วันพุธที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2558

ยุทธจักรนักการเมือง ตอน ลำนำเพลงดาบ (6) อาบโลหิต พิชิตบัลลังก์ จากถัง สู่ชิง ตอนที่ 6


ราชวงศ์ชิงตอนกลาง-สงครามฝิ่น ครั้งที่ 1
   
แม้ราชวงศ์ชิงจะมีความยิ่งใหญ่เพียงใดก็ตาม แต่ที่ผ่านมาก็เลือกที่จะปิดประเทศไม่ค้าขายกับชาติอื่น จนกระทั่งปีค.ศ. 1757 หรือในรัชกาลเฉียนหลงปีที่ 22 ก็ได้มีการกำหนดให้เมืองกว่างโจวเป็นเมืองท่าเพียงแห่งเดียวที่ได้รับการอนุญาตให้ติดต่อกับชาติต่างชาติ ซึ่งนับตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา อังกฤษได้นำเข้าใบชา ถ้วยชามเครื่องเคลือบและผ้าไหมจากจีนเป็นจำนวนมาก ในขณะที่มีสินค้าส่งออกให้จีนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ทำให้อังกฤษเสียเปรียบดุลการค้าให้จีนอย่างมหาศาล กระทั่งรัชกาลเฉียนหลงปีที่ 28 หรือค.ศ. 1773 เพื่อถ่วงดุลการค้าที่เสียเปรียบ อังกฤษได้เริ่มนำเอาฝิ่นเข้ามาจำหน่ายในเมืองจีน ซึ่งเดิมทีสำหรับคนจีน นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 8 เป็นต้นมา ฝิ่นก็ถูกจัดและถูกใช้ในฐานะยาสมุนไพรประเภทหนึ่ง กระทั่งหลังจากที่อังกฤษได้เข้าพิชิตอินเดีย และได้มอบสิทธิผูกขาดในการจำหน่ายให้กับบริษัทอีสต์อินเดีย และนำเข้าจำหน่ายในจีนเป็นจำนวนมาก ซึ่งในเวลานั้นนอกจากอังกฤษแล้ว ยังมีอเมริกา ฝรั่งเศสและรัสเซียที่ต่างก็พยายามนำเอาฝิ่นจากตุรกี และเอเชียกลางมาจำหน่ายในจีนเช่นกัน ในช่วงเวลานั้น ราคาของฝิ่นอยู่ชั่งละ 5 ตำลึงเงิน ในช่วงเวลา 40 ปีก่อนที่สงครามฝิ่นจะปะทุขึ้น อังกฤษได้ขนฝิ่นเข้ามาประเทศจีนมากถึง 400,000 ลัง จนดูดเอาเงินแท่งออกไปจากจีนได้ราว 300 ล้าน – 400 ล้านแท่ง จนกระทั่งเกิดปัญหาการขาดแคลนเงินแท่งภายในประเทศและทำให้ราคาของเงินแท่งพุ่งสูงขึ้นไปกว่า 1 เท่าตัว จนประชาชนและประเทศชาติต่างยากจนลงไปตามๆกัน คนที่สูบฝิ่นมากขึ้นทุกขณะ ไม่เพียงแต่เป็นในวงขุนนางข้าราชการเท่านั้น แต่เลยไปถึงบรรดาเจ้าของที่ดิน พ่อค้า บัณฑิต และแม้กระทั่งชาวไร่ชาวนา ช่างแรงงาน ทหารก็ไม่เว้น ปีค.ศ. 1821 ฮ่องเต้เจียชิ่งเสด็จสวรรคต พระโอรสองค์ที่ 2 ได้ขึ้นครองราชย์มีพระนามว่าฮ่องเต้เต้ากวง ในเวลานั้นเป็นช่วงเวลาที่ราชสำนักชิงฟอนเฟะ กองกำลังทหารอ่อนโทรม มีการลุกฮือขึ้นก่อความไม่สงบมากมาย และที่สำคัญก็คือการสูบฝิ่นที่แพร่ระบาดไปทั่ว  เมื่อมาถึงปีค.ศ. 1838 ทั่วประเทศมีชาวจีนที่ติดฝิ่นมากถึง 2,000,000 คน จนถึงกับมีคำกล่าวว่าฝิ่นนั้น นอกจากจะขูดเอาเงินแท่งจากจีนไปแล้ว ยังได้ทำลายสุขภาพร่างกายและจิตวิญญาณชาวจีนไปด้วย ในปีเดียวกันนี้จึงมีกลุ่มขุนนางถวายฎีกาโดยเปิดโปงบรรดาข้าราชการที่ค้าฝิ่น และผลักดันให้มีการหยุดฝิ่นด้วยการลงโทษผู้ที่สูบอย่างรุนแรง หลังจากนั้นหลินเจ๋อสีว์ (
则徐) ผู้ตรวจการหูกว่างได้ถวายฎีกาถึง 3 ครั้งต่อฮ่องเต้เต้ากวง โดยระบุว่าหากไม่ทำการหยุดฝิ่นในประเทศจีน ในระยะยาวอีกหลายสิบปีนั้น จีนจะไม่เหลือทหารไว้รบ ไม่เหลือเงินไว้ใช้อีกต่อไป จนทำให้ฮ่องเต้เต้ากวงมีดำริที่จะปราบปรามฝิ่นอย่างจริงจัง ปีค.ศ. 1839 หลินเจ๋อสีว์ได้เตรียมคน และทหารเดินทางออกจากปักกิ่งอย่างไม่เอิกเกริก เมื่อตรวจพบผู้กระทำผิดกฎหมายก็จะมีการดำเนินการลงโทษทันที และเมื่อเดินทางถึงกว่างโจว (กวางเจา) ก็ทำการลอบสืบเป็นการลับ จนกระทั่งรู้ถึงเส้นทางขนส่งและจำหน่ายฝิ่นแล้ว จึงเริ่มต้นมีคำสั่งให้พ่อค้าต่างชาติทำการส่งมอบฝิ่นในครอบครองออกมาทั้งหมด จากนั้นให้ทำทัณฑ์รับรองว่าจะไม่ขนฝิ่นลงเรือมายังประเทศจีนอีกตลอดไป ซึ่งหากมีครั้งต่อไปจะถูกริบและจับกุมคนดำเนินคดีนอกจากนั้นหลินยังได้ทำการกวาดล้างปัญหาฝิ่น ด้วยการจัดการตั้งกฎอย่างเด็ดขาดให้ผู้เกี่ยวข้องกับการค้าฝิ่นจะถูกกุมขังในเรือนจำ ในมีหลักฐานว่าเป็นผู้ค้าจะถูกตัวศีรษะเสียบประจาน ส่วนผู้ที่ติดฝิ่นก็จะมีการส่งเข้าสถานรักษาพยาบาลเพื่อช่วยให้เลิกฝิ่น จากนั้นก็จัดโครงการรณรงค์ให้อดฝิ่น โดยที่ใครทำสำเร็จทางการจะทำการประกาศเกียรติคุณให้เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับผู้อื่น หลินเจ๋อสีว์ได้กำหนดเวลา 3 วันให้ทุกคนที่มีฝิ่นนั้นส่งมอบออกมาให้หมด กระทั่งครบเวลาที่กำหนดขณะนั้นได้ฝิ่นทั้งสิ้นเพียง 1,037 ลัง เมื่อเห็นดังนั้น จึงมีคำสั่งให้ปิดล้อมร้านค้า ยกเลิกการค้าขายระหว่างจีนกับอังกฤษ ไม่อนุญาตให้ร้านค้าติดต่อกับเรือที่มีการขนฝิ่น ปลดพนักงานชาวจีนที่ทำงานกับผู้ค้าต่างชาติ แล้วนำกำลังออกปิดล้อมคลังสินค้า โดยหนึ่งในนั้นมีผู้ตรวจการพาณิชย์อังกฤษ ชาร์ลส์ เอลเลียตอยู่ด้วย เมื่อชาร์ลส์ในขณะนั้นไม่มีกำลังรบอยู่ในมือ และกลัวว่าพ่อค้าฝิ่นของตนจะถูกฆ่า จึงยอมส่งมอบฝิ่นจากเรือ 20 ลำออกมาจำนวนทั้งสิ้นปรากฏว่ามีถึง 20,283 ลัง  ในวันที่ทำการทำลาย ได้มีผู้คนจำนวนมากแห่แหนเข้ามาชมดูกันอย่างเนืองแน่น หลินเจ๋อสีว์ได้ให้คนขุดหลุมขนาดใหญ่ 2 หลุมบริเวณชายหาดหู่เหมิน แล้วจัดการเผาทำลายฝิ่นที่มีจำนวนกว่า 2,000,000 ชั่ง และใช้เวลาเผาทำลายถึง 3 สัปดาห์ ภายหลังสภาผู้แทนราษฎรอังกฤษได้มอบอำนาจให้ชาร์ลส์ เอลเลียตนำเรือ 40 กว่าลำ ทหารกว่า 4,000คน มาอยู่ที่บริเวณมาเก๊า และทำศึกกับจีนซึ่งได้มีการเตรียมตัวรับมือไว้ก่อนแล้ว ทำให้ทั้งสองฝ่ายมีผู้คนล้มตายทั้งสองฝ่าย ถือเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามฝิ่นครั้งแรก  ประจวบกับในเวลานั้นมีกลาสีชาวอังกฤษกลุ่มหนึ่งเมาอาละวาดฆ่าชาวจีนในเกาลูนตายไปหนึ่งคน ชาร์ลส์ เอลเลียตไม่ยอมส่งตัวจำเลยให้กับทางการจีน ทำให้ความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์กับชาวตะวันตกเพิ่มสูงขึ้น เมื่อถึงเดือนมิ.