วันจันทร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

สงครามค่าเงิน ไพ่ใบแรกที่อเมริกาใช้เล่นงานจีน



สงครามค่าเงิน ไพ่ใบแรกที่อเมริกาใช้เล่นงานจีน

          ชอบคำพูดของคุณพี่ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์มากเลยที่กล่าวไว้ในรายการคลื่นความคิด ทาง FM 101 RR1 ที่พูดถึงการปะทะกันของอำนาจแบบอ่อนและอำนาจแบบแข็งระหว่างจีนกับอเมริกา ผู้ซึ่งเป็นคู่ต่อกรในบทบาทอภิมหาอำนาจของโลกในยุคปัจจุบัน  โดยคุณพี่ชัชรินทร์บอกว่า อเมริกานั้นใช้กิเลสตัณหาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ส่วนจีนใช้รากเหง้าทางวัฒนธรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และกล่าวต่อว่าจีนไม่มีทางชนะในเกมที่ใช้อำนาจแบบอ่อนเอาชนะอเมริกาได้ เพราะอเมริกามีเครื่องมือที่สำคัญคือโลกออนไลน์ และสื่อมวลชนในระดับโลกเป็นเครื่องมือ แต่จีนยังไม่มี นี่ยังไม่นับว่าอเมริกามีเทคโนโลยีด้านการทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ที่เหนือกว่าจีนหลายขุม กว่าที่จีนจะพัฒนาให้มาตามทันอเมริกาได้ อเมริกาก็คงพัฒนาไปอีกไกลโขแล้ว  แต่ข้อได้เปรียบของจีนในเวลานี้ก็คือ จีนมีอำนาจทางการเงินสูงที่สุดในโลกเวลานี้ มีทุนสำรองระหว่างประเทศสูงที่สุด มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่โต อำนาจทางการซื้อสูง และมี GDP ที่โตเฉลี่ยเกือบ 10% ทุกปี และจีนยังถือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐไว้ในมือมากที่สุด ซึ่งก็คือมีสถานะเป็นเจ้าหนี้อเมริกานั่นเอง อีกทั้งสถานะทางการเงินของอเมริกาในเวลานี้ก็ถือได้ว่าตกต่ำถึงขีดสุด รัฐบาลมีหนี้สินล้นพ้นตัว เจอพิษไข้วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ของตนเองเข้าไปยังไม่ฟื้นเลย อเมริกาจึงคิดอุบาย นำกลยุทธ์เพิ่มปริมาณเงินเข้าสู่ระบบอย่างไม่อั้น ก่อนหน้านี้ได้ทำไปแล้วครั้งนึงช่วงต้นของวิกฤติเมื่อต้นปี 2009 แต่ยังไม่ได้ผล ที่เขาเรียกกันว่า เฮลิคอปเตอร์มันนี่ และงวดนี้รัฐสภาสหรัฐได้ผ่านความเห็นชอบของข้อเสนอผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ นายเบอร์นันเก้ ออกมาตรการ QE 2 ออกมาอีก  ซึ่งรายละเอียดของมาตรการนี้เป็นดังนี้

Quantitative  Easing (QE) คืออะไรในทางเศรษฐศาสตร์มาตรการ  QE ถือเป็นนโยบายด้านการเงิน (Monetary  Policy) ซึ่งถูกใช้โดยธนาคารกลาง โดยการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเพิ่ม เป็นการเพิ่มสภาพคล่องให้กับสถาบันการเงินเพื่อนำไปปล่อยสินเชื่อเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอีกทอดหนึ่ง ทั้งนี้วิธีการในการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบทำได้โดยการที่ธนาคารกลางเข้าซื้อสินทรัพย์ทางการเงินจากสถาบันการเงินซึ่งอาจเป็นพันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้เอกชน หรือแม้กระทั่งตราสารหนี้ประเภทที่มีลูกหนี้สินเชื่อบ้านเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน


          ทำไมต้องใช้มาตรการ  QE โดยปกติแล้วธนาคารกลางโดยส่วนใหญ่จะเลือกใช้วิธีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นอันดับแรกในยามที่เศรษฐกิจชะลอตัวหรือถดถอย รวมถึงเกิดปัญหากับสถาบันการเงิน แต่เมื่อธนาคารได้ลดอัตราดอกเบี้ยลงต่ำเกือบ 0% แล้วยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำได้อีก มาตรการ QE จึงถูกนำมาใช้ ดังนั้นผมจึงอยากจะชี้ประเด็นนี้ให้ทุกท่านทราบว่าการที่ธนาคารกลางสหรัฐ ญี่ปุ่น ที่ประกาศว่าจะใช้มาตรการQE รอบ 2 นั้น แท้ที่จริงแล้วเป็นข่าวร้ายต่อภาวะเศรษฐกิจโลก ซึ่งแสดงว่ามาตรการ  QE ที่ทำไปรอบแรกไม่เป็นผลเปรียบเสมือนคนไข้ที่ต้องให้ยาแรงเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ สำหรับมาตรการ  QE นั้นไม่ได้มีแต่ประโยชน์ แต่มีโทษที่ต้องระมัดระวังด้วย เพราะการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบนั้นมีโอกาสที่จะทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อได้ ดังนั้นหากท่านที่ติดตามบทความของผมคงจำได้ว่า ผมเคยเขียนเกี่ยวกับเรื่อง Exit Strategy ซึ่งคือมาตรการตรงกันข้ามกับ  QE เนื่องจากเป็นการดึงสภาพคล่องออกจากระบบนั่นเอง เพื่อลดความเสี่ยงเงินเฟ้อ ซึ่งผมเชื่อว่าจะกลับมาอีกครั้งหากพบสัญญาณของเงินเฟ้อ


          QE มีผลกระทบต่อการลงทุนอย่างไรการที่มาตรการ  QE เป็นการเพิ่มปริมาณเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ซึ่งโดยหลักเศรษฐศาสตร์แล้ว การที่ปริมาณเงินมากขึ้นย่อมมีผลกระทบให้ราคาสินทรัพย์ปรับตัวเพิ่มขึ้น หรือพูดง่ายๆ คือ มาตรการ  QE ส่งผลดีให้ราคาสินทรัพย์ ได้แก่พันธบัตร หุ้น ทองคำ ให้มีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ในทางตรงกันข้าม จะส่งผลกระทบให้ค่าเงินเหรียญสหรัฐอ่อนค่าลง เนื่องจากความเสี่ยงของมาตรการ คือ เงินเฟ้อที่อาจเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการลดมูลค่าของเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการ  QE ของธนาคารกลางสหรัฐ ในรอบแรกนี้ดูเหมือนจะส่งผลบวกต่อราคาสินทรัพย์มากกว่าคาดการณ์ไว้เสียอีก ผมประเมินคร่าวๆว่าเม็ดเงินส่วนใหญ่ที่ทางธนาคารกลางสหรัฐอัดฉีดเข้าไปแล้วประมาณ 1.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ น่าจะถูกใช้ไปในทางเศรษฐกิจประมาณ 1.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนที่เหลือประมาณ 4 แสนล้านเหรียญสหรัฐ น่าจะอยู่ในตลาดการเงินมากกว่า เนื่องจากเป็นวงเงินที่ใช้ในการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลซึ่งผู้ที่ได้รับประโยชน์ คือ นักลงทุนและรัฐบาล ซึ่งหมายถึงสามารถเปลี่ยนรูปไปลงทุนอะไรต่อเนื่องก็ได้ นอกจากนี้การที่ค่าเงินเหรียญสหรัฐอ่อนค่าลงจึงถือว่าเป็นปัจจัยหนุนให้เงินทุนต่างชาติไหลเข้ามาลงทุนในเอเชีย รวมถึงส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะทองคำและน้ำมันดิบ


