หนังสัญชาติฝรั่งเศสเรื่องนี้ประกอบด้วยหนังสั้น จำนวน ถึง 18 เรื่องสั้นๆ ประกอบขึ้นเป็นภาพยนตร์รักแห่งปี 2006 ที่ชื่อ Paris,I Love You หรือชื่อฝรั่งเศสว่า PARIS, JE T’AIME เป็นผลงานภาพยนตร์ของผู้กำกับชั้นนำเกือบ 20 คน เช่น กาส แวน แซง, เวส คราเวน , วินเซนโซ่ ,นาตาลี ,คริสโตเฟอร์ ดอยส์ , อัลฟองโซ คูเอรอน และสองพี่น้องตระกูล โคเอน (โจเอลกับอีธาน)แต่ละเรื่องไม่ได้มีจุดเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน แต่มีจุดร่วมเดียวกันคือเป็นหนังรัก บอกเรื่องราวความรักในหลากหลายรูปแบบไม่ใช่แต่เพียงความรักของหนุ่มสาวเท่านั้น มีฉากหลังคือมหานครปารีส ซึ่งในเรื่องก็ได้แสดงนัยยะถึงความเป็นมหานครแห่งความรัก (บ้านเกิดแห่งความรัก,เรือนนอนแห่งความโรแมนติก)นั่นเอง ความยาวของหนังสั้นแต่ละเรื่องจะอยู่ราว ๆ เรื่องละ 5-8 นาที นอกเหนือไปจากนั้นหนังยังรวบรวมนักแสดงชั้นนำไว้มากมาย เช่น กาสปาร์ อูลลิแอล, อีไลจาห์ วู๊ด , นาตาลี พอร์ตแมน ทั้งยังรวมด้วย จูเลียต ปีโนชต์ ,แม็กกี้ จิลเลอร์ฮาล และวิลเลียม เดโฟ เป็นต้น พอฟังว่ามีชื่อของผู้กำกับและนักแสดงชื่อดังมาร่วมอยู่ในผลงานภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างมากมายแล้วนั้น ทำให้หนังเรื่องนี้มีความน่าสนใจ เช่น จุดเด่นที่เลี่ยงไม่ได้สำหรับภาพยนตร์ที่เกิดขึ้นจากการนำหนังสั้นของผู้กำกับหลายคนมารวมกัน ก็คือ ความหลากหลายของเรื่องราว สไตล์ และกลวิธีการเล่าเรื่อง กลายเป็นตำรับตำราชั้นดีสำหรับใครก็ตามที่ต้องการจะศึกษารูปแบบของผู้กำกับแต่ละคน เช่น ในหนังสั้นของสองพี่น้อง โจเอลและอีธาน โคเอน ก็เปี่ยมไปด้วยอารมณ์ขัน และเป็นตลกร้าย หรือของเวส คราเวน ก็ยังคงไม่ทิ้งเรื่องราวความลี้ลับในเรื่องวิญญาณ
หนังสั้นที่เปิดตัวเรื่องแรกใน Paris, I Love You (Paris, Je T’aime) ก็คือ Montmartre จากการกำกับของบรูโน่ โพดาลีเดส พูดถึงเรื่องราวง่ายๆ เมื่อชายหนุ่มโดดเดี่ยวคนหนึ่งขับรถออกจากบ้าน แต่หลังจากจอดรถได้สักพัก จู่ๆ ก็มีหญิงสาวมาเป็นลมอยู่ที่ท้ายรถ จากนั้นความรักก็มาถามหาใจที่เปลี่ยวเหงาของหนุ่มใหญ่คนนั้น
