วันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

2 กูรูผู้ยิ่งใหญ่

2 กูรูผู้ยิ่งใหญ่


ในช่วงนี้ผู้เขียนเดินเข้าร้านหนังสือน้อยมาก แต่ครั้งล่าสุดที่เข้าไป ก็พบว่าตลาดหนังสือด้านการลงทุน การทำธุรกิจกับอีกกลุ่มหนึ่งประเภทหนังสือแนวธรรมะจิตวิทยา กฏแห่งแรงดึงดูดเพื่อสร้างความมั่งคั่งนั้นยังเป็นพระเอก จำนวนหัวพ็อกเก็ตบุ้คที่ออกมาใหม่มีเยอะ หลากหลายมากจนไม่รู้ว่าเล่มไหนดีหรือไม่ดี มากเสียจนซื้อไม่ไหวกันแล้ว นั่นแสดงให้เห็นว่ายุคนี้คนอ่านสนใจวิธีการที่จะทำให้ตนเองมั่งคั่งร่ำรวย และก็สนใจที่จะทำให้ตนเองมีความสุขสงบในจิตใจ ค้นหาวิธีการดับทุกข์ดับกิเลส ซึ่งหนังสือ 2 กลุ่มนี้มันเป็นขั้วตรงกันข้ามกันเลย และถ้าคนซื้อหนังสือทั้ง 2 กลุ่มนี้เป็นบุคคลคนเดียวกันหล่ะ เราจะตีความหมายของคนๆ นั้นอย่างไร ทางนึงก็ยังโลภ อีกทางนึงก็อยากจะระงับกิเลสไม่ให้โลภ เอ๊ะ! นี่มันสับสนในตัวเองมากเลย จะทำอย่างไรดี อันนี้ก็คงจะต้องไปหาหนังสือเหล่านั้นมาอ่านและทำความเข้าใจกับตัวเองให้มากขึ้น และก็เลือกทางเดินสายกลาง ปรับสมดุลความเหมาะสมระหว่างการสร้างความมั่งคั่งเพื่อให้อยู่รอดได้อย่างยั่งยืนกับการทำให้ชีวิตมีความสุขสงบได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องทำตัวสมถะมากเกินไป หรือใช้ชีวิตแบบพอเพียงนั่นแหละ ดังนั้น ผู้เขียนจึงขอนำเอามุมมองชีวิต และประวัติชีวิต การทำงาน หรือหลักการ ที่บุคคลสำคัญของโลกยุคใหม่ 2 ท่านนี้ ซึ่งถูกขนานนามว่าเป็นกูรู คนนึงเป็นกูรูด้านการจัดการ ส่วนอีกคนนึงเป็นกูรูด้านการลงทุน มานำเสนอ เพื่อไว้เป็นหลักคิด หรือนำไปประยุกต์ใช้ หากเห็นว่าเป็นประโยชน์ ทั้ง 2 ท่านนี้ ต่างเป็นต้นแบบของผู้สร้างความมั่งคั่งและโดยส่วนตัวทั้ง 2 ท่านยังใช้ชีวิตแบบสมถะหรือพอเพียงอีกด้วย ซึ่งตอบโจทย์การใช้ชีวิตในยุคปัจจุบันได้ดี ไม่จำเป็นว่าคุณรวยแล้ว คุณจะต้องผลาญทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้หมดสิ้นไปตามกำลังทรัพย์ที่คุณมีตามแต่พอใจ เฉกเช่นทั่วโลกยกย่องสตีฟ จ็อบส์ ว่าเป็นต้นแบบของผู้สร้างนวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่ แต่ไม่เคยทำตัวเป็นผู้ยิ่งใหญ่แบบฟุ่มเฟือย ฟุ้งเฟ้อตามฐานะมากเกินไป 2 กูรูผู้ยิ่งใหญ่ ที่ขอนำเสนอในบทความนี้ได้แก่ ปรมาจารย์ ปีเตอร์ เอฟ.ดรักเกอร์ และวอร์เรน บัฟเฟต

ปีเตอร์ เอฟ ดรักเกอร์ กูรู ด้านการจัดการและการบริหารงานสมัยใหม่

ประวัติ
ดรักเกอร์ เกิดที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เมื่อวันที่ May 19, 1909 ในยุคสมัยที่จักรพรรดิฟราน โยเซฟ ของฮันส์เบิร์ก ยังปกครองจักรวรรดิออสโตร-ฮังการี อยู่

ดรักเกอร์ เกิดในครอบครัวปัญญาชนชั้นสูง บิดาเป็นนักเศรษฐศาสตร์และนักกฏหมาย ส่วนมารดาศึกษาวิชาการแพทย์

เมื่อจักรวรรดิออสโตร-ฮังการี ล่มลงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ดรักเกอร์ ออกจากเวียนนา ตอนอายุได้ 17 ปี ไปทำงานที่ฮัมบูรก์ ประเทศเยอรมนี ระหว่างนั้นก็เรียนกฏหมายและสถิติไปด้วย

ต่อมา ดรักเกอร์ ทำงานเป็นนักวิเคราะห์หุ้นให้กับบริษัทวาณิชธนกิจแห่งหนึ่ง แต่เมื่อปี 1929 ก่อนที่ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทจะล่มเพียงไม่กี่สัปดาห์ เขาเขียนบทความทำนายอย่างเชื่อมั่นว่าราคาหุ้นจะพุ่งขึ้นอีก ทำให้หลังจากนั้นเขาไม่ยอมเขียนบทความหรือทำนายอะไรเกี่ยวกับหุ้นอีกเลย

ดรักเกอร์ ศึกษาต่อจนจบปริญญาเอกด้านกฏหมาย จากมหาวิทยาลัยแฟรงก์เฟิร์ต ในปี 1931 และทำงานเป็นบรรณาธิการข่าวให้กับหนังสือพิมพ์ Frankfurter General-Aneiger

ในปี 1933 ช่วงที่ ฮิตเลอร์ ครองอำนาจในเยอรมนี ดรักเกอร์ ตัดสินใจไปอยู่ที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ ทำงานเป็นนักวิเคราะห์หุ้นให้กับบริษัทแห่งหนึ่ง และทำให้เขาค้นพบตัวเองว่า เขามิใช่นักเศรษฐศาสตร์ แต่เขาสนใจเรื่องธรรมชาติของมนุษย์มากกว่า ทำให้เขาทิ้งเศรษฐศาสตร์ แล้วหันไปศึกษาการจัดการและเป็นที่ปรึกษาธุรกิจในที่สุด

