วันศุกร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

โค้งสุดท้ายก่อนถึงงานประกาศผลภาพยนตร์ออสการ์ ครั้งที่ 88

งานออสการ์ครั้งที่ 88 ในปีนี้ เป็นการรวบรวมผลงานที่ออกฉายในปี 2015 จะจัดงานกันขึ้นที่ ดอลบี้เธียเตอร์ ฮอลลีวู้ดสตรีท ลอสแอนเจลิส มลรัฐแคลิฟอร์เนียเช่นเดิม ถ่ายทอดโดยสถานีโทรทัศน์ ABC ของสหรัฐ โดยพิธีกรผู้ดำเนินรายการในปีนี้จะกลับมาใช้บริการของคริส ร็อค ปีนี้มาในคอนเซ็ปต์ We All Dream in Gold  มีภาพยนตร์ที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจำนวน 8 เรื่อง ในจำนวนนี้มีภาพยนตร์ที่ได้เข้าชิงในสาขาต่างๆ มากที่สุดก็คือ The Revenant จำนวน 10 สาขารางวัล รองลงมาคือ Mad Max : Fury Road เข้าชิงจำนวน 8 สาขารางวัล The Martian เข้าชิง 7 สาขารางวัล นอกนั้นก็ลดหลั่นกันลงไป ภาพยนตร์ที่เข้าชิงในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในปีนี้มีความโดดเด่นแตกต่างกันไป แต่จุดร่วมของหนังที่ได้เข้าชิงสาขาหนังเยี่ยมในปีนี้เกือบทั้งหมดสร้างโดยอ้างอิงจากเรื่องจริงหรือเหตุการณ์จริง (The Big Short,Bridge of Spies,The Revenant,Spotlight) และที่สร้างจากนวนิยายแต่ก็เขียนจากประสบการณ์จริง (The Martian,Room)  อีกทั้งยังมีจุดร่วมที่เหมือนกันอีกประเด็นหนึ่งก็คืองานด้านกำกับภาพ กำกับศิลป์ งานด้านภาพนั่นเองที่โดดเด่น ดีงามเกือบทุกเรื่องที่เข้าชิง และบทที่เรียกว่ายอดเยี่ยมไม่แพ้กัน ในบรรดาหนังที่เข้าชิงในปีนี้ที่โดดเด่นด้านการแสดงมากจริงๆ ก็คือ Leonardo Dicaprio จาก The Revenant และ Michael Fassbender จาก Steve Jobs แต่รายหลังไม่ได้เข้าชิงในสาขาหนังเยี่ยม ในปีนี้จะเป็นอีกปีหนึ่งที่ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมออสการ์ ในสาขาภาพยนตร์และผู้กำกับอาจจะไม่ใช่เป็นเรื่องเดียวกันก็เป็นได้ แต่ในสาขาบทภาพยนตร์กับหนังเยี่ยมควรจะเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะมิฉะนั้น