มีคำถามประมาณว่า เคยตั้งเป้าหมายในชีวิตไว้อย่างไรบ้างมั๊ย
หรือตั้งเป้าหมายในชีวิตว่าอยากเป็นอะไรมั๊ย สำหรับผู้เขียนแล้ว คำถามนี้
ไม่เคยมีใครถาม แต่มีอยู่ในความคิดของเราเอง อยู่ตลอดเวลา นับตั้งแต่เริ่มต้นทำงาน
และตลอดทาง ระหว่างการทำงาน เสมอมา
ผู้เขียนจะคอยคิดทบทวนตัวเอง อยู่ตลอดเวลา
ว่าเรายังสนุกกับการทำงานนั้นๆ อยู่หรือไม่
และเป้าหมายและผลลัพธ์ที่ได้จากการทำงานเป็นอย่างไร ซึ่งจะว่าไปคนในยุคของผู้เขียน
ไม่ค่อยคิดอะไรในเรื่องแบบนี้เท่าไหร่ เราไม่มีค่านิยม หรือวัฒนธรรม
แบบพวกครอบครัวคนมีฐานะที่เขาจะวางแผนการดำเนินชีวิตกันมาตั้งแต่เรียนอนุบาล
ประถมอะไรเลย
ผู้เขียนเติบโตมาในครอบครัวลูกคนจีนที่มีฐานะค่อนข้างยากจน
ที่บ้านมีข้าวให้กินครบ 3 มื้อ มีตังค์ให้ไปโรงเรียน และที่สำคัญ มีโอกาสได้ไปเรียนหนังสือเหมือนลูกคนอื่นเขา
ก็นับว่าบุญโขแล้ว เพราะในครอบครัวของผู้เขียน
พี่ชายกับพี่สาวคนโตของผู้เขียนได้เรียนหนังสือแค่จบ ป.4 แล้วก็ต้องออกไปช่วยพ่อแม่ทำมาหากินแล้ว
ส่วนพี่ๆ ที่เหลือมีโอกาสเรียนได้ถึงแค่ มศ.3 (สมัยก่อนเรียก
มศ.จริง ยังอยู่ในระบบเก่าอยู่) ผู้เขียนเป็นคนสุดท้อง ได้เรียนมากที่สุดในครอบครัวแล้ว
แต่ก็แค่จบ.ปวส. (อาชีวะ) ก็ต้องออกมาหางานทำแล้ว เพราะรู้สึกว่าสงสารพ่อแม่ที่ต้องหาเลี้ยงเรา
และท่านอายุมากแล้ว ผู้เขียนเลือกที่จะไม่ไปร่ำเรียนในระบบมหาวิทยาลัย
ที่ต้องใช้เวลาเรียนอีก 4 ปี
ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะสามารถเอ็นทรานซ์ติดมหาลัยรัฐหรือไม่
(สมัยผู้เขียนยังใช้ระบบเอ็นทรานซ์) จึงเบนเข็มไปเรียนอาชีวะดีกว่า
เพื่อจบมาจะได้หางานได้เร็วและง่ายกว่า ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ
เพราะทันทีที่ผู้เขียนยังไม่ทันเรียนจบเทอมสุดท้ายในช่วง
ปวส.ก็มีสถาบันการเงินชั้นนำมาจองตัว และเชิญให้ไปสมัครทำงานแล้ว ทำให้ผู้เขียนได้ทำงานเร็ว
คือเรียนจบก็ได้งานทำเลย ไม่มีช่วงว่างของการไปเดินสมัครหางาน เดินเตะฝุ่น เหมือนเพื่อนๆ คนอื่นเขา
และเพราะสถานที่ทำงานแรกนี้เอง ที่ได้ฟูมฟัก หล่อหลอม
สร้างชีวิตให้ผู้เขียนได้มีรายได้ มีทักษะการทำงาน ได้รับความรู้ ประสบการณ์
การมีระเบียยวินัยในตนเอง การประพฤติตนเป็นผู้ใหญ่ การใช้ชีวิตอยู่ร่วมในสังคมเป็นกับเขาเหมือนกัน
ที่สำคัญผู้เขียนได้มิตรภาพที่ดีในที่ทำงาน เพื่อนร่วมงานดี มีน้ำใจ
หลายคนยังคบเป็นเพื่อนสนิทมาจนถึงปัจจุบัน การมีหัวหน้า เจ้านายที่ดี
และมีลูกค้าที่เอ็นดู และคอยอุปถัมภ์ค้ำจุนเป็นอย่างดี นี่เป็นสาเหตุทีทำให้ผู้เขียนมีช่วงชีวิตในการทำงานประจำ
หรือเป็นมนุษย์เงินเดือนในที่ทำงานแห่งนี้อย่างยาวนานถึง 13 ปี กลายเป็นหนูติดจั่น มีชีวิตการทำงานโดยภาพรวมถือว่าค่อนข้างมีความสุข