ดรักเกอร์ทำงานเดิมอยู่ถึง 4 ปี แล้วข้ามฟากไปใช้ชีวิตใหม่ที่สหรัฐ และเขียนหนังสือเล่มแรกในปี 1939 ชื่อ “The End of Economic Man” หลังจากนั้นมีหนังสือออกมาอีกจำนวนมาก

ปัจจุบัน นอกเหนือจาก ดรักเกอร์ เป็นผู้ให้คำแนะนำและมุมมองทางด้านธุรกิจแล้วยังเป็นอาจารย์ประจำสอนอยู่ที่โรงเรียนการจัดการ Peter F. Drucker Graduate School of Management ที่ Claremont University ในรัฐแคลิฟอร์เนีย

7 แนวคิด ที่ปีเตอร์ เอฟ ดรักเกอร์ ทิ้งไว้ให้คนรุ่นหลัง ได้นำไปใช้เป็นแนวทางการจัดการและบริหาร ก็คือ

1. แนวคิดเกี่ยวกับการจัดการที่ต้องมีวัตถุประสงค์ (Management by Objectives –MBO)

แนวคิดนี้ปรากฏอยู่ในหนังสือที่ชื่อ The Practice of Management : 1954 เป็นมุมมองในช่วงแรกที่ดรักเกอร์ เริ่มสนใจในศาสตร์ด้านการบริหารจัดการสมัยใหม่ โดยเน้นให้แต่ละองค์กรสร้างทีมงาน ที่เป็นทีมงานเฉพาะ มีองค์กรเป็นที่หลอมรวมความพยายามจากแต่ละบุคคล แม้จะทำประโยชน์ให้องค์กรต่างกัน แต่ก็มีวัตถุประสงค์เดียวกัน นั่นคือ การพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จ เหมือนๆ กัน MBO จึงเป็นเสมือนเครื่องมือที่มีรายละเอียดต่างกันไปในแต่ละองค์กร แต่โดยโครงสร้างแล้ว ผู้บริหารต้องพยายามกระตุ้นให้พนักงานทุกคนนำพลังที่มีออกมาใช้ผลิตงานอย่างเต็มที่ มีการตอบแทนผลงานแห่งความสำเร็จ และต้องมีเครื่องมือชี้วัดเข้ามาช่วยด้วย นั่นคือ การรายงานผล และขั้นตอนการทำงาน แต่ควรทำอย่างกระชับในส่วนที่จะเกี่ยวข้องกับการบรรลุผลเท่านั้น ส่วนผลลัพธ์ก็ดูได้จากความสำเร็จของธุรกิจนั่นเอง

2. แนวคิดว่าด้วยการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ (Privatization) ริเริ่มขึ้นในทศวรรษที่ 1960

แนวคิดนี้เกิดขึ้นเนื่องจาก ดรักเกอร์เชื่อว่าเป้าประสงค์ที่แท้จริงของรัฐคือ การเป็นผู้ตัดสินใจ และเป็นผู้นำสังคม แต่เขายังมีความกังวลว่ารัฐอาจทำความผิดต่อสังคม ด้วยการแสวงหาประโยชน์แก่ตัวเองจากการจัดหาสิ่งอำนวยประโยชน์ต่างๆ แก่ประชาชน ขณะเดียวกัน รัฐต้องเสียทั้งเวลา และงบประมาณ ไม่คุ้มค่ากับสิ่งที่ประชาชนควรได้รับ ดรักเกอร์จึงเสนอแนวทางแก้ปัญหาที่ว่านี้ด้วยการให้รัฐขายองค์กรรัฐวิสาหกิจให้แก่เอกชนเป็นผู้ดำเนินการแทน

3.แนวคิดว่าด้วยการบริหารจัดการแบบมืออาชีพ (Professional management)

แนวคิดนี้เริ่มเกิดขึ้นราว ค.ศ.1963 ซึ่ง ดรักเกอร์ นิยามว่า “การบริหารแบบมืออาชีพ” หมายถึงกิจกรรมหรือการกระทำที่มีผลเป็นรูปธรรม โดยแยกความสับสนระหว่างประสิทธิภาพกับประสิทธิผล เพื่อให้เห็นว่าการทำให้สิ่งต่างๆ ถูกต้องนั้น ดีกว่าการกระทำในสิ่งที่ถูกต้อง หน้าที่แรกของผู้บริหารก็คือ ทำอย่างไรให้องค์กรมีผลการดำเนินงานที่ดีที่สุด เท่าที่จะเป็นได้ภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่ ซึ่งต้องวิเคราะห์ และสังเกตจากสภาพที่เป็นจริงก่อน ด้วยการตรวจสอบหาสินค้าที่อยู่ในปัจจุบันและอนาคต,ลูกค้า,ตลาด,ช่องทางการจัดจำหน่าย และผู้ซื้อสินค้า ซึ่งเป็นการมองจากภายนอก หลังจากนั้นจึงค่อยๆ มองภายในองค์กร หัวใจสำคัญก็คือ การรับผิดชอบการเจริญเติบโตขององค์กรและสมาชิก ซึ่งจำเป็นต้องมีการตัดสินใจที่เปี่ยมประสิทธิผลคือ รู้จักแบ่งแยกลำดับชั้นของปัญหา, ระบุที่มาของปัญหาได้, ลงมือทำ, รับฟังเสียงสะท้อนกลับ, และสรุปผล เพื่อนำมากำหนดเป็นวัตถุประสงค์ หลังจากนั้นต้องฝึกอบรมและประเมินผลการทำงานของพนักงาน รวมถึงการหาวิธีที่จะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้วยการบริหารต้นทุนการผลิตให้มีประสิทธิภาพด้วย ที่สำคัญ องค์กรในอนาคตจะคาดหวังความผูกพันจากพนักงาน (Organization Loyalty) ได้ไม่มากนัก เพราะกลุ่มพนักงานรุ่นใหม่จะผูกพันตัวเองกับอาชีพของเขามากกว่า การไต่เต้าเลื่อนตำแหน่งงานจากระดับล่างสู่ระดับบนในองค์กรเพียงองค์กรเดียวจะไม่ได้รับการใส่ใจอีกต่อไป ยิ่งในระดับผู้บริหารที่เป็นมืออาชีพแล้ว อาจมีการโยกย้ายตัวเองไปอยู่ในองค์กรต่างๆ ได้มากมาย

4.แนวคิดว่าด้วยแรงงานสมอง (Knowledge workers)

