วันเสาร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2554

One Up on SET เหนือกว่าตลาดหุ้นไทย

One Up on SET เหนือกว่าตลาดหุ้นไทย
วิธีใช้สิ่งที่คุณรู้ ทำเงินในตลาดหุ้น เงินไม่ได้อำมหิต ถ้าคุณรู้วิธีใช้และควบคุมมัน


บทความนี้จะเป็นคอลัมน์ใหม่ ที่จะมีเป็นตอนๆ ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะพอใจ สืบเนื่องจากผู้เขียนได้แรงบันดาลใจมาจาก 2 อย่างด้วยกัน คือ 1 เมื่อได้ชมภาพยนตร์เรื่อง Wall Street 2 money never sleeps จบ และ 2.เมื่อหยิบหนังสือชื่อว่า One Up on Wall Street ที่เขียนโดย ปีเตอร์ ลินซ์ร่วมกับ จอห์น ร็อธไชด์ แปลโดย อ.ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร มาอ่านจนจบ (ซื้อมาตั้งนานหลายปีแล้ว แต่เพิ่งจะเอามาเปิดอ่านดู) มันช่างสอดคล้องเหมาะเหม็งกันมากๆ ระหว่างภาพยนตร์เรื่องนั้นกับหนังสือเล่มนี้ เพราะคำโปรยในหนังสือดังกล่าวบอกเอาไว้ว่า “วิธีใช้สิ่งที่คุณรู้อยู่แล้ว ในการทำเงินในตลาดหุ้น” อะไรคือสิ่งที่เรารู้อยู่แล้ว เดี๋ยวจะได้อธิบายต่อไปในบทความนี้ ส่วนคำโปรยของหนังใช้คำว่า money never sleeps เงินไม่มีวันหลับ อันนี้ก็เห็นจะจริง เพราะตราบใดที่คุณมีวิธีที่จะใช้หรือควบคุมมันให้ทำงานให้คุณแล้ว มันก็พร้อมที่จะสร้างประโยชน์โภชน์ผลให้กับคุณอย่างคุ้มค่าทีเดียว แต่ในขณะเดียวกันหากคุณไม่รู้วิธีการที่จะใช้มันหรือควบคุมมันแล้วหล่ะก็ มันก็พร้อมที่จะสร้างหายนะให้กับคุณได้อย่างมหาศาลเช่นเดียวกัน นี่คือสัจจธรรม แต่ความเชื่อที่ว่าเงินคือพระเจ้า หรือ เราทุกคนพร้อมที่จะเป็นทาสของเงินนั้น มันเป็นความเชื่อที่โลกของทุนนิยมเขาศรัทธาและละไว้ในฐานที่เข้าใจกันเสียมากกว่า ไม่มีใครเขาจะหยิบมาพูดกันหรอก มันเชยมาก เพราะธรรมชาติของมนุษย์มันก็มีอยู่ 2 อย่างเท่านั้น คือโลภ หรือกลัว (นี่คือตรรกะของโลกทุนนิยมเท่านั้น ไม่ใช่ในโลกพระพุทธศาสนา เพราะพุทธศาสนามีเรื่องของอิทัปปัจจตา เป็นตัวป้องกันกิเลสได้) โลภ หรือกลัว จึงเป็นตัวกระตุ้นที่โลกของทุนนิยมนำมาใช้เป็นตัวล่อหรือพาหะ ให้นำไปสู่การสร้างความมั่งคั่ง หรือหายนะให้กับเหยื่อตัวเล็กตัวน้อย ทั้งแมงเม่าหรือช้าง ผ่านเครื่องมือที่เรียกว่า money game ด้วยการสร้างผลิตภัณฑ์ทางการเงินออกมาใหม่ นับแต่ในอดีตเริ่มก่อตั้งทุนนิยมมา ซึ่งก็เพิ่งจะมีมาไม่เกิน 200 ปีมานี้เอง โดยอเมริกาเป็นประเทศแม่แบบหรือผู้ริเริ่มคิดค้นขึ้นมา สมัยก่อนอาจจะซื้อขายแลกเปลี่ยนโดยใช้ระบบหมูไปไก่มา หรือ counter trade พอระบบการเงินดีขึ้น จนมีการก่อตั้งธนาคารก็จะมีตลาดการเงินเกิดขึ้นมา เช่น ตลาดพันธบัตร ตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงิน ระบบการใช้เช็คจ่ายแทนเงินสด จนมาถึงระบบบัตรเครดิต และสมัยปัจจุบันมีระบบ pay-pal วิวัฒนาการของตลาดทุนก็มาจากอเมริกานั่นแหละคิดค้นขึ้นมา ที่เรียกว่า ตลาดหุ้น มีตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ล่วงหน้า หรือที่เรียกว่า ฟิวเจอร์ หรือ ออฟชั่น และก็มีตลาดตราสารหนี้ ส่วนตราสารทางการเงินก็มีการพัฒนากันมาเรื่อยๆ จนมาถึงที่เรียกว่า ซับไพร์ม และ ซีดีโอ ที่เป็นบ่อเกิดหายนะของโลก จากวิกฤติซับไพร์มและกลายเป็นวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ของอเมริกา เมื่อ 2 ปีก่อน จนทำให้บรรษัทระดับโลกหลายแห่งต้องล้มละลาย