โดยไม่เคยคิดว่ามันคือหลุมพรางของความเคยชิน ด้านชา ขาดความกระตือรือร้น
ที่จะทะเยอทะยาน หรือคิดนอกกรอบ ออกจากคอมฟอร์ตโซน อันใหญ่โตและอบอุ่นนี้ไป
เสมือนหนูถีบจั่น มีอาหารให้กินทุกมื้อ แต่ต้องแลกด้วยการทำงานอย่างหนักและยากขึ้นทุกปี
เพื่อแลกกับเงินเดือนที่นายจ้างมอบให้ ถ้าวันใดหรือช่วงเวลาใด หนูตัวนี้ขี้เกียจ
ก็จะถูกลดอาหาร หรือไม่ได้รับการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง เงินเดือนไม่ขึ้น
และถูกโยกย้ายไปในตำแหน่งงานที่ตนเองไม่คุ้นชิน และทำงานยาก
เต็มไปด้วยปัญหาท้าทายมากมาย แต่ครั้นต้องการที่จะออกจากสภาพปัญหา
ความกดดันของนายจ้างก็ไม่ทันเสียแล้ว เปรียบเปรยแล้วเหมือนหนูติดจั่น นั่นเอง
ผู้เขียนตระหนักถึงปัญหาของตนเอง
นับตั้งแต่ตอนที่ตนเองมีอายุการทำงานเข้าสู่ปีที่ 11 แล้ว พยายาม
หาทางออกของชีวิตอยู่หลายรูปแบบ เช่น ต้องการเปลี่ยนงาน แอบไปสมัครงานทิ้งไว้
ไปสัมภาษณ์งานในที่ทำงานแห่งใหม่ที่ตนเองไปสมัครทิ้งไว้ ระหว่างทางของการทำงานก็ไปศึกษาต่อปริญญาตรีภาคพิเศษเพื่อให้ตนเองมีวุฒิปริญญาตรี
และในเวลาต่อมาที่จบปริญญาตรีมาแล้วซักพัก
ก็ไปเข้าคอร์สเรียนกวดวิชาเพื่อสอบต่อปริญญาโท จากนั้นจึงไปสอบเรียนต่อปริญญาโทหลายครั้ง
ใน 2-3 สถาบัน สุดท้ายก็สามารถสอบติดในสถาบันแห่งหนึ่ง ช่วงนั้นเป็นจังหวะเวลาที่พอดิบพอดีกับช่วงรอยต่อ
จุดหักเหสำคัญ ที่ผู้เขียนต้องการเปลียนงานพอดิบพอดี และเริ่มอิ่มตัว
และไม่ค่อยพอใจกับการทำงานในที่ทำงานแห่งเดิมนี้แล้ว (อย่าลืมว่าผู้เขียนเรียนจบและทำงานอยู่ที่ทำงานแห่งนี้แห่งเดียว
ไม่เคยเปลี่ยนงานเลยเป็นเวลายาวนานกว่า 13 ปี)
ผู้เขียนจะไม่ขอเล่าว่า
ตนเองประสบปัญหาอะไรในที่ทำงานแห่งนี้
และอะไรเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ผู้เขียนตัดสินใจลาออกจากที่ทำงานเดิม
(เดี๋ยวเล่าไปจะรู้เอง) และเว้นระยะเวลาไป 1 ปีเต็มๆ
ที่ไปเรียนหนังสือ (ปริญญาโท) เพียงอย่างเดียว ไม่ได้ทำงานประจำ
แล้วจึงกลับมาทำงานในที่ทำงานแห่งใหม่ เมื่อเข้าสู่การเรียนปริญญาโทในช่วงขึ้นปีที่
2 แล้ว ซึ่งมันส่งผลดีต่อผู้เขียน
เพราะว่าการเรียนโทของผู้เขียน ในปีแรกถือว่าหนัก เพราะว่าผู้เขียนต้องต่อสู้กับการเดินทางไปเรียนให้ทันในช่วงเย็น
ในขณะที่ยังทำงานประจำอยู่ แล้วงานยังไม่เสร็จ เต็มไปด้วยปัญหาที่ต้องเคลียร์งานกับหัวหน้างาน
กับเพื่อนร่วมงานที่เทงานมาให้เรารับผิดชอบเพียงคนเดียว และสำทับด้วยปัญหาของลูกค้าที่รอการแก้ปัญหาจากเราเพียงคนเดียว
พอกว่าจะเคลียร์งานเสร็จ กว่าจะฝ่าการจราจรรถติดของกรุงเทพไปหาเพื่อนๆ
ที่นัดแนะกันทำรายงานกลุ่ม กลายเป็นว่าเราไปไม่ทัน หรือบางครั้งไปถึง
เขาประชุมกันเสร็จแล้ว เรากลายเป็นตัวถ่วงของเพื่อนในกลุ่มไป
นี่คือปัญหาที่ทำให้ผู้เขียนเกิดความล้มเหลว ทั้งในด้านการงานและการเรียน
