วันอาทิตย์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

One up on SET เหนือกว่าตลาดหุ้นไทย ตอน เคล็ดลับรวมฮิตพิชิตตลาดหุ้น

ช่วงต้นปีมานี้ กระแสเงินสดไหลเข้าหรือที่เรียกว่า Fund Flow หลั่งไหลเข้ามาลงทุนในบ้านเราและในประเทศรอบบ้านเรา เยอะมาก อันเนื่องมาจากหนีร้อนมาพึ่งเย็น คือหนีความเสี่ยง วุ่นวาย ปัญหาหนี้ที่ยังแก้กันไม่จบของทางฝั่งยุโรป และเศรษฐกิจสหรัฐที่ฟื้นตัวช้า และอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนที่ต่ำเตี้ยเรี่ยดินของการลงทุนในพันธบัตรสหรัฐ มาพึ่งตลาดทุนเกิดใหม่อย่างฝั่งเอเซียดีกว่า ทำให้กระแสเงินถาโถมเข้าสู่เอเซียอย่างมากมาย และจริงๆ ก็ทยอยเข้ามาลงทุนตั้งแต่กลางปีที่แล้วแล้ว ในส่วนของเอเซีย แต่ในส่วนของบ้านเรา มาเจอผลกระทบจากอุทกภัยยักษ์เมื่อปีที่แล้ว ทำให้เงินทุนเหล่านั้นหนีบ้านเราไปพักใหญ่ และเพิ่งเริ่มกลับเข้ามาลงทุนใหม่เมื่อต้นปีนี้เอง ทำให้ในช่วงนี้ หลายคนได้ผลกำไรจากการขึ้นของดัชนีตลาดหุ้นไทยไปอย่างเป็นกอบเป็นกำ หุ้นบางตัวสามารถทำกำไรในระดับ 20-30 % เลยทีเดียว แต่บางคนก็ไม่ได้รับอานิสงส์อะไรเท่าที่ควรจากการที่ดัชนีหุ้นดีดตัวขึ้นจากจุดต่ำสุดเมื่อปีที่แล้วในระดับ 850 จุด มาถึง 1120 จุดในตอนนี้ กว่า 200 จุด แต่บางคนก็ยังขาดทุนอยู่หรือบวกลบคูณหาร หักกลบลบหนี้กันแล้ว ปีที่แล้วจากกำไรเมื่อต้นปี มาขาดทุนเอาในตอนปลายปี และก็ชิงขายหมูไป รอบนี้หุ้นขึ้นมา ก็ดันตกรถไฟ กระโจนขึ้นไม่ทัน หรือไม่กล้ากระโดดขึ้นตาม ทำให้หุ้นขึ้นรอบนี้แทบไม่ได้รับผลกำไรอย่างที่ควรจะเป็น อันเนื่องมาจากจับทิศทางตลาดผิดพลาด หรือเข้าลงทุนหุ้นผิดตัว ผิดกลุ่ม หรือชิงขายหุ้นเมื่อชนแนวต้านแล้วไม่ผ่าน แต่หุ้นดันกลับไม่ลง ไม่ปรับฐาน ขึ้นต่อเนื่องแบบยิ่งสูงก็ยิ่งหนาว อาการคล้ายๆ กับดัชนีดาวน์โจนส์ ของสหรัฐอเมริกา คือแทบจะไม่ปรับฐานใหญ่ๆ เลย มีปรับฐานเล็กน้อยเมื่อเผชิญข่าวร้าย แต่หุ้นก็ยังดีดกลับขึ้นมาได้อีก และทำจุดสูงสุดใหม่อย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับ ตลาดหุ้นรอบบ้านเรา ทั้งไต้หวัน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ จะมีก็แต่พี่ไทยเราเอง ที่ตลาดหุ้นยักแย่ยักยันอยู่ ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว พอมาปีนี้เริ่มจะปรับเปลี่ยนทิศทางเป็นขาขึ้นบ้างแล้ว นักลงทุนในบ้านเราที่ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนรายย่อย และลงทุนระยะสั้น ก็อาจจะตามน้ำ ตามกระแสเงิน Fund Flow ไปได้ในปีนี้ อย่างไม่น่าต้องกังวลใจนัก แต่หุ้นปีนี้ก็ยังคงเล่นยาก สวิง ผันผวนไปตามข่าวร้ายที่จะมีเข้ามาอย่างสม่ำเสมอ ต่อเนื่อง ทั้งปัจจัยต่างประเทศ ปัจจัยในประเทศ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ อันนี้รวมถึงพวกราคาของโภคภัณฑ์ทุกตัว ปีนี้นอกจากภัยธรรมชาติแล้ว สิ่งที่จะต้องระมัดระวังเพิ่มขึ้นมาอีกปัจจัยหนึ่งก็คือ ภัยจากสงครามและการก่อการร้าย ที่ทวีความรุนแรงขึ้นมา เมื่อปีที่แล้วอาจจะไม่ใช่ปัจจัยหลัก แต่มาปีนี้ค่อนข้างน่ากังวล เพราะเหตุการณ์ต่างๆ ในโลกนี้เริ่มสุกงอมในหลายประเทศ และมีการปะทุขึ้นมาบ้างแล้ว การลงทุนเป็นรอบจึงยังน่าจะลดความเสี่ยงลงได้บ้าง แต่หากไปถามนักลงทุนระยะยาวหรือเน้นคุณค่า ก็จะบอกว่าการลงทุนแบบระยะสั้นนั้นในระยะยาว ไม่ได้สร้างผลตอบแทนที่น่าพอใจเท่าใดนัก เมื่อเทียบกับเวลาที่เสียไปกับการติดตามข่าวสาร ความเครียด และสุขภาพจิตที่เสียไปจากการลงทุนหุ้น ดังนี้แล้วเราจะมาหาเคล็ดลับที่จะตอบโจทย์ แก้ปัญหาการลงทุนที่ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรได้อย่างไร ผู้เขียนจึงขอรวบรวมเคล็ดลับรวมฮิตพิชิตตลาดหุ้น มาไว้พิจารณาประกอบการลงทุนสำหรับนักลงทุนมือใหม่ มือกลางเก่ากลางใหม่ มือเก่าแล้วแต่ก็ยังเป็นแมงเม่าที่ไม่ประสบความสำเร็จเสียที ได้พิจารณากันดู ดังนี้


