วันอังคารที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

โลก 360 องศา - (ปธน.เกาหลีใต้ พัค กึน ฮเย ยอมถอย ให้สภาเลือกนายกรัฐมนตรีเอง,สมรภูมโมซุลเดือด นักรบเคิร์ดปะทะเดือดกับไอเอส,ศึกเลือกตั้งโค้งสุดท้ายอเมริกาดุเดือด โอบาม่าและภริยาช่วยคลินตันหาเสียงภายหลังนางฮิลลารีพ้นบ่วงมลทินอีเมลล์ฉาว,เดนมาร์กเริ่มทดลองให้กัญชาใช้ในทางการแพทย์ได้)

รอยเตอร์ - ประธานาธิบดี พัค กึน-ฮเย แห่งเกาหลีใต้ ระบุวันนี้ (8 พ.ย.) ว่า เธอพร้อมจะถอนการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่ โดยให้รัฐสภาคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสม และยินดีที่จะมอบอำนาจควบคุมคณะรัฐมนตรีให้แก่นายกฯ คนใหม่ด้วย ท่ามกลางกระแสความไม่พอใจของประชาชนต่อเหตุอื้อฉาวทางการเมืองที่เพื่อนสนิทของเธอเป็นต้นเหตุ  คำประกาศเจตนารมณ์ของ พัค ต่อประธานรัฐสภาวันนี้ (8) ถือเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าเธอพร้อมที่สละอำนาจบริหารบางส่วนตามที่พรรคฝ่ายค้านเรียกร้อง เพื่อบรรเทากระแสต่อต้านเรื่องที่เธอปล่อยให้ ชอย ซุน-ซิล เพื่อนหญิงคนสนิท ใช้อำนาจโดยมิชอบ  หากรัฐสภาเสนอชื่อบุคคลที่มีความเหมาะสม และพรรคฝ่ายค้านก็เห็นชอบด้วย ดิฉันจะแต่งตั้งบุคคลผู้นั้นเป็นนายกรัฐมนตรี และจะมอบอำนาจดูแลคณะรัฐมนตรีแก่เขาด้วยพัค กล่าวต่อประธานรัฐสภา ชุง เซ-คยุน  นายกรัฐมนตรีเกาหลีใต้ เป็นตำแหน่งที่มีบทบาทในเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น เนื่องจากอำนาจบริหารทั้งหมดอยู่ในมือของประธานาธิบดี  รัฐบาลโสมขาวภายใต้การนำของ พัค กึน-ฮเย กำลังอยู่ในสภาพง่อนแง่น หลังมีข่าวว่า ชอย อาศัยความสนิทชิดเชื้อกับผู้นำหญิงก้าวก่ายกิจการของรัฐ และยังใช้อิทธิพลต่อคนในแวดวงกีฬา และวัฒนธรรมอีกด้วย  ชอย ถูกตั้งข้อหาใช้อำนาจโดยมิชอบและฉ้อโกง ส่วนอดีตผู้ช่วยประธานาธิบดีคนหนึ่งก็ถูกฟ้องฐานใช้อำนาจโดยมิชอบและขู่กรรโชกทรัพย์ หลังจากที่บุคคลทั้งคู่ได้เรียกรับเงินบริจาคราว 77,400 ล้านวอนจากกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่หลายสิบบริษัท ในนามมูลนิธิไม่แสวงผลกำไร 2 แห่ง  สัปดาห์ที่แล้ว พัค ได้เสนอชื่อ คิม บยอง-จุน ซึ่งเคยเป็นรัฐมนตรีและผู้ช่วยคนสนิทของอดีตประธานาธิบดี โรห์ มู-ฮยุน เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ทว่า การขอความเห็นชอบจากรัฐสภาดูจะเป็นเรื่องยาก เนื่องจากพรรคฝ่ายค้านได้แสดงความไม่พอใจ และกล่าวหาว่า พัค ต้องการเบี่ยงเบนความสนใจจากคดีอื้อฉาวของเธอ และ ชอย พัค ได้ออกมายืนแถลงข่าวขออภัยประชาชนแล้วถึง 2 ครั้ง ทว่า คะแนนนิยมของเธอก็ยังคงดิ่งรูดจนลงมาเหลือเพียง 5% ตามผลสำรวจของแกลลัปโพลเมื่อวันศุกร์ (4 พ.ย.) ซึ่งถือว่าตกต่ำที่สุดตั้งแต่เริ่มมีการทำโพลในปี 1988 ที่ผ่านมา ไม่เคยมีประธานาธิบดีเกาหลีใต้คนใดที่ทำงานอยู่ไม่ครบวาระ 5 ปี ทว่า แรงกดดันจากสาธารณชนและฝ่ายค้านที่ต้องการให้ พัค สละเก้าอี้ก็เพิ่มทวีขึ้นทุกขณะ รัฐบาล พัค จะหมดวาระลงในช่วงต้นปี 2018 เช้าวันนี้ (8) อัยการเกาหลีใต้ได้เข้าตรวจค้นสำนักงานใหญ่บริษัท ซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อสืบหาหลักฐานเพิ่มเติมในคดีฉ้อโกงที่ ชอย ตกเป็นจำเลย สำนักข่าวยอนฮัป รายงานว่า อัยการกำลังตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า ซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ เคยโอนเงินจำนวน 2.8 ล้านยูโร ไปให้แก่บริษัทที่ ชอย ซุน-ซิล และบุตรสาวของเธอเป็นเจ้าของหรือไม่ โดยบุตรสาวของ ชอย นั้น เคยเป็นนักกีฬาขี่ม้าทีมชาติเกาหลีใต้  พัค ซัง-จิน ประธานฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ของซัมซุง ปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นประธานสมาคมขี่ม้าแห่งเกาหลีใต้ และสำนักงานของเขาก็เป็นอีกที่หนึ่งที่อัยการได้เข้าไปตรวจค้นในวันนี้ (8)

