วันพฤหัสบดีที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

กาลครั้งหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ เกาหลีฟีเวอร์ครองเมือง (เกาหลี ขี้เหงา....แต่เอาอยู่)



เกาหลี ขี้เหงา..... แต่เอาอยู่

ความทรงจำแรกที่ผู้เขียนจำได้ก็คือ ประเทศเกาหลีมีเพลงชื่ออารีดัง และดังมากสมชื่อด้วยได้ยินมาตั้งแต่เด็กๆ ประเทศนี้แบ่งเป็นเหนือกับใต้ เหนือปกครองในแบบคอมมิวนิสต์ ส่วนใต้ปกครองในแบบประชาธิปไตย อาหารหลักประจำชาติก็คือกิมจิ กับหมูย่างเกาหลี มีสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มียี่ห้อว่าซัมซุง มีรถยนต์ชื่อยี่ห้อฮุนได นอกนั้นไม่รู้จักอะไรที่เกี่ยวกับประเทศเกาหลีอีกเลย และรู้ว่ามีเมืองหลวงขื่อกรุงโซลเท่านั้น ทำให้ไม่เคยมีภาพยนตร์เกาหลีอยู่ใน category ของการดูหนังมาก่อนเลย จนมารู้จักภาพยนตร์เกาหลีและซีรี่ย์เกาหลีได้อย่างไรนั้น ก็เริ่มมาจากดูภาพยนตร์ก่อน แล้วค่อยมาดูซีรี่ย์ทีหลัง ภาพยนตร์เกาหลีที่ดูเรื่องแรกในชีวิตก็จำชื่อเรื่องไม่ได้แล้วด้วย แต่จำได้ว่ามีเพื่อนที่ทำงานคนหนึ่งแนะนำให้ดู และให้ยืมแผ่น vcd ไปดู พอดูเสร็จก็เริ่มสนใจว่าเอ๊ะ เกาหลีสร้างหนังได้ดีขนาดนี้เลยเหรอ ทำให้เริ่มหันมาสนใจที่จะมาโฟกัสกับ ภ.เกาหลีมากขึ้น และเริ่มสะสมหลักไมล์ของการชมภาพยนตร์จากประเทศนี้มากยิ่งขึ้น เพื่อทำความรู้จัก และสิ่งที่ผู้เขียนได้รับจากการชมความบันเทิงทั้งในส่วนของภาพยนตร์ ซีรี่ย์และเพลงของวงการบันเทิงเกาหลี จะถูกนำมาถ่ายทอดไว้ในบทความชิ้นนี้ นับจากบรรทัดนี้ไปครับ

กระแสบูมของภาพยนตร์เกาหลีและซีรี่ย์เกาหลี มาได้ถูกที่ถูกเวลามากกับช่วงเวลาที่ วงการภาพยนตร์ของเอเชียนั้นซบเซามาก เพราะช่วงเวลานั้น ภาพยนตร์ในฝั่งเอเชีย ทั้งในส่วนของฮ่องกง ไต้หวัน และญี่ปุ่น นั้น ไม่ค่อยมีผลงานที่ยอดเยี่ยมหรือประทับใจมากเท่าไหร่แล้ว เต็มไปด้วยหนังสูตรในแบบฮ่องกง คือบู๊ ฆ่ากันตายในแบบมาเฟียล้างแค้นมาเฟีย ที่ออกมาเฝือและก็ดูคล้ายๆ กันไปหมดทุกเรื่อง ไม่มีอะไรใหม่ หมดยุคหนังเจ้าพ่อและดารานักบู๊แล้ว รุ่นสุดท้ายคือเจ็ตลีกับดอนนี่ เยน ในส่วนของไต้หวันที่มีจุดแข็งด้านหนังรัก ก็ขาดดาราแม่เหล็กของยุคใหม่ที่จะมาแทน ฉินฮั่นกับหลินชิงเสียได้ ดารารุ่นใหม่ ไม่เป็นที่นิยมหรือรู้จัก มากนัก และส่วนใหญ่ที่ดังจริงๆ ก็ต้องผ่านการเล่นซีรี่ย์มาก่อน เช่น หวังลีฮอม,เจ้าเหว่ย แต่พอมาเล่นหนังก็ไม่ดังเปรี้ยงปร้างมากนัก ในส่วนของญี่ปุ่นนั้นยิ่งซบเซาหนักกว่าอีก เพราะเคยเป็นเจ้าตลาดของฝั่งเอเชียมาก่อน ไอเดียใหม่ๆ ไม่เกิด นานๆ ทีจึงจะมีภาพยนตร์ที่โด่งดังเรียกกระแสได้ซักเรื่องโผล่ขึ้นมา และเมื่อเกาหลีเริ่มชิมลางสร้างสูตรหนังและคาแรกเตอร์เป็นของตนเอง โดยการดึงเอาจุดเด่นของหนังมหาอำนาจในย่านเอเซียในแต่ละประเทศมาพัฒนาต่อยอดและใส่ไอเดียลงไป เพื่อสร้างเป็นคาแรกเตอร์ของตนเอง จนได้กลายเป็นหนัง 4 สูตรมหัศจรรย์ซึ่งทำให้หนังเกาหลีฮิตติดลมบนมาถึงทุกวันนี้ได้สำเร็จ นั่นก็คือ


