วันอังคารที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ย้อนตำนานยุครุ่งเรืองภาพยนตร์จีนกำลังภายในและซีรี่ย์จีน ตอนที่ 1






ย้อนตำนานยุครุ่งเรืองของภาพยนตร์จีนและซีรี่ย์จีนกำลังภายใน


ถ้าจะกล่าวถึงตำนานบทแรกของภาพยนตร์จีนผมขอย้อนไปในยุคของภาพยนตร์จีนชอว์บราเดอร์ก่อน เพราะเป็นตักศิลาด้านภาพยนตร์จีนทั้งจีนสากลและจีนกำลังภายในที่วางรากฐานไว้อย่างดี และมั่นคงจนสืบเนื่องมาจนถึงยุคของภาพยนตร์จีนชุดทางทีวีในยุคต่อมาและจนมาถึงในยุคปัจจุบัน จึงขอปูพื้นที่เกร็ดคร่าวๆ เกี่ยวกับสตูดิโอชื่อดัง บ.ชอว์บราเดอร์ก่อนก็แล้วกัน

ชอว์บราเดอร์ ก่อตั้งโดย เซอร์ รันรันชอว์ ในยุค ปี 1924 ในยุคแรกจริงๆ ของหนังชอว์ จะเป็นแนวอุปรากรจีนเสียส่วนใหญ่ และเป็นละครเพลงในแบบจีนๆ เช่นที่โด่งดังมากก็คือ จอมใจจักรพรรดิ แสดงโดยหลินไต้ และอีกเรื่องนึงที่ดังมากก็คือ ม่านประเพณี (หรือความรักในหอแดง) นำแสดงโดย หลินปอ กับหลินไต้ และเพลงรักชาวเรือ ต่อมาเริ่มมีแนวกังฟูฟันดาบ ที่จัดว่าเป็นเรื่องแรกๆ ที่ทำให้เกิดเป็นแนวกำลังภายในก็คือ เดชไอ้ด้วน นำแสดงโดย หวังอยู่ และหงส์ทองคะนองศึก นำแสดงโดย เจิงเพ่ยเพ่ย ซึ่งเป็นพระเอกนางเอกแนวคิวบู๊ลำดับต้นๆ ต่อมาก็จะเป็นพวก หลิวเจียฮุย กลุ่มวีนอม (จอมโหด 5อสรพิษ)หลอลี่ เยี่ยะหัว ตี้หลุง ฟู่เซิง เอ๋อตงเซิน เดวิดเจียง ช่วงหลังก็จะมี เฉินกวนไถ้ กู้กวนจง ม้อเส้าชง ฉีเส้าเฉียน ว่านจื่อเหลียง เลสลี่จาง ไป่เปียว และเฉินหลง ด้วย ส่วนฝ่ายหญิง ก็จะมี เช่น หลินปอ หลินไต้ เจิงเพ่ยเพ่ย ฝงเป๋าเป่า เหลียงเพ่ยหลิง หมีเซียะ หวีอันอัน เหวินเซียะเอ๋อ เหมียวเข่อซิ่ว โอวหยังเพ่ยซัน
ผู้ทรงอิทธิพลของชอว์บราเดอร์ที่เป็นผู้ปลุกปั้นดาราและภาพยนตร์ของชอว์ ที่ดังๆ มี 3 คน ได้แก่ ฉุ่เอี๋ยน จางเชอะ (ผู้กำกับคิวบู๊) และ เหง่ยคัง (มือเขียนบ่ท)

สำหรับเรื่องราวเกี่ยวกับ ชอว์บราเดอร์นั้น คุณวิจิตร บุญชู ได้เขียนบทความ ย้อนตำนานหนัง ชอว์บราเดอร์ ลงใน หนังสือเนชั่นสุดสัปดาห์ ซึ่งขอยกมาให้ท่านอ่าน เพื่อได้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับการสร้างภาพยนตร์ของชอว์บราเดอร์

"...คนที่มีวัยสี่สิบปีขึ้นไปแล้ว เมื่อตอนที่ยังอยู่ในวัยเด็ก คงจะเคยดูหนังคาวบอย ที่พระเอกหน้าตาสกปรก เครารกรุงรัง ยิงกันสนั่นหวั่นไหว และที่สำคัญพระเอกแม่นปืนเป็นบ้า ทำให้เราอยากขี่ม้าทะยานไปในเมืองหาเรื่องชกต่อย แต่ไม่นานนักยุทธจักรหนังกำลังภายในก้าวเข้ามาแทน และเป็นครั้งแรกที่วงจรหนังฮอลลีวู้ดต้องอับเฉา อย่างไม่น่าเป็นไปได้ ผู้ที่ทำให้หนังฝรั่งตกอับเป็นระยะเวลาสามสิบปีในย่านเอเชียคือ ชอว์บราเดอร์ (SHAW BROTHERS)