คุณพรเทพ ตังคเศรณี บอกว่าจะเอาชนะตลาดหุ้น ไม่ใช่เรื่องง่าย สิ่งที่นักลงทุนต้องพิจารณาให้ดีก่อนจะเลือกลงทุนในหุ้นตัวใดๆ ก็คือ ช่วงเวลาและข้อมูลของบริษัทหุ้นตัวนั้น อย่างถี่ถ้วน แถมยังเสนอทฤษฏี Random Walk Theory ไว้ใช้พิจารณาเลือกหุ้น จุดเด่นของทฤษฏีนี้ก็คือ การลงทุนในระยะยาว แบบ Buy and Hold

คุณธิติ ธาราสุข บอกว่า เคล็ดลับการลงทุน 5 ข้อ ที่ได้ผลนั่นก็คือ 1.ต้องรู้ถึงแนวโน้มตลาด หรือภาพรวมก่อนว่า เป็นไปในทิศทางใด เราควรเข้าไปในตลาดหรือไม่ 2. จังหวะเวลาที่เหมาะสมของการลงทุน “การเล่นหุ้นในเชิงเทคนิค คุณต้องลงทุนในช่วงขาขึ้นเท่านั้น อย่าไปเสี่ยงลงทุนในช่วงขาลง” 3. ต้องดูดีมานด์ และซัพพลายของตลาด นั่นก็คือวอลุ่มซื้อขาย ฝั่งใดเยอะ 4. ห้ามโลภ กำไรตามที่ตั้งใจไว้ระดับหนึ่งเป็นพอ และอย่าเข้าไปเล่นซ้ำหลายรอบ 5.พิจารณาตัวเองก่อนเข้าตลาด ว่าตนเองได้เปรียบนักลงทุนคนอื่นหรือเปล่า ถ้าไม่ คุณคงเดาได้ว่าโอกาสเสี่ยงเจ็บตัวของคุณมีอยู่สูง