1.หนังสูตรเนื้อหนังมังสา (Erotic) หรือหนังติดเรต ได้รับอิทธิพลจากหนังติดเรต(AV) ของญี่ปุ่น ซึ่งญี่ปุ่นขึ้นชื่อด้านนี้ทั้งในส่วนของไอเดีย ลูกเล่น และ accessorie tools ต่างๆ ที่นำมาใช้ในหนัง AV แต่เกาหลีนำมาในส่วนของ mood & tone และลดทอนมันลงมาสู่ความเป็นหนัง R แทน ดีกรีการเร้าอารมณ์ที่มีอยู่ในหนัง AV ของญี่ปุ่น แต่ tools ไม่ได้นำมา แล้วใส่ความสด และดิบลงไปแทน ทำให้เกิดความแปลกใหม่ ตื่นตาตื่นใจในครั้งแรกที่ได้ชม และได้รับคำกล่าวชื่นชมเป็นวงกว้างจากนักวิจารณ์ ทั้งในเวทีประกวดหนังเมืองคานส์หรือเวทีอื่นๆ กระแสบอกต่อจากการได้ชมในโรงภาพยนตร์เป็นที่ฮือฮา หนังในสูตรนี้ ได้แก่ Lies, An Affair, Labelle, Club Butterfly, Secret Love ,Green Chair, A good Lawyers Wife, Time เป็นต้น

2.หนังสูตรแนว Gangster ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากหนังฮ่องกง ในยุค 80-90’s แต่เกาหลีนำมาใช้ในส่วนของโครงสร้าง หรือเงื่อนไขท่าบังคับบางอย่างแต่ลีลาหรือ mood & tone กลับเปลี่ยนไปในลักษณะเป็น comedy เสียมากกว่า ไม่ซีเรียสจริงจังเหมือนหนังเจ้าพ่อของฮ่องกง ตรงนี้ก็ได้ผล ทำให้คนดูเริ่มเห็นความแตกต่างของหนัง Gangster ของเกาหลีที่ดูน่ารัก ไม่มีฟอร์ม อารมณ์ขันในแบบหน้าตาย ซึ่งไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมถึงได้ใจคนดู ก็เพราะคนดูติดภาพจำของเจ้าพ่อฮ่องกงที่จะต้องเคร่งขรึม มีมาดและวางฟอร์มเท่ห์อยู่แล้ว แต่หนังเจ้าพ่อของเกาหลี เจ้าพ่อดูเป็นมนุษย์ที่จับต้องได้มากกว่า มีโมโหโกรธา บางครั้งเศร้า(แอบมีอารมณ์อ่อนไหว) บางครั้งมีอารมณ์ขัน (รั่ว) และบางทีก็เล่นบทโหดด้วย เมื่อเราได้ดูหนังแนวนี้ของเกาหลีครั้งแรกก็จะรู้สึกขำ และก็คิดต่อว่ามันคิดได้อย่างไรนะ ช่างเสียดสีและเป็นตลกร้ายที่ไม่ค่อยได้พบในหนังเอเซียมาก่อน หนังในกลุ่มนี้ ได้แก่ My Wife is a Gangster ,My Boss My Hero, My Boss My Teacher ,Silmido, Holiday , Friends ,Daisy ,Guns & Talk, Volcano High เป็นต้น