พี่น้องตระกูลชอว์ อันมี เซอร์รัน รัน ชอว์ และรันมี่ชอว์ ( Ser. Run Run Shaw, Runny Shaw) ที่เริ่มเข้ามาสู่ธุรกิจภาพยนตร์ในปี 1924 มีโรงถ่ายหนังทั้งในสิงคโปร์และที่เซี่ยงไฮ้ เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนปกครองประเทศ พวกเขาก็อพยพทีมงานจำนวนหนึ่งเข้ามายังฮ่องกง เปลี่ยนพื้นที่รกร้างว่างเปล่า เป็นโรงถ่ายขนาดมหึมา มีการดำเนินธุรกิจแบบอุตสาหกรรมเต็มตัว สร้างหนังในรูปแบบที่มีกลิ่นอายอุปรากรจีน ตามความนิยมแห่งยุคสมัย ก่อนที่จะให้กำเนิดหนังแฟนตาซี อภินิหารเทพนิยายจีน แล้วแปลงรูปแบบเป็นหนัง กำลังภายในเรื่องแรก คือ อินทรีกายสิทธิ์ Temple of the red Lotus ได้รับความนิยมในความแปลกใหม่จนกระทั่งกลายเป็นหนังอีกแนวหนึ่งที่ก้าวล้ำนำหน้าตลาด

หนังกำลังภายในของชอว์บราเดอร์ โด่งดังถึงขีดสุดยุคแรกคือ การได้ผู้กำกับนักปั้นดารา อย่าง จาง เชอะ (Chang Chech) สร้าง หวังหยู่ (Jimmy Wang yu) ขึ้นมาในโลกภาพยนตร์กำลังภายในได้อย่างเหมาะเจาะ เขาโด่งดังจากหนังแนวแอ็คชั่นกำลังภายในเรื่องเดชไอ้ด้วน (One- Armed SwordMan) เมื่อปี 1967 ทำให้หนังแนวดารากำลังภายในผู้พิการ เป็นที่นิยมไปทั่ว และจากนั้นเป็นต้นมา ชอว์ก็ปั้นดาราจำนวนมากมาย เพื่อสร้างหนังแนวทางหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ดราม่า คอมาดี้ หนังสยองขวัญ ตลอดจนหนังระดับเรต R ที่ฮือฮากันมาก แต่ตราโลโก้ของชอว์นั้นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และเป็นที่ยอมรับกันมากที่สุด คือหนังกำลังภายใน

กำกับต้นตำรับอย่าง ฉีเจิ้งหง (Hsu Cheng Hung) จางเชอะ (Chang Chech) หูจินฉวน (King hu) ต่างมีผลงานที่สร้างชื่อและมีแนวทางเป็นของตัวเองมากมายด้วยกันในแนวกำลังภายใน หนังยุคหลังสุดก่อนที่ชอว์จะอำลาเวทีหนังกำลังภายในจอเงิน ออกไปสู่วงการโทรทัศน์คือ การนำเอาผลงานนวนิยายกำลังภายในของโก้วเล้ง (Ku Lung) มาสร้างติดต่อกันหลายเรื่อง โดยมีผู้กำกับ ฉู่เอี๋ยน (Chu Yuan) ที่มีอารมณ์ศิลปินละเอียดอ่อน ถ่ายทอดจินตนาการของผู้ประพันธ์ได้ดีที่สุด

และเมื่อชอว์บราเดอร์เปลี่ยนแนวทางธุรกิจของตน โรงถ่ายหนังก็ถึงคราว รกร้างว่างเปล่า ดาราจำนวนหนึ่งไปร่วมงานกับบริษัท โกลเดน ฮาร์เวสต์ (Golden Harvest) อดีตฝ่ายการเงินลูกหม้อเก่าชองชอว์นั่นเอง และตำนานของชอว์บราเดอร์ที่ดังคับฟ้าเอเชียก็ล่มสลาย ความทรงจำเก่าๆ เลือนหายไปในที่สุด นานกว่ายี่สิบปีที่กลบฝังอดีตรุ่งโรจน์ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ หรือถ้านับถึงวันนี้ ชอว์บราเดอร์มีอายุมานานกว่า 77 ปีแล้วในโลกเซลลูลอยด์ นานวันเข้า ปรากฏว่าแทบไม่มีคนรุ่นใหม่รู้จักชอว์บราเดอร์ แม้ว่าบรรดาแฟนพันธุ์แท้จะเรียกร้องหาหนังชอว์ในรูปวิดีโอมาตลอด ก็ไม่ประสพผลสำเร็จ

มีผู้พยายามขอซื้อสิทธิหนังชอว์บราเดอร์กันหลายราย แต่ข้อตกลงทางพันธสัญญาลิขสิทธิ์ ไม่บรรลุเป้าหมาย จนกระทั่งเมื่อตอนปลายปี 2002 ที่บริษัท Celestial Pictures Pressent ตัดสินใจเจรจาขอซื้อหนังชอว์จำนวนถึง 760 เรื่องจากหนังจำนวนกว่า 1,500 เรื่องที่เคยโด่งดังในอดีต และเป็นการนำเอาฟิล์มเนกาตีฟเก่าแก่ที่เริ่มผุพังไปตามกาลเวลามาทำดิจิทัลรีมาสเตอร์ใหม่ทั้งหมด กรรมวิธีคือ นำภาพที่ได้จากฟิล์มสีซีดจาง และรอยขีดข่วนมากมายมหาศาล มาตกแต่งที่ละเฟรมภาพ ลบรอยเปื้อน เติมสีให้ถูกต้องที่สุดเท่าที่จะทำได้ ต้องขอบคุณกระบวนการเทคโนโลยีดิจิทัลสมัยใหม่ การปรับภาพจากฟิล์มก่อนทรานสเฟอร์ออกมาใช้งานบันทึกลงในแผ่นดีวีดี หรือวิดีโอซีดี เป็นไปได้อย่างน่าอัศจรรย์

