เอเอฟพี
- ประธานาธิบดีฟรังซัวส์ ออลลองด์แห่งฝรั่งเศสเมื่อวันศุกร์(12ก.พ)
ออกมาเตือนว่าการที่อังการาขยายความเกี่ยวข้องมากขึ้นเรื่อยๆในความขัดแย้งซีเรีย
ก่อความเสี่ยงที่จะเกิดสงครามระหว่างตุรกีและรัสเซีย
หลังอังการาเสนอส่งกองกำลังภาคพื้นนานาชาติเข้าหยุดสงครามซีเรีย "ตุรกีเข้าพัวพันในสงครามซีเรีย
มีความเสี่ยงของสงคราม" ออลลองด์ให้สัมภาษณ์กับสถานีวิทยุฟรองซ์ อินเตอร์
"นี่คือเหตุผลว่าทำไมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติต้องประชุมกัน"
เขากล่าว กระทรวงการต่างประเทศรัสเซียเปิดเผยในมอสโก
ว่าคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติมีกำหนดประชุมฉุกเฉิน ณ เวลา 20.00 จีเอ็มที(ตรงกับเมืองไทย 03.00น.) ตามคำร้องของมอสโก
ต่อกรณีตุรกีเสนอให้ส่งกองกำลังทางภาคพื้นเข้าไปประจำการในซีเรีย ตุรกีร้องขอปฏิบัติการทางภาคพื้นร่วมในซีเรีย
ภายใต้ความร่วมมือของพันธมิตรนานาชาติ
โดยยืนยันว่ามันคือเพียงหนเดียวที่จะหยุดสงครามที่ยืดเยื้อมานานกว่า 5 ปีของประเทศแห่งนี้ ซาอุดีอาระเบีย
ซึ่งเป็นหนึ่งในชาติเช่นเดียวกับตุรกีที่ให้การสนับสนุนฝ่ายกบฏที่กำลังสู้รบกับกองกำลังของประธานาธิบดีบาชาร์
อัล-อัสซาด
ก็บอกเช่นกันว่าพร้อมเข้าร่วมในกองกำลังนานาชาติที่จะเข้าประจำการในซีเรีย ส่วนรัสเซีย
ซึ่งปฏิบัติการโจมตีทางอากาศสนับสนุนกองกำลังของนายอัสซาดมาตั้งแต่ปลายเดือนกันยายน
เรียกร้องคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติกดดันตุรกีให้ระงับยิงปืนใหญ่ใส่กองกำลังชาวเคิร์ดทางภาคเหนือของซีเรีย
ความสัมพันธ์ระหว่างตุรกีกับรัสเซียพังครืนลงนับตั้งแต่อังการายิงเครื่องบินทิ้งระเบิดของมอสโกตกตามแนวชายแดนซีเรียในเดือนพฤศจิกายน ฝรั่งเศสเป็นหนึ่งในฝ่ายต้านที่เป็นปรปักษ์มากที่สุดของนายอัสซาด
และได้ยกระดับปฏิบัติการโจมตีทางอากาศถล่มพวกรัฐอิสลาม(ไอเอส) ในซีเรียและอิรัก
ตามหลังเหตุนักรบญิฮัดโจมตีกรุงปารีสในเดือนพฤศจิกายน เอเอฟพี -
กลุ่มนักรบเคิร์ดที่เชื่อมโยงกับองค์กรนอกกฎหมายอย่างพรรคแรงงานเคอร์ดิสถาน (PKK) เมื่อวันศุกร์(12ก.พ.)