3.หนังสูตรแนว Period Action พวกนี้ได้รับอิทธิพลมาจากจีนแผ่นดินใหญ่และหนังจีนกำลังภายในของจีน ซึ่งจะโชว์เรื่องความอลังการของฉาก เครื่องแต่งกาย แสงสีเสียง ตัวประกอบเยอะ การต่อสู้ เทคนิคการต่อสู้ด้วยมือเปล่า หรือด้วยอาวุธต่างๆ มักเป็นหนังย้อนยุคอิงประวัติศาสตร์ หรือตำนาน หนังในสูตรนี้ ได้แก่ Shiri ,Bichunmoo, Musa ,Tae-Guk-Gi ,King and The Clown ,The Legend of Gingko, ฮวางจินยี่ จอมนางสะท้านแผ่นดิน เป็นต้น

4.หนังสูตรแนวโรแมนติกดราม่า ได้รับอิทธิพลมาจากไต้หวันเต็มๆ ทั้งในส่วนของ บทพูด (Dialoque) โดนๆ ,เพลงประกอบภาพยนตร์ ,การถ่ายภาพแบบแช่ภาพไว้นานๆ , มุมกล้องสวยๆ การแสดงสีหน้าท่าท่างของตัวละครแบบอินสุดๆ และที่สำคัญคือฉากเรียกน้ำตาจากคนดู ซึ่งมักเป็นฉากสะเทือนใจ จุดไคลแม็กซ์ของเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นนักแสดงหญิงหรือชาย จะมีต่อมเรียกน้ำตาที่จะสามารถเรียกออกมาได้แบบไม่มีกั๊ก จุดขายของหนังเกาหลีจุดหนึ่งก็คือฉากร้องไห้ของตัวแสดงนี่แหละ ซึ่งร้องออกมาแล้วหน้ายังหล่อ สวยได้อีก ซึ่งอันนี้เป็นคุณลักษณะเด่นของหนังเกาหลีที่ชาติอื่นก็ทำตามไม่ได้ หนังสูตรนี้จะมีบทจบที่ไม่สมหวัง ตัวละครจะต้องมีการพลัดพราก หรือมีโศกนาฏกรรม ที่ทำให้ต้องเสียชีวิต หรือถ้ามีการจบแบบ happy ending ก็จะต้องเป็นการจบที่หักมุม หรือให้คนดูไปคาดเดาคิดเอาเองต่อ หนังในกลุ่มนี้ ได้แก่ Ditto , Calla , The Classic , Love Letter, My Sassy Girl, Wanee & Junna ,IL mare , Sad love Story, Christmas in August, One Fine Spring Day ,Windstuck , A Moment to Remember,Now and Forever ,The Way Home ,A Millionaire's First Love, My Boyfriend is Type B ,Scent of Love ,Come Rain Come Shineเป็นต้น