          QE1 เริ่มเมื่อไหร่และมีผลอย่างไร มาตรการ  QE ครั้งแรกของสหรัฐถูกประกาศในช่วงต้นปี2552 หลังจากธนาคารกลางสหรัฐปรับลดอัตราดอกเบี้ยแล้วไม่สามารถช่วยเรียกความเชื่อมั่นจากตลาดการเงินได้ ซึ่งหลังจากประกาศใช้แล้วถือว่าส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนซึ่งผมถือว่าส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในแง่การบริโภคและการลงทุนไม่มากก็น้อย แต่ในส่วนที่เห็นชัดเจน คือ ราคาสินทรัพย์ทาง การเงิน ได้แก่ ราคาพันธบัตร ราคาหุ้น ปรับตัวเพิ่มขึ้นส่วนค่าเงินเหรียญสหรัฐอ่อนค่าลง ทั้งนี้จากการศึกษาของนักเศรษฐศาสตร์หลายๆ สำนักเห็นตรงกันว่า เงินทุนที่ธนาคารกลางสหรัฐอัดฉีดเข้าสู่ระบบทุกๆ 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ มีผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรลดลง 0.50% ดัชนี S&P 500 เพิ่มขึ้นประมาณ 8% ค่าเงินเหรียญสหรัฐอ่อนค่า 2% การเปลี่ยนแปลงของราคาสินทรัพย์ในตลาดโลกส่งผลต่อเนื่องมาถึงไทยเช่นกัน โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรของไทยอายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป ปรับลดลงตามตลาดพันธบัตรสหรัฐเช่นกันการอ่อนค่าของเงินเหรียญสหรัฐส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็ง ซึ่งเป็นปัจจัยต่อเนื่องถึงเงินทุนไหลเข้ามาลงทุนทั้งในตลาดหุ้นและพันธบัตรของไทย


          QE2 เมื่อไหร่? เท่าไร? มีผลอย่างไร?คงต้องยอมรับตลาดหุ้นทั่วโลกเริ่มสะท้อนประเด็นการที่ธนาคารสหรัฐจะดำเนินนโยบาย  QE2 ไปบ้างแล้ว ซึ่งผมนับเริ่มตั้งแต่ช่วงที่ตลาดการเงินมีการพูดถึงในเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา แต่ความชัดเจนในเรื่องขนาดของเม็ดเงินในครั้งนี้ และการเริ่มต้นของมาตรการนั้นยังคงต้องรอการประชุม  FOMC วันที่3 พ.ย. ซึ่งผมเชื่อว่ายังคงมีโอกาสที่ตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้นจะปรับตัวขึ้นได้อีก หากทราบผลอย่างเป็นทางการแล้ว แต่ในทางตรงข้าม หากการประชุม FOMC แล้วผิดไปจากที่ตลาดคาดการณ์ ไม่ว่า  FOMC จะยกเลิกหรือปริมาณเงินน้อยกว่าคาดการณ์ ก็จะส่งผลกระทบในเชิงลบต่อตลาดหุ้นและพันธบัตรมากเช่นกัน ดังนั้นในกรณีที่ท่านเป็นนักลงทุนระยะสั้น ผมแนะนำให้ทยอยขายทำกำไรหุ้นออกบางส่วนก่อนการประชุม FOMC เพื่อลดความเสี่ยงหากธนาคารกลางสหรัฐเปลี่ยนใจหรือวงเงินน้อยเกินไป

QE 2 คืออะไร
        QE2 (Quantitative Easing 2) เป็นศัพท์เฉพาะของตลาดสำหรับ
โครงการซื้อสินทรัพย์ระยะยาวของเฟดครั้งใหญ่รอบที่ 2 ซึ่งได้แก่การผ่อนคลาย
เชิงปริมาณที่เฟดประกาศเมื่อวานนี้
        สาระสำคัญของ QE คือเฟดจะพิมพ์เงินและซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ
โดยหวังที่จะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมลดลงอีก หลังจากที่เฟดลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง
ลงแล้วใกล้ระดับ 0%
        เฟดเปิดเผยว่าจะซื้อพันธบัตรอีก 6 แสนล้านดอลลาร์อันเป็นส่วนหนึ่ง
ของโครงการตั้งแต่ขณะนี้จนถึงเดือนมิ.ย.ปีหน้า ซึ่งเพิ่มจากวงเงิน 2.5-3.0
แสนล้านดอลลาร์ที่เฟดจะลงทุนอีกครั้งจากพันธบัตรที่ครบกำหนดไถ่ถอนตั้งแต่
โครงการ QE รอบแรกในช่วงเวลาดังกล่าว
        ในมาตรการ QE รอบแรกซึ่งสิ้นสุดลงในเดือนมี.ค. เฟดเข้าซื้อ
ตราสารหนี้ที่มีสัญญาจำนองค้ำประกันและพันธบัตรรัฐบาลเป็นวงเงิน 1.7
ล้านล้านดอลลาร์

        เหตุใดเฟดจึงคิดว่าจำเป็นต้องดำเนินการเพิ่มขึ้น
        เฟดคิดว่าอัตราการว่างงานอยุ่ในระดับสูงเกินไป และเงินเฟ้อ
อยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับระดับที่สอดคล้องกับความมีเสถียรภาพด้านราคา
และการจ้างงานอย่างเต็มที่ในระยะยาว
        นอกจากนี้ เฟดมีความวิตกว่าเงินเฟ้อที่ชะลอลงอาจดิ่งลงเข้าสู่
ภาวะเงินฝืดที่จะสร้างปัญหาทางเศรษฐกิจ โดยราคาที่ร่วงลงอย่างต่อเนื่อง
อาจสกัดกั้นผู้บริโภคจากการใช้จ่ายและขัดขวางภาคธุรกิจจากการลงทุน

        โครงการ QE2 จะมีระยะเวลานานเพียงใด
        เฟดเปิดเผยว่า จะซื้อพันธบัตร 6 แสนล้านดอลลาร์ภายในช่วง
สิ้นไตรมาส 2 ของปีหน้าหรือประมาณ 7.5 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน
        เฟดกล่าวว่า จะทำการทบทวนเป็นประจำเกี่ยวกับอัตราและขนาด
ของโครงการ QE และทำการปรับโครงการเมื่อจำเป็นเพื่อบรรลุเป้าหมาย
ทางเศรษฐกิจ