วานิชธนกิจชั้นนำระดับโลกต้องเจ๊ง ล้มละลายปิดตัวเองไป และยังผลความเสียหายมาจนถึงทุกวันนี้ จนรัฐบาลอเมริกาต้องเข้ามาแทรกแซง ผ่านมาตรการ QE 1 และ QE 2 ก็ยังไม่รู้ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาที่นำไปสู่รากฐานหรือต้นตอที่แท้จริงของปัญหาหรือไม่ หรือเป็นเพียงซุกขยะไว้ใต้พรหม หรือการตักน้ำดีไปผสมกับน้ำเสีย เพื่อให้มันเจือจางและสะอาดขึ้น จะใช่ทางออกของปัญหาหรือไม่ เหล่านักเศรษฐศาสตร์และนักลงุทนทั่วโลกเขากำลังวิตกอยู่ ก็คงจะต้องหาทางแก้กันต่อไป ทีนี้ขอมาเข้าประเด็นในส่วนของวิเคราะห์วิจารณ์ ภ.เรื่อง Wall Stree 2 money never sleeps ก่อนอื่นขอท้วงติงชื่อภาษาไทยของหนังเรื่องนี้หน่อยว่าตั้งได้ไม่ตรงกับเนื้อหาซักเท่าไหร่ เขาตั้งว่า เงินอำมหิต อันนี้ตามความเข้าใจของผู้เขียนคิดว่า เงินมันไม่มีชีวิตจิตใจ มันจึงไปทำใจดำอำมหิตกับใครเขาไม่ได้หรอก คนต่างหากที่เป็นผู้ใช้หรือควบคุมมัน หากใช้และควบคุมไปในทางที่ถูกต้อง เงินนั้นมันก็เป็นเงินที่สร้างกุศลผลบุญ เช่น เงินที่นำไปบริจาคเข้ามูลนิธิของหลวงตามหาบัว เพื่อไปไว้ใช้เป็นทุนสำรองของประเทศ อย่างนี้เรียกว่า เงินทำบุญ แต่ถ้าผู้ใช้หรือควบคุมมันนำเงินไปใช้ในทางที่ไม่ดี เช่น ไปใช้ซื้อขายยาเสพติด การพนัน เงินโกงคอรัปชั่น เงินที่ได้จากการปั่นหุ้น เหล่านี้เราจะเรียกมันว่า เงินบาป และคนที่ทำเช่นนั้น เราเรียกเขาว่าเป็นคนอำมหิต ไม่ใช่เงินอำมหิต ส่วนเรื่องราวและเนื้อหาในภาค 2 นี้ดำเนินไปโดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับภาคแรกแต่อย่างใด เพียงแต่มีตัวละครจากภาคแรกมาเล่นด้วย หนังหยิบเอาเรื่องราวกลโกงของผู้บริหารวานิชธนกิจแห่งหนึ่ง ที่ฉ้อฉลทั้งในส่วนของการสร้างราคา มูลค่าธุรกิจ สร้างสตอรี่ ปล่อยข่าวลือ ปั่นราคาหุ้น อีกทั้งฉ้อฉลผู้ถือหุ้นหรือผู้บริหารในองค์กรที่อยู่ในแวดวงเดียวกัน ด้วยการใช้เล่ห์กลแบบอันแรก ปล่อยข่าว ทุบราคาหุ้น และบีบบังคับหักคอให้ผู้บริหารในองค์กรคู่แข่งต้องขายกิจการในราคาต่ำกว่ามูลค่าความเป็นจริง แบบที่เรียกว่าเล่นงานจนเขาเจ๊งและบีบให้เขาขายกิจการมาในราคาต่ำ จากนั้นจึงเข้าไปช้อนซื้อ และปัดฝุ่นใหม่ ดันราคาขึ้นมาต่อ วิธีการนี้คล้ายๆ ตอนที่ประเทศไทยเปิด BIBF เกิดวิกฤติการต้มยำกุ้ง ปิด 56 ไฟแนนซ์ มีการตั้งองค์กรที่เรียกว่า ปรส.เพื่อมาปรับโครงสร้างหนี้กิจการที่ล้ม ก็คือ 56 ไฟแนนซ์ เหล่านั้น จากนั้นรัฐบาลไทยก็ให้สัมปทานแก่วานิชธนกิจของโลกอย่าง เลห์แมนบราเธ่อร์ ,เมอริล ลินซ์ ,เจพีมอร์แกน ,มอร์แกน สแตนเล่ย์โกลด์แมนแซ็คท์ เข้ามาเขมือบกิจการอสังหาริมทรัพย์ของบรรดากิจการที่ล้มเหล่านั้นในราคาถูกแสนถูก แล้วขายทอดตลาดได้กำไรกลับออกนอกประเทศไป ปรากฎว่ากรรมเวรมีจริง เพราะภายหลังจากปีนั้นคือปี 2540 จนมาถึงปี 2551 ไอ้บริษัทโจรอย่างเลห์แมนบราเธ่อร์ ก็ถึงกาลอวสาน เพราะเป็นต้นตอของปัญหาวิกฤติซับไพร์มที่ทำให้บริษัทตัวเองต้องล้มละลาย และรัฐบาลอเมริกาก็เลือกที่จะไม่อุ้มกิจการตัวนี้ แต่หันไปอุ้มซิตี้แบ็งค์ เอไอเอ และเจนเนอรัลมอเตอร์แทน ส่วนรายของเจพีมอร์แกน เมอริลลินซ์ มอร์แกนสแตนเล่ย์ และโกลแมนแซ็คท์ รอดตายไปอย่างหวุดหวิด เพราะสามารถหาพันธมิตรผู้ร่วมทุนมาช่วยกอบกุ้สถานะของกิจการไว้ได้ นี่คือผลกรรมที่มันทำกับประเทศไทยไว้จริงๆ กรรมตามทันเอาในชาตินี้จริงๆ