คนในรุ่นเก่าที่เคยมองหาหนังชอว์บราเดอร์ในรูปดีวีดี ก็คงจะสมใจแล้วในวันนี้ เพราะมีการจัดจำหน่ายหนังในอดีตที่โด่งดังทั่วเอเชียนั้น เดือนละประมาณ 20 เรื่อง สลับกันระหว่างหนังยุคแรก หนังยุคกลางที่รุ่งเรืองสุดขีด และหนังดังๆ ในช่วงยุคปลายของตำนานชอว์ฯ หนังดีวีดีที่จำหน่ายในเมืองไทยขณะนี้มีวางตลาดหลายเรื่องแล้ว ในจำนวนหนังเหล่านั้นหนังเด่นที่สุดคือ 'หงส์ทองคะนองศึก' (Come Drink with Me) ที่หูจินฉวน (King Hu) กำกับ และส่งชื่อของเจิงเพ่ย เพ่ย (Cheng Pei Pei) ขึ้นประดับเป็นดาวค้างฟ้าจนถึงปัจจุบัน ในฐานะราชินีนักดาบ ผู้ผสานเอาวิชาบัลเล่ต์ที่ร่ำเรียนมาเข้ากับลีลาการฟันดาบอย่างกลมกลืน หนังเรื่องหลังสุดที่เธอแสดงคือหนังออสการ์ของอังลี่ (Ang Lee) เรื่อง Chrouching Tiger Hidden Dragon ฝีมือยังคงโดดเด่นร้ายกาจเช่นเดิม

อีกเรื่องหนึ่งคือ 13 พยัคฆ์ร้ายค่ายพระกาฬ (The Heroic Ones) อันเป็นผลงานกำกับหนังที่มีโปรดักชั่นค่อนข้างใหญ่มากที่สุดเรื่องหนึ่ง มีนักแสดงที่หลายคนอาจจะพอรู้จักเป็นอย่างดี คือ เดวิดเจียง (Dvid Chaing) และตี้หลุง (Ti Lung) เป็นดารานำ และติดตามด้วยผลงานแนวกำลังภายในลึกลับเขย่าขวัญ ของ Chu yuan เรื่อง Killer Clans ซึ่งเป็นหนังที่ถือว่ามีบทหรือโครงสร้างเรื่องที่พิสดารพันลึกมาก เนื่องจากการเขียนหนังสือในยุคนั้น โก้วเล้งได้แฝงปรัชญาเอาไว้มากมาย

บรรดาอาม่า อากง และคนรุ่นราวอายุสี่สิบปีขึ้นไป ก็คงจะตื่นเต้นกับหนังเรื่องที่ดังระเบิดในยุคอุปรากรจีนยังมีอิทธิพลกับหนังจีน อาทิ จอมใจจักรพรรดิ ม่านประเพณี ที่นำมารีมาสเตอร์ใหม่ ที่เป็นระบบ 5.1 แชนแนล มาย้อนอดีตดูในช่วงยุคนี้ทำให้นึกถึงวัยเด็กขึ้นมาทันที บรรดาหนังโดดเด่นอีกหลายเรื่อง เมื่อนำมาบันทึกในรูปแบบดีวีดี ปรากฏว่ามีการตกแต่งทั้งภาพและเสียงให้ทันสมัยมากขึ้น ระบบเสียงสเตอริโอ หรือโมโนจากต้นฉบับ ถูกนำมาแยกแยะออกเป็นดอลบี้ดิจิทัล 5.1 แชนแนล อย่างที่เรียกว่า 'เนียน' กลมกลืนพอสมควร การใส่ปลายเสียงแหลมทำได้โดยไม่การรบกวนใดๆ จากแม่เทปต้นฉบับ หรือการจัดเอาเสียงต่ำที่มาสเตอร์ออกจะฟังดูทึบๆ ก็สดใสยิ่งขึ้น

