วันอังคารที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ทีวีดิจิตอลบักโกรกกันถ้วนหน้า เปลี่ยนผ่านจากน่านน้ำสีน้ำเงินสู่น่านน้ำสีแดง ผู้เหลือรอดคือทุนใหญ่เท่านั้น

 
 
สถานการณ์ของธุรกิจทีวีดิจิตอล ภายหลังผ่านพ้นเหตุการณ์ช่วงไว้อาลัย (30 วัน) จากการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9

ดูเหมือนรายการปกติได้ทยอยกลับมาออกอากาศได้ตามปกติ และจะกลับมาเป็นปกติทั้งหมดน่าจะช่วงธันวาคมไปแล้ว แต่ช่องต่างๆ มีความเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลง ล้มหายตายจากกันไป โดยมีเค้าลางมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว (2558) เริ่มจากช่อง 15 Loga และช่อง 17 ทีวีไทย ของเจ๊ติ๋ม ได้ขอไม่จ่ายค่าสัมปทาน และขอยกเลิกสัมปทานการทำทีวีดิจิตอล  และได้มีการฟ้องร้อง เรียกค่าเสียหายจาก กสทช. โดยอ้างเหตุผลเรื่อง กสทช.ไม่ปฏิบัติตามพันธะสัญญาที่ให้ไว้กับผู้ประกอบการเกี่ยวกับการดำเนินงานก่อนและหลังเปลี่ยนผ่านยุคทีวีอนาล็อคไปสู่ทีวีดิจิตอล ทำให้เกิดผลเสียหายต่อธุรกิจ และผลประกอบการตามมา ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ได้เคยวางเอาไว้ ทำให้ธุรกิจประสบกับการขาดทุนอย่างต่อเนื่อง และระหว่างที่ไปร้องต่อศาลปกครองเพี่อขอประวิงเวลาชำระค่าสัมปทาน และขอให้ กสทช.มีมาตรการเยียวยาความเสียหาย แต่กลับไม่ได้รับการตอบสนอง อีกทั้งยังโดน กสทช.ฟ้องกลับ บังคับให้ต้องจ่าย ค่าสัมปทานงวดที่ 2 ที่ช่องของเจ๊ติ๋มผิดนัดไม่ชำระค่าสัมปทานและค่าเช่าโครงข่ายสัญญาตามกำหนดเวลา ทุกวันนี้ยังเป็นคดีความอยู่ในศาล ซึ่งคงต้องต่อสู้กันต่อไป

ในขณะที่ช่องทีวีดิจิตอลอื่นๆ นั้น โดยส่วนใหญ่ อาการร่อแร่ไม่แพ้กัน มีเพียงช่อง 7 สี,ช่อง 3,ช่อง workpoint เท่านั้นที่มีกำไร นอกนั้นอยู่ในภาวะขาดทุนทั้งสิ้น มากน้อย ตามผลประกอบการของแต่ละสถานี สถานการณ์ตอนนี้ ผู้เขียนคิดว่า มีเพียงช่อง 7 ช่องเดียว ที่ยังลอยลำอยู่ในสมรภูมิทีวีดิจิตอลได้แบบไม่เจ็บตัว และสามารถยืนระยะได้ยาวนาน โดยแทบไม่ได้รับผลกระทบกระเทือนใดๆ มากนัก ทั้งในแง่รายได้ ผลประกอบการ กระแส และเรตติ้ง เนื่องจากครองมาร์เก็ตแชร์อันดับ 1 ในทุกสมรภูมิ และยังมีฐานคนดูสูงที่สุดของระบบโทรทัศน์ไทย เพียงแต่ช่อง 7 อาจต้องปรับปรุงเรื่องคอนเท้นต์บ้างเป็นระยะๆ  เพิ่มคอนเท้นต์รายการใหม่ๆ เพิ่มเติมเข้ามา  ปรับปรุงรูปแบบการนำเสนอรายการข่าว และละคร ซึ่งทั้งหมดนี้ช่อง 7 ทำอยู่แล้ว จึงทำให้เรตติ้ง ความนิยมยังคงอยู่อันดับ 1 มาอย่างต่อเนื่อง และแม้ว่าบางช่วง บางเวลา เรตติ้งอาจลดลงบ้าง ในบางตลาด เช่น ใน กทม. แต่ก็เป็นช่วงเวลาสันๆ เนื่องจากคอนเท้นต์ของคู่แข่งดีกว่า ทำให้เรตติ้งอาจกระทบบ้าง แต่โดยรวมยังคงเป็นที่ 1

ในขณะที่ช่อง 3 (HD,SD,Family) เรตติ้งโดยรวมถือว่าลดลงมากจากยุคก่อนหน้าที่จะเป็นดิจิตอล เนื่องจากสูญเสียมาร์เก็ตแชร์ไปยังช่องเกิดใหม่ ทั้ง workpoint,mono 29,one,gmm25, 8 ฯลฯ เนื่องจากฐานของช่อง 3 เป็นคนเมือง ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ทับซ้อนกับช่องเกิดใหม่หลายๆ ช่อง เช่น ช่อง ONE,GMM25,Amarin,PPTV, Mono29 อีกทั้งผู้จัดรายการที่เคยผลิตคอนเท้นต์ให้ช่อง 3 ถอนตัวไปผลิตรายการให้ช่องตนเอง ก็ทำให้สูญเสียฐานรายการ และฐานคนดูตามไปด้วย อีกทั้งช่องเกิดใหม่ทำคอนเท้นต์ได้ดี ได้น่าสนใจไม่แพ้ช่อง 3 อาทิ

-ด้านละคร ถูกแชร์คนดูไปที่ช่อง ONE,GMM25,ช่อง 8,PPTV,Mono29,True4U,9mcot เป็นหลักไม่น้อย ถามว่าแล้วฐานคนดูละครช่อง 3 ย้ายไปช่อง 7 บ้างมั๊ย มีบ้าง เป็นบางเรื่อง ที่เจ๋งกว่าจริงๆ เช่น ละครที่มีอั้มเล่น หรือละครฟอร์มใหญ่ แต่น้อย เพราะฐานคนดูช่อง 3 จะเป็นคนละกลุ่มกับช่อง 7 คนเมืองกับคน ตจว. และรสนิยมของละครช่อง 3 กับช่อง 7 มันมีคาแรกเตอร์ที่ต่างกันชัดเจน เช่นเดียวกับฐานคนดูช่อง 7 จะมีข้ามมาดูช่อง 3 ก็เฉพาะที่มันดัง กระแสดีจริงๆ เช่น สุดแค้นแสนรัก,ข้าบดินทร์,นาคี อะไรทำนองนี้ แต่ปีนึงจะมีไม่กี่เรื่อง เพราะแฟนคลับใคร แฟนคลับมัน คอยบลั๊ฟกัน และไม่ดูของคู่แข่ง อาจตามดูย้อนหลังในยูทูป หากเรื่องของคู่แข่งมีกระแส เรตติ้งดี แต่เป็นการดูเพื่อนำมาเปรียบเทียบ หรือแค่ให้พอคุยกับคนอื่นรู้เรื่อง