กลับเข้ามาสู่เนื้อหาของหนังต่อ ผู้บริหารวานิชธนกิจท่านนั้นที่ถูกบีบให้ขายกิจการไปในราคาต่ำ ถูกย่ำยีเกียรติยศศักดิศรีจึงตัดสินใจฆ่าตัวตาย ซึ่งเป็นพ่อบุญธรรมหรือผู้มีพระคุณของพระเอกในเรื่อง พระเอกจึงหวังเข้าไปแก้แค้นโดยเขาไปติดสอยห้อยตามหรือสามารถซื้อใจเข้าไปทำงานกับศัตรูคู่อริคนนั้นได้ และหวังจะทำลายเข้าถ้ามีโอกาส แต่แผนกลับไม่เป็นไปตามนั้น เขารู้ทันก่อน พระเอกจึงตัดสินใจไปหาอดีตวานิชธนกรผู้เคยต้องคดีติดคุกจากข้อหาปั่นหุ้น และเป็นคนเดียวกับพ่อตาหรือพ่อแท้ๆของแฟนตัวเอง ซึ่งพ่อกับลูกสาวก็ไม่ถูกกัน ความหลังฝังใจในอดีตที่พ่อทิ้งแม่และลูกไป และต้องไปติดคุก จนทำให้น้องชายต้องคดียาเสพติด และเสียชีวิต ภายหลังพระเอกเป็นตัวเชื่อมให้พ่อตาและแฟนสาวคืนดีกันได้ แต่พ่อตาก็ยังเป็นเสือเฒ่าที่อันตรายอยู่วันยังค่ำ นางเอกได้เตือนพระเอกไว้แต่ไม่เชื่อ เขาหลอกเอาเงินจากลูกสาวหรือเงินของแฟนตัวเองไป จนทำให้พระเอกกับนางเอกต้องเลิกรากัน เพราะเจ้าเงินก้อนนั้น มันเป็นความหวังสุดท้ายที่พระเอกจะเอาไว้แก้เกมเล่นงานคู่อริ แต่ก็ต้องมาเสียรู้ให้กับขรัวเฒ่า พ่อตาจอมเจ้าเล่ห์ของตนเอง นี่คือบทสรุปของหนัง ซึ่งเรื่องย่อและบทวิจารณ์ที่สมบูรณ์เกี่ยวกับหนังเรื่องนี้ เป็นดังนี้

Wall Street 2 : Money Never Sleeps (วอล สตรีท: เงินอำมหิต) เป็นหนังภาคต่อเรื่องแรกของผู้กำกับ โอลิเวอร์ สโตน และ เป็นภาคต่อที่ทิ้งระยะห่างจากภาคแรก Wall Street (1987) นานถึง 23 ปี


หนังดำเนินเรื่องราวในปี 2001 เมื่อกอร์ดอน เก็กโก้ (Michael Kirk Douglas ไมเคิล ดักลาส) ก้าวออกมาจากเรือนจำ ที่ซึ่งเขาต้องโทษคุมขังเป็นเวลานาน 7 ปี ในคดีปั่นหุ้น อย่างโดดเดี่ยวโดยไม่มีลูกสาว หรือ เพื่อนร่วมงานที่วอลสตรีทมารับ… เขากลายเป็นคนนอกวงการที่ยังไม่ละทิ้งปรัชญาเดิมคือ ความโลภ – โลภแล้วรุ่ง แต่ในขณะเดียวกันก็ได้เรียนรู้ความจริงในขณะที่อยู่ในคุกว่า เวลาเป็นสิ่งเดียวที่มีค่าเช่นกัน !!