        โครงการดังกล่าวจะได้ผลอย่างไร
        เจ้าหน้าที่เฟดมีความเห็นแตกต่างกันเกี่ยวกับวิธีการทำงานและ
ประสิทธิภาพของโครงการ
        เจ้าหน้าที่บางรายกล่าวว่า โครงการดังกล่าวจะส่งผลในขั้นต้น
โดยลดอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ ซึ่งจะผลักดันนักลงทุนเข้าลงทุนใน
สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมากขึ้น และจะทำให้อัตราดอกเบี้ยลดลงในวงกว้าง
มากขึ้น
        ต้นทุนการกู้ยืมที่ลดลงในสหรัฐอาจกระตุ้นให้มีการซื้อและก่อสร้างบ้าน,
การลงทุนทางธุรกิจและการจ้างงาน
        เฟดและนักวิเคราะห์คนอื่นๆกล่าวว่า การซื้อสินทรัพย์วงเงิน 1.7
ล้านล้านดอลลาร์ได้ลดต้นทุนการกู้ยืมระยะยาวลงอีกราว 0.5%
        นายวิลเลียม ดัดลีย์ ประธานเฟดสาขานิวยอร์ค ประมาณการว่า
การซื้อพันธบัตรวงเงิน 5 แสนล้านดอลลาร์มีแนวโน้มที่จะส่งผลใกล้เคียงกัน
โดยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ข้ามคืนลดลง 0.50-0.75%
        เจ้าหน้าที่รายอื่นๆกล่าวว่า การซื้อสินทรัพย์อาจส่งผลในขั้นต้น
โดยการเพิ่มการคาดการณ์เงินเฟ้อ และสนับสนุนความเชื่อมั่นโดยส่งสัญญาณ
ต่อตลาดว่าเฟดจะไม่ปล่อยให้ราคาลดลง
        ทางด้านนายริชาร์ด ฟิชเชอร์ ประธานเฟดสาขาดัลลัส ระบุว่า
ความไม่แน่นอนด้านกฏระเบียบและการคลังกำลังสกัดกั้นกิจกรรมทางธุรกิจ
ไม่ใช่อัตราดอกเบี้ย
        เจ้าหน้าที่บางรายรวมถึงนายนารายานา โคเชอร์ลาโคต้า
ประธานเฟดสาขามินนีอาโปลิส ระบุว่า ปัญหาการว่างงานส่วนใหญ่เป็นผล
จากการขาดแรงงานมีฝีมือ ซึ่งไม่สามารถแก้ไขด้วยนโยบายการเงิน

        ความวิตกบางประการเกี่ยวกับโครงการ QE
        เจ้าหน้าที่เฟดบางรายรวมถึงนายชาร์ลส พลอสเซอร์ ประธานเฟดสาขา
ฟิลาเดลเฟียแสดงความวิตกเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่ความน่าเชื่อถือของเฟดอาจ
ถูกกระทบ หากเฟดดำเนินมาตรการใหม่และไม่ประสบความสำเร็จในการลดอัตรา
การว่างงาน
        เขาและเจ้าหน้าที่เฟดคนอื่นๆวิตกเกี่ยวกับตลาดที่บิดเบือนและการวาง
รากฐานสำหรับเงินเฟ้อในอนาคต ซึ่งเพิ่มความยุ่งยากให้กับการยกเลิกนโยบาย
ผ่อนคลายของเฟดในที่สุด
        มีความวิตกด้วยว่า นักลงทุนบางรายอาจตีความการซื้อสินทรัพย์ของเฟด
ว่าเป็นการก่อหนี้ของประเทศมากขึ้น
        นายโธมัส โฮนิก ประธานเฟดสาขาแคนซัส ซิตี้ซึ่งไม่เห็นด้วยกับนโยบาย
ผ่อนคลายของเฟดในการประชุมทุกครั้งของเฟดในปีนี้ ไม่เห็นด้วยอีกครั้งในการประชุม
ในเดือนนี้ โดยนายโฮนิกระบุเมื่อวันที่ 25 ต.ค.ว่า การผ่อนคลายมากขึ้นจะเป็นการ
เดิมพันที่อันตรายซึ่งอาจทำให้ตลาดการเงินเข้าสู่ภาวะฟองสบู่ และทำให้เกิดวิกกฤติ
อีกครั้ง
        ความวิตกอีกประการหนึ่งได้แก่ การซื้อสินทรัพย์ระยะยาวจะทำให้เฟด
เสี่ยงต่อการขาดทุนทันทีที่เศรษฐกิจฟื้นตัวและอัตราดอกเบี้ยปรับตัวขึ้น

        ผลกระทบทั่วโลกของโครงการดังกล่าว
        การคาดการณ์เกี่ยวกับการซื้อพันธบัตรครั้งใหม่ทำให้นักลงทุนต่างชาติ
เข้าซื้อสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้นในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา และทำให้
ดอลลาร์อ่อนค่าลง
        เงินทุนจำนวนมากทำให้ราคาสินทรัพย์เพิ่มขึ้นในตลาดเกิดใหม่
และทำให้สกุลเงินอื่นๆแข็งค่าขึ้น ขณะที่ความไม่พอใจเกี่ยวกับผลกระทบ
ทั่วโลกจากนโยบายการเงินของสหรัฐมีแนวโน้มจะปรากฏในการประชุม
สุดยอดของกลุ่มประเทศจี-20 ที่กรุงโซลในสัปดาห์หน้า
        นายไรเนอร์ บรูเดอร์ รมว.เศรษฐกิจของเยอรมนีระบุเมื่อวันที่
23 ต.ค.ว่า นโยบายของสหรัฐเป็นการปั่นอัตราแลกเปลี่ยนโดยทางอ้อมจบ--

