วันพุธที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ในหลวงของแผ่นดิน



ด้วยอภิลักขิตสมัย เวียนมาบรรจบ ครบ 84 พระชันษา


ทวยราษฏร์น้อมนบ กราบบังคม แทบพระบาทา (ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท)


ด้วยบุญญาบารมี (ที่เกริกไกร) ที่ทรงมีพระเมตตา แด่ปวงพสกนิกรในใต้หล้า (คนไทยทั่วโลก)


ขอทรงมีพระพลานามัย สมบูรณ์แข็งแรง อยู่ยั้งยืนยง ขอพระองค์จงทรงพระเจริญ


 

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้า ผู้จัดทำเว็บบล็อก Yikgamyok

 


มอง เห็นพระเจ้าอยู่หัว ท่ามกลางคนมืดมัว เหมือนเห็นแสงทองส่อง


                                   ใจ ตื้นตันเพียงได้มอง พนมมือทั้งสอง ก้มลงกราบด้วยหัวใจ

                                        มอง พระผู้ทรงเมตตา เฝ้าดูแลประชา ทั่วอาณาใกล้ไกล

                                         เมื่อยามอ่อนล้า หมดหวัง พระองค์อยู่เป็นหลักรวมหัวใจ

                                                       ยึดเหนี่ยวอยู่ภายในว่าวันพรุ่งนี้ยังมีหวัง


                            ในหลวง ของแผ่นดิน บันดาลให้เม็ดดินทรายกลายเป็นแผ่นดินที่ยิ่งใหญ่

                                                    อยากขอ ฝากกายและใจไม่จากไปไหน

                                                    รู้แล้วว่าใครทำให้ทุกคนอยู่ร่มเย็นเช่นนี้

                                ในหลวง ของแผ่นดิน ได้อยู่บนผืนดินของพระองค์คือคนโชคดี

                                             แผ่นดินนี้ มากล้นบุญคุณทวี ระลึกด้วยความภักดี

                                                                    แผ่นดินนี้คือชีวิตเรา


                               ในหลวง ของแผ่นดิน ได้อยู่บนผืนดินของพระองค์คือคนโชคดี

                                           แผ่นดินนี้ มากล้นบุญคุณทวี ระลึกด้วยความภักดี

                                                                แผ่นดินนี้คือชีวิตเรา


                                                  แผ่นดินนี้คือบ้าน คือแดนสวรรค์แสนสุขใจ

                                                      มีทุกอย่างที่ดีเพราะใคร ฉันจะไม่ลืม


                       ในหลวง ของแผ่นดิน หล่อรวมให้เม็ดดินทรายกลายเป็นแผ่นดินที่ยิ่งใหญ่

                                               หยดน้ำ หยาดเหงื่อพระองค์หยดลงที่ไหน

                                        ทุกข์ร้อนก็พลันสลาย ทุกข์ภัยจะไม่อาจแผ้วพาน


                               ในหลวง ของแผ่นดิน ทรงเป็นที่รัก และที่พึ่งพิงให้เราแสนนาน

                                           ตั้งแต่เล็กจนโตจำได้ทุกอย่าง ใต้ร่มพระบริบาล

                                                           ชาวสยามทุกคนร่มเย็น


                                             แผ่นดินนี้คือบ้าน คือแดนสวรรค์แสนสุขใจ

                                                  มีทุกอย่างที่ดีเพราะใคร ฉันจะไม่ลืม

(เพลงในหลวงของแผ่นดิน ประกอบละครเวที สี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคัล
คำร้อง  วิเชียร ตันติพิมลพันธ์   ทำนอง  สราวุธ เลิศปัญญานุช
อำนวยการผลิต  ถกลเกียรติ วีรวรรณ,บริษัท เอ็กแซ็กท์ จำกัด,บริษัท ซีนาริโอ จำกัด)

วันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

2 กูรูผู้ยิ่งใหญ่

2 กูรูผู้ยิ่งใหญ่


ในช่วงนี้ผู้เขียนเดินเข้าร้านหนังสือน้อยมาก แต่ครั้งล่าสุดที่เข้าไป ก็พบว่าตลาดหนังสือด้านการลงทุน การทำธุรกิจกับอีกกลุ่มหนึ่งประเภทหนังสือแนวธรรมะจิตวิทยา กฏแห่งแรงดึงดูดเพื่อสร้างความมั่งคั่งนั้นยังเป็นพระเอก จำนวนหัวพ็อกเก็ตบุ้คที่ออกมาใหม่มีเยอะ หลากหลายมากจนไม่รู้ว่าเล่มไหนดีหรือไม่ดี มากเสียจนซื้อไม่ไหวกันแล้ว นั่นแสดงให้เห็นว่ายุคนี้คนอ่านสนใจวิธีการที่จะทำให้ตนเองมั่งคั่งร่ำรวย และก็สนใจที่จะทำให้ตนเองมีความสุขสงบในจิตใจ ค้นหาวิธีการดับทุกข์ดับกิเลส ซึ่งหนังสือ 2 กลุ่มนี้มันเป็นขั้วตรงกันข้ามกันเลย และถ้าคนซื้อหนังสือทั้ง 2 กลุ่มนี้เป็นบุคคลคนเดียวกันหล่ะ เราจะตีความหมายของคนๆ นั้นอย่างไร ทางนึงก็ยังโลภ อีกทางนึงก็อยากจะระงับกิเลสไม่ให้โลภ เอ๊ะ! นี่มันสับสนในตัวเองมากเลย จะทำอย่างไรดี อันนี้ก็คงจะต้องไปหาหนังสือเหล่านั้นมาอ่านและทำความเข้าใจกับตัวเองให้มากขึ้น และก็เลือกทางเดินสายกลาง ปรับสมดุลความเหมาะสมระหว่างการสร้างความมั่งคั่งเพื่อให้อยู่รอดได้อย่างยั่งยืนกับการทำให้ชีวิตมีความสุขสงบได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องทำตัวสมถะมากเกินไป หรือใช้ชีวิตแบบพอเพียงนั่นแหละ ดังนั้น ผู้เขียนจึงขอนำเอามุมมองชีวิต และประวัติชีวิต การทำงาน หรือหลักการ ที่บุคคลสำคัญของโลกยุคใหม่ 2 ท่านนี้ ซึ่งถูกขนานนามว่าเป็นกูรู คนนึงเป็นกูรูด้านการจัดการ ส่วนอีกคนนึงเป็นกูรูด้านการลงทุน มานำเสนอ เพื่อไว้เป็นหลักคิด หรือนำไปประยุกต์ใช้ หากเห็นว่าเป็นประโยชน์ ทั้ง 2 ท่านนี้ ต่างเป็นต้นแบบของผู้สร้างความมั่งคั่งและโดยส่วนตัวทั้ง 2 ท่านยังใช้ชีวิตแบบสมถะหรือพอเพียงอีกด้วย ซึ่งตอบโจทย์การใช้ชีวิตในยุคปัจจุบันได้ดี ไม่จำเป็นว่าคุณรวยแล้ว คุณจะต้องผลาญทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้หมดสิ้นไปตามกำลังทรัพย์ที่คุณมีตามแต่พอใจ เฉกเช่นทั่วโลกยกย่องสตีฟ จ็อบส์ ว่าเป็นต้นแบบของผู้สร้างนวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่ แต่ไม่เคยทำตัวเป็นผู้ยิ่งใหญ่แบบฟุ่มเฟือย ฟุ้งเฟ้อตามฐานะมากเกินไป 2 กูรูผู้ยิ่งใหญ่ ที่ขอนำเสนอในบทความนี้ได้แก่ ปรมาจารย์ ปีเตอร์ เอฟ.ดรักเกอร์ และวอร์เรน บัฟเฟต

ปีเตอร์ เอฟ ดรักเกอร์ กูรู ด้านการจัดการและการบริหารงานสมัยใหม่

ประวัติ
ดรักเกอร์ เกิดที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เมื่อวันที่ May 19, 1909 ในยุคสมัยที่จักรพรรดิฟราน โยเซฟ ของฮันส์เบิร์ก ยังปกครองจักรวรรดิออสโตร-ฮังการี อยู่

ดรักเกอร์ เกิดในครอบครัวปัญญาชนชั้นสูง บิดาเป็นนักเศรษฐศาสตร์และนักกฏหมาย ส่วนมารดาศึกษาวิชาการแพทย์

เมื่อจักรวรรดิออสโตร-ฮังการี ล่มลงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ดรักเกอร์ ออกจากเวียนนา ตอนอายุได้ 17 ปี ไปทำงานที่ฮัมบูรก์ ประเทศเยอรมนี ระหว่างนั้นก็เรียนกฏหมายและสถิติไปด้วย

ต่อมา ดรักเกอร์ ทำงานเป็นนักวิเคราะห์หุ้นให้กับบริษัทวาณิชธนกิจแห่งหนึ่ง แต่เมื่อปี 1929 ก่อนที่ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทจะล่มเพียงไม่กี่สัปดาห์ เขาเขียนบทความทำนายอย่างเชื่อมั่นว่าราคาหุ้นจะพุ่งขึ้นอีก ทำให้หลังจากนั้นเขาไม่ยอมเขียนบทความหรือทำนายอะไรเกี่ยวกับหุ้นอีกเลย

ดรักเกอร์ ศึกษาต่อจนจบปริญญาเอกด้านกฏหมาย จากมหาวิทยาลัยแฟรงก์เฟิร์ต ในปี 1931 และทำงานเป็นบรรณาธิการข่าวให้กับหนังสือพิมพ์ Frankfurter General-Aneiger

ในปี 1933 ช่วงที่ ฮิตเลอร์ ครองอำนาจในเยอรมนี ดรักเกอร์ ตัดสินใจไปอยู่ที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ ทำงานเป็นนักวิเคราะห์หุ้นให้กับบริษัทแห่งหนึ่ง และทำให้เขาค้นพบตัวเองว่า เขามิใช่นักเศรษฐศาสตร์ แต่เขาสนใจเรื่องธรรมชาติของมนุษย์มากกว่า ทำให้เขาทิ้งเศรษฐศาสตร์ แล้วหันไปศึกษาการจัดการและเป็นที่ปรึกษาธุรกิจในที่สุด

ดรักเกอร์ทำงานเดิมอยู่ถึง 4 ปี แล้วข้ามฟากไปใช้ชีวิตใหม่ที่สหรัฐ และเขียนหนังสือเล่มแรกในปี 1939 ชื่อ “The End of Economic Man” หลังจากนั้นมีหนังสือออกมาอีกจำนวนมาก

ปัจจุบัน นอกเหนือจาก ดรักเกอร์ เป็นผู้ให้คำแนะนำและมุมมองทางด้านธุรกิจแล้วยังเป็นอาจารย์ประจำสอนอยู่ที่โรงเรียนการจัดการ Peter F. Drucker Graduate School of Management ที่ Claremont University ในรัฐแคลิฟอร์เนีย

7 แนวคิด ที่ปีเตอร์ เอฟ ดรักเกอร์ ทิ้งไว้ให้คนรุ่นหลัง ได้นำไปใช้เป็นแนวทางการจัดการและบริหาร ก็คือ

1. แนวคิดเกี่ยวกับการจัดการที่ต้องมีวัตถุประสงค์ (Management by Objectives –MBO)

แนวคิดนี้ปรากฏอยู่ในหนังสือที่ชื่อ The Practice of Management : 1954 เป็นมุมมองในช่วงแรกที่ดรักเกอร์ เริ่มสนใจในศาสตร์ด้านการบริหารจัดการสมัยใหม่ โดยเน้นให้แต่ละองค์กรสร้างทีมงาน ที่เป็นทีมงานเฉพาะ มีองค์กรเป็นที่หลอมรวมความพยายามจากแต่ละบุคคล แม้จะทำประโยชน์ให้องค์กรต่างกัน แต่ก็มีวัตถุประสงค์เดียวกัน นั่นคือ การพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จ เหมือนๆ กัน MBO จึงเป็นเสมือนเครื่องมือที่มีรายละเอียดต่างกันไปในแต่ละองค์กร แต่โดยโครงสร้างแล้ว ผู้บริหารต้องพยายามกระตุ้นให้พนักงานทุกคนนำพลังที่มีออกมาใช้ผลิตงานอย่างเต็มที่ มีการตอบแทนผลงานแห่งความสำเร็จ และต้องมีเครื่องมือชี้วัดเข้ามาช่วยด้วย นั่นคือ การรายงานผล และขั้นตอนการทำงาน แต่ควรทำอย่างกระชับในส่วนที่จะเกี่ยวข้องกับการบรรลุผลเท่านั้น ส่วนผลลัพธ์ก็ดูได้จากความสำเร็จของธุรกิจนั่นเอง

2. แนวคิดว่าด้วยการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ (Privatization) ริเริ่มขึ้นในทศวรรษที่ 1960

แนวคิดนี้เกิดขึ้นเนื่องจาก ดรักเกอร์เชื่อว่าเป้าประสงค์ที่แท้จริงของรัฐคือ การเป็นผู้ตัดสินใจ และเป็นผู้นำสังคม แต่เขายังมีความกังวลว่ารัฐอาจทำความผิดต่อสังคม ด้วยการแสวงหาประโยชน์แก่ตัวเองจากการจัดหาสิ่งอำนวยประโยชน์ต่างๆ แก่ประชาชน ขณะเดียวกัน รัฐต้องเสียทั้งเวลา และงบประมาณ ไม่คุ้มค่ากับสิ่งที่ประชาชนควรได้รับ ดรักเกอร์จึงเสนอแนวทางแก้ปัญหาที่ว่านี้ด้วยการให้รัฐขายองค์กรรัฐวิสาหกิจให้แก่เอกชนเป็นผู้ดำเนินการแทน

3.แนวคิดว่าด้วยการบริหารจัดการแบบมืออาชีพ (Professional management)

แนวคิดนี้เริ่มเกิดขึ้นราว ค.ศ.1963 ซึ่ง ดรักเกอร์ นิยามว่า “การบริหารแบบมืออาชีพ” หมายถึงกิจกรรมหรือการกระทำที่มีผลเป็นรูปธรรม โดยแยกความสับสนระหว่างประสิทธิภาพกับประสิทธิผล เพื่อให้เห็นว่าการทำให้สิ่งต่างๆ ถูกต้องนั้น ดีกว่าการกระทำในสิ่งที่ถูกต้อง หน้าที่แรกของผู้บริหารก็คือ ทำอย่างไรให้องค์กรมีผลการดำเนินงานที่ดีที่สุด เท่าที่จะเป็นได้ภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่ ซึ่งต้องวิเคราะห์ และสังเกตจากสภาพที่เป็นจริงก่อน ด้วยการตรวจสอบหาสินค้าที่อยู่ในปัจจุบันและอนาคต,ลูกค้า,ตลาด,ช่องทางการจัดจำหน่าย และผู้ซื้อสินค้า ซึ่งเป็นการมองจากภายนอก หลังจากนั้นจึงค่อยๆ มองภายในองค์กร หัวใจสำคัญก็คือ การรับผิดชอบการเจริญเติบโตขององค์กรและสมาชิก ซึ่งจำเป็นต้องมีการตัดสินใจที่เปี่ยมประสิทธิผลคือ รู้จักแบ่งแยกลำดับชั้นของปัญหา, ระบุที่มาของปัญหาได้, ลงมือทำ, รับฟังเสียงสะท้อนกลับ, และสรุปผล เพื่อนำมากำหนดเป็นวัตถุประสงค์ หลังจากนั้นต้องฝึกอบรมและประเมินผลการทำงานของพนักงาน รวมถึงการหาวิธีที่จะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้วยการบริหารต้นทุนการผลิตให้มีประสิทธิภาพด้วย ที่สำคัญ องค์กรในอนาคตจะคาดหวังความผูกพันจากพนักงาน (Organization Loyalty) ได้ไม่มากนัก เพราะกลุ่มพนักงานรุ่นใหม่จะผูกพันตัวเองกับอาชีพของเขามากกว่า การไต่เต้าเลื่อนตำแหน่งงานจากระดับล่างสู่ระดับบนในองค์กรเพียงองค์กรเดียวจะไม่ได้รับการใส่ใจอีกต่อไป ยิ่งในระดับผู้บริหารที่เป็นมืออาชีพแล้ว อาจมีการโยกย้ายตัวเองไปอยู่ในองค์กรต่างๆ ได้มากมาย

4.แนวคิดว่าด้วยแรงงานสมอง (Knowledge workers)

เป็นวลีที่ ดรักเกอร์ บัญญัติไว้ในงานเขียนชื่อ The Age of Discontinuity : 1968 ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการดำเนินชีวิตครั้งใหญ่ของคนค่อนโลกในศตวรรษที่ 20 แรงงานสมองมีผลโดยตรงจากการปฏิวัติเทคโนโลยีครั้งสำคัญที่เกิดขึ้นราวคริสต์ศตวรรษที่ 1950 โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของ “คอมพิวเตอร์” ที่ทำให้เกิดความรู้สึกในเชิงลึก ข้อมูลข่าวสาร และเครื่องมือไฮเทคใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมายอยางรวดเร็ว ทำให้โครงสร้างในภาคแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นอุปนิสัยการทำงาน ชีวิตการทำงาน ผลิตภาพของแรงงาน และการจ้างงานก็เปลี่ยนไปด้วย หรืออีกนัยหนึ่งก็คือเปลี่ยนจากการใช้แรงงานร่างกายมาเป็นแรงงานจากสมอง แรงงานสมองจึงสัมพันธ์กับวิถีการทำงานแบบมืออาชีพ ดังที่กล่าวไปแล้วอย่างชัดเจน เพราะลักษณะของแรงงานสมองนั้นมักจะมองว่าตนเองมีความเท่าเทียมกับผู้รับบริการของตน และชอบที่จะถูกมองเป็น “มืออาชีพ” มิใช่ “ลูกจ้าง” แบบ “นาย” กับ “บ่าว” แม้เงินจะสำคัญกับ Knowledge workers เหมือนกับคนทั่วไป แต่พวกเขามักไม่ยอมให้เงินเป็นสิ่งวัดผลงาน+ คุณค่า และมาทดแทนความสำเร็จในอาชีพของตน เพราะพวกเขาไม่ได้ทำงานเลี้ยงปากท้องเป็นหลัก แต่เห็นความงามของชีวิตมากกว่า แต่สุดท้ายเมื่อแรงงานสมองมีมากขึ้น พวกเขาก็ต้องหมั่นศึกษาหาความรุ้ใหม่ๆ เพื่อสร้างทักษะและเพิ่มมูลค่าเฉพาะตนขึ้นมาอยู่ตลอดเวลา และย่อมถูกคาดหวังว่าให้รับผิดชอบการบริหารจัดการตนเองในหน้าที่การงานมากขึ้นเช่นกัน

5.แนวคิดว่าด้วยสังคมแห่งความรู้ (Knowledge Based Society)

แนวคิดนี้ปรากฏอยู่ในงานเขียนชิ้นสำคัญของดรักเกอร์ ที่ชื่อ The Next Society ซึ่งเป็นการพยากรณ์สภาพของโลกในศตวรรษที่ 21 ว่าจะเป็นสังคมที่ “ความรู้” จะเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุด ลักษณะสำคัญของสังคมแห่งความรู้ 3 ประการ คือ 1. ความรู้ไม่มีพรมแดน เพราะความรู้เดินทางได้ง่ายกว่าเงิน 2. ความรู้ช่วยให้คนเลื่อนสถานะของตนเองได้ เพราะความรู้เข้าถึงได้ง่าย จึงสามารถแสวงหาได้ด้วยการเรียนหนังสือ 3.ความรู้ให้ทั้งโอกาสประสบความสำเร็จ และความล้มเหลว เพราะทุกคนสามารถเข้าถึงและสะสมปัจจัยการผลิตได้ใกล้เคียงกัน ด้วยลักษณะทั้ง 3 สังคมแห่งความรู้จึงเป็นสังคมที่มีการแข่งขันสูงมากทั้งระดับองค์กรและปัจเจกชน เทคโนโลยีกลายเป็นตัวแปรสำคัญ ทำให้ความรู้เกิดขึ้นพร้อมกันได้อย่างมหาศาล ทำให้องค์กรต่างๆ ต้องปรับตัวให้สังคมในวงกว้างได้รับรู้ข้อมูลของตน อันจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งภาพลักษณ์และความสำเร็จทางธุรกิจด้วย

6.แนวคิดว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของประชากร (Demographic Change)