5.ยังมีหนังในสูตรอื่นอีกที่เรียกว่าหนังแนวตลาดหรือแนวพาณิชย์ที่เกาหลีก็ทำได้ดี อาทิ หนังผี(Thriller, Horror) หนังแนวตลก (Comedy) และหนังแนวเพศที่ 3(Gender: Gay & Lesbian) ซึ่งทั้ง 3 แนวนี้ แม้จะไม่ใช่เป็นแนวทางหลักของอุตสาหกรรมหนังเกาหลี เท่า 4 สูตรแรก แต่ก็ถือได้ว่าเกาหลีทำออกมาได้ดี มีคุณภาพ มีมาตรฐาน ชนิดที่เรียกได้ว่า ทำเงินและกล่องได้เช่นเดียวกัน หนังผีดูจะสร้างชื่อเสียงให้เกาหลีได้ไม่แพ้หนังผีชาติอื่นๆ ในเอเชียเลย อาทิ The Uninvited,A Tale of Two Sisters,Arang, Whisper Corridor เห็นได้จากหนังผีเกาหลีก็ถูกซื้อลิขสิทธิ์ไปรีเมคในหลายประเทศเช่นเดียวกัน หรือถูกนำไอเดียไปใช้ในภาพยนตร์ผีของชาติอื่นๆ ด้วย The Host หนังอสูรกลายพันธุ์บุกโลก ก็จัดอยู่ในกลุ่มนี้ หนังแนวตลกของเกาหลีดูจะแข็งแรงน้อยที่สุด และแม้จะเทียบหนังแนวนี้จากชาติอย่างฮ่องกงหรือไทยไม่ได้ แต่ก็ถือได้ว่าทำออกมาได้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเช่นกัน ในกลุ่มนี้ได้แก่ Sex is Zero, 200 Pounds of Beauty,Strongest, He was Cool ,Highway Star  และสุดท้ายหนังแนวเพศที่ 3 อาทิ A Frozen Flower, No Regret, Memento Mori, In My End is My Beginning ,Spider Lilies ต้องถือว่าด้วยกฎหมายการจัดเรตติ้ง และมีรัฐบาลที่สนับสนุนอย่างแข็งแรงทำให้หนังแนวนี้ของเกาหลีก้าวล้ำนำหน้า พัฒนาไปไกลที่สุดในภูมิภาคแถบนี้ก็ว่าได้ ทั้งในส่วนของเนื้อหา พล็อตเรื่อง การนำเสนอ ไอเดียใหม่ๆ ความหลากหลายทั้งในส่วนของปริมาณและคุณภาพ ไม่ด้อยไปกว่าญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้นำของตลาดหนังแนวนี้เลย


ในส่วนของซีรี่ย์เกาหลีนั้น ขอเริ่มที่ซีรี่ย์ 4 ฤดูก่อน (Autumn in my heart, Winter Love Song ,Spring Waltz ,Summer Scent) ของผู้กับยุนซุกโฮ ซึ่งผู้เขียนก็ได้มีโอกาสได้ดูครบทั้ง 4 เรื่อง และถ้าจะให้จัดอันดับความชอบเป็นการส่วนตัวแล้ว ก็ขอเรียงลำดับความชอบเป็นดังนี้ คือ Summer Scent, Autumn in my heart, Spring Waltz, Winter Love Song ทั้งนี้ก็คงไม่ใช่อะไรหรอกนอกจากเรียงลำดับไปตามความชอบนางเอกของเรื่องในแต่ละเรื่องเรียงกันไปนั่นเอง จะว่าไปผู้เขียนชอบพล็อตเรื่องของ Summer Scent ในซีรี่ย์ชุดนี้ที่สุด แม้เพลงประกอบจะสู้ 3 เรื่องที่เหลือไม่ได้ แต่องค์ประกอบโดยรวมชอบเรื่องนี้ที่สุดแล้ว แต่ยังไงซีรี่ย์ทั้ง 4 เรื่องนี้ควรค่าแก่การหามาชม และคอนเซ็ปต์ของซีรี่ย์ชุดนี้ยังเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้จัดละครช่อง 3 นำไปสร้างชุดของละคร 4 หัวใจแห่งขุนเขา (ธาราหิมาลัย ,ดวงใจอัคนี ,ปฐพีเล่ห์รัก, วายุภัคมนตรา )

ในส่วนของซีรี่ย์นั้น เกาหลีก็แบ่งหมวดหมู่ตามแนวสูตรเป็น 3-4 สูตรหลักๆ คล้ายๆ ภาพยนตร์เช่นเดียวกัน คือเป็นซีรี่ย์แนว Gangster หรือสืบสวนสอบสวน, แนวโรแมนติกดราม่า, และก็แนวพีเรียด(แอ็คชั่น) ซึ่งจะขอจำแนกแยกแยะ เป็นดังนี้

