วันอาทิตย์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2562

10 สุดยอดปรากฏการณ์ทางการตลาดแห่งปี 2019 (อันดับที่ 4,3)


อันดับ 4 ธุรกิจขนส่งพัสดุ และ Food Delivery เติบโตไม่หยุด มีผู้เล่นจากต่างแดน เข้ามาแชร์ส่วนแบ่งในไทย ที่มีมูลค่ากว่า 30,000 ล้านบาทขึ้นไป ทั้ง 2 ตลาด 


การเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซ จากข้อมูลของ ETDA ปี 2561 มูลค่าอยู่ที่ 3.05 ล้านล้านบาท เติบโต 9-10% คาดการณ์ถึงปี 2565 อีคอมเมิร์ซไทยยังร้อนแรง น่าจะเติบโตเฉลี่ย 22% ถือเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิด “ผู้เล่น” หน้าใหม่ในธุรกิจขนส่งพัสดุทั้งไทยและต่างชาติ ดาหน้าเข้ามาขยายธุรกิจ หวังชิงเม็ดเงินกว่า 28,000 ล้านบาท
ปัจจุบัน “ผู้นำ” ในตลาดขนส่งพัสดุ ฝั่งภาครัฐเบอร์หนึ่ง คือ ไปรษณีย์ไทย และส่วนเบอร์ 2 ของตลาดในฟากเอกชน คือ Kerry Express โดยเบอร์ 1 และ 2 ครองส่วนแบ่งตลาดร่วมกันกว่า 80% แต่ทุกแบรนด์ก็มีโอกาสเข้ามาแย่งเค้กก้อนนี้ได้เช่นกัน ในวันที่อีคอมเมิร์ซยังโตไม่หยุด บริการขนส่งพัสดุ-โลจิสติกส์แข่งเดือด “ปณท-เคอรี่” สองผู้เล่นหลักในตลาดงัดกลยุทธ์ชิงความได้เปรียบ “ปณท” โชว์จุดแข็งเจ้าตลาดดั้งเดิมครองพื้นที่บริการลงลึกระดับตำบลหมู่บ้านชูความเก๋า "ไม่มีใครที่รู้จักทุกตารางนิ้วของประเทศไทยได้มากกว่าปณท" เดินกลยุทธ์ The First ยืนหนึ่งบริการตอบโจทย์ธุรกิจยุคดิจิทัล ตั้งเป้าปี 62 รายได้พุ่ง 3 หมื่นล้าน ด้าน ”เคอรี่" โชว์ภาพลักษณ์ทันสมัย เจาะคนยุคใหม่เผยเป็นบริษัทแรกให้บริการส่งพัสดุด่วน ดึงระบบอีเพย์เม้นท์ให้บริการ ปี 61 กวาดรายได้ 1.3 หมื่นล้านบาทโต 100% จากปี 60

ภาพรวมการแข่งขันในตลาดขนส่ง-บริการโลจิสติกส์ในไทยช่วงปีที่ผ่านมาชื่อของ ไปรษณีย์ไทย และเคอรี่ ไต่อันดับความนิยม กลายเป็น 2 แบรนด์หลักที่ผู้บริโภคไทยใช้บริการมากที่สุด ดันให้ตลาดนี้เติบโตมากกว่า 100% โดยเฉพาะปัจจัยขับเคลื่อนจากธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ซื้อขายออนไลน์ที่มาแรง ส่งผลให้บริการขนส่ง โลจิสติกส์ ซึ่งเป็นหนึ่งในอีคอมเมิร์ซอีโคซิสเต็มส์เติบโตอย่างมหาศาลกว่า 30,000 ล้านบาท และเกิดผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาในสมรภูมิการแข่งขันนี้มากขึ้น เพราะในสภาวะตลาดเติบโตหวือหวา คู่แข่งก็เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะแบรนด์ต่างชาติ เช่น Kerry Express สัญชาติฮ่องกง, DHL จากเยอรมนี, SCG Express ที่ร่วมมือกับบริษัทญี่ปุ่น รวมไปถึงกลุ่มบริการส่งด่วนภายในหนึ่งวันอย่าง Line Man, LaLa Move,J&T express จากอินโด และอีกหลายๆ บริษัท ซึ่งก็คือกลุ่มบริษัทต่างชาติทั้งนั้น เมื่อคู่แข่งในอดีตจาก 2-3 ราย มาวันนี้น่าจะมีมากกว่า 10 รายย่อมและ 2 รายใหม่จากจีน ที่เปิดตัวในปีนี้ไปแล้ว คือ