แนวคิดนี้เกิดจากความห่วงใยของดรักเกอร์ ที่เห็นว่าน่าจะมีผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในอนาคตก็คือ อัตราการเปลี่ยนแปลงของประชากรอย่างผันผวนในหลายประเทศ ตัวอย่างชัดเจนในกรณี Baby Bust (อัตราการเกิดของทารกลดลง) หรือ Baby Boom (อัตราการเกิดของทารกเพิ่มขึ้น) ในสหรัฐที่เกิดหลายครั้ง ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเริ่มจากภาวะ Baby Boom ก่อน พอเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น ผู้คนกลับนิยมมีลูกกันน้อยลง จนเกิดปรากฏการณ์ Baby Bust แทน แล้วก็กลับกลายเป็น Baby Boom อีกครั้ง แต่นั้นเกิดจากการอพยพย้ายถิ่นจากภายนอกแทน นั่นแสดงว่าอัตราการเปลี่ยนแปลงของประชากรโลกในอนาคตนั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ไม่อาจคาดการณ์หรือควบคุมได้เลย ยิ่งจะต้องทำให้หลายๆ ประเทศต้องมีนโยบายคุมกำเนิดอยางจริงจังมากขึ้น ในทางกลับกัน “ช่วงอายุ” (Life Expectancy) กลับมีสูงขึ้น พร้อมกับจำนวนผู้สูงอายุ และอัตราการหดตัวของคนหนุ่มสาวก็จะมีเพิ่มขึ้นด้วย

7.แนวคิดว่าด้วยการศึกษาต่อเนื่องแบบออนไลน์ (Webeducation)

เป็นทรรศนะของดรักเกอร์ ที่มองการเชื่อมโยงมาจากภาวการณ์ปฏิวัติข้อมูลข่าวสาร คือจะเกิด “การศึกษาแบบต่อเนื่อง” เพราะตราบใดที่แรงงานสมองทำงานด้วยสองมือมากขึ้นๆ ตราบนั้นการศึกษาก็ยังคงต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่อง แต่การศึกษานั้นจะมาในรูปแบบใหม่ ไม่ใช่การศึกษาในห้องเรียน แต่เป็นการเรียนในบ้าน ในรถไฟ หรือที่ใดก็ได้ ปัจจุบันก็มีสถานศึกษาหลายแห่งที่เปิดเรียนทางอินเตอร์เน็ต ทำให้การเรียนหนังสือตามมหาวิทยาลัยกลายเป็นเรื่องล้าสมัยไป นอกจากนี้ยังทำให้ตลาดการศึกษาในโลกอนาคตเปลี่ยนไปด้วย การเรียนแบบนี้ช่วยให้นักศึกษาสามารถเข้าถึงหลักสูตร และเนื้อหาวิชาได้โดยไม่ต้องเดินทางไปไกลๆ หรือบางแห่งอาจเป็นการส่งคำบรรยายผ่านดาวเทียมไปรวมศูนย์อยู่ที่ใดที่หนึ่ง ผู้เรียนที่ไม่เข้าใจก็สามารถเข้าไปศึกษาเพิ่มเติมได้ซ้ำแล้วซ้ำอีก และโต้ตอบกับผู้สอนที่อยู่ไกลออกไปได้ทันทีทันใด เป็นการสร้างปริมณฑลการศึกษาใหม่ที่เป็นเอกลักษณ์ของยุคสมัยอยางชัดเจน

ปัจจุบันท่าน ศจ.ปีเตอร์ เอฟ.ดรักเกอร์ได้เสียชีวิตลงแล้ว ทิ้งผลงานที่เป็นคัมภีร์บริหารต่างๆ ไว้มากมายบนโลกนี้

ชื่อจริง ปีเตอร์ เฟอร์ดินานด์ ดรักเกอร์

ชาตะ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2452
ที่เกิด คาสกราเบน กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย
มรณะ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 (95 ปี)
สถานที่เสียชีวิต แคลร์มองต์ รัฐแคลิฟอร์เนีย

(ถอดความบางส่วนจากบทความ 7 ทัศน์คลาสสิค ของคุณปู่ ปีเตอร์ ดรักเกอร์ กูรูแห่งการบริหารสมัยใหม่)

ผู้เขียนขอแสดงความคิดเห็นใน 2 ประเด็นเพิ่มเติมดังนี้คือ แนวคิดที่เกี่ยวกับสังคมแห่งความรู้ หรือ Knowledge Based Society ใช้ไม่ได้กับกรณีของประเทศไทยโดยเฉพาะกับสังคมของกลุ่มคนเสื้อแดงหรือ นปช. เพราะกลุ่มคนเหล่านี้เลือกที่จะรับข้อมูลเพียงด้านเดียว และเงินเข้าถึงคนพวกเขาได้ง่ายกว่าความรู้ ซึ่งขัดแย้งโดยสิ้นเชิงกับแนวคิดหรือทฤษฎีของดรักเกอร์ และไม่รู้ว่าหากเชิญปรมาจารย์ดรักเกอร์มาวิเคราะห์กรณีของกลุ่มคนในสังคมบ้านเราเหล่านี้แล้วท่านยังเชื่อมั่นในแนวคิดของท่านอยู่อีกหรือไม่ ซึ่งผู้เขียนคิดว่าแนวคิดของปรมาจารย์ดรักเกอร์นั้นไม่ได้ผิด แต่สังคมไทยมีสิ่งผิดปกติที่ไม่เป็นไปตามกฎธรรมชาติมากกว่า จึงทำให้มันผิดเพี้ยนและออกมาขัดแย้งกับทฤษฏีโดยสิ้นเชิงเช่นนี้ อีกประเด็นหนึ่งที่ท่านปรมาจารย์ดรักเกอร์ไม่ได้กล่าวถึงไว้หรืออาจมากล่าวในภายหลังจากบทความชิ้นนี้ก็คือ แนวคิดว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของโลก (Climate Change) ซึ่งเป็นประเด็นทันสมัยของโลกอยู่ ณ เวลานี้

วอร์เรน บัฟเฟต กุรูด้านการลงทุน หมายเลข 1 ของโลก

ประวัติ
วอร์เรน เอ็ดวาร์ด บัฟเฟตต์ เกิดเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 1930  คุณพ่อของเขาเป็นนายหน้าค้าหลักทรัพย์และบริหารกองทุน ซึ่งกลายมาเป็นนักการเมืองในภายหลัง เขาเป็นลูกคนกลาง มีพี่สาว 1 คน และน้องสาว 1 คน   เขาเรียนจบ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ปริญญาตรีอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเนบราสกา วิทยาเขตลินคอล์น วอร์เรนมีบุตร 3 คน ปัจจุบันเป็นหม้าย
ในปี 2010 นิตยสารฟอร์จูนจัดให้เขาเป็นมหาเศรษฐีอันดับที่ 3 ของโลก รองจาก คาร์ลอส สลิม และ บิลเกตส์ เขามีชื่อเสียงโด่งดังในฐานะผู้ประสบความสำเร็จในการลงทุน และเมื่อเร็วๆ นี้ เขาออกมาประกาศเชิญชวนให้ผู้มีความมั่งคั่งสูง นำเงินที่เหลือจากที่จะกันเอาไว้ดูแลครอบครัวและญาติพี่น้องเป็นอย่างดีแล้ว มาทำประโยชน์ให้แก่มวลมนุษยชาติ  Huffington Post ร่วมกับ Yahoo News ได้สัมภาษณ์วอร์เรนสดๆ ร้อนๆ เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม โดยสอบถามหลายเรื่องซึ่งน่าสนใจ วอร์เรน กล่าวว่า คำแนะนำที่ดีที่สุดในชีวิตของเขาคือคำแนะนำจากคุณพ่อของเขา ท่านไม่ได้พูด แต่ทำเป็นตัวอย่างให้ดู สิ่งนั้นคือ “พลังของความรักที่ไม่มีเงื่อนไข” ที่ท่านได้ให้แก่เขา เขาบอกว่าพลังอันนี้จะปกป้องเด็กคนหนึ่งให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ และจะปกป้องไปตลอดชีวิตของคนคนนั้นเลยทีเดียว สำหรับคำแนะนำที่แย่ที่สุดนั้น วอร์เรนไม่ได้รับจากใคร แต่เขาคิดว่า การบอกคนให้ “ไปลงนรก” เป็นคำแนะนำที่แย่ที่สุด หากคิดจะพูดประโยคนี้ ขอให้ปิดปากเสีย ถ้าว่าตามศาสนาพุทธก็ต้องบอกว่าต้องมี “ทมะ” คือ การข่มใจ สะกดกลั้นเอาไว้ อย่าพูดออกมา เพราะจะทำให้คนฟังรู้สึกแย่ เป็นบาปจากการพูดจาส่อเสียด และไม่หวังดีต่อผู้อื่น  เมื่อถามว่าตอนนี้วอร์เรนชอบทำอะไร เขาตอบว่าชอบสอน ชอบบรรยาย เขาไปบรรยายให้กับมหาวิทยาลัยและบัณฑิตวิทยาลัยถึง 48 แห่งเป็นระยะๆ เขาเชื่อว่าประสบการณ์และคำแนะนำของเขายังสามารถใช้กับคนรุ่นใหม่ได้  แม้ว่า วอร์เรน จะเป็นคนทันสมัย แต่เขาไม่ใช้ iPod iPad  เขามีโทรศัพท์มือถือ ชอบอ่านจากอินเทอร์เน็ตที่เรียกกันว่าอ่าน online แต่เขาไม่ได้ใช้ social media ไม่มีหน้า Fanpage ใน Facebook ไม่มี Twitter และเขายืนยันว่าแม้จะอ่านแบบ online มาก แต่ก็ยังชอบที่จะอ่านหนังสือที่เป็นเล่มจริง จับต้องอยู่ในมือมากกว่า เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าเขายังกางหนังสือพิมพ์อ่านอยู่ได้บ่อยๆ

บทเรียนในการลงทุนที่เขาพูดและเขียนเอาไว้จนเป็นคัมภีร์มี 5 ข้อ คือ 1.ลงทุนในสิ่งที่ท่านรู้จัก หมายถึง จะลงทุนอะไรควรมีความเข้าใจในสิ่งนั้น 2.เลือกลงทุนให้เหมาะสมและคุ้มค่าและลงทุนในบริษัทที่คุ้มค่า 3.ลงทุนสวนทางกับคนอื่น (ซื้อในตอนที่คนส่วนใหญ่ไม่อยากซื้อ และขายตอนที่คนส่วนใหญ่อยากซื้อ) 4.เวลาลงทุนในหุ้น ให้ทำตัวเสมือนเป็นเจ้าของบริษัท (ใส่ใจติดตามผลการประกอบการ เข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้น สอบถามผู้บริหารในกรณีมีข้อสงสัย) 5.การกู้ยืมมาซื้อหุ้นเป็นการเล่นกับไฟ (ผู้ลงทุนในลักษณะพอร์ตโฟลิโอ ควรลงทุนเท่าที่มีเงินอยู่ ไม่ควรโลภกู้ยืมมาลงทุนในหุ้น แต่หากเป็นอสังหาริมทรัพย์หรือการลงทุนเพื่อการเข้าซื้อกิจการ ท่านสามารถกู้ยืมได้ ไม่เช่นนั้นเงินก็ไม่พอ ไม่มีโอกาสซื้อ คำแนะนำแต่ละประเภทจึงต้องนำไปปรับใช้ในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน)

แม่ของวอร์เรน ตั้งท้องเขาในช่วงภาวะตลาดหุ้นตกต่ำในปี 1929 ซึ่งทำให้บริษัทจัดการการลงทุนของพ่อของเขาเกือบจะต้องล้มละลายไปเลยทีเดียว วอร์เรนให้ความสนใจกับเรื่องเงินๆ ทองๆ ตั้งแต่ยังเด็ก ซึ่งไม่แตกต่างไปจากเด็กคนอื่นๆ จำนวนมากทีเติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่มีปัญหาทางด้านการเงิน อันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ของเล่นสุดโปรดของเขาในตอนเด็กๆ ก็คือเครื่องแลกเงิน ซึ่งเขาจะนำติดตัวไปเล่นในทุกๆ ที่ นอกจากนี้ เขายังหลงใหลกับการคำนวณทางคณิตศาสตร์เกี่ยวกับการทบต้นของเงินอีกด้วย ตอนวอร์เรนมีอายุ 6 ขวบ เขาก็ได้เริ่มต้นทำธุรกิจเป็นครั้งแรกด้วยการซื้อโค้กมา 6 ขวด ในราคา 25 เซ็นต์ แล้วนำไปขายต่อให้กับคนที่มาเที่ยว Lake Okoboji ในรัฐไอโอวาในราคาขวดละ 5 เซ็นต์ เขาอ่านหนังสือ A Thousand Ways to Make $1,000 จนขึ้นใจและเริ่มเก็บหอมรอมริบเงินที่เขาได้มาจากการเป็นเด็กส่งหนังสือพิมพ์ Washington Post และธุรกิจเครื่องพินบอล วอร์เรนต้องการที่จะหาเงินมากเสียจนกระทั่งในปี 1938 เขาเดินหลายต่อหลายไมล์ท่ามกลางอากาศที่ร้อนระอุในฤดูร้อนของรัฐเนแบรสกาไปยังสนามแข่งม้า และใช้เวลาหลายชั่วโมงไปกับการปัดกวาดพื้นที่ปกคลุมไปด้วยขี้เลื่อย เพื่อมองหาต้นขั้วตั๋วแทงม้าที่ถูกโยนทิ้งด้วยความหวังว่าอาจจะได้เจอตั๋วที่ชนะเงินรางวัล

วอร์เรน ลงทุนในตลาดหุ้นครั้งแรกเมื่อมีอายุได้ 11 ขวบ (ซื้อหุ้น Cities Service 3 หุ้น) และในตอนที่เขาจบมัธยม เมื่ออายุได้ 17 ปี เขาก็มีเงินเก็บมากถึง $6,000 แล้ว เขาเรียนต่อระดับปริญญาตรีโดยใช้เวลาเรียนเพียง 3 ปี เท่านั้น และจากนั้นก็สมัครเรียนต่อในหลักสูตร MBA ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและโคลัมเบีย ฮาร์วาร์ด่ตอบปฏิเสธ ในขณะที่โคลัมเบียรับเขาเข้าเรียน ทุกคนมักจะมีช่วงจังหวะชีวิตที่สำคัญในวัยเด็ก ซึ่งจะกำหนดทิศทางให้กับชีวิตในวันข้างหน้าต่อไป สำหรับวอร์เรนแล้ว มันเกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ในชั้นเรียนที่สอนโดย เบนจามิน เกรแฮม ผู้ซึ่งเป็นตำนานของการลงทุนแบบเน้นคุณค่า วอร์เรนและเกรแฮมเกิดความผูกพันทางสติปัญญากันในทันที “ประกายไฟแห่งความเฉียบคมทางปัญญาบินว่อนไปทั่ว” บิล รูเอ็น เพื่อนร่วมชั้นเรียน ซึ่งตอนนี้เป็นผู้บริหารของกองทุน Sequoia นึกถึง “คุณสามารถบอกได้เลยว่าวอร์เรนไม่ใช่คนธรรมดา” วอร์เรนเห็นวิธีการหาเงินที่เขาใฝ่ฝันตั้งแต่ตอนเด็กๆ ได้แทบจะในทันทีราวกับว่า เกรแฮมมาเปิดผ้าคลุมตาเขาออก เกรแฮมเป็นเสมือนแสงสว่างนำทางของเขา หลังจากที่วอร์เรนเรียนจบแล้ว เขาพยายามที่จะเกลี้ยกล่อมเกรแฮมให้รับเขาเข้าทางานเป็นนักวิเคราะห์การลงทุนระดับเริ่มต้นที่บริษัทจัดการการลงทุนของเกรแฮม แต่เกรแฮมปฏิเสธ วอร์เรน ซึ่งได้เรียนรู้ทฤษฏีการลงทุนแบบเน้นคุณค่ามาอย่างดี จึงเสนอตัวทำงานให้ฟรีโดยไม่รับเงินเดือน เกรแฮมยืนกรานว่า กระทั่งในระดับราคาที่ถูกขนาดนั้น วอร์เรนก็ยังแพง (Overvalued) เกินไปอยู่ดี อย่างไรก็ตาม วอร์เรน ก็ตามตื๊อเกรแฮมอย่างไม่หยุดหยอ่น จนกระทั่งเกรแฮมใจอ่อนและยอมจ้างเขาในที่สุด

วอร์เรนทำงานให้กับบริษัทนี้จนกระทั่งเกรแฮมเกษียณในปี 1956 ต่อมาด้วยความคิดถึงเนแบรสกา เขาจึงเดินทางกลับมาที่โอมาฮา และที่นี่เองที่เขาพยายามที่จะระดมเงินทุนมาก่อตั้งห้างหุ้นส่วนทางการลงทุน ในลักษณะเดียวกันกับกองทุนของเกรแฮม เขาไปหาทุกคนที่เขารู้จักเพื่อขอให้พวกเขาเข้าร่วมลงทุน เขาไปเลคเชอร์ที่สโมสรการลงทุน และกระทั่งไปเคาะประตูเพื่อนบ้าน ในที่สุดเขาก็ได้คนมา 8 คนที่เชื่อว่าเขามีคุณค่าพอที่จะนำเงินมาร่วมลงทุนด้วย วอร์เรนจึงก่อตั่ง Buffett Partnership ขึ้นด้วยเงินลงทุน $105,000 ซึ่งมีเงินของเขารวมอยู่ในนี้ด้วย ตลอดระยะเวลา 13 ปีหลังจากนั้น ห้างหุ้นส่วนนี้ได้สร้างผลตอบแทนทบต้นเฉลี่ยต่อปีได้ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ และเมื่อชื่อเสียงของเขาเป็นที่รู้จักกันมากยิ่งขึ้นในฐานะนักลงทุน เขาก็ปรารถนาที่จะระดมเงินทุนมาบริหารในจำนวนที่เพิ่มสูงขึ้น เขามักจะนำเอกสารขอคืนภาษีของห้างหุ้นส่วนนี้ไปให้คนที่เขาไปพบเพื่อที่จะระดมทุนดูอยู่บ่อยๆ เพื่อจะแสดงให้เห็นว่า เขาทำกำไรให้กับคนที่มาร่วมลงทุนกับเขาได้มากแค่ไหน และเนื่องจากว่า เงินของเขาทั้งหมดก็อยู่ในห้างหุ้นส่วนนี้ด้วย ดังนั้นเขาจะไม่ทำอะไรกับเงินของนักลงุทนที่นำมาลงทุนกับเขา หากว่าเขาไม่เต็มใจที่จะทำสิ่งนั้นกับเงินของเขาเอง วอร์เรนมักจะพูดเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่เสมอว่าเขา “กินอาหารที่เขาทำเองด้วย”