คุณมนตรี นิพิฐวิทยา บอกว่าบทเรียนของการลงทุน ว่าไว้ กฏข้อที่ 1 อย่ายอมขาดทุน กฎข้อที่ 2 อย่าลืมกฏข้อที่ 1 สิ่งที่จะทำให้เราปลอดภัยได้นั่นก็คือ ส่วนต่างความปลอดภัย หรือ Margin of Safety ความเสี่ยงเกิดขึ้นจากการขาดความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่คุณกำลังทำอยู่ หรือมีไม่เพียงพอ ไม่ใช่เกิดจากความผันผวนของราคาหุ้น หุ้นที่ดีคุณต้องรอเวลาหรือรอโอกาสในการลงทุนที่เหมาะสม ไม่เช่นนั้นคุณจะได้หุ้นดีในราคาที่แพง ในทางตรงกันข้าม โอกาสในการลงทุนที่ยิ่งใหญ่ มักจะเกิดขึ้นเมื่อกิจการที่ดีถูกห้อมล้อมไปด้วยสถานการณ์ที่ผิดปกติ ซึ่งเป็นเหตุให้มูลค่าของกิจการนั้นถูกประเมินอย่างผิดพลาด เช่น ข่าวร้ายที่มากระทบ การขายหุ้นล็อตใหญ่ของผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ในที่สุดคุณจะรู้ว่าใครแก้ผ้าว่ายน้ำก็ตอนน้ำลดแล้วนั่นแหละ

คุณวิบูลย์ พึงประเสริฐ กล่าวว่า กุญแจ 5 ดอกของการลงทุนหุ้น ก็คือ 1 บริษัทนี้ที่จะลงทุนเป็นบริษัทที่ดีหรือไม่ ต้องผ่านการวิเคราะห์มาเป็นอย่างดีแล้ว 2.มูลค่าที่เหมาะสมของบริษัทนี้อยู่ที่เท่าไหร่ ผ่านการดูงบการเงิน วิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญ 3.ราคาหุ้นของบริษัทนี้อยู่ในระดับที่น่าสนใจหรือไม่ เทียบเคียงกับข้อมูลข้อที่ 2 4.ตัวเร่ง (Catalyst) ทีมีประสิทธิภาพมีโอกาสเกิดขึ้นแค่ไหน ตัวเร่งมีจากปัจจัยภายในและจากปัจจัยภายนอก 5.ราคาที่ซื้อให้ส่วนเผื่อความปลอดภัย (Margin of Safety) มากน้อยแค่ไหน การลงทุนในแบบของปีเตอร์ ลินซ์ นั้น ในส่วนของจำนวนหุ้นที่ควรจะถือ เขาแนะนำว่า ให้นักลงทุนรายย่อยถือหุ้น ไม่น้อยกว่า 5 ตัว ในพอร์ต ซึ่งเป็นบทเรียนที่เขาได้รับจากการบริหารกองทุน นั่นคือ เมื่อนักลงทุนซื้อหุ้นในบริษัทจำนวน 5 บริษัท เขาจะพบว่า หุ้น 3 บริษัทจะเป็นไปตามที่คาดคิดไว้ หุ้นจำนวน 1 บริษัทจะประสบกับปัญหาที่คิดไม่ถึง ส่วนหุ้นอีก 1 บริษัท จะทำผลตอบแทนได้ดีกว่าที่คาดคิด ซึ่งหุ้นตัวสุดท้ายนี่เองที่จะเป็นตัวช่วย ให้พอร์ตการลงทุนโดยรวมของคุณยังคงมีกำไร เอาชนะตลาดหุ้นได้ สิ่งเลวร้ายที่สุดที่คุณสามารถจะพบได้ก็คือ การลงทุนในบริษัที่คุณไม่รู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับบริษัทนั้นเลย ข้อผิดพลาดของนักลงทุนมือใหม่ก็คือ 1.ทนอยู่เฉยๆ ไม่ได้ (คันไม้คันมือ) 2.ไม่ยอมขายขาดทุน (เมื่อตัดสินใจพลาด) 3.ไม่เข้าใจหุ้นที่ลงทุนดีพอ (ไม่รู้ว่าเป็นหุ้นปั่น หรือถึงรู้ว่าเป็นหุ้นปั่น แต่ก็ยังอยากเล่นกับเจ้ามือ)

คุณวิบูลย์ ยังกล่าวถึงหุ้นในกลุ่มของพวก VI (Value Investor) ว่าควรจะถือนานแค่ไหน หรือจะขายหุ้นเมื่อไหร่ ก็คือ 1.เมื่อพบว่าตัดสินใจลงทุนผิด (จากหลายๆ สาเหตุ) 2.เมื่อพื้นฐานบริษัทมีการเปลี่ยนแปลงอย่างถาวร หรือมีนัยสำคัญ 3.เมื่อมีโอกาสในการลงทุนในหุ้นตัวอื่นหรือการลงทุนในแบบอื่น ที่ดีกว่า 4.เมื่อราคาหุ้นบริษัทนั้นสูงเกินไปหรือเกินปัจจัยพื้นฐานมากๆ ก็จะ take profit หรือขายทำกำไรออกไป

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร บอกว่า จะซื้อหุ้นที่ถูกกว่าความเป็นจริง ต้องมี margin of safety , P/E ไม่ควรเกิน 15 เท่า หรือค่า P/E คูณกับ P/B ไม่ควรเกิน 22 เท่า P/B เกิน 2 เท่าก็ถือว่าสูงแล้ว บริษัทนั้นจะต้องมีกำไรสะสมต่อเนื่อง มีเงินปันผลที่ดี ควรจ่ายอย่างต่อเนื่องหลายปี มีฐานะการเงินมั่นคง มีหนี้น้อย สัดส่วนของหนี้ระยะยาวไม่ควรเกินกว่าส่วนของผู้ถือหุ้น มีสภาพคล่องเพียงพอ ไม่มีโอกาสล้มละลายเลย เป็นผู้นำตลาดในอุตสาหกรรมนั้นๆ คือมีทั้งขนาดและยอดขายที่ดี

คุณสถาพร งามเรืองพงศ์ จะมีวิธีการลงทุนโดยดูจากงบการเงิน วิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน ดูมูลค่าที่แท้จริงของหุ้น ดูการเติบโตของรายได้และกำไรในอนาคต วิเคราะห์ภาพรวมของอุตสาหกรรม ทั้งปัจจัยภายในบริษัทเอง และปัจจัยภายนอกที่มีผลกระทบต่อตัวบริษัท

คุณปิยพันธ์ วงศ์ยะรา นักลงทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นต่ำสิบ หรือ penny stocks โดยมีหลักเกณฑ์ดังนี้ 1.พิจารณา P/BV หากต่ำกว่า 1 นำมาพิจารณาเป็นพิเศษ 2. ตรวจสอบ BV (Book Value) ว่าน่าเชื่อถือหรือไม่ 3.ประเมินว่าหุ้นตัวนั้นพ้นวิกฤติแล้ว หรือกำลังจะจบวิกฤตินั้นในเวลาอันใกล้หรือไม่ 4. หากมีประวัติการกระชากราคาหุ้น นำมาเป็นเกณฑ์พิจารณา 5.พิจารณานิสัยหุ้น และพฤติกรรมของกลุ่มคนชี้นำราคาหุ้นตัวนั้น (นิสัยของเจ้ามือ,เจ้าของกิจการ)

คุณพิชัย จาวลา กล่าวถึง “ทฤษฎีผลประโยชน์” ที่พิชัยคิดขึ้น หลักการตัดสินใจที่จะเข้าซื้อหรือขายหุ้นจะต่างจากคนทั่วไปที่ตัดสินใจจาก ข่าว, เหตุการณ์หรือบทวิเคราะห์ แต่ทฤษฎีผลประโยชน์เราจะต้องคิด “สองชั้น” คือฟังข่าวแล้ววิเคราะห์การตัดสินใจของคนส่วนใหญ่ แล้วเลือกแทงฝั่ง “ตรงข้าม”