ความเป็นหนังเยี่ยมจะลดคุณค่าลงทันที เพราะไม่รู้จะเอาหลักเกณฑ์ใดมาการันตีความยอดเยี่ยมของหนัง  นี่จึงเป็นอีกปีหนึ่งที่การตัดสินรางวัลออสการ์ในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมดูจะตัดสินยากอีกปีหนึ่ง เพราะไม่สามารถคาดเดาได้ว่าเรื่องใดจะมาวิน แต่โดยส่วนตัว ผู้เขียนชอบอยู่ 2 เรื่องก็คือ The Revenant กับ Spotlight จึงขอโฟกัสอยู่แค่เพียง 2 เรื่องนี้เท่านั้น มิใช่ว่าเรื่องอื่นจะไม่ดี หรือไม่มีสิทธิ์ได้รางวัล แต่โดยองค์รวมและความเข้มข้นของการเดินเรื่อง และประเด็นในหนัง ผู้เขียนขอยกให้ 2 เรื่องนี้เป็นคู่ชิงที่แท้จริงในโค้งสุดท้าย สำหรับ The Revenant นั้น ทั้งตอนดู trailer และตัวเต็มของภาพยนตร์ให้อรรถรสในแบบที่เคยดูเรื่อง No Country for Old Men (2007) มันทั้งตื่นเต้น ตราตรึง และลุ้นสุดตัว ไปกับตัวละคร อารมณ์แบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นมานานแล้วกับการดูภาพยนตร์ ก็เรื่องล่าสุดก็นั่นแหละ No Country for Old Men ส่วน Spotlight เป็นอีกรสชาดนึง ที่ค่อนข้างสะเทือนใจไปทีละน้อย จากการค่อยๆ เล่า ล้วงลึกประเด็นของหนัง ค่อยๆ เปิดประเด็นทีละนิด ทีมนักแสดงที่เล่นดี จนเราเชื่อ อารมณ์ของหนังดูคล้ายตอนที่ผู้เขียนเคยได้รับจากการชม ภ.เรื่อง Primal Fear (1996) แต่ทั้งสองเรื่องนั้นจุดพีคตอนท้ายเรื่อง หรือบทสรุปตอนจบเรื่องนั้นยังไม่ทำให้ผู้เขียนรู้สึกประทับใจเท่าที่ควร แต่โดยรวมยังคงยกให้ 2 เรื่องนี้เบียดเข้าวินได้ ในอัตรา 46 : 54 คือน้ำหนักเทไปให้ Spotlight เหนือ The Revenant นิดๆ ส่วนตัวสอดแทรกที่อาจกลายเป็นม้ามืดที่จะเข้ามาเบียดคว้าชัยไป ก็อาจเป็น Bridge of Spies ,The Big Short หรือ Brooklyn แต่ผู้เขียนไม่คิดว่าหนังอย่าง Mad Max หรือ The Maritian จะได้เข้าชิงในสาขานี้เลย จึงไม่ได้ให้น้ำหนักมากนัก กล่าวโดยสรุปเชียร์ The Revenant กับ Spotlight เรื่องใดได้ก็ไม่ถือว่าพลิกความคาดหมาย     