เจค มัวร์ (Shia Saide LaBeouf ไชอา ลาบัฟ) วอลล์สตรีหนุ่มไฟแรง ผู้ซึ่งได้ วินนีย์ (Carey Hannah Mulligan แครีย์ มัลลิแกน) ลูกสาวเก็กโก้เป็นแฟนสาว ธุรกิจของเขากำลังตกอยู่ในความเสียหาย และ ต้องเผชิญความเจ็บปวดจากการสูญเสียที่ปรึกษา/อาจารย์คนแรกในชีวิต หลุยส์ ซาเบล (Frank A. Langella, Jr. แฟรงค์ ลานเจลลา) จากการปรักปรำของคู่แข่งทางธุรกิจ เบร็ตตัน เจมส์ (Josh James Brolin จอช โบรลิน) และ สิ่งเดียวที่เขาต้องการคือ การล้างแค้น โดยได้เก็กโก้ เป็นผู้เปิดเผยข้อมูลว่าทำไม หลุยส์ ซาเบล จึงถูกหักหลังโดยเพื่อนที่เป็นนายธนาคาร… ความสัมพันธ์ถูกก่อตัวขึ้นมาเพื่อที่ เจค จะได้ล้างแค้นให้กับการสูญเสียของ เคลเลอร์ ซาเบล และเพื่อช่วยให้เก็กโก้ ได้สานสัมพันธ์ใหม่กับลูกสาว โดยมีชีวิตน้อยๆในครรภ์ของวินนีย์ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เก็กโก้ต้องตัดสินใจเลือกระหว่างเงินตรา และ เวลาที่เหลืออยู่..กับครอบครัว


Wall Street 2 เป็นหนัง Drama (ชีวิต) ซึ่งแตกต่างจากภาคแรกที่เป็นหน้ง Crime/Drama (อาชญากรรม/ชีวิต) เขียนบทโดย อัลแลน โลบ (Allan Loeb)


บท และ การตัดต่อยังไม่ดี ด้วยไม่แสดงประเด็นให้ชัดเจน ไม่กระชับ และ ไม่ชูประเด็น …จึงทำให้หนังขาดจุดเด่นไปโดยปริยาย


หนังเปิดเรื่อง ให้ตัวละครทุกตัวโยงใย สัมพันธ์กันบนความขัดแย้งของปมปัญหาเรื่อง เงิน (เหมือน)จะต้องเฉือดเชือนกันให้แตกหัก แต่กลับดำเนินเรื่อง ด้วยการอธิบายความสัมพันธ์ของตัวละคร อาทิ เก็กโก้ กับ วินนีย์ลูกสาว , เจค กับ วินนีย์ , เจค ก้บแม่-ซิลเวีย มัวร์ (Susan Sarandon ซูซาน ซารานดอน) หรือ เจค กับ หลุยส์ ซาเบล โดยที่ยังไม่ทิ้งเรื่องราวของตลาดหุ้น Wall Street จึงทำให้หนังดูยืดเยื้อ จืดชืด ไม่เร้าใจ ด้วยจับไม่ได้ว่าหนังจะอธิบายความหมายของ Money Never Sleeps อย่างไร เพราะจุดจบ คือ การต้ดสินใจที่เลือกครอบครัว มากกว่า เงิน… ซึ่งเป็นการจบที่คาดเดาได้


ไมเคิล ดักลาส รักษามาตรฐานทางการแสดงได้ดี(เช่นในภาคแรก) เช่นเดียวกับ ไชอา ลาบัฟ, แคร์รี่ มัลลิแกน และ นักแสดงคนอื่นๆ ที่แสดงได้ดีสมบทบาท ภาพ / เพลงประกอบ คอสตูม และ องค์ประกอบของหนังโดยรวมดี


เนื่องจาก Wall Street 2 พลิกจากหนังแนวอาชญากรรมทางการเงิน มาเป็นหนังชีวิต จึงอาจทำให้คนที่เคยดูภาคแรกมาแล้วผิดหวัง !! และ อดไม่ได้ที่จะเอาหนังทั้งสองภาคมาเปรียบเทียบกัน … ด้วย Wall Street ภาคแรกสมบูรณ์ และ น่าประทับใจมากกว่า.