ย.ปีค.ศ. 1840 กองเรือรบอังกฤษภายใต้การบัญชาการของพลเรือเอกยอร์ช เอลเลียตก็เดินทางมาถึง แล้วใช้กำลังเรือส่วนหนึ่งปิดท่าเอาไว้ จากนั้นส่งกำลังส่วนใหญ่แล่นขึ้นเหนือเข้ายึดเมืองติ้งไห่ ใช้เป็นศูนย์บัญชาการ จากนั้นในเดือนส.ค. ก็แล่นเรือขึ้นไปบริเวณใกล้ๆป้อมต้ากูที่เทียนจิน ซึ่งเข้าใกล้ปักกิ่งมากขึ้นทุกที  ฮ่องเต้เต้ากวงในเพลานั้น เมื่อพบเห็นสถานการณ์คับขัน ก็ถึงกับครั่นคร้ามในแสนยานุภาพกองทัพของอังกฤษ ผนวกกับถูกคำยุยงจากฝ่ายที่ขอให้ยอมเจรจาสงบศึก จึงได้เปลี่ยนพระทัย จึงได้ส่งผู้ตรวจการฉีซั่นไปยังเทียนจิน เพื่อขอเจรจา โดยฉีซั่นได้เสนอเงื่อนไขก่อนเจรจาว่าจะมีการปลดและลงโทษหลินเจ๋อสีว์ และเปลี่ยนข้าหลวงคนใหม่ไปยังกว่างโจว อีกทั้งยอมรับฟังความเดือนร้อนของพ่อค้าอังกฤษ ในขณะนั้นเป็นช่วงผลัดเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง มีโรคระบาดเกิดขึ้น ทำให้ทหารอังกฤษละทิ้งเมืองติ้งไห่ แล้วกลับไปเจรจากันที่กว่างโจว และลงนามใน ร่างสนธิสัญญาชวนปี๋ที่มีเนื้อหาว่าจีนจะต้องยกเกาะฮ่องกง และท่าเรือให้กับอังกฤษ จากนั้นชดใช้เงินให้กับรัฐบาลอังกฤษจำนวน 6,000,000 ตำลึงเงิน เปิดท่าเรือกว่างโจวให้เป็นท่าเรือพาณิชย์ โดยที่อังกฤษจะยอมถอนทหารออกจากซาเจี่ยว ป้อมปืนต้าเจี่ยวกลับไปที่ติ้งไห่ การลงนามสนธิสัญญาดังกล่าว เป็นการกระทำโดยพลการของฉีซั่น ทำให้ฮ่องเต้เต้ากวงทรงกริ้วเป็นอย่างมาก จึงมีรับสั่งปลดและลงโทษฉีซั่น จากนั้นส่งอี้ซัน ซึ่งเป็นขุนนางราชองครักษ์วังหลวง นำกำลังทหารหมื่นกว่าคนไปยังมณฑลกวางตุ้งเพื่อต่อต้านทัพอังกฤษ ที่ในขณะนั้นได้เข้ายึดครองฮ่องกงและติ้งไห่ ทหารของอังกฤษหลังจากยึดป้อมปืนใหญ่ได้หลายแห่ง ก็นำกำลังบุกโจมตีกว่างโจว จนทหารของจีนต้องหลบกลับเข้าในตัวเมืองกันหมด แม่ทัพอี้ซั่นจึงได้เสนอให้เจรจาสงบศึกอีกครั้ง จนมีการลงนามในสนธิสัญญากว่างโจว ซึ่งได้รับการอนุมัติจากเต้ากวงให้มีการชดใช้เงินจำนวน 6,000,000 ตำลึงเพื่อให้อังกฤษถอยออกจากเมือง  ทว่าท่าทีของประชาชนกลับแตกต่างจากราชสำนักที่ยอมอ่อนข้อให้กับทหารอังกฤษ จึงมีชาวบ้านจำนวนไม่น้อยที่ลุกขึ้นจับอาวุธ ต่อสู้กับทหารอังกฤษที่มีอยู่พันกว่านายในเกว่างโจว จนทำให้มีทหารอังกฤษเสียชีวิตไปหลายสิบคน ในขณะที่ทางอังกฤษเองก็ไม่พอใจกับสิทธิที่ได้รับจากการเจรจาของชาร์ลส์ เอลเลียตถึงกับมีการปลดเอลเลียต แล้วส่งเซอร์เฮนรี ป็อตติงเจอร์ ในเดือนส.ค. ปีค.ศ. 1841 ป๊อตติงเจอร์ได้นำเรือ 37 ลำพร้อมทหารอีก 2,500 คนออกจากฮ่องกง มุ่งขึ้นเหนือโจมตีเซี่ยเหมิน ถัดมาอีกเดือนกว่าๆ ก็สามารถบุกยึดติ้งไห่ โดยเก่อหยุนเฟย (葛云) ผู้บัญชาการทหารของเมืองต้องพลีชีพ จากนั้นก็บุกยึดเจิ้นไห่ หนิงปอ และบุกต่อไปโดยไม่สนใจคำขอเจรจาจากฝั่งจีน จนกระทั่ง บุกยึดเป่าซัน เซี่ยงไฮ้ และเรื่อยไปถึงด่านทางใต้ของหนันจิง (นานกิง) ทำให้ทางการจีนจำต้องยอมเจรจาภายใต้เงื่อนไขที่ไม่ยุติธรรมอย่างยิ่ง เรียกว่า ร่างสนธิสัญญานานกิงโดยสนธิสัญญาที่ถือว่าเป็นสัญญาอัปยศของจีนนั้นมีเงื่อนไขโดยสรุปคือ
       1. รัฐบาลต้าชิงจะต้องชดใช้เงินเงินทั้งสิ้น 21 ล้านตำลึง โดยแบ่งเป็นค่าปฏิกรรมสงคราม 12 ล้านตำลึง ค่าเสียหายให้พ่อค้าอังกฤษ 3 ล้านตำลึง และค่าเสียหายจากฝิ่นอีก 6 ล้านตำลึง โดยจำนวนนี้ไม่นับรวมกับ 6 ล้านตำลึงที่จ่ายไปก่อนหน้า
       2. จะต้องยกเกาะฮ่องกงให้อังกฤษ
       3. เปิดเมืองท่าทั้ง 5 ได้แก่กว่างโจว เซี่ยเหมิน ฝูโจว หนิงปอ และเซี่ยงไฮ้เป็นเมืองท่าพาณิชย์
       4. ภาษีทั้งขาเข้าและขาออกของพ่อค้าอังกฤษให้เป็นไปตามการเจรจาของทั้ง 2 ฝ่าย
ซึ่งหลังจากนั้นอีก 1 ปีจีนยังได้ลงนามในข้อตกลงและวิธีปฏิบัติ ซึ่งมีสัญญาเพิ่มเติมจากสนธิสัญญานานกิงโดยกำหนดให้อังกฤษมีสิทธิสภาพนอกอาณาเขต คือ ชาวอังกฤษไม่อยู่ใต้กฎหมายของประเทศที่พำนักอาศัย เมื่อกระทำผิดหรือถูกฟ้อง คดีความจะถูกตัดสินพิจารณาคดีโดยกงสุลของประเทศตนเอง และอังกฤษจะต้องเป็นประเทศที่ได้รับผลประโยชน์อย่างดีที่สุด กล่าวคือ หากจีนมีการให้สิทธิพิเศษด้านการค้า เดินเรือ ภาษี หรือ การคุ้มครองทางกฎหมายแก่ประเทศใด อังกฤษจักได้รับสิทธิดังกล่าวไปด้วยเช่นกัน และการลงนามในสนธิสัญญานานกิงนี้ก็ถือเป็นจุดจบของสงครามฝิ่นครั้งที่ 1 ลง