เอเจนซีส์ นักรบเคิร์ดปะทะกับไอเอสระหว่างบุกเข้าเมืองบาชิกา ทางตะวันออกของโมซุล ขณะที่กองทัพอิรักที่เข้าตีทางใต้ของโมซุล พบหลุมศพขนาดใหญ่ที่มีศพหัวขาดราว 100 ศพ การบุกยึดเมืองบาชิกา เป็นส่วนหนึ่งของยุทธการกวาดล้างกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ออกจากโมซุล เมืองใหญ่อันดับ 2 ของอิรัก เพื่อปลดปล่อยประชาชนจากการยึดครองอย่างโหดเหี้ยม ซึ่งรวมถึงการสังหารหมู่ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งนับตั้งแต่กลุ่มก่อการร้ายนี้เข้ายึดพื้นที่กว้างขวางตอนกลางและทางใต้ของอิรักในช่วงฤดูร้อนปี 2014 ปฏิบัติการชิงเมืองบาชิกาเริ่มต้นขึ้นเมื่อเช้ามืดวันจันทร์ (7) โดยกองกำลังเพชเมอร์กาของชาวเคิร์ดระดมยิงปืนใหญ่ จรวดคัตยูชา และปืนครกเข้าใส่ฐานที่ตั้งของไอเอส เพื่อเปิดทางให้หน่วยยานยนต์หุ้มเกราะ บาชิกา ซึ่งเชื่อว่าเป็นเมืองร้างและคงเหลือนักรบไอเอสกบดานอยู่หลักสิบคนนั้น อยู่ห่างจากชายขอบเมืองโมซุลทางตะวันออกเฉียงเหนือ 13 กิโลเมตร และห่างจากใจกลางเมืองประมาณ 20 กิโลเมตร ทั้งนี้ เพชเมอร์กาปิดล้อมบาชิกามาหลายสัปดาห์แล้ว แต่การบุกเมื่อเช้าวันจันทร์ดูจะเป็นปฏิบัติการที่หนักหน่วงที่สุดเพื่อขับไล่ไอเอส ขณะเดียวกัน ที่แนวรบด้านใต้ของโมซุล ทหารอิรักรุกคืบเข้าสู่เมืองฮามัม อัล-อาลิล ที่ห่างจากใจกลางเมืองโมซุลประมาณ 19 กิโลเมตร เมื่อคืนวันจันทร์และพบหลุมศพขนาดใหญ่ที่ภายในมีศพหัวขาดประมาณ 100 ศพใกล้วิทยาลัยการเกษตร โดยศพส่วนใหญ่เหลือเพียงโครงกระดูก  พลจัตวา ยาห์ยา ราซุล โฆษกกองบัญชาการทหารร่วมเผยว่า ทีมนิติเวชจากแบกแดดจะเดินทางไปตรวจสอบสถานที่ดังกล่าวในวันอังคาร (8) นอกจากนั้น นายพลจัตวา ฟิราส บาชาร์ โฆษกกองทัพอิรัก เปิดเผยเมื่อช่วงเช้าวันจันทร์ว่า กองกำลังอิรักเข้ายึดเมืองฮามัม อัล-อาลิลได้แล้ว อย่างไรก็ดี รายงานข่าวจากสื่อต่างๆ ระบุว่า ยังมีการสู้รบและมีนักรบไอเอสกระจายอยู่หลายจุดในเมืองนี้ ทั้งนี้ หน่วยรบพิเศษบุกเข้าโมซุล ซึ่งเป็นที่มั่นสำคัญแห่งสุดท้ายในประเทศนี้ของไอเอสตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้วและมีความคืบหน้าในการเข้ายึดชานเมืองด้านตะวันออก ผิดกับการบุกในเมืองที่ล่าช้าเนื่องจากมีประชาชนอาศัยอยู่หนาแน่น กองกำลังพิเศษของอิรักยังเผชิญการต้านทานจากคาร์บอมบ์ กับระเบิด และการต่อสู้ในระยะประชิดในถนนแคบๆ โดยไอเอสยังสามารถยึดกุมพื้นที่ทางเหนือ ใต้ และตะวันตกของเมืองนี้อย่างเหนียวแน่น พันโท ฮุสเซน อาซิส จากหน่วยรบพิเศษเผยว่า ขณะที่ทัพอิรักพยายามเข้ากระชับพื้นที่ในย่านที่อยู่อาศัยทางตะวันออกของโมซุล ประชาชนจำนวนมากขึ้นพากันหนีออกจากเมือง เพื่อหนีการถูกไอเอสใช้เป็นโล่มนุษย์ อาซิสประจำอยู่ที่จุดตรวจก็อกจาลีเพื่อตรวจหานักรบไอเอสที่แฝงตัวในกลุ่มชาวบ้านที่หนีออกจากโมซุล โดยนับจากที่กองทัพอิรักบุกเข้าชานเมืองด้านตะวันออกของโมซุลเมื่อวันอังคารที่แล้ว หน่วยของอาซิสจับนักรบไอเอสได้นับสิบคน ขณะเดียวกัน องค์การอนามัยโลกได้จัดตั้งทีมเคลื่อนที่เร็ว 82 ทีม เพื่อรับมือความเสี่ยงของโรคระบาด การสัมผัสสารเคมี หรือข้อกังวลด้านสุขภาพอื่นๆ ในหมู่ประชาชนที่หนีออกจากโมซุล  อนามัยโลกระบุว่า น้ำและระบบสุขาภิบาลในค่ายผู้อพยพอาจขาดแคลนขณะที่คนหนีออกจากโมซุลมากขึ้น อีกทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงของโรคที่ติดต่อทางอาหารและน้ำ เช่น อหิวาต์ นอกจากนั้นยังมีความกังวลเกี่ยวกับเด็กที่ตามรายงานระบุว่า ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคนับจากไอเอสเข้ายึดโมซุลในเดือนมิถุนายน 2014
     
รอยเตอร์/เอเจนซีส์ - ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ดุเด็ดเผ็ดมันจนถึงนาทีสุดท้ายในการหาเสียงเมื่อคืนวันจันทร์ (7 พ.ย.) โดยทรัมป์เรียกคลินตันว่า จอมตลบตะแลงส่วนแคนดิเดตเดโมแครตกล่าวหาอดีตพิธีกรเรียลิตีโชว์ทำประเทศแตกแยก ขณะที่โพลจากรอยเตอร์/อิปซอส ชี้ คลินตันมีโอกาสลิ่วเข้าสู่ทำเนียบขาวถึง 90%  ฮิลลารี คลินตัน ผู้สมัครจากพรรคเดโมแครต และ โดนัลด์ ทรัมป์ ตัวแทนพรรครีพับลิกัน วิ่งรอกหาเสียงในรัฐต่างๆ ที่เป็นสนามเลือกตั้งสำคัญตลอดวันจันทร์ เพื่อโน้มน้าวให้ผู้สนับสนุนออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันรุ่งขึ้น (8) คลินตันนั้นพยายามระดมเสียงเพิ่มจากคนอเมริกันเชื้อสายละติน และแอฟริกัน รวมถึงหนุ่มสาว ขณะที่ทรัมป์เล็งชิงคะแนนจากผู้สนับสนุนเดโมแครตที่ไม่ภักดีต่อคลินตัน รวมทั้งชนชั้นกลางที่เขาปลุกปั่นว่า ถูกนักการเมืองรุ่นเก่ามองข้าม