หนังชอว์บราเดอร์ถือเป็นหนังอมตะที่น่าเก็บสะสม แม้ว่าจะผ่านกาลเวลามานาน การชุบชีวิตหนังเหล่านี้ให้กลับคืนมา ก็เพื่อที่จะจัดจำหน่ายให้กับคนสองรุ่น คือ คนรุ่นใหม่ที่ไม่เคยรู้จักหนังชอว์ฯ และไม่รู้ว่าการสร้างหนังของคนสมัยก่อน มีความละเอียดและสร้างได้ดีเพียงไร กับแฟนพันธุ์แท้ที่รอคอยเก็บสะสมหนังอมตะของชอว์หลายเรื่องที่ยังคงฝังอยู่ในใจ เพราะยุคหนึ่ง หนังเหล่านี้คือวัฒนธรรมบันเทิงของคนในเอเชียเลยทีเดียว ดีวีดีที่มีวางขายในฮ่องกง พูดจีน บรรยายภาษาอังกฤษ จะแตกต่างจากฉบับที่ในตลาดเมืองไทย คือแผ่นดีวีดีโซนที่ 3 ในไทยนั้นจะมีการพากย์เสียงไทยลงไปด้วย หรือสามารถที่จะดูจากภาษาจีนและซับไตเติ้ลบรรยายภาษาไทย ก็แล้วแต่ว่าจะเลือกฟังในระบบใด การนำหนังกำลังภายในชอว์บราเดอร์ ระดับอมตะ มาจัดทำในรูปดีวีดี คืออีกหนึ่งทางเลือกของนักดูหนัง หลังจากที่ไปหาซื้อจากแถบเยาวราชในแบบวิดีโอเทปที่ปราศจากความสดใสเฉกเช่นดีวีดี โลกของภาพยนตร์กำลังภายใน คือจินตนาการที่ไม่มีขอบเขตสิ้นสุด

และนี่คืออีกบางส่วนที่พูดถึงตำนานหนังชอว์บราเธอร์กับผู้กำกับคู่บุญหรือเป็นเจ้าพ่อชอว์บราเธอร์นั่นคือ จางเชอะตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสาร BIOSCOPE ฉบับ ปก AMERICAN GANGSTER (อ่านเพิ่มเติมที่ :หนังจีนของชอว์บราเธอร์สและสังคมไทย โดย นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จากนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 25 ฉบับที่ 9 กค. 2547)
ชื่อของ ชอว์ บราเดอร์ (SHAW BROS.) นั้นผูกพ่วงอยู่กับ การเกิดและดับของหนังกำลังภายใน เพราะนี่คือสตูดิโอที่ใหญ่ที่สุดในฮ่องกง เริ่มสร้างหนังมาตั้งแต่ยุค 40 และมีผู้กำกับคนสำคัญในสังกัดมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ‘หลี่ฮั่นเสียง‘ กับหนังอุปรากรโบราณอันรุ่มรวยทางวัฒนธรรม หรือ‘ คิงฮู ‘(หูจินฉวน) ผู้กำกับที่แผ้วถางทางศิลปะให้กับหนังกำลังภายใน หากยังมีผู้กำกับคนสำคัญอีกคน คนที่แม้ตอนมีชีวิตอยู่ถูกมองเป็นเพียงผู้กำกับหนังกำลังภายใน หนังกังฟูดาดๆ คนหนึ่ง แต่ในที่สุดกาลเวลาก็ได้พิสูจน์ว่า และเป็นผู้กำกับที่เป็นแรงบันดาลใจของผู้กำกับทั่วโลก พลิกโฉมหน้าวงการหนังหมัดมวยไปตลอดกาล และยังทรงอิทธิพลอยู่จนถึงทุกวันนี้ เปล่าประโยชน์ที่เราจะขึ้นต้นบทความนี้ด้วยการอ้างชื่อถึงผู้กำกับฝรั่งตาน้ำข้าวที่ได้รับอิทธิพล จากเขา เพราะความคลาสสิคไม่จำเป็นต้องได้รับการรับรองจากฝั่งตะวันตกแต่อย่างใด ขอเพียงเอ่ยนาม ‘ จางเชอะ ‘ (CHANG CHEH) เราก็รับทราบได้ทันทีโดยไม่ต้องอ้างอิง เพราะเขาคือผู้กำกับที่คนไทยอายุเลยสี่สิบกว่าค่อนประเทศ รู้จักมักคุ้น กับบางคนตัวละครเหล่านี้เคยเป็นฮีโร่ในดวงใจในวัยเด็ก จำได้ไหม ใครแอบฝึกวิทยายุทธอยู่หลังบ้าน!