กบฏไท่ผิงเทียนกั๋ว(太平天国)
   
ภายหลังราชวงศ์ชิงพ่ายแพ้ในสงครามฝิ่น ได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งในสังคมจีนขึ้นอย่างรุนแรง รัฐบาลต้าชิงได้หมดเงินไปกับการทหารในสงครามดังกล่าวถึง 70 ล้านตำลึง บวกกับต้องชดใช้ให้กับต่างชาติตามร่างสนธิสัญญานานกิงอีก 21 ล้านตำลึง ภาระเหล่านี้ถูกผลักโอนมายังชาวไร่ชาวนาทั่วไป ซ้ำร้ายยังถูกขุนนางกับเจ้าของที่ดินขูดรีด ทำให้ประชาชนต้องแบกภาระและชำระภาษีมากกว่าที่กำหนดไว้ตามตัวบทกฎหมายหลายเท่า บวกกับเงินแท่งมีมูลค่าสูงขึ้น และภัยธรรรมชาติจากอุทกภัยและภัยแล้งจนประชาชนต้องอดอยากและประสบทุกข์เข็ญอย่างยิ่ง  ผลของความวุ่นวายในสังคม และความลำบากของราษฎร ได้ก่อให้เกิดกลุ่มกบฏชาวนาขึ้นในช่วงปลายราชวงศ์ชิง โดยกลุ่มกบฏนี้ได้ตั้งชื่อตนเองว่า ไท่ผิงเทียนกั๋วอันหมายถึงอาณาจักรสวรรค์อันสันติสุข ซึ่งผู้นำกลุ่มกบฏนี้มีนามว่า หงซิ่วเฉวียน (
洪秀全) ที่เคยเป็นบัณฑิตสอบตกหลายสมัย ในขณะที่กำลังท้อแท้หมดอาลัย กลับได้พบกับหมอสอนศาสนา ซึ่งหลังจากที่ได้อ่านหลักคำสอนในศาสนาคริสต์แล้วพบว่ามีการระบุถึง ดินแดนสวรรค์ที่ทุกคนต่างดีงามและเสมอภาคแล้ว ยิ่งทำให้หงมีความสนใจและเริ่มต้นนับถือพระผู้เป็นเจ้าขึ้น  ค.ศ. 1843 หงซิ่วเฉวียนได้ชักชวน เฝิงหยุนซัน ที่เป็นเพื่อนสมัยเรียนและลูกพี่ลูกน้องชื่อหงเหรินกาน ไปยังลำธารเล็กๆสายหนึ่ง จากนั้นกระโดดลงไปในน้ำ ชำระร่างกายจนสะอาด เป็นสัญลักษณ์เหมือนการทำพิธี ใช้น้ำเข้าจารีตของศาสนาคริสตร์ จากนั้นทั้งสามก็ได้ตกลงกันอย่างลับๆในการจัดตั้ง สมาคมนับถือพระเจ้า(拜上帝会) ขึ้น และประกาศว่าตนเป็นบุตรคนรองของพระผู้เป็นเจ้า หรือเป็นน้องชายของพระเยซู หลังจากจัดตั้งสมาคมขึ้น หงกับเฝิงหยุนซันก็เดินทางไปเผยแพร่คำสอนที่เขตจื่อจิงซัน ในมณฑลกว่างซี (กวางสี) หลังจากนั้นก็เดินทางไปยังกว่างตง (กวางตุ้ง) ในระยะเวลา 2 ปีกว่าๆที่เผยแพร่ศาสนา ก็ได้ทำการเขียนหนังสือต่างๆออกมา ว่าวด้วยผลักดันอุดมการณ์ความเท่าเทียมกันของชาวนา ในขณะนั้นเฝิงหยุนซันก็สามารถรวมรวบสมาชิกได้หลายพันคน จนกระทั่งค.ศ. 1850 ฮ่องเต้เต้ากวงทรงสินพระชนม์ มีราชโอรสขึ้นครองราชย์ พระนามว่าฮ่องเต้ชิงเหวินจง (清文宗) หรือเรียกตามชื่อรัชกาลว่าฮ่องเต้เสียนเฟิง (咸丰皇帝) ในเวลานั้นสมาคมนับถือประเจ้าได้รวบรวมคนมามากกว่า 20,000 คน โดยสมาชิกส่วนใหญ่เป็นชาวนาที่ยากจนข้นแค้นเป็นหลัก  กระทั่งเดือนมิ.ย.- ก.ค. ในปีเดียวกัน สมาชิกแต่ละคนได้นำเอาทรัพย์สินสิ่งของมีค่าของตนมาสมทบทุนกันตามแต่ฐานะที่มี รวมเป็นกองทุนที่เรียกว่า สมบัติศักดิ์สิทธิ์จากนั้นก็จัดทั้งหน่วยสู้รบชายและหญิง โดยแยกค่ายทหารชายกับหญิงออกจากกัน และมีการตราระเบียบวินัยอย่างเข้มงวดอาทิ ห้ามทุจริต ห้ามสูบฝิ่น ห้ามข่มขืนสตรีซึ่งมีโทษถึงขั้นประหารชีวิต นอกจากนั้นยังให้สมาชิกชาย ตัดหางเปียทิ้ง โดยระบุว่าเป็นเครื่องหมายข้าทาสของแมนจู แล้วให้หันมาไว้ผมยาวแทน  ช่วงต้นปีค.ศ. 1851 สมาคมนับถือพระเจ้ามีสมาชิกมากถึง 30,000 คนมีการประกาศสถาปนาอาณาจักร ไท่ผิงเทียนกั๋วขึ้น โดยหงซิ่วเฉวียนตั้งตนเป็น เทียนหวังหรือกษัตริย์สวรรค์ขึ้น จากนั้นก็แต่งตั้งหยางซิ่วชิง เป็นตงหวัง หรือเจ้าบูรพา แต่งตั้งเซียวเฉากุ้ยเป็นซีหวาง หรือเจ้าประจิม ตั้งเฝิงหยุนซันเป็นหนันหวัง หรือเจ้าทักษิณ เหวยชังฮุยเป็นเป็นหวังเจ้าอุดร และสือต๋าไคเป็น อี้หวังหรือเจ้าปีกทัพ เริ่มต้นกระบวนการปฏิบัติที่ยาวนานถึง 14 ปี  หลังจากนั้นกองทัพก็เริ่มต่อสู้กับกองกำลังราชวงศ์ชิง โดยบุกขึ้นเหนือไปยังกุ้ยหลิน ล้อมฉางซา ยึดอี้ว์โจว และเอาชนะที่อู่ชังได้ทำให้ได้เรือมานับหมื่นลำ ได้อาวุธ และปืนใหญ่เป็นจำนวนมาก มีการตั้งกองทัพเรือขึ้น กระทั่งสามารถบุกหนันจิง (นานกิง) ในเดือนมี.ค. ปีค.ศ. 1853 นี้ไท่ผิงเทียนกั๋วมีสมาชิกราว 500,000 คน หลังจากยึดนานกิง ก็ได้อาศัยเปลี่ยนชื่อเป็นเทียนจิง และใช้เป็นเมืองหลวงของอาณาจักร และส่งกองทัพสองสายบุกขึ้นเหนือและตะวันตก โดยทางเหนือบุกยึดไปถึงเทียนจิน ส่วนสายตะวันตกก็บุกไปตามแม่น้ำฉางเจียงสู่อู่ชาง ฮั่นหยาง และฮั่นโข่ว ในช่วงระยะเวลา 3 ปี ซึ่งส่วนใหญ่จะประสบชัย ได้เข้ายึดครองดินแดนด้านตะวันออกของมณฑลหูเป่ย เจียงซี และอันฮุย ซึ่งถือเป็นช่วงรุ่งโรจน์ที่สุดของอาณาจักร ประชาชนในอาณาจักรไท่ผิงเทียนกั๋วมีเป็นหลักล้าน ได้จัดตั้งสกุลเงินของตนเองขึ้นมาใช้ และได้มีการกำหนดนโยบายในการปกครองสำคัญๆขึ้น เช่นระบบการจัดสรรที่นาเทียนเฉา ที่ให้ที่ดินทั่วประเทศเป็นสาธารณะให้ทุกคนมีสิทธิ์ในการถือครองอย่างเท่าเทียมกัน แล้วมี ยุ้งฉางกลางที่ให้ผลผลิตเป็นของส่วนกลาง แล้วจัดสรรให้ตามลำดับชั้นฐานะ ส่งเสริมให้ชายหญิงเท่าเทียมกัน ให้ผู้หญิงมีสิทธิ์สอบเข้ารับราชการเป็นขุนนางได้ สั่งห้ามการซื้อขายฝิ่น อนุญาตให้พ่อค้าต่างชาติค้าขายได้อย่างเท่าเทียมกัน อีกทั้งมีการยกเลิกประเพณีต่างๆเช่นการมัดเท้าสตรี ให้รื้อทำลายศาลเจ้า ห้ามบูชากราบไหว้ ยกเลิกการแต่งงานด้วยการซื้อขาย และห้ามการซื้อทาส เป็นต้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากบฏไท่ผิงเทียนกั๋วจะสามารถสร้างอาณาจักรของตนขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ แต่สุดท้ายจากการที่ผู้นำกบฏเกิดขัดแย้งกันเอง โดยหยางซิ่วซิงได้แยกตัวออกไป จากนั้นหงซิ่วเฉวียนได้ให้เหวยชังฮุยไปสังหารหยางซิ่วซิง แต่สุดท้ายเหวยชังฮุยก็ถูกหงซิ่วเฉวียนสังหาร ในขณะที่สือต๋าไคก็ต้องพาทหารตนเองหลบหนีไป กระทั่งกองทัพเริ่มอ่อนแอลง กอปรกับราชสำนักชิงในตอนนั้น ได้ร้องขอให้กองทัพอังกฤษซึ่งมีอาวุธอันทันสมัยมาร่วมมือกับทหารในกองทัพไฮว๋ของหลี่หงจาง และกองทัพหูหนันของจางกั๋วฟาน จนกองกำลังของไท่ผิงเทียนกั๋วสูญเสียที่มั่นไปเรื่อยๆ กระทั่งปลายปีค.ศ. 1863 ในรัชกาลถงจื้อปีที่ 2 ทหารชิงก็สามารถล้อมเมืองเทียนจิง (นานกิง) ทว่าหงซิ่วเฉวียนไม่ยอมทิ้งเมืองหลวงไปตั้งหลักในที่ใหม่ จนกระทั่งหงซิ่วฉวนซึ่งเจ็บป่วยอยู่ได้สั่งให้ประชาชนกินหญ้าแทนข้าว โดยตนเองได้เริ่มต้นกินก่อน จนทำให้อาการป่วยทรุดหนักลง ประกอบกับไม่มียารักษาจึงทำให้เสียชีวิตลง ซึ่งบางตำราก็ระบุว่าหงซิ่วเฉวียนได้ฆ่าตัวตาย แต่แม้กระนั้นทหารไท่ผิงนับแสนคนในเทียนจิง ก็ยังคงสู้โดยไม่ยอมแพ้ จนกระทั่งสุดท้ายกว่าทหารชิงจะสามารถเอาชนะได้ อาณาจักรไท่ผิงเทียนกั๋วก็จบลงด้วยทะเลเลือด 

 
 

ราชวงศ์ชิงตอนปลาย  (ซูสีไทเฮา – นานาชาติรุมทึ้ง)