ออกมาอ้างความรับผิดชอบอยู่เบื้องหลังเหตุระเบิดฆ่าตัวตายในอังการาช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา
คร่าชีวิต 28 ศพ เกือบทั้งหมดเป็นทหาร พร้อมเตือนต่างชาติอย่าเดินทางมาเยือนตุรกีและขู่ทำลายภาคการท่องเที่ยวอันสำคัญของประเทศ "เหตุโจมตีด้วยระเบิดฆ่าตัวตายเมื่อเย็นวันที่
17 กุมภาพันธ์ ดำเนินการโดยนักรบผู้เสียสละรายหนึ่ง
ซึ่งจู่โจมขบวนรถทหารของพวกฟาสซิสต์ตุรกีในอังการา นี่คือการโจมตีของกองพันอมตะTAK"
จากถ้อยแถลงของเคอร์ดิสถาน ฟรีดอม ฟัลคอนส์(TAK) ที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ของพวกเขา
นอกจากนี้แล้วนักรบเคิร์ดกลุ่มนี้ยังเตือนนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่ให้เดินทางมาเยือนตุรกี
และขู่ทำลายอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอันสำคัญยิ่งของประเทศ
"การท่องเที่ยวคือเป้าหมายหลักแห่งการทำลายของเรา
เราขอเตือนชาวต่างชาติและนักท่องเที่ยวท้องถิ่นอย่าไปตามพื้นที่ท่องเที่ยวต่างๆในตุรกี
เราจะไม่รับผิดชอบต่อผู้ที่จะเสียชีวิตในเหตุโจมตีต่างๆที่มีป้าหมายตามพื้นที่เหล่านั้น"
เคอร์ดิสถาน ฟรีดอม ฟัลคอนส์ระบุ นักรบกลุ่มนี้ระบุชื่อมือระเบิดฆ่าตัวตายคือนายไซนาร์ ราเพริน เกิดในปี 1989
ที่จังหวัดวาน ทางตะวันอกของประเทศ ที่มีชาวเคิร์ดเป็นชนกลุ่มใหญ่
โดยเขาเคยมีส่วนร่วมกับการต่อสู้เพื่ออิสรภาพของชาวเคิร์ดและเข้าร่วมกลุ่มเคอร์ดิสถาน
ฟรีดอม ฟัลคอนส์ ในปี 2011
คำแถลงของ TAK บอกว่าการโจมตีดังกล่าวเป็นการลงมือเพื่อแก้แค้นให้ผู้คนที่อ่อนแอซึ่งหลบซ่อนตามฐานที่มั่นต่างๆระหว่าง
2 เดือนของปฏิบัติการกวาดล้าง PKK ของกองทัพตุรกี
ในเมืองจีซเร ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ ก่อนหน้านี้เจ้าหน้าทีของตุรกีเพิ่งอออกมากล่าวโทษเหตุโจมตีอังการา
ว่าเป็นฝีมือของYPG กลุ่มติดอาวุธของพรรคสหภาพประชาธิปไตยของชาวเคิร์ด(PYD)
ข้อกล่าวหาที่ทางกลุ่มปฏิเสธ คำกล่าวอ้างของ TAK ที่มาพร้อมกับการระบุตัวตนของมือระเบิด ขัดแย้งกับถ้อยแถลงของนายอาห์เมต
ดาวูโตกลู นายกรัฐมนตรีตุรกี ที่บอกว่ามือระเบิดเป็นฝ่ายปฏิบัติการของ YPG และเป็นชาวซีเรีย รอยเตอร์
- ประธานาธิบดีเรเซพ ตอยยิบ เออร์โดกัน แห่งตุรกี ระบุในวันศุกร์(19ก.พ.)
ว่ากลุ่มนักรบชาวเคิร์ดซีเรียใช้อาวุธที่จัดหาโดยสหรัฐฯเข่นฆ่าพลเรือนของพวกเขา
หลังกล่าวโทษพวกหัวรุนแรงกลุ่มนี้อยู่เบื้องหลังระเบิดฆ่าตัวตายนองเลือดในกรุงอังการาช่วงกลางสัปดาห์
พร้อมเผยจะเปิดอกคุยกับประธานาธิบดีบารัค โอบามา หลังจากนี้ในวันเดียวกัน
เพื่อแจ้งให้ทราบถึงเรื่องดังกล่าว
การที่สหรัฐฯให้การสนับสนุนพรรคสหภาพประชาธิปไตยของชาวเคิร์ด(PYD)
กองกำลังติดอาวุธชาวเคิร์ดในซีเรีย
ที่ทางวอชิงตันมองว่าเป็นพันธมิตรที่สามารถใช้ประโยชน์ในการสู้รบกับพวกรัฐอิสลาม(ไอเอส)
ก่อความโกรธเกรี้ยวแก่ตุรกีและเสี่ยงก่อความแตกแยกระหว่างเหล่าพันธมิตรนาโต้กับอังการา
ที่มองพวก PYD ในฐานะองค์กรก่อการร้ายที่มีความเชื่อโยงกับกลุ่มนักรบชาวเคิร์ดอื่นๆที่ก่อความไม่สงบภายในแผ่นดินของพวกเขา
เออร์โดกันและรัฐบาลตุรกีกล่าวหาว่าพวก YPG กลุ่มติดอาวุธของ