ดาบไอ้หนุ่ม
จางเชอะ มีชื่อจริงว่า CHANG YIK YANK เกิดเมื่อปี1923 ใน HANGZHOU มีบิดาเป็นขุนนาง และเคยติดตามบิดาไปร่วมรบกับญี่ปุ่นตั้งแต่อายุ 15 ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เขาเรียนเกี่ยวกับการเมืองการปกครองที่มหาวิทยาลัย CHUNGKING ก่อนที่จะย้ายมาอยู่ไต้หวันตอนอายุ 26 ปี เริ่มต้นชีวิตในวงการหนังด้วยการเขียนบทหนังเรื่อง THE FALSE FACED WOMAN ตามด้วยการเขียนบทและร่วมกำกับ MOUTH TERBULENCE ในปี 1949 แต่วงการหนังไต้หวันในตอนนั้นกำลังซบเซา ทำให้งานของเขาไม่สู้ประสบความสำเร็จนัก ดังนั้นเพื่อเลี้ยงชีพนอกจากทำหนัง เขายังเขียนบทละคร เขียนนิยายกำลังภายใน เขียนบทวิจารณ์ภาพยนตร์ ไปจนถึงการเข้าร่วมกลุ่มออกรนิตยสารต่อต้านคอมมิวนิสต์ เขาย้ายมาฮ่องกงเมื่อได้รับการเชื้อเชิญจากดาราสาวยอดนิยมให้มากำกับหนังเรื่อง WILD FIRE ที่เธอแสดงเป็นตัวนำ ในปี 1958 นั่นเองที่ทำให้เขาได้พบกับพี่น้องตระกูลชอว์ และได้เข้าทำงานกับ ชอว์บราเดอร์สในฐานะหัวหน้าแผนกเขียนบท
ปี 1966 คิงฮู ทำ ‘หงษ์ทองคะนองศึก ‘( COME DRIK WITH ME) เปิดศักราชหนังกำลังภายในยุคใหม่เป็นเรื่องแรก หนังกำลังภายในของคิงฮูเน้นการวางองค์ประกอบภาพแบบหมดจดงดงาม การเคลื่อนไหวแช่มช้อย อาศัยความเงียบสร้างความกดดันก่อนต่อสู้แบบฉับไว ใช้รูปแบบของงิ้วเป็นหลักทั้งการเคลื่อนไหว และดนตรีประกอบ ส่วนตัวแสดงนำยังคงเป็นสตรี ตามความนิยมของหนังฮ่องกงในสมัยนั้นที่นิยมให้ตัวเอกเป็นผู้หญิง ปีเดียวกันนั้น จางเชอะ ทำ TIGER BOY ต่อด้วยจอมกระบี่กู้แผ่นดิน (THE MAGNIFICENT TRIO) และหันมาโฟกัสให้ตัวละครชายเป็นแกนนำ ในการณ์นั้นเขาปลุกปั้น ‘หวังอยู่ ‘ (WANG YU ) อดีตนักกีฬาทีมชาติที่หันมาเอาดีด้านการแสดง ก่อนที่ทั้งคู่จะลงหลักปักฐานประกาศศักดาหนังกำลังภายในรูปแบบใหม่กลางปี 1967 กับหนัง เดชไอ้ด้วน ( THE ONE- ARMED SWORDSMAN)เรื่องราวของชายหนุ่มลูกคนใช้ที่โดนคุณหนูประจำสำนักฟันแขนขาดด้วยความริษยา แต่เขาก็ยังยึดมั่นในคุณธรรม อาศัยดาบหักของพ่อเป็นอาวุธประจำกาย ตัวหนังนั้นทำเงินมหาศาล (ว่ากันว่านี่คือหนังฮ่องกงเรื่องแรกที่ได้รายได้มากกว่า หนึ่งล้านเหรียญสหรัฐ ) และ ทำให้ชื่อของจางเชอะ ดังกระฉ่อน

เดชไอ้ด้วน
หากเราเริ่มต้นนับหนังของ จางเชอะจาก เดชไอ้ด้วน เราอาจแบ่งหนังของเขาได้ตามดารานำชายที่เขาปลุกปั้นขึ้นมา ในปลายยุค 60 เขาร่วมงานกับ หวังอยู่ สร้างหนังกำลังภายในชั้นดีไว้มากมาย นับเฉพาะในปี 1968 เขาทำหนังชั้นเยี่ยมออกมาถึงสามเรื่อง นอกจาก เดชไอ้ด้วน ยังมี หงษ์ทองคะนองศึก ภาค 2 ( GOLDEN SWALLOW ) อันเป็นภาคต่อจากหนังดังของคิงฮูเรื่องนั้น (การได้ดูหนังทั้งสองเรื่องจะทำให้เราเห็นสไตล์อันแตกต่างของคนทั้งคู่ ได้ตั้งแต่ต้น ขณะที่คิงฮู แช่มช้อยสวยงามเน้นองค์ประกอบศิลป์ จางเชอะกลับดุดันกราดเกรี้ยว เน้นฉากต่อสู้ที่ออกแบบมาอย่างดี ซึ่งต่อมาทั้งคู่ต่างพัฒนารูปแบบของตนจนเข้าขั้นเทพ) และ อสูรเพชฌฆาต ( THE ASSASSIN)เรื่องของมือสังหารที่ยอมสละชีพเพื่อชาติ หนังในช่วงนี้ ยังคงยึดแบบแผนเดิมอยู่บ้าง หากลดทอนอารมณ์แบบงิ้วลง ผนวกเอารูปแบบ ของหนังคาวบอย และหนังซามูไรญี่ปุ่น มาใช้ด้วย เปิดพื้นที่ให้กับฉากสังหารเลือดสาดแบบสโลว์โมชั่น อันลือลั่น