การเลือกตั้งประธานาธิบดีในสหรัฐฯนั้น ไม่ใช่ตัดสินกันว่า ประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงทั่วประเทศ ลงคะแนนให้ผู้สมัครคนไหนมากกว่า แต่การโหวตของผู้ออกเสียงเป็นการเลือกคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College) โดยที่แต่ละรัฐจะมีจำนวนคณะผู้เลือกตั้งไม่เท่ากัน เช่น นิวยอร์ก มี 55 แต่ เวอร์มอนต์ มี 3 แทบทุกรัฐใช้วิธีที่ว่าผู้สมัครซึ่งได้คะแนนโหวตสูงที่สุด จะได้จำนวนคณะผู้เลือกตั้งไปทั้งหมด เนื่องจากทั้งประเทศจะมีจำนวนคณะผู้เลือกตั้ง 538 คน ในปีนี้ ดังนั้น ผู้สมัครคนไหนได้ไป 270 เสียงก็จะเป็นผู้ชนะ ทั้งนี้ ผลสำรวจของสเตทส์ ออฟ เดอะ เนชัน ของรอยเตอร์/อิปซอส ระบุว่า เมื่อดูจากจำนวนเสียงโหวตของประชาชนทั่วประเทศ คลินตันกำลังนำทรัมป์อยู่ราว 45% ต่อ 42% และเมื่อดูที่คะแนนคณะผู้เลือกตั้งแล้ว คลินตันมีโอกาสชนะ 90% และน่าจะกวาดคะแนนจากคณะผู้เลือกตั้ง ได้ 303 เสียง จากที่ต้องการ 270 เสียง ส่วนทรัมป์น่าจะได้เพียง 235 เสียง อย่างไรก็ดี ทรัมป์ยังมีโอกาสลุ้น โดยที่จะต้องชนะให้ได้ในมลรัฐเหล่านี้ คือ ฟลอริดา มิชิแกน นอร์ทแคโรโลนา และ โอไฮโอ ที่โพลเมื่อวันอาทิตย์ชี้ว่าคู่คี่มาก รวมทั้งที่เพนซิลเวเนียด้วย ซึ่งโพลบอกว่าคลินตันนำ 3% ขณะเดียวกัน ทรัมป์ยังต้องรักษาแอริโซนา รัฐซึ่งแต่ไหนแต่ไรมาเคยเป็นของรีพับลิกัน ทว่าปีนี้คะแนนยังสูสี รวมทั้งต้องคาดหวังว่า ผู้สมัครอิสระอย่าง อีแวน แมคมุลลิน จะไม่ชนะในยูทาห์ อีกมลรัฐหนึ่งซึ่งเคยเป็นฐานของรีพับลิกันมายาวนาน การที่ทรัมป์จะมีชัยได้ในสนามเหล่านี้ พูดโดยรวมแล้ว จำเป็นที่ชาวผิวขาวที่สนับสนุนรีพับลิกัน ต้องออกไปใช้สิทธิให้มากกว่าเมื่อปี 2012 ขณะที่คนอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันก็ต้องออกไปใช้สิทธิน้อยลง และผู้มีสิทธิออกเสียงที่พูดภาษาสเปน (ฮิสปานิก) เข้าคูหาน้อยกว่าที่คาดหมายกันไว้ นอร์ทแคโรไลนา หนึ่งในมลรัฐที่สามารถรายงานผลเลือกตั้งได้อย่างรวดเร็วในคืนวันอังคาร (ตรงกับช่วงเช้าวันพุธที่ 9 ตามเวลาเมืองไทย) อาจเป็นตัวบ่งชี้ผลการแข่งขัน เนื่องจากหากคลินตันชนะในรัฐนี้อาจหมายความว่า คนแอฟริกัน-อเมริกัน ออกไปใช้สิทธิเนืองแน่นพอๆ กับปี 2012 โดยที่ในปีนั้น โอบามาแพ้ มิตต์ รอมนีย์ ตัวแทนจากรีพับลิกัน ในนอร์ทแคโรไลนา อยู่ 2% ด้วยซ้ำ แต่ในระดับทั่วประเทศแล้ว เขาชนะ 4% ทั้งนี้ สเตท ออฟ เดอะ เนชัน มาจากการสำรวจความคิดเห็นกลุ่มตัวอย่าง 15,000 คน ทุกสัปดาห์ในทั้ง 50 รัฐ และรวมถึงวอชิงตัน ดี.ซี. ด้วย วันจันทร์ แคนดิเดตทั้งคู่ลุยหาเสียงเต็มที่ในรัฐสำคัญเหล่านี้ โดยคลินตันปราศรัยครั้งใหญ่ที่สุดตลอดการหาเสียงที่ผ่านมาที่ฟิลาเดลเฟีย รัฐเพนซิลเวเนีย โดยแผนกดับเพลิงของเมือง ระบุว่า มีผู้เข้าฟังการปราศรัยถึง 33,000 คน นอกจากคลินตันแล้ว ยังมีประธานาธิบดี บารัค โอบามา และภรรยาตลอดจนถึงร็อกสตาร์รุ่นใหญ่อย่าง บรูซ สปริงทีน และ จอน บอง โจวี ขึ้นเวทีด้วย  คลินตันเรียกร้องให้ผู้สนับสนุนออกไปใช้สิทธิและเชื่อมั่นในอเมริกาที่โอบอ้อมอารีและเป็นของทุกคน  ส่วนโอบามาที่ก่อนหน้านั้นร่วมหาเสียงกับคลินตันที่เมืองแอนน์ อาร์เบอร์ รัฐมิชิแกน ย้ำจุดอ่อนของทรัมป์ ว่า ขาดวุฒิภาวะในการเป็นผู้นำประเทศ และกระตุ้นให้ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกคลินตัน โดยรับประกันว่า เธอจะตั้งหน้าตั้งตาทำงาน ไม่ใช่ดีแต่ทวีต ก่อนหน้านี้ ทีมหาเสียงของคลินตันได้กำลังใจสำคัญขณะที่เหลืออีกเพียงไม่กี่สิบชั่วโมงจะถึงวันเลือกตั้ง เมื่อ เจมส์ โคมีย์ ผู้อำนวยการสำนักงานสอบสวนกลาง (เอฟบีไอ) ประกาศชนิดเกินความคาดหมายเมื่อวันอาทิตย์ (6) ว่า เอฟบีไอยืนตามการตัดสินใจในเดือนกรกฎาคมไม่สั่งฟ้องคดีอาญาเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้เซิร์ฟเวอร์ส่วนตัวของคลินตันขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ ตลาดหุ้นทั่วโลก รวมทั้งค่าเงินดอลลาร์ มีแนวโน้มทำสถิติสูงสุดในรอบหลายสัปดาห์ เนื่องจากนักลงทุนมองว่า การประกาศของโคมีย์เมื่อวันอาทิตย์ช่วยเพิ่มโอกาสที่คลินตันจะได้ชัยชนะ โพลของรอยเตอร์/อิปซอส ยังระบุว่า คลินตันมีคะแนนนำทรัมป์ทั่วประเทศเพียง 5% คือ 44% ต่อ 39% อย่างไรก็ตาม