อย่างไรก็ตาม ในปี 1969 วอร์เรนพบว่า ภาวะตลาดกระทิงที่ร้อนแรงในช่วงปลายทศวรรษที่ 60 ได้ทำให้ตลาดหุ้นอยู่ในภาวะซื้อมากเกินไป และมีราคาแพงเกินจริง นอกไปจากนั้น เขายังมองว่า ในภาวการณ์เช่นนี้ มันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำการลงุทนุโดยใช้หลักการการลงทุนแบบเน้นคุณค่าที่สร้างผลตอบแทนสูงๆ ให้กับเขาและหุ้นส่วนมาโดยตลอด เมื่อวอร์เรนอ่านสถานการณ์ในลักษณะนี้ เขาจึงทำในสิ่งที่แทบจะไม่เคยเกิดขึ้นเลย นั่นก็คือ เขาแจ้งหุ้นส่วนของเขาทุกคนให้รู้ว่า เขาจะไม่สามารถรักษาผลตอบแทนสูงๆ ที่เขาเคยทำไว้ได้ เนื่องมาจากภาวะตลาดหุ้นที่มีราคาแพงเกินไป และแทนที่เขาจะใช้กลยุทธ์การลงทุนใหม่ๆ ที่เขาไม่สะดวกใจที่จะใช้ เขาเลือกที่จะปิดห้างหุ้นส่วนนี้ลงและนำเงินมาคืนให้กับหุ้นส่วนของเขา ในการเลิกห้างหุ้นส่วนทางการลงทุนนี้ วอร์เรนให้นักลงทุนของเขาเลือกระหว่างการรับเงินคืนเป็นเงินสด กับการรับคืนเป็นหุ้นของบริษัทที่ห้างหุ้นส่วนนี้ถือครองอยู่ ธุรกิจหนึ่งที่ห้างหุ้นส่วนนี้ถือหุ้นอยู่และมีอำนาจบริหารก็คือ บริษัทเบิร์คไชร์ ฮาธอเวย์ ซึ่งเป็นบริษัทสิ่งทอที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ห้างหุ้นส่วนนี้ได้เข้าซื้อหุ้นจนเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของเบิร์คไชร์ในปี 1967 และเมื่อห้างหุ้นส่วนนี้เข้าไปบริหาร วอร์เรนก็ได้ใช้เงินทุนหมุนเวียนของเบิร์คไชร์ไปซื้อบริษัทประกัน ซึ่งตลอดระยะเวลา 30 ปีต่อมา เบิร์คไชร์เข้าซื้อบริษัทประกันเป็นจำนวนมาก หลังจากที่กิจการห้างหุ้นส่วนนี้ยุติลงในปี 1969 วอร์เรนก็รับซื้อหุ้นของบริษัทเบิร์คไชร์จำนวน 27 เปอร์เซ็นต์ ที่หุ้นส่วนของเขาถืออยู่อย่างเงียบๆ และต่อมาเขาก็ซื้อหุ้นในจำนวนที่มากขึ้นจากตลาดหลักทรัพย์ จนกระทั่งเขากลายเป็นเจ้าของบริษัท วอร์เรนทำสิ่งนี้ด้วยเหตุผล 2 ประการ ประการแรกก็คือเบิร์คไชร์อยู่ในระหว่างการซื้อบริษัทประกันอยู่ ซึงวอร์เรนรู้ดีว่า บริษัทประกันจะให้เงินทุนก้อนใหญ่กับเขา โดยเงินทุนนี้จะมาจากเบี้ยประกันที่ผู้ทำประกันจ่ายให้กับบริษัทประกัน ประการที่ 2 ก็คือ เรื่องของภาษี ในขณะนั้น อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะสูงกว่าอัตราภาษีนิติบุคคลมาก วอร์เรนจะเสียภาษีในอัตราที่ต่ำ ซึงจะทำให้การสะสมเงินทุนทำได้ง่ายขึ้น หากเขาใช้บริษัทประกันเป็นตัวแทนในการลงทุน นอกเหนือไปจากนั้นแล้ว การลงทุนผ่านทางบริษัทประกันยังไม่ต้องจ่าย “ภาษีกำไรสะสม” อีกด้วย ภาษีนี้ถูกคิดขึ้นมาเพื่อป้องกันมิให้คนทั่วๆ ไปอยางวอร์เรนหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีในอัตราสูงๆ โดยลงทุนในรูปของบริษัท บริษัทประกันภัยเป็นหนึ่งในไม่กี่ธุรกิจที่ไม่ต้อง่จ่ายภาษีนี้ ด้วยความที่วอร์เรนได้เงินทุนที่มาจากเบี้ยประกันและไม่ต้องเสียภาษีในอัตราสูงๆ ทำให้เขาสามารถใช้ความรู้ทางการลงทุนของเขาในการสร้างความเติบโตให้กับสินทรัพย์ของเบริ์คไชร์ และสร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเอง โดยไม่มีข้อจำกัดทั่วๆ ไป ใดๆ มาเป็นอุปสรรค และด้วยผลงานอันยอดเยี่ยมของเขา ในช่วง 30 ปีทีผ่านมา มูลค่าทางบัญชีของเบิร์คไชร์เติบโตขึ้นด้วยอัตราเฉลี่ยถึง 23 เปอร์เซ็นต์ต่อปี มูลค่าทางบัญชีเพิ่มขึ้นจาก $19 ต่อหุ้น จนกลายเป็นมากกว่า $40,000 ต่อหุ้น ในช่วงเวลาเดียวกัน ราคาหุ้นในตลาดก็เพิ่มขึ้นด้วยอัตราเฉลี่ย 29 เปอร์เซ็นต์ต่อปี จาก $13 ต่อหุ้นจนกลายเป็น $70,000 ต่อหุ้น มูลค่าเงินลงทุนของวอร์เรน บัฟเฟตต์ในบริษัทเบิร์คไชร์ ฮาธอเวย์ได้เติบโตจากประมาณ $7 ล้านจนกลายเป็น มากกว่า$ 30 พันล้าน เขาสร้างความมั่งคั่งจากความสามารถอันเหนือชั้นในการตัดสินใจลงทุนของเขา และจากความฉลาดในการใช้บริษัทประกันเป็นเครื่องมือในการลงทุน เขาไม่เพียงแต่เป็นคนร่ำรวยที่สุดคนหนึ่งของโลก แต่เขายังเป็นนักลงทุนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาลอีกด้วย

(ที่มา บทกล่าวนำ ในหนังสือ The New Buffettology เขียนโดย Mary Buffett, David Clark แปลและเรียบเรียงโดย พรชัย รัตนนนทชัยสุข )



ในแง่สินทรัพย์วอร์เรน บัฟเฟตต์ เทพเจ้าแห่งโอมาฮา คือมหาเศรษฐีเบอร์ 2 ของโลก รองจากบิลล์ เกตส์ ที่รวยขึ้นมาจากหุ้นไมโครซอฟท์ แต่หากนับฝีมือด้านการลงทุนในตลาดทุนแล้ว ทั่วโลกต่างยกย่องให้บัฟเฟตต์ เป็นมือวางอันดับหนึ่ง ชีวิตมหัศจรรย์ของเขาเริ่มต้นในวัยเพียง 25 ปี โดยก่อตั้ง “Buffett Partnership” ด้วยทุนประเดิม 105,000 ดอลล่าร์ จากหุ้นส่วน 7 คน และตั้งเป้าหินสำหรับตัวเองว่าจะเอาชนะดัชนีดาวน์โจนส์ให้ได้ปีละ 10 % แต่เอาเข้าจริงๆ เขาทำได้ถึง 22% ภายใต้พันธะสัญญาที่วา “เราจะเลือกลงทุนบนพื้นฐานของมูลค่าไม่ใช่ความนิยม” บัฟเฟตต์ เข้าซื้อกิจการสิ่งทอเล็กๆ ที่ชื่อว่า “เบิร์กไชร์ แฮธาเวย์” เมือ่ประมาณปี 2508 เขาทำให้หุ้นราคา 13 ดอลล่าร์ ทะยานขึ้นไปซื้อขายกันที่ 90,500 ดอลล่าร์ต่อหุ้น ในปัจจุบัน ด้วยมาร์เก็ตแคปขนาด 139,370 ล้านดอลล่าร์ ถ้าเปรียบเทียบมูลค่าหุ้นที่เพิ่มขึ้นระหว่าง เบิร์กไชร์ แฮธาเวย์กับ ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ระหว่างปี 2508-2547 จะพบว่า เบิร์กไชร์ มีมูลค่าหุ้นเพิ่มขึ้นมากถึง 286,865% ขณะที่ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ทำได้แค่ 5,318%

โรเบิร์ต พี.ไมเลส เจ้าของผลงานเขียน The Genius of Warren Buffett : The Science of Investing and The Art of Managing เคยมาบรรยายที่โรงแรมรอยัล ออร์คิด เชอราตัน(กรุงเทพฯ) ยกย่องให้ บัฟเฟตต์ เป็นอัจฉริยะที่มีความสามารถทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์และศิลปะ เฉกเช่น ลีโอนาร์โด ดาวินชี่ กล่าวคือ บัฟเฟตต์ ใช้ศาสตร์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เพื่อการลงทุน และเขายังเป็นศิลปิน ที่รู้จักการใช้ศิลปะ ในการบริหารจัดการ อย่างยอดเยี่ยม สังเกตได้จากที่ผานมา บัฟเฟตต์ ไม่เคยเสียซีอีโอ ของกองทุน ไปให้กับคู่แข่งเลยสักครั้ง

“ความสามารถในเชิงคณิตศาสตร์... ความสามารถในการสื่อสาร.. สัมพันธ์ระหว่างธุรกิจ และนักการเมือง ทักษะในการเข้าใจในสิ่งต่างๆ คือสิ่งที่ทำให้บัฟเฟตต์ประสบความสำเร็จ” ไมเลส กล่าว

วอร์เรน บัฟเฟตต์ ไม่เคยลงทุนในธุรกิจที่เขาไม่สามารถเข้าใจได้หรือธุรกิจที่อยู่นอกเหนือ “วงจรความสามารถ” ของเขา...บทเรียนที่ทำให้บัฟเฟตต์ เดินทางลัดไปสู่วิถีแห่งความร่ำรวยก็คือ ทฤษฏี Margin of Safety ของ Benjamin Greham ครูของวอร์เรน บัฟเฟตต์ นั่นเอง เกรแฮมสอนบัฟเฟตต์ ว่า ถ้าเราสามารถป้องกันตนเองจากความแปรปรวนของอารมณ์ตลาดหุ้น ก็จะมีโอกาสฉกฉวยผลประโยชน์จากพฤติกรรมที่ไร้เหตุผลของนักลงทุน เพราะฉะนั้นอย่าถูกทำให้ไขว้เขว เพราะคนอื่นไม่เห็นด้วยกับคุณ เบิร์กไชร์ แฮธาเวย์ เก็บเงินสดจำนวนมหาศาล สำหรับการลงทุนในแต่ละปี โดยกิจการแห่งนี้ไม่ได้จ่ายเงินปันผลมาตั่งแต่ปี 2510

โรเบิร์ต พี.ไมเลส สรุปว่า หุ้นที่บัฟเฟตต์สนใจมาก มักจะเป็นธุรกิจดั้งเดิม ที่มีความมั่นคง อายุยาวนาน และเกียวข้องกับชีวิตประจำวัน 5 หุ้นในพอร์ต เบิร์กไชร์ แฮธาเวย์ ที่มีมูลค่ามากที่สุด ได้แก่ หุ้นหนังสือพิมพ์วอชิงตัน โพสต์, หุ้นบริษัทโคคา-โคลา ,หุ้นบัตรเครดิตอเมริกันเอ็กซ์เพรส ,หุ้นยิลเลตต์แพ็คการ์ด และหุ้นสถาบันการเงิน “เวลส์ ฟาร์โก้” ขณะเม็ดเงินอีกส่วนหนึ่งก็กระจายความเสี่ยงไปสู่ธุรกิจอื่น อาทิ หุ้น GEICO (บริษัทประกันภัยลูกจ้างของรัฐบาล) ธุรกิจที่ดำเนินการในด้านโลจิสติกส์ , หุ้น GREIF BROTHER ธุรกิจค้าปลีก ,หุ้น TIRELY CLOTHES ธุรกิจบันเทิงในหุ้น BALDWIN ตลอดจนหุ้นในหมวดอุตสาหกรรม เช่น เครื่องจักรปั๊มน้ำ THOR CORP ด้วย

บัฟเฟตต์ จะนิยามความเสี่ยง ว่า คือ ความไม่รู้ หรือไม่เข้าใจว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ ดังนั้น ในการเลือกหุ้น เขาจะต้องรู้จักหุ้นนั้นอย่างถ่องแท้ และจะมีกิจวัตรประจำวันที่ฝึกฝนความรู้ให้ยิ่งแกร่ง

ไมเลส บอกว่า ทุกวันบัฟเฟตต์ จะแบ่งเวลาสำหรับการออกกำลังกาย เพื่อเติมพลังให้กับชีวิต เวลาที่เหลือจะใช้ไปในการอ่านหนังสือหลากหลายแนว และเล่นไพ่บริดจ์ เป็นงานอดิเรก ซึ่งล้วนแต่เป็นการพัฒนาฝึกฝนไอเดียให้แหลมคมอยู่เสมอ ไม่เพียงเท่านี้ บัฟเฟตต์ จะให้ความสำคัญกับ คาแรกเตอร์ส่วนตัว และชื่อเสียงที่ผู้คนยกย่องเขา เขาตระหนักดีว่า ชื่อเสียงที่สั่งสมมาเกือบ 30 ปี พร้อมที่จะจบลงเพียงแค่ 5 นาทีได้ หากไม่รักษามันเอาไว้ และนี่ก็ทำให้ การไปลงทุนทุกครั้งของเบิร์กไชร์ แฮธาเวย์ จะมีบรรดากลุ่มผู้เชื่อถือเข้าไปร่วมลงทุนด้วยอยู่เสมอ อาทิ หุ้นปิโตร-ไชน่า ที่เบิร์กไชร์ เพิ่งเข้าไปลงทุนเมื่อปลายปี 2547 ด้วยจำนวนเงิน 458 ล้านดอลล่าร์ เพียงไม่ถึงปี มูลค่าหุ้นได้เพิ่มขึ้นเป็น 1,300 ล้านดอลล่าร์ บัฟเฟตต์ยอมจ่ายเงินมากๆ เพื่อการบริหาร แต่เขาจะไม่ยอมเสียชื่อเสียงเด็ดขาด และนี่คือสิ่งสำคัญที่ทำให้กองทุนเบิร์กไชร์ แฮธาเวย์ ขนาดเกือบ 80,000 ล้านดอลล่าร์ ยืนหยัดอยู่ได้ ณ วันนี้

เทพเจ้าแห่งโอมาฮา ในวัย 75 ปี เชื่อว่าหากเขาเสียชีวิตลงไป มูลค่ากองทุนเบิร์กไชร์ อาจจะลดลงถึง 25% เท่ากับชื่อเสียงที่เขาสั่งสมมา ภารกิจหนักจะไปตกกับ “ฮาร์เวิร์ด” ลูกชายภายใต้สายตา และแรงกดดัน...จากคนทั้งโลก

(ที่มา บทความที่ชื่อว่าบัฟเฟตต์ เขาคือ.ลีโอนาร์โด ดาวินชี่ กลับชาติมาเกิด ,นสพ.BizWeek)

วันอังคารที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

100 เรื่องรัก ต้อนรับลมหนาวมาเยือน

แยงกี้ ขี้เล่น จนเป็นเรื่อง

เคยเป็นหรือไม่ครับ ที่เวลาเราดูหนังรักเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แล้วไม่รู้สึกอิ่ม หรือยังรู้สึกค้างๆ คาๆ ในใจ เกี่ยวกับประเด็นของหนังที่ผู้กำกับให้มาหรือบทสรุปตอนท้ายเรื่องที่ไม่เป็นอย่างที่เราคาดคิด หรือไม่เข้าใจพฤติกรรมของตัวละครบางตัว ทำให้หนังที่ดูว่าน่าจะจบแบบประทับใจแล้ว แต่ก็ยังมีติดค้างอยู่ในใจ บางทีก็มานั่งคิดว่าจะเอาอะไรกับการดูหนัง ซึ่งมันเป็นเพียงโลกในจินตนาการ โลกในความฝัน เพราะในชีวิตจริง คนเราก็ไม่เห็นมีคู่รักคู่ไหนสมบูรณ์แบบ หรือสมหวังไปซะทุกเรื่อง พูดอีกก็ถูกอีกครับ ก็เพราะมันเป็นหนังหรือภาพยนตร์ไง ก็ในเมื่อเราอุตส่าห์เลือกหาหนังที่จะเสพหาความสุข หรือหลุดเข้าไปอยู่ในโลกแห่งจินตนาการ ความฝันแล้ว ก็หมายความว่า เราอยากเห็นโลกในนั้นมันวิเศษกว่าโลกจริงไม่ใช่หรือ แต่หลายครั้งโลกในความฝันนั้นก็สะท้อนแง่มุมจากเรื่องราวของชีวิตจริงออกมา ทำให้ได้มุมมองที่สามารถนำไปปรับใช้ได้ บางครั้งโลกแห่งความฝัน ก็สะท้อนมุมมองมาจากนวนิยายหรือเรื่องสั้นที่เขียนโดยอิงเค้าโครงจากเรื่องจริง แต่ยังไงโลกของนิยายก็เป็นดั่งโลกแห่งความฝันอีกมิติหนึ่งเช่นกัน บางครั้งบางคน อาจจะเถียงว่า โลกในชีวิตจริงกลับเลวร้ายเสียยิ่งกว่าในนิยายหรือโลกแห่งความฝันเสียอีกก็มี อันนี้ก็เห็นจะจริง แต่ไม่ว่าโลกแห่งความฝัน(ภาพยนตร์) โลกในนวนิยาย โลกแห่งชีวิตจริง จะเป็นอย่างไร จะแตกต่างหรือเหมือนกันอย่างไร มนุษย์ทุกคนบนโลกนี้ ต่างเรียนรู้ที่จะอยู่บนโลกนี้ให้มีความสุขที่สุดเช่นเดียวกัน บางคนมีความสุขที่จะอยู่บนโลกมนุษย์นี้แบบอยู่คนเดียว ไม่ต้องมีใครมาเป็นคู่ชีวิต บางคนมีความสุขไม่ได้ถ้าจะไม่ได้อยู่เป็นคู่ชีวิตกันกับคนที่รัก (แฟน) ของตนเอง บางคนมีความสุขที่จะอยู่ได้ในสถานะความเป็นเพื่อน ไม่อยากมีพันธะใดๆ บางครั้งเป็นโสด บางครั้งมีคู่ชีวิตแล้ว (แฟน) บางครั้งมีแค่กิ๊กไว้บำบัดความใคร่ บางครั้งกลายเป็นหม้าย (เลิกรากับคู่ชีวิตแล้ว) วนเวียนอยู่ในโลกแห่งความรักนี้ ในแบบที่มีการปรับสมดุลของสถานะให้อยู่แล้วมีความสุขที่สุด การดูหนังเป็นเพียงการเสพสื่อบันเทิงชนิดหนึ่ง บางครั้งผลที่ได้มากกว่าการดูเพื่อความบันเทิงดาดๆ ทั่วไป เพราะบางครั้งผลที่ได้ก็คือการบำบัดความทุกข์ ความใคร่ ความเหงา ได้อย่างชนิดที่ทำให้โรคทางใจหายเป็นปลิดทิ้งทีเดียว ดีกว่าการไปหาจิตแพทย์ หรือหาหมอ เสียเงินไม่ได้มากนัก จะมีอะไรดีกว่าการได้เรียนรู้ชีวิตรัก หรือชีวิตคู่ของคนอื่นผ่านการใช้เวลาเพียง 1-2 ชั่วโมง โดยที่คุณไม่ต้องเสียเวลาในชีวิตจริงทั้งชีวิตไปศึกษาคนเพียงคนเดียว และผลสรุปที่ได้ก็คือ เขาผู้นั้นก็ไม่ใช่คนที่คุณคิดจะรักอย่างแท้จริง

100 เรื่องรัก ต้อนรับลมหนาวมาเยือน จึงอยากจะหยิบเอาหนังรักในแง่มุมต่างๆ มาเป็นทางเลือกในการเสพ หรือมองหามุมมองบางอย่างที่เราขาดหายไป หรืออยากจะมีประสบการณ์ร่วม หรือศึกษาเรียนรู้ เพื่อนำเอาทัศนคติ หรือประสบการณ์ของตัวละครที่ได้นั้น มาลองปรับใช้กับชีวิตคู่ของเราดู หรือดีไม่ดี อาจจะทำให้มุมมองทางด้านความรักของเราอาจจะเปลี่ยนไป ภายหลังจากได้ชมหนังรักเรื่องใหม่ๆ ที่เราไม่เคยดูก็เป็นได้ ถามว่ามีเกณฑ์ในการคัดเลือกเอา 100 หนังรักที่ว่ามาอย่างไร นั้นก็คงจะบอกได้ว่าคงไม่ได้ใช้เกณฑ์อะไร นอกเสียจากเป็นหนังรักที่ผู้เขียนเคยได้ผ่านตาหรือเคยดูมาก่อนก็เท่านั้น ถ้าจะมีหนังเรื่องใดหลุดรอดจากลิสต์นี้ ก็คงไม่ใช่เป็นเพราะหนังเรื่องดังกล่าวไม่ได้เป็นหนักรักที่ดี แต่คงเป็นเพราะผู้เขียนคงไม่เคยดู ไม่เคยผ่านตา หรืออาจจะนึกไม่ออก ณ ตอนนี้ ก็เท่านั้น

หนังรักในความทรงจำวัยเด็ก ส่วนใหญ่จะเป็นหนังรักในยุค 70’s-80’s นั่นแหละ ภาพแรกๆ ที่ปรากฏขึ้นมาก่อนเลยก็คือ Love Story , Endless Love , Laboum , Blue Lagoon , Casablanca , Out of Africa , Romeo & Juliot , Ghost  เป็นต้น

11 พล็อตหนังรักโดนๆ จำแนกตามแนวเนื้อหา (บางเรื่องอาจมีเนื้อหาที่หลากหลาย จับไปอยู่ได้ในหลายๆ กลุ่มได้)