มาดูเรื่องย่อและบทวิจารณ์จาภภาคแรกกัน


Black Monday หรือ จันทร์ทมิฬ คือ วันที่ 19 ตุลาคม ค.ศ. 1987 (พ.ศ. 2530) มีความสำคัญ ที่ตลาดหุ้นทั่วโลกตกโดยทั่วกัน ดาวน์โจนส์ตก 22% คือราว 500 จาก 1,700 จุด


และในวันที่ 11 ธ.ค.1987 ก็มี Wall Street : วอลสตรีท หุ้นมหาโหด ออกมาฉาย


Wall Street เป็นเหตุการณ์ในปี ค.ศ.1985 เกิดขึ้น ณ ตลาดหุ้น Wall Street เป็นเรื่องราวที่แฉเบื้องหลังธุรกิจค้าหุ้นแห่งยุค 80 ของโบร็คเกอร์หนุ่มผู้ใฝ่ฝันทะเยอทะยานที่จะประสบผลสำเร็จด้านการเงิน บั๊ด ฟ็อกซ์ (Charlie Sheen ชาร์ลี ชีน) ผู้ซึ่งโชคชะตานำพาให้ได้พบกับราชาแห่งวอลสตรีทอย่าง กอร์ดอน เก็กโก้ (Michael Kirk Douglas ไมเคิล ดักลาส) ผู้มีปรัชญาว่า ” โลภแล้วรุ่ง ” ฟ็อกซ์เดินตามปรัชญาของเก็กโก้ และ ยอมทำทุกอย่างถึงแม้จะเป็นการกระทำที่ผิดกฏหมายหลักทรัพย์ ฟ็อกซ์ได้ทุกอย่างๆรวดเร็วทั้งเงินทอง และ ผู้หญิง โดยมีเก็กโก้เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง…และสอนให้เข้ามาสู่หนทางร่ำรวยด้วยการเล่นหุ้น และ เข้าถึงข้อมูลโดยไม่ต้องเลือก ” วิธีการ “


..แล้วงานใหญ่ก็มาถึง เมื่อเก็กโก้ให้ฟ็อกเกลี่ยกล่อมพ่อของเขา คาร์ล ฟอกซ์ (Martin Sheen มาร์ติน ชีน – ผู้เป็นพ่อของ Charie Sheen ทั้งในชีวิตจริงและในหนัง) ซึ่งเป็นหัวหน้าช่างบำรุงเครื่อง และ หัวหน้าสหภาพแรงงานของบริษัทสายการบินเล็กๆ ชื่อ บลูสตาร์ ให้ยอมร่วมมือในการเทกโอเวอร์บริษัท หลังจากที่หุ้นตกต่ำ และมีราคาถูกมานาน ซึ่งเทียบไม่ได้กับสินทรัพย์จำนวนมหาศาลของบริษัทโดยมีข้อตกลงว่า หลังจากที่ได้กิจการเขาจะให้ตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของบริษัทแก่ฟ็อกซ์ แต่เก็กโก้กลับหักหลังโดยแยกส่วนสินทรัพย์ของบริษัทออกขายทำกำไร แล้วปล่อยให้กิจการดิ่งลงนรก… พนักงานถูกลอยแพ พ่อของฟ็อกต้องตกงานโดยที่ฟ็อกซ์ก็ทำอะไรไม่ได้ เป็นเหตุให้ฟ็อกยอมร่วมมือกับตำรวจที่สืบสวนการกระทำที่ผิดกฏหมายหลักทรัพย์ และ ในที่สุด เก็กโก้ต้องชดใช้กรรมในคุก ในคดีปั่นหุ้น


หนังประสบความสำเร็จอย่างสูงด้วยเป็นผลงานกำกับ และ เขียนบทของ โอลิเวอร์ สโตน (Oliver Stone) นักสร้างภาพยนตร์เจ้าของรางวัลออสการ์ ที่สะท้อนภาพนักธุรกิจชั้นสูงชาว อเมริกัน ผ่านวงการตลาดหุ้นระดับมืออาชีพ ที่มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด แม้ว่าฉากหลังของหนังจะอาศัยตลาดหุ้นวอลล์สตรีทเป็นหลัก แต่ในขณะเดียวกัน ก็สะท้อนเบื้องหลัง – เบื้องลึกของผู้คน โลกธุรกิจ และ ความโลภ …


หนังมีเนื้อหาที่สอดรับกับสถานการณ์ โดยออกฉายในอเมริกาเมื่อ 11 ธค.1987 หลังเหตุการณ์ Black Monday (19 ต.ค.1987) วันที่ตลาดหุ้นทั่วโลกปั่นป่วนอย่างรุนแรงเป็นประวัติการณ์นับแต่มีตลาดหุ้นเกิดขึ้นบนโลกใบนี้