PYD อยู่เบื้องหลังเหตุคาร์บอมบ์ฆ่าตัวตายโจมตีแก่นกลางการบริหารของกรุงอังการาเมื่อวันพุธ(17ก.พ.) คร่าชีวิตผู้คน 28 ศพ ส่วนใหญ่เป็นทหาร ประธานาธิบดีตุรกีบอกว่าเขารู้สึกเสียใจยิ่งที่ตะวันตกปฏิเสธเรียกพวก
PYD และ YPG เป็นกลุ่มก่อการร้ายและจะอธิบายกับโอบามาทางโทรศัพท์ว่าอาวุธที่จัดมอบโดยสหรัฐฯนั้นมีส่วนพวกหัวรุนแรงเหล่านี้ "ผมจะบอกกับเขาว่า
ดูซิว่าอาวุธที่คุณส่งมอบนั้นถูกใช้อย่างไรและที่ไหน"
เขาเผยกับผู้สื่อข่าวในอิสตันบูล "หลายเดือนก่อนผมพบปะกับโอบามา
ผมบอกกับเขาว่าอาวุธที่จัดหาโดยสหรัฐฯ ซึ่งบรรทุกโดยเครื่องบิน 3 ลำ
มีอยู่ครึ่งหนึ่งที่ตกอยู่ในมือของไอเอสและอีกครึ่งตกไปอยู่ในเงื้อมมือของ PYD"
เขากล่าว นายออร์โดกันอ้างถึงกรณีที่เครื่องบินสหรัฐฯหย่อนเสบียงทางทหาร 28 ลังในช่วงปลายปี 2014 ที่มีความตั้งใจมอบให้แก่นักรบชาวเคิร์ดอิรักใกล้เมืองโคบานีของซีเรีย
แต่เจ้าหน้าที่เพนตากอนยอมรับในตอนนั้นว่าหนึ่งในนั้นตกไปอยู่ในเงื้อมมือของไอเอส
และต่อมาก็อ้างว่าได้พบลังที่สูญหายและได้โจมตีทางอากาศทำลายมันไปแล้ว ก่อนหน้านี้ เมฟลุต คาวูโซกลู
รัฐมนตรีต่างประเทศของตุรกีกล่าวหาสหรัฐฯเผยแพร่ถ้อยแถลงที่ขัดแย้งกันเกี่ยวกับนักรบชาวเคิร์ดอิรัก
โดยระบุนายจอห์น เคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศอเมริกาบอกกับเขาว่าพวกนักรบเคิร์ดเชื่อใจไม่ได้
ซึ่งเป็นคำพูดที่แต่งต่างจากจุดยืนอย่างเป็นทางการของวอชิงตัน สหรัฐฯไม่พิจารณาพวก YPG ว่าเป็นกลุ่มก่อการร้าย
ขณะที่ทางโฆษกกระทรวงการต่างประเทศระบุเมื่อวันพฤหัสบดี(18ก.พ.)
ว่าวอชิงตันไม่ได้อยู่ในฐานะยืนยันหรือปฏิเสธคำกล่าวของตุรกีที่อ้างว่าพวก YPG
อยู่เบื้องหลังเหตุระเบิดอังการา นอกจากนี้แล้วทางโฆษกยังเรียกร้องตุรกีหยุดยิงปืนใหญ่ถล่มพวก
YPG ขณะที่ฝ่ายการเมืองของ YPG ปฏิเสธว่าไม่ได้อยู่เบื้องหลังเหตุโจมตีอังการา
และบอกว่าตุรกีใช้เรื่องนี้ในการอ้างความชอบธรรมในการขยายการสู้รบทางภาคเหนือของซีเรีย
รอยเตอร์ -
ศาลแบกแดดเมื่อวันพฤหัสบดี(18ก.พ.)
พิพากษาประหารชีวิตผู้ต้องขังสมาชิกรัฐอิสลาม(ไอเอส) 40 คน
โทษฐานเข่นฆ่าทหารกว่าพันนายที่ถูกพวกนักรบหัวรุนแรงกลุ่มนี้จับกุมตัวไว้ได้ระหว่างปฏิบัติการจู่โจมสายฟ้าแลบบุกยึดดินแดนทางเหนือของอิรักในปี
2014 ทหารราว 1,700
นายถูกสังหารหมู่หลังจากพวกเขาหลบหนีออกจากที่มั่นซึ่งเคยเป็นฐานทัพทหารของสหรัฐฯและตั้งอยู่รอบนอกทางเหนือของเมืองติกริต
การเข่นฆ่าที่กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความโหดเหี้ยมของพวกรัฐอิสลามและความเกลียดชังระหว่างนิกายของพวกเขา
ซึ่งเป็นกลุ่มนักรบสุหนี่ ที่มีต่อชาวมุสลิมชีอะห์ของอิรัก
ที่เป็นชนกลุ่มใหญ่ของประเทศ อับดุล-ซัตตาร์ อัล-เบิร์กดาร์ โฆษกสภายุติธรรมสูงสุดของอิรัก
อ้างคำแถลงของศาลอาญาแบกแดด ระบุว่าสมาชิกไอเอสทั้ง 40 คน
ถูกพิพากษาประหารชีวิตในข้อหาก่อการร้าย แต่มีจำเลยอีก 7 คนที่ได้รับการชำระคดีและถูกปล่อยตัวเป็นอิสระ
เนื่องจากขาดหลักฐาน กองกำลังด้านความมั่นคงจับกุมผู้ต้องสงสัยจำนวนมากในความเกี่ยวข้องกับเหตุสังหารหมู่ทหารหลังยึดคืนเมืองติกริตจากพวกไอเอสได้สำเร็จเมื่อปีที่แล้ว