Best Picture : Nominations 8 choice

The Big Short   ,    Bridge of Spies   ,   Brooklyn   ,    Mad Max: Fury Road    ,   The Martian   ,  The Revenant   ,  Room   ,   Spotlight

Best Direction : Nominations 5 choice


Best Original Screenplay : Nomination 5 choice


Best Adapted Screenplay : Nomination 5 choice


The Revenant  ต้องรอด

The Revenant เป็นภาพยนตร์ดราม่าที่อ้างอิงมาจากการสำรวจป่าสหรัฐอเมริกาที่ไม่ถูกบันทึกลงแผน­ที่ของ ฮิวจ์ กลาส ในช่วงปี 1820 ผลงานของผู้กำกับชาวเม็กซิโก อเลฮังโดร อินาร์ริตู เจ้าของรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมเวที ออสการ์ 2015 จาก Birdman โดยทีมกองถ่ายหนังเรื่องนี้ลำบากลำบนกันพอสมควร เพราะลงทุนไปถ่ายทำในสถานที่จริงทั้งหมด(ไม่มีการถ่ายในสตูดิโอ) ส่วนคิวถ่ายก็ไล่ตั้งแต่ฉากแรกไปฉากสุดท้ายไม่มีสลับจึงใช้เวลานาน8เดือน บางช่วงพวกเขาต้องเผชิญอากาศหนาวเหน็บ ติดลบกว่า25องศา ที่บ้ากว่านั้นคือ เอ็มมานูเอล ลูเบสกี้ ผู้กำกับภาพยืนยันจะใช้แสงธรรมชาติล้วนๆ ตัวหนังเล่าถึง ฮิวจ์ กลาส พรานที่นำทางคณะสำรวจเข้ามาในป่าลึก ก่อนที่พวกเขาจะถูกโจมตีจากชนพื้นเมือง ระหว่างหลบหนี ฮิวจ์ พลาดท่าถูกหมีกริซลีจู่โจมจนบาดเจ็บสาหัส ต่อมา จอห์น ฟิตซ์เจอรัลด์ หนึ่งในคณะเดินทางจะปลิดชีพเขา แต่ ฮอร์ค ลูกชายเชื้อสายอินเดียนแดงมาขวางทำให้ถูกฆ่าตาย ฮิวจ์ ถูกดินกลบทิ้งไว้ในหลุม กระนั้นเขากลับสามารถฟื้นจากหลุมขึ้นมาได้ด้วยความเคียดแค้นเต็มเปี่ยมในอก  The Revenant คือหนังดราม่าเอาชีวิตรอดในอารมณ์หนักหน่วง เต็มไปด้วยความดิบเถื่อน รุนแรง ดุดัน ไปจนถึง หดหู่ ชะตากรรมของตัวละครนำโหดร้ายพอๆกับสภาพอากาศในหนัง บทเข้มข้นพอสมควรกับความทรหดอดทนของชายคนหนึ่ง เพียงแต่มันก็ไม่ได้แปลกใหม่หรือคาดเดายากนัก งานภาพสวยเด่นจนกลบทุกอย่าง แสงแดดในเรื่องงดงามคุ้มค่ากับการรอคอยของทีมงาน หนังพักสายตาคนดูบ่อยๆด้วยการถ่ายภาพมุมเงยกว้างๆ ช้อนจากพื้นขึ้นไปบนท้องฟ้า ส่วนซาวน์ประกอบในหนังก็ดีไม่แพ้กัน การใช้ความเงียบทำให้เราได้ยินเสียงสิ่งต่างๆรอบตัวชัดเจน ทั้ง น้ำไหล กิ่งไม้หัก ลืมหวีด สัตว์ร้อง และฟืนไฟแตกปะทุ เข้ากับดนตรีประกอบบางๆฝีมือของ Ryuichi Sakamoto ด้าน อเลฮังโดร อินาร์ริตู ก็โชว์ฝีมือเต็มที่กับฉากลองเทคที่มาเป็นระยะเกือบตลอดเรื่อง ควบคู่ไปกับการถ่ายโคลสอัพใกล้ๆใบหน้านักแสดง เขานำเสนอสังคมอเมริกันยุคบุกเบิกด้วยสายตาคนนอก จึงเน้นเสียดสีคนขาว และเห็นอกเห็นใจชาวพื้นเมือง เจ้าของแผ่นดินเดิมซึ่งถูกพรากทุกอย่างไปจากชีวิต อีกครั้งที่เราได้เห็นการแสดงที่ดีของ ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ คนดูน่าจะรับรู้ได้กับความทุ่มเทของเขาในบทบาทนี้ (ไว้ผมยาว หนวดเคราเฟิ้ม กินเนื้อดิบ คลานไปมาในป่า แก้ผ้ากลางหิมะ ฯ) แม้จะไม่ใช่การแสดงที่ดีที่สุดของเขา แต่ก็ถือว่าน่าจดจำไม่น้อย ข้อนี้ต้องให้เครดิต ทอม ฮาร์ดี้ ที่เล่นเป็น ฟิตซ์เจอรัลด์ด้วย การแสดงของเขาช่วยส่งเสริมตัวละครของ ลีโอนาโด มาก The Revenant มีฉากหน้าเป็นการตามไล่ล่าล้างแค้นธรรมดา แต่มีฉากหลังตีแผ่ความเลวร้ายของมนุษย์ที่กระทำต่อคนต่างชาติต่างภาษา เคลือบแฝงด้วยประเด็นความเชื่อของชาวอินเดียน เกี่ยวกับความตายและการหลุดพ้นจากความเจ็บปวด ไม่ว่าจะทางกาย หรือ ทางใจ
(เครดิตอ้างอิง รีวิว : ชายผู้ฟื้นจากหลุม โดยคุณนกไซเบอร์)
 
 
 