คะแนนในรัฐที่ต่อสู้กันอย่างดุเดือดอย่างฟลอริดาและนอร์ทแคโรไลนาพลิกจากคลินตันนำเป็นสูสี ผลสำรวจทั้งของฟ็อกซ์ นิวส์ และ ซีบีเอส นิวส์ ที่ออกมาเมื่อวันจันทร์ พบว่า คลินตันที่กำลังต่อสู้สุดแรงเพื่อให้ได้เป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของอเมริกา มีคะแนนนำทรัมป์ 4% กระนั้น ชัยชนะในศึกชิงทำเนียบขาวไม่ได้ตัดสินกันด้วยคะแนนจากประชาชนเท่านั้น แต่ผู้ชนะจะต้องได้คะแนนจากคณะผู้เลือกตั้งตามเกณฑ์คือ 270 เสียง หมายความว่า รัฐที่มีแนวโน้มสูสี อาจเป็นสนามที่ชี้ขาดการแข่งขัน  ทรัมป์ เจ้าพ่ออสังหาริมทรัพย์ที่ไม่เคยมีตำแหน่งทางการเมืองมาก่อน เริ่มหาเสียงในวันสุดท้ายที่เมืองซาราโซตา รัฐฟลอริดา ที่มีชาวอเมริกันที่พูดภาษาสเปนอยู่จำนวนมาก  แคนดิเดตจากรีพับลิกันไม่สนใจโพลสำนักต่างๆ ที่บ่งชี้ว่า คลินตันนำอยู่บางเฉียบ แต่ประกาศว่า ตัวเองจะเป็นผู้ชนะ ซ้ำเรียกคู่แข่งจากเดโมแครตว่า จอมตลบตะแลงและว่า คนอเมริกันเบื่อเต็มทนที่ถูกปกครองโดยกลุ่มคนเขลา ทรัมป์ยังเรียกร้องให้ชนชั้นแรงงานในเมืองแมนเชสเตอร์ รัฐนิวแฮมป์เชียร์ ออกไปกาบัตรเพื่อสั่งสอนนักการเมืองทุจริต  ตัวแทนจากรีพับลิกันผู้นี้ ยังเดินทางไปยังนอร์ทแคโรไลนา และเพนซิลเวเนีย ก่อนปิดการหาเสียงในเมืองแกรนด์ ราปิดส์ รัฐมิชิแกน ส่วนคลินตันนั้น นอกจากฟิลาเดลเฟีย และเพนซิลเวเนียแล้ว ยังแวะมิชิแกน ก่อนปิดแคมเปญที่เมืองลารีห์ รัฐนอร์ทแคโรไลนา
       
เอเอฟพี / เอเจนซีส์ / MGR online - รัฐบาลเดนมาร์กประกาศในวันอังคาร (8 พ.ย.) เริ่มเดินหน้าโครงการทดลองกัญชาด้านการแพทย์เป็นระยะเวลา 4 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2018 หวังแก้ปัญหาผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่เลือกการรักษาอาการเจ็บป่วยของตนด้วยกัญชาที่ผิดกฎหมายในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คำแถลงของกระทรวงสาธารณสุขเดนมาร์กระบุ โครงการทดลองนำกัญชามาใช้ในทางการแพทย์ดังกล่าวจะมีการควบคุมตรวจสอบอย่างเข้มงวดและอยู่ภายใต้การดูแลวินิจฉัย รวมถึงความรับผิดชอบจากแพทย์อย่างใกล้ชิด ในเบื้องต้นเป็นที่คาดกันว่ามีผู้ป่วยชุดแรกจำนวนประมาณ 500 รายที่จะถูกคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการทดลองของรัฐบาลเดนมาร์กนี้ ที่จะเปิดฉากขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 มกราคมปี 2018 ก่อนที่จำนวนของผู้ป่วยที่เข้าร่วมโครงการจะเพิ่มเป็นราว 1,500 รายในปี 2021 อย่างไรก็ดี การตัดสินใจล่าสุดของทางการเดนมาร์ก ในการเปิดทดลองการใช้กัญชาในทางการแพทย์ในครั้งถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจาก อันเดรียส รุดก์โยบิง ประธานสมาคมการแพทย์เดนมาร์ก (ดีเอ็มเอ) ที่ออกโรงตำหนิรัฐบาลผ่านหนังสือพิมพ์รายวัน “Politiken” โดยระบุว่าจนถึงขณะนี้ยังคงไม่มีหลักฐานที่เพียงพอเกี่ยวกับผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นกับคนไข้หากได้รับการรักษาด้วยกัญชาต่อเนื่องเป็นเวลานาน และว่ารัฐบาลเดนมาร์กกำลังทำให้ผู้ป่วยในระบบสาธารณสุขของประเทศตกอยู่ในอันตราย ที่ผ่านมามีหลายพรรคการเมืองในเดนมาร์ก ที่ชูนโยบายเปิดเสรีการใช้กัญชาเพื่อการผ่อนคลาย แต่ทว่า 3 พรรคการเมืองใหญ่ของประเทศทั้งพรรคโซเชียล เดโมแครตส์, พรรคเวนส์เตร ปาร์ตี้ ที่เป็นรัฐบาลอยู่ในเวลานี้ รวมถึงพรรคการเมืองที่ชูนโยบายต่อต้านผู้อพยพอย่างพรรคเดนิช พีเพิลส์ ปาร์ตี้ ต่างมีจุดยืนต่อต้านการเปิดเสรีกัญชาในเดนมาร์กทั้งสิ้น
       

เอเอฟพี - อบูบาการ์ อัล-บักดาดี ผู้นำสูงสุดกลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม (ไอเอส) เรียกร้องให้บรรดาสาวกนักรบยืนหยัดสกัดกั้นกองกำลังอิรักไม่ให้สามารถยึดเมืองโมซุลที่พวกเขาประกาศให้เป็น รัฐคอลีฟะห์เมื่อ 2 ปีก่อนกลับคืนไปได้  สำนักข่าวอัล-ฟุรกอนซึ่งเป็นสื่อในเครือไอเอส ได้เผยแพร่ข้อความเสียงที่อ้างว่าเป็นเสียงของบักดาดี เมื่อเช้าวันนี้ (3 พ.