โดยเมื่อเดือนกรกฏาคมปีก่อน มีผู้ถูกพิพากษาประหารชีวิต 24 รายและเวลานี้อยู่ระหว่างรอผลตัดสินการยื่นอุทธรณ์
ขณะที่เจ้าหน้าที่ศาลเผยว่ามีผู้ต้องสงสัยทั้งหมดกว่า 600 คน องค์การนิรโทษกรรมสากล
ซึ่งมีสำนักงานในลอนดอน ประณามกระบวนการพิจารณาคดีที่นำไปสู่การพิพากษาประหารชีวิต
โดยบอกว่ามีช่องโหว่และแสดงให้เห็นถึงการละเลยความยุติธณรมและชีวิตมนุษย์
พร้อมระบุว่าตั้งแต่เข้าสู่ปี 2016 มีจำนวนผู้คนที่ถูกประหารชีวิตในอิรัก
เพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 100 คนแล้ว เบิร์กดาร์
บอกว่าโทษประหารชีวิตทั้งหมดจะถูกพิจารณาทบทวนโดยศาลอุทธรณ์ เนื่องจากกฎหมายอิรักให้สิทธิ์อุทธรณ์โดยอนุมัติต่อผู้ถูกพิพากษาประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีพ
แม้ว่าจำเลยจะไม่ได้เป็นฝ่ายยื่นอุทธรณ์ด้วยตนเองก็ตามเอเจนซีส์ / MGR online - เกิดเหตุโจมตีโดยมือระเบิดฆ่าตัวตาย ซึ่งแต่งกายด้วยเครื่องแบบทหารในฐานทัพแห่งหนึ่งในเยเมน เป็นเหตุให้มีทหารรัฐบาลเยเมนเสียชีวิตอย่างน้อย 15 นาย และได้รับบาดเจ็บอีกนับสิบรายในกรุงเอเดนเมื่อวันพุธ (17) เหตุโจมตีโดยมือระเบิดฆ่าตัวตายในเครื่องแบบทหารดังกล่าวเกิดขึ้นภายในเขตฐานทัพราส อาบาส ในเขตอัล โบไรกาห์ของกรุงเอเดน และเกิดขึ้นในระหว่างที่กำลังพลของกองทัพเยเมนจำนวนหนึ่งกำลังเข้ารับการฝึกทางยุทธวิธีโดยทหารจากกองทัพซูดาน รายงานข่าวระบุว่า มือระเบิดฆ่าตัวตายซึ่งแต่งกายในเครื่องแบบทหารเยเมนได้จุดระเบิดตัวเองบริเวณจุดตรวจแรกของฐานทัพดังกล่าว โดยแรงระเบิดส่งผลให้มีทหารเยเมนเสียชีวิตอย่างน้อย 15 นาย และอีกราว 50 นายได้รับบาดเจ็บ ซึ่งในจำนวนนี้มีหลายรายอาการสาหัส หลังเกิดเหตุไม่นาน กลุ่มติดอาวุธอิสลามิสต์ท้องถิ่นซึ่งประกาศสวามิภักดิ์ต่อกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ในซีเรียและอิรัก ออกมาอ้างความรับผิดชอบ โดยระบุนักรบรายหนึ่งของตนที่ทำหน้าที่มือระเบิดสามารถสังหารทหารเยเมนได้กว่า 20 ราย ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนธันวาคม ปีที่แล้ว กลุ่มติดอาวุธอิสลามิสต์กลุ่มเดียวกันนี้ได้ก่อเหตุโจมตีและสามารถปลิดชีพของญาฟาร์ โมฮัมเหม็ด ซาอัด อดีตผู้ว่าราชการกรุงเอเดนได้ ทั้งนี้ เยเมนซึ่งได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดของโลกอาหรับ ประสบภาวะสงครามกลางเมืองอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลากว่า 2 ปีที่ผ่านมา หลังจากที่รัฐบาลที่มีซาอุดีอาระเบียหนุนหลังถูกกลุ่มกบฏฮูตีส์ซึ่งมีอิหร่านอยู่เบื้องหลังทำการโจมตีจนประธานาธิบดีซึ่งฝักใฝ่ซาอุฯ ต้องหลบหนีออกนอกประเทศ และนำมาซึ่งการเปิดปฏิบัติการโจมตีทางอากาศของซาอุดีอาระเบียกับชาติพันธมิตรอาหรับฝ่ายมุสลิมสุหนี่ ที่เกรงว่าฝ่ายกบฏซึ่งเป็นพวกมุสลิมชีอะห์และมีอิหร่านหนุนหลังจะได้ครองอำนาจในเยเมน ขณะที่บรรดาเครือข่ายกลุ่มก่อการร้ายทั้งอัลกออิดะห์และกลุ่มรัฐอิสลามในเยเมนต่างฉวยโอกาสนี้ขยายอิทธิพลและก่อการโจมตีในช่วงที่ประเทศประสบภาวะไร้ขื่อแปเช่นนี้