หลักการสำคัญอีกข้อหนึ่ง คนส่วนใหญ่ มองตลาดหุ้น ขึ้น/ลง ตาม “เหตุผล” แท้ที่จริงแล้ว เหตุผลเป็นเพียง “ข้ออ้าง” ถ้าสังเกตให้ดี เหตุผลต่างๆของนักวิเคราะห์จะตามมาหลังจากหุ้นขึ้นหรือลงไปแล้วระยะหนึ่ง ความจริงคือตลาดหุ้นอยู่นอกเหนือเหตุผล ราคาต่างหากเป็นผู้กำหนดข่าว..ไม่ใช่ข่าวกำหนดราคา เพื่อให้เห็นภาพชัดเจน พิชัยยกตัวอย่างวิกฤติตลาดหุ้นทุกครั้งที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น “แบล็กมันเดย์” ปี 2530 หรือ “แฮมเบอร์เกอร์ ไครซิส” ปี 2551 นักลงทุนต่างแห่กันเทขายหุ้นเพราะกังวลกับ “ข่าวร้าย” แต่ไม่เคยมีคนมองอีกด้านว่ามีคนอีกกลุ่มเขากำลังทำในสิ่งตรงข้ามกันคือ “ซื้อหุ้น” ที่คนส่วนใหญ่ยอมขายขาดทุน (หนีตาย) “ลองคิดดูซิ! ถ้าไม่มีคนมาคอยรับซื้อหุ้น คุณจะขายหุ้นออกไปได้อย่างไร ในขณะที่คนส่วนใหญ่ขายหุ้นอาจจะมีคนส่วนหนึ่งเข้าไปช้อนซื้อของถูก ซึ่งคนกลุ่มนี้ ในที่สุดจะได้กำไร และคนส่วนใหญ่ที่แห่ขายจะขาดทุน”   นักคิดแห่งล้านนา ยกตัวอย่างวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 จอร์จ โซรอส เข้ามาเก็งกำไรค่าเงินบาทด้วยวิธีการ “เทขายเงินบาท” อย่างหนัก แต่ก่อนหน้านั้นธนาคารแห่งประเทศไทย ก็เป็นฝ่ายเข้าไปซื้อเงินบาทไว้ก่อนแล้ว หรือกรณีบริษัทขนาดใหญ่ (ในกลุ่ม ปตท.) เมื่อปลายปี 2551 ขาดทุน Stock Loss หลังจากราคาน้ำมันปรับตัวลงอย่างรวดเร็ว ไม่ใช่เพราะเข้าไปซื้อน้ำมันล่วงหน้าไว้หรอกหรือ ถึงขาดทุน
“นี่ไม่ใช่ทฤษฎีผู้มีอำนาจคุมตลาด (Big Brother) แต่เป็น “ความจริง” อยู่ในมุมเล็กๆของกลไกตลาด ที่คนส่วนใหญ่มักมองข้าม ถ้าคิดจะทำกำไรในตลาดหุ้น คุณจะต้องเป็นคนส่วนน้อยของตลาดที่ต้องคิดต่างไปจากคนส่วนใหญ่ ซึ่งคนส่วนใหญ่มักบอกว่าลงทุนด้วยเหตุผลต่างๆ เราก็ต้องลงทุนโดยไม่ใช้เหตุผลที่เหมือนกับคนส่วนใหญ่” พิชัยเสริมว่าแนวคิดนี้ใกล้เคียงกับการลงทุนของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ที่บอกว่า การเก็งกำไรจากตลาดหุ้นทำได้ยากมาก วิธีการทำกำไรที่ดีที่สุดคือการค้นหาหุ้นคุณค่าที่ราคาต่ำกว่าความเป็นจริงแล้วถือให้ยาว และไม่แห่ลงทุนตามกระแส
บทสรุปของวิธีคิดนี้คือ จงกล้าในขณะที่คนส่วนใหญ่กลัว และจงกลัวในขณะที่คนส่วนใหญ่กำลังฮึกเหิม คำพูดนี้คือ “สัจธรรม” ในตลาดหุ้น เพราะฉะนั้นจงเป็น “คนส่วนน้อย” เพื่อจะเป็น “ผู้ชนะ” ในตอนจบ