ย.) โดยเจ้าของเสียงนั้นกล่าวว่า ห้ามถอยเด็ดขาด”  การยืนหยัดอย่างมีเกียรตินั้น ง่ายกว่าการล่าถอยด้วยความอับอายเป็นพันเท่า อัล-บักดาดี ไม่ได้เผยแพร่ข้อความเสียงเช่นนี้มานานกว่า 1 ปีแล้ว  ถึงประชาชนทุกคนในนิเนเวห์ (Nineveh) โดยเฉพาะนักรบทั้งหลาย ขอให้ระวังความอ่อนแอของท่านขณะเผชิญหน้ากับศัตรู เขากล่าว โดยอ้างถึงจังหวัดนิเนเวห์ทางภาคเหนือของอิรักซึ่งมีโมซุลเป็นเมืองเอก ระยะหลังๆ มานี้เริ่มมีกระแสข่าวลือเกี่ยวกับสุขภาพและความเคลื่อนไหวของผู้นำสูงสุดไอเอส แต่ก็ยังไม่มีใครทราบว่าเขากบดานอยู่ที่ใดแน่เมื่อเดือน มิ.ย.ปี 2014 หลังจากที่นักรบไอเอสบุกเข้ายึดดินแดนของอิรักไว้ได้อย่างกว้างขวาง อัล-บักดาดี ได้ปรากฏตัวที่เมืองโมซุล และประกาศก่อตั้งรัฐคอลีฟะห์ที่ใช้กฎหมายอิสลามปกครอง โดยกินพื้นที่ครอบคลุมดินแดนของทั้งอิรักและซีเรีย อย่างไรก็ตาม รัฐคอลีฟะห์ที่ว่านี้เริ่มหดแคบลงเรื่อยๆ ตั้งแต่ปีที่แล้ว และเมื่อต้นสัปดาห์นี้กองทัพอิรักก็สามารถฝ่าเข้าไปถึงเมืองโมซุล ซึ่งเป็นฐานที่มั่นหลักสุดท้ายของไอเอสในอิรัก  กลุ่มพันธมิตรนานาชาติที่นำโดยสหรัฐฯ ประเมินว่ายังมีนักรบไอเอสตรึงกำลังอยู่ในโมซุลประมาณ 3,000-5,000 คน แต่ผลของสงครามครั้งนี้ก็คาดเดาได้อย่างไม่ต้องสงสัย กองกำลังอิรักหลายหมื่นนายที่มีเครื่องบินขับไล่ของกลุ่มพันธมิตรสหรัฐฯ หนุนหลังได้เริ่มยุทธการจู่โจมเมืองโมซุล ตั้งแต่วันที่ 17 ต.ค.

เอเจนซีส์ / MGR online - มอห์เซ็น กัมซารี ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายกิจการระหว่างประเทศของบริษัทน้ำมันแห่งชาติอิหร่าน (เอ็นไอโอซี) เผยที่กรุงเตหะรานในวันพุธ (2 พ.ย.) โดยระบุ ยอดการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านไปยังทวีปยุโรปพุ่งสูงทะลุ 700,000 บาร์เรลต่อวันแล้วในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ขณะที่เอเชียยังเป็นอีกหนึ่งภูมิภาคที่เป็นลูกค้ารายสำคัญของน้ำมันจากอิหร่าน รายงานข่าวซึ่งอ้างคำแถลงของผู้อำนวยการใหญ่ ฝ่ายกิจการระหว่างประเทศของเอ็นไอโอซีระบุว่า ยอดการจำหน่ายน้ำมันของอิหร่านในยุโรปได้ปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา ช่วยให้อิหร่านกลับมามีสถานะเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่สู่ยุโรปอีกครั้ง หลังจากที่ยุโรปเคยถือเป็นตลาดหลักที่รองรับน้ำมันจากอิหร่านมาช้านานตั้งแต่ยุคก่อนการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ข้อมูลของรัฐบาลอิหร่านระบุว่า คำสั่งซื้อน้ำมันจากบริษัทโตตาลของฝรั่งเศส, บริษัทเซ็ปซาจากสเปน, บริษัทเฮลเลนิค ปิโตรเลียมของกรีซ, บริษัทพลังงานเอ็มโอแอลของฮังการี และบีพีจากสหราชอาณาจักร ตลอดช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ถือเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ยอดการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านสู่ยุโรปพุ่งทะลุหลัก 700,000 บาร์เรลต่อวัน ขณะเดียวกัน รายงานข่าวระบุว่า บรรดาบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น เช่น มารุเบนิ, ซูมิโตโม, อิโตจู และคาเนมัตสึ ที่เคยห่างหายไป จากผลพวงของมาตรการคว่ำบาตรต่างทยอยกลับเข้าสั่งซื้อน้ำมันจากอิหร่านเพิ่มสูงขึ้น และคำสั่งซื้อจากญี่ปุ่นนี้ถือเป็นกำลังซื้อหลักที่ส่งผลให้ยอดการส่งออกน้ำมันจากอิหร่านสู่เพื่อนบ้านในเอเชียมีแนวโน้มการเติบโตในระดับที่น่าพอใจ ทั้งนี้ อิหร่านและมหาอำนาจทั้ง 6 ชาติ (กลุ่ม P5+1) ซึ่งประกอบไปด้วย 5 ชาติ สมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ คือ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย และสาธารณรัฐประชาชนจีน บวกกับอีก 1 ประเทศมหาอำนาจจากฝั่งยุโรปอย่างเยอรมนี สามารถบรรลุความตกลงประวัติศาสตร์ทางด้านนิวเคลียร์กันได้เมื่อ 14 ก.ค. ปีที่แล้ว ถือเป็นการปิดฉากการเจรจาแบบมาราธอนที่ใช้เวลานานกว่า 1 ทศวรรษ และถือเป็นข้อตกลงซึ่งพลิกโฉมการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคตะวันออกกลางครั้งใหญ่ หลังการบรรลุข้อตกลงดังกล่าว ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ผู้นำสหรัฐฯ ระบุว่า นี่ถือเป็นก้าวย่างสำคัญไปสู่ โลกแห่งความหวังที่เพิ่มสูงขึ้นและตอกย้ำในเวลาต่อมาว่าข้อตกลงประวัติศาสตร์นี้ถือเป็นแนวทางที่ดีที่สุด เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันทางอาวุธนิวเคลียร์ และช่วยลดทอนความตึงเครียดในภูมิภาคตะวันออกกลาง ขณะที่ประธานาธิบดี