วันเสาร์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

นโยบายรัฐ นักการเมือง และ ปตท.คือต้นตอของปัญหาเศรษฐกิจในขณะนี้

ยังไม่ทันที่อาการของโรคมหาอุทกภัยระบาดเมื่อปีกลายจะบรรเทาเบาบางลง เป็นอาการฟื้นไข้ ต้องนอนหยอดน้ำเกลือ และเพิ่งจะฟื้นออกจากห้องไอซียู มานอนรออยู่ที่ห้องคนไข้พิเศษ แต่ยังไม่ได้รับการอนุญาตให้กลับบ้านได้ ก็ต้องมาเจอโรคแทรกซ้อนในปีนี้ ก็คือโรคภัยแล้ง กับข้าวของแพง กระหน่ำซ้ำเติมเข้าไปอีก ยังไม่นับรวมโรคภัยธรรมชาติ ซึ่งมักจะมาแบบไม่ทันได้ตั้งตัว และมีโอกาสเสี่ยงที่จะมาอยู่เรื่อยๆ เป็นระยะๆ ต้องคอยเฝ้าระวังเอาไว้ด้วย เห็นทีสุขภาพทางเศรษฐกิจของไทยคงยังไม่มีโอกาสฟื้นจนกลับมาสุขภาพดีได้ในปีนี้ มีแต่ทรงกับทรุดในปีนี้ และสิ่งที่พวกเราเหล่าประชาชนต้องก้มหน้ารับกรรมกันไป ได้แต่ต้องทำใจไปเรื่อยๆ ก็เห็นๆ กันอยู่ เพราะว่าผู้ดูแลอาการไข้ หรือคุณหมอ (รัฐบาล) นั้น ไม่นำพาใดๆ ทั้งสิ้น ได้แต่เลี้ยงไข้ ให้ยาไม่ถูกโรค ไม่ถูกอาการ บ่อยครั้งที่ควรจะให้ยาให้ทันท่วงที ก็กลับบอกเราว่า คุณคิดไปเองหรือเปล่า คุณยังไม่ป่วยหรอก พออาการเข้าขั้นโคม่าจนถึงขั้นต้องผ่าตัดแล้ว ยังมัวมาให้ยาทางเส้นเลือดอยู่ หรือควรจะต้องใช้เครื่องปั๊มหัวใจ ให้ออกซิเจนกันแล้ว ก็ยังมัวมาฉีดยาอยู่ สุดท้ายคนไข้ช็อคตายไปหมดแล้ว คุณหมอก็มาบอกว่าช่างหัวมัน มันไม่ใช่เรื่องของกู เรื่องของกูคือปรองดอง แก้ไขรัฐธรรมนูญ นิรโทษความผิด คิดแบ่งสรรผลประโยชน์ ส่วนพวกมึงจะชักดิ้นตายแหล่ยังไง ก็ไม่เกี่ยวกับกูนี่หว่า นี่คืออาการป่วยของคนไข้ที่ต้องไปเจอกับคุณหมอสารเลว บัดซบ ที่ไม่มีความรู้วิชาชีพหมอเลยด้วยซ้ำ อย่าไปถามหาถึงจรรยาบรรณวิชาชีพอะไรใดๆ ทั้งสิ้น เพราะบางทีหมอที่คุณไปหานั้นอาจเป็นเพียงหมอผี หรือโจรในคราบของหมอก็เป็นได้ ที่มันไม่มีความรู้ที่จะมาแก้ไขปัญหาหรือโรคของเราเลยด้วยซ้ำ เวรรกรรมมั๊ยหล่ะคนไทย ทีนี้เราจะมาวินิจฉัยและรักษาโรคภัยของตัวเราเองกันดีกว่า ที่จะไปพึ่งหมอโจรเยี่ยงนั้น มาดูกันว่าอะไรคือต้นตอของโรคเศรษฐกิจที่เรากำลังเผชิญกันอยู่ตอนนี้