Best Express แนวคิดแฟรนไชส์ 100%
ปัจจุบันกลุ่มบริษัท เบสท์ ขยายธุรกิจอยู่ใน 16 ประเทศทั่วโลก อาทิ จีน, เยอรมนี, ญี่ปุ่น, เกาหลีและไทย เป็นต้น โดยบริษัทแม่นั้นอยู่ในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก โดยมีกลุ่มบริษัท อาลีบาบา ถือหุ้นอยู่ 22% ส่วนในประเทศไทยนั้นการจะทำธุรกิจส่งพัสดุ มีกฎหมายบังคับว่าหากบริษัทต่างชาติจะเข้ามาทำธุรกิจนั้นจะต้องมีบริษัทในไทยร่วมทุนด้วย
ทำให้การเข้ามาทำธุรกิจในไทยนั้นกลุ่มบริษัท เบสท์ เลือกที่จะร่วมทุนกับบริษัท เอเจ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) ที่ถือหุ้นประมาณ 60%

Flash Express สตาร์ทอัพที่ได้ทุนจาก “อาลีบาบา”
ขณะที่ Flash Express ที่เปิดบริการในช่วงกลางปี 2018 ที่เริ่มต้นบริการส่งพัสดุ 30 จังหวัด โดยเป็นบริษัท สตาร์ทอัพ ที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจำนวน 2,500 ล้านบาท จากบริษัท อาลีบาบาฯ อีกทั้ง Flash Express ยังมีการนำทีมงานพัฒนาระบบขนส่งหลังบ้านที่มีประสบการณ์การทำงานกับอาลีบาบามาช่วยพัฒนาถึง 90 คน รูปแบบธุรกิจของ Flash Express นั้นแตกต่างจาก Best Express เพราะเลือกจะหมางเมินระบบแฟรนไชส์ แล้วลงทุนสาขาเองทั้งหมด โดยวิธีที่จะดึงคนให้รู้จักแล้วลองหันมาใช้บริการ Flash Express ก็คงจะหนีไม่พ้นเรื่อง “เกมราคา” ล่าสุดในช่วงปลายปีได้ประกาศแคมเปญค่าบริการเริ่มต้นที่ 19 บาทซึ่งถูกสุดในเวลานี้
ตลาดโลจิสติกส์เดือด FLASH EXPRESS X นิ่มซี่เส็ง ลุยบริการอีคอมเมิร์ซครบวงจร

"ปณท-เคอรี่" งัดกลยุทธ์ ชิงผู้นำโลจิสติกส์ยุคดิจิทัล
สมรภูมิเดือด จัดส่ง "พัสดุด่วน" ทันทีที่ “เซเว่น อีเลฟเว่น” ร้านสะดวกซื้อ 24 ชั่วโมงดีเดย์เปิดให้บริการขนส่งพัสดุด่วนภายใต้ชื่อ “สปีด-ดี (Speed-D)” โดยร่วมมือกับบริษัทไดนามิค ลอจิสติกส์ จำกัด นำร่องให้บริการในสาขา ของ 7-11 กว่า 3,700 สาขาในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ในขณะที่
สมรภูมิขนส่งพัสดุด่วนระอุขึ้นอีกเมื่อ ‘J&T Express’ น้องใหม่สัญชาติอินโด เปิดตัว ทุ่ม 2,500 ล้าน ตั้งเป้าขยาย 1,000 สาขาทั่วไทยในสิ้นปี
App Startup ของคนไทย ธุรกิจขนส่งพัสดุระอุ! Ship Smile รวมทุกแบรนด์ปั้นศูนย์บริการ ปูพรม 2,000 สาขา เขย่าบัลลังก์ “เคอรี่” อยู่ในเวลานี้
เครดิตข้อมูลและภาพจาก Positioningmag.com,กรุงเทพธุรกิจ,Marketeeronline.co