รอยเตอร์/เอเอฟพี - มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 28 คนในกรุงอังการา เมืองหลวงของตุรกีในวันพุธ (17ก.พ.) หลังรถยนต์ซุกซ่อนวัตถุระเบิดถูกจุดชนวนขึ้นขณะที่ขบวนรถบัสทหารแล่นผ่านจุดเกิดเหตุที่อยู่ใกล้ๆ กับรัฐสภา อาคารราชการ และกองบัญชาการของกองทัพตุรกี รองนายกรัฐมนตรี เบกีร์ บอสดัก ระบุในทวิตเตอร์ว่าการโจมตีเป็นการกระทำเพื่อก่อการร้าย ขณะที่นายกรัฐมนตรี อาห์เมต ดาวูโตกลู ซึ่งมีกำหนดออกเดินทางไปยังกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ในช่วงค่ำวันพุธ (17 ก.พ.) ได้ยกเลิกการเดินทางโดยทันที รอยเตอร์อ้างผู้เห็นเหตุการณ์บอกว่า “ได้ยินเสียงระเบิดดังสนั่นหวั่นไหวและได้กลิ่นแรงมากแม้ว่าเราจะอยู่ห่างออกไปหลายช่วงตึก” ขณะที่สื่อมวลชนท้องถิ่นรายงานว่า นอกจากผู้เสียชีวิตข้างต้นแล้ว ยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกหลายคน สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น-เติร์ก และเอ็นทีวี ชาแนลส์ รายงานโดยอ้างคำสัมภาษณ์ของนายเมห์เมต คิลิคลาร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอังการา ระบุว่าการโจมตีมีเป้าหมายที่ขบวนรถบัสทหาร ขณะที่เจ้าหน้าที่จากสำนักงานเสนาธิการทหารบอกเช่นกันว่ากำลังพลคือเป้าหมายของการโจมตี แต่ไม่สามารถยืนยันจำนวนผู้เสียชีวิตได้ ในเวลาต่อมาผู้ว่าราชการจังหวัดอังการาแถลงเพิ่มเติมว่า มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 18 ราย และบาดเจ็บ 45 คน ตัวเลขเหยื่อที่สอดคล้องกับข้อมูลของเจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทยที่เปิดเผยกับรอยเตอร์ อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงสาธารณสุขให้ข้อมูลที่ต่างออกไป โดยบอกว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บถึง 61 คน และบอกว่าได้รับรายงานผู้เสียชีวิตราว 20 ถึง 21 ราย จากนั้นไม่นานโฆษกรัฐบาลระบุว่ายอดผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็น 28 รายแล้ว แต่ยังไม่มีข้อมูลว่าใครอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์นี้ ทางกองทัพได้ออกถ้อยแถลงระบุว่าเหตุระเบิดดังกล่าว ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาเร่งด่วนตอนเย็นในเมืองหลวง ไม่ห่างจากรัฐสภาตุรกี อาคารรัฐบาล และเหล่ากองบัญชาการทางทหาร มีเป้าหมายที่รถบัสทหารของกองทัพที่กำลังจอดติดไฟแดง แต่ไม่ได้บอกว่ามีกำลังพลมากน้อยแค่ไหนอยู่บนรถบัสเหล่านั้น ผู้สื่อข่าวเอเอฟพีรายงานว่า พบเห็นกลุ่มควันลอยขึ้นเหนือพื้นที่และแรงระเบิดได้ยินไปทั่วเมือง ทำเอาชาวบ้านต้องรุดออกมายังระเบียงด้วยความตื่นตระหนก จากนั้นรถฉุกเฉินและรถดับเพลิงก็ถูกส่งไปยังจุดเกิดเหตุซึ่งทางตำรวจได้ปิดกั้นรอบๆ พื้นที่เรียบร้อยแล้ว เบื้องต้นยังไม่มีกลุ่มใดออกมาอ้างความรับผิดชอบ แต่พวกรัฐอิสลาม (ไอเอส) ถูกกล่าวโทษว่าอยู่เบื้องหลังเหตุโจมตีหลายระลอกในประเทศแห่งนี้นับตั้งแต่ช่วงกลางปีก่อน เมืองหลวงของตุรกีอยู่ในการเฝ้าระวังขั้นสูงอยู่ก่อนแล้ว หลังมีผู้เสียชีวิตมากถึง 103 คน ในเหตุมือระเบิดฆ่าตัวตาย 2 