1.ซีรี่ย์แนว Gangster หรือแนวสืบสวนสอบสวน(Crime/Thriller) ซีรี่ย์แนวนี้ลอกแบบมาจากซีรี่ย์ของอเมริกา ซึ่งเนื้อเรื่องจะตื่นเต้นเร้าใจ และเดินไปตามสูตรหรือเงื่อนไขของหนังแนวนี้ อาทิ IRIS ,Crime Squad, Athena : Goddess of Wars 

2. ซีรี่ย์แนวโรแมนติกดราม่า (Romantic/Drama) ซีรี่ย์แนวนี้ดูจะเป็นแนวถนัดของเกาหลีและถูกซื้อมาฉายในบ้านเรามากที่สุด นับตั้งแต่ซีรี่ย์ยุคแรกๆ ที่เคยฉายทางไอทีวี ช่อง 5 ซึ่งเป็นยุคบุกเบิกของซีรี่ย์เกาหลีในไทย อาทิ ซี่รี่ย์ในชุด 4 ฤดู, Full House, My girl, Princess Hours, Snow Queen ,My name is Kimsamsoon, Coffee Prince ,Boys over flowers , Dream, Over the Rainbow etc.

3.ซีรี่ย์แนวย้อนยุค อิงประวัติศาสตร์ (Period) ซีรี่ย์แนวนี้ก็ที่ฉายทางช่อง 3 (เย็นของวันเสาร์อาทิตย์) ทุกเรื่องจะเป็นแนวนี้ อาทิ แดจังกึม, คุณหมอโฮจุน, จูมง ,ยูมุล ,ซอนต๊อก ,ลีซาน, ทงอี เป็นต้น


ผู้เขียนชอบซี่รี่ย์เกาหลีที่มีบทพูดกินใจ ชอบ moment ที่พระเอกของซีรี่ย์เกาหลีทุกคนจะต้องให้นางเอกนั่งขี่คออยู่ด้านหลัง ซึ่งเป็นคาแรกเตอร์ที่จะมีอยู่แต่เฉพาะในซีรี่ย์เกาหลี ซึ่งมันได้ใจคนดูมาก และมักจะเป็นฉากที่นางเอกมักจะเมาเหล้า เศร้าใจ เอะอะโวยวายหรือไม่ก็เท้าแพลง ทำให้พระเอกต้องอาสาอุ้มนางเอกขี่คอเดินกลับบ้านไปส่งนางเอกถึงประตูบ้าน และก็บ้านเมืองเขาไม่นิยมเรียกแท็กซี่กลับบ้านกันมั๊งครับ หรือไม่มีมอเตอร์ไซด์รับจ้างแบบบ้านเรา อาศัยเดินเอา ไม่เปลืองค่ารถ แถมได้มีเวลาเดินคุยกันไปด้วย