การแข่งขันของแอปพลิเคชั่นสั่งอาหาร ดันธุรกิจ Food Delivery เติบโตต่อเนื่อง คาดมีมูลค่าสูงถึง 33,000–35,000 ล้านบาท ในปี 2562 การเติบโตอย่างรวดเร็วและความนิยมของแอปพลิเคชั่นสั่งอาหารได้ดึงดูดผู้ประกอบการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับห่วงโซ่ธุรกิจร้านอาหารให้เข้ามาขยายตลาด ก่อให้เกิดโอกาสและความท้าทายที่ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับแผนธุรกิจ นอกจากนี้ ยังอาจกระตุ้นให้เกิดการควบรวมกิจการของผู้ประกอบการภายในห่วงโซ่ธุรกิจมากยิ่งขึ้น
ไม่เพียงแต่ช่วยเร่งการขยายตัวของธุรกิจ Food Delivery แต่แอปพลิเคชั่นสั่งอาหาร (Food Delivery Application) ยังช่วยกระจายรายได้ให้กับผู้เล่นในห่วงโซ่ธุรกิจ อาทิ ร้านอาหาร กลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ และแอปพลิเคชั่นสั่งอาหาร โดยคาดว่ารายได้ที่กระจายไปยังผู้เล่นภายในประเทศมีสัดส่วนรวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของมูลค่าธุรกิจจัดส่งอาหารไปยังแหล่งที่พัก (Food Delivery) พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปมีส่วนสำคัญที่ผลักดันให้ธุรกิจ Food Delivery มีบทบาทมากขึ้นในธุรกิจร้านอาหาร ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า ธุรกิจจัดส่งอาหารไปยังแหล่งที่พัก (Food Delivery) ในปี 2562 จะมีมูลค่าอยู่ที่ 33,000–35,000 ล้านบาท หรือเติบโตประมาณร้อยละ 14 จากปี 2561

LINE MAN
จากยอดผู้ใช้งานมากกว่า 1 ล้านรายต่อเดือน และมียอดการสั่งซื้อเติบโตกว่า 489% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ทำให้ LINE MAN เป็นแอพพลิเคชั่น สั่งอาหารที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในช่วงนี้ จะบอกว่าเป็นเจ้าตลาดเลยก็ว่าได้ ซึ่งยอดผู้สั่งที่เพิ่มขึ้นนี้ ส่วนหนึ่งถูกปรับเปลี่ยนมาจากยอดผู้ใช้งานจากฟีเจอร์อื่นๆ เช่น บริการเมสเซนเจอร์, บริการเรียกแท็กซี่ ถือว่าเป็นแพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์ทุกความเร่งรีบและกิจกรรมเร่งด่วน ด้วยสถานการณ์รถติดที่เกิดขึ้นในกรุงเทพได้กลายเป็นข้อดี ที่มีบริการรับส่งมาตอบโจทย์ และไม่น่าแปลกใจหากใครอยากจะสั่งอาหารกับร้านโปรด กดเลือกที่จะกดใช้บริการ

Grab Food
คือบริการส่งอาหารแบบ Delivery ที่เพิ่งเปิดตัวได้ไม่นาน ยังไม่ได้แพร่หลายมากนัก เพราะคนส่วนใหญ่เรียก Grab สำหรับการเดินทาง ทำให้ช่วงแรก Grab ใช้วิธีคิดค่าส่งฟรี ซึ่งร้านค้าที่ค้นหาเจอจะอยู่ใกล้กับพื้นที่ที่คุณอยู่ ซึ่งต่างจาก LINE Man ที่สั่งได้ทุกร้านที่อยากจะกิน ถึงแม้จะเสียเปรียบไปบ้าง แต่คำว่า “ส่งฟรี” ก็ทำให้ได้ลูกค้ารายใหม่ไปไม่ใช่น้อย ซึ่งปัจจุบันมียอดเติบโตถึง 440% และเมื่อมีลูกค้าติดใช้บริการแล้วจึงเพิ่มค่าส่งเป็นเสีย 10 บาทต่อครั้ง
แต่ก็มีโปรส่งฟรีและลดราคามาอีกเรื่อยๆ


Skootar หลายคนคงรู้จักกันดีกับแอพที่ให้บริการขนส่งเอกสารต่างๆ และเมื่อมีผู้ใช้ติดเป็นจำนวนมากจึงแตกไลน์ไปเป็นการขนส่งอื่นๆ เพิ่ม ซึ่งหนึ่งในนั้นคือส่งอาหาร แต่ถึงแม้จะเป็นตัวใหม่ที่เข้ามาเล่น แต่ยังไม่ได้รับกระแสเท่าที่ควร เนื่องจากพาร์ทเนอร์ร้านค้าที่อยู่ในมือยังไม่พอสำหรับมาแย่งส่วนแบ่งของผู้เล่นเดิมรายใหญ่ได้