Le Marais เป็นชื่อหนังสั้นของ กาส แวง แซง ว่าด้วยเรื่องราวความรักของชายสองคน (ชายรักชาย) หนุ่มคนแรกเชื่อในเรื่องการตามหาอีกครึ่งหนึ่งของชีวิต ขณะที่หนุ่มอีกคน ดูจะไม่เข้าใจสิ่งที่ชายคนแรกพูดนัก หนังจบลงแบบให้คนดูคิดต่อเอาเองว่า ไอ้หนุ่มคนหลังมันเก็ตและวิ่งตามหาความรักจากไอ้หนุ่มคนแรกเจอหรือไม่ หนังก็จบอยู่แค่นั้น ขณะเดียวกัน วินเซนโซ นาตาลี เลือกที่จะถ่ายทอดความรักออกมาในช่วงตึกสงัดของกรุงปารีส ในชื่อ Quartier de la Madeleine เมื่อชายหนุ่มนักท่องเที่ยวต้องเผชิญหน้ากับแวมไพร์สาวสวย เลือดสีแดงในเรื่องถูกแทนค่าความรักและความปรารถนา นอกไปจากเรื่องรักจากหนังสั้นสามเรื่องที่ยกตัวอย่างมาข้างต้นแล้วนั้น เรายังจะได้เห็นภาพของความสัมพันธ์ที่ก่อตัวขึ้น ณ บ้านเกิดของหอไอเฟล อีกหลากรูปแบบในภาพยนตร์เรื่องนี้ เช่น ความรักของชายหนุ่มกับหญิงสาว แม่กับลูก บิดากับบุตร และคนแปลกหน้าที่มาพบรักกัน ณ มหานครแห่งนี้
Tour Eiffle ของ ซิลแวน โคเมต์ เป็นหนังสั้นเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจมาก ผู้กำกับใช้กลวิธีการเล่าเรื่องโดยให้ตัวละครชายหนุ่มและหญิงสาวแสดงออกมาในรูปแบบของละครใบ้ เพื่อสื่อถึงความแปลกแยกและโดดเดี่ยวจากสังคมรอบข้างที่ทั้งคู่มี จนเมื่อทั้งสองมาพบกันและตกหลุมรักกัน ความอ้างว้างที่เคยมีมาก็จางหายไป
หนังสั้นทั้ง 18 เรื่อง พาเราไปสัมผัสแง่มุมที่ผิดแผกและหลากหลายของกรุงปารีสอย่างที่เราไม่เคยเห็นจากไหนมาก่อน เริ่มต้นตั้งแต่ ท้องถนน คาเฟ่ บาร์ หอไอเฟล มัสยิด โมนาลิซ่า สวนสาธารณะ กลางวัน กลางคืน เรื่อยไปจนถึงสถานีรถไฟใต้ดิน โดยทุกหนแห่งที่หนังพาเราไปนั้น ล้วนมีเรื่องราวและเรื่องราวเหล่านั้นก็เกี่ยวข้องกับคำสั้นๆ 2 พยางค์ที่เรียกว่า “ความรัก” ซึ่งก่อกำเนิดขึ้นในใจกลางมหานครแห่งนี้ เราได้เห็นภาพของหนุ่มคริสเตียนที่ช่วยพยุงสาวอิสลาม วินาทีที่คนแปลกหน้าสองคนมาเจอกัน โมงยามที่แม่นั่งร้องไห้คร่ำครวญถึงลูกที่จากไป วันคืนที่หนุ่มตาบอดเดินกุมมือกับนักแสดงสาวสวย และช่วงเวลาที่ชายหนุ่มวิ่งตามชายอีกสองคนเพื่อบอกว่าเขาคืออีกครึ่งหนึ่งของชีวิตที่เขาตามหา
(ถอดความบางส่วนจากคอลัมน์ Paris,I Love You หนังรักแห่งปี 2007, Moviegoer โดย พรทิพย์ แย้มงามเหลือ,entertrend,Bizweek)
เรื่องย่อในแต่ละเรื่องสั้น มีดังนี้
ย่านม็องต์มาร์ตร(Montmartre) ในระหว่างที่กำลังสอดส่ายสายตาหาที่จอดรถในถนนแคบ ๆ กลางย่านม็องต์มาร์ตร ชายหนุ่มก็เกิดคำถามขึ้นในใจว่า ทำไมชีวิตถึงจนตรอกขนาดนี้ ทำไมเขาจึงไม่เจอรักแท้เสียที จู่ ๆ สตรีลึกลับนางหนึ่งก็มาเป็นลมล้มพับอยู่ข้าง ๆ รถของเขา ฤานี่จะเป็นความรักที่เขาโหยหารอมานาน