เป็นวลีที่ ดรักเกอร์ บัญญัติไว้ในงานเขียนชื่อ The Age of Discontinuity : 1968 ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการดำเนินชีวิตครั้งใหญ่ของคนค่อนโลกในศตวรรษที่ 20 แรงงานสมองมีผลโดยตรงจากการปฏิวัติเทคโนโลยีครั้งสำคัญที่เกิดขึ้นราวคริสต์ศตวรรษที่ 1950 โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของ “คอมพิวเตอร์” ที่ทำให้เกิดความรู้สึกในเชิงลึก ข้อมูลข่าวสาร และเครื่องมือไฮเทคใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมายอยางรวดเร็ว ทำให้โครงสร้างในภาคแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นอุปนิสัยการทำงาน ชีวิตการทำงาน ผลิตภาพของแรงงาน และการจ้างงานก็เปลี่ยนไปด้วย หรืออีกนัยหนึ่งก็คือเปลี่ยนจากการใช้แรงงานร่างกายมาเป็นแรงงานจากสมอง แรงงานสมองจึงสัมพันธ์กับวิถีการทำงานแบบมืออาชีพ ดังที่กล่าวไปแล้วอย่างชัดเจน เพราะลักษณะของแรงงานสมองนั้นมักจะมองว่าตนเองมีความเท่าเทียมกับผู้รับบริการของตน และชอบที่จะถูกมองเป็น “มืออาชีพ” มิใช่ “ลูกจ้าง” แบบ “นาย” กับ “บ่าว” แม้เงินจะสำคัญกับ Knowledge workers เหมือนกับคนทั่วไป แต่พวกเขามักไม่ยอมให้เงินเป็นสิ่งวัดผลงาน+ คุณค่า และมาทดแทนความสำเร็จในอาชีพของตน เพราะพวกเขาไม่ได้ทำงานเลี้ยงปากท้องเป็นหลัก แต่เห็นความงามของชีวิตมากกว่า แต่สุดท้ายเมื่อแรงงานสมองมีมากขึ้น พวกเขาก็ต้องหมั่นศึกษาหาความรุ้ใหม่ๆ เพื่อสร้างทักษะและเพิ่มมูลค่าเฉพาะตนขึ้นมาอยู่ตลอดเวลา และย่อมถูกคาดหวังว่าให้รับผิดชอบการบริหารจัดการตนเองในหน้าที่การงานมากขึ้นเช่นกัน

5.แนวคิดว่าด้วยสังคมแห่งความรู้ (Knowledge Based Society)

แนวคิดนี้ปรากฏอยู่ในงานเขียนชิ้นสำคัญของดรักเกอร์ ที่ชื่อ The Next Society ซึ่งเป็นการพยากรณ์สภาพของโลกในศตวรรษที่ 21 ว่าจะเป็นสังคมที่ “ความรู้” จะเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุด ลักษณะสำคัญของสังคมแห่งความรู้ 3 ประการ คือ 1. ความรู้ไม่มีพรมแดน เพราะความรู้เดินทางได้ง่ายกว่าเงิน 2. ความรู้ช่วยให้คนเลื่อนสถานะของตนเองได้ เพราะความรู้เข้าถึงได้ง่าย จึงสามารถแสวงหาได้ด้วยการเรียนหนังสือ 3.ความรู้ให้ทั้งโอกาสประสบความสำเร็จ และความล้มเหลว เพราะทุกคนสามารถเข้าถึงและสะสมปัจจัยการผลิตได้ใกล้เคียงกัน ด้วยลักษณะทั้ง 3 สังคมแห่งความรู้จึงเป็นสังคมที่มีการแข่งขันสูงมากทั้งระดับองค์กรและปัจเจกชน เทคโนโลยีกลายเป็นตัวแปรสำคัญ ทำให้ความรู้เกิดขึ้นพร้อมกันได้อย่างมหาศาล ทำให้องค์กรต่างๆ ต้องปรับตัวให้สังคมในวงกว้างได้รับรู้ข้อมูลของตน อันจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งภาพลักษณ์และความสำเร็จทางธุรกิจด้วย

6.แนวคิดว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของประชากร (Demographic Change)

แนวคิดนี้เกิดจากความห่วงใยของดรักเกอร์ ที่เห็นว่าน่าจะมีผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในอนาคตก็คือ อัตราการเปลี่ยนแปลงของประชากรอย่างผันผวนในหลายประเทศ ตัวอย่างชัดเจนในกรณี Baby Bust (อัตราการเกิดของทารกลดลง) หรือ Baby Boom (อัตราการเกิดของทารกเพิ่มขึ้น) ในสหรัฐที่เกิดหลายครั้ง ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเริ่มจากภาวะ Baby Boom ก่อน พอเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น ผู้คนกลับนิยมมีลูกกันน้อยลง จนเกิดปรากฏการณ์ Baby Bust แทน แล้วก็กลับกลายเป็น Baby Boom อีกครั้ง แต่นั้นเกิดจากการอพยพย้ายถิ่นจากภายนอกแทน นั่นแสดงว่าอัตราการเปลี่ยนแปลงของประชากรโลกในอนาคตนั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ไม่อาจคาดการณ์หรือควบคุมได้เลย ยิ่งจะต้องทำให้หลายๆ ประเทศต้องมีนโยบายคุมกำเนิดอยางจริงจังมากขึ้น ในทางกลับกัน “ช่วงอายุ” (Life Expectancy) กลับมีสูงขึ้น พร้อมกับจำนวนผู้สูงอายุ และอัตราการหดตัวของคนหนุ่มสาวก็จะมีเพิ่มขึ้นด้วย

7.แนวคิดว่าด้วยการศึกษาต่อเนื่องแบบออนไลน์ (Webeducation)