เคราะห์ซ้ำกรรมซัดกระหน่ำสู่ราชวงศ์ชิงช่วงปลายอย่างเหมือนไม่รู้จบสิ้น ในภายหลังเมื่อถึงค.ศ. 1856 ก็ได้เกิดสงครามฝิ่นครั้งที่ 2 ขึ้น โดยกินระยะเวลา 4 ปี โดยมีมูลเหตุมาจากหลังช่วงเกิดเหตุกบฏไท่ผิงเทียนกั๋ว อังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐฯ รัสเซียก็คิดจะตักตวงผลประโยชน์จากจีนมากขึ้น โดยอังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐฯ รัสเซียยื่นข้อเสนอในการเพิ่มการเปิดท่าเรือต่างๆ พร้อมตั้งสถานทูตในกรุงปักกิ่ง แต่ไม่ได้รับการตอบรับจากราชสำนัก ประจวบกับเจ้าหน้าที่จีนได้จับกุมลูกเรือในเรือแอร์โรว์ในข้อหาโจรลัดและลักลอบขนของเถื่อน ทางอังกฤษจึงใช้เป็นข้ออ้างในการประท้วงต่อผู้ว่าเมืองกว่างโจว เมื่อผู้ว่าเมืองกวางตุ้งยอมคืนคนให้ แต่ไม่ยอมขอขมา ทำให้กองทหารของอังกฤษเริ่มนำทหารเข้ายึดป้อมต่างๆ และในช่วงนั้นมีมิชชันนารีฝรั่งเศสคนหนึ่งถูกชาวจีนสังหาร รัฐบาลของ นโปเลียนที่ 3 ส่งกองกำลังมาเข้าร่วมกับกองทหารของอังกฤษ จากนั้นบุกยึดกว่างโจว แล้วจับกุมผู้บัญชาการทหารกว่างโจวเอาไว้ จากนั้นกองกำลังผสมอังกฤษฝรั่งเศสก็บุกขึ้นเหนือ ยึดป้อมปืนใหญ่ต้ากู บุกประชิดเทียนจิน เมื่อนั้นฮ่องเต้เสียนเฟิงจึงมีรับสั่งให้มหาบัณฑิตกุ้ยเหลียง (桂良)กับเจ้ากรมปกครองฮวาซาน่ามาลงนามในสนธิสัญญาเทียนจิน โดยมีเนื้อหาให้เปิดท่าเรือหนิวจวง เติงโจว ไต้หวัน ตั้นสุ่ย เฉาโจว จิงโจว ฮั่นโข่ว จิ่วเจียง เจียงหนิง เจิ้นเจียงเป็นท่าเรือพาณิชย์ , ให้เรือพาณิชย์ต่างชาติสามารถล่องเข้าไปค้าขายตามท่าของแม่น้ำแยงซีเกียง ให้ชาวต่างชาติสามารถเข้าไปท่องเที่ยวทำการค้า ให้ชาวต่างชาติสามารถเข้าไปเผยแพร่ศาสนาได้อย่างอิสระ ให้กงสุลฝรั่งเศสเป็นผู้พิพากษาในคดีที่มีชาวฝรั่งเศสเป็นคู่ความ ชดใช้เงินให้อังกฤษ 4 ล้านตำลึง และฝรั่งเศส 2 ล้านตำลึง และยอมรับให้การค้าฝิ่นนั้นถูกกฎหมาย นอกจากนั้นในระหว่างที่อังกฤษบุกยึดป้อมต้ากู รัสเซียที่นำโดยข้าหลวงใหญ่ประจำไซบีเรียตะวันออก นามเคาต์มูราเวียฟบุกยึดดินแดนในแถบฝั่งซ้ายและทางเหนือของแม่น้ำเฮยหลงเจียง จากนั้นใช้กำลังข่มขู่ให้ทำสนธิสัญญาไอกุน ทำให้รัสเซียมีสิทธิ์ในดินแดนแม่น้ำอัสซูรีไปทางตะวันออกจนถึงทะเลญี่ปุ่นด้วย  จากนั้นเมื่อถึงปีค.ศ. 1859 ได้เกิดความขัดแย้งเรื่องการแก้ไขสนธิสัญญา จนกระทั่งปีค.ศ.1860 รัชกาลฮ่องเต้เสียนเฟิงปีที่ 10 กองทัพพันธมิตรอังกฤษ-ฝรั่งเศสกว่า 10,000 คนได้ขึ้นฝั่งที่เป่ยถัง ยึดถังกู ป้อมปืนใหญ่ต้ากู ในขณะที่กำลังจะยึดครองเทียนจินได้อีกครั้ง ทางการชิงก็ได้ส่งมหาบัณฑิตกุ้ยเหลียงกับพวกเพื่อไปเจรจา ทว่าถูกฝ่ายรุกรานยื่นข้อเสนอที่สูงมาก ทำให้การเจรจาไม่ประสบความสำเร็จเมื่อกองทัพอังกฤษ-ฝรั่งเศสบุกมาถึงทงโจว ทหารชิงได้เข้ารับศึกที่สะพานปาหลี่ ทำการต่อสู้อย่างดุดเดือดเป็นเวลา 3-4 ชั่วโมง  สุดท้ายกองทัพต้าชิงก็พ่ายแพ้ จนกองทัพอังกฤษฝรั่งเศสบุกเข้าถึงปักกิ่ง เหล่าขุนนางจึงทูลขอให้ฮ่องเต้เสียนเฟิงเสด็จลี้ภัยออกไปยังเร่อเหอ กองทัพพันธมิตรได้มุ่งตรงไปยังพระราชอุทยานหยวนหมิงหยวน อันเป็นพระราชวังสำหรับแปรพระราชฐาน สร้างขึ้นด้วยศิลปะและการออกแบบผสมผสานระหว่างตะวันตกกับตะวันออก เก็บมรดกล้ำค่าทางวัฒนธรรมเอาไว้มากมาย ตั้งอยู่ทางตะวันตกนอกเมืองปักกิ่ง และกระทำการปล้นชิงเอาเงินทองทรัพย์สมบัติไปเป็นการใหญ่ จากนั้นจุดไฟเผาทำลายจนไหม้ลามกินเนื้อที่กว่า 10 ตารางไมล์เป็นเวลา 2 วันจนท้องฟ้าเหนือกรุงปักกิ่งมืดครึ้มไปด้วยควันเป็นเวลา 3 วัน 3 คืนพระราชอุทยานหยวนหมิงหยวนนั้น เดิมเป็นเพื้นที่อุทยานที่ฮ่องเต้คังซีเคยพระราชทานให้กับฮ่องเต้ยงเจิ้งในสมัยที่ยังเป็นองค์ชายสี่ และการที่ทรงพระราชทานพระนามหยวนหมิง มีความหมายถึง จิตวิญญาณแห่งวิญญูชนและ การใช้คนอย่างมีสติปัญญาภายหลังเมื่อฮ่องเต้ยงเจิ้งครองราชย์ จึงได้ทำการบูรณะขยายให้กว้างขวางขึ้น จนสำเร็จลุล่วงในรัชกาลของฮ่องเต้เฉียนหลง และมีอายุคงอยู่มากว่า 150 ปีจนกระทั่งถูกเผาทำลายใต้เงื้อมมือของทัพพันธมิตรอังกฤษ-ฝรั่งเศส ในขณะที่ฮ่องเต้เสียนเฟิงเสด็จลี้ภัย ได้มอบหมายให้กงชินหวัง อี้ซิน (亲王 弈訢) และฉุนชินหวัง อี้เซวียน(亲王 弈譞) เป็นตัวแทนพระองค์ นำคณะไปเจรจาสงบศึก จนกระทั่งได้ลงนามในสัญญาอันไม่ยุติธรรมอีกฉบับหนึ่ง ที่เรียกว่า สนธิสัญญาปักกิ่งโดยระบุจะต้องชดใช้ค่าปฏิกรรมสงครามให้กับอังกฤษและฝรั่งเศสประเทศละ 8 ล้านตำลึง ยกเกาลูนให้อังกฤษ เปิดเทียนจินเป็นท่าเรือพาณิชย์ ให้มิชชันนารีเข้ามาซื้อที่ดินและสร้างโบสถ์ได้ อนุญาตให้ชาวต่างชาติจ้างคนจีนไปทำงานในต่างประเทศได้  หลังลงนามในสนธิสัญญากับอังกฤษและฝรั่งเศสแล้ว จึงได้ทูลเชิญให้ฮ่องเต้เสียนเฟิงเสด็จกลับเมืองหลวง ทว่าฮ่องเต้เสียนเฟิงก็ยังไม่ยอมเสด็จกลับ กระทั่งเดือนส.ค. ปีค.ศ. 1861 ฮ่องเต้เสียนเฟิงได้เสด็จสวรรคตอย่างกะทันหัน ด้วยพระชนมายุเพียง 31 ชันษา ในยามนั้นฮองเฮาฉืออัน (慈安)ไม่มีพระโอรส มีเพียงแต่ฮองเฮาตะวันตกฉือซี (慈禧)หรือที่คนไทยเรียกว่า ซูสีที่มีโอรสพระนามว่าไจ่ฉุน (载淳) ที่ขณะนั้นอายุเพียง 5 ชันษา และได้ขึ้นครองราชย์เป็นฮ่องเต้องค์ต่อมา โดยมีบรมราชโองการของฮ่องเต้เสียนเฟิง ที่ระบุให้มีการตั้งผู้ช่วยสำเร็จราชการทั้ง 8 คนขึ้น  ส่วนฮองเฮาทั้ง 2 หลังไจ่ฉุนขึ้นครองราชย์ เป็นฮ่องเต้ชิงมู่จง (清穆宗) หรือฮ่องเต้ถงจื้อ (同治)เมื่อเรียกตามปีรัชกาลที่เปลี่ยนแปลงในภายหลัง โดยในช่วงเวลาที่กำลังส่งเสด็จพระศพของฮ่องเต้เสียนเฟิงกลับสู่ปักกิ่ง ซูสี ซึ่งขณะนั้นได้ขึ้นเป็นไท่โฮ่ว (太后) หรือไทเฮา ตามศักดิ์อันเป็นพระมารดาแห่งฮ่องเต้ ก็ได้ร่วมมือกับกงชินหวัง ทำการรัฐประหาร ยึดอำนาจคืนจากผู้สำเร็จราชการทั้ง 8 โดยระบุว่าเป็นผู้ที่ร่างพระราชโองการปลอมในการแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการ หลังจากนั้นเป็นต้นมา พระนางซูสีไทเฮา กับพระนางฉืออันก็ได้ร่วมปกครองบ้านเมือง โดยจะประทับฟังราชกิจอยู่เบื้องหลังฮ่องเต้ โดยมีผ้าม่านกั้นกลางเอาไว้ หรือที่หลายคนเรียกว่ากุมการปกครองหลังผ้าม่าน กระทั่งในภายหลัง เมื่อซูสีไทเฮาสามารถกุมอำนาจมากขึ้นเรื่อยๆ และสามารถควบคุมการปกครองได้อย่างเบ็ดเสร็จ จึงถูกเรียกว่าเป็นการกุมการปกครองหลังม่านเหล็ก  พระนางซูสีไทเฮา สตรีผู้ยึดครองอำนาจราชสำนักชิงอย่างเบ็ดเสร็จเป็นเวลา 47 ปีจนกระทั่งสิ้นพระชนม์ไปเองโดยไม่มีใครสามารถโค่นล้มลงได้ผู้นี้นั้น เดิมนางเป็นบุตรีของนายทหารแมนจูชั้นผู้น้อย เกิดในตระกูลเยี่ยเฮ่อนาลา หรือเยโฮนาลา (叶赫那拉) ในปีค.ศ. 1835 และถวายตัวเข้าวังในเดือนพ.ค. ปีค.ศ. 1852 ด้วยอายุเพียง 16 ปี หลังจากนั้นเมื่อได้ให้กำเนิดพระโอรสและได้รับการแต่งตั้งเป็นสนมในปีค.ศ. 1856 เมื่อฮ่องเต้เสียนเฟิงสวรรคต พระนางได้สั่งประหารผู้สำเร็จราชการทั้ง 8 จนกุมอำนาจในราชสำนักด้วยพระชนม์เพียง 26 ปี
   