1.นโยบายรัฐที่ผิดพลาด หรือไม่เหมาะสมกับสภาวการณ์ของประเทศและสังคมโดยร่วม ท่านผู้อ่านลองคิดดูว่าประเทศของเราเป็นประเทศเกษตรกรรมมานับตั้งแต่บรรพบุรุษ ปู่ย่าตายาย เราสร้างประเทศกันมาได้เป็นปึกแผ่นก็ด้วยสังคมเกษตรกรรม เพราะความที่บ้านเราเป็นอู่ข้าวอู่น้ำทางเกษตรกรรมมาช้านาน แม้แต่ต่างชาติก็ยอมรับในจุดนี้ นี่คือจุดแข็งของเรามาช้านานที่ไม่มีชาติไหนในภูมิภาคนี้สู้เราได้ แต่เรากลับละทิ้งจุดแข็งเหล่านี้เสีย เพราะใกล้เกลืออยากจะกินด่าง คืออยากจะไปเป็นประเทศอุตสาหกรรม เร่งส่งเสริมอุตสาหกรรมกันเข้าไป ในขณะที่ภาคเกษตรกรรมเราละเลย ไม่พัฒนาต่อยอด ปล่อยให้เกษตรกรเรายากจน ขาดทักษะ ความรู้ เทคโนโลยี การช่วยเหลือทั้งด้านวิชาการ ฐานเงินทุน ปล่อยให้กลไกพ่อค้าคนกลางเข้ามาเอาเปรียบพี่น้องเกษตรกรให้ต้องกลายเป็นเหยื่อของนายทุน ปล่อยให้นายทุนระดับประเทศ (ยก ต.ย. CPF) เข้ามาคุมกลไกตลาด ผูกขาด ตัดตอน สร้างเครือข่าย ทำลายอำนาจการต่อรองของเกษตรกร จนกลายเป็นผู้มีอำนาจในระดับประเทศ เข้าครอบงำ กำหนดนโยบายภาคเกษตรกรรมของประเทศ เอาไว้อยู่ในมือของนายทุนใหญ่ตนนั้นแต่เพียงผู้เดียว การที่รัฐบาลนี้มีนโยบายแบบประชานิยม ก็คือใช้นโยบายแบบทุนนิยมสุดขั้ว ส่งเสริมให้ผู้คนบริโภคนิยม เพื่อให้ตัวเองได้คะแนนเสียงเข้ามาปกครองมีอำนาจ ในขณะเดียวกันก็สร้างความมั่งคั่งให้กับนายทุนผูกขาดของพรรค หรือรัฐบาล ทำให้นโยบาย หรือมาตรการของรัฐทั้งหมดไปในโทน ให้ทุกคนใช้จ่ายเงิน สร้าง GDP growth จากการบริโภคภายในเป็นหลัก ในสมัยคุณทักษิณเป็นนายก เคยใช้นโยบาย dual track คือ global reach, local link คือ ทำควบคู่กันไประหว่างการสร้าง GDP growth ด้วยการสร้างธุรกิจ ส่งเสริมธุรกิจให้ส่งออก ในขณะเดียวกันก็สร้างอุปสงค์จากการอุปโภคบริโภคภายในประเทศไปด้วย เป็นการขยายกำลังซื้อให้เกิดการบริโภคภายในประเทศ คือ เขาทำทุกด้าน C+I+G+F เขาทำหมด แม้กระทั่งการให้คนคุมตลาดเข้าไปปั่นหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อสร้างภาพความเชื่อมั่นด้านการลงทุนจากต่างประเทศ อีกด้านนึงก็มีการฟอกเงิน ไซฟ่อนเงินไปด้วยในตัว เป็นเกมสนุกสนานของพวกนักการเมือง หรือมีการผ่องถ่ายเงินออกไปฝากไว้ยังบัญชีในต่างประเทศที่ไม่มีกฏหมายในการตรวจสอบที่มาที่ไปของเงิน เช่น หมุ่เกาะเคย์แมน สิงคโปร์ เป็นต้น ไอ้นโยบายประเภทอยากจะเป็น Nics (เสือตัวที่ 5,แมวตัวที่ 10) ,สร้างกำลังซื้อในประเทศ, GDP โตเท่านั้นเท่านี้ , ประชาคมเศรษฐกิจอาเซี่ยน อะไรต่างๆ เหล่านี้ เป็นเพียงภาพลวงตาที่สวยหรูที่บรรดานักการเมือง นักธุรกิจชอบเอามาขายฝันแหกตาประชาชน นับวันจะสร้างความหายนะให้กับประเทศในระยะยาว เพราะประชาชนตาดำๆ อย่างพวกเราไม่มีทางที่จะตามทันไอ้บรรดาพวกนักการเมือง นักธุรกิจ นายทุนขี้ฉ้อเหล่านั้นได้ทัน เพราะส่วนใหญ่จะเข้ามาหากินเอาประโยชน์เข้าใส่ตัวกันทั้งนั้น ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เคยได้อะไรไปกับเขาด้วย ผลประโยชน์มักไปตกอยู่กับคนไม่กี่คนเท่านั้น แต่บุคคลเหล่านี้ใช้ฐานของทรัพยากรของประเทศไปเป็นต้นทุนส่วนตัวของตนเอง แล้วกอบโกยเอาผลประโยชน์ไปเข้ากระเป๋าตัวเองกันทั้งนั้น แต่กลับมาอ้างประโยชน์หาเสียงเอากับประชาชน ถ้าคุณผู้อ่านไม่เชื่อก็ลองคิดเทียบเอาดูง่ายๆ ว่า การที่ประเทศชาติพัฒนามาแบบลุ่มๆ ดอนๆ ขนาดนี้ ทำไมทรัพยากรของประเทศมันถึงได้ร่อยหรอลงเรื่อยๆ ในขณะที่ประชาชนคนส่วนใหญ่โดยเฉลี่ยไม่เห็นมีความมั่งคั่งร่ำรวยขึ้นมาเลย ตามความเจริญของประเทศที่มันควรจะเป็น ช่องว่างความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของคนรวยกับคนจนทำไมมันถึงห่างกันมากขึ้นทุกที แล้วบรรดาเจ้าสัว นายทุน นักการเมือง ระดับประเทศ ทำไมมันถึงรวยเอาๆ ความมั่งคั่งมันไปตกอยู่ที่ใคร ทำไมมันไม่กระจายความมั่งคั่งไปยังคนชั้นกลาง เหมือนประเทศอารยตะวันตกเขาเป็นกันหล่ะ คนจนก็ยังต้องมาบ่นเรื่องข้าวของแพงอยู่ร่ำไป ผลผลิตเกษตรขายไม่ได้ราคา ชาวนาต้องมาประท้วงหน้าทำเนียบรัฐบาลทุกรัฐบาลไป ราวกับว่าเราไม่จำเป็นต้องมีรัฐบาลก็ได้ เพราะมีก็เหมือนไม่มี มันไม่ได้แก้ไขปัญหาให้กับประชาชนเลย เป็นวงจรอุบาทว์ซ้ำๆ ซากๆ อยู่ทุกรัฐบาล หนักๆ เข้าไอ้นโยบายประเภทประชานิยมก็คือยาพิษร้ายที่พอเสพเข้าไปหนักๆ เข้า อีกหน่อยประชาชนก็จะเสพติด แบบเลิกไม่ได้ พอรัฐบาลไหนมาก็ต้องมาทำแบบเดียวกันต่อ เพราะประชาชนเสพติดไปแล้ว พอไม่มีก็ช่วยตัวเองไม่ได้ เป็นเนื้อร้ายกัดกินตนเองไปเรื่อยๆ และตัวนี้เป็นการสร้างหนี้สาธารณะในระยะยาวให้เกิดกับประเทศ แบบเดียวกับที่ประเทศกรีซ โปรตุเกส สเปน กำลังเผชิญอยู่เวลานี้ ดีไม่ดีประเทศเราอาจต้องเข้าโปรแกรม IMF เป็นหนที่ 2 ในรอบ 20 ปีนี้ก็เป็นได้ เพราะรัฐบาลไปเอาเงินในอนาคตมาใช้ก่อนแบบผลาญทิ้งไปวันๆ เพื่อสนองตัณหาตัวเอง แรกเริ่มเดิมทีรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยหมายมั่นปั้นมือมากว่านโยบายขึ้นค่าแรง 300 บาท และ 15,000 บาท ต่อเดือน จะช่วยผลักดันกำลังซื้อให้สูงขึ้น เป็นการไปเร่งตัว C คือขับเคลื่อนการใช้จ่ายภาคครัวเรือนหรือการบริโภคภายในให้สูงขึ้น ควบคู่กับการใช้จ่ายภาครัฐ หรือ ตัว G ผ่านโครงการเมกะโปรเจ็คท์ต่างๆ ของรัฐบาล ที่หวังจะทำให้ 2 ตัวนี้ช่วยเพิ่ม GDP growth ให้ได้ซัก 4-5 % ในปีนี้ (กิตติรัตน์คุยว่าจะได้ถึง 7% เขียนติดข้างฝาไว้แล้ว จะดูว่าเป็นจริงหรือไม่) ส่วนอีก 2 ตัวแปรนั้นง่อยเปลี้ย อ่อนกำลังจนหวังพึ่งไม่ได้ นั่นก็คือ ตัว I กับ F  แต่พลันที่รัฐบาลเข้ามาทำงานยังไม่ถึง 3 เดือน ก็มาเจอวิกฤติอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปีที่แล้ว ทำให้สิ่งที่คาดคิดไว้นั้นฝันสลาย หลายมาตรการต้องเลื่อนหรือชะลอออกไป อีกหลายมาตรการทำไม่ได้ เจ๊งไม่เป็นท่า มาตรการที่เลื่อนออกไปก็เช่น ขึ้นค่าแรง,รถยนต์คันแรก  โครงการที่ทำไม่ได้ก็เช่น ประกันราคาพืชผลการเกษตร ,แจกแท็บเล็ตพีซี เป็นต้น ลำพังน้ำท่วมที่วาหนักแล้ว มาปีนี้เจอตัวแปรใหม่ที่เพิ่มขึ้นมาอีกหลายตัว คือ ราคาพลังงานโลกปรับเพิ่มขึ้น จนกองทุนน้ำมันหมดเงินหน้าตัก จนต้องเก็บเงินมาอุดหนุนกองทุนเพิ่ม ในภาวะที่ราคาน้ำมันสูงขึ้น ปีนี้มีภัยธรรมชาติ ภัยแล้งมากระหน่ำซ้ำเติมอีก ในเมื่อรัฐโปรโมตมาตรการปรับขึ้นค่าแรงมาตั้งแต่ไก่โห่ ทำให้ผู้ผลิต พ่อค้าคนกลาง วงการค้าปลีกปรับราคาสินค้าไปดักรอล่วงหน้าแล้ว ทำให้มาตรการเพิ่มค่าครองชีพไม่ได้ช่วยให้ประชาชนมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นเลย หนำซ้ำยังไปซ้ำเติมคนอื่นที่ไม่ได้อยู่ในระบบลูกจ้าง ไม่ได้รับอานิสงส์จากการขึ้นค่าแรง ต้องพลอยมาเดือดร้อนไปกับการขึ้นราคา ในส่วนข้าวของแพงตามไปด้วย อันนี้จะเรียกได้ว่าเป็นการขี่ช้างจับตั๊กแตนหรือไม่ หรือตำน้ำพริกละลายแม่น้ำดี