Spotlight  คนข่าวคลั่ง

Spotlight เป็นหนังที่เต็มไปด้วยสีสัน อันน่าทึ่งเกี่ยวกับทีมข่าวสืบสวนเจ้าของรางวัลพูลิตเซอร์ ประจำคอลัมน์ Spotlight (เน้นการนำเสนอข่าวเด็ดแบบเจาะลึก) ของหนังสือพิมพ์บอสตัน โกล้บ ในปี 2002 พวกเขาช็อกคนทั้งโลก ด้วยการนำเสนอข่าวเปิดโปงสำนักบาทหลวงคาทอลิก ที่พยายามหมกเม็ดและปกปิดกรณีที่บาทหลวงในท้องที่จำนวนกว่า 70 รูป ได้ล่วงละเมิดทางเพศแก่ผู้เยาว์มานานนับทศวรรษ เมื่อมาร์กี้ บารอน (ลีฟ ชไรเบอร์) ย้ายจากไมอามี่ มารับตำแหน่งบรรณาธิการคนใหม่ของของหนังสือพิมพ์บอสตัน โกล้บ ตอนฤดูร้อนปี 2001 เขาสั่งให้ทีมข่าวคอลัมน์สปอตไลท์ คอยตามข่าวเล็กๆ ข่าวหนึ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นในตอนนั้น ข่าวดังกล่าวเป็นเรื่องของบาทหลวงท้องถิ่นรูปหนึ่งที่โดนกล่าวหาว่าได้ทำการล่วงละเมิดทางเพศลูกศิษย์ประจำโบสถ์ที่อายุยังไม่บรรลุนิติภาวะกว่า 10 คน ตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา แม้จะทราบดีว่า การเข้าไปหาเรื่องสำนักบาทหลวงคาทอลิกบอสตันนั้น ไม่ต่างอะไรกับการไปแหย่รังแตน แต่ทีมข่าวสปอตไลท์ทั้ง 4 คน อันได้แก่  วอลเตอร์  ร็อบบี้  โรบินสัน (ไมเคิล คีตัน) หัวหน้าทีม, ซาช่า ไฟเฟอร์ (เรเซล แม็คอดัมส์), ไมเคิล เรเซนเดส (มาร์ค รัฟฟาโล) 2 นักข่าวหัวเห็ด และแม็ตต์ คาร์โรลล์ (ไบรอัน ดาร์ชี่ เจมส์) ค้นหาข้อมูลกลับไม่ได้เกรงกลัว ตรงกันข้าม พวกเขายิ่งขุดลึกลงไปมากกว่าที่ใครเคยทำมา แม้ว่าในส่วนรายละเอียดของคดีล่วงละเมิดทางเพศผู้เยาว์ของบาทหลวงคาทอลิกจะได้รับการนำเสนออยางละเอียดแล้วในคอลัมน์สปอตไลท์ แต่เนื้อหาในส่วนของการทำข่าวแบบเจาะลึกของเหล่ากองบรรณาธิการ การไล่เก็บข้อมูลว่า มีบาทหลวงรูปใดบ้างและจำนวนเท่าใดบ้างที่เกี่ยวข้องกับเรื่องแปดเปื้อนนี้รวมถึงกลวิธีอันเต็มไปด้วยเล่ห์เหลี่ยมของสำนักบาทหลวงที่พยายามทำทุกอย่างเพื่อปกปิดข่าวฉาว สิ่งเหล่านี้ยังไม่ได้รับการเปิดเผยมาก่อน