1.แนวแก๊งค์หนุ่มโสดมองหาแฟนหรือหนุ่มโฉดทำซกมก แนวๆ นี้ จะได้แก่ พวก American Pie, That’s thing you do , High Fidelity , She all that , Cruel Intention , Gossip , Up in the Air , Undiscovered , 40 days & 40 nights , 10 things I hate about you , 50 first date ,The Hitch

2.แนวแก๊งค์สาวโสดมองหาแฟนหรือสาวเฮี้ยวเที่ยวนินทา แนวๆ นี้ จะได้แก่ พวก Sex and the City , There something about Mary , Bridget Jone Diary, Mean Girl , Amelie , Someone like you, How to lose a guy in 10 days , How to make an American Quilt

3.แนวรักแบบเหงาๆ เขาผ่านเข้ามาพอดี(อยากจะบอกใครซักคน) แนวๆ นี้ จะได้แก่ Jerry Mcquire, About a Boy,The Horse Whisperer, The Bridge of Madison County, Sweet November , Dear John , One Day ,How to make an American Quilt, Meet Joe Black ,When Harry met Sally , Nothing ‘s Hill , Chocalate ,Lost in Translation,The Holiday ,As good as it gets ,Just Married


4.แนวรักแบบพลัดพราก แนวๆ นี้ จะได้แก่ A Walk to Remember, Atonement , Love Story , Brokeback Mountain, Sweet November, Dear John , The Notebook , The Piano , Romeo & Juliot , My Girl (ภาค1) ,Ghost, Moulin Rouge, Before Sunrise, Before Sunset ,Great Expectation ,Walking the dead ,Casablanca

5.แนวรักแบบสถานการณ์พามาพบกัน,บุพเพสันนิวาส แนวๆ นี้ จะได้แก่ English Patient , Titanic , The Horse Whisperer, The Holiday , Before Sunrise , Before Sunset , Serendipity , Pretty Woman , The Hitch , Wedding Planner , Sleepless in Seattle ,In Love & War , Message in a Bottle , You ‘re Got Mail , The Family Man, Gone with the Wind , Addicted to Love , While you were sleeping , A walk in the Clouds ,A Beautiful Mind, Down with Love , I am Sam , Juno ,Shakespear in Love

6.แนวรักแบบหลายคู่,หลายชีวิต แนวๆ นี้ จะได้แก่ Love Actually , Valentine’s Day , New Year Eve, P.S.,I love you , Royal Tenenbuam ,Magnolia

7. แนวรักแบบอยากจะย้อนเวลากลับไปแก้ไขอดีต แนวๆ นี้จะได้แก่ What Dream May Come, Eternal sunchine of the Spotless Mind, Ghost ,The Family Man

8. แนวรักแบบปัญหาชีวิตคู่,บ้านแตก (ครอบครัวแตกสลาย) แนวนี้ได้แก่ American Beauty, Story of Us ,Revolutionary Road, In the Bedroom ,The Pursuit of the Happiness, The Brothers, The Cider House Rule ,Mad Love, Thelma & Louise

9. แนวรักแบบเซ็กซ์ชั่วคราว (เซ็กซ์ล้วนๆ รักไม่เกี่ยว) ทำให้อยากแล้วจากไป แนวนี้ได้แก่ Thelma & Louise, Don Juan:Demarco , About Last Night, Unfaithful, The Reader ,Meet Joe Black, The Dreamer, Killing me Softly,Cruel Intention, Eye Wild Shut ,Indecent Proposal ,Mad Love

10. แนวรักแบบ 3เส้า (อยากเก็บเธอเอาไว้ทั้ง 2 คน) แนวนี้ได้แก่ Here on Earth, Twilight, Pearl Harbour

11. แนวรักแบบรักใสๆ วัยกระเตาะ (Puppy Love) แนวนี้ได้แก่ Love Story , Laboum, The Blue Lagoon, My Girl , Endless Love , Reality Bite ,A Walk to Remember ,High School Musical ,Mean Girl

จริงๆ แล้วอาจรวบรวมได้เกินกว่า 100 เรื่อง และอาจเพิ่มเติมได้มากกว่านี้หากคิดออกในภายหลัง และจากพล็อตหนังรัก 11 แบบข้างต้น หากจะหยิบมาเพียง 1 เรื่องในแต่ละแนว ก็จะได้ 11 หนังรักที่เป็นหนังรักที่ดีที่สุดในใจของผู้เขียนเอง และหากจะนำเรื่องย่อมาลงทั้งหมดก็คงจะกินพื้นที่จำนวนมาก จึงขอนำมาลงแต่เพียงบางส่วนดังนี้
 


10 หนังรักที่ดีที่สุด (ของผู้เขียน) ประกอบด้วย
High Fidelity, There somthing about Mary, Jerry Mcquire, Love Story, Serendipity, Love Actually ,Eternal Sunshine of the Spotless Mind, Story of  us, About Last Night, La Boum

1.High Fidelity หนุ่มร็อคหัวใจสะออน (ออกฉายปี 2000)
นักแสดง จอห์น คูแซ็ก,แจ๊ค แบล็ค,แคททาลีน ซีต้าโจนส์
เรื่องย่อ :
จากนวนิยายขายดีติดอันดับทั่วโลก สู่ภาพยนตร์โรแมนติกคอมเมดี้ขบขันสนั่นหัวใจ จอห์น คูแซ็ค (Being John Malkovich) รับบทร็อบ กอร์ดอน เจ้าของกิจการร้านขายแผ่นเสียงที่ตั้งอยู่ ณ มุมอับของชิคาโก ร็อบขายดนตรีโดยมีผู้ช่วยสองนายได้แก่ แบร์รี่ (แจ๊ค แบล็ค) หนุ่มอ้วนขาร็อคขี้โวย และดิ๊ค (ท็อด ลุยโซ) หนุ่มหงิมผู้เชื่อมั่นในตัวเอง แต่ธุรกิจของร็อบมิใช่สิ่งเดียวที่สร้างความลำบากลำบนแก่ชีวิตของเขา หากยังมีแฟนสาวสุดน่ารักนามลอร่า (ดาวรุ่งดวงใหม่ ไอเบน เฮจลี) ผู้เพิ่งเลิกราจากเขาไป และลอร่านี่เอง ที่ทำให้ร็อบต้องคิดทบทวนอย่างจริงจังถึงสาเหตุแห่งความล้มเหลวในชีวิตรักของเขาตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน กับแฟนเก่าถึง 4 คนมาแล้ว และกับรักครั้งใหม่คนที่ 5 นี้จะประสบความสำเร็จหรือไม่

จุดเด่น ของหนังรักเรื่องนี้ก็คือทัศนคติ มุมมองเกี่ยวกับความรัก ซึ่งมองจากฝั่งผู้ชาย ซึ่งในเรื่องตัวพระเอกมีบุคลิกของความเป็นคนที่มีจิตใจอ่อนโยน รักเสียงดนตรี มีโลกส่วนตัวสูง แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งเขาก็ต้องค้นหาคำตอบให้กับชีวิตของเขา ระหว่างการมีตัวตนในสถานภาพโสดดี หรืออยากมีคู่ชีวิตอย่างแท้จริง (ในเรื่องพระเอกถูกผู้หญิงหักอกมาถึง 4 ครั้งแล้ว) แต่แท้ที่จริงแล้วอุปสรรคอันใหญ่หลวงไม่ได้อยู่ที่ว่าเขาจะหาคนๆ นั้นเจอหรือไม่ แต่อยู่ที่เขาจะปรับสมดุลจุดลงตัวระหว่างความมีตัวตนสูง โลกส่วนตัวเยอะ กับการเป็นนักรักที่ดีได้อย่างไรมากกว่า เรื่องนี้เหมาะกับหนุ่มโสดที่กำลังมองหาคู่ครองซักคนในชีวิตของตนเอง เรื่องนี้เป็นหนังสุดโปรดที่สุดเรื่องนึงของผู้เขียนเลยทีเดียว

2.There Something about Mary มะรุมมะตุ้ม รุมรักแมรี่ (ออกฉายปี 1998)
นักแสดง คาเมรอน ดิแอซ,เบน สติลเล่อร์,แม็ท ดิลล่อน
เรื่องย่อ :
สร้างประวัติศาสตร์ทุบสถิติรายได้หนังตลกโรแมนติกคอมเมดี้ที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อน ซึ่งไม่ใช่มีแค่มุกตลกดาดๆ แต่เต็มไปด้วยอารมณ์ขันแบบโง่เง่าเต่าตุ่นเท่าที่คุณดูมา ตัวหนังเล่าเรื่องด้วยใจที่ยังถวิลหาแต่แมรี่.(คาเมรอน ดิแอซ).ขวัญใจครั้งวัยมัธยม เท็ด.(เบน สติลเลอร์).หนุ่มเนิร์ดของชั้นเรียน ยังเพียรเฝ้าตามหาเธอ แม้สิบสามปีผ่านไป โดยได้รับความช่วยเหลือจากนักสืบเจ้าเล่ห์.(แมท ดิลลอน).ที่แอบหลงรักเธอเช่นกัน แต่โชคร้ายสำหรับชายทั้งสอง ที่ต้องพบกับความจริงว่า ไม่ว่าชายใดที่ได้ยลโฉมแมรี่ ทุกคนล้วนตกหลุมรัก แต่จะตามมาด้วยความหายนะที่คาดไม่ถึง ผลงานของสองพี่น้องฟาร์เรลลี่ที่มาตอกย้ำความฮาอีกครั้ง และสร้างสรรค์มุกฮาใต้สะดือ ซึ่งรับประกันได้ว่าคุณจะหัวเราะจนตกเก้าอี้ และจะถวิลหาแมรี่อยู่ร่ำไป

จุดเด่น ของหนังรักเรื่องนี้อยู่ที่ความไม่สมบูรณ์แบบของตัวละครแต่ละตัวเนี่ยแหละ คือธรรมชาติของชีวิตจริง แมรี่นางเอกของเรื่องดูเป็นสาวสวย มีเสน่ห์แต่ลึกๆ แล้วเธอก็เป็นผู้หญิงโก๊ะๆ เปิ่นๆ ออกจะรั่วๆ ด้วยในบางครั้ง ส่วนเท็ดผู้ชายแสนซื่อ แสนดี ออกจะซื่อบื้อเกินเหตุด้วยซ้ำ แต่เป็นคนดี และรูปไม่หล่อ ส่วนอีกคนคือตัวนักสืบเจ้าเล่ห์ เป็นหนุ่มรูปหล่อ กะล่อนแต่นิสัยเป็นคนเลว (อันนี้คือบุคลิกที่ผู้หญิงยุคปัจจุบันชอบมากๆ กัน หรือไม่จริง) ซึ่งบุคลิกเหล่านี้ในชีวิตจริงเราก็เจอะเจอในสังคมไม่ใช่หรือ ตัวหนังไม่มีเฟค เสียดสีประชดประชันสังคมได้อย่างแยบยล แต่คนดูจะไม่รู้สึก มีมุกทะลึ่งที่เราจะหัวเราะจนท้องแข็งมากมาย และแม้ว่าในภาพยนตร์ แมรี่จะตกลงเป็นแฟนกับตัวละครที่ชื่อว่าเท็ดในที่สุด แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงแล้วหล่ะก็ แมรี่ยุคใหม่ในสังคมเมืองอาจจะเลือกตาอยู่หรือบุคคลที่ 3 ที่มีบุคลิกที่ทั้งโง่และนิสัยไม่ดี แต่รวยกว่าหนุ่มทั้ง 2 คนนี้ก็เป็นได้ เพราะไหนๆ หาดีๆ แบบเพอร์เฟ็คท์ไม่ได้แล้ว ก็ขอรวยเอาไว้ก่อนดีกว่า เพราะผู้หญิงยุคใหม่มักจะแพ้เงิน มากกว่าแพ้ความดีหรือแพ้ความหล่อ (อันนี้กล่าวโดยทั่วไปนะครับ ไม่ได้ว่าคุณผู้หญิงทุกคน) เรื่องนี้เหมาะกับสาวโสดที่จะพิจารณาคนที่จะเข้ามาจีบ และเลือกเป็นแฟนตัวจริง ว่าแบบไหนจริงใจที่สุด
3.Jerry Mcquire เทพบุตรรักติดดิน (ออกฉายปี 1996)
นักแสดง ทอม ครู๊ซ ,เรเน่ เซลเวเกอร์
เรื่องย่อ :
เจอร์รี แม็คไกวร์ เป็นตัวแทนฝีมือดีของบริษัทบริหารจัดการนักกีฬายักษ์ใหญ่ เขามีหน้าที่จัดการดูแลด้านสิทธิประโยชน์ ภาพลักษณ์ และเรื่องส่วนตัวของนักกีฬาอาชีพจำนวนหลายสิบคน วันหนึ่งนักกีฬาในการดูแลของเขาประสบอุบัติเหตุระหว่างการแข่งขัน และต้องเสี่ยงกับความพิการ เพราะต้องตรากตรำลงเล่นด้วยข้อผูกมัดในสัญญา เจอร์รี แม็คไกวร์เกิดความรู้สึกไม่ดี และไม่มีความสุขในการทำงาน เขาจึงร่างข้อความพันธกิจ (Mission Statement) ที่กำหนดแนวทางในอนาคตของบริษัท โดยเสนอให้ลดจำนวนนักกีฬา เพื่อเน้นความใกล้ชิดระหว่างลูกค้ากับตัวแทน และทำสำเนาให้กับทุกคนในบริษัท บันทึกข้อความของเจอร์รี แม็คไกวร์ ได้รับคำชื่นชมจากพนักงานคนอื่นในบริษัท แต่ก็ส่งผลให้เขาถูกไล่ออกจากงาน เจอร์รี แม็คไกวร์ออกจากบริษัทไปตั้งบริษัทของตัวเอง โดยโดโรที บอยด์ (เรเน่ เซลเวเกอร์) พนักงานบัญชีลูกติด ที่ประทับใจบันทึกข้อความของแม็คไกวร์เป็นพนักงานเพียงคนเดียวที่ขอลาออกตามไปด้วย เจอร์รี แม็คไกวร์ติดต่อกับลูกค้าเก่าของเขาทุกคนเพื่อชวนไปใช้บริการในบริษัทใหม่ของเขา แต่ทุกคนล้วนปฏิเสธ มีเพียงคนเดียวคือ ร็อด ทิดเวลล์ (คิวบา กูดิง จูเนียร์) ปีกนอกฝีมือดีของทีมอเมริกันฟุตบอล แอริโซนาคาร์ดินัลส์เจอร์รี แม็คไกวร์ใช้เวลาส่วนใหญ่ดูแลสิทธิประโยชน์ของทิดเวลล์ ลูกค้าเพียงคนเดียวของเขาอย่างใกล้ชิด พร้อมกับต่อรองกับทีมต้นสังกัดเพื่อให้ได้รับสัญญาจ้างฉบับใหม่ เพื่อประกันความมั่นคงในอาชีพนักกีฬา ในขณะเดียวกันเขาก็สนิทสนมกับ เรย์ ลูกติดวัยสามขวบของโดโรที จนมีความสัมพันธ์กับโดโรที และตัดสินใจแต่งงานกับเธอ เพื่อให้เธอได้รับการประกันสุขภาพและประหยัดค่าใช้จ่ายของบริษัทใหม่ ที่ยังไม่มีรายได้ในขณะที่โดโรที บอยด์ มีความรักต่อเจอร์รี แม็คไกวร์อย่างลึกซึ้ง เธอกลับรู้สึกว่าเขามีความห่างเหินและไม่ได้รักเธอ การแต่งงานนั้นเป็นเพราะเขาชอบเล่นประสาพ่อลูกกับเรย์ ไม่ชอบอยู่คนเดียว และแต่งงานเพื่อแสดงความรับผิดชอบที่เธอต้องลาออกจากงานตามเขามา จึงขอแยกทางกันหลังการแข่งขันครั้งสำคัญ แอริโซนาคาร์ดินัลส์ได้เข้ารอบเพลย์ออฟเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี ร็อด ทิดเวลล์ที่แสดงผลงานอย่างดีเยี่ยม ได้รับการเสนอต่อสัญญาฉบับใหม่มีมูลค่าสูงเป็นประวัติศาสตร์ถึง 11.2 ล้านดอลลาร์ ทำให้เจอร์รี แม็คไกวร์กลายเป็นตัวแทนมือทองอีกครั้ง มีนักกีฬาหลายคนสนใจจะเป็นลูกค้าของเขา ในขณะเดียวกันเจอร์รี แม็คไกวร์ก็สำนึกว่าในส่วนลึกแล้วตัวเองรักโดโรทีเพียงใด เขากลับไปตามหาเธอที่บ้าน เพื่อบอกว่า เขารักตัวเธอเพราะ "เธอเติมเต็มชีวิตของเขา"

จุดเด่น ตัวหนังสร้างความประทับใจ และสร้างแรงบันดาลใจในการต่อสู้ชีวิต การทำงาน การเป็นผู้นำคน คือได้ข้อคิดในหลายๆด้านจากหนังเรื่องนี้หากจะนำมาใช้  เรื่องนี้มีประโยคเด็ดๆ หลายต่อหลายฉาก และตัวหนังให้ข้อคิดเกี่ยวกับผู้ชายคนหนึ่งที่เข้มแข็ง บางครั้งอ่อนแอ แต่สิ่งที่มาเติมเต็มให้กับชีวิตของเขา เวลาก้าวพลาดหรือล้มเหลวก็คือผู้หญิงคนนั้น คนซึ่งเคยเป็นทั้งลูกน้อง เป็นผู้ร่วมงาน และสุดท้ายกลายมาเป็นภรรยา แม่หม้ายลูกติด ที่สุดแสนจะน่ารัก

5.Serendipity กว่าจะค้นเจอ ขอมีเธอสุดหัวใจ (ออกฉายปี 2001)
นักแสดง  จอห์น คูแซ็ก, เคท เบ็คกิ้งเซล
เรื่องย่อ :
วันหนึ่งในฤดูหนาวปี 1990 ซึ่งเป็นวันแห่งการช็อปปิ้งสำหรับช่วงเทศกาลที่วุ่นวายที่สุดวันหนึ่ง โจนาธาน เทรเกอร์ ได้พบกับ ซาร่า โธมัส แม้ว่าทั้งเขาและเธอต่างก็มีผู้จับจองหัวใจอยู่แล้ว แต่ทั้งคู่ก็ได้สานมิตรภาพชมบรรยากาศแมนฮัตตันร่วมกันโดยที่ไม่ทราบชื่อของอีกฝ่าย เมื่อเวลาค่ำ คืบคลานเข้ามาก็ถึงเวลาที่ทั้งสองต้องตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรกับก้าวต่อไป โจนาธานเสนอที่จะแลกเบอร์โทรของกันและกัน แต่ซาร่ากลับเสนอความคิดที่ว่าให้โชคชะตาเป็นผู้กำหนด เธอบอกว่าถ้าทั้งสองถูกกำหนดให้คู่กัน พวกเขาก็ย่อมพบหนทางที่จะนำพาให้หวนกลับมาพบกันได้เอง อย่างน้อยนั่นก็คือสิ่งที่คิดไว้ แต่ทว่าโชคชะตาของทั้งคู่อาจมิได้ให้ความร่วมมือง่าย ๆ ดังเช่นนั้น……หลายปีผ่านไป เส้นทางชีวิตของโจนาธานและซาร่าต่างแยกกันไปคนละทิศ แต่เมื่อทั้งคู่จะต้องเข้าพิธีแต่งงานกับบุคคลอื่น พวกเขาก็ตัดสินใจที่จะค้นหาอีกฝ่ายให้เจอ ทว่าพวกเขาจะหลอกโชคชะตาและกำหนดพรหมลิขิตด้วยยตนเองได้หรือไม่?
โจนาธาน ได้พบกับ ซาร่า ในห้างสรรพสินค้าโดยบังเอิญขณะที่กำลังแย่งถุงมือคู่สุดท้าย และนั่นก็คือความรักแรกพบบรรจบกันราวกับฟ้าบันดาล แม้ว่าต่างฝ่ายต่างมีคนรักกันอยู่แล้ว ทว่า ซาร่า เชื่อในเรื่องพรหมลิขิต เธอได้อธิษฐานขอให้พวกเขาได้สิ่งของ 3 สิ่งคืนมา นั่นคือหนังสือมีลายเซ็น, ถุงมือแคชเมียร์ข้างหนึ่ง และธนบัตรที่มีเบอร์โทรจดไว้ ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามนี้เธอจะเชื่อว่าเธอและโจนาธานเป็นเนื้อคู่กัน แต่กว่าที่ทั้งสองจะได้พิสูจน์อภินิหารของพรหมลิขิตก็เป็นเวลาอีกหลายปีต่อมา ในช่วงเวลาซึ่งทั้งสองฝ่ายเกือบลืมคำอธิษฐานนั้นไปแล้ว"