-ด้านข่าวถูกแชร์ไปยังไทยรัฐทีวี,Nation-NOW,ช่อง 8,Amarin,WorkPoint,BrighTV,TNN24,Springnews ผลกระทบของสรยุทธ์กับรายการเรื่องเล่าเช้านี้ ทำให้เรตติ้งลดลง ทำให้คู่แข่งเบียดขึ้นมาหลายช่อง ช่อง 3 แก้กลยุทธ์ด้วยการลดเวลาของราการเรื่องเล่าเช้านี้ และไปดึงเอารายการ ผู้หญิงถึงผู้หญิง กับแจ๋ว มาดึงเรตติ้ง แต่ก็รู้สึกว่าจะไม่ช่วยได้มากนัก เพราะรายการที่มาเสียบแทนเป็นรายการเฉพาะกลุ่ม เหมาะกับแม่บ้านมากกว่า คงต้องดูกันยาวๆ ว่าจะฟื้นกลับมาได้มั๊ย

-ด้านเกมโชว์กับเรียลลิตี้โชว์,วาไรตี้โชว์ ถูกแชร์ไปยัง WorkPoint,ช่อง 8,ONE,GMM25,ไทยรัฐทีวี,True4U,9Mcot  เป็นหลัก

-ส่วนกีฬาก็ถูกแชร์ไปยัง True4U,ไทยรัฐทีวี ,PPTV,8 เป็นหลัก

-ด้านซีรีส์หรือภาพยนตร์ต่างประเทศ ถูกแชร์ไปยัง ช่อง Mono29, PPTV,NOW-Nation,NEW เป็นหลัก นี่คือสาเหตุที่เรตติ้งช่อง 3 ลดลง แต่โดยรวมยังมาอันดับ 2 แต่คอนเท้นต์จากที่เคยโดดเด่น ก็มาถูกแชร์ไปจากช่องใหม่ๆ ที่กล่าวมา

ทีนี้ เราจะลองไล่เรียงกันไปทีละช่อง (ที่ผู้เขียนติดตามดูจริงๆ )

ช่อง 13 Family  ควรเปลี่ยนชื่อเป็น ช่อง 13 Series จะดีกว่ามั๊ย เพราะอุดมไปด้วยหนังซีรีย์ฮ่องกง,เกาหลี,ญี่ปุ่น,ไต้หวัน,จีน อีกทั้งมีละครไทยเข้าไปอีก มีการ์ตูนด้วย ที่เยอะมากเป็นพิเศษคือซีรีส์ฮ่องกงเก่าๆ นี่ยังขาดซีรีส์อเมริกาด้วยนะ น่าจะมีจะได้ครบ แทบไม่มีละครเกี่ยวกับครอบครัว สมกับชื่อช่องที่ประมูลมาเท่าไหร่ แต่ถามว่าดูมั๊ย ก็บอกได้เลยว่าดูมากที่สุด ในบรรดา 3 ช่อง ของเครือช่อง 3

ช่อง 14 Mcot Family ต้องขอประทานโทษ ที่ช่องนี้ ไม่เคยได้มีโอกาสได้ดูจริงๆ จังๆ เลย และไม่รู้ว่ามีคอนเท้นต์อะไรบ้าง
 
ช่อง 15 Loca  ช่องนี้แอบเสียดายมาก เพราะว่าก่อนที่จะถูกสั่งปิดไป รู้สึกจะให้พันธมิตรอยาง MVTV (เคเบิ้ลท้องถิ่นที่มีซีรีส์จีนดีๆ เยอะ) มาเช่าช่วงออกอากาศแทน และอุดมไปด้วยหนังจีนเก่าๆ ดีๆ เยอะ กำลังดูติดซีรีส์จีนหลายเรื่อง ก็มีอันต้องถูกสั่งปิดช่องไป ทุกวันนี้ยังแอบเซ็ง กสทช.ไม่หายเลย ก็ทีอัมรินทร์ทีวียังให้กลุ่มเสี่ยเจริญมาซื้อช่วยชีวิตเอาไว้ได้ เหตุใดพอช่องเจ๊ติ๋มจะเสนอขายให้กลุ่มคุณกึ้ง เฉลิมชัย กลับมีปัญหา หรืออย่างน้อยให้ MVTV เข้ามาถือหุ้นก็ไม่ยอม งี่เง่าที่สุด เราต้องสูญเสียช่องฟรีทีวีดิจิตอลไปฟรีๆ 2 ช่อง ทั้งๆ ที่เพิ่งออกอากาศมาได้ยังไม่ถึงปี อันนี้แอบด่าแทนเจ๊ติ๋มนะ

ช่อง 16 TNN24  ช่องนี้ตอนที่ไม่เข้ามาอยู่ในกล่องทีวีดิจิตอล ไม่เคยดู เพราะมันอยู่ในกล่องทรูอย่างเดียว บังเอิญที่บ้านไม่ได้ติดจานของทรู จึงไม่ใส่ใจ ไม่สนใจช่องนี้เป็นทุนเดิมมาแต่ไหนแต่ไร แต่พอมาอยู่ในกล่องทีวีดิจิตอล ก็ได้มีโอกาสดูอยู่บ้าง ช่วงรายงานภาวะตลาดหุ้น วิเคราะห์เศรษฐกิจ ยอมรับว่าเขาทำได้ดี หรือวิเคราะห์ข่าวต่างประเทศ ระหว่างคุณ วารินทร์ สัจเดว กับคุณทิน โชคกมลกิจ สนุกมาก เป็นคนภาษาอังกฤษดีทั้งคู่ จัดเป็นผู้ประกาศข่าวชายอันดับต้นๆ ของเมืองไทย ดูเพราะ 2 คนนี้จริงๆ นอกนั้นเพลนๆ ไม่น่าสนใจอะไรเลย ดูๆ ไป นึกว่า CNN เมืองไทย

ช่อง 17 ไทยทีวี (ช่องเจ๊ติ๋ม)  ถูกระงับหรือสั่งปิดไป ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น นึกถึงช่องทีวีพูล กลับไปทำทีวีพูลก็ยังจะดีกว่า

ช่อง 18  New) tv  หรือเดลินิวส์ทีวี แอบเสียดายอัตลักษณ์ของช่องในช่วงปีแรกๆ ที่เป็นช่อง Documentary Channel ฉายแต่สารคดีดีๆ เกือบทั้งวัน เรียกว่าผู้เขียนติดช่องนี้มากที่สุด หลังๆ นี่เปลี่ยนไปมาก เอาทีมข่าวเจ๊ปอง อัญชลี ไพรีรักเข้ามา เอาซีรีส์มาฉาย และมีรายการวาไรตี้เข้ามา ดูแล้วไม่มีคาแร็กเตอร์ของช่องเลย ทำให้ไม่ค่อยได้ดูแล้วพักหลัง เพราะสารคดีน้อยลงไปมาก