และ ดำเนินเรื่องด้วยประเด็นที่เด่นชัดคือ เรื่องของ เงิน ด้วยลีลาอันตื่นเต้นเร้าใจของการหักเหลี่ยมเฉือนคม ชิงไหวชิงพริบกันด้วยยุทธวิธี และ กลเกมส์ทางธุรกิจการเงิน


ส่งผลให้ ไมเคิล ดั๊กลาส ในบทบาท กอร์ดอน เก็กโก้ (Gordon Gekko) ได้รับรางวัลออสการ์ สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมปี 1987 ด้วยบุคลิกท่าทางสงบเลือดเย็น สีหน้าเรียบเฉย และ แววตาฉลาดแกมโกง


เก็กโก้เป็นตัวละครที่สะท้อนภาพของคนที่เป็นสุดยอดในระบบทุนนิยมอย่างเห็นได้ชัด เห็นได้จากการที่เขาพูดถึงข้อดีของ “ความอยาก” (greed) ต่อหน้าพนักงาน และ บริษัทที่เขากำลังจะเทกโอเวอร์ได้อย่างน่าสนใจไว้ว่า


“..ประเด็นคือ ในโลกที่ดีกว่านี้ ความอยากคือ สิ่งดี (Greed is good)…ความอยากมีทุกรูปแบบ อยากเพื่อชีวิต อยากเพื่อเงิน อยากเพื่อรัก อยากเพื่อความรู้ ทำให้มนุษย์พัฒนาขึ้น…ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยให้เทลดาร์ เปเปอร์ (ชื่อบริษัทที่เขาจะเทกโอเวอร์) อยู่รอดเท่านั้น แต่มันยังทำให้บรรษัทที่ขัดข้องอย่าง อเมริกา อยู่รอดด้วย…” และ เก็กโก้ก็เดินตามปรัชญานี้ จนเขาพบชัยชนะด้านเงินทอง


หนังแสดงประเด็นรอง คือ ความไม่ลงรอยทางความคิด ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่ขัดแย้งระหว่างฟอกซ์ และ คาร์ลผู้เป็นพ่อ สะท้อนให้เห็นแก่นแท้ของความเป็นมนุษย์ และ เงินตรา ระหว่าง คุณค่าของคน กับ มูลค่าของเงิน ซึ่งมีความสำคัญ และ มีผลต่อการตัดสินใจและการกระทำหลายๆ อย่างของ บั๊ด ฟอกซ์ ตัวเอกของเรื่องเป็นอย่างมาก

สิ่งที่เราได้จากหนังเรื่องนี้ก็คือ 1.ความโลภมันมักมาบังตาเรา ทำให้เราตกลงไปในหลุมพรางของเจ้ามือหรือเซียนหุ้นที่เขาจ้องจะงาบเงินเรานั่นแหละ หากเราไปหลงต้องมนต์เสน่ห์ เชื่อในภาพมายา จินตนาการหรือมูลค่าธุรกิจอะไรก็ไม่รู้ที่เราไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับมันอย่างแท้จริง และบ่อยครั้ง ทั้งๆ ที่เรารู้ เราก็ยอมที่จะตกลงไปในหลุมพรางที่เขาขุดล่อเราเอาไว้จนได้ เพราะเรามักคิดว่าเราจะไม่ใช่คนสุดท้ายที่ปีนจากหลุมศพนั้น แต่หารู้ไม่ว่าเขาได้วางแผนมาอย่างเป็นกระบวนการ และเวลามันทำงานมันทำกันเป็นทีม เป็นระบบ ทันทีที่เรารู้กระจ่างแจ้งในทุกประเด็นเมื่อใด เมื่อนั้นหายนะมันมารออยู่ตรงหน้าคุณแล้ว ยากที่จะกลับหลังหันและวิ่งหนีได้ทัน 2.เงินจะไม่มีวันเล่นงานเราหรืออำมหิตแก่เราได้ ถ้าเรารู้วิธีที่จะใช้หรือควบคุมมันไว้ได้

เพราะเวลาที่เราใช้เงิน เรารู้ว่าเรามีอยู่เท่าไหร่ และเราใช้มันเท่าที่เรามีอยู่ ไม่เกินจากที่เรามี และเราควบคุมมันได้ ก็เพราะว่าเรารู้ว่าเส้นทางที่มันเดินไปนั้นเรารู้ว่ามันเดินไปในเส้นทางไหน ถนนอะไร ตรอกซอกซอยอะไร และจะไปถึงจุดหมายปลายทางตรงไหน ไม่มีวันที่มันจะออกนอกลู่นอกทางจากเส้นทางที่เรากำหนดไว้ เพราะเรารู้เส้นทางของเงินเป็นอย่างดี เหมือนกับที่เราเอาไปลงทุนในสิ่งไหนแล้วเรารู้ในสิ่งที่เราไปลงทุนว่ามันคืออะไร เราจึงควบคุมความเสี่ยงได้หมด ถ้าเสี่ยงมากยิ่งควบคุมมากหรืออาจตัดสินใจไม่ลงทุนเลยก็ยังได้ เราจึงตัดตอนความหายนะที่จะมาถึงเราได้หมดทุกประตู