จุดเด่น หนังเรื่องนี้มีพล็อตเรื่องที่น่าสนใจ แม้ว่าในชีวิตจริงแทบจะไม่มีทางเป็นไปได้เลย แต่หนังกลับสร้างทางเลือก เพื่อนำตัวละครไปสู่เป้าหมายที่อาจเป็นไปได้ และคนดูก็เอาใจช่วย เพราะคนดูแทบทุกคนที่ได้ดู อยากมีชะตากรรมแบบในตัวละครเหมือนกันหมด คนคิดพล็อตเรื่องฉลาดจริงๆ จริงๆ เรื่องนี้ถ้าจบแบบที่ไม่ใช่ Happy Ending จะมีความน่าเชื่อถือมากกว่านี้ เป็นภาพยนตร์ที่นึกถึงอยู่ตลอดเวลาที่ได้ยินเพลง หากันจนเจอ ของพี่ 2 กบ ทุกทีเลย  เป็นหนังรักที่รักมาก เพราะเน่ากว่านี้ไม่มีอีกแล้ว

6.Love Actually ทุกหัวใจมีรัก (ออกฉายในปี 2003)
นักแสดง  ฮิวจ์ แกรนต์, บิล ไนอี, เอมมา ทอมสัน, โคลิน เฟิร์ท, เลียม นีสัน, แอลัน ริกแมน, คีร์รา ไนท์ลีย์, ลอรา ลินนีย์ และดาราภาพยนตร์ผู้มีชื่อเสียงอีกมากมาย รวมทั้งดารารับเชิญได้แก่ โรวัน แอตกินสัน, บิลลี บ็อบ ทอร์นตัน, คลอเดีย ชีฟเฟอร์, เอลิชา คัทเบิร์ท, แชนนอน เอลิซาเบท, เดนิส ริชาร์ด

เรื่องย่อ :
คนบางคนอาจมองว่าโลกนี้เต็มไปด้วยความเกลียดชัง แก่งแย่งชิงดี แต่อันที่จริงแล้ว เราจะพบว่ามีความรักปรากฏอยู่ในทุกแห่งหน ในคนทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่นายกรัฐมนตรีหนุ่มคนใหม่ที่เพิ่งเริ่มงานเป็นวันแรก ก็เกิดตกหลุมรักเลขาสาวจอมเปิ่นที่เพิ่งเข้าทำงานเป็นวันแรกเหมือนกัน, เจมี่ นักเขียนหนุ่มผู้เพิ่งจะพบว่าภรรยาเป็นชู้กับน้องชายของตน จึงหลบไปรักษาแผลใจที่บ้านพักริมทะเลสาบ และพบรักกับหญิงสาวคนทำงานบ้านซึ่งพูดภาษาอังกฤษไม่ได้, หญิงสาวที่แต่งงานแล้วอย่างคาเรน ผู้ซึ่งกำลังสงสัยว่าสามีของเธอกำลังปันใจให้กับเลขาหน้าห้องทำงาน  หรือกระทั่งความรักของเด็กชายผู้ซึ่งกำลังพบรักครั้งแรกกับเด็กหญิงเพื่อนร่วมโรงเรียนที่ไม่เคยแม้แต่จะคุยกัน และพ่อม่ายที่ประสบปัญหาการเข้าถึงลูกชายผู้เพิ่งจะสูญเสียแม่ไป
เมื่อเทศกาลคริสต์มาสกำลังย่างกรายมาถึง เรื่องราวของแต่ละคนในนครลอนดอนจึงบังเกิดขึ้นด้วยความมหัศจรรย์ที่มีรสชาติทั้งหวานและขม ตามแต่จะบังเกิดขึ้นในทุกหัวใจที่มีรัก

จุดเด่น ของหนังเรื่องนี้ คือการเขียนบทให้ตัวละครที่มีมาก ไม่ตำกว่า 5 คู่ ดำเนินเรื่องไปแบบให้น้ำหนักที่เท่าเทียมกัน และมีรูปแบบความรักที่หลากหลายแนว ทั้งประเด็นแง่มุมในชีวิต วัย สถานะ ชนชั้น รายได้ สถานภาพ ทัศนคติ รสนิยมในเรื่องความรัก โดยที่คนดูจะรู้สึกอินไปกับตัวละครทุกตัว เอาใจช่วยกับความรักในแต่ละคู่ มีความลงตัวทั้งในส่วนพล็อตเรื่องและไดอะล็อก(บทพูด) เพลงประกอบ,ดนตรีประกอบภาพยนตร์ที่ไพเราะมาก เป็นภาพยนตร์ที่คนที่ชอบหนังรักหรือคนที่กำลังมีความรักควรดูทุกคน หากจะให้เลือกหนังรักดูเพียงเรื่องเดียว ในจำนวน 100 เรื่องที่คัดสรรมา ผู้เขียนขอแนะนำให้คุณดูหนังเรื่องนี้ครับ เพราะเรื่องเดียวได้อรรถรสครบทุกประเด็น สมกับเพลงที่ชื่อ love is all around มากๆ

7. Eternal Sunshine of The Spotless Mind ลบเธอ..ให้ไม่ลืม (ออกฉายปี 2004)
นักแสดง จิม แครี่ย์ ,เคต วินสเล็ต
เรื่องย่อ :
Eternal Sunshine of the Spotless Mind พูดถึงเรื่องความสัมพันธ์ในชีวิตคู่ ว่าเราสามารถยอมรับข้อเสียของกันและกันได้แค่ไหน โดยมีฉากหลังเป็นหนังไซไฟ(คล้าย ๆ inception) 

โจเอล (จิม แคร์รี่) ถึงกับงงเมื่อพบว่า คลีเม็นไทน์ (เค็ท วินสเล็ต) แฟนสาวของเขาได้ลบความทรงจำเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของเขาและเธอที่สับสนอลหม่าน ในภาวะอันสิ้นหวังแบบนี้ โจเอล ต้องติดต่อนักประดิษฐ์อย่าง ดร. โฮเวิร์ด (ทอม วิลคินสัน) เพื่อลบเธอ ออกไปจากความทรงจำของเขาบ้าง แต่เมื่อความทรงจำของโจเอลค่อยๆถูกทำให้สูญหายไปนั้น เขากลับเริ่มค้นพบความรู้สึกเสน่หา ลึกลงไปในช่องว่างบางส่วนในสมองของโจเอล เขาพยายามจะหนีไปจากขบวนการลบความทรงจำ ในขณะที่ ดร. โฮเวิร์ด และผู้ช่วยพยายามไล่ล่าเขาในความทรงจำอันสับสนและซับซ้อน เป็นที่กระจ่างแล้วว่าโจเอลไม่สามารถลบแฟนสาวของเขาออกไปจากหัวใจได้หรอก

จุดเด่น ของหนังเรื่องนี้คือพล็อตเรื่องที่แปลกแหวกแนว เล่นกับอารมณ์เบื้องลึกของคน เกี่ยวกับความทรงจำ ความเสียใจ ผิดหวังในเรื่องความรัก หากคนเราสามารถลบความทรงจำในอดีตของแฟนเก่าลงได้จริงๆ คงเป็นการดีไม่น้อย แต่หนังก็สะท้อนให้เห็นว่า แน่ใจนะว่าคุณต้องการลืมแฟนของคุณจริงๆ เพราะอย่างน้อยมันก็คือประสบการณ์ดีๆ ครั้งหนึ่งในชีวิต แม้ว่าเราจะเลิกรากันไปแล้ว แต่หากคุณยังรักเขาอยู่มากหล่ะ คุณยังอยากจะลบเขาออกไปจากจิตใจหรือ เพราะความทรงจำมันลบกันไม่ได้หรอก วิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือที่นำมาช่วยปรับปรุงพัฒนาชีวิตคนให้ดีขึ้น ไม่ใช่ทำลายมิใช่หรือ

8.The Story of Us  เรื่องรักของเรา มันเข้าท่า (ออกฉายปี 1999)
นักแสดง  บรู๊ซ วิลลิส ,มิเชลล์ ไฟเฟอร์
เรื่องย่อ :
แค็ทที่ จอร์แดน (มิเชล ไฟเฟอร์) ผู้ยึดมั่นในชีวิตสมรสอย่างแน่วแน่ เธอต้องการให้ทุกสิ่งทุกอย่างเข้าที่เข้าทาง, ต้องการรู้คำตอบของทุกคำถาม แม้ว่าจะเป็นข้อข้องใจเล็กน้อยเพียงใดก็ตาม และมักปิดตัวเองจากปัญหาทุกอย่าง เธอเป็นผู้ออกแบบคำศัพท์อักษรไขว้ ที่พยายามไขว่คว้าหาคู่ชีวิต มาเติมอีกครึ่งหนึ่งให้เต็มสมบูรณ์ นี่เองกระมังที่ทำให้เธอหลงรัก เบ็น (บรู้ซ วิลลิส) ตรงที่เขาเป็นคนช่างฝัน จินตนาการกว้างไกล, สดชื่นสดใส, มีชีวิตมีชีวา และขี้เล่นชนิดหาตัวจับยาก

ส่วน เบ็น ก็เป็นนักเขียนที่เชื่อว่า ทุกความรักจะจบลงอย่างหวานชื่นเสมอ แต่ชีวิตจริงกลับมีรายละเอียดลึกซึ้งกว่านั้นมากมายนัก และเมื่อเขาหา Bactine ไม่เจอก็จะปล่อยให้ไฟเหนืออ่างล้างหน้า กระพริบจนแดงอยู่อย่างนั้น ปรัชญาของ เบ็น ตามแบบที่ แค็ทที่อธิบายไว้ ก็เปรียบได้กับหนังสือสำหรับเด็กเรื่อง Harold and the Purple Crayon แฮโรลด์เป็นเด็กน้อยที่พยายามสร้างโลกส่วนตัว ให้ได้อย่างใจปรารถนา แต่ไม่ใช่อย่างที่โลกแห่งความเป็นจริงพึงเป็นความผูกพันค่อย ๆ เหือดหายไปจากความสัมพันธ์ สามีภรรยาแห่งครอบครัวจอร์แดนทดลองแยกกันอยู่ ในระหว่างที่ลูกๆ คือ จอช วัย 12 ปี และเออริน วัย 10 ปีไปพักแค้มป์ภาคฤดูร้อน ทั้งเบ็นและแค็ทที่ต่างก็ตั้งแง่เข้าใส่กัน แทนที่จะเป็นประเด็นเข้าอกเข้าใจกัน และต่างก็เชื่อว่าการปิดตัวเงียบ ในมุมสงบของใครของมัน จะช่วยแก้ปัญหาได้ ช่วงที่ต่างแยกกันอยู่นั้น ทั้งเบ็นและแค็ทที่ก็หวนรำลึก ถึงความหลังครั้งรักยังหวานชื่น — งานเต้นรำ, การเอาอกเอาใจกันและกัน, ล้วนสร้างความผูกพันให้สองกลายเป็น “เรา” ได้นั่นเอง  ทำไมหนอ ความน่ารักเหล่านี้ที่ครั้งหนึ่ง เคยทำให้ต่างคนต่างหลงไหลได้ปลื้มกันเสียเหลือเกิน กลับกลายเป็นเรื่องจุกจิกกวนใจให้รำคาญ จนบางครั้งลืมไปแล้วว่า ความสัมพันธ์นั้นยิ่งใหญ่เพียงใด? แล้วเมื่อไรกันเล่าที่จะได้สติว่า ถ้าขาดเขาไปเราก็ไม่สมบูรณ์

จุดเด่น ของหนังเรื่องนี้ อยู่ตรงที่การนำเสนอประเด็นรอยร้าวในชีวิตคู่ วิธีการที่สามีและภรรยาจะประครองความรัก การประครองความสัมพันธ์ บทบาทหน้าที่ความเป็นพ่อกับแม่ ต่อลูก และหนทางที่พวกเขาจะปรับความเข้าใจ ทางเลือกที่จะอยู่หรือไปจากสถานภาพความเป็นครอบครัว ผู้เขียนชอบหนังเรื่องนี้มาก การนำเสนอประเด็นความรัก ความสัมพันธ์ในครอบครัวที่ดีที่สุดเรื่องนึง คนที่กำลังมีปัญหาในครอบครัว ควรจะหามาดู คิดว่าคุณอาจจะได้ประโยชน์จากการชมภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่มากก็น้อยครับ

9.About Last Night รักนี้ยากจะบอกเธอ (ออกฉายปี 1986)
นักแสดง  เดมี่ มัวร์, ร็อบ โลว์
เรื่องย่อ
เรื่องย่อ. แดนนี่ ( ร็อบ โลว์) กับ เบอร์นี่ (เจมส์ เบลูซี่) คือเพื่อนซี้ที่ใช้ชีวิตอย่างสุดเหวี่ยง แต่เมื่อ แดนนี่ พบ เด็บ บี้ (เดมี่ มัวร์) ที่บาร์แห่งหนึ่ง พวกเขาทำความรู้จักและหวังที่จะมีเซ็กซ์แบบคืนเดียวจาก ...และด้วยแรงยุของเพื่อนๆ ทั้ง 2 ฝ่ายให้ลองคบกัน ทั้งคู่เริ่มรู้สึกชอบพอกันมากขึ้น เริ่มคบกันเป็นแฟน และตกลงที่จะมาใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันแบบอยู่ก่อนแต่ง ตัวของแดนนี่ เริ่มรู้สึกว่าเขาอยากที่จะจริงจังกับความรักในตัวเด็บบี้ แต่เด็บบี้เองเริ่มรู้สึกว่าแดนนี่ยังไม่ใช่ จึงพยายามตีตัวออกห่าง เพราะมีหลายสิ่งหลายอย่างที่เด็บบี้ยังไม่สามารถปรับตัวเข้ากับแดนนี่ได้ ทั้งคู่เริ่มมีปากเสียงกัน และทะเลาะกันในเรื่องที่จุกจิกเล็กน้อย สุดท้ายความรักครั้งนี้ก็ไปไม่รอด เด็บบี้เป็นฝ่ายขอเลิกกับแดนนี่เอง ทั้งคู่จากกันไปด้วยดี แต่แดนนี่นั้นทุกข์ระทมสุดๆ

จุดเด่น ของหนังเรื่องนี้มันยังทันสมัย และใช้ได้กับทุกยุคทุกสมัย พล็อตเรื่องชี้ให้เห็นประเด็นของความชอบพอ พัฒนามาเป็นความใคร่ การมีเซ็กส์กัน และจบลงด้วยความรัก บังเอิญว่าตัวละครในเรื่องนี้เขาไม่สามารถพัฒนาความสัมพันธ์ต่อไปเป็นความรักได้ ซึ่งอาจจะเป็นที่ทัศนคติไม่ตรงกัน หรือยังให้เวลากันไม่มากพอ หรือใครคนใดคนหนึ่งไม่พึงพอใจคู่กรณีของตนเองเสียแล้ว เข้าทำนองรักง่ายหน่ายเร็ว ซึ่งผู้เขียนคิดว่าด้วยความสมบูรณ์ของพล็อตเรื่อง นักแสดงที่เล่นกันได้ดีมาก ทั้งเดมี่มัวร์ และร็อบโลว์ ตลอดจนฉากวาบหวิวในเรื่องก็สุดคลาสสิคแล้วในยุคนั้น ทำให้หนังเรื่องนี้ยังประทับใจอยู่ในความทรงจำไม่มีวันลืมมาถึงทุกวันนี้ครับ





วันพฤหัสบดีที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

กาลครั้งหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ เกาหลีฟีเวอร์ครองเมือง (เกาหลี ขี้เหงา....แต่เอาอยู่)



เกาหลี ขี้เหงา..... แต่เอาอยู่

ความทรงจำแรกที่ผู้เขียนจำได้ก็คือ ประเทศเกาหลีมีเพลงชื่ออารีดัง และดังมากสมชื่อด้วยได้ยินมาตั้งแต่เด็กๆ ประเทศนี้แบ่งเป็นเหนือกับใต้ เหนือปกครองในแบบคอมมิวนิสต์ ส่วนใต้ปกครองในแบบประชาธิปไตย อาหารหลักประจำชาติก็คือกิมจิ กับหมูย่างเกาหลี มีสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มียี่ห้อว่าซัมซุง มีรถยนต์ชื่อยี่ห้อฮุนได นอกนั้นไม่รู้จักอะไรที่เกี่ยวกับประเทศเกาหลีอีกเลย และรู้ว่ามีเมืองหลวงขื่อกรุงโซลเท่านั้น ทำให้ไม่เคยมีภาพยนตร์เกาหลีอยู่ใน category ของการดูหนังมาก่อนเลย จนมารู้จักภาพยนตร์เกาหลีและซีรี่ย์เกาหลีได้อย่างไรนั้น ก็เริ่มมาจากดูภาพยนตร์ก่อน แล้วค่อยมาดูซีรี่ย์ทีหลัง ภาพยนตร์เกาหลีที่ดูเรื่องแรกในชีวิตก็จำชื่อเรื่องไม่ได้แล้วด้วย แต่จำได้ว่ามีเพื่อนที่ทำงานคนหนึ่งแนะนำให้ดู และให้ยืมแผ่น vcd ไปดู พอดูเสร็จก็เริ่มสนใจว่าเอ๊ะ เกาหลีสร้างหนังได้ดีขนาดนี้เลยเหรอ ทำให้เริ่มหันมาสนใจที่จะมาโฟกัสกับ ภ.เกาหลีมากขึ้น และเริ่มสะสมหลักไมล์ของการชมภาพยนตร์จากประเทศนี้มากยิ่งขึ้น เพื่อทำความรู้จัก และสิ่งที่ผู้เขียนได้รับจากการชมความบันเทิงทั้งในส่วนของภาพยนตร์ ซีรี่ย์และเพลงของวงการบันเทิงเกาหลี จะถูกนำมาถ่ายทอดไว้ในบทความชิ้นนี้ นับจากบรรทัดนี้ไปครับ

กระแสบูมของภาพยนตร์เกาหลีและซีรี่ย์เกาหลี มาได้ถูกที่ถูกเวลามากกับช่วงเวลาที่ วงการภาพยนตร์ของเอเชียนั้นซบเซามาก เพราะช่วงเวลานั้น ภาพยนตร์ในฝั่งเอเชีย ทั้งในส่วนของฮ่องกง ไต้หวัน และญี่ปุ่น นั้น ไม่ค่อยมีผลงานที่ยอดเยี่ยมหรือประทับใจมากเท่าไหร่แล้ว เต็มไปด้วยหนังสูตรในแบบฮ่องกง คือบู๊ ฆ่ากันตายในแบบมาเฟียล้างแค้นมาเฟีย ที่ออกมาเฝือและก็ดูคล้ายๆ กันไปหมดทุกเรื่อง ไม่มีอะไรใหม่ หมดยุคหนังเจ้าพ่อและดารานักบู๊แล้ว รุ่นสุดท้ายคือเจ็ตลีกับดอนนี่ เยน ในส่วนของไต้หวันที่มีจุดแข็งด้านหนังรัก ก็ขาดดาราแม่เหล็กของยุคใหม่ที่จะมาแทน ฉินฮั่นกับหลินชิงเสียได้ ดารารุ่นใหม่ ไม่เป็นที่นิยมหรือรู้จัก มากนัก และส่วนใหญ่ที่ดังจริงๆ ก็ต้องผ่านการเล่นซีรี่ย์มาก่อน เช่น หวังลีฮอม,เจ้าเหว่ย แต่พอมาเล่นหนังก็ไม่ดังเปรี้ยงปร้างมากนัก ในส่วนของญี่ปุ่นนั้นยิ่งซบเซาหนักกว่าอีก เพราะเคยเป็นเจ้าตลาดของฝั่งเอเชียมาก่อน ไอเดียใหม่ๆ ไม่เกิด นานๆ ทีจึงจะมีภาพยนตร์ที่โด่งดังเรียกกระแสได้ซักเรื่องโผล่ขึ้นมา และเมื่อเกาหลีเริ่มชิมลางสร้างสูตรหนังและคาแรกเตอร์เป็นของตนเอง โดยการดึงเอาจุดเด่นของหนังมหาอำนาจในย่านเอเซียในแต่ละประเทศมาพัฒนาต่อยอดและใส่ไอเดียลงไป เพื่อสร้างเป็นคาแรกเตอร์ของตนเอง จนได้กลายเป็นหนัง 4 สูตรมหัศจรรย์ซึ่งทำให้หนังเกาหลีฮิตติดลมบนมาถึงทุกวันนี้ได้สำเร็จ นั่นก็คือ