ผู้อำนวยการสร้าง นิโคล ร็อคลิน และบลาย เพกอน เฟาสต์ ถือเป็นหัวหอกสำคัญในการหยิบเอากระบวนการทำงานอันแสนตื่นเต้นของทีมข่าวสืบสวนของหนังสือพิมพ์บอสตัน โกล้บ ต่อคดีล่วงละเมิดทางเพศสุดอื้อฉาวมาสร้างเป็นหนัง เราคิดว่ามันเป็นเรืองเหลือเชื่อที่สุดตั้งแต่เราเคยได้ยินมา  เฟาสต์บอก ทีมสปอตไลท์ได้ทำการเขย่าสถาบันที่ได้ชื่อว่า มีทั้งอำนาจล้นฟ้า เงินล้นเหลือ และคนสนับสนุนที่แข็งแรง ให้เกิดการสั่นคลอน แสดงให้ประชาชนเห็นว่า ทุกสถาบันในสังคมสมควรได้รับการตรวจสอบ  สำหรับงานเขียนบทนั้น ร็อคลินและเฟาสต์ ติดต่อ ทอม แม็คคาร์ธี่ ซึ่งเป็นทั้งผู้กำกับและคนเขียนบทมือฉมัง เจ้าของผลงานขวัญใจ นักวิจารณ์และคนดูหนังคุณภาพอย่าง The Station Agent, Win Win และ The Visitor มาเป็นผู้จรดปากกาเขียน จากนั้น แม็คคาร์ธี่ ได้ชักชวน จอช ซิงเกอร์ อดีตมือเขียนบทซีรี่ส์ The West Wing มาร่วมงานด้วย  แม็คคาร์ธี่ตีความงานชิ้นนี้ออกมาหลายประเด็นด้วยกัน สิ่งที่ผมทึ่งมากๆ ก็คือการที่คนนอกอย่าง มาร์ตี้ บารอน ซึ่งเพิ่งย้ายมาจากไมอามี่ และมาทำงานที่บอสตัน โกล้บ เป็นวันแรก เป็นคนจุดประกายให้สืบสวนกลวิธีการกลบข่าวของสำนักบาทหลวง ผมคิดว่านั่นเป็นความคิดที่กล้าหาญมาก  มีแง่มุมส่วนตัวของแม็คคาร์ธี่อีกอย่างที่เขาดึงมาใช้งานในหนังเรื่องนี้ ผมถูกเลี้ยงมาโดยครอบครัวคาทอลิก ความรู้สึกของผมที่มีต่อสถาบันศาสนาคือ ทั้งเข้าใจ ทั้งชื่นชม และเคารพ  แม็คคาร์ธี่อธิบาย นี่ไม่ใช่หนังที่สร้างขึ้นเพื่อโจมตีศาสนา มันคือการตั้งคำถามว่า เรื่องแบบนี้มันเกิดขึ้นได้อย่างไร?  เรายอมให้เกิดการล่วงละเมิดสิทธิเด็กได้อย่างไร โบสถ์บางแห่งเคยทำ หรือบางแห่งอาจจะยังทำอยู่ และไม่ใช่แค่การล่วงละเมิดทางเพศ แต่พวกเขาถึงขั้นปกปิดเรื่องเลวร้ายที่เกิดขึ้นด้วย เราปล่อยให้เรื่องแบบนี้ดำเนินอยู่นับสิบๆ ปีได้อย่างไร โดยไม่มีใครลุกขึ้นมาเปิดโปงอะไรเลย   จอช ซิงเกอร์ และทอม แม็คคาร์ธี่ ทำงานไม่ต่างจากทีมข่าวสปอตไลท์ พวกเขาใช้เวลาเป็นเดือนๆ ในการสัมภาษณ์นักข่าว เหยื่อผู้เคราะห์ร้าย และบุคคลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในครั้งนี้อย่างละเอียด เราเดินทางไปบอสตัน 2-3 ครั้ง เราสัมภาษณ์นักข่าวแต่ละคนที่มีข้อมูลเรื่องนี้ไปหลายรอบ และผมคิดว่าเรามีวัตถุดิบมากพอ  ซิงเกอร์บอกว่า แต่สำหรับทอม ความสมจริงคือประเด็นหลักในการทำหนัง เขาเอาแต่ถามซ้ำๆว่า แล้วนักข่าวคนที่ทำเรื่องพอร์เตอร์หล่ะ แล้วพวกทนายความหล่ะ เราไม่สัมภาษณ์เหรอ เราน่าจะไปคุยกับจอน อัลบาโน่มั๊ย เราขอไปคุยกับเอริค แม็คลีชได้หรือเปล่า  