        (รอยเตอร์ โดย กัลยาณี ชีวะพานิช แปล; ก้องเกียรติ กอวีรกิติ เรียบเรียง)
ผลของมาตรการ QE2 นี้จะทำให้ประเทศต่างๆ ในโลกปั่นป่วนทั้งระบบ ตั้งแต่ค่าเงินแข็งเมื่อเทียบกับดอลล่าร์  ส่งออกไปขาดทุน  เกิดภาวะฟองสบู่ในตลาดทุนเกิดใหม่ การเก็งกำไรในสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ และมีราคาปรับตัวสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะทอง กับน้ำมัน
นักวิเคราะห์ไทยอ่าน "สัญญาณ QE2" ให้จับตาดูผลกระทบ 9 ข้อที่มีต่อ "ค่าเงิน-ตลาเทุนไทย" หลังจากที่มาตรการ QE2 ของเฟดประกาศอัดฉีดสภาพคล่องเชิงปริมาณรอบใหม่อีก 6 แสนล้านดอลลาร์เมื่อวันที่ 3 พ.ย.ที่ผ่านมา
โดยนายวิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล นักวิเคราะห์หุ้นของ บล.ตรินิตี้ มองถึงผลกระทบใน 12 เดือนข้างหน้าจากนี้ไป หลังจากการประกาศปั๊มเงินรอบใหม่ 6 แสนล้านดอลลาร์ ของ QE2 ว่า ผลกระทบข้อที่ 1 จะเกิดเงินทุนไหลออกจากสหรัฐและตลาดประเทศที่พัฒนาแล้ว ไปสู่ตลาดทุนในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (Emerging Market) รวมทั้งตลาดทุนไทย เนื่องจากเม็ดเงินจะมีเพิ่มขึ้นเป็น 7.3 ล้านล้านดอลลาร์ซึ่งเป็นสภาพคล่องล้นตลาดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์เลห์แมน บราเธอร์สในสหรัฐ มาจนถึง QE2 ขณะนี้ จะไหลเข้าสู่ตลาดที่ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า โดยสัดส่วนที่เข้าตลาดเกิดใหม่ อาจจะมีตั้งแต่ 2-3% ของพอร์ตลงทุน เพิ่มขึ้นถึง 6-8% ขึ้นอยู่กับประเภทของกองทุน
โดยเฉพาะการซื้อขายของตลาดหุ้นไทย คาดว่า จะเทรดในราคาที่สูงกว่าในสหรัฐ หรือมีพรีเมี่ยมสูงขึ้นจากปกติ 6-8% เป็นพรีเมี่ยม 25-30% ซึ่งเขายกตัวอย่างว่า ถ้าสหรัฐเทรดกันที่ค่าพี/อี 14 เท่า ในตลาดเกิดใหม่จะอยู่ที่ 17 เท่า
เนื่องจากสภาพคล่องทางการเงินของตลาดหุ้นที่มีเพิ่มขึ้นสูงมาก
ผลกระทบข้อที่ 2 ผลตอยแทนผู้ถือหุ้น RoE (Return on Equity) เพิ่มขึ้น เนื่องธุรกิจมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นจากราคาที่เพิ่สูงขึ้น
ผลกระทบข้อที่ 3 ดอกเบี้ยที่แท้จริงซึ่งติดลบมานาน จะทำให้คนซื้อสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ขณะที่มาตรการ QE เป็นปัจจัยทางออ้มที่ผลักดันให้ดอกเบี้ยลดลงอีก
ผลกระทบข้อที่ 4 ซึ่งมีต่ออัตราแลกเปลี่ยนในสกุลเงินที่ไม่ใช่ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นมาก จนทำให้ธนาคารในประเทศต่างๆ ต้องเข้าแทรกแซง โดยหลายประเทศมีต้นทุนสูง 6-7% ของจีดีพี ทั้งนี้ต้นทุนดังกล่าวถือเป็นการใช้เงินที่ไม่ก่อให้เกิดประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ
ผลกระทบข่อที่ 5 เกิดวงตรของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น ทั้งข้าว ข้าวโพด ยาง น้ำตาล และจำพวกโลหะ เป็นต้น
ผลกระทบข้อที่ 6 เกิดกิจจกรรมในตลาดหุ้นเพิ่มขึ้น จากระดับวอลุ่มเทรดปกติวันละ 3-3.5 หมื่นล้านบาท กลายเป็น 5-6 หมื่นล้านบาทต่อวัน และโอกาสที่จะเพิ่มขึ้นมากกว่า 6 หมื่นล้านบาทต่อวันในปี 2554
ผลกระทบข้อที่ 7 บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จะมีกระแสเงินสดที่เพิ้มขึ้น เนื่องจากสามารถขายสินค้าในราคาที่สูงขึ้น ผลส่งให้ผลประกอบการดีขี้น
ผลกระทบข้อที่ 8 สภาพคล่องที่เพิ่มขึ้นจนล้น จะส่งผลให้เกิดความผันผวน ทั้งอัตราแลกเปลี่ยน ราคาพันธบัตร และราคาหุ้น รวมทั้งภาวะเงินเฟ้อที่มีความเสี่ยงมากขึ้นในอนาคต อย่างเช่นกรณีที่เกิดขึ้นในปี 1985 ซึ่งเกิด Plaza Accord ที่ทำให้เงินเยนแข็งค่าขึ้นมากมาย โดยต่อมาก็เกิดการปรับฐานครั้งใหญ่ในตลาดหุ้นกรณีเกิด Black Monday ก่อนที่จะกลับใสพลิกตัวขึ้นตามสิ่งแวดล้อมใหม่ของภาวะเศรษฐกืจในระยะต่อมา
ผลกระทบข้อที่ 9 Wealth Effect ที่เกิดขึ้น จะทำให้คนกล้าเสี่ยงมากขึ้น จากที่เคยเน้นหุ้น big-cap เป็นการลงทุนในหุ้นที่เป็นขนาดกลาง (mid-cap) และขนาดเล็ก (small-cap) ที่มีผลประกอบการดี มากขึ้น
ทั้งนี้ เมื่อหันมาจับตาดูถึงธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ประกาศมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบ 2 (QE2) ด้วยการซื้อพันธบัตรรัฐบาลรอบใหม่เมื่อวานนี้ นับเป็นความพยายามที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ และต่อสู้กับภาวะเงินฝืดสหรัฐ
QE2 (Quantitative Easing 2) เป็นศัพท์เฉพาะของตลาดสำหรับโครงการซื้อสินทรัพย์ระยะยาวของเฟดครั้งใหญ่รอบที่ 2 ซึ่งได้แก่การผ่อนคลายเชิงปริมาณที่เฟดประกาศเมื่อวานนี้ โดยสาระสำคัญของ QE คือเฟดจะพิมพ์เงินและซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ซึ่งหวังที่จะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมลดลงอีก หลังจากที่เฟดลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงลงใกล้ระดับ 0%