เพราะเราไม่สามารถทำ 2 สิ่งนี้ให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีไปพร้อมกันในระยะเวลาเดียวกัน
การที่ผู้เขียนได้ไปเรียนต่อโท
เหมือนกับการได้ไปเปิดโลกทรรศน์ใหม่ให้กับตนเอง ได้ไปเจอเพื่อนๆ
จากหลากหลายสาขาอาชีพ หลากหลายนิสัยใจคอ หลากหลายฐานะชนชั้น
เปรียบเสมือนย่อสังคมของคนมีฝันเล็กๆ เอามาไว้อยู่ร่วมกัน ยังไม่นับรวมวิชาความรู้
ที่ได้จากการมาศึกษาต่อ แม้นว่าปลายทางแล้ว ผู้เขียนเพิ่งมาตกผลึกทีหลังว่า
รู้สึกว่าเงินทุนที่ใช้ในการมาศึกษาต่อปริญญาโทนั้น
ไม่คุ้มค่ากับผลลัพธ์ที่ได้เท่าไหร่ หากว่าเป็นในสมัยนี้ ผู้เขียนอาจเลือกที่จะเอาเงินก้อนนี้ไปทำประโยชน์อย่างอื่นแทนจะดีกว่า
เพราะมันมีช่องทางที่จะเราจะศึกษาหาความรู้แบบที่ได้จากการเรียนโท
ได้จากสื่ออินเตอร์เน็ต โซเชียล ได้หมดแล้ว และความรู้ที่ได้จากการเรียนมา
ในขณะนี้ หากเราไม่ update มันกลายเป็นความรู้ที่ตกยุค
ตกสมัยไปหมดแล้ว ใช้การไม่ได้ ในโลกยุคปัจจุบัน
เหมือนความรู้ที่เรียนมาบางอย่างต้องเอาไปโยนทิ้งเสีย แต่สิ่งที่ได้จริงๆ
ก็คือมิตรภาพที่แท้จริงๆ จากเพื่อนๆ สังคมเพื่อนฝูงที่เรียนโทด้วยกันมา
ส่วนเรื่องคอนเนคชั่นนั้น พูดยาก มันขึ้นอยู่กับ เราได้ไปคลุกคลีตีโมงกับใคร คนไหน
ไอ้คำว่าคอนเนคชั่น เป็นเพียงมายาคติ ที่จับต้องไม่ได้ และมันก็ไม่ยั่งยืนเสมอไป
ฟังดูโดยรวมแล้วเป็นนามธรรมมากๆ สำหรับผู้เขียน
ผู้เขียนไม่ได้มีความคิดต่อต้านการเรียนโทนะ แต่ว่า
ใครมีตังค์ อยากเรียนก็เรียนไป แต่ถ้าผู้เขียนย้อนเวลากลับไปได้
จะไม่ยอมเสียเงินไปเรียนโทอย่างเด็ดขาด ผู้เขียนยอมรับว่าตนเองหลงไปกับค่านิยมว่า
การเรียนโทจะทำให้นำมาปรับวุฒิ อัพสถานะที่ทำงานได้
หรือเรียนโทแล้วจะทำให้เรามีคอนเนคชั่นที่ดี ไว้ติดต่องาน มีเครือข่าย
พันธมิตรมาเอื้อกับธุรกิจ กิจการของเราได้
ผู้เขียนบอกเลย ถ้าคุณคิดจะตัดสินใจว่าอยากเรียนโท
ขอให้ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่า คุณอยากได้ความรู้จริงๆ ของการเป็นเจ้าของกิจการ
ส่วนถ้าไปเรียนโทเพียงเพื่ออยากได้คอนเนคชั่น ไปหาเอาจากการเข้าชมรม สมาคม
หรือคอร์สเรียนอะไรอย่างอื่นก็ได้ ไม่จำเป็นต้องไปเสียเงินเป็นหลักหลายๆ แสน
เพื่อแลกกับการได้คอนเนคชั่นลมๆ แล้งๆ อะไรจากการเรียนโทเลย เพราะท้ายที่สุดแล้ว
มันได้แค่มิตรภาพดีๆ กับใครไม่กี่คนเท่านั้นเอง จริงๆ
เข้าสู่หัวข้อเสียที
สาธยายเรื่องประสบการณ์ทำงานกับการเรียนโท เสียยืดยาว ไม่เกี่ยวอะไรกับหัวข้อก็คือ
“เข็มทิศ และหางเสือ” เลย
เข็มทิศ ก็คือเครื่องมือที่ทำให้เรารู้ว่าทิศไหนอยู่ตรงไหน
เหมือนเรามีแผนที่ หากเราต้องการเดินทางไปในทิศไหน แล้วมีเจ้าเข็มทิศนี้
เราก็จะเดินทางไปได้ถูกทิศถูกทาง เปรียบเสมือน เรารู้ว่าเรามีเป้าหมายอยู่ตรงนี้