แล้วหวังอยู่ก็แยกตัวจากจางเชอะออกไปกำกับหนังเอง จางเชอะจึงปั้นคือคู่หู ‘เดวิด เจียง‘ และ ‘ตี้หลุง‘กลายเป็นชื่อสำคัญควบคู่กับจางเชอะตลอดยุค 70 อันเป็นยุคทองของจางเชอะ หากหวังอยู่คือความนิ่งเงียบ โหดเหี้ยม ภายใต้มาดสุขุมเด็ดขาด เดวิด เจียง ก็คือขั้วตรงข้าม เพราะเขามาพร้อมกับร่างผอมเล็ก กับมาดยียวนกวนอารมณ์ (ในขณะที่ตี้หลุงมักได้รับบทตัวรอง ที่ยังคงความสุขุม) หนังในยุคนี้ มีทั้งหนังกำลังภายใน หนังกังฟูหมัดมวย หนังอิงประวัติศาสตร์ ลุเข้าสู่ครึ่งหลังของทศวรรษที่เจ็ดสิบ เขาร่วมงานกับฟู่เซิง ดาราหนุ่มหน้าตาขี้เล่น ที่กำลังจะกลายเป็น บรูซลี คนต่อไป ( เขาแจ้งเกิด หลัง บรูซลี ตายไม่นานนัก และตายลงจากอุบัติเหตุตั้งแต่ยังหนุ่มเช่นกัน ) ที่รับบทนำเป็น ‘ก๊วยเจ๋ง’ ใน มังกรหยก ( THE BRACE ARCHER ) ซึ่งจางเชอะตัดออกมาเป็นสี่ภาค แต่น่าเสียดายว่า เขาจำต้องตัดหลายๆรายละเอียดออก และต้องเฉลี่ยบทให้ดาราขาประจำหลายๆคนจนหนังดูลักลั่นเป็นภาพประกอบวรรณกรรมไป และสร้างกลุ่มนักแสดงเลือดใหม่ ที่เดียว 5 คนรวดจากหนังชุด จอมโหด 5อสรพิษ ( FIVE DEADLY VENOMS) อันประกอบด้วย กัวะจุ้ย, เจียงเซิง, หลอเมิ่ง, ลุ๊ฟง และซุนเจี้ยน ซึ่งบางคนในกลุ่มนี้นอกจากเป็นนักแสดง ยังมาทำหน้าที่เป็นผู้กำกับคิวบู๊ แทน หลิวเจียเหลียง และ ถังเจีย ผู้กำกับคิวบู๊ขาประจำของเขาที่ขัดแย้งกันกลางกองถ่ายจนออกไปสร้างหนังของตัวเอง หนังในยุคนี้ นอกจากจะมีหนังกำลังภายใน และ กังฟู (ที่โด่งดังสุดขีดหลังการมาถึงของบรูซลี) เขายังทำหนังกังฟูที่ว่าด้วยการต่อสู้ของวัดเส้าหลิน ที่โดดเด่นอีกชุดคือหนังชุด ห้าอสรพิษ ที่แยกภาคออกไปหลายรูปแบบ ทั้ง จอมโหดมนุษย์พิการ ( CRIPPLES AVENGERS ) เปลี่ยน 5อสรพิษ เป็น คนพิการ หรือ ไอ้หนุ่มตะลุยนรก (HEAVEN AND HELL ) ที่ทำได้คัลต์ถึงขนาด ส่งห้าอสรพิษ ไปป่วนสวรรค์ยันนรก (การออกแบบนรกในหนังนั้นโดดเด่นยิ่ง) และหนังที่สร้างจากนิยายกำลังภายใน โดยเฉพาะกับเรื่องของกิมย้ง ที่จางเชอะนำมาสร้างเป็นหนังบ่อยครั้ง ( แม้ว่าตัวหนังของเขาจะเหมาะกับความโดดเดี่ยวเดียวดายแบบโกวเล้งมากกว่า) กระทั่งหนังที่ดังที่สุดของเขาอย่าง เดชไอ้ด้วน ก็เอาเค้าโครงเรื่องมาจากเรื่องของเอี้ยก้วยในมังกรหยกภาคสอง มาดัดแปลงใหม่

หงษ์ทองคะนองศึก
ตลอดยุค 70 จางเชอะคลี่คลายการทำหนังหมัดมวย และหนังกำลังภายในไปอีกขั้น เขาเปลี่ยนหนังกึ่งงิ้วแบบโบราณให้เป็นหนังเต็มตัวด้วยการตัดต่อภาพแบบฉับไว เต็มไปด้วยฉากแอคชั่นเลือดสาด จนได้รับฉายา ผู้กำกับมะเขือเทศ (TOMATO DIRECTOR) อันเนื่องมาจากที่หนังของเขาใช้น้ำมะเขือเทศมาละเลงเป็นเลือดจำนวนมหาศาล ทันทีที่มีการฆ่าฟัน เลือดสีแดเข้มข้นกว่าปกติก็จะกระฉูดติดปลายดาบ ไหลรินลงนองพื้นท่วมเครื่องแต่งกายนักแสดงที่กำลังร่ายรำงดงามราวรับชม ระบำสังหาร อย่างเชื่องช้า ล้มกลิ้งไปบนพื้น หนึ่งในฉากสังหารสุดคลาสสิค คือฉาก สังหารโหดในโรงงิ้ว จาก แค้นไอ้หนุ่ม ( VENGEANCE) ที่เล่าเรื่องของหนุ่มนักร้องงิ้วที่โดนมาเฟียแย่งเมียและโดนสังหารก่อนที่น้องชายของเขาจะกลับมาล้างแค้น เมื่อตัวละครของตี้หลุงถูกสังหารโหด หนังตัดภาพการสังหารนองเลือด สลับกับฉากตายในการแสดงงิ้วของตัวตี้หลุงเอง การสะบัดผมเชื่องช้าค่อยๆล้มไปบนพื้น ทำให้ฉากนั้นกินเวลายาวนา และชวนช๊อค หรือฉากสังหารโหดแยกร่างเดวิด เจียง เป็นห้าส่วน ใน 13 พยัคฆ์ร้ายค่ายพระกาฬ ( THE HEROIC ONES ) ฉากเดวิดเจียง บุกเดี่ยวเพื่อสังหารตี้หลุง ใน เดชไอ้เปีย ( BLOOD BROTHERS ) หนังที่ว่าด้วยสามพี่น้องร่วมสาบานที่ต้องมาไล่ล่ากันเพราะเรื่องรักสามเส้า (หนังเรื่องนี้คลาสิค จนใครต่อใครนำมารีเมค ทั้งจอห์น วู ใน ‘กอดคอกันไว้อย่าให้ใครเจาะกะโหลก ‘(BULLET IN THE HEAD ) หรือฉบับ แดเนียล วู ซูฉี ที่เพิ่งลงโรงไปไม่นานนี้ แล้วยังกลายเป็นฉบับอลังการ อย่าง WARLOARD ที่กัลงจะลงโรงในไม่ช้านี้)