ช่อง 19 Springnews  ล่าสุด เพื่อความอยู่รอด หันไปจับมือกับ CNN  เคเบิ้ลช่องข่าวรายใหญ่ของอเมริกา จะกลายเป็นสาขาของ CNN ในประเทศไทย หรือแฟรนไชส์ข่าวจากอเมริกา แปลกมาก ทั้งๆ ที่เป็นช่องข่าว ที่ทำโปรดักชั่นดีมากช่องนึง แต่ผู้เขียนแทบไม่ได้ดู Springnews เท่าไหร่ ไม่รู้ทำไม ไม่มีรายการแม่เหล็กที่ดึงดูดให้อยากดู  แต่พอไปจับมือกับ CNN เลยเพิ่มความน่าสนใจขึ้นมาว่า จะออกมาในรูปแบบไหน อยากดูว่า จะยกรายการของทางนู้นมาทั้งดุ้นเลยมั๊ยแล้วแปลซับไทยให้อ่าน ก็ดีเหมือนกัน คนไทยโชคดีที่จะได้ดูข่าว CNN ฉบับที่ไม่ต้องมานั่งแปลเอง

ช่อง 20 Bright TV  ช่องนี้มีความพยายามเปลี่ยนแปลงคอนเท้นต์ รูปแบบรายการอยู่ตลอดเวลา ล่าสุดได้ทีมข่าวจาก T-News ของคุณสนธิญาณ มาทำข่าวให้ บวกกับทีมข่าวเดิมที่มีอยู่ สร้างจุดแข็งของความเป็นช่องข่าวที่เด่นชัดขึ้น แปลกดี ข่องนี้ไม่รู้กลุ่มทุนเป็นใคร สามารถดึงเอาขั้วการเมืองฝั่งแดงมาผสมกับฝั่งน้ำเงินได้ ช่างเป็นส่วนผสมที่ลงตัว ดูดีจริงๆ  เคยเปลียนไปเจอ เห็นคุณอัญชลีพร กุสุมภ์ นั่งอ่านข่าวคู่กับคุณ ศุภรัตน์ นาคบุญนำ ยังงงและเซอร์ไพรซ์มาก เพราะเขาสองคนเป็นสาวกของ 2 พรรคใหญ่ อุดมการณ์ทางการเมืองก็ต่างกัน ไม่ใช่จะมายุให้เขาตีกัน แต่รู้สึกชื่นชมว่า คงจะทำงานร่วมกันได้ ไม่มีปัญหา และน่าจะเป็นความสวยงามของวงการสื่อของไทย และบางทีเราอาจเห็น คุุณวรวีร์ วูวนิช นั่งวิเคราะห์ข่าวคู่กับพี่ต้อย สนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม ก็คงจะมีมุมมอง 2 ขั้ว น่าสนใจดี  รายการประเภททอล์คโชว์ ของช่องนี้ก็น่าสนใจ

ช่อง 21 Voice TV ถ้าไม่นับว่าอุดมการณ์ทางการเมืองของเจ้าของช่อง ผุู้บริหาร และผู้ประกาศข่าวของช่องนี้ เอียงกระเท่เร่ไปทางซ้ายจัด ถือว่าช่องนี้เป็นช่องที่ผลิตคอนเท้นต์ได้น่าสนใจ มุมมอง การนำเสนอ และโปรดักชั่นดี มีกิมมิคน่าสนใจ ยิ่งเป็นช่องข่าว เลยทำให้รูปแบบการนำเสนอไม่เหมือนใคร แตกต่าง และดูมีสไตล์ เสียดาย อย่างที่บอก ผู้เขียนไม่ค่อยโอเคกับทัศนคติ หรือมุมมองความคิด ของทั้งพิธีกร วิทยากรตัวหลักของช่อง ยิ่งรายการประเภทวิเคราะห์ข่าวการเมืองภายในประเทศ นี่รับไม่ได้เลย เพราะเจ้าของช่องมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับนักการเมือง พรรคการเมืองของตัวเอง จุดยืนจึงยืนอยู่ข้างฝ่ายตน การวิเคราะห์วิจารณ์มันจึงออกมาในลักษณะแก้ต่าง และตอบโต้อีกฝ่ายซะเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ไม่ค่อยได้ดู ยกเว้นพวกข่าวธุรกิจ ข่าวบันเทิง รายการเพลงทำได้ดี เรียกว่าทำได้ดีกว่าช่องบันเทิงหลักบางช่องเสียอีก

ช่อง 22  Nation TV จัดเป็นช่องข่าว สามัญประจำบ้านของผู้เขียนที่ต้องติดตามดูทุกวัน อาจเป็นเพราะ เป็นแฟนคลับคุณกนก,คุณทนง คุณเกี๊ยง คุณแอ้ม คุณวีณารัตน์ คุณโมไนย ก็เลยต้องตามดู เรียกว่าตามดูตั้งแต่เช้ายันดึก ดูได้ตลอดทุกช่วง ได้ทั้งวัน ยิ่งตอนช่วงเกาะติดการเลือกตั้ง ปธน.สหรัฐ หรือช่วงประกาศผลรางวัลออสการ์ จะติดตามช่อง Nation เป็นหลัก เพราะนักวิเคราะห์ของช่อง และที่เขาไปสัมภาษณ์จะน่าสนใจ การทำสกู๊ปก็ดี ไม่ขอบอกว่าดีกว่าช่องอื่น หรือช่องอื่นทำสู้ไม่ได้ เพียงแต่ชอบในตัวบุคคลของช่องนี้ แต่ด้านโปรดักชั่น ช่องนี้ต้องถือว่าเชยมาก เทียบกับ Springnews,TNN24,Voice tv ไม่ได้เลย คือถ้าช่องนี้ ไม่มีบุคลากรอย่างพวกคนเหล่าน้ั้นที่ว่ามา ก็คงไม่ติดตามดูแล้ว  Nation TV  ดูแล้ว Graffic เชยมาก เพิ่งมาพัฒนาตอนย้ายสตูดิโอมาอยู่สยามดิสคัฟเวอรี่นี่แหละ ก่อนหน้านี้เชยมากๆ