เฟดเปิดเผยว่า จะซื้อพันธบัตรอีก 6 แสนล้านดอลลาร์อันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการตั้งแต่ขณะนี้จนถึงเดือนมิ.ย.ปีหน้า ซึ่งเพิ่มจากวงเงิน 2.5-3
แสนล้านดอลลาร์ที่เฟดจะลงทุนอีกครั้งจากพันธบัตรที่ครบกำหนดไถ่ถอนตั้งแต่
สำหรับมาตรการ QE รอบแรกซึ่งสิ้นสุดลงในเดือนมี.ค. เฟดเข้าซื้อตราสารหนี้ที่มีสัญญาจำนองค้ำประกันและพันธบัตรรัฐบาลเป็นวงเงิน 1.7
ล้านล้านดอลลาร์
โดยเฟดคิดว่าอัตราการว่างงานอยุ่ในระดับสูงเกินไป และเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับระดับที่สอดคล้องกับความมีเสถียรภาพด้านราคา
และการจ้างงานอย่างเต็มที่ในระยะยาว นอกจากนี้ เฟดมีความวิตกว่าเงินเฟ้อที่ชะลอลงอาจดิ่งลงเข้าสู่ภาวะเงินฝืดที่จะสร้างปัญหาทางเศรษฐกิจ โดยราคาที่ร่วงลงอย่างต่อเนื่องอาจสกัดกั้นผู้บริโภคจากการใช้จ่ายและขัดขวางภาคธุรกิจจากการลงทุน
นอกจากนี้ เฟดเปิดเผยว่า จะซื้อพันธบัตร 6 แสนล้านดอลลาร์ภายในช่วงสิ้นไตรมาส 2 ของปีหน้าหรือประมาณ 7.5 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน ทั้งนี้ เฟดคาดว่า จะทำการทบทวนเป็นประจำเกี่ยวกับอัตราและขนาดของโครงการ QE และทำการปรับโครงการเมื่อจำเป็นเพื่อบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจ
เจ้าหน้าที่เฟดบางคน กล่าวว่า โครงการดังกล่าวจะส่งผลในขั้นต้น โดยลดอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ ซึ่งจะผลักดันนักลงทุนเข้าลงทุนใน
สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมากขึ้น และจะทำให้อัตราดอกเบี้ยลดลงในวงกว้างมากขึ้น โดยต้นทุนการกู้ยืมที่ลดลงในสหรัฐอาจกระตุ้นให้มีการซื้อและก่อสร้างบ้าน การลงทุนทางธุรกิจและการจ้างงาน ซึ่งนักวิเคราะห์เชื่อว่า การซื้อสินทรัพย์วงเงิน 1.7 ล้านล้านดอลลาร์ได้ลดต้นทุนการกู้ยืมระยะยาวลงอีกราว 0.5%
นายวิลเลียม ดัดลีย์ ประธานเฟดสาขานิวยอร์ค ประมาณการว่า การซื้อพันธบัตรวงเงิน 5 แสนล้านดอลลาร์มีแนวโน้มที่จะส่งผลใกล้เคียงกัน
โดยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ข้ามคืนลดลง 0.50-0.75% ขณะที่เจ้าหน้าที่รายอื่นๆกล่าวว่า การซื้อสินทรัพย์อาจส่งผลในขั้นต้น โดยการเพิ่มการคาดการณ์เงินเฟ้อ และสนับสนุนความเชื่อมั่นโดยส่งสัญญาณต่อตลาดว่าเฟดจะไม่ปล่อยให้ราคาลดลง
ทางด้านนายริชาร์ด ฟิชเชอร์ ประธานเฟดสาขาดัลลัส ระบุว่า ความไม่แน่นอนด้านกฏระเบียบและการคลังกำลังสกัดกั้นกิจกรรมทางธุรกิจ
ไม่ใช่อัตราดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม มีความวิตกบางประการเกี่ยวกับโครงการ QE โดยเจ้าหน้าที่เฟดบางรายรวมถึงนายชาร์ลส พลอสเซอร์ ประธานเฟดสาขาฟิลาเดลเฟียแสดงความวิตกเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่ความน่าเชื่อถือของเฟดอาจถูกกระทบ หากเฟดดำเนินมาตรการใหม่และไม่ประสบความสำเร็จในการลดอัตราการว่างงาน
เจ้าหน้าที่เฟดคนอื่นๆวิตกเกี่ยวกับตลาดที่บิดเบือนและการวางรากฐานสำหรับเงินเฟ้อในอนาคต ซึ่งเพิ่มความยุ่งยากให้กับการยกเลิกนโยบายผ่อนคลายของเฟดในที่สุด โดยมีความวิตกด้วยว่า นักลงทุนบางรายอาจตีความการซื้อสินทรัพย์ของเฟด ว่าเป็นการก่อหนี้ของประเทศมากขึ้น
ส่วนผลกระทบทั่วโลก มีการคาดการณ์เกี่ยวกับการซื้อพันธบัตรครั้งใหม่ทำให้นักลงทุนต่างชาติเข้าซื้อสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้นในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา และทำให้ดอลลาร์อ่อนค่าลง เงินทุนจำนวนมากทำให้ราคาสินทรัพย์เพิ่มขึ้นในตลาดเกิดใหม่ และทำให้สกุลเงินอื่นๆแข็งค่าขึ้น ขณะที่ความไม่พอใจเกี่ยวกับผลกระทบทั่วโลกจากนโยบายการเงินของสหรัฐมีแนวโน้มจะปรากฏในการประชุมสุดยอดของกลุ่มประเทศจี-20 ที่กรุงโซลในสัปดาห์หน้า
มองปัญหาเงินบาทในมุมกว้าง  คอลัมน์ เศรษฐกิจต้องรู้  ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เราเผชิญกับ ปัญหาการแข็งค่าของเงินบาท ทำให้พยายามมองหามาตรการเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า คือจัดการกับการแข็งค่าของเงินบาทเพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออก ซึ่งเป็นการมองปัญหาที่ไม่ครบถ้วน ทำให้เกิดความรู้สึกว่าทำไมธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงไม่แก้ปัญหาอย่างเด็ดขาด เช่น ตรึงค่าเงินบาทเอาไว้ ผู้ส่งออกจะได้ไม่ได้รับผลกระทบ ขณะเดียวกัน ก็มีการเสนอให้ ธปท.หยุดปรับขึ้นดอกเบี้ย มิฉะนั้นแล้ว ก็จะมีเงินไหลเข้ามาซื้อพันธบัตรไทยเพิ่มขึ้นอีก (เพราะดอกเบี้ยโลกอยู่ที่ระดับต่ำ) และหากจะต้องมีมาตรการควบคุมการไหลเข้าของเงินทุน ก็อย่าทำให้กระทบกับตลาดหุ้น หรือหากจะควบคุม ก็ควบคุมเฉพาะเงินที่ไหลเข้าไปลงทุนตลาดพันธบัตรเพียงอย่างเดียว ซึ่งย่อมทำให้ผู้ประกอบการในตลาดพันธบัตรรู้สึกน้อยใจว่าถูกกระทบแต่ฝ่ายเดียว
แต่หากพยายามประติดประต่อพัฒนาการที่เกิดขึ้นในเศรษฐกิจโลก เพื่อให้เห็นภาพรวมของปัญหา แล้วจะสามารถเข้าใจความท้าทายได้อย่างชัดเจนขึ้น