การใช้ภาพสโลว์โมชั่นในฉากสังหารโหด ซึ่งนำมาสู่ข้อถกเถียงที่คนรุ่นเก่ามี่ต่อหนังของจางเชอะ ด้วยข้อกล่าวหาว่านี่คือหนังที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ (ว่ากันว่าการเติมเลือดลงในฉากสังหารเป็นที่กล่าวขวัญมากเพราะในงิ้ว ไม่ว่าจะแทงกันสักกี่แผลก็ไม่มีเลือด การดำรงคงอยู่ของเลือดทำให้ความรุนแรงพุ่งขึ้นจนหลายคนรับไม่ได้)แต่จางเชอะก็ยังคงเดินหน้า สร้างความงามจากความตายต่อไป ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อฝั่งฟากตะวันตกมี ARTHUR PENN กับ BONNIE AND CLYDE (1967) และ SAM PECKINPAHที่ใช้ฉากสโลว์เลือดสาด กับTHE WILD BUCNH (1969)ตามออกมาด้วย (จางเชอะเริ่มใช้เทคนิคนี้ก่อนหนังทั้งสองเรื่องโดยเขาเริ่มใช้ตั้งแต่ 13พยัคฆ์ร้ายค่ายพระกาฬ (1966 )จางเชอะก็ยิ่งมั่นใจว่าเขามาถูกทางแล้ว

ฤทธิ์ไอ้หนุ่ม
ตัวละครชายของจางเชอะจะมีลักษณะคล้ายๆกัน พวกเขาคือคนหนุ่มที่ยึดมั่นในอุดมการณ์ และคุณธรรมน้ำมิตร ยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด ตัวละครหลักสวมชุดขาวก้าวเข้าไปในดงศัตรูอย่างไม่หวาดหวั่น ก่อนชุดขาว (ที่ทำให้การล้างแค้นกลายเป็นการชำระบาป) จะถูกย้อมจนแดงฉานด้วยสีเลือด ตัวละครใน แค้นไอ้หนุ่ม เดชไอ้หนุ่ม (THE DUEL) หรือ เดชไอ้เปีย ล้วนก้าวเข้าสู่ความตาย เพื่อล้างแค้นให้กับพี่น้อง ตามค่านิยมแบบจีนโบราณ (หากตีความตามกรอบคิดสมัยปัจจุบัน เราอาจค้นพบว่า หนังของจางเชอะนั้นอวลด้วยกลิ่นอาย โฮโมอีโรติค เมื่อตัวละครชายของเลือก ซาบซึ้งใจในห้วงเวลาของพี่น้องมากกว่า ห้วงเวลาของคนรัก และพร้อมจะสละชีพพร้อมกันเพื่อช่วยเหลือกัน ) และในบางตัวละคร มันถูกพัฒนาขึ้นไปถึงขั้นปลูกฝังค่านิยมรักชาติ เมื่อตัวละครในหนังอย่าง อสูรเพชฌฆาต ยอสังหารโหดตัวเองหลังลอบสังหารขุนนางโฉดเพื่อไม่ให้ตามสืบสวนต้นตอได้ หรือตัวละครใน ‘วีรบุรุษนิรนาม’ ( THE ANNOYNYMOUS HEROES) ที่ยอมสละชีพช่วยขบวนการปฏิวัติ หรือหากเดินทางผิดเฉกเช่นตัวละครในหนัง ‘นักชกจากชานตุง ‘( BOXER FROM SHANTUNG ) พวกเขาก็ยินดีชดใช้ด้วยชีวิต การใช้ตัวละครเป็นคนหนุ่มกล้าได้กล้าเสีย ที่ยึดมั่นในคุณธรรม ห้าวหาญและจบชีวิตเยี่ยงชายชาตรีทำให้ตัวละครของจางเชอะ ฮิตมากในหมู่วัยรุ่นยุคนั้น ในทางหนึ่งมันคือตัวละครที่ตอบสนองแฟนตาซีของคนหนุ่ม และยังช่วยตอกย้ำอุดมการณ์อันสูงส่งของชายชาตรีที่สละชีพเพื่อผู้อื่นอีกด้วย