ช่อง 23  WorkPoint  เป็นช่องที่รวมเอาเกมส์โชว์ เรียลลิตี้โชว วาไรตี้โชว์ไว้มากที่สุด คือเป็นจุดแข็งของช่องเขานั่นแหละ พักหลังพยายามมาเน้นสร้างทีมข่าว, สร้างทีมละคร ผลิตซีรีส์ไทย, หรือซื้อซีรีส์ดีๆ ของ ตปท.มาฉาย ,ผลิตรายการมวย ถ่ายทอดกีฬาต่างๆ  แต่ก็ไม่ค่อยมีภาพจำได้เด่นชัดเท่า พวกเกมส์โชว์ รายการตลก ต่างๆ ที่เป็นจุดขาย  ด้วยรูปแบบรายการที่หลากหลาย และเข้าถึงกลุ่มคนดูในวงกว้าง หรือแมส ทำให้ช่องนี้มีเรตติ้งดีในอันดับ 3  เป็นรองแค่ช่อง 3,ช่อง 7 อีกทั้งยังมีฐานของโฆษณาสูงที่สุดในกลุ่มช่องเกิดใหม่ด้วย ยิ่งทำให้ผลประกอบการเป็นบวก คือมีกำไรในบรรดาช่องเกิดใหม่ ถือว่ากำไรเยอะสุด แต่ถามว่าผู้เขียนชอบช่องนี้ หรือดูรายการอะไรในช่องนี้มั๊ย บอกเลยไม่ได้ดู ไม่รู้ทำไม ไม่มีรายการใดที่ดึงดูดให้อยากดูเลย เคยดูซีรีส์ พระพุทธเจ้า ที่ฉายทางช่องนี้ นั่นแหละที่เคยเปลี่ยนไปดู นอกนั้นบาย สมัยที่ workpoint มีรายการอยู่ช่องฟรีทีวี ยังดูบ้าง เช่น ชิงร้อยชิงล้าน,อัจฉริยะข้ามคืน,กล่องดำ,เกมทศกัณฑ์,แฟนพันธุ์แท้,sme ตีแตก แต่พอมาทำช่องของตัวเอง เหตุใด ผู้เขียนจึงไม่ได้สนใจอะไรของช่องนี้เลย แปลกเหมือนกัน ก็รออยู่ว่าช่องนี้จะมีอะไรดึงดูดให้เราเปลี่ยนไปดูบ้าง

ช่อง 24 True4U  เป็นช่องที่เด่นเรื่องกีฬา เนื่องจากคอนเท้นต์ที่ดึงมาจากเคเบิ้ลของทรูวิชั่น บริษัทแม่ของตนเอง ไม่ว่าการถ่ายทอดสดกีฬาในประเทศ ทั้งฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลีก (ทรูได้ลิขสิทธิ์อยู่) ,แบดมินตันบางรายการ ฯลฯ นอกนั้นช่องนี้ก็มีรายการในลักษณะที่คล้ายช่องฟรีทีวีอื่นๆ เช่น เกมส์โชว์ ทอล์คโชว์ ข่าว ละคร โดยเฉพาะละครหลังข่าว ที่พยายามดึงผู้จัด และนักแสดงชื่อดังจากช่องใหญ่ ซื้อตัวไปอยู่ช่องของตนเอง โปรเจคท์ละครชุด จ้าวเวหา สร้างความฮือฮาได้พักใหญ่ เนื่องจากดึงเอาผู้จัดและนักแสดงจากช่องใหญ่ ไปรวมตัวกันอยู่ที่ช่องทรู แต่สุดท้ายก็สะดุด เนื่องจากมีปัญหาเรื่องบริหารจัดการ การไม่จ่ายค่าตัวนักแสดง มีการกล่าวโทษกันไปมา ระหว่างผู้จัด กับผู้รับช่วงผลิตคอนเท้นต์ จนผู้บริหารทรูต้องสั่งสังคายนา เปลี่ยนแปลงผู้ดูแลโปรเจ็คท์ละครใหม่หมด รวมถึงคิวนักแสดง ผู้จัดถอนตัว หรือปรับแก้บท ลดงบประมาณในการผลิตลง เนื่องจากลงทุนกับโปรเจ็คท์ละครจ้าวเวหาไปเป็นหลักร้อยล้าน แต่ผลตอบรับด้านเรตติ้งไม่สู้ดี หรือไม่เข้าเป้า กลายเป็นบทเรียนที่ทางช่องต้องกลับไปทบทวนกระบวนการทำงานใหม่ คาดหวังว่าปีหน้า โปรเจ็คท์ละครที่เตรียมสร้าง และได้ทีมผู้จัดเก่งๆ และนักแสดงชื่อดังมาร่วมงาน จะสามารถสร้างเรตติ้งให้ช่องขึ้นไปอยู่ในระดับ Top Five  ช่องนี้เคยขยับเรตติ้งเข้าไปติด Top Ten มาได้แล้ว และก็ร่วงลงไปอีก อันเนื่องมาจากปัญหาละครสะดุดนั่นแหละ

ช่อง 25 GMM25 ช่องนี้จัดเป็นขวัญใจของคนรุ่นใหม่โดยแท้ และโลกโซเชียลด้วย เนื่องจากอุดมไปด้วยบุคลากรที่เป็นคนรุ่นใหม่ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังอย่างคับคั่ง เน้นผลิตละคร ซีรีส์วัยรุ่น รายการวาไรตี้โชว์หลากหลาย เนื่องจากบริษัทแม่คือแกรมมี่ ทำให้มีทรัพยากรทางด้านเพลงอย่างครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ จึงนำเอาชื่อเพลงมาต่อยอดทำเป็นซีรีส์ได้มากมาย เราจึงเห็นชื่อละคร ชื่อซีรีส์มาจากชื่อเพลง มากมาย อีกทั้งมีบริษัทลูกที่เก่งในด้านการผลิตซีรีส์ อาทิ GMMTV และ นาดาวบางกอก ในเครือ GDH559  บอกเลยชอบดูรายการ และซีรีส์จากช่องนี้ เยอะเหมือนกัน แต่เป็นการดูย้อนหลัง ส่วนดูสด จะดูช่อง ONE เป็นหลัก ซึ่งก็อยู่ในเครือเดียวกัน

ช่อง 26 NOW  ผู้เขียนจะชอบดูสารคดีของช่องนี้,ซีรีส์อเมริกาของช่องนี้, ช่วงรายงานข่าววิเคราะห์ข่าวเศรษฐกิจประจำวัน สมัยตอนที่ยังใช้ชื่อช่อง กรุงเทพธุรกิจทีวี ดูเป็นประจำมากว่าช่อง Money Channel เสียอีก  แต่หลังๆ นี่มีซีรีส์จีน,เกมส์โชว์,รายการทำอาหาร,มวย ก็เลยแปลกใจ ว่า อะไรมันจะวาไรตี้ได้ขนาดนี้ แต่คงเลือกที่จะดูเฉพาะสารคดีและซีรีส์อเมริกาเท่านั้น