1. ภูมิหลังของปัญหา

คนส่วนใหญ่จะสรุปว่า วิกฤตเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากความโลภของภาคเอกชน (โดยเฉพาะ Wall Street หรือภาคการเงินของสหรัฐ) ฮอลลีวูดจึงได้สร้างหนัง Wall Street ภาค 2 ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในขณะนี้ แต่ผู้เชี่ยวชาญบางคนกลับชี้ให้เห็นว่าผู้กำหนดนโยบายของสหรัฐ (โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐ) นั้นมีส่วนอย่างมากในการสร้างวิกฤตที่เกิดขึ้น เพราะดำเนินนโยบายกดดอกเบี้ยลงต่ำอย่างต่อเนื่องเกือบ 20 ปี ทำให้ราคาสินทรัพย์ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเมื่อฟองสบู่ภาคธุรกิจอินเทอร์เน็ตแตกในปี 2000 ก็รีบลดดอกเบี้ยเพื่อลดผลกระทบไม่ให้เศรษฐกิจตกต่ำลงมาก แต่กลายเป็นการสร้างฟองสบู่ภาคอสังหาริมทรัพย์แทนที่ จะเห็นได้ว่าธนาคารกลางสหรัฐส่งสัญญาณว่าหากเสี่ยงแล้วมีกำไรก็เก็บกำไรเอาไว้ แต่หากขาดทุนธนาคารกลางก็จะช่วยอุ้มไม่ให้ได้รับความเสียหายมากนัก เสมือนการสร้างเงื่อนไขว่าถ้าแทงหวยแล้วถูกรางวัลก็รับรางวัลทั้งหมดไป แต่ถ้าไม่ถูกเอาเงินคืนได้ครึ่งหนึ่ง
ภาคเอกชนสหรัฐจึงกล้าได้กล้าเสีย เพราะไม่ต้องกลัวเสียหายมาก และวิกฤตครั้งล่าสุด ทางการสหรัฐก็ยังมีพฤติกรรมอย่างเดิม คือกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายการคลัง (ขาดดุลงบประมาณ 10% ของ จีดีพี หรือ 1.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ) และใช้นโยบายการเงินกดดอกเบี้ยลงใกล้ศูนย์ ทำให้ราคาสินทรัพย์ลดลงไม่มาก ทั้งนี้ การอุ้มราคาสินทรัพย์ไม่ให้ลดลง ช่วยให้ธนาคารไม่ต้องตัดหนี้เสียมาก คือไม่ต้องเพิ่มทุนมากนั่นเอง ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบกับกรณีวิกฤตปี 1997 ของไทย ไอเอ็มเอฟชี้นำให้ไทยปรับขึ้นดอกเบี้ย เพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม (จาก 7% เป็น 10%) ทำให้ธุรกิจล้มละลาย และราคาสินทรัพย์ปรับลงอย่างมาก (จึงมีคนเคยรวยเป็นจำนวนมาก) ผลคือคนไทยสูญเสียความเป็นเจ้าของ โดยต้องยอมขายหุ้นส่วนหนึ่งให้ต่างชาติ ทำให้ต่างชาติเข้ามามีส่วนเป็นเจ้าของธุรกิจไทยโดยเฉพาะธนาคารและบริษัทขนาดใหญ่หลายแห่ง
ขณะที่สหรัฐและยุโรปกลับทำตรงกันข้าม คือพยายามอุ้มไม่ให้ราคาสินทรัพย์ลดลง เพื่อรักษาความเป็นเจ้าของ เราจึงไม่เห็นต่างชาติ เช่นเอเชียและตะวันออกกลางเข้าไปเพิ่มทุนธนาคารและบริษัทอเมริกาและยุโรปอย่างที่น่าจะเกิดขึ้น
2. การแก้ปัญหาแบบ อมโรค
การกดดอกเบี้ยลงต่ำเกือบศูนย์นั้น เป็นการไม่ยอมรับความจริงว่า ราคาสินทรัพย์ควรปรับลดลงอย่างมาก ซึ่งการพยุงให้ราคาสินทรัพย์สูงกว่าความเป็นจริง ส่งผลให้ผลตอบแทนของสินทรัพย์ต่ำ นั่นคือกำไรต่ำ รายได้ต่ำ และจ้างงานต่ำเป็นเงาตามตัว เศรษฐกิจจึงจะไม่ฟื้น หรือฟื้นตัว อย่างเชื่องช้า ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงที่เศรษฐกิจอาจฟุบตัว เพราะเศรษฐกิจนั้นเหมือนการถีบจักรยาน หากถีบช้าเกินไปก็อาจล้มลงได้โดยง่าย ดังนั้น ธนาคารกลางของอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่นจึงต้องการกดดอกเบี้ยลงทั้งดอกเบี้ยระยะสั้นและระยะยาว โดยพิมพ์เงินออกมาซื้อพันธบัตรทุกประเภท (ทั้งของรัฐและเอกชน) ทั้งที่เป็นพันธบัตรระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งสภาวการณ์ดังกล่าวน่าจะ ยืดเยื้อต่อไปอีกอย่างน้อย 1-2 ปี
ดังนั้น จึงต้องเข้าใจสภาพของเศรษฐกิจโลกใหม่หลังวิกฤตเศรษฐกิจว่า เป็นสภาพที่ธนาคารกลางของประเทศหลักที่มีสัดส่วน 60% จีดีพีโลกและเป็นประเทศที่เป็นเจ้าของเงินสกุลหลักของโลก (คือดอลลาร์สหรัฐ ยูโร และเยน) จะตั้งหน้าตั้งตาพิมพ์เงินออกมาอย่างไม่ลดละ เพื่ออุ้มเศรษฐกิจของตัวเอง จึงไม่น่าแปลกใจที่ราคาทองคำปรับ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะทองคำกำลังจะกลายเป็นเงินสกุลหลักของโลกชนิดเดียวที่มีอุปทาน หรือปริมาณผลิตจำกัด
3. ผลกระทบต่อไทยและเอเชีย
