วันพฤหัสบดีที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ย้อนตำนานยุครุ่งเรืองภาพยนตร์จีนกำลังภายในและซีรี่ย์จีน ตอนที่ 2

ยุคทองของภาพยนตร์จีนกำลังภายในหรือซีรี่ย์จีนทางทีวี
ยุคทองของหนังจีนสมัยที่เฟื่องฟูสุดขีด หนังจีนชุดส่วนใหญ่ที่นำมาฉายในเมืองไทยมาจาก 4 ค่ายใหญ่คือ

1. RTV คือชื่อย่อของ Rediffusion Television มีชื่อจีนว่า ลี่เตอ เป็นสถานีโทรทัศน์ของฮ่องกง ซึ่งมีบริษัทแม่สัญชาติอังกฤษ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 29 พ.ค. 1957

และในเดือนกรกฎาคม ปี 1982 สองพี่น้องตระกูลชิวแห่ง Far East Group เข้ามาซื้อหุ้น 50% และเปลี่ยนชื่อเป็น ATV ซึ่งย่อมาจาก Asia Television เมื่อวันที่ 24 กันยายน 1982 (แต่ในปัจจุบันหุ้นทั้งหมดถูกขายให้กับ Phoenix Satellite Television Holdings Limited แล้ว)

2. TVB คือชื่อย่อของ Television Broadcast มีชื่อจีนว่า อู๋เซี่ยน เป็นสถานีโทรทัศน์ของฮ่องกง ก่อตั้งขึ้นในปี 1967 และเริ่มออกอากาศครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 พ.ย. 1967

3. CTS คือชื่อย่อของ China Television System Inc. มีชื่อจีนว่า จงฮว๋าเตี้ยนซื่อ เรียกย่อๆว่า ฮว๋าซื่อ (หัวซื่อ) เป็นสถานีโทรทัศน์ของไต้หวัน ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 31ต.ค.1971

4. CTV คือชื่อย่อของ Commercial Television มีชื่อจีนว่า เจียอี้เตี้ยนซื่อ เรียกย่อๆว่า เจียซื่อ เป็นบริษัทของประเทศไต้หวันที่ได้รับการเชิญชวนจากรัฐบาลฮ่องกงให้มาก่อตั้งสถานีฟรีทีวีที่ฮ่องกงเมื่อวันที่ 7 ก.ย. 1975 นับเป็นสถานีแห่งที่สามในฮ่องกงต่อจากอาร์ทีวี (RTV) และทีวีบี (TVB) แต่มีอายุสั้นที่สุดเพียง 3 ปีเพราะประสบภาวะขาดทุนจนต้องปิดกิจการลงเมื่อวันที่ 22 ส.ค. 1978 เจียซื่อจึงมักถือว่าเป็นสถานีโทรทัศน์ของฮ่องกงเช่นเดียวกับอาร์ทีวีและทีวีบี

(หมายเหตุ: ในไต้หวันมีอีกสถานีหนึ่งที่ใช้ชื่อย่อ CTV เหมือนกัน แต่ชื่อเต็มคือ China Television Co. มีชื่อจีนว่า จงกว๋อเตี้ยนซื่อ ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 3 ก.ย.1968 และยังดำเนินการอยู่จนถึงปัจจุบัน นิยมเรียกว่า CTV (Taiwan) ส่วนเจียซื่อ นิยมเรียกว่า CTV (Hong Kong))


ในยุคนั้นหนังจีนจอแก้วมีการแข่งขันกันอย่างดุเดือดทั้งในฮ่องกงและในบ้านเรา ในฮ่องกง TVB และ RTV (ซึ่งต่อมาเปลี่ยนผู้ถือหุ้นและเปลี่ยนชื่อเป็น ATV เมื่อวันที่ 24 กันยายน 1982) รวมทั้ง CTV หรือเจียซื่อ ที่แม้จะมาทีหลังแต่ก็มาแรงไม่น้อยหน้าใคร แต่ละค่ายล้วนผลิตซีรีส์เด่นดาราดังมาให้ได้ชมกันไม่ขาดสาย
หมายเหตุ ซีรี่ย์ที่ผลิตขึ้นมาก่อนวันที่ 24 ก.ย.1982 จะใช้ชื่อสังกัด RTV แต่ถ้าผลิตมาหลังจากวันนั้นจะใช้ชื่อ ATV

ในขณะที่บ้านเราช่วงแรกช่อง 3 ในฐานะผู้บุกเบิกหนังจีนชุดในเมืองไทยแทบจะผูกขาดหนังดีหนังดังจากค่ายอาร์ทีวีซึ่งผูกเรื่องได้กระชับฉับไวและกินขาดคู่แข่งอย่างทีวีบีในด้านคิวบู๊เพราะมีบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านนี้หลายคนเช่น เซียวเซิง เฉิงเสี่ยวตง ฯลฯ (ซึ่งหลายปีต่อมาแต่ละคนได้ก้าวไปเติบใหญ่ได้ดิบได้ดีในวงการภาพยนตร์ ทำให้ยุคหลังวงการจอแก้วฮ่องกงขาดทรัพยากรสำคัญและเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เข้าสู่ยุคถดถอย) แต่ RTV มีจุดอ่อนอย่างหนึ่งคือขาดดาราแม่เหล็ก จึงต้องไปดึงตัวดาราหนังจอเงินมาเสริม หรือรับเอานักแสดงจากเจียซื่อหรือ CTV ที่ต้องปิดตัวลงในชั่วเวลาเพียง 3 ปี (1975-1978)