ช่อง 27 ก็คือช่อง 8 จะเรียกว่าช่องนี้ถอดแบบโมเดลมาจากช่อง 7 ก็ว่าได้ อีกทั้งพยายามทำคอนเท้นต์ให้ใกล้เคียงช่อง 7 และดึงฐานคนดูมาจากช่อง 7 เป็นหลัก รูปแบบละครก็จับกลุ่มฐานละครของช่อง 7 คือแนวละครแบบร้ายๆ แรงๆ ตบตี แย่งสามีชาวบ้าน ผู้หญิงนอกใจหลายผัว เหมือนๆ กัน,เจ้าคุณพ่อ มีมรดก หลานสาวถูกทิ้ง ชีวิตรันทด แม่ผัว ลูกสะใภ้ คนใช้ ตัวอิจฉา ตัวตลกลูกไล่ วี๊ดว๊ายกระตู้ฮู้ มีละครบู๊ ละครผี คล้ายๆ กัน หลังๆ พยายามดึงผู้จัด นักแสดงอิสระ ที่เคยทำงานอยู่ช่อง 7 มาร่วมงานมากมาย หรือมาจากช่อง  3, ช่อง ONE บ้าง  จุดเด่นของช่อง 8 คือรายการข่าว,รายการมวย และซีรีส์เกาหลี ในช่วงไพร์มไทม์ ที่เอามาชิมลาง ไว้สู้กับละครค่ำของช่องใหญ่ ช่องหลัก  ส่วนละครภาคค่ำของช่อง เลื่อนเวลาให้มาเร็วขึ้น เพื่อเลี่ยงการชนกับละครช่องใหญ่ แต่ซ๊รีส์เกาหลี มีฐานแฟนคลับกลุ่มเฉพาะ และบางส่วนทับซ้อนกับคนดูละครไทยช่องใหญ่ด้วยเหมือนกัน การแย่งชิงเรตติ้งจากชองใหญ่จึงไม่ง่ายนัก

ช่อง 28  ช่อง 3 SD  ถูกวางตัวให้เป็นช่อง 3 แบบเหมือนยุคอนาล็อก ก็คือ พยายามเอาละครเก่ามาฉายรีรันใหม่ เป็นแหล่งปล่อยของ หรือละครดองทั้งหลาย ที่ไม่สามารถฉายในช่องใหญ่สุด 3HD  ได้ อันเนื่องมาจากชื่อชั้นของนักแสดง ไม่ได้อยู่ในกระแส หรือไม่สามารถเรียกเรตติ้งได้ดี จึงเอามาลงช่องนี้แทน หรือดิวิชั่นรอง แชมเปี้ยนชิฟลีกนั่นแหละ บางทีก็เป็นช่องชิมลางของนักแสดงหน้าใหม่ ที่ยังไม่ค่อยมีคนรู้จัก นักแสดงที่ทางช่องต้องการจะปั้น เอามาจับเล่นละครที่ฟอร์มเล็กลงมาหน่อย โดยล่าสุด ให้คุณไก่ วรายุทธ มิลินทจินดากับป้าแจ๋ว ยุทธนา ลอพันธุ์ไพบูลย์ มาชวยกันดูแลช่องนี้ ในการเข็นละคร และนักแสดงที่เป็นดาวรุ่ง เป็นเพชรที่รอการเจียระไน ให้มามีผลงานทางช่องนี้แทนก่อน หากดังและมีฝีมือแล้ว จึงจะไปโผล่ยังช่องหลัก 3HD หรือพรีเมียร์ลีกได้ เป็นสนามประลองของมือใหม่หัดขับนั่นแหละ รวมถึงรายการและคอนเท้นต์เกรดรองจากช่อง 3HD

ช่อง 29 Mono 29  เป็นฟรีทีวีที่มีหนังดี ซีรีส์ดังมากที่สุด เหมือนกับสโลแกนของช่องเขานั่นแหละ แต่หลังๆ นี่เรียกว่า หนังเก่าและฉายวนซ้ำบ่อยมาก เข้าใจว่า คอนเท้นต์มันก็ต้องมีสลับใหม่เก่า ดีไม่ดีบ้าง หลักๆ ถ้าต้องการดูหนังฮอลลีวู้ด หรือซีรีส์อเมริกาดีๆ ผู้เขียนก็จะเปลี่ยนมาดูช่อง Mono 29 บ่อยๆ เว้นว่าบางเรื่องไม่ชอบ หรือเคยดูแล้ว ก็จะเปลี่ยนกลับไปดูช่องหลักที่ดูประจำ อ้อช่องนี้มีพิเศษตรงมีการแข่งขันลีกบาสเก็ตบอลของไทยให้ดูด้วย และมีทีมสโมสร สนามแข่งที่ทันสมัยมากในนามของ Mono ด้วย อีกทั้งช่องนี้ยังมีช่องลูก ที่เอาคอนเท้นต์ที่เคยฉายช่องนี้ หรือเป็นคอนเท้นต์ที่ไม่ซ้ำกับช่องนี้ ในนาม Mono Plus อีกช่องในเครือข่ายทีวีดาวเทียม หรือเคเบิ้ลท้องถิ่น ให้ดูอีกด้วย บางทีก็ดูช่อง Mono Plus มากกว่าเสียอีก

ช่อง 30 9Mcot  หรือ โมเดิร์นไนน์ทีวีนั่นแหละ ตั้งแต่เข้าสู่สมรภูมิทีวีดิจิตอลแล้ว ช่อง 9 หมดเสน่ห์  ขาดความน่าสนใจไปเลย  รายการที่เคยดูหายไปเยอะ มีรายการใหม่ ที่ผลิตโดยผู้ผลิตรายใหม่ แต่ก็ไม่น่าสนใจเท่า หาจุดโฟกัสหรือคาแรกเตอร์ที่ชัดเจนไม่มี คือรายการของช่อง 9 จำนวนมาก คล้ายกับช่องอื่นๆ แต่ไม่สามารถสร้างความแตกต่างให้น่าสนใจเท่าช่องอื่นๆ อีกทั้งไม่รู้ว่าจะเป็นช่องแบบไหน ช่องข่าว หรือช่องวาไรตี้บันเทิง หรือช่องละคร ช่องหนังเพลงก็ไม่ใช่ เลยไม่มีจุดเด่นอะไรเลย อีกทั้งคอนเท้นต์ก็ไม่น่าสนใจเหมือนในอดีต แม้ว่าจะมีผู้ผลิตเจ้าประจำอย่าง ทีวีบูรพา แฮ็ปอะกู๊ดดรีม เซิร์ชเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ แต่รูปแบบรายการที่ผลิตฉายอยู่ทุกวันนี้ ให้กับช่อง 9 มันไม่เด่นพอที่จะไปแชร์ความสนใจจากช่องอื่นๆ ได้  ไม่เชื่อลองนึกรายการดังที่สุดของช่องนี้ ที่เป็นที่นิยมของคนดูในวงกว้าง มาซัก 1 รายการ ยังคิดไม่ออกเลย