เป็นทรรศนะของดรักเกอร์ ที่มองการเชื่อมโยงมาจากภาวการณ์ปฏิวัติข้อมูลข่าวสาร คือจะเกิด “การศึกษาแบบต่อเนื่อง” เพราะตราบใดที่แรงงานสมองทำงานด้วยสองมือมากขึ้นๆ ตราบนั้นการศึกษาก็ยังคงต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่อง แต่การศึกษานั้นจะมาในรูปแบบใหม่ ไม่ใช่การศึกษาในห้องเรียน แต่เป็นการเรียนในบ้าน ในรถไฟ หรือที่ใดก็ได้ ปัจจุบันก็มีสถานศึกษาหลายแห่งที่เปิดเรียนทางอินเตอร์เน็ต ทำให้การเรียนหนังสือตามมหาวิทยาลัยกลายเป็นเรื่องล้าสมัยไป นอกจากนี้ยังทำให้ตลาดการศึกษาในโลกอนาคตเปลี่ยนไปด้วย การเรียนแบบนี้ช่วยให้นักศึกษาสามารถเข้าถึงหลักสูตร และเนื้อหาวิชาได้โดยไม่ต้องเดินทางไปไกลๆ หรือบางแห่งอาจเป็นการส่งคำบรรยายผ่านดาวเทียมไปรวมศูนย์อยู่ที่ใดที่หนึ่ง ผู้เรียนที่ไม่เข้าใจก็สามารถเข้าไปศึกษาเพิ่มเติมได้ซ้ำแล้วซ้ำอีก และโต้ตอบกับผู้สอนที่อยู่ไกลออกไปได้ทันทีทันใด เป็นการสร้างปริมณฑลการศึกษาใหม่ที่เป็นเอกลักษณ์ของยุคสมัยอยางชัดเจน

ปัจจุบันท่าน ศจ.ปีเตอร์ เอฟ.ดรักเกอร์ได้เสียชีวิตลงแล้ว ทิ้งผลงานที่เป็นคัมภีร์บริหารต่างๆ ไว้มากมายบนโลกนี้

ชื่อจริง ปีเตอร์ เฟอร์ดินานด์ ดรักเกอร์

ชาตะ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2452
ที่เกิด คาสกราเบน กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย
มรณะ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 (95 ปี)
สถานที่เสียชีวิต แคลร์มองต์ รัฐแคลิฟอร์เนีย

(ถอดความบางส่วนจากบทความ 7 ทัศน์คลาสสิค ของคุณปู่ ปีเตอร์ ดรักเกอร์ กูรูแห่งการบริหารสมัยใหม่)

ผู้เขียนขอแสดงความคิดเห็นใน 2 ประเด็นเพิ่มเติมดังนี้คือ แนวคิดที่เกี่ยวกับสังคมแห่งความรู้ หรือ Knowledge Based Society ใช้ไม่ได้กับกรณีของประเทศไทยโดยเฉพาะกับสังคมของกลุ่มคนเสื้อแดงหรือ นปช. เพราะกลุ่มคนเหล่านี้เลือกที่จะรับข้อมูลเพียงด้านเดียว และเงินเข้าถึงคนพวกเขาได้ง่ายกว่าความรู้ ซึ่งขัดแย้งโดยสิ้นเชิงกับแนวคิดหรือทฤษฎีของดรักเกอร์ และไม่รู้ว่าหากเชิญปรมาจารย์ดรักเกอร์มาวิเคราะห์กรณีของกลุ่มคนในสังคมบ้านเราเหล่านี้แล้วท่านยังเชื่อมั่นในแนวคิดของท่านอยู่อีกหรือไม่ ซึ่งผู้เขียนคิดว่าแนวคิดของปรมาจารย์ดรักเกอร์นั้นไม่ได้ผิด แต่สังคมไทยมีสิ่งผิดปกติที่ไม่เป็นไปตามกฎธรรมชาติมากกว่า จึงทำให้มันผิดเพี้ยนและออกมาขัดแย้งกับทฤษฏีโดยสิ้นเชิงเช่นนี้ อีกประเด็นหนึ่งที่ท่านปรมาจารย์ดรักเกอร์ไม่ได้กล่าวถึงไว้หรืออาจมากล่าวในภายหลังจากบทความชิ้นนี้ก็คือ แนวคิดว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของโลก (Climate Change) ซึ่งเป็นประเด็นทันสมัยของโลกอยู่ ณ เวลานี้

วอร์เรน บัฟเฟต กุรูด้านการลงทุน หมายเลข 1 ของโลก

ประวัติ
วอร์เรน เอ็ดวาร์ด บัฟเฟตต์ เกิดเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 1930  คุณพ่อของเขาเป็นนายหน้าค้าหลักทรัพย์และบริหารกองทุน ซึ่งกลายมาเป็นนักการเมืองในภายหลัง เขาเป็นลูกคนกลาง มีพี่สาว 1 คน และน้องสาว 1 คน   เขาเรียนจบ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ปริญญาตรีอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเนบราสกา วิทยาเขตลินคอล์น วอร์เรนมีบุตร 3 คน ปัจจุบันเป็นหม้าย
ในปี 2010 นิตยสารฟอร์จูนจัดให้เขาเป็นมหาเศรษฐีอันดับที่ 3 ของโลก รองจาก คาร์ลอส สลิม และ บิลเกตส์ เขามีชื่อเสียงโด่งดังในฐานะผู้ประสบความสำเร็จในการลงทุน และเมื่อเร็วๆ นี้ เขาออกมาประกาศเชิญชวนให้ผู้มีความมั่งคั่งสูง นำเงินที่เหลือจากที่จะกันเอาไว้ดูแลครอบครัวและญาติพี่น้องเป็นอย่างดีแล้ว มาทำประโยชน์ให้แก่มวลมนุษยชาติ  Huffington Post ร่วมกับ Yahoo News ได้สัมภาษณ์วอร์เรนสดๆ ร้อนๆ เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม โดยสอบถามหลายเรื่องซึ่งน่าสนใจ วอร์เรน กล่าวว่า คำแนะนำที่ดีที่สุดในชีวิตของเขาคือคำแนะนำจากคุณพ่อของเขา ท่านไม่ได้พูด แต่ทำเป็นตัวอย่างให้ดู สิ่งนั้นคือ “พลังของความรักที่ไม่มีเงื่อนไข” ที่ท่านได้ให้แก่เขา เขาบอกว่าพลังอันนี้จะปกป้องเด็กคนหนึ่งให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ และจะปกป้องไปตลอดชีวิตของคนคนนั้นเลยทีเดียว สำหรับคำแนะนำที่แย่ที่สุดนั้น วอร์เรนไม่ได้รับจากใคร แต่เขาคิดว่า การบอกคนให้ “ไปลงนรก” เป็นคำแนะนำที่แย่ที่สุด หากคิดจะพูดประโยคนี้ ขอให้ปิดปากเสีย ถ้าว่าตามศาสนาพุทธก็ต้องบอกว่าต้องมี “ทมะ” คือ การข่มใจ สะกดกลั้นเอาไว้ อย่าพูดออกมา เพราะจะทำให้คนฟังรู้สึกแย่ เป็นบาปจากการพูดจาส่อเสียด และไม่หวังดีต่อผู้อื่น  เมื่อถามว่าตอนนี้วอร์เรนชอบทำอะไร เขาตอบว่าชอบสอน ชอบบรรยาย เขาไปบรรยายให้กับมหาวิทยาลัยและบัณฑิตวิทยาลัยถึง 48 แห่งเป็นระยะๆ เขาเชื่อว่าประสบการณ์และคำแนะนำของเขายังสามารถใช้กับคนรุ่นใหม่ได้  แม้ว่า วอร์เรน จะเป็นคนทันสมัย แต่เขาไม่ใช้ iPod iPad  เขามีโทรศัพท์มือถือ ชอบอ่านจากอินเทอร์เน็ตที่เรียกกันว่าอ่าน online แต่เขาไม่ได้ใช้ social media ไม่มีหน้า Fanpage ใน Facebook ไม่มี Twitter และเขายืนยันว่าแม้จะอ่านแบบ online มาก แต่ก็ยังชอบที่จะอ่านหนังสือที่เป็นเล่มจริง จับต้องอยู่ในมือมากกว่า เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าเขายังกางหนังสือพิมพ์อ่านอยู่ได้บ่อยๆ