ขบวนการเลียนแบบตะวันตก (洋务运动)
   
หลังจากลงนามในสนธิสัญญาปักกิ่ง ได้ทำให้ราชสำนักจีนเริ่มตระหนักว่า บรรดาคนเถื่อนที่จีนเคยมองนั้น กลับกลายเป็นประเทศที่มีแสนยานุภาพทางกองทัพก้าวหน้ากว่าจีนเป็นอันมาก จึงทำให้เกิดความคิดที่ว่า การที่จะสร้างให้ชาติจีนเข้มแข็งขึ้น จำเป็นจะต้องสร้างแสนยานุภาพตามอย่างตะวันตกเท่านั้น อันที่จริงแนวความคิดดังกล่าว มีมาตั้งแต่สมัยวีรบุรุษปราบฝิ่นนามหลินเจ๋อสี่ว์ ที่ได้เคยชี้ว่าสิ่งที่ต้องเรียนรู้จากคนเถื่อนก็คือเรือที่เข้มแข็งกับปืนที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ เพียงแต่ไม่ได้ถูกนำมาใช้ จนกระทั่งได้ถูกนำเสนอขึ้นมาอีกครั้งจนเกิดเป็นขบวนการเลียนแบบตะวันตกขึ้นในช่วงปีค.ศ.1860-ค.ศ.1890 โดยมีกงชินหวัง อี้ซินเป็นแกนกลางในเมือง และในส่วนภูมิภาคได้แก่เจิงกั๋วฟาน(
曾国藩) และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเขาอาทิหลี่หงจาง (鸿章) ศิษย์ของเจิงกั๋วฟาน และลูกน้องของเจิงกั๋วฟานอย่าง จั่วจงถัง (左宗棠) และบัณฑิตจางจือต้ง (张之洞)  ขบวนการเลียนอย่างตะวันตกมีแนวคิดสำคัญโดย มีการจัดตั้งสำนักงานราชการที่ใช้ติดต่อกับต่างประเทศโดยเฉพาะ เรียกว่า จ๋งหลี่หยาเหมิน” (总理衙门) มีการปรับปรุงกองกำลังทหาร จัดซื้ออาวุธปืน จักตั้งหน่วยงานที่ฝึกใช้ปืน ตั้งกองทัพเรือเป่ยหยาง และกองทัพเรือฝูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน) มีการตั้งโรงงานยุโธปกรณ์ที่เทียนจิน, เซี่ยงไฮ้ และนานกิง ในด้านการศึกษามีการตั้งโรงเรียนสอนภาษาต่างประเทศอย่าง ถงเหวินก่วน (同文)เพื่อเป็นโรงเรียนสอนภาษาและความรู้ต่างประเทศ ให้มาเป็นบุคลากรในการแปล ส่งนักเรียนไปศึกษาต่อต่างประเทศ และมีการเริ่มต้นทำอุตสาหกรรมเหมืองแร่ การต่อเรือพาณิชย์  ในช่วงต่อมาหลังจากที่ญี่ปุ่นได้เริ่มพัฒนาประเทศตนเองจนเข้มแข็งขึ้น จึงได้อาศัยข้ออ้างที่ชาวเกาะริวกิวเรือแตกแล้วพลัดไปขึ้นเกาะไต้หวันแต่ถูกคนป่าในไต้หวันขณะนั้นฆ่าตาย จนในปีค.ศ.1872 ญี่ปุ่นได้บุกยึดริวกิว จากนั้นก็บุกต่อไปยังไต้หวัน สุดท้ายเหมือนญี่ปุ่นประกาศว่าเกาะริวกิวเป็นของตนทั้งหมดโดยที่ทางการแมนจูไม่ทำอะไร จึงได้สงบลงชั่วคราว  ต่อมาเมื่อจีนตระหนักถึงความสำคัญของเรือรบ จึงได้มีความพยายามจัดตั้งกองทัพเรือทันสมัยขึ้น โดยจัดให้มีกองทัพเป่ยหยาง หรือกองกำลังเหนือ (北洋海) กับกองทัพหนันหยาง หรือกองกำลังใต้ (南洋海)กองทัพเรือกวางตุ้ง (广东海军) กองทัพเรือฮกเกี้ยน (福建海) ซึ่งในขณะเริ่มจัดตั้งนั้นยังมีงบประมาณส่งถึงอยู่ดี แต่ในภายหลัง เนื่องจากพระนางซูสีไทเฮามักเบิกเงินมาใช้เพื่อบำรุงบำเรอส่วนพระองค์ โดยเบิกในนามของ ทุนสร้างกองทัพเรือทำให้เงินงบประมาณไปไม่ถึง ซูสีไทเฮาได้นำเงินไปสร้างพระราชวังฤดูร้อน ขึ้นแทนจากที่พระราชวังหยวนหมิงหยวนถูกเผาทำลายไป ยังไม่รวมถึงเงินที่นำไปใช้ในงานวันเกิดของพระนางที่มากถึง 2 ล้านตำลึง โดยงบประมาณที่ซูสีไทเฮานำไปใช้ส่วนตัวนั้นเท่ากับมีมากถึง 26 ล้านตำลึง  ผลของการกระทำดังกล่าวได้ประจักษ์ชัดในสงครามระหว่างจีนกับญี่ปุ่นที่ปะทะขึ้นอีกคราในกรณีข้อพิพาทเกี่ยวกับเกาหลี กองทัพเรือเป่ยหยางของจีน ปะทะกับกองทัพเรือของญี่ปุ่นที่มีจำนวนเรือเท่าๆกัน แต่เรือของจีนกลับถูกจมลงทั้งหมด อันเป็นการแสดงให้เห็นว่าความพยายามปฏิรูปกองทัพเรือทว่าถูกเบียดบังงบประมาณไปนั้น ได้ทำให้กองทัพเรือของจีนขาดความพร้อม และอ่อนแอมากเพียงใด