ส่วนช่อง 7 เมื่อถูกช่อง 3 ดึงหนังเด่นหนังดังจาก RTV ไปหมดเพราะเข้ามาทำตลาดหนังจีนหลังช่อง 3 ก็เลยไปยึดหัวหาดหนังจีนจาก TVB ซึ่งแม้จะมีจุดอ่อนเรื่องคิวบู๊แต่กลับมีจุดแข็งด้านนักแสดงเพราะมีดาราระดับแม่เหล็กในค่ายมากมาย ดังนั้นหนังจีนชุดยุคแรกในเมืองไทย นอกจากหนังไต้หวันของหัวซื่อซึ่งมีมาฉายประปรายที่ช่อง 9 แล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นหนังฮ่องกงโดยช่อง 3 มักเป็นหนังชุดจากค่าย RTV ส่วนช่อง 7 จะเป็นของ TVB แต่ในเวลาต่อมาก็เริ่มสลับขั้วมาเป็นช่อง 3 เอาหนังชุด TVB เข้ามา ช่อง 7 ก็เลยหันไปเอาหนังชุด RTV มาแทน จนในที่สุดทั้งสองช่องก็มีหนังชุดผสมปนเปกันทั้งสองค่าย ในขณะที่หนังชุดของเจียซื่อหรือ CTV ดูจะกระจายไปทุกช่องโดยค่อนข้างไปทางช่อง 7 ส่วนช่อง 5 ก้าวช้ากว่าเพื่อน หนังดีหนังดังถูกช่องอื่นกวาดไปหมดโดยเฉพาะหนังจีนกำลังภายในที่คนไทยกำลังเห่อในยุคนั้น ก็เลยต้องหันไปทำตลาดหนังจีนสากลแทน

รายชื่อภาพยนตร์จีนชุดที่เข้ามาฉายในเมืองไทยในยุคแรกๆ ได้แก่ เท่าที่ได้อ่านได้ฟังและได้ดูบางเรื่อง หนังจีนชุดยุคแรกๆ ที่ฉายในเมืองไทยได้แก่

เปาบุ้นจิ้น เวอร์ชั่นอี๋หมิงของไต้หวัน ปี 1974 ฉายทางช่อง 3 พ.ศ. 2517
ขบวนการเปาเปียว เวอร์ชั่นจางหลิงของไต้หวัน ปี 1974-1975 ฉายทางช่อง 9 พ.ศ. 2518
มังกรหยก เวอร์ชั่นไป่เปียว-หมีเซียะของเจียซื่อปี 1976 แต่ฉายทางช่อง 7 พ.ศ. 2521

เคยอ่านเจอจากเว็บของไทยบางแห่งบอกว่าอาจมีเปาบุ้นจิ้นของไต้หวันที่เก่ากว่าเวอร์ชั่นอี๋หมิงฉายทางช่อง 4 บางขุนพรม และเรื่องไซอิ๋ว, 18 มนุษย์ทองคำ แต่ไม่มีข้อมูลยืนยันแน่ชัด