ฮัสซัน รูฮานี ผู้นำสายกลางของอิหร่าน ออกแถลงว่าความสำเร็จในการบรรลุข้อตกลงด้านนิวเคลียร์ครั้งนี้ถือเป็นข้อพิสูจน์ว่า การมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันอย่างสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่ได้ผลดียิ่ง และว่าหากการเผชิญหน้ากันอย่างศัตรูระหว่างวอชิงตันกับเตหะรานยังดำเนินอยู่ต่อไปก็คงไม่มีความเป็นไปได้แม้แต่น้อยที่ข้อตกลงเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอิสราเอลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู ประกาศว่าจะเดินหน้าทำทุกวิถีทางเพื่อหาทางทำลายล้างข้อตกลงอัปยศฉบับนี้ ซึ่งทางฝ่ายอิสราเอลมองว่าเป็น การยอมจำนนครั้งประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ และโลกตะวันตกให้กับชาติที่ชั่วร้ายอย่างอิหร่าน ภายใต้ข้อตกลงนี้ มาตรการลงโทษคว่ำบาตรอิหร่านทั้งหลายทั้งปวงของสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (อียู) และสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่บังคับใช้มาอย่างต่อเนื่องยาวนานได้ถูกยกเลิกเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่รัฐบาลเตหะรานยอมตกลงตัดทอนโครงการนิวเคลียร์ของตน ซึ่งสหรัฐฯ และโลกตะวันตกสงสัยมาโดยตลอดว่ามีเป้าหมายในการสร้าง ระเบิดนิวเคลียร์ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่เตหะรานยืนกรานปฏิเสธ นักวิเคราะห์มองว่า การบรรลุข้อตกลงประวัติศาสตร์ครั้งนี้ถือเป็นชัยชนะครั้งสำคัญยิ่ง ทั้งสำหรับบารัค โอบามา และฮัสซัน รูฮานี และยังถือเป็นผลดีต่อการลดทอนความตึงเครียดในเวทีการเมืองระหว่างประเทศที่มีมายาวนาน ถึงแม้ว่าผู้นำทั้งสองต่างต้องเผชิญหน้ากับแรงต่อต้านอย่างหนักหน่วงจากบรรดา นักการเมืองสายเหยี่ยวภายในประเทศของตนเอง โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ที่นักการเมืองจำนวนมากยังคงมองอิหร่านเป็นศัตรูคู่อาฆาตที่เป็น แกนอักษะแห่งปีศาจด้านสำนักข่าวไออาร์เอ็นเอของทางการอิหร่านรายงานว่า ผลของข้อตกลงนี้จะทำให้อิหร่านได้รับเงินนับหมื่นล้านดอลลาร์ที่ถูกอายัดไว้กลับคืนมา ขณะที่บรรดามาตรการคว่ำบาตรที่มีต่อธนาคารกลาง บริษัทน้ำมันแห่งชาติ บริษัทชิปปิ้ง และสายการบินของอิหร่านได้ถูกยกเลิก ถึงแม้มาตรการขององค์การสหประชาชาติในเรื่องการคว่ำบาตรห้ามซื้อขายอาวุธกับอิหร่านจะยังคงมีผลบังคับใช้ต่อไปอีก 5 ปี และห้ามอิหร่านจัดซื้อเทคโนโลยีด้านขีปนาวุธอีกนาน 8 ปี ว่ากันว่าผลประโยชน์ที่อิหร่านจะได้รับจากข้อตกลงคราวนี้อาจสร้างความกังวลต่อชาติพันธมิตรอาหรับของสหรัฐฯ ในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยเฉพาะในกรณีของซาอุดีอาระเบีย ประเทศที่ปกครองโดยมุสลิมนิกายสุหนี่ ที่เชื่อว่าอิหร่านซึ่งเปรียบเหมือนผู้นำของฝ่ายมุสลิมนิกายชีอะห์ให้การสนับสนุนต่อศัตรูของตนทั้งในสมรภูมิที่ซีเรีย เยเมน และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค อย่างไรก็ดี รัฐบาลอเมริกันในเวลานี้มองเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องเร่งฟื้นฟูความสัมพันธ์กับอิหร่าน ที่มี ศัตรูร่วมกันคือ กลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ที่กำลังยึดครองพื้นที่กว้างขวางทั้งในอิรักและซีเรียอยู่ในเวลานี้ และถือเป็น ภัยคุกคามใหญ่หลวงต่อสันติภาพของโลก ในอีกด้านหนึ่ง การยุติมาตรการคว่ำบาตรทั้งปวงจะช่วยส่งเสริมให้เศรษฐกิจอิหร่านเติบโตอย่างรวดเร็ว เนื่องจากสามารถกลับเข้าสู่ ตลาดน้ำมันได้อีกครั้ง แม้ในความเป็นจริงแล้ว กว่าที่น้ำมันจากอิหร่านจะกลับเข้าไปซื้อขายในตลาดโลกได้อย่างเต็มรูปแบบนั้นอาจต้องรอถึงช่วงครึ่งหลังของปี 2016 นี้ก็ตาม
       