2.นักการเมืองคือตัวปัญหาของประเทศ เพราะทำตัวเป็นพ่อค้าหารับประทานกับเงินงบประมาณของแผ่นดิน คงไม่ต้องอธิบายหรอกว่าเขาทำกันอย่างไร คิดว่าประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศก็ทราบดี แต่ก็ยังจะเลือกคนเหล่านั้นเข้ามาเป็นตัวแทน บ้างก็อ้างว่าต้องอาศัยไหว้วาน เป็นระบบอุปถัมภ์มาช้านานแล้ว ยากจะแก้ไข บ้างก็ว่าไม่มีตัวเลือกที่ดีกว่านี้ ไม่มีทางเลือกอื่น บ้างก็ไม่สนใจคิดว่าธุระไม่ใช่ ใครจะมาเป็นผู้แทนก็เรื่องของมัน ไม่เกี่ยวกับฉัน หารู้ไม่ว่าท่านก็เป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมให้มีนักการเมืองเลวๆ คุณภาพต่ำให้เกิดขึ้นในประเทศ และไปทำลายความมั่นคง และระบบเศรษฐกิจในระดับประเทศแบบไม่รู้ตัว ไม่คาดคิด และสุดท้ายผลกระทบก็ย้อนมาทำลายตัวท่านเองในที่สุด แบบยากที่จะหลีกเลี่ยงได้ ตัวอย่างง่ายๆ ก็คือ การที่นักการเมืองในระดับตัวเบ้งๆได้เข้ามาเล่นการเมือง หาผลประโยชน์จากช่องว่างต่างๆ ในทางการเมือง ตักตวงเอาผลประโยชน์ในระดับประเทศไปเป็นของตนเอง อย่างมากมาย อาทิ ผลประโยชน์ในด้านพลังงาน โดยการเข้าไปควบคุม กำกับนโยบาย เอาคนเข้าไปคุม ดูแลกลไกต่างๆ ให้ทำงานเพื่อตอบสนองตนเอง ไปกำหนดแม้กระทั่งการตั้งราคาขาย แล้วอ้างว่าเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นตามราคาตลาดโลก แต่แท้ที่จริงมีการบิดเบือน ฉ้อฉล มาตั้งแต่ระดับนโยบาย ทำให้ผู้บริโภค ประชาชนอย่างเรา ๆ ต้องแบกรับภาระต้นทุนทางด้านการขนส่ง ค่าเชื้อเพลิงที่แพงแสนแพง ทำให้รายจ่ายเพิ่มขึ้น รายได้ลดลง ถามว่ามีใครในประเทศนี้หลีกเลี่ยงภาระต้นทุนนี้ได้มั๊ย แล้วทำไมเราถึงไม่ตั้งคำถาม ทำไมเราถึงยอมให้ไอ้หน้าโง่ หน้าเหลี่ยมตัวไหนก็ไม่รู้ มานั่งบงการ เอาเปรียบเราอยู่ได้ ทำไมเราไม่รวมตัวกันคัดค้าน หรือประท้วง หาทางแฉ เปิดโปง ความชั่วเหล่านี้เสีย ตอนนี้ผู้เขียนเริ่มเชื่อในข้อมูลของผู้ที่ออกมาเปิดโปงความไม่ชอบมาพากล ของ ปตท. และหน่วยงานที่ดูแลด้านพลังงานของประเทศ อย่างกระทรวงพลังงาน ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการหาผลประโยชน์บนความยากลำบากของประชาชน (อ้างอิง ข้อมูลของ ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี และ พ.ท.รัฐเขตต์ ฯ, เปรียบเทียบราคาน้ำมันของประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ราคาก๊าชธรรมชาติ และน้ำมันดิบ เปรียบเทียบการเก็บค่าภาคหลวง, สิงที่รัฐบาลได้, ปตท.(การปิโตรเลี่ยมแห่งประเทศไทย) ได้, ประชาชนไทยกำลังถูกคนกลุ่มหนึ่งประมาณ 3 พันกว่าคนโกงเงินและทรัพย์สิน เข้ากระเป๋าของใคร ??? )


3.ปตท. หรือ PTT คือตัวแปรของปัญหาและต้นตอสาเหตุของต้นทุนราคาสินค้าแพงทั้งหมด
บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทที่มีลักษณะเป็นกิจการที่ผูกขาดโดยธรรมชาติ ในบางประเทศจะเก็บธุรกิจในลักษณะนี้ให้เป็นของรัฐ แต่ในบางประเทศก็มีการขายหุ้นให้กับเอกชน สำหรับ ปตท.เองนั้นหลังจากมีการนำบริษัทเข้าตลาดหุ้น โดยการแปรรูปเป็นบริษัทจดทะเบียน เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2544 มีทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 2 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 2 พันล้านหุ้น และเริ่มซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2544 ปัจจุบันมีทุนจดทะเบียนทั้งสิ้น 28,572,457,250 บาท มีทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 28,562,996,250 บาท มีจำนวนหุ้นในตลาดหลักทรัพย์อยู่ 2,856,,299,625 หุ้น อย่างไรก็ดี ผลประโยชน์มหาศาลอยู่ที่ตัวธุรกิจผูกขาดโดยธรรมชาติ โดยเฉพาะท่อก๊าซ และโรงแยกสภาพก๊าซ LNG ที่เพิ่งดำเนินกิจการขึ้นเมื่อไตรมาส 2 ปี 2554 ที่ผ่านมาสดๆ ร้อนๆ แค่นี้ก็มีมูลค่ามหาศาล โดยเฉพาะท่อก๊าซธรรมชาติ แม้ว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำสั่งให้ ปตท.คืนท่อก๊าซธรรมชาติให้กระทรวงการคลัง ทั้งบนบกและในทะเลมูลค่า 32,613 ล้านบาท แต่ปรากฏว่าเมื่อสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง.เข้าไปตรวจสอบกลับพบว่าการส่งคืนท่อก๊าซให้คลังของ ปตท.นั้นเป็นเพียงมูลค่า 14,808.62 ล้านบาท คงเหลือส่วนที่ ปตท.ยังไม่ได้แบ่งให้กระทรวงการคลังอีกมูลค่า 21,834.14 ล้านบาท ทำให้ขณะนี้ ปตท.มีท่อก๊าซธรรมชาติทั้งบนบกและในทะเล รวม 3,469 กิโลเมตร ซึ่งรวมท่อไปยังโรงไฟฟ้า IPP-SPP และท่อไปยังโรงงานอุตสาหกรรม NGV ด้วย ซึ่งตีราคาทรัพย์สินแล้ว ท่อก๊าซที่ยังมีในมือ ปตท.เท่าที่ ปตท.เคยจ้างให้บริษัทที่ปรึกษาต่างประเทศ 2 บริษัทคือ GEIOC และ SGST มาประเมินทรัพย์สินท่อก๊าซ 3 เส้นจากแหล่งในทะเล ที่ปรึกษาได้ประเมินราคาเฉลี่ยออกมาเป็น 112,500 ล้านบาท ซึ่งนับว่าสูงมาก ต้องเข้าใจ การลงทุนท่อส่งก๊าซฯ เป็นการลงทุนที่ต้องใช้เงินลงทุนสูงมาก และได้ค่าตอบแทนคืนมาต้องใช้รยะเวลานานมาก ที่ผ่านมาจึงมีการลงทุนโดยรัฐ แต่ปัญหาคือ เมื่อรัฐลงทุนไปแล้ว ระบบท่อส่งก๊าซกลับไปอยู่ในส่วนบริษัทเอกชนในการทำรายได้ และยิ่งทำให้ ปตท.ได้เปรียบเจ้าอื่นๆ เพราะมีท่อส่งก๊าซเป็นของตนเอง ขณะที่เอกชนรายอื่นจะต้องมาขอใช้ท่อส่งก๊าซกับปตท. ซึ่งจะทำให้ต้นทุนด้านราคาก๊าซฯ ของบริษัทอื่นๆ สูงมากจนไม่สามารถแข่งขันกับ ปตท.ได้ ดังนั้นท่อส่งก๊าซนี้ ปตท.ควรจะคืนให้เป็นของรัฐจะดีที่สุด ที่น่าสนใจคือในส่วนท่อส่งก๊าซเข้าโรงไฟฟ้าและโรงงานอุตสาหกรรม NGV ปตท.ให้โรงไฟฟ้าและโรงงานอุตสาหกรรมเป็นคนลงทุนสร้างท่อส่งก๊าซจากท่อหลักเข้าไปในโรงไฟฟ้า หรือโรงงานอุตสาหกรรมเอง ตรงนี้ค่าใช้จ่ายของ ปตท.จึงเป็นศูนย์ ขณะที่หลังจากสร้างเสร็จ โรงไฟฟ้าและโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ก็ต้องโอนท่อคืนให้ ปตท. ปตท.ได้ผลประโยชน์ตรงนี้ไปอย่างมาก ซึ่งความจริงแล้ว ปตท.ควรจะลงทุนเองหรือไม่ เพราะคนอื่นเขาก็ไม่เชียวชาญด้านการทำท่อ เมื่อทำแล้วก็แพงกว่า ปตท.ทำเอง พอทำเสร็จยังต้องยกให้ปตท.อีก ปตท.ก็เลยได้รับทรัพย์สินฟรีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้จุดที่น่าสนใจในทรัพย์สิน ปตท. ในธุรกิจผูกขาดโดยธรรมชาติ ยังมีอีกจุดหนึ่งที่ยังไม่มีใครสนใจมากนักคือ โรงแยกสภาพก๊าซ LNG ที่อยู่ในบริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด ซึ่ง ปตท.ถือหุ้น 100% เป็นกิจการทีเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติจากของเหลวเป็นก๊าซเพียงรายเดียวในประเทศไทย ซึ่งโรงแปรสภาพก๊าซนี้ ปตท.ได้ตั้งขึ้นมามีจุดประสงค์เพื่อนำเข้าก๊าซเหลวทางเรือจากต่างประเทศ เพื่อนำมาแปรสภาพของเหลวเป็นก๊าซและส่งจำหน่ายตามท่อก๊าซ และบางส่วนเก็บเป็นของเหลว เพื่อเมื่อเกิดปัญหาในระบบท่อก๊าซก็สามารถมีการขนส่งทางบกได้เพื่อเป็นการสำรองพลังงานเผื่อขาดซึ่งเป็นจุดดี


บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เป็นรัฐวิสาหกิจยักษ์ใหญ่ด้านปิโตรเลียมของไทย จากข้อมูลผลรายงานประจำปีของ ปตท.มีรายได้จากการขายในปี 2551 สูงถึง 2,000,816 ล้านบาท และในปี 2553 ก็มีรายได้อยู่ที่ 1,900,005 ล้านบาท ขณะที่ในปี 2553 ปตท.มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 83,088 ล้านบาท ขณะที่สินทรัพย์รวมอยู่ที่ 1,249,148 ล้านบาท พร้อมกับการที่ปตท.ได้ถือหุ้นใน ปตท.สผ. อยู่ที่ 2,167,500,700 หุ้น ถือเป็น 65.286% โดยในปี 2553 ปตท.สผ. มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 41,734 ล้านบาท รวมมีสินทรัพย์ อยู่ที่ 342,219 ล้านบาท รวมแล้วทั้ง 2 บริษัท ซึ่งมีสินทรัพย์ (2553) รวมอยู่ที่ 1,591,367 ล้านบาท รวมแล้วมีกำไรสุทธิรวมกันอยู่ที่ 129,822 ล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงมากหากเทียบกับรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ของไทย ด้วยเหตุนี้จึงเรียกได้ว่า ปตท.เป็นเจ้าตลาดของธุรกิจพลังงานของไทยอย่างเต็มตัว แต่ไม่เพียงเท่านี้ ปตท.ยังได้รุกคืบไปยังแหล่งพลังงานต่างๆ ในหลายทวีปแล้วโดย มีบริษัทในเครือ ปตท.อย่าง ปตท.สผ. (ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม) PTTEP ที่ได้บุกเบิกไปยังหลายประเทศ อาทิ สหภาพพม่า,เวียดนาม,กัมพูชา,อินโดนีเซีย,โอมาน, อัลจีเรีย,อียิปต์,บาห์เรน ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ มีทั้งบุกเบิกไปโดย ปตท.สผ.เอง หรือไปร่วมลงทุนซึ่งมีบริษัทลูกอีก 51 แห่ง โดยรวมแล้ว ปตท.สผ. มีการลงทุนในโครงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมจำนวนทั้งหมด 44 โครงการ เป็นโครงการลงทุนในประเทศไทย 17 โครงการ พื้นที่พัฒนาร่วม 1 โครงการ พื้นที่คาบเกี่ยว 1 โครงการ และลงทุนในต่างประเทศ 27 โครงการ (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มกราคม 2554)



มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแฉ “ปตท.” ต้นตอสาเหตุทำประชาชนต้องจ่ายค่าไฟเพิ่ม

วันที่ 30 เม.ย. นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และนายบุญชัย รุ่งเรืองไพศาลสุข ประธานเครือข่ายคัดค้านการขึ้นค่าโดยสารรถสาธารณะ ได้ร่วมในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV

นายอิฐบูรณ์กล่าวถึงการขึ้นค่าเอฟทีในเดือนพฤษภาคมนี้ว่า เหตุผลในการขึ้นค่าเอฟทีมีคำพูดที่ไม่จริง เพราะค่าเอฟทีเป็นการรวบรวมค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะเรื่องของต้นทุนเชื้อเพลิงที่นำมาเป็นตัวผลิตไฟฟ้าย้อนหลัง ไม่ใช่ปัจจุบัน ฉะนั้นที่อ้างว่าเมษายนประชาชนใช้ไฟมาก มันก็คือค่าใช้จ่ายที่ต้องไปเรียกเก็บอีก 4 เดือนถัดไป หลังจากมีประกาศรอบนี้ แล้วที่บอกว่าอากาศร้อน คนไทยใช้ไฟเยอะ เป็นการปกปิดข้อมูลบางประการ เพราะตัวเลขที่ตามได้จากรายงานประจำปี 2554 ที่เพิ่งเผยแพร่ทางเว็บไซต์ของ บมจ.ปตท. พบข้อมูลตัวหนึ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับต้นทุนเชื้อเพลิง ต้องเรียนว่าเชื้อเพลิงของ กฟผ.ก็ดี หรือโรงไฟฟ้าเอกชนต่างๆ ถูกกำหนดไว้โดยกลุ่มนักการเมืองผ่านทางกระทรวงพลังงาน ผ่านทางสูตรที่เรียกว่าสูตรการคำนวณค่าก๊าซธรรมชาติและค่าผ่านท่อ สูตรนี้ออกมาเมื่อปี 2551 สมัยยุค คมช. สูตรดังกล่าวถูกกำหนดว่าราคาก๊าซจากอ่าวไทย ควรได้ใช้ราคา pool 1 คือราคาถัวเฉลี่ยของก๊าซอ่าวไทย ขอประทานโทษไม่มีโอกาสได้ใช้ คนที่ได้ใช้คือกลุ่มธุรกิจของกลุ่ม ปตท. ก็คือโรงแยกก๊าซที่ตั้งอยู่ที่จังหวัดระยอง แต่โรงไฟฟ้าก็อ้างอยู่ตลอดว่าอุตสาหกรรมขยายตัว เศรษฐกิจขยายตัว อันนี้เป็นสูตรการเขียนละคร การเขียนบทของคนขายก๊าซ พออยากขายก๊าซได้มากขึ้น ก็ไปสั่งการให้คนรับใช้ไปเขียนบทละครขึ้นมาอีกเรื่องหนึ่ง ว่ากฟผ.ต้องสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม ต้องใช้พลังงานอื่นๆ ก็เลยมีตัวละครเพิ่ม คือเอาก๊าซจากพม่าเข้ามา แน่นอนราคาสูงกว่า คือ ราคา pool 2 แต่ก็มีปตท.ไปถือหุ้นร่วมอยู่ด้วยในฝั่งพม่า ก็เอามารวมกับราคาอ่าวไทย ทีนี้มีการเขียนเพิ่มเติมด้วยว่าถ้าหากมีก๊าซธรรมชาติหรือเชื้อเพลิงอื่นเข้ามาอีกให้รวมอยู่ในราคา pool 2 ด้วยเช่นกัน