ช่อง 31  ช่อง ONE  โดดเด่นที่สุดก็คือละคร ทั้งละครภาคค่ำ,ละครซิทคอม,ละครซีรีส์ เป็นช่องทีจัดว่าครบวงจรที่สุดในกระบวนการผลิตละคร ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ เนื่องจากมีทีมผลิตละครที่แข็งที่สุดของวงการละครเมืองไทยก็ว่าได้ คือ ทีมผุ้กำกับ ทีมเขียนบท ทีมโปรดักชั่น (แผนกทำเอฟเฟคท์ แต่งหน้า จัดหาเสื้อผ้า) ทีมทำซีจี ทีมแต่งเพลงประกอบละคร ทีมหาโฆษณา ทีมทำตลาด ยังไม่รวมทีมทำรายการเรียลลิตี้โชว์ รายการทีวี และทีมทำละครเวทีอีกต่างหาก จัดว่าครบเครื่องที่สุดในวงการละครบ้านเราแล้ว คล้ายๆ บริษัทกันตนา แต่กันตนา ต่างกันตรงเขามีทีมผลิตภาพยนตร์ แต่ไม่มีทีมผลิตละครเวที หรือไม่ทำ มีโรงถ่ายภาพยนตร์หรือละครเป็นของตนเองเหมือนกัน แต่กันตนาไม่ม่ช่องเป็นของตนเอง จึงนับว่าช่อง ONE เป็นช่องที่ครบเครื่องที่สุดในด้านการผลิตละครของเมืองไทย ถ้าเทียบกับวงการบันเทิงเกาหลี ก็นับว่าช่อง ONE คล้าย tVN  ที่มีแบ็คอัพ เป็นเครือข่ายบันเทิงยักษ์ใหญ่ อย่าง CJ E&M  , ช่อง ONE มีแบ็คอัพเป็น GMM GRAMMY  ,tVN พยายามผลักดัน Dragon Studio เป็นสตูดิโอยักษ์ใหญ่แห่งเอเซีย ผลิตซีรีส์เจาะตลาดเอเซีย เพื่อความเป็น 1 ในเอเซียให้ได้ ในขณะที่ ช่อง ONE มี ACTs Studio เป็นหัวหอกตีตลาดทั่วอาเซียน และพยายามรุกหนักเข้าสู่จีนให้ได้  ถ้าจะว่าไป ช่อง ONE อาจถอดแบบโมเดลของ tVN พยายามผลิตซีรีส์ หรือละครดีๆ ที่ฉีกรูปแบบ และแนวทางจากช่องหลัก เหมือนที่ tVN ผลิตซีรีส์ที่ยึดบทและโปรดักชั่นในการสร้างการยอมรับ ไม่ยึดติดนักแสดงซุปตาร์ที่มีชือเสียงเหมือนช่องหลักอย่าง KBS,MBC,SBS  ส่วนช่อง ONE ก็เช่นกัน เน้นผลิตละคร,ซีรีส์ที่อิงบทและโปรดักชั่นดี นักแสดงเป็นเกรดรองจากช่อง 3,7 แต่ก็สามารถสร้างกระแส และเรตติ้งในระดับที่น่าพอใจได้  ปีหน้าช่อง ONE อุบไต๋ มีโปรเจ็คท์ละครเด็ด ซีรีส์ดี รอเสิร์ฟ มากมาย และคาดว่า จะสร้างกระแส talk of the town ได้แบบ เรือนร้อยรัก สงครามนางงาม พิษสวาท โสดสตอรี่  เสือชะนีเก้ง  Sotus the Series  เราเกิดในรัชกาลที่ 9 ได้อีกเป็นแน่  อันนี้เชียร์ ๆ เลย อยากให้เมืองไทยมีช่องที่เป็นทางเลือกที่เสิร์ฟคอนเท้นต์ดีๆ  เบื่อละครน้ำเน่าจากช่องหลักมากๆ  (ล่าสุด บริษัทลูกในเครือกลุ่ม ประสาททองโอสถ ซึ่งเป็นเจ้าของช่อง PPTV ได้เข้ามาร่วมลงทุนเป็นหุ้นส่วนใหญ่ ถือหุ้นในช่อง ONE กว่่า 50 % กลายเป็นเจ้าของใหญ่ในช่อง ONE ไม่รู้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงใดตามมา ภาวนาว่าการดำเนินการของช่อง ONE ทั้งทิศทางของละคร,รายการอื่นๆ ยังเป็นปกติด้วยเถิด)

ช่อง 32 ไทยรัฐทีวี  การเสริมทีมข่าว ด้วยบุคลากรเพิ่มเข้ามามากมาย ถ้าไม่ทำให้เรตติ้งช่องไทยรัฐขยับ นี่ก็น่าคิดเหมือนกัน เพราะลงทุนลงแรง ไปมากขนาดนี้แล้ว ปีที่ผ่านมา มีทั้งคุณ จอมขวัญที่ย้ายมาจาก Nation, ชัยรัตน์ ถมยา ย้ายมาจากช่อง 3 แล้วปีหน้าใครจะมาอีก เรียกว่าวงการข่าว และผู้ประกาศข่าว ยังมีการโรเทชั่นกันอีกหลายระลอก กว่าจะอยู่ตัว เพราะว่าทิศทางข่าว และนโยบาย แต่ละช่องจะปรับเปลี่ยนไปตามผลประกอบการ และเรตติ้งทีวี หากต้นทุนเพิ่ม แต่รายได้ไม่เข้าเป้าก็คงต้องมีรายการปรับลดพนักงาน บุคลากร ปรับเปลี่ยนรูปแบบรายการตามไปด้วย จริงๆ ช่องไทยรัฐทีวี ดีด้านข่าวและกีฬาแล้ว อยากให้เพิ่มเติมเรื่องสารคดี ภาพยนตร์ต่างประเทศด้วย เพราะเป็นอีกช่องนึงที่ผุ้เขียนก็ชอบ และดูบ่อย

ช่อง 33 หรือ 3HD  ได้เขียนถึงช่องนี้ไปตอนช่วงต้นของบทความแล้ว ขอผ่าน

ช่อง 34  หรือ Amarin TV  ช่องนี้ดูแบบผ่านๆ จะคล้าย Voice TV คือโดดเด่นด้านรูปแบบ การนำเสนอ  กราฟฟิกสวย โปรดักชั่นดี  รายการทุบโต๊ะข่าว เป็นแม่เหล็กของช่องที่ดึงคนให้มาดูช่องนี้ได้ ,ซีรีส์จีนไต้หวันดีมาก, รายการวาไรตี้ทอล์คโชว์ก็ดี  ที่ขาดก็คือละคร กับสารคดีดีๆ  สุดท้ายช่องนี้ก็อยู่ในชะตากรรมเดียวกับช่องเจ๊ติ๋ม คือขาดทุนบักโกรก จากการที่ผลประกอบการไม่เข้าเป้า เรตติ้งไม่ดี ในขณะที่ลงทุนสูง โดยเฉพาะเป็นช่องคมชัดสูง HD  สุดท้ายต้องเพิ่มทุนและขายหุ้นส่วนใหญ่ให้กลุ่มทุนเสี่ยเจริญ สิริวัฒนภักดี เข้ามาถือหุ้นใหญ่ ในบริษัทแทนกลุ่มอุทกะพันธุ์ ที่เป็นผู้ก่อตั้งสื่อเครืออัมรินทร์  แม้จะไม่ชอบกลุ่มทุนใหม่ที่เข้ามาถือหุ้น แต่ก็ยังดีกว่าปล่อยให้ล้มหายตายจากกันไปอีกช่อง เหมือนช่องเจ๊ติ๋ม เอาใจช่วย ให้เรตติ้งดีวันดีคืน และมีรายการดีๆ ที่สามารถดึงดูดคนดูมาดูกันเยอะๆ มากขึ้น