ทางเดินเลียบแม่น้ำแซน (Quais de Seine) ฟรังซัว กับเพื่อนอีกสองคนตะโกนประโยคเด็ดหวังเรียกร้องความสนใจจากสาว ๆ ที่เดินผ่านไปมาบนทางเดินเลียบแม่น้ำแซน แล้วฟรังซัวก็เห็นสาวมุสลิมคนหนึ่งเดินสะดุดล้มลง เขาพุ่งเข้าไปช่วยพยุงเธอยืนขึ้นขณะที่เพื่อน ๆ หัวเราะเยาะ แล้วหญิงสาวก็เดินต่อไปยังมัสยิด ส่วนเขากลับมารวมกลุ่มกับเพื่อน ๆ แต่ก็ฉุกคิดว่า เขาไม่อาจปล่อยให้ผู้หญิงคนนั้นเดินออกไปจากชีวิตของเขาได้
เลอ มาเร่ส์(Le Marais) เมื่อ แกส ก้าวเข้ามาในโรงพิมพ์ ชายหนุ่มก็ถูกชะตากับ อีไล พนักงานหนุ่มเข้าให้เต็มเปา อีไลคงไม่เข้าใจสิ่งที่ แกสป้า วิเคราะห์และกล้าฟันธงแบบคนรุ่นใหม่เพราะเขาหูหนวก แต่เมื่อแกสป้าอลับออกไปแล้ว อีไลก็รู้ว่าความรู้สึกพิเศษและคิดไม่ออกบอกไม่ถูกเกิดขึ้นกับเธอแล้ว....
พระที่นั่งตุยเลอรีส์ (Tuileries) นักท่องเที่ยวอเมริกันยืนอ่านหนังสือนำเที่ยวอยู่ที่ชานชาลารถไฟใต้ดิน สถานีพระที่นั่งตุยเลอรีส์ เขาเหลือบไปเห็นหนุ่มสาวชาวฝรั่งเศสคู่หนึ่งกำลังจุมพิตกันอย่างดูดดื่มอยู่ที่ฝั่งตรงข้าม กว่าจะตั้งสติได้เขาก็ลืมคำแนะนำที่หนังสือพร่ำเตือนว่า อย่าจ้องมองตาใครเวลาอยู่ใช้บริการรถไฟใต้ดินของปารีส แล้วทีนี้ก็มีเรื่องขำ ๆ ตามมาอีกเพียบ
ไกลจากเขต 16(Loin du 16eme) ในตอนเช้า คุณแม่ยังสาวจำใจต้องทิ้งลูกน้อยของเธอไว้ให้เนิร์สเซอรี่ใกล้บ้านเลี้ยงดู เพื่อรีบขึ้นรถไฟจากชานเมืองเข้าไปยังใจกลางเมือง หลังจากการเดินทางอันแสนเหนื่อยอ่อน เธอก็มาถึงยังเขต 16 สุดหรูหราเพื่อทำงานของเธอ ซึ่งก็คือการเป็น พี่เลี้ยงให้กับลูกของคนอื่นที่พักอยู่ในย่านนั้นนั่นเอง
ย่านปอร์ต เดอ ชัวซี(Porte de Choisy) การพบปะกันที่แทบจะเกินกว่าความเป็นจริงใด ๆ จะตีกรอบได้ระหว่าง หนุ่มนักขายทัวร์ กับ ซ้อเจ้าของกิจการร้านทำผมจีนสุดสวย
ย่านบาสตีย์(Bastille) ก่อนที่หนุ่มใหญ่จะเอ่ยปากขอหย่ากับภรรยาคนปัจจุบัน เพื่อไปครองรักหวานชื่นกับกิ๊กที่ทั้งสาวและสวยกว่า แต่ภรรยาของเขากลับโพล่งออกมาก่อน พร้อมน้ำตาอาบสองแก้ม บอกว่าเธอเป็นมะเร็ง และจะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อีกไม่กี่เดือนเท่านั้น เขาจึงตัดสินใจละทิ้งทุกอย่างเพื่อมาดูแลภรรยาที่กำลังป่วย ชีวิตของเขาต้องพลิกผันกลับตาละปัด เมื่อเขาตกหลุมรักภรรยาอีกเป็นครั้งที่สอง