Foodpanda
แพลตฟอร์มที่อยู่คู่มากับการขนส่งอาหาร Delivey มาอย่างยาวนาน เรียกว่าฐานแน่น ลูกค้าใช้บริการอย่างสม่ำเสมอทำให้มีคำสั่ง ซื้อราว 2 ล้านคำสั่งต่อเดือน แต่ถึงจะอยู่มานาน แต่การเพิ่มฐานลูกค้ายังไม่ได้ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากโปรล่อใจลูกค้าใหม่ยังไม่เตะตาเท่าไหร่ ผู้บริการที่ใช้อยู่จึงเป็นผู้ใช้บริการประจำนั่นเอง
GET Food บริการที่เกิดจากการต่อยอดของแอปพลิเคชัน GET ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นคู่แข่งที่สูสีที่กล้าต่อกรกับผู้ให้บริการที่มีอยู่แล้วอย่าง Grab food และ LINE MAN แต่ GET จะมีจุดเด่นอะไรบ้างในการสร้างฐานลูกค้า? ยังต้องรอการพิสูจน์
เครดิตข้อมูลและภาพจาก Marketeeronline.co,Techsasuce.co,thumbsup.in.th

อันดับ 3 ผลผลิตจาก T-POP ส่งออกขายทั่วเอเชีย  กระแส T-POP หรือที่เมืองนอกเรียกว่า “Thai Wind”

•ละครไทยในอาเซียน
ในแวดวงคนทำละคร เป็นที่รู้กันว่าประเทศเพื่อนบ้านนิยมชมชอบละครไทยมาก ถึงกับเอาไปแปลเป็นภาษาของประเทศนั้นๆ ตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปี มีทั้งละครไทยพากย์เสียงไทยใหญ่ในพม่า พากย์เสียงม้งในลาวแล้วส่งต่อไปให้คนม้งในประเทศอเมริกาด้วย บ้านหลังหนึ่งในรัฐฉานถึงกับปรับปรุงให้เป็นโรงหนังฉายละครไทยแล้วเก็บค่าเข้าชมคนละ 2-3 บาท นอกจากนี้ละครไทยยังถูก Copy เป็น CD จำหน่ายอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดขึ้นโดยไม่มีการจัดการ
"ละครไทยกลายเป็นปัจจัยที่ 5 ของเพื่อนบ้าน เหล่านี้คือตลาดแบบเก่า อัดกันเอง ดูกันเอง การไหลออกไปของละครไทยเกิดขึ้นมาอย่างบังเอิญ ไม่มีการวางแผนใดๆ กระแสบริโภคละครไทยต่างกันไปภายใต้บริบทของสังคมแต่ละประเทศ แต่ละวัฒนธรรมและค่านิยมของประเทศนั้นๆ