ช่อง 35  ช่อง 7 สีทีวีเพื่อคุณ  ได้เขียนถึงช่องนี้ไปแล้วตอนช่วงต้นบทความ

ช่อง 36  PPTV  ช่องนี้ แต่เดิมพยายามจะเน้นเป็นช่องแห่งซีรีส์เกาหลี และเป็นช่องข่าว แต่พอเรตติ้งไม่เข้าเป้า จึงเบนเข็มเป็นช่องกีฬา โดยเฉพาะฟุตบอล โดยจับมือกับ BeIN เครือข่ายเคเบิ้ลกีฬาระดับโลก ที่ได้สิทธิ์ถ่ายทอดกีฬาฟุตบอลพรีเมียร์ลีกของอังกฤษ ทำให้ได้สิทธิ์ในการถ่ายทอดกีฬาฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษหลายคู่ หลายแม็ทช์  รวมถึงถ่ายทอดกีฬามวย และอื่นๆ อีกทั้งผลิตละครคุณภาพ โดยไม่อิงกระแส  ปีที่ผ่านมาก็มีละครน้ำดีหลายเรื่อง จากผุ้จัดชื่อดัง ตบเท้ามาผลิตละครให้กับ PPTV มากมาย ละครมีความละเมียดละไม โปรชั่นดี ไม่แพ้ภาพยนตร์ จัดเป็นช่องที่ผลิตผลงานละครได้ดีในระดับต้นๆ ของเมืองไทยเหมือนกัน  ไม่แพ้ช่อง 3 ,ONE 


หยิกแกมหยอก วิเคราะห์และเรียบเรียง


บทวิเคราะห์,ข่าวเกี่ยวกับผลประกอบการของทีวีดิจิตอลบางตัว ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ

MONO รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3/59 สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.59 (รวมบริษัทย่อย) มีกำไรสุทธิ 10.12 ล้านบาท หรือมีกำไรสุทธิ 0.003 บาทต่อหุ้น เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีผลขาดทุนสุทธิ 111.82 ล้านบาท หรือขาดทุนสุทธิ 0.036 บาทต่อหุ้น  ขณะที่ผลการดำเนินงานช่วง 9 เดือนแรกมีผลขาดทุนสุทธิ 56.99 ล้านบาท หรือขาดทุนสุทธิ 0.018 บาทต่อหุ้น ขาดทุนลดลง 86.13% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีผลขาดทุนสุทธิ 410.82 ล้านบาท หรือขาดทุนสุทธิ 0.133 บาทต่อหุ้น โดยกำไรในไตรมาส 3/59 ที่พลิกเป็นกำไรเนื่องจาก บริษัทมีรายได้จากการให้บริการสื่อโฆษณาเพิ่มขึ้น ขณะที่รายได้จากธุรกิจทีวีดิจิตอลเติบโตขึ้นตามเรตติ้งช่อง Mono29

WORK หุ้น Top pick ของกลุ่ม Media ฟันธงกำไรไตรมาส 3/59  โตแข็งแกร่ง จากรายได้โฆษณาเติบโตโดดเด่น ตามเรตติ้งที่เพิ่มขึ้น P/E ต่ำกว่ากลุ่มที่ 75.68 เท่าจาก 91.20 เท่า ของกลุ่มบริการ/สื่อและสิ่งพิมพ์ อัพไซด์กว่า 22.78% จากราคาเป้าหมาย 55.25 บาท

ถ้าพูดถึงช่องทีวีดิจิตอลที่มาแรงเทียบชั้นรุ่นเก๋าอย่างฟรีทีวี ที่ทำเรตติ้งถล่มทลายและครองใจผู้ชมได้ในเวลาอันรวดเร็ว ก็คงจะมองข้ามช่องรายการวาไรตีอย่าง WORK POINT ไปไม่ได้ เพราะปัจจุบันได้เร่งเครื่องอัพเรตติ้งจนขึ้นมาอยู่อันดับ 3 ของตาราง ถือว่าเป็นตัวพ่อในสื่อดิจิตอลทีวี ที่สร้างความสำเร็จได้อย่างล้นหลาม

นอกจากนี้ ยังเป็นช่องทีวีดิจิตอลเพียงช่องเดียวที่สร้างกำไรให้กับบริษัท โดยไตรมาส 2/59 ก็ไม่ทำให้ผิดหวังกำไรโตแข็งแกร่งถึง 31% อยู่ที่ 133.89 ล้านบาท จากปีก่อน 102.18 ล้านบาท มากกว่าที่นักวิเคราะห์