ตลอดยุค 70 จางเชอะทำหนังไม่เคยหยุด สร้างดาราชายไว้ประดับวงการเป็นจำนวนมาก จนลุเข้าสู่ยุค 80 เมื่อชอว์บราเดอร์ เริ่มเสื่อมความนิยม และผู้บริหารหันไปจับธุรกิจ หนังทีวี (ด้วยการถือหุ้นในTVB บริษัทสร้างหนังชุดที่บ้านเรารู้จักกันเป็นอย่างดี ) หนังของเขาเองก็เสื่อมคลายมนต์ขลังลง ปี 1986 เขาย้ายไปอยู่แผ่นดินใหญ่ ตลอดเก้าปี เขาสร้างหนังไว้อีก 6 เรื่อง อย่างยากลำบาก ทั้งด้วยสังขารอันร่วงโรย และ รูปแบบการถ่ายทำที่เปลี่ยนแปลงไป (ว่ากันว่าเขาไม่คุ้นชินกับการถ่ายทำในสถานที่จริง เพราะตอลดยุค 70 หนังของเขาโดยมากถ่ายทำภายในโรงถ่ายของชอว์บราเดอร์

วีรบุรุษนิรนาม
เป็นการยากที่จะเขียนถึงหนังทั้งหมดของจางเชอะ ภายในพื้นที่อันจำกัด เพราะเขาทำหนังไว้ ร่วมร้อยเรื่อง แม้หลายต่อหลายเรื่องจะเข้าขั้นหนังคลาสสิค แต่ก็มีอีกจำนวนมากที่ด้อยคุณภาพจนไม่น่าจดจำ รูปแบบลีลาของจางเชอะนั้นถูกใช้ซ้ำๆในหนังของเขาเองจนในที่สุดมันกลายเป็นความฝืดเฝือ และถูกกลืนหายไปในโลกภาพยนตร์อันเชี่ยวกราก
” ช่วงเวลาที่สังคมเจริญก้าวหน้า , อุตสาหกรรมพัฒนา , และผู้คนเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังสร้างสรรค์ , ศิลปะและวัฒนธรรมก็ย่อมเจริญงอกงาม นี่คือสิ่งที่เคยเกิดขึ้นใน ยุคราชวงศ์ถังของจีน ยุโรปในยุค เรอเนสซองส์ และอเมริการในยุคแรกเปิดพรหมแดนตะวันตก และแม้จะเป็นเพียงเกาะเล็กๆ แต่ฮ่องกงในยุค 60 และ70 ก็เป็นแบบจำลองเล็กๆของสิ่งนี้ ” จางเชอะเคยกล่าวเอาไว้เช่นนี้ แม้เขาจะลาโลกนี้ไปแล้ว แต่หากใครสักคนพูดถึง ฮ่องกงในยุค 60 และ 70 ชื่อของจางเชอะ ย่อมปรากฏโดดเด่นโดยมิพักต้องอ้างอิงสิ่งใดเลยแม้แต่น้อย

เดชไอ้ด้วน
ตำนานหนังกำลังภายในของฮ่องกง นั้นจะเรียกว่าได้เกิดขึ้น อย่างรวดเร็ว ในช่วงปี 1965 – 1967 หลังจาก “ตั้งท้อง” กับหนังอย่าง หงศ์ทองคะนองศึก (Come Drink With Me) จนกระทั่งได้ “เกิด” ออกมาเป็นตัวเป็นตนกับหนังแห่งตำนานอย่าง เดชไอ้ด้วน (One Armed Swordsman ) ในปีต่อมานี่เอง
หนังทั้งสองเรื่องได้เติมเต็มความเป็น หนังกำลังภายในยุคใหม่ ที่สมบูรณ์พร้อมทั้ง ภาพวิชวลอันทันสมัยสมจริงสมจัง (ทั้งงานสร้าง และการออกแบบฉากต่อสู้) จนถึง เนื้อหาที่มีความลึกซึ้ง กินใจผู้คน โดย หงศ์ทองคะนองศึก ดูจะเป็นต้นตำรับแห่งองค์ประกอบอันแรก ส่วนองค์ประกอบที่สอง ก็ต้องให้เครดิตก็อดฟาเตอร์แห่งวงการนังฮ่องกง ที่ชื่อว่า จางเชอะ ที่เป็นผู้ริริ่ม และพัฒนาขึ้นมา ในการใส่วิญญานความร่วมสมัย ให้กับหนังแนวนี้เป็นคนแรก

เดชไอ้เปีย
งานของ จางเชอะ มักจะพูดถึงเกียรติ และความยิ่งใหญ่ของค่านิยมความเป็นพี่น้องร่วมสาบานของจีน The Blood Brothers ก็เช่นกัน หากแต่ หนังวาดภาพของประเด็นดังกล่าวในแนวทางของเรื่องราวโศกนาธกรรม เมื่อค่านิยมดังกล่าวถูกลบหลู่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น