บทเรียนในการลงทุนที่เขาพูดและเขียนเอาไว้จนเป็นคัมภีร์มี 5 ข้อ คือ 1.ลงทุนในสิ่งที่ท่านรู้จัก หมายถึง จะลงทุนอะไรควรมีความเข้าใจในสิ่งนั้น 2.เลือกลงทุนให้เหมาะสมและคุ้มค่าและลงทุนในบริษัทที่คุ้มค่า 3.ลงทุนสวนทางกับคนอื่น (ซื้อในตอนที่คนส่วนใหญ่ไม่อยากซื้อ และขายตอนที่คนส่วนใหญ่อยากซื้อ) 4.เวลาลงทุนในหุ้น ให้ทำตัวเสมือนเป็นเจ้าของบริษัท (ใส่ใจติดตามผลการประกอบการ เข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้น สอบถามผู้บริหารในกรณีมีข้อสงสัย) 5.การกู้ยืมมาซื้อหุ้นเป็นการเล่นกับไฟ (ผู้ลงทุนในลักษณะพอร์ตโฟลิโอ ควรลงทุนเท่าที่มีเงินอยู่ ไม่ควรโลภกู้ยืมมาลงทุนในหุ้น แต่หากเป็นอสังหาริมทรัพย์หรือการลงทุนเพื่อการเข้าซื้อกิจการ ท่านสามารถกู้ยืมได้ ไม่เช่นนั้นเงินก็ไม่พอ ไม่มีโอกาสซื้อ คำแนะนำแต่ละประเภทจึงต้องนำไปปรับใช้ในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน)

แม่ของวอร์เรน ตั้งท้องเขาในช่วงภาวะตลาดหุ้นตกต่ำในปี 1929 ซึ่งทำให้บริษัทจัดการการลงทุนของพ่อของเขาเกือบจะต้องล้มละลายไปเลยทีเดียว วอร์เรนให้ความสนใจกับเรื่องเงินๆ ทองๆ ตั้งแต่ยังเด็ก ซึ่งไม่แตกต่างไปจากเด็กคนอื่นๆ จำนวนมากทีเติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่มีปัญหาทางด้านการเงิน อันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ของเล่นสุดโปรดของเขาในตอนเด็กๆ ก็คือเครื่องแลกเงิน ซึ่งเขาจะนำติดตัวไปเล่นในทุกๆ ที่ นอกจากนี้ เขายังหลงใหลกับการคำนวณทางคณิตศาสตร์เกี่ยวกับการทบต้นของเงินอีกด้วย ตอนวอร์เรนมีอายุ 6 ขวบ เขาก็ได้เริ่มต้นทำธุรกิจเป็นครั้งแรกด้วยการซื้อโค้กมา 6 ขวด ในราคา 25 เซ็นต์ แล้วนำไปขายต่อให้กับคนที่มาเที่ยว Lake Okoboji ในรัฐไอโอวาในราคาขวดละ 5 เซ็นต์ เขาอ่านหนังสือ A Thousand Ways to Make $1,000 จนขึ้นใจและเริ่มเก็บหอมรอมริบเงินที่เขาได้มาจากการเป็นเด็กส่งหนังสือพิมพ์ Washington Post และธุรกิจเครื่องพินบอล วอร์เรนต้องการที่จะหาเงินมากเสียจนกระทั่งในปี 1938 เขาเดินหลายต่อหลายไมล์ท่ามกลางอากาศที่ร้อนระอุในฤดูร้อนของรัฐเนแบรสกาไปยังสนามแข่งม้า และใช้เวลาหลายชั่วโมงไปกับการปัดกวาดพื้นที่ปกคลุมไปด้วยขี้เลื่อย เพื่อมองหาต้นขั้วตั๋วแทงม้าที่ถูกโยนทิ้งด้วยความหวังว่าอาจจะได้เจอตั๋วที่ชนะเงินรางวัล

วอร์เรน ลงทุนในตลาดหุ้นครั้งแรกเมื่อมีอายุได้ 11 ขวบ (ซื้อหุ้น Cities Service 3 หุ้น) และในตอนที่เขาจบมัธยม เมื่ออายุได้ 17 ปี เขาก็มีเงินเก็บมากถึง $6,000 แล้ว เขาเรียนต่อระดับปริญญาตรีโดยใช้เวลาเรียนเพียง 3 ปี เท่านั้น และจากนั้นก็สมัครเรียนต่อในหลักสูตร MBA ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและโคลัมเบีย ฮาร์วาร์ด่ตอบปฏิเสธ ในขณะที่โคลัมเบียรับเขาเข้าเรียน ทุกคนมักจะมีช่วงจังหวะชีวิตที่สำคัญในวัยเด็ก ซึ่งจะกำหนดทิศทางให้กับชีวิตในวันข้างหน้าต่อไป สำหรับวอร์เรนแล้ว มันเกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ในชั้นเรียนที่สอนโดย เบนจามิน เกรแฮม ผู้ซึ่งเป็นตำนานของการลงทุนแบบเน้นคุณค่า วอร์เรนและเกรแฮมเกิดความผูกพันทางสติปัญญากันในทันที “ประกายไฟแห่งความเฉียบคมทางปัญญาบินว่อนไปทั่ว” บิล รูเอ็น เพื่อนร่วมชั้นเรียน ซึ่งตอนนี้เป็นผู้บริหารของกองทุน Sequoia นึกถึง “คุณสามารถบอกได้เลยว่าวอร์เรนไม่ใช่คนธรรมดา” วอร์เรนเห็นวิธีการหาเงินที่เขาใฝ่ฝันตั้งแต่ตอนเด็กๆ ได้แทบจะในทันทีราวกับว่า เกรแฮมมาเปิดผ้าคลุมตาเขาออก เกรแฮมเป็นเสมือนแสงสว่างนำทางของเขา หลังจากที่วอร์เรนเรียนจบแล้ว เขาพยายามที่จะเกลี้ยกล่อมเกรแฮมให้รับเขาเข้าทางานเป็นนักวิเคราะห์การลงทุนระดับเริ่มต้นที่บริษัทจัดการการลงทุนของเกรแฮม แต่เกรแฮมปฏิเสธ วอร์เรน ซึ่งได้เรียนรู้ทฤษฏีการลงทุนแบบเน้นคุณค่ามาอย่างดี จึงเสนอตัวทำงานให้ฟรีโดยไม่รับเงินเดือน เกรแฮมยืนกรานว่า กระทั่งในระดับราคาที่ถูกขนาดนั้น วอร์เรนก็ยังแพง (Overvalued) เกินไปอยู่ดี อย่างไรก็ตาม วอร์เรน ก็ตามตื๊อเกรแฮมอย่างไม่หยุดหยอ่น จนกระทั่งเกรแฮมใจอ่อนและยอมจ้างเขาในที่สุด