ทอมต้องการเข้าใจเรื่องนี้จากทุกแง่มุม ผมชอบค้นคว้าหาข้อมูลนะ เพราะฉะนั้นคำถามของทอม เปรียบเสมือนเสียงสวรรค์สำหรับผมเลย ในที่สุด เราได้เจอกับเรื่องเซอร์ไพรส์จริงๆ เพราะทันทีที่เราเสาะหาข้อมูลจากรอบนอก เราได้พบรายละเอียดที่คาดไม่ถึงอีกมากมาย ซึ่งมันสร้างความหนักแน่นและสมจริงให้กับหนังเรื่องนี้  วอลเตอร์ โรบินสันตัวจริง นึกถึงบทความสปอตไลท์ ที่พวกเขาทำอย่างภาคภูมิใจ ในปี 2002 เราตีพิมพ์ข่าวเกือบ 600 ชิ้น  เกี่ยวกับเด็กนับพันรายที่บาทหลวงกว่าร้อยรูปล่วงละเมิดทางเพศ ไมใช่แค่ในบอสตัน แต่ทุกคดีทั่วทั้งประเทศ แล้วก็อย่างที่เราทราบกัน มันน่าเศร้ามากที่เรื่องแบบนี้มันเกิดขึ้นทั่วโลก  หลังจากผ่านมาหลายปี การได้ย้อนกลับไปนึกถึงคดีอื้อฉาวในครั้งนั้น ทำให้ไมเคิล เรเซนเดส ขมขื่นพอสมควร แม้ว่าการลงแรงทำข่าวดังกล่าว จะยังผลให้เขาและเพื่อนร่วมงานได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ (รางวัลอันทรงเกียรติสูงสุดของวงการนักเขียนและสิ่งพิมพ์) ในปี 2003 ก็ตาม เราได้รับทั้งรางวัล คำยกย่องสรรเสริญมากมายนับไม่ถ้วน รวมถึงหนังสปอตไลท์ ที่ให้เกียรติกับเรามาก เรารู้สึกยินดี แต่ลึกๆ แล้วเรากลับรู้สึกเงียบงันอยู่ภายใน  เรเซนเดสกล่าว ความทรงจำร้ายๆ อันแจ่มชัดที่บรรดาเหยื่อเต็มใจ บอกเล่าให้พวกเราฟัง ยังคงเกาะกุมหนักอึ้งอยู่ในใจพวกเราเสมอ พอนึกว่าเหยื่อล่วงละเมิดทางเพศ แต่ละคนต้องผ่านอะไรมาบ้าง เราก็ไม่มีกะจิตกะใจที่จะรื่นเริงเฉลิมฉลองอะไรทั้งนั้น  ปัจจุบันไมเคิล เรเซนเดส ยังคงทำข่าวสืบสวนให้กับคอลัมน์สปอตไลท์ ในหนังสือพิมพ์บอสตัน โกล้บ เขาสละเวลากว่า 10 ชั่วโมงนั่งคุยกับ จอช ซิงเกอร์ หนึ่งในผู้เขียนบท เพื่อถ่ายทอดข้อมูลที่เป็นประโยชน์ การกลับไปพูดเรื่องเก่าๆ นั้นมันชวนให้เศร้า แต่ก็คงไม่สะเทือนใจเท่ากับการได้เห็นมันเป็นภาพจำลองที่เกิดขึ้นต่อหน้ากล้อง มาร์ค รัฟฟาโล่ เล่นได้เหมือนกับผมในปี 2001 มากๆ ผมสั้นแบบนี้ ใส่รองเท้าหนังสีดำแบบมีเชือกผูกแบบนี้ เสื้อโปโลสีดำเอย กางเกงยีนเอย เหมือนไปซะหมดเขาเล่า แถมเขายังเลียนแบบวิธีการพูดและการเดินของผมได้ดีเยี่ยม   (เครดิตอ้างอิง จากบทความ Spotlight : อีกหนึ่งผลงานสุดยอดของปี 2015, นิตยสารเอ็นเตอร์เทน ฉบับที่ 1199 ปักษ์แรก มกราคม 2016)