BEC ภายใต้การคาดการณ์ว่าภาพรวมของอุตสาหกรรมเม็ดเงินโฆษณาโดยรวมจะยังมีแนวโน้มอ่อนตัวลงและซบเซาในไตรมาส 4/59 (ซึ่งอยู่ในช่วงของการไว้อาลัย) และต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาส 1/60 (ซึ่งเป็นช่วงโลว์ซีซั่น) รวมถึงกำไรสุทธิที่มีแนวโน้มลดลงในช่วงเวลาดังกล่าว เราเชื่อว่ามันยังคงไม่ใช่โอกาสที่ดีสำหรับการเข้าซื้อหุ้น BEC อีกครั้ง ณ ตอนนี้ ราคาหุ้น BEC ได้ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมาจนถึงจุดต่ำสุด ณ ปัจจุบันเนื่องจากกำไรสุทธิที่ออกมาน่าผิดหวังและการปรับลดประมาณการกำไรสุทธิลงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงภาวะการแข่งขันแย่งชิงเม็ดเงินโฆษณาดิจิตอลที่ยังคงรุนแรง และเนื่องจากยังคงมีความเสี่ยงที่ตลาดอาจจะทำการปรับลดประมาณการกำไรสุทธิของฺBEC ลงจากเดิมอีก เราจึงคิดว่าราคาหุ้น BEC ณ ปัจจุบันอาจจะไม่ใช่ราคาที่ถูกมากแล้ว (โดยปัจจุบันซื้อขายกันใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ย PER ระยะยาวของหุ้น BEC ซึ่งอยู่ที่ 22.4 เท่า) ในครั้งนี้เราไม่คิดว่ากำไรสุทธิของ BEC จะฟื้นตัวก่อนไตรมาส 2/60 เรายังคงคำแนะนำ ถือเป้าหมาย 20.00 บาท โดยรอสัญญาณการฟื้นตัวของกำไรสุทธิที่ชัดเจน ส่องกล้องไตรมาส 3/59 – กำไรหลักลดลงอย่างมาก YoY
เราคาดกำไรสุทธิไตรมาส 3/59 ที่ 415 ล้านบาท ลดลง 49%
YoY และ 11% QoQ ถ้าไม่รวมค่าใช้จ่ายพิเศษที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานบัญชีของค่าใบอนุญาตจำนวน 25 ล้านบาทในไตรมาส 3/59 กำไรหลักไตรมาส 3/59 คาดว่าจะอยู่ที่ 440 ล้านบาท ลดลง 46%YoY และ 10%QoQ กำไรหลักที่ลดลงอย่างมากเนื่องจากรายได้โฆษณาที่ลดลง ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นของทั้งสามช่อง (ได้แก่ ค่ารายการ ค่าผลิต และค่าใช้จ่ายบุคลากร) รวมถึงการบันทึกต้นทุนของคอนเทนต์รายการกีฬา 2 รายการใหญ่ได้แก่ การถ่ายทอดสดฟุตบอลยูโร 2016 (จนถึง 10 ก.ค.) และต้นทุนที่แบ่งกันสำหรับค่าสิทธิ์ถ่ายทอดกีฬาโอลิมปิกส์ 2016 (ช่วงวันที่ 5-21 ส.ค.) และผลขาดทุนจากการถ่ายทอดสดกีฬาโอลิมปิกส์ ทั้งนี้ต้นทุนค่าสิทธิ์กีฬาโอลิมปิกส์จะถูกแบ่งกันระหว่าง 5 ช่องสถานี (3, 5, 7, 9 และ 11) ที่ทำการถ่ายทอดสดกีฬาโอลิมปิกส์ การถ่ายทอดสดกีฬาโอลิมปิกส์อยู่ในช่วงเวลา 5 ทุ่มถึง 6 โมงเช้าซึ่งถือว่าเป็นเวลาที่ไม่ดีและทำให้การขายโฆษณายากขึ้น  เราคาดรายได้โฆษณาไตรมาส 3/59 ที่ 3.2 พันล้านบาท ลดลง 10% YoY และ 4% QoQ เนื่องจากรายได้โฆษณาสำหรับช่วงรายการก่อนข่าวภาคค่ำ รายการละครหลังข่าว และรายการข่าวที่ลดลง (เทียบกับที่นีลสันคาดว่าเม็ดเงินโฆษณาของ BEC จะลดลง 5% YoY ในไตรมาส 3/59) การแข่งขันแย่งชิงเม็ดเงินโฆษณาทีวีดิจิตอลที่รุนแรงมากขึ้นจะยังคงเป็นปัจจัยกดดันรายได้ของช่วงละครก่อนข่าว ในขณะเดียวกันรายได้โฆษณาละครหลังข่าวจะยังคงลดลงเช่นกันเนื่องจากบางช่วงเวลานำไปออกอากาศถ่ายทอดสดฟุตบอลยูโร ผลกระทบทางลบจากการที่นายสรยุทธ์ได้ยุติบทบาทพิธีกรรายการข่าวจะยังคงส่งผลกระทบให้รายได้ของรายการข่าวลดลง

เรตติ้งละครหลังข่าวและเรตติ้งช่องเอชดีปรับตัวดีขึ้นในไตรมาส 3/59
เรตติ้งของช่องเอชดี (ตั้งแต่อายุ 4 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ) ลดลงมาอยู่ที่จุดต่ำสุดที่ 1.411 ในเดือนพ.ค. เนื่องจากการยุติบทบาทของนายสรยุทธ์ แต่ฟื้นตัวกลับมาอยู่ที่ 1.5-1.7 ในช่วงเดือนมิ.ย.ก.ย. (ในเดือน ก.ย. อยู่ที่ 1.668) จากเรตติ้งของละครหลังข่าวที่ปรับตัวดีขึ้นในไตรมาส 3/59 (จากเฉลี่ย 4.3 ในไตรมาส 2/59 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 4.7 ในไตรมาส 3/59) เรตติ้งของละครเรื่องนาคีแตะระดับสูงสุดของปีในช่วง 10-11 ในเดือนต.ค. สำหรับเรตติ้งของช่องแฟมิลี่และช่องเอสดีค่อนข้างทรงตัวที่ 0.06-0.07 และ 0.26-0.27 ตามลำดับในช่วงเดือนมิ.ย.-ก.ค. ส่วนต่างของเรตติ้งละครหลังข่าวระหว่าง BEC และช่อง 7 แคบลงมาอยู่ที่ 1.4 ในเดือนก.ย. และลดลงเหลือเพียงแค่ 0.1 ในเดือนต.ค. (เทียบกับส่วนต่างที่ห่างกันมากถึง 3-4 ในช่วงเดือนมิ.ย.-ก.ค.) เนื่องจากเรตติ้งละครหลังข่าวของ BEC ที่ปรับตัวดีขึ้นในไตรมาส 3/59 แต่ถึงแม้ว่าเรตติ้งละครหลังข่าวของ BEC จะปรับตัวดีขึ้น แต่ก็ยังไม่ได้แปลงกลับมาเป็นรายได้โฆษณาละครหลังข่าวที่เพิ่มขึ้นแต่อย่างใดในไตรมาส 3/59 เนื่องจากภาวะการแข่งขันเม็ดเงินโฆษณาทีวีดิจิตอลที่ยังคงรุนแรง ภาวะเม็ดเงินโฆษณาที่ซบเซาและชะลอตัวจากช่วงภาวะฝกตก น้ำท่วมและช่วงโลว์ซีซั่น

คาดกำไรไตรมาส 4/59-1/60 อ่อนตัวลง
เราคาดว่าภาพรวมของอุตสาหกรรมเม็ดเงินโฆษณาจะยังคงอ่อนตัวลงในไตรมาส 4/59 และต่อเนื่องไปยังไตรมาส 1/60 ในช่วงของการไว้อาลัยในไตรมาส 4/59 และสองเดือนแรกของไตรมาส 1/60 ซึ่งเป็นช่วงโลว์ซีซั่น เราไม่คิดว่าจะมีช่วงไฮซีซั่นสำหรับไตรมาสสี่ในปีนี้แต่อย่างใด เราคาดการณ์ในเบื้องต้นสำหรับกำไรสุทธิไตรมาส 4/59 ของ BEC ที่ 284 ล้านบาท ลดลง 61% YoY และ 32% QoQ เราประเมินว่ายังคงไม่มีสัญญาณของการฟื้นตัวของกำไรสุทธิไปอีกอย่างน้อยสองไตรมาสข้างหน้า

ประสิทธิ์ สุจิรวรกุล
นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น