วอร์เรนทำงานให้กับบริษัทนี้จนกระทั่งเกรแฮมเกษียณในปี 1956 ต่อมาด้วยความคิดถึงเนแบรสกา เขาจึงเดินทางกลับมาที่โอมาฮา และที่นี่เองที่เขาพยายามที่จะระดมเงินทุนมาก่อตั้งห้างหุ้นส่วนทางการลงทุน ในลักษณะเดียวกันกับกองทุนของเกรแฮม เขาไปหาทุกคนที่เขารู้จักเพื่อขอให้พวกเขาเข้าร่วมลงทุน เขาไปเลคเชอร์ที่สโมสรการลงทุน และกระทั่งไปเคาะประตูเพื่อนบ้าน ในที่สุดเขาก็ได้คนมา 8 คนที่เชื่อว่าเขามีคุณค่าพอที่จะนำเงินมาร่วมลงทุนด้วย วอร์เรนจึงก่อตั่ง Buffett Partnership ขึ้นด้วยเงินลงทุน $105,000 ซึ่งมีเงินของเขารวมอยู่ในนี้ด้วย ตลอดระยะเวลา 13 ปีหลังจากนั้น ห้างหุ้นส่วนนี้ได้สร้างผลตอบแทนทบต้นเฉลี่ยต่อปีได้ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ และเมื่อชื่อเสียงของเขาเป็นที่รู้จักกันมากยิ่งขึ้นในฐานะนักลงทุน เขาก็ปรารถนาที่จะระดมเงินทุนมาบริหารในจำนวนที่เพิ่มสูงขึ้น เขามักจะนำเอกสารขอคืนภาษีของห้างหุ้นส่วนนี้ไปให้คนที่เขาไปพบเพื่อที่จะระดมทุนดูอยู่บ่อยๆ เพื่อจะแสดงให้เห็นว่า เขาทำกำไรให้กับคนที่มาร่วมลงทุนกับเขาได้มากแค่ไหน และเนื่องจากว่า เงินของเขาทั้งหมดก็อยู่ในห้างหุ้นส่วนนี้ด้วย ดังนั้นเขาจะไม่ทำอะไรกับเงินของนักลงุทนที่นำมาลงทุนกับเขา หากว่าเขาไม่เต็มใจที่จะทำสิ่งนั้นกับเงินของเขาเอง วอร์เรนมักจะพูดเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่เสมอว่าเขา “กินอาหารที่เขาทำเองด้วย”