ในเวียดนามช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา นำเข้าละครไทยมากขึ้น จากเดิมมีแต่ เอ็กแซ็กท์ ช่อง One ในช่วง 4-5 ปีหลังเริ่มมีช่อง 3 ช่อง true4u นำไปฉายช่วงไพร์มไทม์และรีรัน 10 โมงเช้าวันรุ่งขึ้น คนเวียดนามจะดูแต่ดาราที่เขาชอบ เช่น ป้อง ณวัฒน์, บี น้ำทิพย์, พุฒิชัย, ออม สุชาร์
อินโดนีเซีย มีเพียงบริษัทเดียวที่ส่งนักแสดงไปโปรโมทต่างประเทศ คือ GDH ทำให้มีแฟนคลับอินโดฯเยอะมาก ทั้งที่มีละครไทยเพียง 2 เรื่องที่เคยไปฉาย นั่นคือ ฮอร์โมนวัยว้าวุ่น และเอทีเอ็ม2 คู่เวอร์ เออเร่อ เออรัก ความดังเริ่มต้นจากแฟนคลับเอาไปแปล เมื่อนำเข้าอย่างถูกลิขสิทธิ์ก็ถูกเซ็นเซอร์จนเนื้อเรื่องขาดหาย อินโดฯมีการเซ็นเซอร์ที่เข้มงวดมาก
ในประเทศจีน ยุคทองละครไทยปี 51-54 ได้จบลงแล้ว ช่วงนั้นฉายละครไทย 10 เรื่องต่อ 1 ปี รีรัน 3-4 รอบ มาปี 55 ละครไทยทางทีวีก็หมดยุคลง เพราะจีนมีนโยบายปกป้องอุตสาหกรรม มีการจำกัดโควตาละครไทย และว่าละครไทยมีเนื้อหาซ้ำๆ ไม่มีการพัฒนา อีกทั้งจีนมีการเซ็นเซอร์มากมาย ไม่ว่าเรื่องความเชื่อ ศาสนา ภูตผีวิญญาณ ไสยศาสตร์ เพศที่สาม การเมือง สลับร่าง ข้ามภพข้ามชาติ ระยะหลังละครไทยถูกย้ายเวลาไปฉายตอนเที่ยงคืนจึงไม่มีคนดู มาปี 61 ละครก็เปลี่ยนไปแพร่ภาพทางอินเตอร์เน็ทอย่างเดียว
ส่วนฟิลิปปินส์ เพิ่งเปิดรับละครไทย 2 เรื่อง เกิดจากแฟนคลับเอาไปแปลกันเอง เรื่อง พรหมไม่ได้ลิขิต ยูอาร์มายเดสตินี่ และ เรื่องวุ่นๆ เจ้าหญิงจอมจุ้น มีเรทติ้งสูงกว่าละครเกาหลีที่ฉายในเวลาเดียวกัน" ผศ.ดร.อัมพร จิรัฐติกร ผู้วิจัยศึกษาการบริโภคละครไทยในประเทศพม่า กัมพูชา เวียดนาม กล่าว ในงานระดมสมองหัวข้อ 'แนวทางการส่งเสริมละคร สื่อบันเทิง และนักแสดงไทยไปสู่สากล' พร้อมเผยถึงสถานการณ์ล่าสุดว่า การเกิดขึ้นของทีวีดิจิตอล ทำให้มีการร่วมมือกันผลิตและออกอากาศทาง Line TV แพร่ภาพทางอินเตอร์เน็ท ทำให้เกิดตลาดใหม่ๆ ขึ้นมา
•ภาพสะท้อนละครไทย
แม้ว่าหลายประเทศในอาเซียนจะให้ความสนใจกับละครไทย รวมไปถึงมีรายการต่างๆ ถูกนำไปแปลเป็นจำนวนมาก อาทิ เดอะแมสซิงเกอร์, เดอะเฟซ, ละครจักรๆ วงศ์ๆ, ซีรีส์วาย ที่มียอดดูหลักแสน แต่ถ้าพิจารณาถึงรสนิยมการชมละครจะพบว่าแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน ชาวเวียดนามชอบละครไทยที่มีไคลแม็กซ์แรงๆ และว่าความรักแบบเกาหลีซอฟท์เกินไป ละครไทยมีตัวอิจฉา มีนางร้าย
"ในจีนจะดูจากอินเตอร์เน็ทเป็นส่วนใหญ่ มีแฟนคลับแปลละครไทยถึง 16 กลุ่ม คนจีนดูละครไทยแล้วเปลี่ยนเป็นเรื่องตลกขบขัน แม้จะไม่มีพัฒนาการ แต่ก็ดูต่อเพราะดาราหน้าตาสวยหล่อ มีคำพูดว่า ดูละครไทยไม่ต้องใช้สมอง ยกตัวอย่างรถชน ทำไมไม่โทรเรียก 191 กลับมานั่งร้องไห้ หรือว่ากระซิบกัน แต่เสียงดังมาก ทำไมคนอยู่ใกล้ๆ ไม่ได้ยิน (หูหนวกแบบไทย) หรือว่ายืนอยู่ใกล้ๆ แต่ทำเป็นมองไม่เห็น (ตาบอดแบบไทย) การตบกันแบบไทยๆ (ของปลอมแบบไทย)" วนิดา บุญประเสริฐวัฒนา ผู้จัดจำหน่ายอาวุโส บริษัท ฮัน มีเดีย คัลเจอร์ จำกัด เล่าประสบการณ์ที่ได้สัมผัสกับแฟนละครต่างชาติ และว่า 'สาววายจีน' เป็นตลาดที่ใหญ่มาก แม้ว่าผลจากนโยบายลูกคนเดียวจะทำให้พ่อแม่คาดหวังให้มีลูกสืบทอดวงศ์ตระกูล แต่ก็มีกลุ่มแฟนซับที่แปลซีรีส์วายได้รับความนิยมมากเป็นอันดับหนึ่ง มียอดวิวถึง 2 ล้าน
"จีนชอบซีรีส์วายของไทยเพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับในรั้วโรงเรียน มีความสัมพันธ์แบบรุ่นน้องรุ่นพี่ที่จีนไม่มี ซีรีส์วายของไทยมีจุดเด่นตรงที่เป็นเพียวเลิฟ ตัวละครแสวงหาการยอมรับในตัวเอง ต้องก้าวข้ามสังคมที่กดทับ ตัวละครมีการพัฒนา ตัวละครใช้เวลาอยู่ด้วยกันจนกระทั่งเริ่มเถียงหรือผูกพันกัน" ต่างจากฟิลิปปินส์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคาทอลิกบอกว่าเกย์ผิดจุดประสงค์ของพระเจ้า ในขณะที่อินโดนีเซียมองว่ารักร่วมเพศเป็นบาปมหันต์