เรารู้ว่าถ้าเราจะไปสู่เป้าหมายที่เราตั้งไว้ ต้องเดินไปในทิศทางนี้นะ
จะออกนอกลู่นอกทางไปทิศอื่น ก็จะไม่สามารถไปสู่เป้าหมายได้ หรือท้ายสุด
คุณต้องเสียเวลาเดินย้อนกลับมาที่ทิศทางที่ถูกต้องอยู่ดี จึงจะถึงเป้าหมาย
ส่วนหางเสือ
ก็คือเครื่องมือที่คอยบังคับทิศทางให้เรือไปในทิศทางที่กำหนด
หางเสือจึงเป็นเครื่องช่วยบังคับทิศทางเฉยๆ ไม่ให้ล่องลอยไปอย่างสะเปะสะปะ
เหมือนเอาเรือแจวไปลอยล่องอยู่ในทะเลมหาสมุทร คุณคิดว่าอีกกี่ชาติ
กว่าคุณจะพายเรือไปถึงเป้าหมาย หากไม่มีเรือที่มีเครื่องยนต์
เป็นพาหนะขับเคลื่อนไป และเรือเครื่องยนต์ทุกชนิดจะต้องมีพวงมาลัยไว้บังคับหางเสือเรือ
ซึ่งเป็นตัวบังคับทิศทางให้เรือเคลื่อนไป หากเป็นเรือหางยาว จะใช้ท่อปลายยาวของเครื่องยนต์ที่มีปลายท่อเป็นใบพัด
นั่นแหละใช้แทนหางเสือเรือไปในตัว
มีเข็มทิศ
ก็เสมือนมีแผนที่ หรือมีความรู้ คัมภีร์หลักคิด ที่บอกคุณว่า
ถ้าเราตั้งเป้าว่าต้องการเป็นอะไร เช่น ต้องการเป็นเถ้าแก่ มีกิจการเป็นของตนเอง
,ต้องการเรียนจบปริญญาโท ,ต้องการมีครอบครัว ,ต้องการมีบ้านเป็นของตนเอง
ที่ซื้อด้วยน้ำพักน้ำแรงของตนเอง เป็นต้น เราต้องเดินไปในแนวทางนี้นะ
ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ทำงานหาเงินอย่างไรให้ได้มากพอ ไปในทิศทางใด
จึงจะถึงเป้าหมาย แต่การมีหางเสือเรือ ก็เสมือนเราจะต้องมีวินัย
มีทักษะอะไรบางอย่างที่สำคัญและจำเป็นใช้หาเลี้ยงชีพตน ที่จะบังคับอะไร (ก็บังคับตัวเรานั่นแหละ)
ให้เดินไปในทิศทางที่ถูกที่ควร ไปในทิศทางที่ตรงกับเป้าหมายนั้น
ไม่ให้ออกนอกลู่นอกทาง ไม่เช่นนั้นก็จะไปไม่ถึงดวงดาว หรือเป้าหมายที่ตั้งไว้
ผู้เขียนคิดว่า
คนเราจำเป็นต้องมีทั้งเข็มทิศและหางเสือ
จึงจะประสบความสำเร็จในเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ เพราะว่ามันเป็นสัญลักษณ์ของกรอบความคิดที่ว่า
ปัจจัยภายนอกกับปัจจัยภายใน หรือพูดง่ายๆ ก็คือ
เข็มทิศคือตัวบอกทาง แต่บอกทางแล้วไง ถ้าคุณไม่ผลักดันขับเคลื่อนด้วยตัวคุณเอง นั่นคือมีหางเสือเรือ เป็นตัวขับเคลื่อน บังคับทิศทาง หรือตัวคุณ ให้ก้าวเดินไป
เข็มทิศคือตัวบอกทาง แต่บอกทางแล้วไง ถ้าคุณไม่ผลักดันขับเคลื่อนด้วยตัวคุณเอง นั่นคือมีหางเสือเรือ เป็นตัวขับเคลื่อน บังคับทิศทาง หรือตัวคุณ ให้ก้าวเดินไป
เอกสารอ้างอิงประกอบบทความ
หนังสือพ่อรวยสอนลูก http://textbookfree55.blogspot.com/2017/03/1-download-free-pdf-e-book.html
บทความการตั้งเป้าหมายในชีวิต
เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ฟันฝ่าปัญหาอุปสรรคไปสู่จุดหมาย http://besterlife.com/%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%95/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น