ในช่วงเวลา 100 วันของการปฏิรูป คังโหย่วเหวยและพรรคพวกได้เสนอแนวความคิดในการปฏิรูปกฎหมายต่างๆ ทำให้กวงซี่ว์ได้ยกเลิกกฎหมายเก่า และประกาศใช้กฎหมายใหม่กว่า 100 ฉบับ ทว่าการปฏิรูปกฎหมายใหม่เหล่านี้ก็ถูกขัดขวางจากกลุ่มอำนาจเก่าอย่างรุนแรง โดยกฎหมายที่ประกาศใหม่นั้น ในช่วงครึ่งเดือนแรกของเดือนม.ย.จะเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับด้านเศรษฐกิจ การทหาร การศึกษา ในขณะที่ครึ่งเดือนหลังของเดือนม.ย.จะเป็นกฎหมายก็จะเป็นกฎหมายที่ขยายไปถึงเรื่องการปกครอง โดยหลักๆเน้นที่การปลดข้าราชการ ปรับเปลี่ยนโครงสร้างการทำงานที่ซ้ำซ้อน อนุญาตให้ขุนนางใหญ่น้อยและประชาชนถวายฎีกา ทว่ากฎหมายใหม่เหล่านี้ นอกจากผู้ตรวจการมณฑลหูหนันที่นำไปปฏิบัติอย่างจริงจังแล้ว ที่เหลือส่วนใหญ่มักจะเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ส่วนหน่วยงานใหม่ๆที่มีการจัดตั้งขึ้นก็ถูกควบคุมด้วยอำนาจของฝ่ายอนุรักษ์ ทำให้กฎหมายใหม่เหล่านี้แทบไม่ได้มีผลในการปฏิบัติจริงนัก แต่แล้วความพยายามในการปฏิรูปกฎหมายนี้ ได้สร้างความไม่พอพระทัยให้กับพระนางซูสีไทเฮาอย่างยิ่ง เนื่องจากทรงรู้สึกว่าอำนาจของตนกำลังถูกสั่นคลอน ทำให้เริ่มต้นต่อต้านกลุ่มปฏิรูปที่นำโดยฮ่องเต้กวงซี่ว์ การต่อต้านจากซูสีไทเฮา ได้ทำให้กลุ่มปฏิรูปที่ไม่มีกำลังทหารในมือบังเกิดความตื่นตระหนก จึงได้หันไปขอความร่วมมือจากหยวนซื่อข่าย(袁世) ที่ดูแลกำลังทหารบก เพื่อมาต่อกรกับอำนาจของไทเฮา ทว่าเมื่อถึงวันที่ 1 ส.ค. กวงซี่ว์มีรับสั่งลับให้หยวนซื่อข่ายนำกำลังกำจัดซูสีไทเฮา ทว่าหยวน ข่ายกลับเป็นพวกนกสองหัว ทรยศต่อกลุ่มปฏิรูป ช่วยเหลือซูสีไทเฮาในการทำรัฐประหาร และจับกุมตัวกวงซี่ว์ไปกักบริเวณไว้ที่อิ๋งไถ ยกเลิกกฎหมายที่ประกาศทั้งหมด ยกเว้นกฎหมายการตั้งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง สั่งให้จับกุมตัวแทน 6 คนของกลุ่มปฏิรูป หรือที่ในประวัติศาสตร์ขนานนามว่า “6 วิญญูชนแห่งเหตุการณ์อู้ซีว์ไปประหารประจานในตลาดกลางกรุงปักกิ่ง ภายหลังความปราชัยครั้งนี้ จีนจึงต้องขอเจรจาสงบศึก โดยส่งหลี่หงจางเดินทางไปญี่ปุ่นเพื่อลงนามในสนธิสัญญาชิโมโนเซกิ ที่จีนต้องรับรองการปกครองตนเองของเกาหลี หรืออีกนัยหนึ่งก็คือยอมรับการปกครองของญี่ปุ่นเหนือเกาหลี อีกทั้งตกยกคาบสมุทรเหลียวตง ไต้หวัน หมู่เกาะเผิงหู (เพสคาดอเรส) ให้กับญี่ปุ่น อีกทั้งชดใช้ค่าปฏิกรรมสงครามเป็นเงิน 230 ล้านตำลึง เปิดเมืองท่าซาซื่อ ,ฉงชิ่ง,ซูโจว และหังโจวเป็นเมืองท่าพาณิชย์ อีกทั้งเมืองท่าของจีนยังจะต้องอนุญาตให้ญี่ปุ่นเข้ามาดำเนินการค้าขาย ประกอบอุตสาหกรรม หัตกรรมตามท่าเรือได้

รัฐประหารอู้ซีว์ (戊戌政)
   
หลังจากจบสงครามจีนญี่ปุ่น หรือที่เรียกตามชื่อปีว่าสงคราม เจี๋ยอู่จนจีนต้องลงนามในสัญญาชิโมโนเซกิแล้ว นับว่าเป็นช่วงเวลาที่ระบบทุนนิยมของต่างชาติเริ่มรุกล้ำเข้ามาในจีนจนสร้างความกังวลพระทัยกับฮ่องเต้กวงซี่ว์ เป็นอย่างยิ่ง  กระทั่งปีค.ศ. 1898 หรือในรัชกาลฮ่องเต้กวงซี่ว์ปีที่ 24 หลังจากที่ได้รับฎีกาจากหยางเซินซิ่ว, สีว์จื้อจิ้งและคังโหย่วเหวย (
康有) ทำให้ทรงตัดสินพระทัยว่าจะต้องมีการปฏิรูปกฎหมาย ดังนั้นในวันที่ 28 เม.ย. ปีเดียวกันจึงมีรับสั่งให้คัง โหย่วเหวยเข้าเฝ้าเพื่อสอบถามแผนการและรายละเอียดที่เป็นรูปธรรม ซึ่งในภายหลังยังทรงให้สิทธิในการถวายฎีกาโดยตรงกับคัง โหย่วเหวยอีกด้วยขบวนการอี้เหอถวน ศึกพันธมิตรแปดชาติ  กลุ่มอี้เหอถวนถือกำเนิดมาจากสำนักมวยอี้เหอในอำเภอชิงผิง มณฑลซันตง ในสมัยนั้น กลุ่มชาวต่างชาติที่สามารถเข้าถึงแผ่นดินชั้นในของจีนได้จะมีแต่กลุ่มมิชชันนารี และผู้เผยแพร่ศาสนา ซึ่งนับวันจะยิ่งแผ่ขยายกว้างขวางมากขึ้นเรื่อยๆ บวกกับปัญหาความขัดแย้งทางความคิดและอุดมการณ์ ซึ่งบรรดผู้เข้ามาสอนศาสนาชาวต่างชาติได้สอนมิให้นับถือกราบไหว้บุพการีและกษัตริย์ ทำให้บรรดาสตรีที่เข้านับถือศาสนาก็จะถูกมองเป็นพวกนอกรีตไปด้วย ความไม่พอใจในชาวต่างชาติหลายๆประการ ได้ผลักดันให้สำนักมวยอี้เหอ ได้ลุกฮือขึ้นในการทำลายโบสถ์ และต่อต้านศาสนาชาวต่างชาติ ในปีค.ส. 1898 และแผ่นขยายตัวอออกไปอย่างรวดเร็ว ทว่าหากขบวนการอี้เหอถวนเป็นเพียงกลุ่มกำลังที่ระบายความไม่พอใจของประชาชน ก็คงไม่จะสามารถก่อความเสียหายอะไรได้มากนัก ทว่าในภายหลังขบวนการอี้เหอถวนกลับกลายเข้ามาเป็นหนึ่งในเครื่องมือทางการเมือง จึงทำให้เรื่องราวบานปลายยิ่งขึ้น ในเวลานั้น ประจวบกับเป็นช่วงเวลาแห่งความล้มเหลวของการปฏิรูปปีอู้ซีว์ ในเวลานั้นแท้จริงแล้วพระนางซูสีไทเฮาทรงไม่พอพระทัยถึงขั้นที่จะตั้งฮ่องเต้พระองค์ใหม่ ทว่าติดขัดที่บรรดาทูตานุทูตจากนานาประเทศกลับชื่นชอบในความเปิดกว้างของกวงซี่ว์ จึงได้รวมตัวกันคัดค้าน ทำให้ซูสีไทเฮาได้แต่กักตัวพระองค์เองไว้ ในเวลานั้นตวนอ๋อง ได้เข้ามาทูลเสนอว่าขณะนี้มีกลุ่มอี้เหอถวน ที่มีความสามารถฟันแทงไม่เข้า ไม่เกรงกลัวต่อปืนหรือปืนใหญ่ของต่างชาติ ทำให้มีขุนนางหลายคนที่สนับสนุนให้ใช้กลุ่มอี้เหอถวนเพื่อมาต่อกรกับต่างชาติ การเข่นฆ่าชาวต่างชาติและชาวจีนที่นับถือศาสนาได้กระจายไปทั่ว มีชาวต่างชาติที่ถูกฆ่า 241 คน และชาวจีนที่นับถือศาสนาต่างชาติอีกกว่า 23,000 คนในฤดูร้อนของปีเดียว  ต่อมาทางการจีนได้ประกาศยอมรับกลุ่มอี้เหอถวน ให้เป็นองค์กรที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยกลุ่มอี้เหอถวนเองก็ประกาศว่าจะประคับประคองราชวงศ์ชิง และกำจัดต่างชาติ เมื่อถึงปีค.ศ. 1900 ซูสีไทเฮาได้ตัดสินใจประกาศสงครามกับต่างชาติ และรับสั่งให้ทหารร่วมกับกลุ่มอี้เหอถวนบุกโจมตีสถานทูตนานาชาติในปักกิ่ง ทำให้อังกฤษ สหรัฐฯ เยอรมนี ฝรั่งเศส รัสเซีย ญี่ปุ่น อิตาลี และออสเตรียได้รวมกำลังเป็นพันธมิตรแปดชาติ เข้าตอบโต้จีน กลุ่มขบวนการอี้เหอถวนที่เคยบอกว่าฟันแทงไม่เข้านั้น เมื่อทหารพันธมิตรมาถึง กลับยังไม่รู้ตัว ยังทำการเผาโบสถ์ เข่นฆ่านักเผยแพร่ศาสนาอยู่ สุดท้ายจึงถูกทหารพันธมิตรแปดชาติทำลายจนราบคาบ
   