ดังนั้นพระเอกเกาหลีจึงต้องตัวโต มีกล้าม แข็งแรง ไม่เช่นนั้นก็จะไม่สามารถอุ้มนางเอกขึ้นขี่คอได้ และต้องเดินแบกนางเอกเป็นกิโลๆ ไปส่ง บางครั้งยังมีความสามารถพิเศษ คือร้องเพลงระหว่างทางไปด้วยได้ อันนี้ทึ่งจริงๆ จุดขายหรือคาแรกเตอร์นี้ของเกาหลี อีกอันนึงที่เป็นเอกลักษณ์เลยของหนังเกาหลีก็คือฉากที่พระเอกบรรจงถอดเสื้อคลุมป้องศีรษะของนางเอกไว้ แล้วเดินประคองกันไป ไม่ให้เปียกฝนซึ่งเป็นภาพจำที่ประทับใจมาก สุดแสนจะโรแมนติก (อันนี้คือจุดขายของหนังเกาหลี) เป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกเป็นนัยว่าเขากำลังเริ่มสนใจหรือชอบในตัวเธอนั่นเอง ฉากที่พระเอกให้นางเอกขี่คอ ผู้เขียนพบครั้งแรกในซีรี่ย์เรื่อง Autumn in my heart ส่วนฉากที่พระเอกใช้เสื้อคลุมป้องศีรษะนางเอก พบครั้งแรกใน ภ.เรื่อง The Classsic หากเปรียบเทียบเป็นหนังอินเดีย ก็จะเทียบได้กับฉากพระเอกกับนางเอกจีบกัน วิ่งร้องเพลงจากภูเขาลูกหนึ่งไปยังอีกลูกหนึ่งนั่นแหละ เพียงแต่ว่าของเกาหลีมันดูมีรสนิยม และโรแมนติกกว่า moment อีกอันนึงที่ชอบและก็ต้องมีในซีรี่ย์ทุกเรื่องของเกาหลีเลยก็คือ ฉากเข้าใจผิดของคู่พระนาง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายพระเอกหรือฝ่ายนางเอก ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นต้นเหตุหรือปัญหาของเรื่อง ซึ่งโดยมากจะเป็นฝ่ายพระเอก เพราะในซีรี่ย์เกาหลีจะวางบทบาทของฝ่ายชายหรือพระเอกให้เป็นคุณชายกลางซะทุกเรื่อง และตัวนางเอกจะเปรียบเสมือนพจมาน หรือจำเลยรักที่จะเป็นฝ่ายถูกกระทำจากพระเอก และบ่อยครั้งจะเกิดการงอนง้อ หรือฉากทะเลาะเบาะแว้งกัน จากที่เกลียดกลายเป็นชอบ และจากชอบพัฒนาไปเป็นความรัก คล้ายๆ แนวละครตบจูบของบ้านเรานั่นแหละ บางคู่แอบรักกันเกือบจะทั้งเรื่องแต่อีกฝ่ายกลับทำโง่ไม่รู้เรื่องเลย บางคู่ก็ เปิดเผยกันตรงๆ จะๆ เลยแต่ทำเป็นเสแสร้งแกล้งกันไปมาบ้าง แต่จุดที่จะกลับไปงอนง้อขอคืนดีนี่แหละ จะเป็นจุดไคลแม็กซ์ทุกทีเลยแทบทุกเรื่อง เมื่อพระเอกหรือนางเอกจะกลับไปงอนง้อขอคืนดีกับคู่รักของตนก็ดันไปเจอคู่รักของตนอยู่กับแฟนเก่าซะงั้น กำลังสวีทสะหวีวี่วีกันอยู่นั้น อยู่กับพระรองนางรองที่มักจะหน้าตาดีกว่าเสียด้วย ก็พลันให้นางเอกกับพระเอกมาพบเจอเข้าพอดี จึงเกิดความเข้าใจผิด และเสียใจ ร้องห่มร้องไห้กัน (ชนิดที่ว่ากระดาษทิชชู่หมดเป็นม้วนๆ ทีเดียว) ต้องใช้เวลาในการปรับความเข้าใจกันอีกในเวลาต่อมา และสุดท้ายเป็น moment ของเพลงประกอบ,ดนตรีประกอบ ที่มักมาถูกที่ถูกเวลา และก็ไพเราะเสียด้วย และก็มีการ feedforward กลับไปยังภาพประทับใจ ฉากประทับใจในเรื่องที่ทำให้พระเอกกับนางเอกได้เริ่มต้นความสัมพันธ์กัน และอินเลิฟกันในที่สุด และฉากเหลานี้แหละเอาตายทีเดียว รวมกับองค์ประกอบด้านเพลงที่ไพเราะเข้าไปด้วย ไม่แปลกที่ซีรี่ย์เกาหลีจะติดตาตรึงใจอยู่ในความทรงจำของคนดู และหลงรัก ติดงอมแงมกันได้โดยง่าย ผู้เขียนเองก็เคยบ้าซีรี่ย์เกาหลีอยู่พักใหญ่ บอกได้คำเดียวว่าซีรี่ย์เกาหลี น่ารักอ่ะ... (Korea Series is Kool)