อย่างไรก็ตาม ในปี 1969 วอร์เรนพบว่า ภาวะตลาดกระทิงที่ร้อนแรงในช่วงปลายทศวรรษที่ 60 ได้ทำให้ตลาดหุ้นอยู่ในภาวะซื้อมากเกินไป และมีราคาแพงเกินจริง นอกไปจากนั้น เขายังมองว่า ในภาวการณ์เช่นนี้ มันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำการลงุทนุโดยใช้หลักการการลงทุนแบบเน้นคุณค่าที่สร้างผลตอบแทนสูงๆ ให้กับเขาและหุ้นส่วนมาโดยตลอด เมื่อวอร์เรนอ่านสถานการณ์ในลักษณะนี้ เขาจึงทำในสิ่งที่แทบจะไม่เคยเกิดขึ้นเลย นั่นก็คือ เขาแจ้งหุ้นส่วนของเขาทุกคนให้รู้ว่า เขาจะไม่สามารถรักษาผลตอบแทนสูงๆ ที่เขาเคยทำไว้ได้ เนื่องมาจากภาวะตลาดหุ้นที่มีราคาแพงเกินไป และแทนที่เขาจะใช้กลยุทธ์การลงทุนใหม่ๆ ที่เขาไม่สะดวกใจที่จะใช้ เขาเลือกที่จะปิดห้างหุ้นส่วนนี้ลงและนำเงินมาคืนให้กับหุ้นส่วนของเขา ในการเลิกห้างหุ้นส่วนทางการลงทุนนี้ วอร์เรนให้นักลงทุนของเขาเลือกระหว่างการรับเงินคืนเป็นเงินสด กับการรับคืนเป็นหุ้นของบริษัทที่ห้างหุ้นส่วนนี้ถือครองอยู่ ธุรกิจหนึ่งที่ห้างหุ้นส่วนนี้ถือหุ้นอยู่และมีอำนาจบริหารก็คือ บริษัทเบิร์คไชร์ ฮาธอเวย์ ซึ่งเป็นบริษัทสิ่งทอที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ห้างหุ้นส่วนนี้ได้เข้าซื้อหุ้นจนเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของเบิร์คไชร์ในปี 1967 และเมื่อห้างหุ้นส่วนนี้เข้าไปบริหาร วอร์เรนก็ได้ใช้เงินทุนหมุนเวียนของเบิร์คไชร์ไปซื้อบริษัทประกัน ซึ่งตลอดระยะเวลา 30 ปีต่อมา เบิร์คไชร์เข้าซื้อบริษัทประกันเป็นจำนวนมาก หลังจากที่กิจการห้างหุ้นส่วนนี้ยุติลงในปี 1969 วอร์เรนก็รับซื้อหุ้นของบริษัทเบิร์คไชร์จำนวน 27 เปอร์เซ็นต์ ที่หุ้นส่วนของเขาถืออยู่อย่างเงียบๆ และต่อมาเขาก็ซื้อหุ้นในจำนวนที่มากขึ้นจากตลาดหลักทรัพย์ จนกระทั่งเขากลายเป็นเจ้าของบริษัท วอร์เรนทำสิ่งนี้ด้วยเหตุผล 2 ประการ ประการแรกก็คือเบิร์คไชร์อยู่ในระหว่างการซื้อบริษัทประกันอยู่ ซึงวอร์เรนรู้ดีว่า บริษัทประกันจะให้เงินทุนก้อนใหญ่กับเขา โดยเงินทุนนี้จะมาจากเบี้ยประกันที่ผู้ทำประกันจ่ายให้กับบริษัทประกัน ประการที่ 2 ก็คือ เรื่องของภาษี ในขณะนั้น อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะสูงกว่าอัตราภาษีนิติบุคคลมาก วอร์เรนจะเสียภาษีในอัตราที่ต่ำ ซึงจะทำให้การสะสมเงินทุนทำได้ง่ายขึ้น หากเขาใช้บริษัทประกันเป็นตัวแทนในการลงทุน นอกเหนือไปจากนั้นแล้ว การลงทุนผ่านทางบริษัทประกันยังไม่ต้องจ่าย “ภาษีกำไรสะสม” อีกด้วย ภาษีนี้ถูกคิดขึ้นมาเพื่อป้องกันมิให้คนทั่วๆ ไปอยางวอร์เรนหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีในอัตราสูงๆ โดยลงทุนในรูปของบริษัท บริษัทประกันภัยเป็นหนึ่งในไม่กี่ธุรกิจที่ไม่ต้อง่จ่ายภาษีนี้ ด้วยความที่วอร์เรนได้เงินทุนที่มาจากเบี้ยประกันและไม่ต้องเสียภาษีในอัตราสูงๆ ทำให้เขาสามารถใช้ความรู้ทางการลงทุนของเขาในการสร้างความเติบโตให้กับสินทรัพย์ของเบริ์คไชร์ และสร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเอง โดยไม่มีข้อจำกัดทั่วๆ ไป ใดๆ มาเป็นอุปสรรค และด้วยผลงานอันยอดเยี่ยมของเขา ในช่วง 30 ปีทีผ่านมา มูลค่าทางบัญชีของเบิร์คไชร์เติบโตขึ้นด้วยอัตราเฉลี่ยถึง 23 เปอร์เซ็นต์ต่อปี มูลค่าทางบัญชีเพิ่มขึ้นจาก $19 ต่อหุ้น จนกลายเป็นมากกว่า $40,000 ต่อหุ้น ในช่วงเวลาเดียวกัน ราคาหุ้นในตลาดก็เพิ่มขึ้นด้วยอัตราเฉลี่ย 29 เปอร์เซ็นต์ต่อปี จาก $13 ต่อหุ้นจนกลายเป็น $70,000 ต่อหุ้น มูลค่าเงินลงทุนของวอร์เรน บัฟเฟตต์ในบริษัทเบิร์คไชร์ ฮาธอเวย์ได้เติบโตจากประมาณ $7 ล้านจนกลายเป็น มากกว่า$ 30 พันล้าน เขาสร้างความมั่งคั่งจากความสามารถอันเหนือชั้นในการตัดสินใจลงทุนของเขา และจากความฉลาดในการใช้บริษัทประกันเป็นเครื่องมือในการลงทุน เขาไม่เพียงแต่เป็นคนร่ำรวยที่สุดคนหนึ่งของโลก แต่เขายังเป็นนักลงทุนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาลอีกด้วย

(ที่มา บทกล่าวนำ ในหนังสือ The New Buffettology เขียนโดย Mary Buffett, David Clark แปลและเรียบเรียงโดย พรชัย รัตนนนทชัยสุข )



ในแง่สินทรัพย์วอร์เรน บัฟเฟตต์ เทพเจ้าแห่งโอมาฮา คือมหาเศรษฐีเบอร์ 2 ของโลก รองจากบิลล์ เกตส์ ที่รวยขึ้นมาจากหุ้นไมโครซอฟท์ แต่หากนับฝีมือด้านการลงทุนในตลาดทุนแล้ว ทั่วโลกต่างยกย่องให้บัฟเฟตต์ เป็นมือวางอันดับหนึ่ง ชีวิตมหัศจรรย์ของเขาเริ่มต้นในวัยเพียง 25 ปี โดยก่อตั้ง “Buffett Partnership” ด้วยทุนประเดิม 105,000 ดอลล่าร์ จากหุ้นส่วน 7 คน และตั้งเป้าหินสำหรับตัวเองว่าจะเอาชนะดัชนีดาวน์โจนส์ให้ได้ปีละ 10 % แต่เอาเข้าจริงๆ เขาทำได้ถึง 22% ภายใต้พันธะสัญญาที่วา “เราจะเลือกลงทุนบนพื้นฐานของมูลค่าไม่ใช่ความนิยม” บัฟเฟตต์ เข้าซื้อกิจการสิ่งทอเล็กๆ ที่ชื่อว่า “เบิร์กไชร์ แฮธาเวย์” เมือ่ประมาณปี 2508 เขาทำให้หุ้นราคา 13 ดอลล่าร์ ทะยานขึ้นไปซื้อขายกันที่ 90,500 ดอลล่าร์ต่อหุ้น ในปัจจุบัน ด้วยมาร์เก็ตแคปขนาด 139,370 ล้านดอลล่าร์ ถ้าเปรียบเทียบมูลค่าหุ้นที่เพิ่มขึ้นระหว่าง เบิร์กไชร์ แฮธาเวย์กับ ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ระหว่างปี 2508-2547 จะพบว่า เบิร์กไชร์ มีมูลค่าหุ้นเพิ่มขึ้นมากถึง 286,865% ขณะที่ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ทำได้แค่ 5,318%

โรเบิร์ต พี.ไมเลส เจ้าของผลงานเขียน The Genius of Warren Buffett : The Science of Investing and The Art of Managing เคยมาบรรยายที่โรงแรมรอยัล ออร์คิด เชอราตัน(กรุงเทพฯ) ยกย่องให้ บัฟเฟตต์ เป็นอัจฉริยะที่มีความสามารถทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์และศิลปะ เฉกเช่น ลีโอนาร์โด ดาวินชี่ กล่าวคือ บัฟเฟตต์ ใช้ศาสตร์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เพื่อการลงทุน และเขายังเป็นศิลปิน ที่รู้จักการใช้ศิลปะ ในการบริหารจัดการ อย่างยอดเยี่ยม สังเกตได้จากที่ผานมา บัฟเฟตต์ ไม่เคยเสียซีอีโอ ของกองทุน ไปให้กับคู่แข่งเลยสักครั้ง