เอเจนซีส์ / MGR online - ผลสำรวจความคิดเห็นล่าสุดในรัสเซียที่จัดทำขึ้นโดยศูนย์วิจัยอิสระ เลวาดา เซ็นเตอร์ระบุ 48 เปอร์เซ็นต์ หรือเกือบครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างชาวรัสเซียในเวลานี้มีความกังวลว่า สงครามกลางเมืองในซีเรียอาจลุกลามบานปลายจนกลายเป็น สงครามโลกครั้งที่ 3” ผลสำรวจความคิดเห็นดังกล่าวซึ่งมีการเผยแพร่เมื่อคืนวันจันทร์ (31 ต.ค.) ระบุว่า สงครามกลางเมืองในซีเรียที่ปะทุขึ้นมาตั้งแต่เดือนมีนาคมปี 2011 และเป็นสงครามที่มหาอำนาจอย่างรัสเซียและสหรัฐอเมริกา เข้า ถือหางคู่ขัดแย้งฝ่ายตรงข้ามกัน กล่าวคือ รัสเซีย รวมถึงอิหร่าน มีจุดยืนหนุนหลังระบอบการปกครองของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาดแห่งซีเรีย ในขณะที่ทางสหรัฐอเมริกาและซาอุดีอาระเบียประกาศให้การสนับสนุนฝ่ายกบฏ มีโอกาสลุกลามบานปลายจนกลายเป็นมหาสงครามโลกครั้งใหม่ ผลสำรวจล่าสุดที่พบว่า 48 เปอร์เซ็นต์ หรือเกือบครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างชาวรัสเซียในเวลานี้ มีความกังวลว่าสงครามกลางเมืองในซีเรียอาจลุกลามบานปลายจนกลายเป็น สงครามโลกครั้งที่ 3” นั้น ถือว่าเป็นตัวเลขที่พุ่งสูงขึ้นจากผลการสำรวจด้วยคำถามเดียวกันนี้ของเมื่อปีที่แล้วที่ในเวลานั้นมีชาวรัสเซียเพียง 29 เปอร์เซ็นต์ที่มีความกังวลในเรื่องนี้ ผลสำรวจครั้งนี้ยังระบุว่า 52 เปอร์เซ็นต์ของสาธารณชนในแดนหมีขาวเวลานี้ให้การสนับสนุนปฏิบัติการโจมตีทางอากาศ และมาตรการทางทหารอื่นๆ ที่รัฐบาลของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินนำไปใช้ในซีเรีย ขณะที่อีก 26 เปอร์เซ็นต์คัดค้านในเรื่องนี้ ผลสำรวจล่าสุดยังพบข้อมูลว่า 49 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มตัวอย่างชาวรัสเซีย เห็นด้วยที่รัฐบาลของตนจะมีบทบาทในสงครามกลางเมืองซีเรียต่อไป ขณะที่อีก 28 เปอร์เซ็นต์คัดค้าน ทั้งนี้ รัฐบาลรัสเซียสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับซีเรียตั้งแต่เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี ค.ศ. 1944 ในสมัยอดีตสหภาพโซเวียต โดยรัฐบาลมอสโกถือเป็นชาติแรกๆของโลกที่ให้การรับรองต่อซีเรีย ภายหลังจากที่ซีเรียเป็นเอกราชหลุดพ้นจากการเป็นดินแดนในปกครองของฝรั่งเศสเมื่อปี 1946 ก่อนที่ทั้งสองประเทศจะลงนามในข้อตกลงเสริมสร้างมิตรภาพและความร่วมมือระหว่างกันอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนตุลาคมปี 1980 ยังไม่นับรวมกับข้อตกลงซึ่งนำไปสู่การตั้งฐานทัพเรือของโซเวียตที่เมืองตาร์ตุสของซีเรียเมื่อปี 1971 ซึ่งยังคงใช้งานจนถึงปัจจุบัน ขณะที่รัฐบาลรัสเซียภายใต้การนำของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ตัดสินใจเปิดปฏิบัติการทางอากาศต่อฝ่ายกบฏในซีเรีย ตามคำร้องขอของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาดเมื่อเดือนกันยายน ปี 2015 และว่ากันว่า ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศของรัสเซียนี้ กลายเป็น จุดเปลี่ยนสำคัญที่ช่วยให้ระบอบอัสซาดกลับมาเป็นฝ่ายได้เปรียบในสงครามกลางเมืองที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2011

เอเจนซีส์ - เอฟบีไอปล่อย คลินตันพ้นบ่วงอีเมลฉาวอีกรอบ ทรัมป์ฉะระบบอยุติธรรมคุ้มกะลาหัวคนโกง พร้อมเรียกร้องผู้มีสิทธิออกเสียงออกไปกาบัตร เพื่อชำระโทษผู้สมัครจากเดโมแครต ด้านอดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งงดพาดพิงถึงการตัดสินใจของเอฟบีไอ และเดินหน้าหาเสียงวันสุดท้ายร่วมกับโอบามาและภรรยา ขณะที่โพลส่วนใหญ่ชี้ว่า คลินตันนำเพียงฉิวเฉียด แถมทรัมป์ยังตีตื้นในบางรัฐที่คะแนนแกว่ง ตอกย้ำว่า การเลือกตั้งครั้งนี้อาจต้องลุ้นกันถึงนาทีสุดท้าย ปลายเดือนที่แล้ว ชัยชนะสดใสของ ฮิลลารี คลินตัน ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครต หมองลงทันตาหลังจาก เจมส์ โคมีย์ ผู้อำนวยการสำนักงานสอบสวนกลางของสหรัฐฯ (เอฟบีไอ) ทำจดหมายแจ้งต่อรัฐสภา ว่า เอฟบีไอตัดสินใจฟื้นการสอบสวนกรณีการใช้เซิร์ฟเวอร์อีเมลส่วนตัวสมัยเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศของคลินตัน หลังพบอีเมลล็อตใหม่ระหว่างการตรวจสอบแล็ปท็อปของสามีของหนึ่งในผู้ช่วยสำคัญของคลินตัน ทว่า เมื่อวันอาทิตย์ (6 พ.