ประเด็นคือช่วง 2553 ต่อ 2554 ต้นปี 2554 เดือนมีนาคมเกิดสึนามิที่ญี่ปุ่น เกิดปัญหาเศรษฐกิจทั่วโลก พอมาถึงไตรมาส 3-4 ของปี 2554 เมืองไทยน้ำท่วม รถยนต์จอดนิ่ง ตายสนิท การใช้ก๊าซพลังงานหยุดสนิท รายงานจากการไฟฟ้าระบุว่ายอดใช้ไฟของปี 2554 ลดลง 0.3 เปอร์เซ็นต์ รวมแล้วลดน้อยลง แต่กลับอ้างว่าเราต้องมีการนำเข้า LNG (ก๊าซธรรมชาติเหลว) เพราะอ้างว่าไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าของคนไทย มีการจัดตั้งบริษัท PTT LNG จำกัด โดย ปตท.ถือหุ้น 100% ทำหน้าที่รับเรือ ขนส่งต่างๆ เพื่อรองรับ LNG แสดงว่าขนานใหญ่เลย แล้วก็ไม่ได้จ่ายให้ กฟผ.ทันที แต่มาที่บริษัทผลิตไฟฟ้าและพลังร่วมจำกัด ซึ่ง ปตท.ถือหุ้น 100% นี่ก็คือการส่งผ่านกำไรกันเป็นทอดๆ  “ที่น่าตกใจ LNG ราคาแพงอย่างมหาศาล ก๊าซอ่าวไทยอยู่ที่ประมาณ 5-6 บาท แต่ LNG นำเข้าตั้งแต่ พ.ค. 2554 ราคาเริ่มที่ 13-14 บาทเศษๆ ต่อล้านบีทียู มีราคาต่างกันถึง 4 เท่า แล้วนำเข้ามาแล้วไปไหน มันสะท้อนอยู่ในส่วนของค่าเอฟทีไฟฟ้า ที่รอจังหวะ พอหน้าร้อนมาก็บอกว่าคนไทยร้อน ใช้ไฟเพิ่ม มันมีการพูดไม่จริง ปกปิดข้อเท็จจริง  ที่สำคัญหน่วยงานที่แถลงข่าวว่าต้องมีการขึ้นค่าเอฟที คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน มีการคิดราคาในส่วนที่เรียกว่าการทำงานของบริษัทลูก ของ PTT LNG อะไรต่างๆ ที่เรียกว่าคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานเมื่อ ก.ค. 2554 ได้มีมติเห็นชอบ ให้มีการเรียกเก็บอัตราค่าบริการเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติจากเหลวเป็นก๊าซ ส่วนของต้นทุนคงที่ อยู่ที่ 31.7 บาทต่อล้านบีทียู ขณะที่ค่าผ่านท่อ ราคาเนื้อก๊าซอยู่ที่ 24 บาท แต่บวกค่าแปรสภาพ นี่คือรายได้ของบริษัท ปตท.โดยตรง อยู่ที่ 31 บาทต่อล้านบีทียู ถ้าเอาตัวเนื้อก๊าซไปรวมด้วยมันจะขนาดไหน นี่คือการกินกำไรกันเป็นทอดๆ ราคาเนื้อก๊าซพอไปตั้งโรงไฟฟ้า ซึ่งก็เป็นของเครือตัวเอง แล้วเอาโครงสร้างดังกล่าวผ่านต้นทุนต่างๆมาลงอยู่ในค่าเอฟที ผลักภาระมาให้พี่น้องประชาชนรับผิดชอบขณะนี้   สิ่งที่ ปตท.ขอต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน โดยขอขึ้น 50-60 สตางค์ แล้วก็มีการเจรจาต่อรองโดยขึ้น 30 สตางค์ ก่อนแล้วค่อยขยับขึ้น ตอนนี้เรากำลังโดนเล่น สุดท้ายถ้าหน่วยงาน ปตท.เก็งกำไรพลาดจากการเล่นราคา LNG หรือพลาดที่เก็บสต๊อกมากเกิน ภาระก็จะตกมาที่ค่าเอฟทีให้พี่น้องประชาชนต้องรับ แต่เวลาเกิดกำไร ปตท.รับเข้าทั้งหมด

นายบุญชัยกล่าวถึงกรณีการเตรียมขึ้นค่าโดยสารรถสาธารณะวันที่ 15 พ.ค.นี้ ว่าจะไม่ยอมให้ขึ้นแน่นอน ตนเคยฟ้องศาลปกครองมา 2 ครั้ง มีครั้งหนึ่งเมื่อ 19 พ.ค. 2551 มีการขึ้นค่าโดยสารรถธรรมดาจาก 8 บาท ไป 10 บาท หลังจากนั้นเดือนเดียวเอากลับมาเหลือ 8 บาท หลายปีที่ผ่านมาตนไม่ได้ออกมา เพราะไม่จำเป็นต้องมาจับเรื่องนี้แล้ว โดยมุ่งไปที่ทางองค์กรพัฒนาขนส่งมวลชน และแก้ระบบการจราจร

นายบุญชัยกล่าวต่อว่า เมื่อย้อนดูข้อมูล พบว่าไม่กี่เดือนขึ้นค่าโดยสารถึง 3 ครั้ง แล้วขึ้นแบบน่าเกลียดมาก ครั้งที่หนึ่ง 23 มี.ค. 2548 ครั้งที่ สอง 4 ม.ค. 2548 ครั้งที่สาม 5 ม.ค. 2549 ไล่มาประมาณ 10 เดือน ขึ้น 3 ครั้ง แล้วตลกมาก อย่างรถมินิบัสค่าโดยสาร 3.50 บาท พอราคาค่าเชื้อเพลิงเพิ่มจาก 18 บาท มาที่ 24 บาท ไปขึ้นให้เขา 3 บาท เป็น 6.50 บาท เท่ากับว่าขึ้นถึง 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเชื้อเพลิงในการเดินรถมินิบัสขึ้นมา 6 บาทนั้น อย่างเก่งเลยยังไม่ถึง 50 เปอร์ของเชื้อเพลิง แล้วเชื้อเพลิงไม่ใช่ต้นทุนทั้งหมดของการเดินรถ เชื้อเพลิงการเดินรถเทียบแล้วประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ไปๆ มาๆ เชื้อเพลิงตกประมาณ 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ของการประกอบการเดินรถทั้งหมด เชื้อเพลิงขึ้น 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ แต่ขึ้นราคาให้ผู้ประกอบการ 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีความเหมาะสม แล้วทุกกรณีก็อ้างราคา  วันนี้ไม่มีใครรู้อยู่ประการหนึ่งว่า คณะกรรมการขนส่งทางบกกลาง ปล่อยให้รถในสายๆนั้น เพิ่มปริมาณทับซ้อนกัน เพิ่มสัมปทาน คนที่ได้ประโยชน์คือคนที่อนุมัติ บางทีนักการเมืองปล่อยให้รถตู้เกิดเป็นหมื่นคัน ผลประโยชน์หลายพันล้าน สุดท้ายรถล้นระบบมากเกิน ทำให้ขาดทุน แล้วก็ผลักภาระมาที่ค่าโดยสาร วันนี้จะไม่ยอมให้ขึ้นเลยเพราะที่ผ่านมาเอาเปรียบมาตลอด น้ำมัน 20 กว่าบาท วันดีคืนดีมาใช้เอ็นจีวี 8.50 บาท แต่กลับไม่ลดค่าโดยสารเลย อีกทั้งแม้ปลายปีเอ็นจีวีจะขึ้นไปที่ 14 บาท ก็ยังถูกกว่าวันที่เขาใช้เชื้อเพลิง 24 บาท แล้ววันนี้คณะกรรมการขนส่งทางบกกลาง จะเอาตรงไหนมาอ้าง เพราะวันนี้อ้างแต่ต้นทุนเชื้อเพลิง

ประธานเครือข่ายคัดค้านการขึ้นค่าโดยสารฯ กล่าวอีกว่า คณะกรรมการขนส่งทางบกกลาง กรมการขนส่งทางบก และ ขสมก.ยังมีประเด็นที่ทำผิดกฎหมายอยู่ เที่ยวนี้ถ้าไม่ฟังกัน ไม่สนว่าประชาชนจะเดือดร้อน ตนจะดำเนินคดีอาญามาตรา 157 (เจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ... ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาทหรือ ทั้งจำทั้งปรับ)  วันนี้ค่าธรรมเนียมค่าโดยสารของรถหมวดสอง ก็คือรถส่วนของเจ๊เกียว ยังผิดกฎหมายในเรื่องค่าธรรมเนียมค่าโดยสาร เพราะขึ้น 4 สตางค์ต่อกิโลเมตร ถ้าไปเชียงใหม่ 700 กิโลเมตร คูณด้วย 4 เท่ากับขึ้นถึง 28 บาท แต่ในค่าโดยสาร เมื่อขึ้นค่าโดยสารแล้ว ต้องขึ้นค่าธรรมเนียมค่าโดยสารด้วย นี่คือความผิดคดีอาญาของอธิบดีขนส่งทางบก กับรัฐมนตรีหลายๆท่าน เพราะค่าธรรมเนียมค่าโดยสาร อย่างรถ ป.1 (มีห้องน้ำ) จะได้บวกค่าธรรมเนียม 80 เปอร์เซ็นต์ของค่าโดยสาร รถป.2 (ไม่มีห้องน้ำ) 40 เปอร์เซ็นต์ สมมติขึ้น 4 สตางค์ จะขึ้นค่าธรรมเนียมค่าโดยสารได้แค่ 1.6 สตางค์ แต่ไปๆมาๆระบบรถสาธารณะที่ทำอยู่ ขึ้นให้เขา 4 สตางค์ โกงประชาชน ผิดตามมาตรา 157 ศาลเคยให้ความคุ้มครอง และตนเคยประสานไปยังกรมการขนส่งทางบกให้ดำเนินการดูแลประชาชน แต่วันนี้ก็ยังไม่ดำเนินการ ตนจะเอาเงื่อนไขตรงนี้มาเล่นงานรัฐมนตรีทุกคน และอธิบดีกรมการขนส่งทางบกทุกคน   ทั้งหมดคือการทำผิดฎหมายหลายๆ อย่าง อย่างมินิบัสเกิดมาเพื่อเป็นทางเลือกผู้ยากไร้ไปมาเปลี่ยนเป็นรถแอร์ อย่างรถแอร์สีเหลืองที่ 10 บาทตลอดสาย อันนั้นเป็นการเก็บค่าโดยสารที่ผิดกฎหมาย ไม่มีคณะกรรมการขนส่งทางบกกลางกำหนดออกมา แล้วดำเนินการกันได้อย่างไร ประเภทรถจากมินิบัสกลับกลายไปเป็นรถแอร์ นี่คือการกระทำผิดเต็มไปหมด ส่วนรถตู้สามารถนั่งได้แค่ 12 ที่นั่ง แต่กรมการขนส่งทางบกจดให้รถประเภทนี้นั่งได้ 14 ที่นั่ง ความปลอดภัยอยู่ไหน อีกเรื่องที่มีปัญหามากคือรถทัวร์ 2 ชั้น วันนี้กรมการขนส่งทางบกยอมรับแล้ว ว่าโอกาสที่เกิดอุบัติเหตุสูง เพราะถนนบ้านเราไม่ดี กรมการขนส่งทางบกไม่คำนึงถึงชีวิตประชาชนเลย  แล้วรถ ขสมก.ก็ไปสมประโยชน์กับรถร่วม อย่างรถสีชมพูเดินรถมา 30-40 ปี แค่ไปพ่นสีแล้วให้เอกชนเอาไปเดินรถต่อได้ รถหมดสภาพแล้ว ต้องเอาออกจากระบบ แต่เอาไปให้เอกชนเดินรถ แล้วก็คณะกรรมการขนส่งทางบกกลาง ไปลดค่าตอบแทนให้กับพวกนี้ ทำให้รัฐเสียหายไปเป็นพันล้าน แล้วถามว่ารัฐมนตรี ข้าราชการ ไปสมประโยชน์กับผู้ประกอบการอย่างนี้ แล้วประชาชนจะทำอย่างไร