ฝ่ายพระนางซูสีไทเฮาเมื่อทรงทราบว่าทหารต่างชาติบุกถึงปักกิ่ง จึงทรงนำตัวฮ่องเต้กวงซี่ว์ ราชนิกูล ขันที และขุนนางจำนวนหนึ่งปลอมตัวแล้วเดินทางหลบหนีไปยังซีอัน โดยมอบอำนาจเต็มให้กับหลี่หงจาง ในการเจรจากับกองทัพพันธมิตร เพื่อขอสงบศึกกับประเทศพันธมิตร รัฐบาลชิงจึงทรยศกลุ่มอี้เหอถวน ด้วยการประกาศว่ากลุ่มนี้เป็นสำนักโจร และให้ทหารชิงร่วมมือกับกองทัพพันธมิตรเข่นฆ่า โดยก่อนที่จะเจรจาลุล่วงก็มีการเนรเทศตวนอ๋อง และประหารแกนนำทั้งหลายของขบวนการอี้เหอถวน เพื่อเป็นแพะรับบาปให้ต่างชาติได้ดู ในปีต่อมาหลังพันธมิตร 8 ชาติได้ยึดครองปักกิ่ง ในที่สุดก็มีการลงนามในสนธิสัญญาซินโฉ่ว กับ 8 ประเทศพันธมิตรและอีก 3 ประเทศได้แก่เนเธอร์แลนด์ สเปน เบลเยียม โดยมีสาระสำคัญคือจีนจะต้องชดใช้ค่าปฏิกรรมสงครามเป็นเงินทั้งสิ้น 450 ล้านตำลึง ซึ่งเป็นจำนวนที่เท่ากับประชากรจีนในขณะนั้น โดยให้แบ่งจ่ายพร้อมดอกเบี้ย ซึ่งรวมแล้วเกือบ 1,000 ล้านตำลึง และชำระให้หมดสิ้นภายในปีค.ศ. 1940 นอกจากนั้นยังให้รื้อป้อมปืนใหญ่ที่ต้ากู และตลอดเส้นทางระหว่างปักกิ่งถึงเทียนจิน พร้อมให้ทหารตะวันตกหลายประเทศเข้ามาตั้งที่ปักกิ่ง เทียนจิน และซันไห่กวน และเงื่อนไขปลีกย่อยอีกมากมายอาทิ จีนจะต้องหยุดการนำเข้าอาวุธสงคราม 2 ปี ส่งขุนนางใหญ่ไปเพื่อทำการขอขมาที่ญี่ปุ่นในกรณีทำให้ทูตญี่ปุ่นต้องเสียชีวิต และในอนาคตจีนจะต้องลงโทษบุคคลหรือองค์กรที่ต่อต้านต่างชาติเป็นต้น และภายหลังลงนามแล้ว ซูสีไทเฮา ฮ่องเต้กวงซี่ว์และคณะที่ลี้ภัยจึงได้เดินทางกลับมายังปักกิ่งในปีค.ศ. 1902ไม่ว่ากบฏอี้เหอถวน หรือกลุ่มที่ถูกเรียกว่ากบฏนักมวยนี้จะมีบทลงเอยที่เป็นโศกนาฏกรรมเพียงใด แต่ฌอง เชนโนซ์ (jean Chesneaux) นักประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศสก็ได้มองว่า ในโลกสมัยศตวรรษที่ 20 นั้น ขบวนการอี้เหอถวนถือเป็นกลุ่มที่เคลื่อนไหวต่อต้านลัทธิล่าอาณานิคมเป็นขบวนการแรก พวกเขาได้แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของลัทธิชาตินิยมของจีน และเมื่อเผชิญหน้ากับการต่อสู้อันทรหดและเหี้ยมหาญของพวกเขา มหาอำนาจตะวันตกทั้งหลายก็ต้องยอมละทิ้งความตั้งใจเดิมที่จะแบ่งแผ่นดินจีนออกเป็นเสี่ยงๆ
   
ปฏิวัติครั้งใหญ่เปลี่ยนเป็นระบอบสาธารณรัฐ
   
ตั้งแต่สงครามฝิ่น เรื่อยมาจนถึงหลังแปดชาติพันธมิตรเข้ารุกรานจีน ได้ทำให้สถานภาพของประเทศจีนในขณะนั้นมีสภาพกึ่งเมืองขึ้น รัฐบาลจีนก้าวเข้าสู่สภาพฟอนเฟะและไร้สมรรถภาพ จนทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนต่างทุกข์ร้อนไปทั่วทุกหัวระแหง ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ ซุนจงซัน (
孙中山) หรือซุนยัตเซ็น (孙逸仙) ก็ได้ลุกขึ้นมาแล้วเลือกเส้นทางที่จะผลักดันการปฏิวัติ เพื่อล้มล้างอำนาจของราชวงศ์ชิง  ซุนจงซัน ถือกำเนิดในมณฑลกวางตุ้ง และได้เดินทางติดตามมารดาไปยังฮาวาย ทำให้ได้เห็นความยอดเยี่ยมของเรือกลไฟ และความยิ่งใหญ่ของมหาสมุทร การเดินทางครั้งนั้นทำให้ซุนได้รับการศึกษาสมัยใหม่ไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษ ประวัติศาสตร์อังกฤษ คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ภายหลังได้เดินทางไปยังฮ่องกง และได้เข้าศึกษาจนจบวิชาการแพทย์ จากนั้นก็ได้เปิดรักษาคนในมาเก๊า และกวางตุ้ง ในระยะแรกซุนเองก็ไม่ได้กล่าวถึงการปฏิวัติ กระทั่งในปีค.ศ. 1894 ได้ทดลองส่งหนังสือให้กับหลี่หงจาง ซึ่งในนั้นได้มีการเสนอรูปแบบการปฏิรูปในหลายประการ ทว่าหนังสือดังกล่าวถูกหลี่หงจางปฏิเสธ ด้วยความผิดหวัง ทำให้ซุนได้ไปจัดตั้งสมาคมซิงจงที่ฮ่องกง ผลักดัน การขับไล่อนารยชน ฟื้นฟูประเทศจีน สร้างรัฐบาลแห่งมหาชนขึ้น  ในปีค.ศ. 1905 ซึ่งตรงกับรัชกาลของฮ่องเต้กวงซี่ว์ปีที่ 30 มีการจัดประชุมขึ้นที่โตเกียว และในที่ประชุมนั้นซุนได้เสนอให้มีการจัดตั้งสมาพันธ์เพื่อการปฏิวัติขึ้น โพยหลังจากการปรึกษาหารือ ในที่สุดสมาพันธ์ถงเหมิงก็ได้ถือกำเนิดขึ้น นอกจากนั้นดร.ซุนยังได้เสนอหลัก 3 ประการแห่งประชาชน หรือที่เราเรียกกันว่า ลัทธิไตรราษฎร์ (三民主)ซึ่ง มีหลักการสำคัญได้แก่ ประชาชาติ หรือ การล้มล้างอำนาจการปกครองของราชวงศ์แมนจู ให้ทุกชนชาติในจีนมีสิทธิอันเท่าเทียมกัน หลักประชาสิทธิ คือให้ประชาชนมีสิทธิ มีอำนาจตรงในการปกครองตนเอง และหลักประชาชีพ คือให้มีความเสมอภาคในกรรมสิทธิ์ที่ดินและทางสังคม  การถือกำเนิดสมาพันธ์ถงเหมิง ที่ได้จับอาวุธลุกขึ้นต่อสู้กับราชสำนัก ถือเป็นการสั่นคลอนฐานะผู้ปกครองอย่างราชสำนักชิงเป็นอย่างยิ่ง จนกระทั่งเดือนเม.ย.ปีค.ศ. 1911ที่มีการลุกฮือขึ้นที่เนินดอกไม้เหลือง (黄花)ในกวางเจา มีบุคคลสำคัญและสมาชิกพันธ์ล้มตายเป็นจำนวนมาก มีการเก็บรวบรวมศพ 72 ศพไปฝังรวมไว้ โดยในประวัติศาสตร์ได้เรียกขานเป็น 72 วีรบุรุษ ณ เนินดอกไม้เหลือง อย่างไรก็ตามแม้ว่าการลุกฮือครั้งนี้จะประสบความล้มเหลว แต่เลือดเนื้อและชีวิตของวีรชนเหล่านี้ก็ได้ปลุกกระแสให้มีการล้มล้างราชวงศ์ชิงที่เข้มแข็งยิ่งขึ้น
 
 