1.หนังสูตรเนื้อหนังมังสา (Erotic) หรือหนังติดเรต ได้รับอิทธิพลจากหนังติดเรต(AV) ของญี่ปุ่น ซึ่งญี่ปุ่นขึ้นชื่อด้านนี้ทั้งในส่วนของไอเดีย ลูกเล่น และ accessorie tools ต่างๆ ที่นำมาใช้ในหนัง AV แต่เกาหลีนำมาในส่วนของ mood & tone และลดทอนมันลงมาสู่ความเป็นหนัง R แทน ดีกรีการเร้าอารมณ์ที่มีอยู่ในหนัง AV ของญี่ปุ่น แต่ tools ไม่ได้นำมา แล้วใส่ความสด และดิบลงไปแทน ทำให้เกิดความแปลกใหม่ ตื่นตาตื่นใจในครั้งแรกที่ได้ชม และได้รับคำกล่าวชื่นชมเป็นวงกว้างจากนักวิจารณ์ ทั้งในเวทีประกวดหนังเมืองคานส์หรือเวทีอื่นๆ กระแสบอกต่อจากการได้ชมในโรงภาพยนตร์เป็นที่ฮือฮา หนังในสูตรนี้ ได้แก่ Lies, An Affair, Labelle, Club Butterfly, Secret Love ,Green Chair, A good Lawyers Wife, Time เป็นต้น

2.หนังสูตรแนว Gangster ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากหนังฮ่องกง ในยุค 80-90’s แต่เกาหลีนำมาใช้ในส่วนของโครงสร้าง หรือเงื่อนไขท่าบังคับบางอย่างแต่ลีลาหรือ mood & tone กลับเปลี่ยนไปในลักษณะเป็น comedy เสียมากกว่า ไม่ซีเรียสจริงจังเหมือนหนังเจ้าพ่อของฮ่องกง ตรงนี้ก็ได้ผล ทำให้คนดูเริ่มเห็นความแตกต่างของหนัง Gangster ของเกาหลีที่ดูน่ารัก ไม่มีฟอร์ม อารมณ์ขันในแบบหน้าตาย ซึ่งไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมถึงได้ใจคนดู ก็เพราะคนดูติดภาพจำของเจ้าพ่อฮ่องกงที่จะต้องเคร่งขรึม มีมาดและวางฟอร์มเท่ห์อยู่แล้ว แต่หนังเจ้าพ่อของเกาหลี เจ้าพ่อดูเป็นมนุษย์ที่จับต้องได้มากกว่า มีโมโหโกรธา บางครั้งเศร้า(แอบมีอารมณ์อ่อนไหว) บางครั้งมีอารมณ์ขัน (รั่ว) และบางทีก็เล่นบทโหดด้วย เมื่อเราได้ดูหนังแนวนี้ของเกาหลีครั้งแรกก็จะรู้สึกขำ และก็คิดต่อว่ามันคิดได้อย่างไรนะ ช่างเสียดสีและเป็นตลกร้ายที่ไม่ค่อยได้พบในหนังเอเซียมาก่อน หนังในกลุ่มนี้ ได้แก่ My Wife is a Gangster ,My Boss My Hero, My Boss My Teacher ,Silmido, Holiday , Friends ,Daisy ,Guns & Talk, Volcano High เป็นต้น

3.หนังสูตรแนว Period Action พวกนี้ได้รับอิทธิพลมาจากจีนแผ่นดินใหญ่และหนังจีนกำลังภายในของจีน ซึ่งจะโชว์เรื่องความอลังการของฉาก เครื่องแต่งกาย แสงสีเสียง ตัวประกอบเยอะ การต่อสู้ เทคนิคการต่อสู้ด้วยมือเปล่า หรือด้วยอาวุธต่างๆ มักเป็นหนังย้อนยุคอิงประวัติศาสตร์ หรือตำนาน หนังในสูตรนี้ ได้แก่ Shiri ,Bichunmoo, Musa ,Tae-Guk-Gi ,King and The Clown ,The Legend of Gingko, ฮวางจินยี่ จอมนางสะท้านแผ่นดิน เป็นต้น

4.หนังสูตรแนวโรแมนติกดราม่า ได้รับอิทธิพลมาจากไต้หวันเต็มๆ ทั้งในส่วนของ บทพูด (Dialoque) โดนๆ ,เพลงประกอบภาพยนตร์ ,การถ่ายภาพแบบแช่ภาพไว้นานๆ , มุมกล้องสวยๆ การแสดงสีหน้าท่าท่างของตัวละครแบบอินสุดๆ และที่สำคัญคือฉากเรียกน้ำตาจากคนดู ซึ่งมักเป็นฉากสะเทือนใจ จุดไคลแม็กซ์ของเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นนักแสดงหญิงหรือชาย จะมีต่อมเรียกน้ำตาที่จะสามารถเรียกออกมาได้แบบไม่มีกั๊ก จุดขายของหนังเกาหลีจุดหนึ่งก็คือฉากร้องไห้ของตัวแสดงนี่แหละ ซึ่งร้องออกมาแล้วหน้ายังหล่อ สวยได้อีก ซึ่งอันนี้เป็นคุณลักษณะเด่นของหนังเกาหลีที่ชาติอื่นก็ทำตามไม่ได้ หนังสูตรนี้จะมีบทจบที่ไม่สมหวัง ตัวละครจะต้องมีการพลัดพราก หรือมีโศกนาฏกรรม ที่ทำให้ต้องเสียชีวิต หรือถ้ามีการจบแบบ happy ending ก็จะต้องเป็นการจบที่หักมุม หรือให้คนดูไปคาดเดาคิดเอาเองต่อ หนังในกลุ่มนี้ ได้แก่ Ditto , Calla , The Classic , Love Letter, My Sassy Girl, Wanee & Junna ,IL mare , Sad love Story, Christmas in August, One Fine Spring Day ,Windstuck , A Moment to Remember,Now and Forever ,The Way Home ,A Millionaire's First Love, My Boyfriend is Type B ,Scent of Love ,Come Rain Come Shineเป็นต้น



5.ยังมีหนังในสูตรอื่นอีกที่เรียกว่าหนังแนวตลาดหรือแนวพาณิชย์ที่เกาหลีก็ทำได้ดี อาทิ หนังผี(Thriller, Horror) หนังแนวตลก (Comedy) และหนังแนวเพศที่ 3(Gender: Gay & Lesbian) ซึ่งทั้ง 3 แนวนี้ แม้จะไม่ใช่เป็นแนวทางหลักของอุตสาหกรรมหนังเกาหลี เท่า 4 สูตรแรก แต่ก็ถือได้ว่าเกาหลีทำออกมาได้ดี มีคุณภาพ มีมาตรฐาน ชนิดที่เรียกได้ว่า ทำเงินและกล่องได้เช่นเดียวกัน หนังผีดูจะสร้างชื่อเสียงให้เกาหลีได้ไม่แพ้หนังผีชาติอื่นๆ ในเอเชียเลย อาทิ The Uninvited,A Tale of Two Sisters,Arang, Whisper Corridor เห็นได้จากหนังผีเกาหลีก็ถูกซื้อลิขสิทธิ์ไปรีเมคในหลายประเทศเช่นเดียวกัน หรือถูกนำไอเดียไปใช้ในภาพยนตร์ผีของชาติอื่นๆ ด้วย The Host หนังอสูรกลายพันธุ์บุกโลก ก็จัดอยู่ในกลุ่มนี้ หนังแนวตลกของเกาหลีดูจะแข็งแรงน้อยที่สุด และแม้จะเทียบหนังแนวนี้จากชาติอย่างฮ่องกงหรือไทยไม่ได้ แต่ก็ถือได้ว่าทำออกมาได้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเช่นกัน ในกลุ่มนี้ได้แก่ Sex is Zero, 200 Pounds of Beauty,Strongest, He was Cool ,Highway Star  และสุดท้ายหนังแนวเพศที่ 3 อาทิ A Frozen Flower, No Regret, Memento Mori, In My End is My Beginning ,Spider Lilies ต้องถือว่าด้วยกฎหมายการจัดเรตติ้ง และมีรัฐบาลที่สนับสนุนอย่างแข็งแรงทำให้หนังแนวนี้ของเกาหลีก้าวล้ำนำหน้า พัฒนาไปไกลที่สุดในภูมิภาคแถบนี้ก็ว่าได้ ทั้งในส่วนของเนื้อหา พล็อตเรื่อง การนำเสนอ ไอเดียใหม่ๆ ความหลากหลายทั้งในส่วนของปริมาณและคุณภาพ ไม่ด้อยไปกว่าญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้นำของตลาดหนังแนวนี้เลย


ในส่วนของซีรี่ย์เกาหลีนั้น ขอเริ่มที่ซีรี่ย์ 4 ฤดูก่อน (Autumn in my heart, Winter Love Song ,Spring Waltz ,Summer Scent) ของผู้กับยุนซุกโฮ ซึ่งผู้เขียนก็ได้มีโอกาสได้ดูครบทั้ง 4 เรื่อง และถ้าจะให้จัดอันดับความชอบเป็นการส่วนตัวแล้ว ก็ขอเรียงลำดับความชอบเป็นดังนี้ คือ Summer Scent, Autumn in my heart, Spring Waltz, Winter Love Song ทั้งนี้ก็คงไม่ใช่อะไรหรอกนอกจากเรียงลำดับไปตามความชอบนางเอกของเรื่องในแต่ละเรื่องเรียงกันไปนั่นเอง จะว่าไปผู้เขียนชอบพล็อตเรื่องของ Summer Scent ในซีรี่ย์ชุดนี้ที่สุด แม้เพลงประกอบจะสู้ 3 เรื่องที่เหลือไม่ได้ แต่องค์ประกอบโดยรวมชอบเรื่องนี้ที่สุดแล้ว แต่ยังไงซีรี่ย์ทั้ง 4 เรื่องนี้ควรค่าแก่การหามาชม และคอนเซ็ปต์ของซีรี่ย์ชุดนี้ยังเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้จัดละครช่อง 3 นำไปสร้างชุดของละคร 4 หัวใจแห่งขุนเขา (ธาราหิมาลัย ,ดวงใจอัคนี ,ปฐพีเล่ห์รัก, วายุภัคมนตรา )

ในส่วนของซีรี่ย์นั้น เกาหลีก็แบ่งหมวดหมู่ตามแนวสูตรเป็น 3-4 สูตรหลักๆ คล้ายๆ ภาพยนตร์เช่นเดียวกัน คือเป็นซีรี่ย์แนว Gangster หรือสืบสวนสอบสวน, แนวโรแมนติกดราม่า, และก็แนวพีเรียด(แอ็คชั่น) ซึ่งจะขอจำแนกแยกแยะ เป็นดังนี้

1.ซีรี่ย์แนว Gangster หรือแนวสืบสวนสอบสวน(Crime/Thriller) ซีรี่ย์แนวนี้ลอกแบบมาจากซีรี่ย์ของอเมริกา ซึ่งเนื้อเรื่องจะตื่นเต้นเร้าใจ และเดินไปตามสูตรหรือเงื่อนไขของหนังแนวนี้ อาทิ IRIS ,Crime Squad, Athena : Goddess of Wars 

2. ซีรี่ย์แนวโรแมนติกดราม่า (Romantic/Drama) ซีรี่ย์แนวนี้ดูจะเป็นแนวถนัดของเกาหลีและถูกซื้อมาฉายในบ้านเรามากที่สุด นับตั้งแต่ซีรี่ย์ยุคแรกๆ ที่เคยฉายทางไอทีวี ช่อง 5 ซึ่งเป็นยุคบุกเบิกของซีรี่ย์เกาหลีในไทย อาทิ ซี่รี่ย์ในชุด 4 ฤดู, Full House, My girl, Princess Hours, Snow Queen ,My name is Kimsamsoon, Coffee Prince ,Boys over flowers , Dream, Over the Rainbow etc.

3.ซีรี่ย์แนวย้อนยุค อิงประวัติศาสตร์ (Period) ซีรี่ย์แนวนี้ก็ที่ฉายทางช่อง 3 (เย็นของวันเสาร์อาทิตย์) ทุกเรื่องจะเป็นแนวนี้ อาทิ แดจังกึม, คุณหมอโฮจุน, จูมง ,ยูมุล ,ซอนต๊อก ,ลีซาน, ทงอี เป็นต้น


ผู้เขียนชอบซี่รี่ย์เกาหลีที่มีบทพูดกินใจ ชอบ moment ที่พระเอกของซีรี่ย์เกาหลีทุกคนจะต้องให้นางเอกนั่งขี่คออยู่ด้านหลัง ซึ่งเป็นคาแรกเตอร์ที่จะมีอยู่แต่เฉพาะในซีรี่ย์เกาหลี ซึ่งมันได้ใจคนดูมาก และมักจะเป็นฉากที่นางเอกมักจะเมาเหล้า เศร้าใจ เอะอะโวยวายหรือไม่ก็เท้าแพลง ทำให้พระเอกต้องอาสาอุ้มนางเอกขี่คอเดินกลับบ้านไปส่งนางเอกถึงประตูบ้าน และก็บ้านเมืองเขาไม่นิยมเรียกแท็กซี่กลับบ้านกันมั๊งครับ หรือไม่มีมอเตอร์ไซด์รับจ้างแบบบ้านเรา อาศัยเดินเอา ไม่เปลืองค่ารถ แถมได้มีเวลาเดินคุยกันไปด้วย

ดังนั้นพระเอกเกาหลีจึงต้องตัวโต มีกล้าม แข็งแรง ไม่เช่นนั้นก็จะไม่สามารถอุ้มนางเอกขึ้นขี่คอได้ และต้องเดินแบกนางเอกเป็นกิโลๆ ไปส่ง บางครั้งยังมีความสามารถพิเศษ คือร้องเพลงระหว่างทางไปด้วยได้ อันนี้ทึ่งจริงๆ จุดขายหรือคาแรกเตอร์นี้ของเกาหลี อีกอันนึงที่เป็นเอกลักษณ์เลยของหนังเกาหลีก็คือฉากที่พระเอกบรรจงถอดเสื้อคลุมป้องศีรษะของนางเอกไว้ แล้วเดินประคองกันไป ไม่ให้เปียกฝนซึ่งเป็นภาพจำที่ประทับใจมาก สุดแสนจะโรแมนติก (อันนี้คือจุดขายของหนังเกาหลี) เป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกเป็นนัยว่าเขากำลังเริ่มสนใจหรือชอบในตัวเธอนั่นเอง ฉากที่พระเอกให้นางเอกขี่คอ ผู้เขียนพบครั้งแรกในซีรี่ย์เรื่อง Autumn in my heart ส่วนฉากที่พระเอกใช้เสื้อคลุมป้องศีรษะนางเอก พบครั้งแรกใน ภ.เรื่อง The Classsic หากเปรียบเทียบเป็นหนังอินเดีย ก็จะเทียบได้กับฉากพระเอกกับนางเอกจีบกัน วิ่งร้องเพลงจากภูเขาลูกหนึ่งไปยังอีกลูกหนึ่งนั่นแหละ เพียงแต่ว่าของเกาหลีมันดูมีรสนิยม และโรแมนติกกว่า moment อีกอันนึงที่ชอบและก็ต้องมีในซีรี่ย์ทุกเรื่องของเกาหลีเลยก็คือ ฉากเข้าใจผิดของคู่พระนาง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายพระเอกหรือฝ่ายนางเอก ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นต้นเหตุหรือปัญหาของเรื่อง ซึ่งโดยมากจะเป็นฝ่ายพระเอก เพราะในซีรี่ย์เกาหลีจะวางบทบาทของฝ่ายชายหรือพระเอกให้เป็นคุณชายกลางซะทุกเรื่อง และตัวนางเอกจะเปรียบเสมือนพจมาน หรือจำเลยรักที่จะเป็นฝ่ายถูกกระทำจากพระเอก และบ่อยครั้งจะเกิดการงอนง้อ หรือฉากทะเลาะเบาะแว้งกัน จากที่เกลียดกลายเป็นชอบ และจากชอบพัฒนาไปเป็นความรัก คล้ายๆ แนวละครตบจูบของบ้านเรานั่นแหละ บางคู่แอบรักกันเกือบจะทั้งเรื่องแต่อีกฝ่ายกลับทำโง่ไม่รู้เรื่องเลย บางคู่ก็ เปิดเผยกันตรงๆ จะๆ เลยแต่ทำเป็นเสแสร้งแกล้งกันไปมาบ้าง แต่จุดที่จะกลับไปงอนง้อขอคืนดีนี่แหละ จะเป็นจุดไคลแม็กซ์ทุกทีเลยแทบทุกเรื่อง เมื่อพระเอกหรือนางเอกจะกลับไปงอนง้อขอคืนดีกับคู่รักของตนก็ดันไปเจอคู่รักของตนอยู่กับแฟนเก่าซะงั้น กำลังสวีทสะหวีวี่วีกันอยู่นั้น อยู่กับพระรองนางรองที่มักจะหน้าตาดีกว่าเสียด้วย ก็พลันให้นางเอกกับพระเอกมาพบเจอเข้าพอดี จึงเกิดความเข้าใจผิด และเสียใจ ร้องห่มร้องไห้กัน (ชนิดที่ว่ากระดาษทิชชู่หมดเป็นม้วนๆ ทีเดียว) ต้องใช้เวลาในการปรับความเข้าใจกันอีกในเวลาต่อมา และสุดท้ายเป็น moment ของเพลงประกอบ,ดนตรีประกอบ ที่มักมาถูกที่ถูกเวลา และก็ไพเราะเสียด้วย และก็มีการ feedforward กลับไปยังภาพประทับใจ ฉากประทับใจในเรื่องที่ทำให้พระเอกกับนางเอกได้เริ่มต้นความสัมพันธ์กัน และอินเลิฟกันในที่สุด และฉากเหลานี้แหละเอาตายทีเดียว รวมกับองค์ประกอบด้านเพลงที่ไพเราะเข้าไปด้วย ไม่แปลกที่ซีรี่ย์เกาหลีจะติดตาตรึงใจอยู่ในความทรงจำของคนดู และหลงรัก ติดงอมแงมกันได้โดยง่าย ผู้เขียนเองก็เคยบ้าซีรี่ย์เกาหลีอยู่พักใหญ่ บอกได้คำเดียวว่าซีรี่ย์เกาหลี น่ารักอ่ะ... (Korea Series is Kool)

ทุนวัฒนธรรมเกาหลี

กระแสวัฒนธรรมป๊อปเกาหลีที่วิ่งแซงโค้งฮ่องกง ญี่ปุ่น และไต้หวัน ในกลุ่มประเทศเอเซียตะวันออกเฉียงเหนือด้วยกัน ได้สร้างความประหลาดใจให้แก่วงการสื่อบันเทิง นักศิลปวัฒนธรรม นักการศึกษาและนักวิชาการที่ศึกษาเรื่องวัฒนธรรมป็อปไม่น้อย ในช่วงกลางทศวรรษ 1990 วัฒนธรรมป็อปเกาหลีเป็นเพียงสื่อระดับประเทศ ไม่ใช่สินค้าส่งออกเช่นปัจจุบัน จุดเปลี่ยนที่สำคัญเกิดขึ้นหลังวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงเหนือและเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ในปี 2540 ประเทศที่ประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจต่างต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิต เพื่อสู้กับการถาโถมของทุนโลกาภิวัฒน์ เกาหลีใต้ต้องกู้เงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟเช่นเดียวกับหลายประเทศ แต่เกาหลีใต้ใช้เวลาเพียงไม่กี่ปีพลิกฟื้นเศรษฐกิจขึ้นมาได้อีกครั้ง

หนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญของเกาหลีคือการใช้ “ทุนวัฒนธรรม” ในการกู้วิกฤตเศรษกิจ ซึ่งมีเป้าหมายทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับเป้าหมายทางการเมืองและวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ในทางเศรษฐกิจวิธีการนี้ได้ช่วยฟื้นอุตสาหกรรมบันเทิงจากการล้มละลาย และยังเป็นแรงกระตุ้นในการกอบกู้ระบบเศรษฐกิจโดยรวม เท่ากับส่งผลดีสองต่อให้กับเศรษฐกิจเกาหลี สำหรับเป้าหมายทางการเมืองและวัฒนธรรม นี่คือโฉมหน้าอีกด้านหนึ่งของ “ทุนวัฒนธรรม” ในระบบเศรษฐกิจโลกาภิวัฒน์ซึ่งทรงพลังอย่างยิ่งในการสร้างความแข็งแกร่ง และเปิดพรมแดนให้แก่ระบบทุนหากประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ รัฐบาลเกาหลียังต้องการป้องกันการครอบงำจากวัฒนธรรมป๊อปญี่ปุ่น ที่มีกระแสความนิยมสูงในหมู่วัยรุ่นเกาหลี ที่ผ่านมามีการซื้อขายสินค้าซีดีหนัง เพลง และละครญี่ปุ่นกันกว้างขวางในตลาดมืด