มาถึงวิเคราะห์วิจารณ์หนังสือชื่อ One Up on Wall Street เหนือกว่าวอลสตรีท เขียนโดย ปีเตอร์ ลินซ์ กับ จอห์น ร็อธไชด์

แปลโดย อ.ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร “วิธีใช้สิ่งที่คุณรู้อยู่แล้ว ในการทำเงินในตลาดหุ้น”

สิ่งที่คุณรู้คืออะไรในความหมายของหนังสือนี้ ก็คือตัวธุรกิจ หรือบริษัท หรือกิจการ ที่คุณนำเงินไปลงทุนซื้อหุ้นเขา คุณรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับเขา ถ้าคุณไม่รู้อะไรเลย อย่านำเงินไปลงทุน หรือรู้บ้างแต่ไม่มาก ก็ยังเสี่ยงอยู่มาก เหมือนเราคบเพื่อน คบแฟน ถ้าเรารู้น้อยมากเกี่ยวกับแฟนเราหรือเพื่อนเรา มันก็เสี่ยงมากที่เรากับเขาอาจปิดบังความจริงบางอย่างซึ่งมีผลต่อความสัมพันธ์ การเผชิญสถานการณ์ปัญหาในอนาคต ที่เกินจะคาดเดา และอาจทำให้ผิดหวังได้ แต่ในกรณีของเงินที่นำไปลงทุนแล้ว ผลลัพธ์มันไม่ใช่เรื่องของความผิดหวังแต่จะเป็นหายนะ หรือเจ๊งหมดตัวได้ ก่อนที่จะกล่าวถึงสิ่งที่คุณรู้อยู่แล้วต้องมาพิจารณาถึงสิ่งที่คุณควรจะรู้เสียก่อน ว่ามีอะไรบ้าง ในกรณีของนักลงทุนที่จะเข้าไปลงทุนในหุ้น คุณควรรู้อะไรบ้างที่เป็นหลักพื้นฐานเบื้องต้นเสียก่อน ได้แก่ ความรู้พื้นฐานด้านเศรษฐศาสตร์ เช่น วิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค จุลภาค นโยบายการเงิน การคลัง เงินเฟ้อ ดอกเบี้ย ค่าเงินสกุลหลักๆ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เป็นต้น ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับตัวบริษัทหรือตัวอุตสาหกรรมโดยรวมของธุรกิจที่ลงทุน อาจใช้หลักวิเคราะห์ swot , แผนผัง BCG, five force model , ความรู้พื้นฐานด้านการเงินและบัญชี ความรู้ด้านอัตราส่วนทางการเงินของธุรกิจ เช่น P/E , P/B , ROA , ROE , งบดุล งบกำไรขาดทุน งบกระแสเงินสด ,ความรู้เกี่ยวกับศัพท์ในแวดวงตลาดเงินตลาดทุน และผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่นๆ , ความรู้เกี่ยวกับทฤษฏีวิเคราะห์ทางเทคนิคต่างๆ เช่น ทฤษฎีดาว, เส้นเทรนด์ไลน์ , กราฟแท่งเทียน , อินดิเคเตอร์ต่างๆ การดูแนวรับ-แนวต้าน การดูวอลุ่มและราคา , ความรู้เกี่ยวกับจิตวิทยาการลงทุน ทั้งหมดนี้เป็นแค่เบื้องต้นเท่านั้น ที่เป็นพื้นฐานในการนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุนในตลาดหุ้น ยังมีเรื่องของการวิเคราะห์ปัจจัยอื่นๆ เช่น การเมือง ตลาดหุ้นต่างประเทศ สถานการณ์เศรษฐกิจโลก ภัยธรรมชาติ ก่อการร้าย พฤติกรรมผู้บริโภคในด้านต่างๆ ฯลฯ