ส่วนอีกแนวที่ได้รับความนิยมคือ ละครรีเมค ไม่ตบตี ไม่ชิงรักหักสวาท เป็นแนวที่ดูแล้วเข้าใจว่าลักษณะครอบครัวเป็นอย่างนี้ แต่ถ้าวิเคราะห์ให้ลึกลงไปจะพบว่า จีน ฟิลิปปินส์(คริสต์) อินโดนีเซีย(มุสลิม) ต้องการเรื่องที่เป็นอุดมการณ์ความรักหรือแสวงหาตัวตนมากกว่าแสวงหาความรักอย่างเดียว ทำให้ละครเรื่อง 'วันหนึ่งจะเป็นซุปตาร์' หรือ 'แหวนดอกไม้' มียอดวิวถึง 900 ล้านวิว
สำหรับอุปสรรคของละครไทย วนิดาบอกว่าคือความยาวที่มากกว่าละครเพื่อนบ้าน เมื่อนำไปตัดต่อเป็นตอนละ 45 นาทีจะได้ 37 ตอนในต่างประเทศ

"คอนเทนท์ไทยจะเป็นเรื่องเมโลดรามาเป็นส่วนใหญ่ มีแก่นเรื่อง พัฒนาให้สร้างอารมณ์ สร้างตัวร้ายให้ร้ายมาแต่กำเนิด ตัวเอกสร้างให้ถูกกระทำ อุดมการณ์ความรักร้อยเข้ากับอุดมการณ์เชิงศีลธรรม คนดูรุ่นใหม่ไม่รับอุดมการณ์เหล่านี้แล้ว แต่กลับเป็นที่ชื่นชอบของต่างชาติ เวียดนามบอกว่าดูซีรีส์เกาหลีตอนจบคนร้ายถูกจับเข้าคุกมันไม่สะใจ ถ้าเป็นของไทย You Must Die มันสะใจมาก หรือเขมรบอกว่าไม่ชอบละครเกาหลีเลย ชอบเก็บอารมณ์เอาไว้ในใจเกินไป ไม่เศร้ามาก ไม่ดีใจมาก คนเขมรว่าเข้าไม่ถึง แสดงไม่ชัดเจน ชอบของไทย ชัดเจนดี ส่วนฟิลิปปินส์บอกว่าไทยมีเรื่องกฎแห่งกรรม แต่ของเขาพระเจ้าสอนให้เขาให้อภัย แต่ละประเทศมีเงื่อนไขทางสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ของเกาหลีถ้าเขาจะไปบุกตลาดที่ไหน เขาจะศึกษาตลาดของประเทศนั้นๆ อย่างจริงจัง"

"ละครไทยขายได้ด้วยเรทติ้ง ชาวบ้านมีรสนิยมที่ชอบดูอะไรที่คุ้นชินกันมานาน เมโลดรามาจึงยังอยู่ แต่คนจีนจะดูดาราเป็นอันดับแรก เรื่องราวอะไรก็ได้ ขอให้ได้ดูดาราสวยหล่อเยอะๆ อินโดนีเซียดูละคร GDH พอมีดารา GDH เขาซื้อเลยโดยไม่ดูว่าเป็นเรื่องอะไร เราไม่มีข้อมูลมาร์เก็ตติ้งเซอร์เวย์ที่ชัดเจนจึงไม่รู้ว่าที่ไหนต้องการอะไร คอร์สการถ่ายทำก็สำคัญ ปกติเราถ่ายกันวันละ 30 ฉาก ถ้าถ่ายแบบเกาหลีได้วันละ 10 ฉาก เพราะเกาหลี 1 ซีน ถ่าย 8 มุม นางเอกสวยทุกมุมไม่ใช่ความบังเอิญแต่เป็นเงินที่ใช้ คนไทยทำได้ไม่แพ้เกาหลีแต่ปัจจัยไม่เอื้อ" พันธุ์ธัมม์ ทองสังข์ ผู้กำกับภาพยนตร์และละคร กล่าว พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าหลายประเทศใช้สื่อบันเทิงเป็นซอฟ์พาวเวอร์มานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็น เกาหลีที่ใช้ละครโทรทัศน์ ญี่ปุ่นใช้การ์ตูน อเมริกาใช้ภาพยนตร์
เครดิตข้อมูลและภาพจาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์,เพจ tvdigitalwatch.com