ในปี 1998 หรือ พ.ศ.2541 หลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเพียง 1 ปี กระทรวงวัฒนธรรมของเกาหลีได้วางนโยบายและจัดทำแผนปฏิบัติการ 5 ปี และแผน 10 ปี (Korea 2010: Culture,Creativity and Content) เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่ง ให้กับอุตสาหกรรมวัฒนธรรมของเกาหลี มีการจัดงบประมาณจำนวนมาก และส่งเสริมให้รัฐและเอกชนลงทุนจัดการศึกษาด้านอุตสาหกรรมวัฒนธรรม เช่น คณะหรือสาขาด้านการผลิตภาพยนตร์ ดนตรี การแสดง การออกแบบ โดยลงทุนด้านวัสดุอุปกรณ์การศึกษาและทุนการศึกษาให้แก่ผู้เรียน ทำให้สาด้านนิเทศศาสตร์และสาขาวิชาด้านการผลิตสื่อบันเทิงต่างๆ เติบโตขยายตัวก้าวกระโดดจากเดิมที่มีจำนวนเพียงไม่กี่สถาบันกลายเป็นนับร้อยสถาบัน

จากนั้นในปี 2002 หรือ พ.ศ.2545 กระทรวงวัฒนธรรมของเกาหลีใต้ จัดตั้งหน่วยงานใหม่ที่ชื่อว่า การวัฒนธรรมและเนื้อหาสื่อแห่งเกาหลี (Korea Culture and Content Agency) เพื่อส่งเสริมการส่งสินค้าวัฒนธรรมป๊อปเกาหลี เช่น ภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ และดนตรีไปสู่ต่างประเทศ และ 2 ปีต่อมา คำว่า “คลื่นเกาหลี” หรือ “Korean Wave” ก็แผ่กระแสออกไปทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ และเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ อันที่จริงคำว่า “คลื่นเกาหลี” มีที่มาจากสื่อจีนที่คิดคำว่า “ Han-Liu” ขึ้นมาใช้อธิบายปรากฎการณ์ทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในช่วงรอยต่อของศตวรรษใหม่ในภูมิภาคนี้

กระแสคลื่นวัฒนธรรมป๊อปเกาหลีประกอบด้วย เนื้อหาวัฒนธรรมและสื่อบันเทิงหลายด้าน อาทิ ภาพยนตร์ ละคร เพลง เกมส์คอมพิวเตอร์ และแฟชั่น บทความนี้จะนำตัวอย่างเกี่ยวกับดนตรีป๊อปเกาหลีทีเป็นหนึ่งในสื่อบันเทิงที่วัยรุ่นเอเชียนิยมชมชอบมาเสนอ คาดว่าการมองพลวัตของอุตสาหกรรรมดนตรีเกาหลี น่าจะเทียบเคียงให้เห็นภาพการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับสื่อบันเทิงของเกาหลี และของไทยได้อย่างน่าสนใจ

ก่อนหน้านี้อุตสาหกรรมดนตรีของเกาหลีเป็นเพียงธุรกิจผลิตดนตรีและเพลงเกาหลีที่มีขนาดของกิจการไม่ใหญ่มาก มาในช่วงทศวรรษ 1990 จึงเรี่มมีการขยับตัวเปลี่ยนมาเป็นอุตสาหกรรมเต็มรูปแบบในลักษณะสื่อบันเทิงครบวงจร ในปี 1992 หรือ พ.ศ. 2535 เป็นปีที่น่าจะเรียกได้ว่าสื่อบันเทิงเกาหลีมีการปรับโฉมหน้าครั้งใหญ่ บริษัทผลิตเทปและซีดีเพลงกลายเป็นบริษัทผลิตสื่อครบวงจร มีการผลิตดนตรีละคร รายการวิทยุ และรายการโทรทัศน์ มีบริษัทในเครือที่รับงานด้านจัดงานเปิดตัวสินค้าและการจัดคอนเสิร์ต

หัวใจของการผลิตสื่อแบบครบวงจรคือ “ระบบดาราในฝัน” หรือ “Idol Star System” หรือที่ญี่ปุ่นเรียกว่า “Aidoru” การปั้นดาราวัยรุ่นหรือนักแสดงหน้าใหม่ที่มีอายุน้อยๆ เริ่มจากการวงจรการเป็นนักร้องรุ่นเยาว์ (junior) เป็นกลุยทธ์ที่บริษัทดนตรียักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นใช้ได้ผลมาแล้ว เช่นนักร้องกลุ่ม Johnny Junior บริษัทแกรมมี่ของไทยก็ได้นำระบบนี้มาใช้กับ โครงการ G-junior (กอล์ฟ-ไมค์,ชิน ชินวุฒิ) จากนั้นนักร้องก็ค่อยไต่ระดับไปเป็นนักแสดง ละครโทรทัศน์ ถ้าหากเป็นนักร้องที่มีความสามารถและหน้าตาดีก็อาจเป็นพระเอกหรือนางเอกได้ภายในเวลาไม่กี่ปี จากนั้นก็ก้าวต่อไปเป็นดาราระดับซุปเปอร์สตาร์หรือเอเชียนสตาร์

(ถอดความบางส่วนจาก บทความ คลื่นวัฒนธรรมป๊อปเกาหลี Korean Wave: โฉมหน้าทุนวัฒนธรรมเอเชีย , อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ china & east asia journal ,สำนักพิมพ์ openbooks)

วันศุกร์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่คนไทยจะลุกขึ้นมา Clean Up ประเทศไทยกันเสียที

ผู้เขียนได้ติดตามข่าวสถานการณ์น้ำท่วมอยู่เป็นเวลาร่วม2 เดือนแล้ว ส่วนใหญ่ผ่านสื่อทีวี ทั้งฟรีทีวี และทีวีดาวเทียม ทางวิทยุ หนังสือพิมพ์และทางอินเตอร์เน็ตบ้างนิดหน่อย แรกๆ ก็เอาใจช่วยรัฐบาลคุณปู ยิ่งลักษณ์ให้บริหารประเทศในภาวะวิกฤตินี้ไปให้รอด จริงๆ ก็ไม่ได้คาดหวังว่าจะได้เห็นภาพความเป็นมืออาชีพจากท่านนักหรอก แต่ขอว่าท่านเข้ามาแล้วทำงานอย่างโปร่งใส ไม่มีวาระซ่อนเร้นแอบช่วยพี่ชายแต่ถ่ายเดียว ทำงานได้เข้าเป้า ฉับไว ทันใจ และตอบสนองต่อความต้องการของพี่น้องประชาชนได้เท่านั้นก็เพียงพอที่จะยอมรับได้แล้ว แต่เมื่อเธอต้องมาเจอกับปัญหามหาอุทกภัยครั้งร้ายแรงในครั้งนี้เข้า ก็ทำให้ประชาชนทั้งประเทศได้เห็นศักยภาพในตัวเธอ และก็พลพรรคเพื่อไทย ตลอดจนองคาพยพของรัฐบาลเธอทั้งคณะ ว่าสามารถบริหาร และนำพาประเทศไปได้รอดหรือไม่ และคำตอบก็ปรากฏออกมาผ่านผลงานการทำงานในช่วง 2-3 เดือนที่ผานมานี้อย่างชัดแจ้ง หรือสามารถสดับตรับฟัง มองผ่านเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของทั้งชาวบ้าน สื่อมวลชน นักวิชาการ นักธุรกิจต่างๆ ต่อการแก้ปัญหาอุทกภัยครั้งร้ายแรงนี้ได้อย่างแจ่มแจ้งแดงแจ๋แล้ว ว่าเธอสอบผ่านหรือไม่ เครดิตความน่าเชื่อถือของรัฐบาลนี้แทบจะไม่หลงเหลืออยู่เลยในสายตาของสาธารณชนโดยทั่วไป

จริงๆ นาทีนี้ ผู้เขียนไม่อยากไปวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลคุณปูอีกเลย เพราะคิดว่าเธอคงได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ เสียงกร่นด่า สรรเสริญเยินยอจากหลายๆ ทาง จนอ่วมอรทัยอยู่แล้ว และผู้เขียนคงไม่ต้องมาขยายความ เพื่อกระหน่ำซ้ำเติมอีกในผลงานซึ่งเป็นที่ประจักษ์ชัดแจ้งอยู่ในสื่อของโลก social media ต่างๆ มากมายแล้ว แต่การจะไม่แสดงความคิดเห็นหรือพูดถึงรัฐบาลชุดนี้แต่น้อย ย่อมผิดวิสัยของทั้งผู้เขียนเองและคอนเซ็ปต์ของบล็อกนี้ อีกทั้งผู้เขียนได้เคยวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ ไว้พอสมควร จึงเป็นการไม่เป็นธรรมอย่างยิ่งหากจะไม่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลคุณปูเลย แม้ว่าจะผ่านการทำงานไปเพียงแค่ 2 เดือนเท่านั้น (ซึ่งแม้ว่าอยากจะเอาใจช่วยเพียงใดก็ตาม) และนับจากข้อความของย่อหน้าถัดจากนี้ไป ผู้เขียนก็จะแสดงความคิดเห็นไปตามเนื้อผ้า ไม่มีอคติเป็นการส่วนตัวแต่อย่างใดกับคุณปู และรัฐบาลเพื่อไทย หวังว่าท่านจะรับฟังและนำไปปรับปรุงแก้ไขเป็นการด่วน เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติเป็นการส่วนรวม ซึ่งสิ่งที่ผู้เขียนจะสะท้อนออกไปให้กับรัฐบาลนั้น ก็มาจากเสียงสะท้อนของคนรอบข้างของผู้เขียนเอง ซึ่งเอามาประกอบกันเข้ากับความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน และคงไม่ใช่สิ่งที่นึกสนุก อยากจะวิพากษ์วิจารณ์ใครหรือไม่ชอบใครก็เขียนคอมเม้นท์ออกไป เพราะคงไม่ใช่สิ่งที่ผู้เขียนอยากจะทำนักหรอก จริงๆ แล้วงานถนัดของผู้เขียนนั้นคือเขียนถึงเรื่องสุขนิยม ความบันเทิงไร้สาระจะถนัดมากกว่า แต่ความเดือดร้อนอย่างมหาศาลในช่วง 2-3 เดือนนี้มันหนักมากจนไม่อาจมองข้ามไป หรือไม่กล่าวถึงได้ จึงเป็นความจำเป็นที่จะต้องพูดถึงรัฐบาล หรือคณะผู้บริหารประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ผมคิดว่าประชาชนทุกคนย่อมมีสิทธิ์ที่จะตั้งคำถาม หรือตั้งประเด็นปัญหาสะท้อนไปยังรัฐบาลได้ สำหรับกรณีการแก้ไขปัญหาอุทกภัยน้ำท่วมครั้งยิ่งใหญ่นี้ ไม่ใช่แต่เฉพาะสื่อสารมวลชนเท่านั้น ที่มีหน้าที่ เพราะประชาชนทุกคนก็ย่อมมีสิทธิ์รับรู้ การกระทำ การปฏิบัติงานของรัฐบาล เพราะในที่สุดแล้ว ประชาชนคือผู้รับผลของการกระทำ หรือการปฏิบัติงานของรัฐบาลอย่างเต็มที่ยังไม่นับรวมว่าสถานภาพที่ประชาชนคือนายของรัฐบาล เป็นทั้งผู้จ่ายภาษี จ่ายเงินเดือนให้กับผู้บริหารประเทศมาทำงานเพื่อตอบสนองผลประโยชน์คืนกับมายังประชาชน ดังนั้นประชาชนจึงเป็นเจ้าชีวิตของรัฐบาลที่จะสั่งให้รัฐบาลจะต้องทำตามความต้องการของประชาชนได้ และหากรัฐบาลไม่สนองตอบต่อผลประโยชน์ของประชาชนแล้วหล่ะก็ คุณก็ย่อมอยู่ไม่ได้ หรือควรพิจารณาตัวเอง ลาออกไป เพื่อให้ประชาชนได้ตัดสินใจที่จะเลือกผู้บริหารประเทศที่จะมาทำงานสนองตอบผลประโยชน์ของประชาชนได้อย่างแท้จริง นี่คือหลักการประชาธิปไตย หรือหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่ประชาชนเป็นใหญ่ สิ่งที่ผู้เขียนอยากตั้งเป็นประเด็น หรือคำถาม ในหลายๆ กรณี ได้แก่

-เกิดอะไรขึ้นกับการบริหารจัดการน้ำ ในรัฐบาลชุดนี้ มีความผิดพลาดอะไรที่ทำให้เกิดการปล่อยน้ำอย่างมหาศาลลงมาในช่วงเวลาที่ไม่ควรจะปล่อย และในช่วงเวลาที่ควรจะปล่อยน้ำระบายออกมากลับไม่ทำ ทำไมถึงได้กักเก็บน้ำเอาไว้ จนมากล้น จนเป็นที่มาที่ทำให้มีการบังคับให้ต้องปล่อยน้ำออกมาอย่างมหาศาลในช่วงเวลานี้ และใครเป็นผู้ออกคำสั่งหรือมีส่วนต้องรับผิดชอบในการดูแล (ซึ่งหลายฝ่ายต่างออกมาตั้งข้อสังเกต ว่าเป็นอธิบดีกรมชลประทาน กับผู้ว่าการไฟฟ้า ฯ ต้องมีส่วนรับผิดชอบ ต่างฝ่ายต่างโทษกันไปมา รวมถึงรัฐมนตรีที่ดูแลฯ ผู้ออกคำสั่ง ใครกันแน่ที่จะต้องมีส่วนรับผิดชอบผลลัพธ์แห่งความเสียหายที่เกิดขึ้น)

-รัฐบาลทราบข้อมูลเรื่องระดับน้ำในเขื่อน และการปล่อยน้ำออกจากเขื่อน ตลอดจนปริมาณน้ำฝนที่จะตกในปีนี้มากน้อยเพียงใด และรัฐบาลได้ดำเนินการเตรียมการป้องกันเหตุที่จะเกิดอุทกภัยใหญ่ไว้ในช่วงต้นก่อนบ้างหรือไม่ (มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าช่วงแรกที่รัฐบาลเข้ามาเพิ่งเริ่มทำงานก็ได้รับทราบข้อมูลเหล่านี้เบื้องต้นแล้ว แต่ไม่ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหา ยังคงง่วนอยู่กับการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ การชงเรื่องจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อนิรโทษกรรมความผิดให้แก่คุณทักษิณ รวมไปถึงการเตะบอลกระชับมิตรกับคณะรัฐมนตรีและผู้นำของประเทศกัมพูชา ในขณะที่ตอนนั้นเริ่มมีปัญหาน้ำท่วมในเขตภาคเหนือและอีสาน กลางตอนบนแล้ว)

-การตั้งศูนย์ ศปภ.(ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากน้ำท่วม) ซึ่งมีคนจำนวนมากไปแปลงชื่อเสียใหม่มากมาย ของผู้เขียนเองก็แปลงใหม่เป็น ศูนย์ไม่ประสาการทำงานและเป็นพิษภัยต่อชาติ เนื่องจากการสื่อสารให้ข้อมูลแก่ประชาชนนั้นผิดพลาดคลาดเคลื่อน จนกระทั่งประชาชนแทนที่จะได้รับความช่วยเหลือกลายเป็นตื่นตระหนก ตกใจกลัว การแต่งตั้งทีมงานโฆษกของศูนย์นี้ก็ใช้คนไม่เป็น ตั้งคนที่ไม่มีความรู้เรื่องน้ำ มาพูดจาให้ข้อมูลสับสนแก่ประชาชน แถมยังพูดจาไม่รู้เรื่อง เข้าใจยาก และส่วนใหญ่เป็นการมานั่งแถลงผลการทำงานของรัฐบาลมากกว่าที่จะมาอธิบายแนวทางการแก้ปัญหา สิ่งที่รัฐบาลกำลังทำ และสิ่งที่รัฐบาลจะได้ทำต่อไปในอนาคต รวมถึงข้อมูลความเป็นจริงที่ถูกต้องให้กับประชาชนได้รับรู้ ก็กลายเป็นศูนย์ที่มานั่งแถลงข้อมูลผลการปฏิบัติงานรายวันของรัฐบาล ซึ่งไม่มีชาวบ้านที่ไหนจะฟังแล้วรู้เรื่อง หรืออยากจะรับฟัง จนสุดท้ายเมื่อมืการวิพากษ์วิจารณ์ถึงศปภ.ไปในทางลบจำนวนมาก จึงมีการเปลี่ยนตัวโฆษกเป็น รศ.ดร.ธงทอง จันทรางศุ ซึ่งก็ถือว่าดีขึ้น สามารถแก้ภาพลักษณ์ของศูนย์ฯได้ในระดับนึง แต่ก็ยังไม่ตอบโจทย์ในส่วนของข้อมูลที่ประชาชนอยากรับทราบอยู่ดี เพราะตัวอาจารย์เองก็ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญที่จะมาอธิบายเรื่องน้ำได้ดีกว่านักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์ที่คลุกคลีอยู่กับเรื่องนี้ได้ สุดท้ายแล้วก็เกิดกลุ่มคนที่รวมกันทำ clip VDO อธิบายความให้กับประชาชนชาวบ้านได้เข้าใจง่ายๆ ในรูปของแอนิเมชั่น คล้ายๆ สื่อการสอนแบบภาพเคลื่อนไหว ในนามของกลุ่มรู้สู้ Flood ซึ่งอันนี้ขอชื่นชม และมีคนเข้าไปดูผ่าน you tube เป็นจำนวนมาก (http://th-th.facebook.com/ROOSUFLOOD) ซึ่งถ้าจะดีกว่านี้ หากฟรีทีวีนำไปเผยแพร่ออกอากาศให้กับประชาชนในวงกว้างได้ดูกันมากๆ ต่อกรณีที่มีมาเฟียอยู่ด้วยใน ศปภ. ก็คือบรรดา ส.ส.หรือผู้ช่วยรัฐมนตรีหรือคณะทำงานที่อดีตเคยเป็นแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง เข้าไปทำหน้าที่เป็นด่านตรวจคนที่จะเข้าไปบริจาคสิ่งของ หรือจะเข้าไปหาข้อมูลหรือนำข่าวไปเผยแพร่ จะต้องทำตามเงื่อนไขของแกนนำเหล่านั้น ในลักษณะ ต้องใส่เสื้อเป็นพวกเขาคือเสื้อแดงบ้างหล่ะ เมื่อของบริจาคโดยประชาชนโดยบริสุทธิ์ใจ ไฉนมีการนำเอาสิ่งของบริจาคเหล่านั้นไปพะยี่ห้อเป็นชื่อ ส.ส. รวมถึงอดีตนายกรัฐมนตรี (หนีคดี) คนนั้น ได้เครดิตเป็นผู้ให้หรือบริจาคในนามไว้ด้วยทุกถุง ทุกห่อ ก่อนจะนำไปบริจาคถึงมือประชาชน แล้วอย่างนี้หมายความว่าอย่างไร อีกทั้งมีการต้องเซ็นเซอร์ข้อมูลที่จะนำไปเผยแพร่ตามสื่อออนไลน์ต่างๆ เกี่ยวกับข่าวเรื่องน้ำท่วม ของ ศปภ. ว่าจะต้องไม่มีข่าวด้านลบให้แก้ไขก่อนนำไปลง อันนี้ถือว่าเป็นการแทรกแซงความเป็นอิสระของสื่อหรือไม่ จนทำให้กลุ่มเว็บไซต์ thaiflood โดยคุณปรเมศวร์ มินศิริ ต้องประกาศถอนตัวจากการเข้ามาช่วยเหลือการทำงานร่วมกับ ศปภ.ไปอีกราย ก่อนหน้านั้นมีผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ กลุ่มจิตอาสาต่างๆ ที่หวังดีอยากเข้ามาทำงานช่วยเหลือประชาชนร่วมกับ ศปภ. แต่พอมาเจอสภาพการเล่นพรรคเล่นพวกของแกนนำใน ศปภ.เข้าจึงล่าถอย ถอนตัวกันไปหมด สภาพข้าวของบริจาคของประชาชนถูกทิ้งลอยน้ำ ในช่วงที่มีการย้ายศปภ. ในระหว่างที่สนามบินดอนเมืองถูกน้ำท่วม ซึ่งเป็นการประจารณ์ความล้มเหลวและไม่จริงใจของรัฐบาล การทำงานที่ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของทุกภาคส่วนไม่มีการประสานขอความช่วยเหลือใดๆ แม้กับภาคประชาชน ทั้งๆ ที่ ภาวะวิกฤติเช่นนี้ ต้องการการร่วมมือจากทุกภาคส่วนและความสามัคคี ปรองดองที่รัฐบาลพูดนักพูดหนา ว่าอยากจะเห็น แต่กลับมีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย สร้างความแตกแยกกันเสียเอง ดังกรณีการออกมาแฉกันเองของ ส.ส.ฉลอง เรี่ยวแรง ,การออกมาพูดจาให้ข้อมูลที่ไม่ตรงกันของ นายปลอดประสพ สุรัสวดี (ปลอดประสบการณ์ ) กับทางหน.ศูนย์ ศปภ.(ท่าน พตอ.ประชา พรหมนอก) การให้ทีมงานโฆษกที่ไม่มีความรู้เรื่องน้ำมาอธิบายเรื่องปัญหาน้ำท่วม อาทิ นายวิม รุ่งวัฒนะจินดา ,พตอ.พงศฑัต พงษ์เจริญ จนตอนหลังจึงให้ ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา มาอธิบายให้กับประชาชนฟัง ในขณะที่มีการแถลงข่าวรายงานผลการทำงานที่ทับซ้อนคาบเกี่ยว แย่งซีนผลงานกันระหว่าง ศปภ. กับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยที่ประชาชนเองก็ไม่รู้จะฟังข้อมูลของฝ่ายใด จนตอนหลังข้อมูลของทาง กทม.มีความน่าเชื่อถือมากกว่า ทำให้รัฐบาลนำเอาที่ปรึกษาบ้าน 111 อย่างคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ เข้ามาเป็นที่ปรึกษาของศปภ. และเป็นที่มาของการทำงานที่ขัดแย้งกันของรัฐบาลกับกทม. โดย ส.ส.ในสังกัดของคุณหญิงสุดารัตน์ นำคนและมวลชนไปพังคันกั้นน้ำในย่านปากเกร็ดดอนเมือง ,นำคนไปพังกระสอบทรายบริเวณคลองประปา ทำให้น้ำสกปรกลงไปในคลองประปาทำให้น้ำประปามีปัญหาเรื่องความสะอาด สี กลิ่น ตามมา และกรณีนักการเมืองในปีกรัฐบาลนำกำลังคนหรือมวลชนไปทำลายเพื่อจะเปิดประตู ระบายน้ำคลองสามวา และบริเวณอื่นๆ ที่จะตามมาอีกมาก ตราบใดที่รัฐบาลยังมีมุมมองที่ถ้าข้าไม่ได้ผลงานแล้ว เอ็งก็ต้องไม่ได้ด้วย คือต้องการดิสเครดิตการทำงานของผู้ว่าฯกทม.ซึ่งอยู่ต่างพรรคกัน และมีเป้าประสงค์คือสนามการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ที่กำลังจะมีการเลือกตั้งใหม่ในปลายปีหน้า 2555 เป็นเดิมพัน