นายบุญชัยยังกล่าวว่า กรมการขนส่งทางบกเป็นเลขาของคณะกรรมการขนส่งทางบกกลาง ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ (รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม) ให้รับปากกับกลุ่มรถร่วม ที่จะให้ขึ้น 1 บาท ดร.ชัชชาติ ลืมไปว่าไม่มีสิทธิ์ให้ใครขึ้นค่าโดยสาร ตามกฎหมายให้เป็นสิทธิของคณะกรรมการขนส่งทางบกกลาง ซึ่งตนจะทำหนังสือถึงรัฐมนตรีให้ยับยั้ง ถ้าไม่ยับยั้งภายใน 2-3 วัน จะฟ้องว่าคำสั่งทางปกครองอันนี้ไม่เป็นธรรม ตนมั่นใจว่าดูแลประชาชนได้


ผู้เชี่ยวชาญชำแหละโจรปล้นพลังงาน ชี้ชัดไทยส่งออกรายใหญ่แต่คนในชาติกลับจ่ายแพงสุด


“ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี” เปิดเผยหลักฐาน ไทยมีแหล่งพลังงานจำนวนมหาศาล ผลิตก๊าซธรรมชาติติดอันดับ 24 ของโลก แซงหน้าหลายประเทศในโอเปก แต่คนในชาติกลับต้องใช้น้ำมันแพงกว่าประเทศอื่น ซัดอย่าอ้างราคาตลาดโลก เพราะถูกลงจากปี 51 มาก แต่ขายหน้าปั๊มกลับไม่ต่าง จี้แก้กฎหมายเปิดแข่งเสรี-เพิ่มส่วนแบ่งรายได้เข้ารัฐ ด้าน “ผศ.ประสาท” แฉ ปตท.โกง 2 ต่อ ปล้นค่าภาคหลวง ชี้คนไทยกำลังถูกล้างสมองให้เชื่อง