ทุนวัฒนธรรมเกาหลี

กระแสวัฒนธรรมป๊อปเกาหลีที่วิ่งแซงโค้งฮ่องกง ญี่ปุ่น และไต้หวัน ในกลุ่มประเทศเอเซียตะวันออกเฉียงเหนือด้วยกัน ได้สร้างความประหลาดใจให้แก่วงการสื่อบันเทิง นักศิลปวัฒนธรรม นักการศึกษาและนักวิชาการที่ศึกษาเรื่องวัฒนธรรมป็อปไม่น้อย ในช่วงกลางทศวรรษ 1990 วัฒนธรรมป็อปเกาหลีเป็นเพียงสื่อระดับประเทศ ไม่ใช่สินค้าส่งออกเช่นปัจจุบัน จุดเปลี่ยนที่สำคัญเกิดขึ้นหลังวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงเหนือและเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ในปี 2540 ประเทศที่ประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจต่างต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิต เพื่อสู้กับการถาโถมของทุนโลกาภิวัฒน์ เกาหลีใต้ต้องกู้เงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟเช่นเดียวกับหลายประเทศ แต่เกาหลีใต้ใช้เวลาเพียงไม่กี่ปีพลิกฟื้นเศรษฐกิจขึ้นมาได้อีกครั้ง

หนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญของเกาหลีคือการใช้ “ทุนวัฒนธรรม” ในการกู้วิกฤตเศรษกิจ ซึ่งมีเป้าหมายทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับเป้าหมายทางการเมืองและวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ในทางเศรษฐกิจวิธีการนี้ได้ช่วยฟื้นอุตสาหกรรมบันเทิงจากการล้มละลาย และยังเป็นแรงกระตุ้นในการกอบกู้ระบบเศรษฐกิจโดยรวม เท่ากับส่งผลดีสองต่อให้กับเศรษฐกิจเกาหลี สำหรับเป้าหมายทางการเมืองและวัฒนธรรม นี่คือโฉมหน้าอีกด้านหนึ่งของ “ทุนวัฒนธรรม” ในระบบเศรษฐกิจโลกาภิวัฒน์ซึ่งทรงพลังอย่างยิ่งในการสร้างความแข็งแกร่ง และเปิดพรมแดนให้แก่ระบบทุนหากประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ รัฐบาลเกาหลียังต้องการป้องกันการครอบงำจากวัฒนธรรมป๊อปญี่ปุ่น ที่มีกระแสความนิยมสูงในหมู่วัยรุ่นเกาหลี ที่ผ่านมามีการซื้อขายสินค้าซีดีหนัง เพลง และละครญี่ปุ่นกันกว้างขวางในตลาดมืด

ในปี 1998 หรือ พ.ศ.2541 หลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเพียง 1 ปี กระทรวงวัฒนธรรมของเกาหลีได้วางนโยบายและจัดทำแผนปฏิบัติการ 5 ปี และแผน 10 ปี (Korea 2010: Culture,Creativity and Content) เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่ง ให้กับอุตสาหกรรมวัฒนธรรมของเกาหลี มีการจัดงบประมาณจำนวนมาก และส่งเสริมให้รัฐและเอกชนลงทุนจัดการศึกษาด้านอุตสาหกรรมวัฒนธรรม เช่น คณะหรือสาขาด้านการผลิตภาพยนตร์ ดนตรี การแสดง การออกแบบ โดยลงทุนด้านวัสดุอุปกรณ์การศึกษาและทุนการศึกษาให้แก่ผู้เรียน ทำให้สาด้านนิเทศศาสตร์และสาขาวิชาด้านการผลิตสื่อบันเทิงต่างๆ เติบโตขยายตัวก้าวกระโดดจากเดิมที่มีจำนวนเพียงไม่กี่สถาบันกลายเป็นนับร้อยสถาบัน

