้นคนดูเริ่มจับทางได้ และก็เน้นสเปเชี่ยลเอ็ฟเฟ็คท์กันอย่างเดียว บทอ่อน เพราะซ้ำเดิม ไม่มีอะไรใหม่ ในส่วนของด้านนวัตกรรมใหม่ๆ ก็พัฒนาไปถึงขั้นหนังดิจิตอล แบบ 3,4 มิติ กันแล้ว ซึ่งด้านนวัตกรรมในการผลิตภาพยนตร์ก็พัฒนามาไกลสุดกู่แล้ว แม้ว่าในอนาคตอาจมีนวัตกรรมใหม่ๆ ที่สามารถพัฒนาต่อไปได้อีก แต่ในด้านการพัฒนาแนวทางของเนื้อหา บทภาพยนตร์นั้นยังตามไม่ทันกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเลย ผู้เขียนคิดว่าคนดูโดยส่วนใหญ่ยังต้องการเสพอรรถรสจากเนื้อหาดีๆ มากกว่าด้านเทคนิคหรือพัฒนาเคียงคู่กันไปแบบสอดคล้องพอเหมาะพอดี ไม่ใช่ภาพยนตร์ที่มีความก้าวหน้าด้านภาพด้านเสียงตื่นตาตื่นใจมาก แต่บทอ่อนปวกเปียก ไม่มีสาระประเด็นอะไรใหม่ๆให้คิดเลย แม้ว่าหนังภาคต่อยังคงเป็นกระแสหลักที่ยังจะมีออกมาอีกมากในปีนี้ แต่แนวทางใหม่ๆ ที่คุณปัณณทัต ได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจก็คือเรื่องของการพัฒนาบทภาพยนตร์ซึ่งจะเป็นธีมใหม่ ที่ทุกสตูดิโอทุกค่ายจะต้องหันมาให้ความใส่ใจกันมากขึ้น บทต้องคมเข้ม ลึกซึ้งและให้รายละเอียดของตัวละครแบบมีชั้นเชิงและลึกลับซับซ้อนมากกว่าเดิม โดยยกตัวอย่างหนังเด่นของค่าย UIP ในปีนี้จะได้แก่ Battleship (ซึ่งจะเป็นหนังฟอร์มยักษ์ 5 ดาวในปีนี้) อีกเรื่องก็ 47 Ronin (หนังที่ได้อิทธิพลจากตำนานของญี่ปุ่น นำแสดงโดยคีอานู รีฟ ที่จะหวนคืนจออีกครั้งกับหนังแอ็คชั่น) ,The Hobbit : An Unexpected Journey นอกจากนี้ยังมีหนังภาคต่อที่จะยังคงเป็น Box Office ตามออกมาเป็นขบวนอีกมาก อาทิ Madagascar 3 , G.I.JOE : Retaliation ,The Bourne Legacy (หนังสายลับบอร์นตอนใหม่) ,American Pie Reunion , Snow White and the Huntsman , ยังมีหนังที่คาดว่าจะเป็นฟอร์มยักษ์ของปีนี้ อาทิ เช่น The Pirates! In an Adventure with Scientists,ICE AGE : Continental Drift, Dr.Seuss'The Lorax,ParaNorman (4 เรื่องนี้เป็นหนังแอนิเมชั่น) The Avengers (หนังที่รวบรวมเอาซุปเปอร์ฮีโร่ทั้งหลายของมาร์เวล มาปะทะกัน) ,Men in Black ภาค 3, The Dark Knight Rises ภาคต่อของแบ็ทแมนตอนใหม่ , The Amazing Spider-Man ภาคต่อของสไปเดอร์แมนตอนใหม่ ,Twilight Saga :Breaking Dawn ตอน 2 (จบเสียที) ,The Expendables 2 ,Total Recall หนังรีเมคภาพยนตร์ไซไฟที่เคยโด่งดังในอดีต เช่นเดียวกับ Judge Dredd ก็กลับมาสร้างใหม่ หนังสุดฉาว อย่าง The Dictator ยังมีหนังสงครามไซไฟล้ำยุคที่สร้างโดย pixar ค่ายหนังแอนิเมชั่น แต่เรื่องนี้จะเป็นหนังที่ใช้คนแสดงเป็นเรื่องแรกของ pixar ชื่อเรื่องคือ John Carter และหนังรีเมคงานเก่าเป็นหนังรักย้อนยุคแต่ทำเป็น 3 มิติ ผลงานกำกับของบาซ เลอร์มานน์ โดยให้ลีโอนาโด ดิคาปริโอเล่น (The Great Gatsby) ฟังดูแค่นี้ก็น่าสนใจแล้ว  นี่แค่บางส่วนที่ไล่ตั้งแต่ช่วงซัมเมอร์จนถึงช่วงปลายปี บางเรื่องอาจไม่ได้รับการคาดหมาย หรือคาดหวังไว้แต่แรก แต่อาจฮิตถล่มทลายด้านรายได้ก็เป็นไปได้ ในทางตรงกันข้ามเราอาจได้เห็นหนังฮีโร่ฟอร์มยักษ์ หรือหนังที่ใช้ทุนสร้างมหาศาลแต่ฉายจริงอาจแป๊กไม่เป็นท่า ซึ่งขึ้นอยู่กับการตอบรับของมหาชน กระแสการบอกต่อจากนักวิจารณ์ รวมถึงบรรยากาศ จังหวะช่วงเวลาที่เข้าฉายเอื้ออำนวยแค่ไหน แต่ก็ยังคงเป็นอีกปีนึงที่หนังฮอลลีวู้ดคงยึดหัวหาดอุตสาหกรรมทั่วโลกไว้ได้ ซึ่งยังไม่มีกระแสใดจะมากลบได้
















ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น