วันที่ 4 เม.ย. เมื่อเวลา 20.30 น. ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี อนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านพลังงาน วุฒิสภา และ ผศ.ประสาท มีแต้ม นักวิชาการด้านพลังงาน ร่วมเปิดโปงขบวนการปล้นน้ำมันและพลังงานชาติ ในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV โดยนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ รับหน้าที่ผู้ดำเนินรายการ   ม.ล.กรกสิวัฒน์กล่าวว่า อยากฝากถึงรัฐบาล ตนไม่ได้มีหน้าที่มาหาคนผิดในเรื่องนี้ แต่อยากหาคนมาทำเรื่องนี้ให้ถูกต้อง ประเด็นที่ถกเถียงกันมากคือ ประเทศไทยมีพลังงานหรือเปล่า โดยมล.กรกสิวัฒน์ ได้แจงเป็นเป็นประเด็นๆ พร้อมแสดงหลักฐานประกอบ ดังนี้
- จากข่าวปีที่แล้ว รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ซึ่งปัจจุบันเป็นอธิบดีแล้ว ท่านบอกว่าในอีสานมีก๊าซธรรมชาติสูงมาก และศักยภาพอาจจะมีมากกว่าซาอุดิอาระเบียด้วยซ้ำ อีสานมีพื้นที่ทั้งหมดราว 1.7 แสน ตร.กม.เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพปิโตรเลียมถึง 1 แสน ตร.กม. จำนวนน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติที่น้ำพอง (ขอนแก่น) และภูฮ่อม (อุดรฯ) ที่มีการขุดอยู่แล้วทุกวันนี้ แต่ละวันมีก๊าซขึ้นมา ถึง 2.67 ล้านลิตร หรือเกือบ 1 พันล้านลิตรต่อปี
ข่าวพบบ่อน้ำมันที่ทุ่งกุลาร้องไห้ เมื่อมกราคมที่ผ่านมา ตอนนี้ชาวบ้านในพื้นที่เริ่มแตกกันแล้ว บางกลุ่มอยากให้ขุดเจาะ เพราะถูกหลอกว่าถ้าเอาขึ้นมาจะได้ใช้น้ำมันถูกลง แต่จริงๆแล้วน้ำมันที่ขุดได้ก็ต้องส่งไปที่โรงกลั่น ซึ่งพอโรงกลั่นขายกลับมาก็ขายให้เท่ากับราคานำเข้า บางกลุ่มไม่อยากให้ขุดเจาะเพราะเห็นแล้วว่าชาวบ้านที่น้ำพองไม่ได้มีชีวิตที่ดีขึ้นเลย บางคนก็ต้องการขายพื้นที่ให้ได้ราคา แต่ความจริงในการขุดเจาะไม่ต้องใช้พื้นที่เยอะ การให้ข้อมูลที่ถูกต้องต่อชาวบ้านจึงสำคัญ จะทำให้ความขัดแย้งน้อยลง ที่สำคัญต้องบอกด้วยว่าคนอีสานจะได้อะไรจากการขุดเจาะ
- แอ่งสะสมตะกอนอินทรีย์ที่สามารถขุดเจาะเป็นปิโตรเลียมได้ ภาคเหนือ-อีสาน เต็มไปด้วยแอ่งนี้ สุโขทัย กำแพงเพชร มีแอ่งที่ใหญ่มาก แต่เอกสารนี้กลับมีแต่ระบุเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อเอาไปเสนอให้ต่างชาติเข้ามาทำการสำรวจ ซึ่งในต่างประเทศจะเปิดเผยในภาษาท้องถิ่นให้คนรับทราบว่าท่านมีทรัพย์สมบัติอะไร เปิดเว็บให้คนเข้ามาเขียนแสดงความคิดเห็นด้วย
- ภาพแปลงพื้นที่ที่ให้คนเข้ามาประมูลขุดเจาะน้ำมัน จะเห็นว่ามีแปลงสัมปทานอยู่ทั่วอีสาน แต่วันนี้คนอีสานทราบหรือไม่ก็ไม่แน่ใจ ในแง่ธรรมาภิบาล รํฐควรแจ้งให้ประชาชนทราบ หรือแม้แต่คนไทยทุกคนควรรู้ว่าเกิดไรขึ้น อย่างเวลาเห็นการสำรวจปิโตรเลียม ชาวบ้านยังคิดว่ามาขุดถนนเลย
- อันดับโลกที่อเมริกาจัดอันดับให้ไทยของ EIA (Energy Information Administration) ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 24 ของโลก ในการผลิตก๊าซธรรมชาติ เราชนะประเทศในกลุ่มโอเปก อย่างไนจีเรีย เวเนซุเอลา ลิเบีย คูเวต อิรัก บรูไน โบลิเวีย ตรงนี้กระทรวงพลังงานมักพูดว่าแต่ใต้ดินเรามีน้อย ซึ่งตนก็ไม่ทราบว่าใต้ดินจะมีเยอะหรือน้อย นอกจากจะทำการขุดเจาะ แต่กระทรวงพลังงานบอกว่าจะไม่ทำเอง เพราะไม่มีงบประมาณ แต่ตนคิดว่าแบ่งงบมาทำตรงนี้สักนิดจะมีประโยชน์มหาศาล อันดับเราไม่ได้ขี้เหร่ นี่คือปริมาณปิโตรเลียมที่ขึ้นมาต่อวัน จับต้องได้จริง ส่วนที่อยู่ในดิน เมื่อ 20 ปีก่อน ก็บอกว่าเหลือใช้ได้อีก 25-30 ปี ถึงตอนนี้ก็ยังบอกว่าเหลือใช้อีก 25-30 ปี เรื่องนี้มันขึ้นอยู่กับเทคโนโลยี ความลึก แล้วก็แปลงพื้นที่ที่เปิดให้สำรวจด้วย
- ข้อมูลจาก CIA (Cental Intelligence Agency) The World Factbook ระบุว่า ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 25 ของโลกในการผลิตก๊าซธรรมชาติ
- เอกสารของกระทรวงพลังงานเอง เมื่อมกราคม 2555 ระบุว่า ไทยขุดเจาะปิโตรเลียมได้แล้ววันละเกือบ 9 แสนบาร์เรล หรือประมาณ 142 ล้านลิตร แบบนี้จะบอกไม่มีไม่ได้
- แหล่งพลังงานบนบกมีทั่วประเทศ ที่ใหญ่ๆ เช่น กำแพงเพชรขุดขึ้นมาวันละ 54 ล้านลิตร หรือปีละ 2 พันล้านลิตร เพชรบูรณ์วันละ 2.5 แสนลิตร สุพรรณบุรี 2.5 แสนลิตร เชียงใหม่เกือบ 1.7 แสนลิตร ส่วนในทะเล แหล่งใหญ่ๆอย่างบงกชขุดขึ้นมาวันละ 28 ล้านลิตร
ม.ล.กรกสิวัฒน์กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลประโยชน์ของปิโตรเลียม แบ่งเป็น 3 ตัวด้วยกัน คือ ค่าภาคหลวง ส่วนแบ่งกำไร และภาษี ทุกประเทศมีส่วนแบ่งกำไรเหมือนกันหมด แต่ไทยไม่เก็บตรงนี้ ค่าภาคหลวงจะใกล้เคียงกัน ส่วนภาษีจากกำไร พม่า 30% กัมพูชา 30% ไทย 50% แต่จริงๆแล้วอย่าดูแยกส่วน ต้องดู 3 ตัวรวมกัน อยากให้ดูว่าสิ่งที่รัฐได้รับสุทธิกับการเอาทรัพยากรออกไปจากแผ่นดิน จะเห็นว่าเราแตกต่างจากกัมพูชาและพม่า เพราะเมื่อหักโน่นหักนี่แล้วของไทยได้จริงแค่ 29%  ดูที่ประเทศอื่น อย่างโบลิเวียเอา 82 เปอร์เซ็นต์ของรายได้จากก๊าซธรรมชาติ โดยโบลิเวียผลิตก๊าซธรรมชาติได้ในอันดับ 33 ของโลก คาซัคสถาน ได้ส่วนแบ่ง 80 เปอรเซ็นต์ของปริมาณน้ำมันที่ขุดเจาะได้ อาบูดาบี แบ่งกำไรให้บริษัทขุดเจาะไม่เกิน 1 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล รัสเซีย 90 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ในส่วนที่ราคาน้ำมันสูงกว่า 25 ดอลลาร์ ซึ่งมันเกินอยู่แล้ว  “อีโว โมลาเลส ประธานาธิบดีโบลิเวีย ได้พูดถึงเกี่ยวกับการบริหารปิโตรเลียมของประเทศ หลังจากเปลี่ยนการเก็บรายได้เข้ารัฐจากเดิม 50-50 มาเป็นเก็บ 82 เปอร์เซ็นต์ รัฐบาลเดิมได้รายได้ 3 ร้อยล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มมาเป็น 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้ประเทศเกินดุล ก้าวหน้าไปมาก ต้องบอกว่าหลังน้ำมันราคาเพิ่ม ทุกประเทศแก้กฎหมายให้เอาเงินเข้ารัฐมากขึ้น แต่ประเทศไทยไม่มีเลย ทำไม่ได้หรือ เพื่อผลประโยชน์จะได้ตกกับประเทศเพิ่มขึ้น พม่ามาหลังเรา แต่ส่วนแบ่งเข้ารัฐได้มากกว่า เขมรก็ได้มากกว่า แล้วเขมรมีแหล่งขุดเจาะแห่งเดียวกับไทย คืออ่าวไทย จะมาอ้างว่าไทยขุดเจาะยากได้อย่างไร” ม.ล.กรกสิวัฒน์ระบุ