ต่อยอดละครวาย “GMM” ลุยอีเวนต์ เทียบชั้น ตปท. เจาะตลาดเอเชีย หากย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน นิยายวาย(YAOI) หรือซีรี่ส์วาย ยังถูกจัดอยู่ในประเภทความบันเทิงเฉพาะกลุ่มบุคคลเท่านั้น ไม่ได้แพร่หลายอย่างเช่นตอนนี้ ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มคอมมูนิตี้เล็กๆ ที่เราใช้คำจำกัดความสำหรับผู้ชื่นชอบนิยายหรือซีรี่ส์ประเภทนี้ว่า “สาววาย”
แต่ในปัจจุบันเราต้องยอมรับว่าตลาดของนิยายหรือซีรี่ส์วายกำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายมากขึ้น เหตุผลที่มารองรับความที่นิยมที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนั้นส่วนหนึ่งก็มาจากการพัฒนาต่อยอดของคนทำทีวี ที่สามารถจับตลาดได้ถูกจุด
ซึ่งปกติแล้วหากสาววายสัญชาติไทยต้องการเสพย์ผลงานซีรี่ส์หรือนิยายวายต่างๆ ต้องสรรหาความฟินมาจากแหล่งกำเนิดของ Yaoiจากประเทศญี่ปุ่นหรือจีนเท่านั้น แต่ภายหลังจากที่เราเปิดกว้างมาขึ้น ผู้จัดหลายรายในประเทศไทย ก็เริ่มจะเห็นช่องทางการทำเงินกับตลาดนี้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของ “ซีรี่ส์วาย” เกิดขึ้น
ถ้าพูดถึงซีรี่ส์วายแบบวายแท้เต็มๆเรื่อง ที่เปิดตลาดในบ้านเราเรื่องแรกๆ ก็คงต้องยกให้กับ Love Sick The Series โดยผู้จัด บริษัท จินเล่อ มีเดีย เวิร์ค จำกัด ซึ่งสร้างมาจากนินายวายชื่อดัง จนเมื่อนำมาสร้างเป็นซีรี่ส์จึงกลายเป็นว่าดังพลุแตก 2 นักแสดงนำอย่าง “กัปตัน-ชลธร คงยิ่งยง” และ “ไวท์-ณวัชร์ พุ่มโพธิงาม”กลายเป็นคู่จิ้นชาย-ชาย ที่มาแรงที่สุดในขณะนั้น สามารถส่งออกซีรี่ส์ไปได้ไกลถึงประเทศจีนและเวียดนาม ความสำเร็จจากเรื่องแรก ผู้จัดเจ้าเดิมที่มองเห็นช่องทางก็ส่งซีรี่ส์วายเรื่องต่อๆมา เช่น Make It Right The Series และ สงครามไฮสคูล ซึ่งทุกๆเรื่องก็ประสบความสำเร็จไม่แพ้กัน แต่ถึงแม้จะประสบความสำเร็จมากมาย แต่กลุ่มคนดูก็ยังถูกจำกัดอยู่แค่ในกลุ่มสาววายเท่านั้น จนเมื่อ GMM TV ที่ถือเป็นผู้ผลิตละคร-ซีรี่ส์วัยรุ่นรายใหญ่ในบ้านเราหันมาจับตลาดวายมากขึ้น จึงทำให้ซีรี่ส์วายกลายเป็นสิ่งที่แมสมากขึ้นสำหรับคนดูทั่วไป ปกติแล้วซีรี่ส์ที่ผลิตโดย GMM TV ซึ่งนำทัพโดยผู้บริหาร ถา-สถาพร พานิชรักษาพงศ์นั้น จะเป็นซีรี่ส์แนววัยรุ่นที่สร้างมาจากนิยาย ซึ่งทุกครั้งจะมีการสอดแทรกคู่พระนาง “ชาย-ชาย” ไว้เป็นกิมมิคหนึ่งของเรื่องอยู่เสมอ ดังเช่นในซีรี่ส์ รุ่นพี่ “Secret Love ตอน Puppy Honey” ที่ทำให้คู่ “ปิ๊กโรม” ซึ่งรับบทโดย “ออฟ-จุมพล อดุลกิตติพร” และ “กัน-อรรถพันธ์ พูลสวัสดิ์” ก้าวขึ้นมาเป็นคู่จิ้นชาย-ชาย หรือจะเป็นคู่ “เอิร์ทนิว” จาก Water Boyy the Series ซึ่งรับบทโดย “เอิร์ธ-พิรพัฒน์ วัฒนเศรษสิริ” และ “นิว-ฐิติภูมิ เตชะอภัยคุณ” ก็มาแย่งซีนเป็นคู่จิ้นอีกคู่ที่กำลังมาแรงเช่นกัน ส่วน “Sotus The Series