บัญญัติ 10 ประการของการลงทุน

1.ศึกษาก่อนการลงทุน

2.เป้าหมายการลงทุนที่ชัดเจน เช่น ผลตอบแทนจากการลงทุน เช่น เงินปันผล ในแต่ละปีต้องมากกว่า หรือเท่ากับรายจ่ายประจำปีของเรา

3.วิธีการลงทุนที่จะทำให้เกิดความมั่งคั่งนั้น ต้องเป็นไปแบบระยะยาว เสมือนการฝากเงินแล้วดอกผลทบต้นไปเรื่อยๆ กับเงินต้นที่ฝาก

4.หัวใจสำคัญที่สุดของการลงทุนที่สำคัญที่สุดก็คือ ระวังอย่าให้ขาดทุน

5.การลงทุนต้องมีการกระจายความเสี่ยง เช่น ถ้าเป็นตราสารทุน (หุ้น) ก็ควรมีในพอร์ตไม่ต่ำกว่า 5-6 ตัว การลงทุนในตัวจำนวนเงินมากๆ ในหุ้นเพียงตัวเดียว เป็นความเสี่ยง ในขณะที่การลงทุนในจำนวนเงินน้อยๆ และลงทุนในระยะสั้น ก็ไม่ถือว่าเป็นการลงทุน เช่นกัน

6.การลงทุนในระยะยาว 3-4 ปีขึ้นไป นั้น ราคาหุ้นจะต้องขึ้นลงไปตามปัจจัยพื้นฐาน นั่นก็คือผลกำไรของบริษัทเสมอ

7.การลงทุนที่จะมีความมั่นใจสูงและให้ผลตอบแทนดีเยี่ยมนั้น คือการซื้อหุ้นของบริษัทที่ดี ในช่วงเวลาที่หุ้นของบริษัทตกต่ำผิดปกติ หรือต่ำกว่าพื้นฐานมากๆ

8.นักลงทุนควรมีเงินสดที่มีสภาพคล่องสูง อย่างน้อยเท่ากับรายจ่ายประจำ 6 เดือน เพื่อเป็นการประกันความเสี่ยง และสภาพคล่องของคุณ

9.นักลงทุนที่แท้จริง ต้องมีคุณสมบัติดังนี้ ใจเย็น อดทน และมีเหตุผล

10.นักลงทุนพันธุ์แท้ ที่เป็นมืออาชีพจริงๆ จะไม่ใช้จ่ายเงินฟุ่มเฟือย หรือจะไม่ใช้จ่ายซื้อสินค้าหรือบริการที่มีราคาแพงเกินความจำเป็น


นี่เป็นเพียงบางส่วนของเคล็ดลับการลงทุน และเป็นเพียงบางส่วนของนักลงทุนที่มีชื่อเสียง ที่นำมากล่าวในบทความนี้ ยังมีนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จที่มีชื่อเสียงอีกจำนวนมากที่ประสบความสำเร็จในการลงทุน ที่ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ทั้งที่เป็นบทความ หนังสือ หรือการไปปาฐกถา หรือบรรยายพิเศษตามงานสัมมนา วาระโอกาสต่างๆ ซึ่งเราสามารถจะไปแสวงหาความรู้เหล่านั้นเพิ่มเติมได้จากหลากหลายช่องทาง และขึ้นอยู่กับใครจะนำกฏเกณฑ์ ต้นแบบของใครไปใช้ในการลงทุน ให้เหมาะสมกับสไตล์การลงทุนของแต่ละคน คิดว่าคงไม่มีนักลงทุนท่านใดสงวนไว้เป็นลิขสิทธิ์ส่วนตัวอยู่แล้ว เพราะโลกของความรู้ โลกของการลงทุน เป็นโลกเดียวกับโลกาภิวัฒน์ซึ่งเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงได้เหมือนๆ กัน



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น