จัตุรัสชัยสมรภูมิ (Place des Victoires) หญิงสาวคนหนึ่งนอนไม่หลับด้วยเสียงร้องเพรียกหาจากลูกของเธอที่ตายไปแล้ว เธอจึงกลับมายังจัตุรัสที่ลูกของเธอเสียชีวิต และพบกับคาวบอยแปลกประหลาดคนหนึ่ง เขาเปิดโอกาสให้เธอได้พบกับลูกชายของเธอพักหนึ่ง ก่อนที่เขาจะหายตัวไปอีกครั้ง
หอไอเฟล(Tour Eiffel) ศิลปินละครใบ้หนุ่มสุดแสนเดียวดายใช้เวลาทุกวี่ทุกวันอยู่ใต้หอไอเฟล ตามตื้อนักท่องเที่ยวคนแล้วคนเล่า จนกระทั่งเขาถูกตำรวจจับข้อหาก่อกวนความสงบ แล้วที่สถานีตำรวจนั่นเองที่เขาได้พบเนื้อคู่ ศิลปินละครใบ้สาวสวย นั่นเอง
สวนสาธารณะมองโซ(Parc Monceau) ชายชราชาวอเมริกันนัดกับหญิงสาวชาวฝรั่งเศสที่สวยแต่หัวรั้นสุด ๆ แต่เขามาสาย ทั้งสองเดินทะเลาะกันไปตามถนนในสวนสาธารณะ ซึ่งมันเป็นการเปิดเผยให้รู้ถึงความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งและสับสนซับซ้อนของคนรักคู่นี้
ย่านเด็กแดง (Quartier des Enfants Rouges) นักแสดงชาวอเมริกันสาวกำลังเข้ากล้องถ่ายทำภาพยนตร์ดราม่าย้อนยุค ที่อาศัยแมนชั่นเก่าในมหานครปารีสเป็นฉาก เธอผูกมิตรกับพ่อค้ายาเสพติดแสนลึกลับคนหนึ่ง ว่าแต่เธอจะพบความพึงพอใจตรงตามที่ปรารถนาหรือ
จัตุรัสเทศกาล (Place des Fetes) ชายคนหนึ่งล้มนอนใกล้ขาดใจอยู่กลางจัตุรัสเทศกาล โซฟี นักศึกษาแพทย์สาวประสบการณ์น้อยพยายามจะช่วยชีวิตของเขา แล้วจึงตระหนักว่าทั้งสองเคยพบกันมาก่อนหน้านั้นแล้ว
ปิกาล(Pigalle) สังเวียนรักสุดแสนเซ็กซี่ที่เกิดขึ้นกลางย่านโลกีย์ ปิกาล กำลังเล่นเอาล่อเอาเถิดกับคู่รักสูงวัยที่พยายามจะรักษาความสัมพันธ์ของพวกเขาไว้ให้ยืนยาว
ย่านมัดแลน (Quartier de la Madeleine) ชายหนุ่มเข้าไปขัดจังหวะในขณะที่แวมไพร์สาวกำลังสูบเลือกจากเหยื่อรายล่าสุดของเธอ เสน่ห์สาวทำให้ชายหนุ่มติดอกติดใจเข้าเต็มเปา และมุ่งมั่นจะครอบครองเธอชนิดอุปสรรคใดก็ขวางไม่ได้
แปร์ ลาแชส(Pere-Lachaise) คู่รักที่เพิ่งแต่งงานกันหมาด ๆ พยายามปรับตัวเข้าหากัน ขณะที่หลงทางเดินวนเวียนตามหลุมศพในสุสานแปร์ ลาแชส ก่อนที่วิญญาณของออสการ์ จะปรากฎตัวขึ้นมาช่วยหาข้อยุติให้กับเรื่องไม่ลงรอยกันของทั้งคู่
โฟบูร์ แซ็งต์ เดอนี(Faubourg Saint-Denis) นักแสดงอเมริกันสาวสวยโทรไปหาแฟนหนุ่มตาบอดของเธอเพื่อขอบอกเลิก การเดินทางในหัวของชายหนุ่มสะท้อนให้เราได้สัมผัสกับความสัมพันธ์ของพวกเขา ตั้งแต่ที่พบหน้ากันครั้งแรก ถือว่าเป็นเรื่องเล่าเชิงเปรียบเทียบว่าด้วย การยอมรับและการให้อภัยซึ่งกันและกัน ได้เป็นอย่างดี