“ความสามารถในเชิงคณิตศาสตร์... ความสามารถในการสื่อสาร.. สัมพันธ์ระหว่างธุรกิจ และนักการเมือง ทักษะในการเข้าใจในสิ่งต่างๆ คือสิ่งที่ทำให้บัฟเฟตต์ประสบความสำเร็จ” ไมเลส กล่าว

วอร์เรน บัฟเฟตต์ ไม่เคยลงทุนในธุรกิจที่เขาไม่สามารถเข้าใจได้หรือธุรกิจที่อยู่นอกเหนือ “วงจรความสามารถ” ของเขา...บทเรียนที่ทำให้บัฟเฟตต์ เดินทางลัดไปสู่วิถีแห่งความร่ำรวยก็คือ ทฤษฏี Margin of Safety ของ Benjamin Greham ครูของวอร์เรน บัฟเฟตต์ นั่นเอง เกรแฮมสอนบัฟเฟตต์ ว่า ถ้าเราสามารถป้องกันตนเองจากความแปรปรวนของอารมณ์ตลาดหุ้น ก็จะมีโอกาสฉกฉวยผลประโยชน์จากพฤติกรรมที่ไร้เหตุผลของนักลงทุน เพราะฉะนั้นอย่าถูกทำให้ไขว้เขว เพราะคนอื่นไม่เห็นด้วยกับคุณ เบิร์กไชร์ แฮธาเวย์ เก็บเงินสดจำนวนมหาศาล สำหรับการลงทุนในแต่ละปี โดยกิจการแห่งนี้ไม่ได้จ่ายเงินปันผลมาตั่งแต่ปี 2510

โรเบิร์ต พี.ไมเลส สรุปว่า หุ้นที่บัฟเฟตต์สนใจมาก มักจะเป็นธุรกิจดั้งเดิม ที่มีความมั่นคง อายุยาวนาน และเกียวข้องกับชีวิตประจำวัน 5 หุ้นในพอร์ต เบิร์กไชร์ แฮธาเวย์ ที่มีมูลค่ามากที่สุด ได้แก่ หุ้นหนังสือพิมพ์วอชิงตัน โพสต์, หุ้นบริษัทโคคา-โคลา ,หุ้นบัตรเครดิตอเมริกันเอ็กซ์เพรส ,หุ้นยิลเลตต์แพ็คการ์ด และหุ้นสถาบันการเงิน “เวลส์ ฟาร์โก้” ขณะเม็ดเงินอีกส่วนหนึ่งก็กระจายความเสี่ยงไปสู่ธุรกิจอื่น อาทิ หุ้น GEICO (บริษัทประกันภัยลูกจ้างของรัฐบาล) ธุรกิจที่ดำเนินการในด้านโลจิสติกส์ , หุ้น GREIF BROTHER ธุรกิจค้าปลีก ,หุ้น TIRELY CLOTHES ธุรกิจบันเทิงในหุ้น BALDWIN ตลอดจนหุ้นในหมวดอุตสาหกรรม เช่น เครื่องจักรปั๊มน้ำ THOR CORP ด้วย

บัฟเฟตต์ จะนิยามความเสี่ยง ว่า คือ ความไม่รู้ หรือไม่เข้าใจว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ ดังนั้น ในการเลือกหุ้น เขาจะต้องรู้จักหุ้นนั้นอย่างถ่องแท้ และจะมีกิจวัตรประจำวันที่ฝึกฝนความรู้ให้ยิ่งแกร่ง

ไมเลส บอกว่า ทุกวันบัฟเฟตต์ จะแบ่งเวลาสำหรับการออกกำลังกาย เพื่อเติมพลังให้กับชีวิต เวลาที่เหลือจะใช้ไปในการอ่านหนังสือหลากหลายแนว และเล่นไพ่บริดจ์ เป็นงานอดิเรก ซึ่งล้วนแต่เป็นการพัฒนาฝึกฝนไอเดียให้แหลมคมอยู่เสมอ ไม่เพียงเท่านี้ บัฟเฟตต์ จะให้ความสำคัญกับ คาแรกเตอร์ส่วนตัว และชื่อเสียงที่ผู้คนยกย่องเขา เขาตระหนักดีว่า ชื่อเสียงที่สั่งสมมาเกือบ 30 ปี พร้อมที่จะจบลงเพียงแค่ 5 นาทีได้ หากไม่รักษามันเอาไว้ และนี่ก็ทำให้ การไปลงทุนทุกครั้งของเบิร์กไชร์ แฮธาเวย์ จะมีบรรดากลุ่มผู้เชื่อถือเข้าไปร่วมลงทุนด้วยอยู่เสมอ อาทิ หุ้นปิโตร-ไชน่า ที่เบิร์กไชร์ เพิ่งเข้าไปลงทุนเมื่อปลายปี 2547 ด้วยจำนวนเงิน 458 ล้านดอลล่าร์ เพียงไม่ถึงปี มูลค่าหุ้นได้เพิ่มขึ้นเป็น 1,300 ล้านดอลล่าร์ บัฟเฟตต์ยอมจ่ายเงินมากๆ เพื่อการบริหาร แต่เขาจะไม่ยอมเสียชื่อเสียงเด็ดขาด และนี่คือสิ่งสำคัญที่ทำให้กองทุนเบิร์กไชร์ แฮธาเวย์ ขนาดเกือบ 80,000 ล้านดอลล่าร์ ยืนหยัดอยู่ได้ ณ วันนี้

เทพเจ้าแห่งโอมาฮา ในวัย 75 ปี เชื่อว่าหากเขาเสียชีวิตลงไป มูลค่ากองทุนเบิร์กไชร์ อาจจะลดลงถึง 25% เท่ากับชื่อเสียงที่เขาสั่งสมมา ภารกิจหนักจะไปตกกับ “ฮาร์เวิร์ด” ลูกชายภายใต้สายตา และแรงกดดัน...จากคนทั้งโลก

(ที่มา บทความที่ชื่อว่าบัฟเฟตต์ เขาคือ.ลีโอนาร์โด ดาวินชี่ กลับชาติมาเกิด ,นสพ.BizWeek)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น