ฮ่องเต้องค์สุดท้าย - อวสานราชวงศ์ชิง  

  
ระหว่างนั้น ในปีค.ศ.1908 ตรงกับรัชกาลฮ่องเต้กวงซี่ว์ปีที่ 34 ฮ่องเต้กวงซี่ว์ได้เปิดประชาวรอย่างหนัก จนในเดือนต.ค.ราชสำนักชิงต้องมีราชโองการแต่งตั้งให้ไจ้เฟิง เป็นผู้สำเร็จราชการ กระทั่งถึงวันที่ 21 เดือนต.ค. ในที่สุดฮ่องเต้กวงซี่ว์ก็เสด็จสวรรคต  พระนางซูสีไทเฮาได้มีราชโองการแต่งตั้งบุตรของไจ้เฟิงนามอ้ายซินเจี๋ยว์หลอ ผู่อี๋ (
) หรือปูยีที่มีพระชนม์พรรษาเพียง 3 ปีขึ้นครองราชย์ มีชื่อรัชการว่าเซวียนถ่ง () แต่เนื่องจากที่พระองค์เป็นฮ่องเต้คนสุดท้ายในยุคราชวงศ์ของจีน ดังนั้นจึงมักถูกขนานนามว่าฮ่องเต้องค์สุดท้าย หรือจักรพรรดิองค์สุดท้าย ในขณะที่ซูสีไทเฮาเอง ก็ได้สวรรคตในเวลาเพียงไม่กี่วันหลังมีราชโองการแต่งตั้งผู่อี๋ในช่วงเวลาที่ผู่อี๋ได้ครองราชย์ไม่ถึง 3 ปี หลังยุทธการเนินดอกไม้เหลืองแล้ว กลุ่มผู้นำสมาพันธ์ถงเหมิงได้ตัดสินใจย้ายศูนย์กลางการปฏิวัติไปยังเขตลุ่มน้ำแยงซีเกียง ในวันที่ 10 ต.ค. ได้เกิดสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงขึ้นที่อู่ชัง ทำให้กองทัพปฏิวัติที่นั่นจำเป็นต้องลุกขึ้นก่อการก่อนเวลาที่กำหนด บุกเข้ายึดเมืองอู่ชัง จากนั้นในวันถัดมากลุ่มปฏิวัติในฮั่นหยาง และฮั่นโข่วที่ได้ข่าวก็ได้ลุกขึ้นยึดเมืองทั้งสอง จนกระทั่งกลุ่มปฏิวัติสามารถควบคุมเมืองทั้งสามในอู่ฮั่นได้จนหมดสิ้น  การลุกฮือที่ประสบความสำเร็จในอู่ชัง ได้ปลุกกระแสการล้มล้างราชวงศ์ชิงให้ยิ่งขว้างขวางออกไป และส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ของราชสำนักต้าชิงเป็นอย่างยิ่ง จนกระทั่งในลำดับต่อมา ได้มีการจัดทั้งรัฐบาลทหารหูเป่ย และปรกาศเอกราชขึ้น หลังจากนั้นหูหนัน ส่านซี ซันซี หยุนหนัน เจียงซี กุ้ยโจว เจียงซู กว่างซี อันฮุย ฝูเจี้ยน กว่างตง ซื่อชวนก็ได้ทยอยกันประกาศเองราช ล้มล้างราชวงศ์ชิง ซึ่งประวัติศาสตร์ได้เรียกการปฏิวัตินี้ว่าการปฏิวัติซินไฮ่ (辛亥革命) ตามปีที่เกิดเหตุการณ์ขึ้น เมื่อถึงเดือนม.ค. ปีค.ศ. 1912 สมาคมถงเหมิงได้ประชุมหารือกันที่นานกิง และจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวขึ้น และตั้งชื่อประเทศเป็น สาธารณรัฐจีน (华民国) จากนั้นในเดือนถัดมาก็ได้บีบให้ฮ่องเต้ของราชวงศ์ชิงลงจากตำแหน่ง นับว่าเป็นการเปิดศักราชหน้าใหม่ของแผ่นดินมังกร และถือเป็นจุดจบของราชวงศ์ชิงที่มีอายุกว่า 200 ปี และเป็นการปิดฉากการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชกว่า 2,000 ปีของจีนลง ส่วนผู่อี๋ หรือปูยี หลังจากที่สละราชสมบัติแล้ว ในปีค.ศ. 1917 ภายใต้ความพยายามของจางซวิน (张勋) ที่ผลักดันทำการปฏิวัติและประกาศฟื้นคืนราชวงศ์ชิงขึ้นมาใหม่ โดยยกให้ผู่อี๋กลับมาเป็นฮ่องเต้อีกครั้ง ทว่าเหตุการณ์ดังกล่าว ได้ถูกการรวมตัวต่อต้านจากทุกฝ่าย ท่ามกลางสถานการณ์และแรงกดดัน ทำให้อีก 12 วันให้หลังก็จำต้องประกาศยอมแพ้ และทำให้ผู่อี๋ต้องหลุดจากราชบัลลังก์อีกครั้ง  เมื่อมาถึงปีค.ศ. 1924 กองทัพของเฝิงอี้ว์เสียง (冯玉祥) ได้ปิดล้อมพระราชวังต้องห้าม พร้อมหันปากกระบอกปืนใหญ่เข้ามาในวัง แล้วบังคับให้ผู่อี๋ลงนามยกเลิกการเรียกเป็นฮ่องเต้ และกำหนดเวลาให้ออกไปภายในเวลา 2 วัน จากนั้นจึงได้อาศัยความสัมพันธ์ที่มีกับชาวญี่ปุ่น ช่วยให้ปลอมตัวเป็นพ่อค้า แล้วหลบไปพักอยู่ที่จางหยวน กับจิ้งหยวน  ปีค.ศ. 1931 หลังจากที่ญี่ปุ่นได้บุกยึดพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ได้ตั้งประเทศแมนจูกั๋ว (满洲国) ขึ้น จากนั้นก็ได้ลอบนำตัวผู่อี๋ไปยังแมนจู โดยผู่อี๋ยอมให้ความร่วมมือ และรับการแต่งตั้งให้เป็นฮ่องเต้ อย่างเป็นทางการในปีค.ศ. 1934  กระทั่งญี่ปุ่นพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศแมนจูกั๋วก็ถูกล้มล้างไป และในปีค.ศ. 1945 ขณะที่ทาหารญี่ปุ่นได้นำตัวผู่อี๋มายังสนามบินเสิ่นหยางเพื่อเดินทางกลับญี่ปุ่น ก็ถูกทหารของรัสเซียจับตัวไป แต่ก็ได้รับการดูแลจากทางรัสเซียเป็นอย่างดี จนถึงกับเคยเขียนหนังสือแสดงความจำนงต้องการอยู่ในรัสเซียตลอดชีวิตอยู่หลายครั้ง  ปีค.ศ. 1950 ผู่อี๋และนักโทษจากสงครามแมนจูกั๋วถูกส่งตัวกลับมาให้กลับรัฐบาลจีน และถูกกุมขังอยู่ร่วมกับนักโทษอื่นๆในสถานควบคุมที่ฮาร์บิน ใช้ชีวิตในฐานะนักโทษรหัสหมายเลข 981 เป็นเวลาเกือบ 10 ปี กระทั่งได้รับการนิรโทษกรรมในวันที่ 4 ธ.ค. 1959 กลายเป็นหนึ่งในประชาชนธรรมดาคนหนึ่งของจีน จนกระทั่งเสียชีวิตที่ปักกิ่งในปีค.ศ. 1967 ในขณะที่มีอายุรวม 61 ปี จึงถือเป็นอันจบสิ้นของฮ่องเต้องค์สุดท้ายแห่งแผ่นดินมังกร   ช่วงปลายของยุคสมัยราชวงศ์ชิงเป็นยุคที่ประเทศจีนเสื่อมโทรมและอ่อนแอสุดๆ ทำให้ประเทศมหาอำนาจตะวันตกที่นำโดยอังกฤษเข้ามารุกราน ตามมาด้วยญี่ปุ่น ฝรั่งเศส จนท้ายที่สุด บรรดาผู้นำกองทัพ นายพลทหารชั้นนำ ปัญญาชนและคหบดีที่มีใจรักชาติ ลุกขึ้นมาชูธงการปฏิรูปประเทศ นำโดย ดร.ซุนยัดเซน  นายพลเจียงไคเช็ค จนเกิดการล้มล้างระบอบกษัตริย์ ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช  ก่อเกิดกองทัพของประชาชนขึ้นมาซึ่งนำโดยเหมาเจอตุง และเป็นที่มาของการเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่เป็นระบอบคอมมิวนิสต์ตามแบบรัสเซีย แต่จีนนำมาปรับให้เป็นแบบของจีนเอง เป็นอันสิ้นสุดระบบกษัตริย์ในประเทศจีนก็ในยุคสมัยราชวงศ์ชิง ซึ่งเป็นเป็นราชวงศ์สุดท้าย

เครดิตอ้างอิง (บทความนี้ถอดความมาจากคอลัมน์ มุมจีน ธารประวัติศาสตร์  29 พฤษภาคม 2551 และ 31 กรกฏาคม 2551 ผู้จัดการออนไลน์)

 
ข้อคิดที่ผู้เขียนได้จากการศึกษาประวัติศาสตร์ไม่ว่าจะของชาติใด โดยเฉพาะจีน ก็คือสัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม คนทำไม่สู้ฟ้าลิขิต ชีวิตคนมีขึ้นสูงสุดก็ย่อมมีวันตกต่ำ งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา อย่าประมาทกับชีวิต  ชีวิตขึ้นอยู่กับฟ้าลิขิต ทุกชีวิตมีวันสุขก็ย่อมมีวันทุกข์และผิดหวังบ้าง หนทางข้างหน้าอีกยาวไกล ควรหรือไม่ที่เราจะไปล่วงรู้มันก่อน หากว่าล่วงรู้มันก่อนว่าไม่ดี แล้วเรามีหนทางที่จะหยุดหรือระงับยับยั้งมันไว้ได้หรือไม่ หากว่าล่วงรู้ไม่ได้ ทางที่ดีที่สุดก็คือจงทำดี ทำแต่ความดีให้ดีที่สุด แล้วคุณธรรมกับความดีจะเป็นเกราะคุ้มครองเราได้สักวันหนึ่ง แม้นไม่เห็นผลทันตา แต่ความดีคือสิ่งที่เป็นแต้มสะสมประจำตัวของมนุษย์ทุกคน คล้ายๆหลักไมล์ของชีวิตในการเดินทางของดวงจิตๆ หนึ่ง จนกว่าจะไปเกิดใหม่ในชาติภพอื่นหรืออีกปรโลกน์นึง ตบท้ายด้วยข้อคิดเชิงสัจธรรม ไม่ใช่อะไรนะครับ เพราะทุกเรื่องราวบนโลกนี้ตอบคำถามได้ด้วยปรัชญาได้ทั้งหมด และการศึกษาวิทยาการใดๆ ในโลกนี้ก็ไม่เท่ากับการศึกษาเรื่องของคนหรือจิตมนุษย์นั่นแหละ เพราะมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่สลับซับซ้อนที่สุดแล้ว เหนือเรื่องวิทยาศาสตร์ใดๆ เสียอีก  

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น