ย่านละติน (Quartier Latin) ชายสูงวัยชาวอเมริกันที่ยังกระฉับกระเฉงนัดพบอดีตภรรยา เพื่อขอให้เธอจัดการเอกสารสำคัญในการหย่าอย่างเป็นทางการให้เรียบร้อย การใส่หน้ากากเข้าหากันสิ้นสุดลงเมื่อ เบ็น และ จีน่า ต่างบันดาลโทสะขึ้นเสียงผรุสวาทเข้าใส่กันอย่างเผ็ดร้อน ผลงานเฮฮาเสียดสีอย่างเจ็บแสบที่จะเผยให้เห็นถึงความปวดร้าวที่ต้องแยกกันอยู่มานานหลายปี และความรักที่ยังคงอยู่ไม่มีวันตาย
ย่าน 14 (14eme Arrondissement) นักท่องเที่ยวอเมริกันสาวเพิ่งเข้าใจ และยอมรับตัวตนที่แท้จริงของเธอเองเมื่อเดินผ่านย่าน 14 ของมหานครปารีส ซึ่งเป็นอารมณ์ขัน และบทสรุปโดนใจของภาพยนตร์เรื่อง Paris, je t’aime ได้อย่างลงตัวสุด ๆ
ในช่วงเทศกาลแห่งความรัก (Valentine’s Day) อย่างนี้ มักจะมีภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับความรักออกมาฉายชนกัน ตามกระแสอย่างมากมาย ให้เข้ากับบรรยากาศ แต่ส่วนใหญ่หนังรักที่ดี มักจะไม่ได้ฉายในช่วงเทศกาลวาเลนไทน์ซักเท่าไหร่ เท่าที่ผู้เขียนสังเกตดู (อันนี้ไม่ได้ว่าหนังที่ฉายในช่วงเทศกาลวาเลนไทน์ไม่ดีนะ อันนี้ขึ้นอยู่กับความชื่นชอบส่วนตัวของแต่ละคน) โดยส่วนตัวแล้วผู้เขียนคิดว่า หนังรักที่ดี ไม่ต้องอาศัยดาราหรือนักแสดงชื่อดังมาช่วยเรียกเรตติ้งอะไรเลย ขึ้นอยู่กับบทภาพยนตร์และการแสดงที่ดีมากกว่า ดังนั้นหนังรักที่รวบรวมนักแสดงชื่อดังไว้เป็นจำนวนมากจึงแป้กไม่เป็นท่า หรือผลตอบรับจากผู้ชมไม่ค่อยดีนัก แต่ก็ไม่ใช่เสมอไป ในกรณีของ Love Actually นั้นได้รับคำชื่นชมจากทั้งคนดูในวงกว้างและนักวิจารณ์ว่าทำออกมาได้ดี กลมกล่อม ลงตัว ในขณะที่เรื่อง Valentine’s Day และภาคต่ออย่าง New Year Eve กลับไม่ได้รับเสียงตอบรับที่ดีนัก ทั้งๆ ที่ก็คอนเซ็ปต์ก็ใกล้เคียงกัน ภาพยนตร์ในรูปแบบที่นำเสนอความรักในลักษณะร้อยแปดพันเก้าหรือหลากหลายชีวิต หลากหลายคู่ นั้นโดยส่วนตัวคิดว่าทำยากและการเรียงร้อย ความสัมพันธ์ของแต่ละคู่ จุดเชื่อมโยง การแจกแจงบทบาท หรือให้น้ำหนักของแต่ละคู่ คีย์พ้อยท์หรือประเด็นนำเสนอซึ่งเป็น main theme ของเรื่องว่าต้องการจะสื่ออะไรนั้นสำคัญมาก และถ้าทำได้ไม่ถึง มีสิทธิ์จะเละ หรือเรื่องราวดูสับสันวุ่นวายและหาบทสรุปอะไรไม่ได้ ทำให้หนังไม่สามารถสร้างความประทับใจต่อคนดูหรือการตอบรับที่ดีก็เห็นมาแล้ว หนังเกาหลีก็มีอย่างเช่น Sad Movie ฮ่องกงมีเรื่อง Hot Summer Days เป็นต้น ช่วงหลังเราได้เห็นภาพยนตร์ไทยเริ่มนำคอนเซ็ปต์ของหนังรักรูปแบบนี้มาใช้บ้างแล้วกับหนังไทย แต่ดูเหมือนยังเป็นเพียงการทดลองที่ยังต้องหาจุดแห่งความพอดี ความสมดุล หรือจุดลงตัว นั่นคือรสชาติความกลมกล่อมที่ถูกปากกับคนไทยมากกว่านี้ แต่ยังไงก็อยากจะชื่นชมคุณยอร์ช ฤกษ์ชัย พวงเพ็ชร ฉายาผู้กำกับ100 ล้าน ที่ริเริ่มกับการนำเอาคอนเซ็ปต์แบบนี้มาใช้กับ ภ.เรื่อง ส.ค.ส. สวีทตี้ และ ภาคต่อ วาเลนไทน์ สวีทตี้ ที่บอกตามตรงว่าผู้เขียนชื่นชอบในผลงานเก่าๆ ของคุณยอร์ช มากกว่า 2 เรื่องหลัง
ในขณะที่รูปแบบหนังรักแบบเป็นตอนๆ หรือหนังสั้น ที่ร้อยเรียงอยู่ในหนังยาว 1 เรื่อง รูปแบบนี้มีมานานแล้ว จำไม่ได้ว่าคอนเซ็ปต์แบบนี้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกกับภาพยนตร์เรื่องอะไร อาทิ Paris,I Love You (เรื่องที่จั่วหัวเป็นตัวอย่างมาข้างต้น) New York, I Love You หนังไทยก็มีรูปแบบนี้ อาทิ ปิดเทอมใหญ่หัวใจว้าวุ่น, ฝัน หวาน อาย จูบ และที่กำลังจะออกฉายเร็วๆนี้ เป็นผลงาน ภาพยนตร์ฉลองครบรอบ 7 ปี ของค่ายหนัง GTH ซึ่งจะเป็นหนังสั้น 3 เรื่อง ซึ่ง 1 ในนั้นจะมีผลงานการกำกับโดยพี่เก้ง จิระ มะลิกุล ผู้กำกับคนเก่ง หวนกลับมานั่งแท่นกำกับหนังไทยอีกครั้งในรอบหลายปี ซึ่งผู้เขียนก็รอติดตามอยู่ โดยส่วนตัวชอบดูหนังสั้นเป็นตอนๆ มากกว่าหนังหลากหลายคู่มากกว่า เพราะเราจะได้สัมผัสอาหารแต่ละจานแบบเป็นรสชาดเดียว แม้ว่าจะจืดชืดหรือแซ่บจัดจ้านเพียงใดก็สามารถบอกได้ว่าชอบหรือไม่ชอบได้โดยง่าย ในขณะที่หนังรักในรูปแบบหลากหลายคู่นั้น เปรียบเหมือนต้มยำ จับฉ่ายที่ผสมผสานวัตถุดิบมาหลากหลายประเภท ทำให้แยกแยะรสชาดได้ลำบาก แต่หากปรุงได้อย่างฝีมือและกลมกล่อม โดยเชฟมีฝีมือ ก็จะทำให้อาหารจานนั้นรสชาติอร่อย แบบไม่ซ้ำแบบใครเลยทีเดียว ซึ่งก็ได้สัมผัสน้อยมาก อันนี้ก็ต้องแล้วแต่ผู้อ่านหรือผู้ชมในแต่ละท่านมีรสนิยมในการเลือกชิมอาหารแบบไหน และชอบในรสชาติแบบใด ไม่สามารถบอกได้ว่าถูกหรือผิด หรือจานไหนดีกว่าจานไหน เลือกชิมได้ตามอัธยาศัยเลยครับ เพราะรสนิยมเป็นสมบัติติดตัวคนทุกคนจริงๆ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น