-การทำงานที่อยู่บนฐานของการอิงผลประโยชน์การเมืองส่วนตัวมากกว่าผลประโยชน์ประเทศชาติเป็นการส่วนรวม ดังกรณีที่ตั้งทีมงานอดีตรัฐมนตรีบ้าน 111 มาเป็นที่ปรึกษาแล้วก็ยังมีการใช้คนไม่ถูกกับงาน การตั้งทีมงานที่เคยเป็นแกนนำเสื้อแดง มาดูแลของบริจาคจากประชาชน จนเกิดความไม่ไว้วางใจของประชาชนจำนวนมาก หันไปบริจาคของผ่านหน่วยงานของรัฐแห่งอื่น รวมถึงผ่านสื่อมวลชน อาทิ ช่อง 3 ช่อง 5 ช่อง 9 TPBS , ผ่านมูลนิธิต่างๆ แทน (มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงสาเหตุของการที่สุพรรณบุรีน้ำไม่ท่วมในตอนแรก เพราะมีคำสั่งให้สุพรรณบุรีรอเก็บเกี่ยวข้าวให้ได้ก่อนซึ่งเป็นที่นารับจ้างปลูกของต่างชาติ ซึ่งมีคำสั่งลับให้ระงับการปล่อยน้ำจากเขื่อนในช่วงเวลานั้น หรืออย่างกรณีของการที่น้ำที่ทะลักเข้ากรุงแล้วมีเส้นทางออกไปทางตะวันออก เพื่อผันไปออกทะเลโดยผ่านแม่น้ำบางปะกง แต่น้ำไหลลงตรงส่วนนี้ค่อนข้างช้ามาก แต่ทะลักไปลงด้านตะวันตกอย่างรวดเร็ว และมากกว่า เป็นผลมาจากมีคำสั่งลับให้ผันน้ำไปลงฝั่งตะวันตกให้มากกว่า เพื่อป้องกันที่ดิน สิ่งปลูกสร้างของนักการเมืองซีกฝั่งรัฐบาลที่กว้านซื้อและลงทุนเอาไว้ในฝั่งตะวันออกจำนวนมาก กลัวว่าจะเสียหายหนัก เป็นต้น นี่คือตัวอย่างของการทำงานเพื่อตนเองหรือเพื่อชาติ

-การที่หน่วยงานอย่างกองทัพบก หรือพวกกลุ่มจิตอาสา อาสาสมัครของมูลนิธิกู้ภัยต่างๆ ศิลปินดารา ได้ระดมกันเข้ามาช่วยเหลือการทำงานของรัฐบาล ไม่ได้เกิดจากการถูกเชื้อเชิญจากรัฐบาลแต่ประการใด ทุกคนมาด้วยความสมัครใจ ด้วยจิตอาสาที่อยากจะเข้าไปช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มใจ บริสุทธิ์ใจ ไม่ได้ต้องการทำเพื่อชื่อเสียง หรือ CSR ตัวเอง แต่เกิดจากน้ำใจที่แท้จริง โดยสัญชาติญาณของการอยากช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ร่วมชาติ ซึ่งเป็นการทำงานที่เสียสละ และควรแก่การชมเชย ยกย่อง สรรเสริญ รวมถึงบรรดาผู้รู้ในด้านต่างๆ ที่คอยมาให้ความรู้แก่ประชาชนได้ตาสว่างมากกว่าการให้ข้อมูลของรัฐบาล อาทิ อจ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ,อจ.ศศิน เฉลิมลาภ กลุ่มนิสิตเก่านิเทศจุฬา ในนาม กลุ่มรู้สู้ flood คุณดนัย จันทร์เจ้าฉาย ที่ริเริ่มการทำ EM ball เพื่อใช้บำบัดน้ำเสีย น้ำเน่าในแหล่งพักอาศัย ชุมชนที่ถูกน้ำท่วม ซึ่งคงไม่สามารถยกตัวอย่างได้ครบทุกคน แต่ผู้เขียนขอกราบขอบคุณแทนประชาชนชาวไทยที่ประสบภัยน้ำท่วมด้วย เพราะสิ่งที่ท่านทำเป็นสิ่งที่ทำเพื่อสังคม ไม่มิสิ่งตอบแทนใดๆ และเป็นการทำเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง มากเสียยิ่งกว่านักการเมืองหรือรัฐบาลพึงจะกระทำเสียอีก

สรุปผลงานของ ศปภ.และหน่วยงานของรัฐบาลและข้าราชการประจำของประเทศไทยก็คือ 1. ไม่ได้ให้ข้อมูลความเป็นจริงแก่ประชาชน หรือให้ก็ให้ไม่ครบถ้วน ไม่ทันต่อสถานการณ์ที่ควรจะเป็น 2. ไม่มีการเตือนภัยล่วงหน้า มีแต่การบอกกล่าวเรื่องการอพยพ ภายหลังน้ำท่วมแล้ว 3. ไม่มีแผนรองรับในทุกกรณี ไม่ว่าจะเป็น แผนการอพยพผู้คนไปยังศูนย์พักพิงต่างๆ อย่างเพียงพอ หรือสะดวก บางครั้งต้องย้ายศูนย์พักพิงอีกเป็นครั้งที่ 2 , ไม่มีแผนการจัดการน้ำว่าน้ำที่ทะลักมาทางเหนือจะมีแผนสกัดกั้นหรือปล่อยน้ำให้ไหลไปลง ณ จุดใด หรือผันน้ำไปทางใดบ้าง เพิ่งจะมาสรุปกันภายหลังที่น้ำท่วมทะลักเข้ากรุงเทพฯ มาเป็นจำนวนมากแล้ว 4, ไม่มีการควบคุมกลไก หรือเจ้าหน้าที่ที่มาปฏิบัติงานให้เป็นไปตามเป้าหมายอย่างจริงจัง อาทิ มีกลุ่มชาวบ้านมาพังคันกั้นน้ำ มาทำลายประตูกั้นน้ำ มาทำลายแนวกระสอบทราย ก็ยอมปล่อยให้ทำ โดยที่เจ้าหน้าที่ของรัฐ อย่าง ตำรวจ ก็ไม่มาควบคุมดูแล ปล่อยให้เกิดการพังทำลาย ด่านสกัดน้ำในหลายจุด จนเกิดความเสียหายให้น้ำเข้ากรุงมามากขึ้น จนนายกรัฐมนตรีต้องมีคำสั่ง หรือออกเป็น พรก.ฉุกเฉิน จึงบังคับใช้กฎหมายได้ ซึ่งก็เป็นเรื่องแปลกประหลาดที่ไม่มีประเทศไหนทำกัน เพราะเจ้าหน้าทีของรัฐมีอำนาจที่จะดูแลความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองอยู่แล้ว

-การที่ รมต.พลังงาน และ รมต.พาณิชย์ออกมาประสานเสียงพร้อมกันว่าจะมีแผนฟื้นฟูประเทศภายหลังน้ำลด หรือพ้นจากเหตุการณ์น้ำท่วมปีนี้แล้ว จะมีการขอกู้เงินมาลงทุนในสาธารณูปโภค และระบบการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน และต้องใช้เงินงบประมาณเป็น 100,000 ล้านในการฟื้นฟูเยียวยา ภายหลังน้ำลด แต่ที่ไม่ลดก็คือนโยบายหาเสียงประชานิยมไว้เดิม จะไม่มีการยกเลิก หรือลดเงื่อนไขลง และจะเดินหน้าต่อในทุกนโยบาย ซึ่งก็ขัดแย้งกับความคิดเห็นของทุกภาคส่วน หรือกระแสคนส่วนใหญ่ที่อยากให้มีการลด หรือเลิกนโยบายประชานิยมบางอันออกไปเลย เพื่อจะได้มีงบประมาณส่วนที่เหลือจากการนี้มาใช้ในการฟื้นฟูเยียวยา โดยที่ไม่ต้องไปเดือดร้อนกู้เงินให้เป็นหนี้สาธารณะแก่ประเทศมากขึ้น แต่รัฐบาลโดยรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกลับพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า จะเดินหน้าต่อในนโยบายที่เคยหาเสียงเอาไว้ อีกทั้ง รมต.พลังงาน นายพิชัย นริพทะพันธุ์ ได้ออกมาเปรยอภิมหาโปรเจคท์ว่า จะมีโครงการที่เรียกว่า New Thailand ที่จะต้องใช้เงินทุนมหาศาลเกือบ 8 แสนล้านบาท เพื่อนำมาลงทุนหลายอย่าง เพื่อสร้างชาติขึ้นมาใหม่ ซึ่งผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับแนวความคิดนี้ ก็ในเมื่อรัฐบาลนี้สอบตกในเรื่องการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมแล้ว ยังมีหน้าหรือเครดิตอะไรอีกที่จะมาบริหารเงินอีก 8 แสนล้านบาทนี้ และเป็นเงินที่จะต้องกู้มาด้วย ซึ่งไม่รู้ว่าจะมาทำอีลุ่ยฉุยแฉกอย่างไรอีก ซึ่งก็ไม่พ้นกลิ่นตุๆ ของการคอรัปชั่น เงินงบประมาณจำนวนมหาศาลนี้อีก ซึ่งก็จะเป็นการซ้ำเติมทำร้ายประเทศให้หนักมากขึ้น และแทนที่จะเป็น New Thailand แต่อาจะเป็น New Greece เสียมากกว่า เห็นด้วยกับคุณโสภณ องค์การณ์ ที่พูดในรายการสภาท่าพระอาทิตย์ว่า เราคนไทยไม่ได้ต้องการ New Thailand แต่อย่างใด เพราะเราไม่เชื่อในน้ำยาของพวกคุณหรอก เราต้องการ New Government มากกว่า และต้องเป็น Good Governant ด้วย การที่เด็กนักศึกษาเฟรชชี่คนหนึ่งสอบได้สอบติดเข้าเรียนได้ในมหาวิทยาลัยปิดที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง แต่แล้วเมื่อผลการเรียน การสอบปรากฏว่าสอบตก ติด F ทุกวิชา เช่นนี้แล้ว สิ่งที่เขาควรจะได้รับก็คือ ถูกรีไทร์ออกจากมหาวิทยาลัย ใช่หรือไม่ ไม่ใช่การขอเรียนซ้ำชั้น เสมือนมหาวิทยาลัยเปิด ซึ่งเป็นการผิดกฎมหาวิทยาลัย และก็ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้ เปรียบเสมือนรัฐบาลที่แม้จะผ่านการเลือกตั้งมาได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแล้ว แต่ทำงานไม่เข้าท่า สอบตกในทุกกรณี ทุกเรื่องเช่นนี้ ทางเดียวที่คุณควรพิจารณาตัวคุณเองก็คือ ขอลาออกไป หรือไม่ก็ฮาราคีรี ตัวเอง ไปผูกคอตายซะ ไม่ใช่มาขอที่จะบริหารเงินอีก 8 แสนล้านบาท การทำเช่นนี้ก็เหมือนการตบหัวและกระทืบซ้ำประชาชนตาดำๆ ที่ได้รับความทุกข์จากการบริหารงานของพวกคุณอย่างสุดจะสรรหาคำมาสบถได้แล้ว ผมคิดว่าคนอย่างคุณพิชัย นริพทะพันธุ์ ไม่น่าจะเหมาะมาเป็น รมต.พลังงาน แต่แกควรจะไปเป็นอาเจ๊ก อาแป๊ะขายเต้าหู้ยี้ทอด เสียมากกว่า เพราะสิ่งที่แกพูดโปรเจ็คท์อะไรออกมาแต่ละครั้ง มันสะท้อนความหายนะของประเทศเสียทุกครั้งไป ตั้งแต่ เรื่องกองทุนความมั่งคั่งแล้ว การไม่เก็บเงินกองทุนทดแทนน้ำมัน ซึ่งเข้าใจว่าแกเป็นนายหน้าตัวแทนของคุณทักษิณ สิ่งที่แกพูดก็สะท้อนความคิดออกมาจากคุณทักษิณนั่นแหละ แต่อย่าลืมว่านี่คือประเทศไทย ไม่ใช่ชินคอร์ป เงินก็เงินภาษีของประชาชนไทยทั้งประเทศ ไม่ใช่กองมรดกของตระกูลชินวัตร ถ้าเก่งจริงอยากบริหารเงินจริง ก็ลองเอาเงินกองมรดกทรัพย์สินของตระกูลชินวัตรไปบริหารดูก่อนสิ ว่ามันจะมั่งคั่งจริงอย่างที่พูดหรือเปล่าเผลอๆ คุณทักษิณเองยังไม่อยากไว้ใจให้บริหารเงินแกเลย ส่วนเงินที่จะเอามาทำ New Thailand ก็ลองเอาเงินของคุณทักษิณ ไปสร้าง Shin City ดูก่อน แล้วเกณฑ์พลเมืองพวกเสื้อแดงไปอยู่ด้วยกัน บริหารจัดเก็บภาษีไอ้พวกนี้ดูว่ามันจะไปรอดมั๊ยก่อนค่อยมาบริหารประเทศไทยนะ แล้วถ้าฝนตกขี้หมูไหล แล้วสนุกสนานกันไปแล้วไปรอด ค่อยเอาโมเดลนี้มาบอกคนไทยว่าอยากจะมาบริหารให้ นะค่อยมาพุดคุยกันทีหลังนะ เสี่ยพิชัย เพราะเห็นหน้าแกทีไรแล้วอยากจะอาเจียนทุกทีเลยอ่ะ




ถ้าเปรียบประเทศไทยนี้ เป็น CPU หรือ Hardware แล้วหล่ะก็ นักการเมืองหรือรัฐบาลแทบจะทุกยุคสมัยก็คือไวรัสต่างสายพันธุ์กันเลยทีเดียว บางตัวก็ร้ายมาก ทำลายซะเครื่องพังกู้คืนยาก หรือกู้กลับไม่ได้ ต้องยกเครื่องใหม่ ลงโปรแกรมใหม่ บางตัวก็สามารถฆ่าทำลายได้ โดยไม่เสียหายมากนัก ในส่วนของเหตุการณ์ต่างๆ เช่น สถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ การชุมนุมเผาบ้านเผาเมือง การชุมนุมประท้วงปิดสนามบิน ก็เปรียบเสมือนซอฟท์แวร์ภายในเครื่องที่มันเป็นเรื่องปกติที่สามารถอยู่ในเครื่อง CPU ที่ชื่อประเทศไทยได้ เพียงแต่ต้องพยายามไม่ให้ไวรัสเข้าไปแทรกซ้อน หรือทำลายได้ หรือซอฟท์แวร์บางตัวอาจเป็นพาหะของไวรัสร้ายนั้นเสียเอง อาจเกิดจากการใช้ซอฟท์แวร์ผิดกฎหมาย หรือซอฟท์แวร์แปลกปลอมที่นำมาลงในเครื่องโดยไม่ได้ผ่านการสแกน หรือตรวจสอบก่อน ประเทศไทยเราควรมีโปรแกรมป้องกันไวรัสไว้บ้าง ที่ผ่านมาเราไม่เคยมี หรือปล่อยไปตามยถากรรม เสร็จจากภารกิจกู้ภัยน้ำท่วมใหญ่หนนี้แล้ว เรายังต้องผจญอยู่กับรัฐบาลจั๊ดง่าวนี้อยู่อีกต่อไปหรือนี่ สิ่งที่เป็นทางออกของประเทศไทยก็คือ shutdown เครื่องเสียใหม่ เพื่อ clean up ประเทศขึ้นมาใหม่ ภายใต้คอนเซ็ปท์ New Siam ไม่ใช่ New Thailand และก็จัดการลงโปรแกรมปฏิบัติการดีๆ เสียใหม่ เลือกโปรแกรมดีๆ ใส่เข้ามาในเครื่อง ติดตั้งโปรแกรมป้องกันไวรัสร้ายเหล่านั้น เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันภัยให้กับประเทศ เพราะเราไมอยากเผชิญกับความหายนะของประเทศครั้งแล้วครั้งเล่าอีกแล้ว ลำพังการต่อสู้กับภัยธรรมชาติก็หนักเกินพอแล้ว ยังต้องมาสู้รบปรบมือกับคนในประเทศเองอีกย่อมทำให้บ่อนทอนพละกำลังที่จะไปสู้กับภัยธรรมชาติ ซึ่งก็ไม่มีทางสู้ชนะอยู่แล้ว ดังนั้นทางที่ดีก็คือการได้ผู้บริหารประเทศที่จะมาเป็นผู้คุมหางเสือประเทศให้กับประชาชน และมองไปข้างหน้าในทิศทางเดียวกับประชาชนย่อมดีกว่า เรียกความเชื่อมั่น ศรัทธา พละกำลัง และความสามัคคีได้เป็นเท่าทวีคูณ ไม่มีทางที่ประเทศจะเสียหาย ถอยหลังเข้าคลองอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้อย่างแน่นอน สุดท้ายอยากจะนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงให้คำแนะนำแก่เหล่าข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในวโรกาสเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาจัดการน้ำ มาประชุม เมื่อปี 2538 เป็นคลิปที่ถูกนำมาเผยแพร่ในช่วงนี้ ฉายให้เห็นถึงอัจฉริยภาพของพระองค์ ทรงมีวิสัยทัศน์ และยังเป็นพระราชดำรัสที่ทันสมัยใช้ได้กับเหตุการณ์ปัจจุบันเสียด้วย นำมาให้รับชมกันอีกครั้ง เพื่อจะทำให้คนไทยตาสว่างกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เสียที ในตอนท้ายของบทความนี้ครับ