จากนั้นในปี 2002 หรือ พ.ศ.2545 กระทรวงวัฒนธรรมของเกาหลีใต้ จัดตั้งหน่วยงานใหม่ที่ชื่อว่า การวัฒนธรรมและเนื้อหาสื่อแห่งเกาหลี (Korea Culture and Content Agency) เพื่อส่งเสริมการส่งสินค้าวัฒนธรรมป๊อปเกาหลี เช่น ภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ และดนตรีไปสู่ต่างประเทศ และ 2 ปีต่อมา คำว่า “คลื่นเกาหลี” หรือ “Korean Wave” ก็แผ่กระแสออกไปทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ และเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ อันที่จริงคำว่า “คลื่นเกาหลี” มีที่มาจากสื่อจีนที่คิดคำว่า “ Han-Liu” ขึ้นมาใช้อธิบายปรากฎการณ์ทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในช่วงรอยต่อของศตวรรษใหม่ในภูมิภาคนี้

กระแสคลื่นวัฒนธรรมป๊อปเกาหลีประกอบด้วย เนื้อหาวัฒนธรรมและสื่อบันเทิงหลายด้าน อาทิ ภาพยนตร์ ละคร เพลง เกมส์คอมพิวเตอร์ และแฟชั่น บทความนี้จะนำตัวอย่างเกี่ยวกับดนตรีป๊อปเกาหลีทีเป็นหนึ่งในสื่อบันเทิงที่วัยรุ่นเอเชียนิยมชมชอบมาเสนอ คาดว่าการมองพลวัตของอุตสาหกรรรมดนตรีเกาหลี น่าจะเทียบเคียงให้เห็นภาพการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับสื่อบันเทิงของเกาหลี และของไทยได้อย่างน่าสนใจ

ก่อนหน้านี้อุตสาหกรรมดนตรีของเกาหลีเป็นเพียงธุรกิจผลิตดนตรีและเพลงเกาหลีที่มีขนาดของกิจการไม่ใหญ่มาก มาในช่วงทศวรรษ 1990 จึงเรี่มมีการขยับตัวเปลี่ยนมาเป็นอุตสาหกรรมเต็มรูปแบบในลักษณะสื่อบันเทิงครบวงจร ในปี 1992 หรือ พ.ศ. 2535 เป็นปีที่น่าจะเรียกได้ว่าสื่อบันเทิงเกาหลีมีการปรับโฉมหน้าครั้งใหญ่ บริษัทผลิตเทปและซีดีเพลงกลายเป็นบริษัทผลิตสื่อครบวงจร มีการผลิตดนตรีละคร รายการวิทยุ และรายการโทรทัศน์ มีบริษัทในเครือที่รับงานด้านจัดงานเปิดตัวสินค้าและการจัดคอนเสิร์ต

หัวใจของการผลิตสื่อแบบครบวงจรคือ “ระบบดาราในฝัน” หรือ “Idol Star System” หรือที่ญี่ปุ่นเรียกว่า “Aidoru” การปั้นดาราวัยรุ่นหรือนักแสดงหน้าใหม่ที่มีอายุน้อยๆ เริ่มจากการวงจรการเป็นนักร้องรุ่นเยาว์ (junior) เป็นกลุยทธ์ที่บริษัทดนตรียักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นใช้ได้ผลมาแล้ว เช่นนักร้องกลุ่ม Johnny Junior บริษัทแกรมมี่ของไทยก็ได้นำระบบนี้มาใช้กับ โครงการ G-junior (กอล์ฟ-ไมค์,ชิน ชินวุฒิ) จากนั้นนักร้องก็ค่อยไต่ระดับไปเป็นนักแสดง ละครโทรทัศน์ ถ้าหากเป็นนักร้องที่มีความสามารถและหน้าตาดีก็อาจเป็นพระเอกหรือนางเอกได้ภายในเวลาไม่กี่ปี จากนั้นก็ก้าวต่อไปเป็นดาราระดับซุปเปอร์สตาร์หรือเอเชียนสตาร์

(ถอดความบางส่วนจาก บทความ คลื่นวัฒนธรรมป๊อปเกาหลี Korean Wave: โฉมหน้าทุนวัฒนธรรมเอเชีย , อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ china & east asia journal ,สำนักพิมพ์ openbooks)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น