สิ่งที่ท้าทายประเทศไทย คือ เศรษฐกิจเรากำลังจะกลับไปสู่การขยายตัวปกติ เพราะเราไม่ได้เผชิญกับวิกฤตภาคธนาคารที่ต้องมีการตัดหนี้เสียและเพิ่มทุน ธปท.จึงต้องการปรับดอกเบี้ยกลับไปสู่ระดับปกติ เช่นในกรอบนโยบายเป้าหมายเงินเฟ้อ (inflation targeting) ของ ธปท.นั้น หากเป้าหมายเงินเฟ้ออยู่ที่ 2% ต่อปี ก็ต้องปรับดอกเบี้ยนโยบายจากปัจจุบันที่ 1.75% ไปที่ 3% แปลว่าต้องปรับดอกเบี้ยขึ้นอีก 1.25% แต่ในสภาวะโลกที่ดอกเบี้ยของเงินสกุลหลักอยู่ใกล้ศูนย์ก็จะกระตุ้นให้เงินทุนไหลเข้ามาในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ตัวอย่างเช่น เมื่อเศรษฐกิจไทยขยายตัวดีและเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ในขณะที่พันธบัตรรัฐบาลไทย 2 ปี ผลตอบแทน (ดอกเบี้ย) 2.4% เปรียบเทียบกับพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐให้ ผลตอบแทนเพียง 0.4% ก็น่าจะสรุปได้ว่าเงินทุนจะไหลเข้ามาลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลไทยโดยไม่ต้องกลัวความเสี่ยง เพราะกำไรแน่ๆ ทั้งจากส่วนต่างดอกเบี้ยและเงินบาทที่มีแต่จะแข็งค่าขึ้น
ข้อสรุปคือ หากโลกเขาจะกดดอกเบี้ยลงต่ำแล้วไทยจะดันดอกเบี้ยให้สูงกว่าของโลกอย่างมากได้อย่างไร
4. หากไม่ขึ้นดอกเบี้ยและแทรกแซงค่าเงินบาท
หาก ธปท.ไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ย ก็จะเพิ่มความเสี่ยงอย่างมากที่จะปล่อยให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อและฟองสบู่ในราคาสินทรัพย์ประเภทต่างๆ เช่นในหุ้นหรือภาคอสังหาริมทรัพย์ ในช่วงแรกนั้นคงไม่มีใครต่อว่า เพราะดูเสมือนทุกคนรวมทั้งรัฐบาลก็จะพอใจที่เศรษฐกิจคึกคักอย่างมาก แต่ความคึกคักจะกลายเป็นความคึกคะนองและฟุ้งเฟ้อได้ในที่สุด ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้กำหนดนโยบายไม่ต้องการให้เกิดขึ้น
และหากจะเข้าไปแทรกแซงโดยการซื้อเงินดอลลาร์และขายเงินบาทออกมา เพื่อช่วยไม่ให้เงินบาทแข็งค่าก็จะเป็นภาระอย่างมากต่อธนาคารกลาง ดังที่ผมเคยเขียนถึงมาแล้วในครั้งก่อนหน้านี้ แต่ที่สำคัญคือ จะต้องเข้าใจว่าสิ่งเกิดขึ้น คือ ธนาคารกลางเอเชียกำลังซื้อเงินสกุลหลักของโลกเป็นจำนวนมาก คือถือดอลลาร์ เยนและยูโรเพิ่มขึ้น ซึ่งมีผลตอบแทนต่ำมาก เช่น พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 2 ปี ได้ดอกเบี้ยเพียง 0.4% ขณะที่นักลงทุนต่างชาติ (ที่ไม่ต้องการลงทุนในประเทศของตนเพราะดอกเบี้ยต่ำใกล้ศูนย์) ขนเงินมาลงทุนในไทยและเอเชียโดยได้ผลตอบแทนสูงกว่า เท่ากับว่าได้รับการอุดหนุนจากธนาคารเอเชียนั่นเอง
5. ทางเลือกอื่นๆ
หากไม่แทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนเลย ก็จะส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว และกระทบต่อธุรกิจส่งออกของไทยอย่างมาก เพราะภาคเศรษฐกิจจริงปรับตัวได้ช้ากว่าการไหลเข้าของเงินทุนที่ทำได้โดยทันที และเกือบจะไม่มีต้นทุนในการเคลื่อนย้ายเลย การปล่อยให้เงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็วย่อมจะทำให้เงินเฟ้อลดลงอย่างมาก ซึ่งมีผลให้ดอกเบี้ยจริง (ดอกเบี้ยจริงคือ ดอกเบี้ยลบด้วยอัตราเงินเฟ้อ) ปรับขึ้น และชะลอการขยายตัวของเศรษฐกิจ แต่เศรษฐกิจไทยคงจะต้องชะลอตัวลงอย่างมากจนกระทั่งดอกเบี้ยใกล้ศูนย์ของประเทศหลักนั้นเหมาะสมกับสภาวะการชะลอตัวของไทยดังกล่าว เว้นแต่ว่า เศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วจะฟื้นตัวทำให้เขาต้องปรับดอกเบี้ยขึ้น และดอกเบี้ยของเราก็จะสามารถปรับขึ้นตามไปด้วย
และด้วยเหตุนี้จึงได้มีการคาดการณ์ว่า ในที่สุดธนาคารกลางของเอเชียอาจต้องเลือกมาตรการควบคุมการไหลเข้าของเงินทุน หากมีเม็ดเงินไหลเข้ามาอย่างมาก เพื่อให้สามารถปรับดอกเบี้ยภายในประเทศขึ้นได้ อันจะเป็นการรักษาวินัยทางการเงินและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ กล่าวคือการเข้าไปควบคุมการไหลเข้าของเงินทุนในสถานการณ์ดังกล่าว สามารถอธิบายเหตุผลได้ แต่ต้องเข้าใจด้วยว่า แม้มีมาตรการดังกล่าว การแข็งค่าของเงินบาทก็น่าจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ผู้ส่งออกก็จะต้องปรับตัว เพียงแต่จะมีเวลาปรับตัวที่สมเหตุสมผลครับ
 