คนจุดชนวนกลางขบวนชุมนุมอย่างสันติของเหล่านักเคลื่อนไหวในกรุงอังการาเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม เหตุโจมตีครั้งนองเลือดที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของประเทศ มีผู้เสียชีวิต 11 ราย ทั้งหมดเป็นนักท่องเที่ยวชาวเยอรมัน เมื่อมือระเบิดฆ่าตัวตายจุดชนวนบึ้มขึ้นที่เขตประวัติศาสตร์สำคัญและเป็นแหล่งยอดนิยมของบรรดานักท่องเที่ยวในนครอิสตันบูล ในวันที่ 16 มกราคม โดยทั้งสองเหตุการณ์กล่าวโทษว่าเป็นฝีมือของไอเอส เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตุรกีควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยเป็นสมาชิกไอเอสหลายคน ด้วยเจ้าหน้าที่บอกว่าพวกเขากำลังวางแผนโจมตีในอิสตันบูลและอังการา อย่างไรก็ตาม ในขณะเดียวกันตุรกีก็ยังกำลังเดินหน้าจู่โจมกองกำลังพรรคแรงงานเคอร์ดิสถาน (พีเคเค) ที่ลงมือโจมตีนองเลือดสังหารกองกำลังด้านความมั่นคงหลายต่อหลายครั้งทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ
รอยเตอร์ - สหรัฐฯ กำลังกดดันนาโตให้เพิ่มบทบาทในการต่อสู้กับพวกรัฐอิสลาม (ไอเอส) ในซีเรีย และอิรัก ท่ามกลางความเห็นแย้งจากเยอรมนีและฝรั่งเศส ที่เกรงว่ายุทธศาสตร์ดังกล่าวเสี่ยงเผชิญหน้ากับรัสเซีย คู่อริเก่าแก่สมัยสงครามเย็น ด้วยสมาชิกทั้ง 28 ชาติของนาโตต่างเป็นหนึ่งใน 66 ประเทศพันธมิตรต่อต้านไอเอสอยู่ก่อนแล้ว ดังนั้นสหรัฐฯ จึงหวังให้นาโตเป็นสถาบันสำหรับนำพาอาวุธยุทโธปกรณ์ การฝึกฝนและทักษะความรู้ที่เคยนำพันธมิตรในอัฟกานิสถานมาสู่ซีเรีย “มันคุ้มค่าที่จะเสาะหาแนวทางที่นาโตจะให้การสนับสนุนอย่างเหมาะสม อาทิ การใช้แสนยานุภาพต่างๆ ของการเป็นอันหนึ่งเดียวกัน อย่างเช่นในฐานะผู้จัดเตรียมกำลังพล” นายแอช คาร์เตอร์ รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ บอกกับที่ประชุมพันธมิตร ณ สำนักงานใหญ่นาโตในกรุงบรัสเซลส์ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว อ้างถึงความชำนาญของนาโต้ในการระดมทหาร เครื่องบินและเรือจากพันธมิตร ในความพยายามยึดคืนเมืองอิรักในซีเรียและเมืองโมซุลในอิรัก 2 ป้อมปราการของพวกไอเอส วอชิงตันต้องการให้ยุโรปตอบสนองต่อความยุ่งเหยิงและรัฐล้มเหลวใกล้ชายแดนยุโรปเข้มข้นกว่าเดิม คำเรียกร้องขอความช่วยเหลือจากนาโตของนายคาร์เตอร์มีขึ้นในระหว่างที่เหล่ารัฐมนตรีกลาโหมจากพันธมิตรนานาชาติต่อต้านไอเอสหารือกันเป็นครั้งแรกเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ณ สำนักงานใหญ่ของนาโต้ในบรัสเซลส์ แม้ได้รับการสนับสนุนจากอังกฤษ แต่ความพยายามผลักดันของสหรัฐฯ ไม่ได้รับเสียงตอบรับที่ดีนักจากฝรั่งเศส และเยอรมนี ด้วยปารีสและเบอร์ลินแสดงความกังวลว่าการมีส่วนพัวพันในซีเรียมากขึ้นของนาโต้อาจถูกรัสเซียมองว่าเป็นการยั่วยุ โดยมอสโกอาจคิดว่าพันธมิตรแห่งนี้กำลังแสวงหาหนทางแผ่ขยายอิทธิพล เหล่าคณะทูตบอกว่า ในขณะที่รัฐบาลซีเรียกำลังรุกคืบใกล้ชายแดนทางตะวันออกเฉียงใต้ของนาโต การเป็นปรปักษ์กันหนักหน่วงขึ้นระหว่างรัสเซียกับตุรกี ก็ยิ่งทำให้สมาชิกบางส่วนของพันธมิตรนาโตดูลังเลใจมากกว่าเดิม ขณะเดียวกัน