ม.ล.กรกสิวัฒน์กล่าวต่อว่า ตัวเลขเมื่อปี 2551 ไทยส่งออกปิโตรเลียม ทั้งน้ำมันสำเร็จรูป น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติเหลว รวมทั้งหมดเกือบ 3 แสนล้านบาท หรือประมาณ 9 พันล้านเหรียญสหรัฐ มากกว่าข้าวและยางพารา อย่างไรก็ดี มีคนโต้แย้งว่า ปี 2554 ยางพาราแซงแล้ว แต่ประเด็นตนไม่ได้เถียงเรื่องอันดับ แต่ประเด็นคือหลายคนยังไม่รู้เลยว่าเราส่งออกปิโตรเลียม แล้วใครเป็นผู้นำเข้าน้ำมันจากไทย ในเว็บของ Census Bureau (www.census.gov)เป็นหน่วยงานของกระทรวงพาณิชย์ที่อเมริกา ก็มีตัวเลขชัดเจน ระบุว่า สหรัฐนำเข้าจากประเทศไทย ทั้งน้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป LPG เพิ่มขึ้นมาตลอด น้ำมันดิบมากถึงประมาณ 2.7 หมื่นล้านบาท อีกทั้งยังมีรายงานปี 2012 สหรัฐฯ นำเข้าน้ำมันดิบจากประเทศไทย 1.204 ล้านดอลลาร์  ราคาน้ำมันในประเทศ ที่รัฐบาลพูดว่าเพราะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเพิ่ม ช่วงสั้นเพิ่มขึ้นจริง แต่ขณะนี้เมื่อเทียบกับปี 2551 ตอนนั้นราคาตลาดโลกสูงไปถึง 145 เหรียญสหรัฐ แต่วันนี้อยู่ที่ 103.69 เหรียญสหรัฐ หรือก็คือประมาณ 20 บาทต่อลิตรเท่านั้นเอง  เปรียบเทียบราคาน้ำมันดิบตลาดโลก ปี 51 กับปัจจุบัน ของเวสต์เทกซัส ตอนปี 51 (145 ดอลลาร์) ปี 55 (105 ดอลลาร์) เบรนท์ทะเลเหนือตอนนี้อยู่ที่ 120 ดอลลาร์ ก็ประมาณ 23 บาท แต่ขายให้เราราคาหน้าปั๊ม 42-43 บาท
ต้นทุนน้ำมันดิบ ปี 51 อยู่ที่ 30.03 บาทต่อลิตร ขายเบนซิน 91 ราคาหน้าปั๊มที่ 42.5 บาทเท่านั้นเอง แต่ตอนนี้ต้นทุนน้ำมันดิบ 20.14 บาท ถูกกว่าประมาณ 10 บาท แต่ขายหน้าปั๊มพอๆ กับตอนปี 51 เลย ทั้งที่มันไม่ได้แพงเท่าปี 51 แบบนี้มันน่าจะเป็นเรื่องนโยบายพลังงานมากกว่า ที่ทำให้คนไทยใช้น้ำมันแพง
ต่อมาราคาน้ำมันเบนซินของไทยประมาณ 42.58 บาท สหรัฐฯ ประมาณ 28-33 บาท ทั้งๆ ที่เราส่งออกไปที่อเมริกา สหรัฐฯ มีการแข่งขันเสรี ไม่มีการอุดหนุนโดยรัฐ แต่มีแข่งขันกันหลายเจ้า นี่คือผลของการแข่งขัน ถ้าไทยมีการแข่งขันที่สมบูรณ์ราคาไม่น่าจะหนีจากกันเท่าไหร่
อีกอันคือ ข้อมูลเมื่อ 12 มีนาคม 55 เบนซิน 95 ไทยขายอยู่ที่ 44.86 บาท มาเลเซีย 19 บาท อินโดนีเซีย 31.70 บาท พม่า 24 บาท สรุปไทยแพงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ม.ล.กรกสิวัฒน์กล่าวต่อว่า ราคาก๊าซธรรมชาติ NGV ในไทย 15.50 บาท อเมริกา 2.61 บาท (ราคาขายส่ง) โดยไทยบอกว่านี่เป็นต้นทุนที่แท้จริง ตนต้องบอกว่าในกลไกตลาดเขาไม่ใช้ต้นทุนที่แท้จริงกัน เพราะต้นทุนของคนหนึ่งอาจไม่เท่ากับอีกคนหนึ่ง เพราะหากบริษัทพลังงานบริหารจัดการไม่ดี ต้นทุนก็อาจสูงได้ อันนี้มันขัดแย้งกับกลไกตลาดเสรี อีกทั้งภาพรวมราคาก๊าซตลาดโลก ลดลงมาตลอด แล้วบอกใช้ต้นทุนที่แท้จริง ไม่เหมาะสมแล้ว
มาที่เรื่องคุณภาพของ NGV มีการใส่คาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งกรณีนี้พบว่า มาตรฐานสากลให้ใส่คาร์บอนไดออกไซด์ที่ 0-3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่ไทยโดยกระทรวงพลังงานประกาศให้ใส่ได้มากถึง 18 เปอเซ็นต์ ตรงกันข้ามกับมาตรฐานสากลหมดเลย แล้วเมื่อรวมก๊าซอื่นด้วย มาตรฐานสากลให้ใส่ไม่เกิน 4.5 เปอร์เซ็นต์ ส่วนไทย 19 เปอร์เซ็นต์ ค่าความร้อนที่ใส่เข้าไปเพื่อให้ค่าความร้อนลดลง อเมริกาหรือต่างประเทศตั้งไว้ 48-52 แต่ของไทย 37-42 ไม่ตรงตามมาตรฐานสากลสักอย่าง  น้ำมันในอ่าวไทยเป็นเกรดที่แพงสุดในโลก เบา กลั่นง่าย มลพิษต่ำ เป็นที่ต้องการของประเทศพัฒนา เราส่งออกไปที่อเมริกา เมื่อส่งออกไปแล้ว พลังงานขาดแคลน ก็ไปนำเข้ามาจากตะวันออกกลาง ซึ่งมีกำมะถันสูง พอต้องกำจัดกำมะถัน ก็ไปขอค่าใช้จ่ายจากกองทุนเชื้อเพลง เท่ากับว่าเอาของดีส่งออก แต่เอาของเสียเข้ามาในประเทศ แล้วยังต้องเสียเงินเพิ่มอีก  ส่วนกรณีที่อ้างว่าไทยนำเข้าน้ำมันเยอะ พบว่าวันนี้โรงกลั่นในไทยมีกำลังกลั่นล้นเกิน ฉะนั้นก็มีการนำเข้ามากลั่นเพื่อส่งออก แล้วจะมานับว่าเป็นความต้องการของคนไทยไม่ได้ อย่ามาหาว่านำเข้าเยอะ  ด้าน ผศ.ประสาท กล่าวว่า คนไทยถูกล้างสมองหลายเรื่อง ทำให้เชื่อว่าไทยไม่มีน้ำมัน เรื่องน้ำมันต้องให้ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้นทำชาวบ้านไม่รู้เรื่อง ทำให้เชื่อว่าประชาธิปไตยเป็นแค่การเลือกตั้ง แต่มีการผูกขาดอะไรอยู่มากมาย ถูกทำให้เชื่อว่าโลกไม่มีพรหมแดน ไม่สนใจเรื่องความสุข สนใจแต่เทคโนโลยี พอเชื่องแล้วก็ลงมือปล้นทรัพยากรธรรมชาติ และปล้นแนวคิดด้วย บังคับให้ใช้พลังงานที่เขาผูกขาดได้ พอจะดิ้นไปทางอื่นเขาก็ไม่ยอม  ผศ.ประสาทกล่าวอีกว่า มีข้อมูลก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยและพม่า ตนได้มาเมื่อ 10 กว่าปีแล้ว พบว่าราคาก๊าซในอ่าวไทยประมาณ 10.25 สตางค์ต่อลูกบาศก์ฟุต ซื้อมาจากพม่า 16.05 สตางค์ต่อลูกบาศก์ฟุต คิดทั้งโครงการ 40 ปี ตกที่ 4.5 แสนล้านบาท แปลว่าคนไทยซื้อก๊าซจากพม่าแพงกว่าจากอ่าวไทย ตนก็สงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น พม่าอาจเสียค่าท่อก๊าซแต่หักแล้วก็ยังต่างกันมากอยู่
ก็พบความจริงว่า ปตท.ไปตั้งบริษัทลูกขึ้นมา เพื่อรับซื้อก๊าซจากปากหลุมของไทยในราคาที่ถูกกว่าซื้อจากพม่า จากข้อมูลของ น.ส.รสนา ว่าราคาก๊าซอ่าวไทยอยู่ที่ 40-60 เปอร์เซ็นต์ของตลาดโลก คำถามคือทำไมขายให้ไทยต่ำ เขาขายให้บริษัทลูกของเขาเองเพื่อไปกดค่าภาคหลวง ซึ่งอัตรา 12.5 เปอร์เซ็นต์ ต่ำที่สุดในโลกอยู่แล้ว แต่ไปกดให้ต่ำลงไปอีก ซื้อขายกันที่ปากหลุมในราคาถูกๆ สมมุติซื้อขายกันที่100 เสียค่าภาคหลวง 12.5 บาท แต่ถ้าขาย 50 เสียแค่ 6 บาท ก็จะถูกลงไปอีก มันโกง 2 ต่อ นอกจากโกงภาคหลวงให้ต่ำแล้ว ยังโกงราคาหน้าปากหลุมให้ต่ำ เพื่อจ่ายค่าภาคหลวงต่ำๆ เพื่อขายให้บริษัทแม่ และบริษัทแม่ก็ได้กำไรมากๆ  ทั้งนี้ ข้อมูลจากการปิโตเลียมแห่งประเทศไทย พบว่า ปตท.ขายน้ำมันให้เอกชนอื่นถูกกว่าขายให้ กฟผ. สรุป กฟผ.ต้องซื้อก๊าซในราคาที่แพงกว่าเอกชนตกแล้ว 1.25 หมื่นล้านต่อปี แล้วภาระนี้ก็ตกที่ประชาชน ต้องจ่ายค้าไฟแพงขึ้น  นอกจากนั้น ไทยมีปั๊มน้ำมันสูงเป็น 2 เท่าของอังกฤษ แต่น้ำมันที่เราใช้กันเพียง 1 ใน 3 ของอังกฤษ มากกว่าที่ควรจะเป็น 5-6 เท่า แต่ละปั๊มมันเลยเจ๊งอยู่ไม่ได้ ค่าการตลาดที่ได้ก็น้อย ที่น่าเกลียดคือปั๊มให้แข่งกันเสรี แต่โรงกลั่นกลับผูกขาด ปั๊มเจ๊ง โรงกลั่นรวย อีกทั้งค่าการกลั่นของไทยสูงกว่ายุโรป และสิงคโปร์ถึง 2 เท่า   เส้นทางน้ำมันดิบในปี 51 ไล่มา ส่งออกในราคาที่ถูกกว่าขายให้คนไทย 1 บาทต่อลิตร ทั้งนี้เทคโนโลยีในการขุดเจาะก้าวหน้ามาก ต้นทุนถูกลงเยอะในขณะที่สามารถขุดเจาะได้จำนวนมากขึ้น แต่ค่าภาคหลวงกลับไม่ขึ้นเลย

Link:: บทความของอ.ปานเทพ ก็ออกมาชำแหละกลโกง ปตท.เช่นกันตามนี้
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9550000055425

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น