ย.) หรืออีกเพียง 2 วันก่อนที่คูหาเลือกตั้งจะเปิดให้ประชาชนออกไปใช้สิทธิ โคมีย์ทำหนังสืออีกฉบับแจ้งรัฐสภา ว่า หลังจากที่เจ้าหน้าที่เอฟบีไอทำงานแข่งกับเวลาเพื่อตรวจสอบอีเมลที่ค้นพบใหม่ ซึ่งในระหว่างนั้นได้มีการตรวจสอบการสื่อสารทั้งหมด และที่ส่งถึงคลินตัน ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ เอฟบีไอมีความเห็นให้คงข้อสรุปเดิมในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา คือ ไม่สั่งฟ้องคลินตัน โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้สมัครจากพรรครีพับลิกันที่ลุยหาเสียงในรัฐที่คะแนนยังแกว่ง ประกาศว่า จะไม่ปล่อยให้คลินตันลอยนวลจากคดีอีเมลฉาว โดยบอกกับผู้สนับสนุนในมิชิแกน รัฐที่ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ของเดโมแครต คว้าชัยอย่างง่ายดายในปี 2012 ว่า เจ้าหน้าที่พิเศษของเอฟบีไอจะไม่มีวันปล่อยคลินตัน แม้ขณะนี้ ระบบที่อยุติธรรมจะคุ้มกะลาหัวเธออยู่ก็ตามฮิลลารี คลินตัน มีความผิด ตัวเธอเองรู้ดี เอฟบีไอ และประชาชนก็รู้เช่นกัน ตอนนี้จึงขึ้นอยู่กับอเมริกันชนในการพิจารณาคดีนี้ผ่านการเลือกตั้งในวันที่ 8” อดีตพิธีกรเรียลีโชว์ที่ตกเป็นข่าวลวนลามหญิงและหยาบคายประกาศ
บรรดาผู้นำพรรครีพับลิกันยังคงรุมวิจารณ์คลินตันเรื่องนี้เช่นเดียวกัน พอล ไรอัน ประธานสภาผู้แทนราษฎร ชี้ว่า คลินตัน เชื่อว่า ตัวเองอยู่เหนือกฎหมาย และทำทุกอย่างตามกฎของตัวเองตลอดเวลา และว่า การที่แคนดิเดตจากเดโมแครตใช้เซิร์ฟเวอร์ส่วนตัวขณะคุมกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างปี 2009 - 2013 ทำให้ความมั่นคงของประเทศตกอยู่ในอันตราย  ไรนซ์ พรีบัส ประธานคณะกรรมการแห่งชาติรีพับลิกัน สำทับว่า แม้การสอบสวนไม่ได้นำไปสู่การฟ้องร้องคดีอาญา แต่ก็พิสูจน์ให้เห็นว่า คลินตันละเมิดกฎหมายและโกหกชาวอเมริกันครั้งแล้วครั้งเล่าเกี่ยวกับพฤติกรรมสะเพร่าของตัวเอง  ขณะเดียวกัน พรรคเดโมแครต ก็ไม่ยอมปล่อยโคมีย์ง่ายๆ ไดแอนน์ ไฟน์สไตน์ วุฒิสมาชิกจากแคลิฟอร์เนีย วิจารณ์ว่า การประกาศล่าสุดของโคมีย์ทำให้จดหมายที่เขาส่งถึงรัฐสภาเมื่อปลายเดือนที่แล้ว ยิ่งดูน่าสงสัยมากขึ้นพร้อมเรียกร้องให้กระทรวงยุติธรรมตรวจสอบกระบวนการต่างๆ เพื่อไม่ให้มีความพยายามโน้มน้าวการเลือกตั้งแบบนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต  ทางด้าน เจนนิเฟอร์ พัลไมรี ผู้จัดการแคมเปญหาเสียงของคลินตัน ให้สัมภาษณ์ว่า ดีใจที่เรื่องนี้คลี่คลายเสียที  ทว่า คลินตันเองไม่พาดพิงถึงข้อสรุปของเอฟบีไอ แต่กลับเดินหน้าโจมตีคู่แข่งสำคัญเรื่องการใช้ถ้อยคำอัปลักษณ์หยาบคาย และพูดเป็นนัยว่า รัสเซียพยายามแทรกแซงการเลือกตั้งประมุขทำเนียบขาว
  มีพลังที่ทรงอานุภาพภายในและภายนอกอเมริกากำลังคุกคามให้เราแตกแยก เรามาถึงจุดที่ต้องพิจารณาให้ถ้วนถี่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ค่านิยมหลักของคนอเมริกันกำลังถูกทดสอบ  แม้ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า ข่าวการตัดสินใจของเอฟบีไอจะมีผลอย่างไรต่อการหาเสียงที่มีการโจมตีกันอย่างถึงพริกถึงขิงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของอเมริกา และยังเป็นเหตุการณ์ที่ทั่วโลกจับจ้องอย่างกังวล แต่ก็ทำให้ทีมหาเสียงของคลินตันโล่งใจอย่างมากระหว่างเตรียมการปราศรัยใหญ่ที่ฟิลาเดลเฟีย รัฐเพนซิลเวเนีย คืนวันจันทร์ (7) ซึ่งเป็นคืนสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง โดยคลินตันจะขึ้นเวทีร่วมกับโอบามาและมิเชล สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง รวมถึง บรูซ สปริงทีน ศิลปินรุ่นใหญ่ ก่อนไปหาเสียงรอบดึกที่นอร์ทแคโรไลนา ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นรัฐที่อาจชี้ขาดผลการเลือกตั้งในวันอังคาร  ทั้งนี้ ผลสำรวจความคิดเห็นจากไฟฟ์เทอร์ตีเอ็กซ์.คอม ระบุว่า คะแนนนิยมของคลินตัน นำทรัมป์เพียง 2.9% ในรอบสัปดาห์หลังจากเอฟบีไอรื้อฟื้นการตรวจสอบคดีอีเมลฉาว จากก่อนหน้านั้นที่นำถึง 5.7%  ส่วนโพลของเอบีซี/วอชิงตัน โพสต์ ที่ออกมาเมื่อวันอาทิตย์ให้คลินตันนำ 5% แต่คะแนนเฉลี่ยจากการสำรวจความคิดเห็นอย่างต่อเนื่องบ่งชี้ว่า การแข่งขันจะคู่คี่ โดยทรัมป์มีคะแนนตีตื้นขึ้นมาในบางรัฐที่คะแนนยังแกว่ง  เนต ซิลเวอร์ ผู้สื่อข่าวทรงอิทธิพลด้านข้อมูลจากไฟฟ์เทอร์ตีเอ็กซ์.คอม ให้คลินตันนำทรัมป์ 2 ต่อ 1 แต่เตือนว่า คะแนนนำของคลินตันไม่นิ่งเหมือนตอนที่โอบามานำในการเลือกตั้งรอบสองเมื่อ 4 ปีที่แล้วสำหรับรอยเตอร์/อิปซอส ประเมินว่า คลินตัน มีโอกาสถึง 90% ที่จะชนะการเลือกตั้งนี้
       

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น