พี่ว้ากตัวร้ายกับนายปีหนึ่ง” คือผลงานซีรี่ส์วายเรื่องแรกของค่าย ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด “คริส-พีรวัส แสงโพธิรัตน์” และ “สิงโต-ปราชญา เรืองโรจน์” ซึ่งรับบทเป็นผู้ดำเนินเรื่อง กลายเป็นคนดังเพียงชั่วข้ามคืน กลายเป็นกระแสที่ทำให้คนที่ไม่สนใจซีรี่ส์วายหันมาเสพย์ความบันเทิงชนิดนี้เพิ่มมากขึ้น จากความสำเร็จที่เราได้กล่าวมาทั้งหมด สิ่งที่ผู้จัดได้รับจากซีรี่ส์เหล่านี้นั้น ไม่ใช่แค่ตัวเงินที่มาจากยอดการขายโฆษณา แต่เหล่าผู้จัดสามารถทำเงินจากซีรี่ส์วายได้อีกหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นการขายแพ็คคู่ในงานโฆษณา อีเว้นท์ หรือกลยุทย์การเปิดขายบัตรงานแฟนมีตติ้งที่ราคาบัตรสูงเทียบเท่าคอนเสิร์ตของศิลปินดัง ที่ผ่านมาซีรี่ส์วายเกือบทุกเรื่อง เมื่อจบซีซั่นจะมีการจัดงานแฟนมีตติ้ง เพื่อให้แฟนคลับมาพบปะ พูดคุย เล่นเกมส์กับนักแสดงที่พวกเขาชื่นชอบ หากเป็นเมื่อก่อนงานแฟนมีตติ้งเหล่านี้จะฟรี! หรือขายบัตรในราคาหลักร้อย เพื่อนำไปสมทบทุนทำการกุศลต่างๆ หรือแค่นำไปจ่ายค่าสถานที่จัดงานเท่านั้น แต่ในปัจจุบันสิ่งเหล่านี้กลายเป็นธุรกิจหลักทำเงินของเหล่าผู้จัด เพราะปริมาณแฟนคลับที่เพิ่มขึ้น ย่อมเกิดการแย่งชิงพื้นที่ในงานแฟนมีตติ้ง ราคาของบัตรที่เข้างานย่อมสูงขึ้นตามความต้องการ ซึ่งขณะนี้ราคาของบัตรเข้างาน สตาร์ทตั้งแต่ราคา 1000 บาท ไปจนถึงบัตรวีไอพีราคา 5000 บาท ราคานี้เป็นราคาที่เปิดขายให้ทั้งแฟนชาวไทย และแฟนต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น จีน เวียดนาม มาเลเซีย และเกาหลี ที่ลงทุนบินข้ามน้ำข้ามทะเลเพื่อมาร่วมงานแฟนมีตติ้งนี้ และถึงแม้ว่าจะเปิดขายบัตรในราคาแพงมากขึ้นแต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทำให้บางครั้งผู้จัดต้องจัดงานขึ้น 2 รอบในวันเดียว และยังต่อสามารถนำภาพหรือวิดีโอภายในงานไปทำเป็น Box set ขายได้อีกด้วย
นอกจากการจัดงานแฟนมีตติ้งในประเทศแล้ว ความนิยมที่ลุกลามไปไกล ทำให้เราสามารถขายอีเว้นท์นี้ได้ในต่างประเทศ โดยเฉพาะที่จีนซึ่งก่อนหน้านี้คู่ “คริส-สิงโต” สามารถจัดงานมีตติ้งถึง 6 ครั้งแล้ว ส่วนคู่ “ออฟ-กัน” ก็ดังไม่แพ้กัน ล่าสุดคู่นี้เพิ่งไปจัดงานแฟนมีตติ้งที่ประเทศเกาหลีได้สำเร็จ
ทั้งที่ปกติแล้วตลาดเกาหลีนั้นเป็นตลาดที่ใหญ่และการแข่งขันค่อนข้างสูง และส่วนมากจะมีเพียงแค่ศิลปินเค-ป๊อปที่มาจัดงานคอนเสิร์ตหรือฟนมีตติ้งที่บ้านเรา การที่ “ออฟกัน”ได้ไปเปิดตลาดที่นั่น แม้จะเป็นกลุ่มเล็ก แต่ก็ถือเป็นก้าวแรกที่ทำได้ดีเกินคาด
ในตอนนี้นอกจาก GMM TV ที่ถือเป็นผู้นำในด้านซีรี่ส์วายแล้ว ยังมีผู้จัดที่ต้องการเจาะกลุ่มนี้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ    (เครดิตข้อมูลจาก Maya Channel)

บทวิเคราะห์และเรียบเรียงโดย เพจหยิกแกมหยอก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น