เตือนมาตรการ QE2 ทำให้เกิดฟองสบู่ตลาดหุ้น-อสังหาฯ PDF Print E-mail
Thursday, 04 November 2010 15:34
                บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด รายงานว่า ผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เมื่อวันที่ 2-3 พฤศจิกายน 2553 ที่ผ่านมาเป็นไปตามที่คาด โดยเฟดมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในกรอบร้อยละ 0.0-0.25 ตามเดิม พร้อมกับประกาศโครงการซื้อสินทรัพย์รอบสอง (Quantitative Easing Measures II: QE 2) มูลค่าประมาณ 6.0 แสนล้านดอลลาร์ฯ จนถึงกลางปี 2554 ซึ่งก็เท่ากับว่า จะมีการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ระยะยาวด้วยวงเงินประมาณ 7.5 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ต่อเดือนนับจากนี้ ทั้งนี้ เฟดระบุเพิ่มเติมว่า เฟดจะทำการทบทวนจังหวะการเข้าซื้อ รวมถึงขนาดของโครงการซื้อสินทรัพย์รอบสองนี้ เป็นระยะๆ เพื่อให้เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า จุดยืนเชิงนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายของเฟดดังกล่าว (และน่าที่จะมีการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มขึ้นอีกตามระดับความเสี่ยงต่อการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในระยะข้างหน้า) อาจเป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดผลกระทบทางอ้อม (Side Effect) ต่อสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศอื่นๆ นอกสหรัฐฯ ซึ่งย่อมจะทำให้ธนาคารกลางของประเทศเหล่านั้น มีความจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงิน ควบคู่ไปกับมาตรการด้านอื่นๆ ในการดูแล-ควบคุมความเสี่ยงเงินเฟ้อและภาวะฟองสบู่ เพื่อที่จะรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ที่ต้องรับมือกับความแปรปรวนของกระแสการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ
แนวโน้มอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่อาจจะอยู่ในระดับต่ำยาวนานกว่าที่คาด ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีมติเพิ่มเติมแรงหนุนต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในการประชุมนโยบายการเงินเมื่อวันที่ 2-3 พฤศจิกายน 2553 ด้วยมาตรการซื้อสินทรัพย์รอบสอง (QE 2) นอกเหนือไปจากการยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fed Funds Rate) ไว้ที่กรอบร้อยละ 0.0-0.25 ซึ่งเป็นระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ต่อไปอีกระยะหนึ่ง
เฟดเพิ่มระดับการผ่อนคลายเชิงปริมาณ โดยได้ประกาศมาตรการ QE 2 วงเงิน 6.0 แสนล้านดอลลาร์ฯ ในการซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งเกือบร้อยละ 90 เป็นพันธบัตรอายุ 2.5-10 ปี ในช่วงจากนี้จนถึงกลางปี 2554 นอกเหนือไปจากการใช้เม็ดเงินราว 2.5-3.0 แสนล้านดอลลาร์ฯ ที่ได้จากการครบกำหนดไถ่ถอนของหลักทรัพย์ที่เฟดถือครองในช่วงเวลาเดียวกัน (ภายใต้ QE รอบแรกวงเงิน 1.7 ล้านล้านดอลลาร์ฯ) กลับมาลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ดังนั้น จึงสามารถประเมินในเบื้องต้นได้ว่า โครงการซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ของเฟดทั้งในส่วนที่มาจาก QE 1+QE 2 จะมีมูลค่าประมาณ 1.1 แสนล้านดอลลาร์ฯ ต่อเดือน แต่มูลค่าการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ต่อเดือนอาจเพิ่มสูงขึ้นในระยะข้างหน้า หากความเสี่ยงในช่วงขาลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีมากขึ้น
เฟดผ่อนคลายระเบียบเพดานการถือครองหลักทรัพย์เพื่อการเปิดทางสำหรับมาตรการ QE 2 โดยระบุว่า สัดส่วนการถือครองหลักทรัพย์ประเภทหนึ่งๆ ของเฟด อาจเพิ่มขึ้นสูงเกินกว่าเพดานที่ร้อยละ 35 เป็นการชั่วคราว ทั้งนี้ เฟดได้ถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 12.5 ของยอดคงค้างรวมในปัจจุบัน ซึ่งหากมีการเข้าซื้อพันธบัตรเพิ่มเติมอีก 1 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ตามที่นักวิเคราะห์บางส่วนประเมินไว้ ก็อาจทำให้สัดส่วนของพันธบัตรรัฐบาลที่ถือครองโดยเฟดพุ่งขึ้นเป็นร้อยละ 27 ของยอดคงค้างรวม
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า คงไม่สามารถปฏิเสธว่า แนวทางการผ่อนคลายนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่เพิ่มไปจากการยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ในกรอบร้อยละ 0.0-0.25 ด้วยการประกาศโครงการซื้อสินทรัพย์ทางการเงินรอบสอง (QE 2) ซึ่งมีวงเงินเริ่มต้น 6.0 แสนล้านดอลลาร์ฯ ระยะเวลาราว 8 เดือน (จนถึงกลางปี 2554) นั้น จะกลายเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ปัญหาสภาพคล่องส่วนเกินในระบบการเงินโลกยังคงมีอยู่ต่อไปในช่วงหลายเดือนข้างหน้า ซึ่งก็อาจเป็นนัยว่า “ผลกระทบทางอ้อม หรือ Side Effect” ต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและความเสี่ยงฟองสบู่ราคาสินทรัพย์นอกสหรัฐฯ อาจเป็นสถานการณ์ที่ธนาคารกลางหลายๆ ประเทศ รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ จากประสบการณ์ของเศรษฐกิจญี่ปุ่นในช่วงกว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา สะท้อนได้อย่างชัดเจนว่า การวางแนวทางนโยบายการเงินที่ผิดพลาดไม่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ อาจกลายเป็นชนวนที่ก่อให้เกิดช่วงเวลาของภาวะตกต่ำยาวนานทางเศรษฐกิจ ภายหลังจากข้อตกลง Plaza Accord 1985 ที่ทางการ 5 ประเทศเข้าแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราร่วมกันเพื่อทำให้เงินดอลลาร์ฯ อ่อนค่าลงนั้น ทางการญี่ปุ่นที่ต้องรับมือกับปัญหาการแข็งค่าของเงินเยน ได้วางแนวทางนโยบายการเงินในเชิงผ่อนคลายด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ ซึ่งหลักฐานเชิงประจักษ์ที่เกิดขึ้นก็คือ เศรษฐกิจญี่ปุ่นสามารถขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่งในช่วงเวลาหนึ่ง พร้อมๆ กับการก่อตัวขึ้นอย่างรวดเร็วของภาวะฟองสบู่ภาคอสังหาริมทรัพย์ของญี่ปุ่น ทั้งนี้ การหมุนขั้วนโยบายการเงินเป็นเชิงคุมเข้มในจังหวะเวลาที่ช้าเกินไปของธนาคารกลางญี่ปุ่น กลายเป็นตัวแปรสำคัญ ที่ทำให้ผลกระทบที่มีต่อภาคธนาคารของญี่ปุ่นมีความรุนแรง และญี่ปุ่นต้องเผชิญกับความตกต่ำทางเศรษฐกิจพร้อมกับภาวะเงินฝืดยาวนานในช่วงเวลาหลังฟองสบู่แตกตัวลง
แม้ว่าสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและการเงินในปัจจุบันจะมีความแตกต่างไปจากประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของญี่ปุ่นในบางประเด็น โดยแนวโน้มการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ ในขณะนี้ มีต้นเหตุมาจากความกังวลต่อแนวทางการดำเนินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณของเฟด อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า บทเรียนสำคัญที่ธนาคารกลางชาติต่างๆ สามารถนำมาปรับใช้กับสถานการณ์ในปัจจุบันเพื่อรับมือกับ “ผลกระทบทางอ้อม หรือ Side Effect” ที่มีต่อเสถียรภาพของสกุลเงินและเศรษฐกิจโดยรวม ก็คือ การวางแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับพลวัตรทางเศรษฐกิจ เพื่อคงไว้ซึ่งเป้าหมายในการดูแลเสถียรภาพ ท่ามกลางกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศที่อาจมีความผันผวนมากขึ้น
สำหรับประเทศไทยนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า “ผลกระทบทางอ้อม” ประการแรก ที่เกิดขึ้นแล้ว ก็คือ การปรับตัวแข็งค่าของเงินบาทในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา และน่าที่จะมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องอีกในช่วงหลายเดือนข้างหน้า (เครือธนาคารกสิกรไทยคาดว่า เงินบาทอาจทดสอบระดับ 29.00 และ 28.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงที่เหลือของปี 2553 และในปี 2554 ตามลำดับ) ซึ่งทางการไทยก็ได้ทยอยผลักดันมาตรการแก้ไขและลดทอนผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท ควบคู่ไปกับการเข้าดูแลการเสถียรภาพและลดทอนความผันผวนของเงินบาทโดยธปท.ในตลาดปริวรรตเงินตรา
อย่างไรก็ดี “ผลกระทบทางอ้อม” ที่ต้องเฝ้าระวังใกล้ชิด ก็คือ การก่อตัวขึ้นของภาวะฟองสบู่ในสินทรัพย์หลายประเภทของไทย (ทั้งตลาดหุ้น ตลาดพันธบัตร และตลาดอสังหาริมทรัพย์) รวมไปถึงภาวะเงินเฟ้อ ที่อาจสร้างแรงกดดันต่อจุดยืนเชิงนโยบายของธปท.เพิ่มมากขึ้นในช่วงปีข้างหน้า ซึ่งอาจครอบคลุมถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และการควบคุมการปล่อยสินเชื่อในภาคอสังหาริมทรัพย์
แม้ทิศทางการแข็งค่าของเงินบาทและสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชีย อาจเป็นสถานการณ์ที่หลีกเลี่ยงได้ยาก แต่ก็คาดว่า ธปท.และธนาคารกลางในภูมิภาค อาจจำต้องพิจารณาใช้มาตรการดูแลการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศในระดับความเข้มข้นที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งมาตรการดังกล่าว อาจไม่ได้มุ่งเป้าหมายไปที่เสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น หากแต่เพื่อเสริมสร้างให้การดำเนินนโยบายการเงินด้วยเครื่องมืออัตราดอกเบี้ยเพื่อดูแลภารกิจด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและระดับราคาในประเทศมีประสิทธิผลเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ ทางการไทย และประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ที่ไม่มีข้อจำกัดทางด้านการคลัง ก็อาจพิจารณาจุดยืนนโยบายการคลังเป็นเชิงผ่อนคลาย เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจภายในประเทศที่ต้องรับมือกับความเสี่ยงหลายด้าน รวมถึงการชะลอตัวของการส่งออกในปีข้างหน้า


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น