“Spotlight” เป็นเรื่องราวของทีมนักข่าวหนังสือพิมพ์ Boston Globe ที่ทำการตีแผ่เรื่องราวเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศ และการข่มขู่เด็กชายในศาสนจักรคาทอลิก ที่เป็นกระแสโด่งดังในอเมริกาในช่วงปี 2001-2002  บทภาพยนตร์ของ “Spotlight” ถือเป็นจุดเด่นและจุดแข็งของเรื่องนี้ โดยได้นักเขียนมือดีผู้กำกับของเรื่องนั่นเอง Tom McCarthy ผู้ที่เคยสร้างสรรค์ผลงานบทอันสุดยอดในแอนิเมชั่นพิกซาร์เรื่อง UP มาแล้ว มาครั้งนี้เค้าก็ยังคงคุณภาพไว้เช่นเคย ด้วยการเขียนบทเล่าเรื่องราวในการสืบเสาะหาข้อมูลต่างๆของเหล่าทีมนักข่าว ‘Spotlight’ โดยบทของหนังจะมีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ มีการบรรยายฉากการล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งถึงแม้จะเป็นแค่การบรรยายเท่านั้น แต่คนดูสามารถที่จะจินตนาการภาพออกได้ และการเดินเรื่องของบท จะเป็นการหาข้อมูล จากจุดนี้ไปจุดโน้น แล้วความจริงก็จะปรากฏไปเรื่อยๆ ซึ่งทำให้ไม่น่าเบื่อ และคนดูก็ต้องนั่งลุ้นกับเรื่องราวความจริงที่เหล่าทีมนักข่าวเหล่านี้กำลังเฟ้นหาข้อมูลอยู่ เรื่องราวการล่วละเมิดทางเพศในคริสตจักรมีมาเนิ่นนาน แต่ทำไมถึงไม่มีการเปิดโปง? นั่นเป็นคำถามที่เหล่าทีมนักข่าว ‘Spotlight’ ต้องทำการหาคำตอบ เรื่องนี้ไม่ใช่การเปิดโปงเรื่องความเลวร้ายในคริสตจักรเพียงอย่างเดียว แต่ยังแฝงไปด้วยเรื่องราวในด้านการเมืองในคริสตจักร ด้วยประโยคที่กินใจว่า “They control everything” ถึงแม้หนังอาจจะไม่ได้เจาะลึกถึงประเด็นว่า ใครอยู่เบื้องหลังที่แท้หลัง แต่หนังก็พยายามที่จะเปิดโปงเรื่องราวให้กับคนภายนอกได้รับรู้ ผ่านทีมนักข่าว ‘Spotlight’ ที่นับถือคาทอลิกเช่นกัน  อีกหนึ่งประเด็นที่หนังต้องการนำเสนอ ซึ่งถือว่าเป็นจุดเด่นของเรื่องคือ จรรยาบรรณของสื่อ ในหนังจะเล่าเรื่องราวการหาข้อมูลของทีมนักข่าว เพื่อนำมาเปิดโปงเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศดังที่กล่าวมาเบื้องต้น แต่สุดท้ายมีจุดหักมุม  เพราะบางครั้งเรื่องดังกล่าว สื่ออาจจะเป็นฝ่ายที่รับรู้และมีข้อมูลมากที่สุด แต่สื่อกลับไม่มีใครลุกขึ้นมาเปิดโปง หรือหาวิธีแก้ไขปัญหา กลับปล่อยให้ปัญหานี้เกิดขึ้นต่อเนื่องหลายสิบปี จุดนี้คือประเด็นที่สำคัญของบทเรื่องนี้ แค่นี้ยังไม่พอ หนังให้น้ำหนักไปยังประเด็นที่ละเอียดอ่อนที่สุดไม่ว่าจะศาสนาไหนๆ คือเรื่อง ความถูกต้อง และความศรัทธา คนเราเมื่อมีความศรัทธา มักจะมองข้ามความถูกต้อง ไม่ยอมรับความจริง ซึ่งนี่อาจจะเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้การกระทำความผิดดังกล่าวยังดำเนินมาเรื่อยๆ โดยที่ผู้เสียหายเห็นการกระทำดังกล่าวว่าเป็นการศรัทธา เห็นผู้ที่กระทำผิดว่าเป็นพระเจ้าเพียงเพราะเป็นหลวงพ่อในคริสตจักร ซึ่งไม่ว่าในศาสนาไหนๆ การตีแผ่เรื่องราวในด้านลบของศาสนา ผู้ที่ตีแผ่ย่อมถูกมองในแง่ลบอย่างแน่นอน ซึ่งไทยเราก็เคยประสบมาแล้วในหลายๆเหตุการณ์  ในส่วนของการแสดง หนังได้นักแสดงแถวหน้าของวงการอย่าง Mark Ruffalo, Michael Keaton, Rachel McAdams และอื่นๆ มาร่วมตีแผ่เรื่องราวดังกล่าว โดยทีมนักแสดงทุกคนในเรื่อง แสดงออกมาได้น่าประทับใจมากๆ  สมแล้วที่หนังจะคว้ารางวัล ทีมนักแสดงยอดเยี่ยมมาครองได้เกือบทุกสถาบัน (เครดิตอ้างอิง รีวิว : คนข่าวคลั่ง โดย คุณ Chaigimme) อีกทั้งดนตรีประกอบภาพยนตร์ (Score) ที่ช่วยขับเน้น กระตุ้น อารมณ์หม่นหมอง หดหู่ให้กับหนังอีกทาง ซึ่งช่วยเสริมและสร้างอารมณ์ร่วมไปกับตัวละครได้เป็นอย่างดี
 
 
 
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น