แม้มีข้อตกลงระหว่างรัสเซียกับสหรัฐฯ ในการหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุทางอากาศที่ไม่พึงประสงค์ แต่ฝรั่งเศสและเยอรมนีกังวลว่าด้วยที่รัสเซียมีเป้าหมายโจมตีกลุ่มกบฏแทนที่จะเป็นพวกไอเอสก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงของการเผชิญหน้า “นาโตและรัสเซียไม่ได้ต่อสู้กับศัตรูคนเดียวกัน” ทูตรายหนึ่งของนาโตระบุ การมีส่วนร่วมของนาโต้ในซีเรียจะเป็นการตอกกลับพวกนักวิจารณ์ที่ตำหนิว่าพันธมิตรแห่งนี้เอาแต่จับตาดูเฉยๆ ปล่อยให้รัสเซียขยายบทบาทในซีเรีย นอกจากนี้มันเป็นแสดงถึงความใส่ใจต่อความกังวลของเหล่าพันธมิตรทางใต้ อย่างเช่นสเปน อิตาลี และโปรตุเกส ที่นาโต้ยังไม่มียุทธศาสตร์จัดการความเสี่ยงต่างๆ ในแถบเมดิเตอร์เรเนียน ทางเข้าหลักของผู้ลี้ภัยความขัดแย้งจากตะวันออกกลางหลายล้านคน เจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เผยว่า ณ เวลานี้มีการพิจารณาหารือทางเหลือต่างๆ นานา ในนั้นรวมถึงเพิ่มจำนวนครูฝึกของนาโตแก่ตำรวจและทหารอิรัก เช่นเดียวกับเพิ่มความแข็งแกร่งแก่กรมกองของรัฐบาลในพื้นที่ต่างๆ ที่ยึดคืนมาได้จากพวกไอเอส สหรัฐฯ แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่าไม่ต้องการเห็นบทบาทของกองกำลังประจัญบานของตะวันตก “ดินแดนที่ยึดคืนมาได้จากไอเอสควรถูกครอบครองและปกครองโดยคนในพื้นที่และคนที่ต้องการใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น”
เอพี - แหล่งข่าววงในเผยไอเอสถังแตก ต้องตัดเงินเดือนนักรบทั่วภูมิภาค ขอให้ชาวบ้านในพื้นที่ยึดครองบางแห่งจ่ายค่าไฟเป็นดอลลาร์ รวมถึงยอมให้ไถ่ตัวนักโทษในราคาคนละ 500 ดอลลาร์ กลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ที่เคยอวดอ้างว่าจะผลิตเงินของตัวเองออกมาใช้ บัดนี้กำลังประสบปัญหาสภาพคล่องอย่างหนัก หลังจากถูกกลุ่มประเทศพันธมิตรระดมถล่มปูพรมทางอากาศ และเจอมาตรการอื่นๆ ที่ทำให้เงินในคลังร่อยหรอไปมากมายตั้งแต่ฤดูใบไม้ร่วงที่แล้ว กระทั่งต้องระงับมาตรการจูงใจเพื่อสร้างความจงรักภักดีในหมู่นักรบ ได้แก่ การจ่ายเงินเดือนสูง โบนัสสำหรับการฮันนีมูนหรือมีลูก ไม่เว้นแม้แต่การแจกเครื่องดื่มชูกำลังและช็อกโกแลต “สนิกเกอร์” จากการสัมภาษณ์ผู้ลี้ภัย 3 คนที่มีครอบครัวและคนรู้จักที่ยังอาศัยอยู่ในเมืองร็อกเกาะห์ ที่มั่นซึ่งเป็นเสมือนเมืองหลวงของไอเอสในซีเรีย, ชาวบ้านในเมืองโมซุล เมืองใหญ่ใต้การปกครองของไอเอสทางภาคเหนือของอิรัก และเหล่านักวิเคราะห์ เป็นเวลานาน 3 สัปดาห์ ทำให้ได้รับรู้ว่าสิ่งจำเป็นพื้นฐานในฐานที่มั่นตามเมืองต่างๆ ของไอเอสเริ่มขาดแคลน และเกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างกว้างขวาง ในร็อกเกาะห์ นักรบทุกระดับถูกลดเงินเดือนครึ่งหนึ่งนับตั้งแต่เดือนธันวาคมที่ผ่านมา ไฟฟ้าต้องปันส่วนกัน และราคาปัจจัยพื้นฐานทะยานลิ่ว นักเคลื่อนไหวในร็อกเกาะฮ์ที่ปัจจุบันย้ายไปอยู่ในเมืองกาเซียนเท็ปข องตุรกีแต่ยังติดต่อกับญาติมิตรในบ้านเกิดสม่ำเสมอ เผยว่า วิธีการเหล่านั้นไม่สามารถอุดช่องโหว่ของไอเอสที่ต้องการเงินจำนวนมากไปซื้ออาวุธทดแทนที่สูญเสียไปจากการถูกโจมตีทางอากาศและการรบ รวมถึงการจ่ายเงินเดือนนักรบ ซึ่งสองส่วนนี้คิดเป็น 2 ใน 3 ของงบประมาณของกลุ่ม ทั้งนี้ จากการประเมินของไอเมนน์ จาวัด อัล-ทามิมี นักวิจัยของมิดเดิล อีสต์ ฟอรัม ที่เป็นแหล่งข้อมูลเอกสารเกี่ยวกับไอเอส นักเคลื่อนไหวในร็อกเกาะห์คนเดิมเสริมว่า ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ไอเอสเริ่มยอมรับการจ่ายภาษี ค่าน้ำ ค่าไฟเป็นเงินดอลลาร์ เอกสารการประกาศลดเงินเดือนนักรบที่อัล-ทามิมี พบโดยบังเอิญ ระบุเหตุผลในการลดเงินเดือนว่า เกิดจากสถานการณ์ที่ไม่ปกติ ซึ่งหมายถึงการทรุดดิ่งของราคาน้ำมัน ซึ่งเคยเป็นแหล่งรายได้หลักของกลุ่ม, การโจมตีทางอากาศต่อคลังเก็บเงินสดและโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำมันของกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตัดสินใจของรัฐบาลอิรักในการหยุดการจ่ายเงินเดือนข้าราชการในพื้นที่ที่ถูกไอเอสยึดตั้งแต่เดือนกันยายนปีที่แล้ว เพื่อดัดหลังไอเอสที่ขูดรีดภาษีประชาชนถึง 20-50% ของเงินเดือน ลิซา โมนาโก ที่ปรึกษาด้านการต่อต้านการก่อการร้ายของประธานาธิบดีบารัค โอบามา มองโลกแง่ดีว่า การโจมตีคลังเก็บเงินสดและท่อน้ำเลี้ยงต่างๆ ของไอเอส กำลังผลิดอกออกผลให้เห็นชัดเจนขึ้น นอกจากนั้น การบุกหนักในจังหวัดอะเลปโปของกองทัพซีเรียที่ได้การสนับสนุนจากรัสเซีย ยังเพิ่มความกดดันต่อไอเอสไม่แพ้กัน ผู้ลี้ภัยจากเมืองอัล-บับในอะเลปโป เผยว่า นักรบระดับล่างเริ่มไม่พอใจและแสดงอาการขวัญหนีดีฝ่อจากการถูกโจมตีทางอากาศตัดขาดเส้นทางสนับสนุนและทำลายแหล่งรายได้ของไอเอสทั้งในซีเรียและอิรัก ชาวเมืองร็อกเกาะฮ์ที่ตอนนี้หนีไปอยู่ในเบรุต เล่าสำทับว่า ชาวซีเรียที่อยู่นอกประเทศกำลังส่งเงินดอลลาร์กลับไปให้พี่น้องในบ้านเกิดที่ต้องเผชิญภาวะข้าวยากหมากแพง โดยราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น 25%, เนื้อแพงขึ้นเกือบ 70% และน้ำตาลแพงขึ้นสองเท่า ที่เมืองฟอลลูจาห์ เมืองแรกในอิรักที่ตกเป็นของไอเอสในปี 2014 นักรบที่เคยได้ค่าเหนื่อยเดือนละ 400 ดอลลาร์ ไม่ได้เงินแม้เพียงเหรียญเดียว แถมอาหารยังถูกตัดเหลือวันละแค่ 2 มื้อ ชาวบ้านเผยว่า ผู้ที่สามารถอยู่ในเมืองนี้ได้คือคนที่ยอมจ่ายเงิน 1,000 ดอลลาร์ให้ไอเอส กลุ่มนักรบหัวรุนแรงกลุ่มนี้ยังยอมให้ชาวฟอลลูจาห์นำเงินไปไถ่ตัวนักโทษ โดยตั้งค่าไถ่ไว้ที่ 500 ดอลลาร์ต่อคน ขณะที่ชาวเมืองโมซุลบอกว่า ไอเอสเริ่มช่องทางหาเงินใหม่ด้วยการปรับพลเมืองที่ละเมิดกฎการแต่งตัวอันเข้มงวด แทนการโบยแบบเดิม นอกจากนั้น ไอเอสยังเริ่มยึดของมีค่าของประชาชน ทั้งรถและสินค้าอื่นๆ และนำไปขายต่อในซีเรีย ด้านเจ้าหน้าที่อเมริกันเผยว่า ในรอบหลายเดือนมานี้นักรบไอเอสถูกจำกัดมากขึ้นในการเคลื่อนไหวและในการใช้จ่าย ขณะเดียวกัน ปลายเดือนที่แล้ว ซูฟาน กรุ๊ป เปิดเผยรายงานระบุว่า ไอเอสกำลังมองหาแหล่งรายได้อื่นในลิเบียที่ปลอดจากการโจมตีทางอากาศ และนักรบยังได้รับตะกร้าอาหารและมีไฟฟ้าใช้ฟรี แม้จะไม่มีเครื่องดื่มชูกำลังและช็อกโกแลตแท่ง “สนิกเกอร์” ให้กินเล่นอีกต่อไปก็ตาม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น