คีย์เวิร์ดที่สำคัญของหนังสือ One Up on Wall Street ก็คือ ปิเตอร์ ลินซ์ เป็นอดีตนักวิเคราะห์และวานิชธนากรหนุ่มดาวรุ่งก่อนจะผันตัวเองมาเป็นผู้บริหารกองทุนใหญ่ชื่อ แม็คเจลสัน และเป็น 1 ในเซียนหุ้นไม่กี่คนในโลกที่ได้รับการยอมรับว่าเก่ง บอกว่าหุ้นมี 6 ประเภท คือหุ้นโตช้า หุ้นแข็งแกร่ง หุ้นวัฏจักร หุ้นโตเร็ว หุ้นทรัพย์สินมาก และหุ้นเทิร์นอราวด์ (ฟื้นคืนชีพ) ลินซ์ บอกว่าเขาจะมองหากิจการหรือธุรกิจที่เขาสนใจก่อนโดยวิเคราะห์ธุรกิจ อุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์ คู่แข่ง สินทรัพย์ ศักยภาพการทำกำไร เจ้าของหรือผู้บริหาร โอกาสทางธุรกิจในอนาคต จากนั้นจะนำเอาธุรกิจหรือกิจการนั้นมาจัดหมวดหมู่ ให้อยู่ตามประเภทที่เขาจัดไว้ จากนั้นจึงเลือกลงทุนในกลุ่มที่เขาสนใจ เขาบอกว่ากองทุนแม็คเจลสัน ของเขาใช่ว่าจะประสบความสำเร็จในการลงทุนเสมอไป บางครั้งเขาก็เคยลงทุนผิดพลาด เลือกหุ้นผิด จริงๆ แล้วอาชีพเขาบางครั้งก็เปรียบเหมือนแมวมองของวงการบันเทิง คือต้องมีสายตาที่แหลมคม เขาจะหลีกเลี่ยงหุ้นที่นักวิเคราะห์หรือกองทุนใหญ่ๆให้ความสนใจลงทุน เพราะถ้าเมื่อไหร่หุ้นตัวไหนถูกนักวิเคราะห์หรือกองทุนใหญ่ๆ เข้ามาสนใจหรือมอนิเตอร์เสียแล้ว หุ้นตัวนั้นมูลค่าของมันจะแพงเกินความเป็นจริง ซึ่งเขาจะไม่สนใจ เขาจะมองหาธุรกิจที่ยังไม่มีใครเห็นหรือสนใจ แต่เขาค้นพบว่ามันมีมูลค่ามากกว่าราคาพื้นฐานในขณะนั้น และอนาคตสามารถทำกำไรได้ และเขาเห็นว่าหุ้นที่จะเป็นหุ้นสมบูรณ์แบบและเป็นหุ้น 10 เด้ง ได้มักเป็นหุ้นที่มีชื่อธรรมดา ๆ เป็นธุรกิจพื้นฐานธรรมดา ๆ ทำในสิ่งน่าเบื่อ ๆ ซ้ำๆ ซากๆ แต่โตไปเรื่อยๆ เฉื่อยๆ และจนถึงจุดนึง เมื่อนักวิเคราะห์หรือกองทุนสถาบันมาเห็น ราคามันก็จะปรับขึ้นไปหลายๆ เด้ง

หุ้นที่ลินซ์ลงทุนแล้วประสบความสำเร็จและเขาชอบมาก จะอยู่ในกลุ่มของหุ้นแข็งแกร่ง หุ้นทรัพย์สินมาก และหุ้นฟื้นคืนชีพ

เพราะมันทำเงินให้เขามากมาย วิธีวิเคราะห์หุ้นของลินซ์อย่างง่ายๆก็คือ เขาจะดูที่ความสามารถในการทำกำไร ดูราคาต่อกำไร หรือ P/E ถ้าสูงไปเขาอาจไม่ลงทุน หรือรอเวลาให้มันปรับตัวลงมาก่อน แต่หุ้นที่เขาจะหลีกเลี่ยงไม่ลงทุนก็คือหุ้นที่มักมีข่าวลือในด้านบวกมากๆ มีสตอรี่ดีๆ แบบเหลือเชื่อ และเป็นหุ้นที่ทำกิจการงานแบบสลับซับซ้อน เต็มไปด้วยเทคโนโลยี เพราะมันจะมาเร็ว เคลมเร็ว และก็ไปเร็ว แบบชนิดไม่ทันตั้งตัวหรือแก้ไขข้อผิดพลาดใดๆ ได้ทัน

สิ่งที่เราจะได้จากการอ่านหนังสือเล่มนี้ก็คือ คุณก็จะรู้วิธีใช้สิ่งที่คุณรู้ ทำเงินในตลาดหุ้นหน่ะสิ ตามชื่อคำโปรยหนังสือเลย ตามนั้น ขอคอนเฟิร์ม ฟันทิ้งแถมให้อีก ถ้าคุณผู้อ่านเป็นนักลงทุนมือใหม่หรือยังมีความรู้ความเข้าใจในการลงทุนน้อยขอแนะนำให้อ่านหนังสือเล่มนี้ เป็น 1 ในหนังสือการลงทุนที่นักลงทุนทุกคนควรผ่านตา และยังมีอีกหลายเล่มของสำนักพิมพ์ฟิเดลลิตี้ รายละเอียดข้างล่างนี้

เข้าไปดูรายละเอียดได้ที่  http://www.fp.co.th/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น