และนี่คือเรื่องแรกๆ ที่ผู้เขียนเริ่มดูหนังจีนทางทีวี ก็คือ
1. มังกรหยก ยุคไป่เปียว-หมีเซี๊ยะ ค่ายเจี่ยซื่อ ช่อง 7
2. ลูกมังกรหยก หลอเล่อหลิน-หลีทงหมิง ค่ายเจี่ยซื่อ ช่อง 7
3. เพชรฆาตดาวตก (ดาวตก ผีเสื้อ กระบี่) หลอเล่อหลิน-เว่ยชิวหัว ค่ายอาร์ทีวี ช่อง 3
4. ซาเสี่ยวเอี้ย ว่านจือเหลียง ค่ายอาร์ทีวี ช่อง 3
5. นักสู้ผู้พิชิต เลสลี่ จาง - เหวินเซี๊ยะเอ๋อ ค่ายอาร์ทีวี ช่อง 3
6. จิ้งจอกภูเขาหิมะ หมีเซี๊ยะ-เหวินเซี๊ยะเอ๋อ ค่ายเจี่ยซื่อ ช่อง 9
7. อุ้ยเสี่ยวป้อ เหวินเซี๊ยะเอ๋อ ค่ายเจี่ยซื่อ ช่อง 3
8. หงส์ฟ้าประกาศิต หม่าไห่หลุน-เหวินเซี๊ยะเอ๋อ ค่ายเจี่ยซื่อ ช่อง 3
9. จอมใจจอมยุทธ เจิ้งเส้าชิว-วังหมิงฉวน-หวีอันอัน-จูเจียง-หลี่ซือฉี-หวงซู่อี้ ค่ายทีวีบี ช่อง 3
10. 18 มนุษย์ทองคำ ช่อง 7 ไม่แน่ใจว่าหนังค่ายไหน ขอเดาว่าเป็นเจี่ยซื่อหรือ CTV ฉายทางช่อง 7
11. หลวงจีนซันเต๋อ ช่อง 7 ไม่แน่ใจว่าหนังค่ายไหน ขอเดาว่าเป็นเจี่ยซื่ออีกนั่นแหละ ฉายทางช่อง 7
12. ฤทธิ์มีดสั้น จูเจียง-หวงเหยินเซิน-หวงซิงซิ่ว-โอวหยังเพ่ยซัน ค่ายทีวีบี ช่อง 3
13. กระบี่สะท้านบู๊ลิ้ม ฝงเป่าเป่า หวงซิงซิ่ว โอวหยังเพ่ยซัน ค่ายทีวีบี ช่อง 3
14 เล็กเซียวหงส์ หลิวสงเหยิน-หวงเหยินเซิน-หวงซิงซิ่ว หานหม่าลี่ ค่ายทีวีบี ช่อง 3
15. กระบี่ไร้เทียมทาน ฉีเส้าเฉียน-อูเว่ยกั๊วะ-หวีอันอัน หม่าเหมี่ยนเอ๋อ ค่ายอาร์ทีวี ช่อง 3
16. จับอิดนึ้ง เซี๊ยะเสียน หลี่ซือฉี หวงซู่อี้ ค่ายทีวีบี ช่อง 3
17. ดาบมังกรหยก เจิ้งเส้าชิว วังหมิงฉวน เจ้าหย่าจือ ค่ายทีวีบี ช่อง 3
18. จอมโจรจอมใจ เจิ้งเส้าชิว วังหมิงฉวน เจ้าหย่าจือ ค่ายทีวีบี ช่อง 7
19. ศึกชิงเจ้ายุทธจักร เจินเจียง ฉีเส้าเฉียน หมีเซี๊ยะ หวีอันอัน ค่ายอาร์ทีวี ช่อง 3
20. ยอดยุทธจักรมังกรฟ้า ไป่เปียว หวีอันอัน ค่ายอาร์ทีวี ช่อง 3
21. กระบี่แค้นคำรณ หลินกั๊วะสง พานจื้อเหวิน ค่ายอาร์ทีวี ช่อง 3
22. ซิมเซ่งอี่ พยัคฆ์ลำพอง ฉีเส้าเฉียน ค่ายอาร์ทีวี ช่อง 3
23. กระบี่เย้ยยุทธจักร โจวเหวินฟะ ชิเหม่ยเจิน ค่ายทีวีบี ช่อง 3
24 ฤทธิ์ดาบวงพระจันทร์ หลิวสงเหยิน เจ้าหย่าจือ ค่ายทีวีบี ช่อง 7
25. เซียวฮื่อยี้ หวงเหยินเซิน หวงซิงซิว สือซิ่ว หมีเซี๊ยะ ค่ายทีวีบี ช่อง 3
26. ศึกสายเลือด ภาค 1-2 เดวิด เจียง ว่านจือเหลียง หมีเซี๊ยะ ค่ายอาร์ทีวี ช่อง3
27. เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ ภาค 1-3 โจวเหวินฟะ หลี่เหลียงเหว่ย เจ้าหย่าจือ ค่ายทีวีบี ช่อง 3
28. ไอ้มังกรหมัดสิงห์โต หวงเหยินเซิน ค่ายอาร์ทีวี ช่อง3
29. จอมยุทธพเนจร โจวเหวินฟะ โอวหยังเพ่ยซัน จวงจิ้งเอ๋อ ค่ายทีวีบี ช่อง 3
30. นักชกผู้พิชิต ภาค 1-2 หวงเหยินเซิน บรูซเหลี่ยง หมีเซี๊ยะ เว่ยชิวหัว ค่ายอาร์ทีวี ช่อง3
31. คมเฉือนคม ภาค 1-2 เยิ่นต๊ะหัว เซี๊ยะเสียน หวังหมินฉวน ค่ายทีวีบี ช่อง 3
32. ฤทธิ์หมัดสะท้านบู้ลิ้มภาค 1-2 ว่านจือเหลียน กับ หมีเซียะ ค่ายอาร์ทีวี ช่อง3
33. เหยี่ยวถลาลม หวงเย่อหัว เหมียวเฉียวเหว่ย ค่ายทีวีบี ช่อง 7
34. ประกาศิตเหยี่ยวพญายม- เจิ้นเส้าชิว เจ้าอย่าจือ ค่ายทีวีบี ฉายช่อง 7
35. ศึกสองนางพญา หลิวสงเหยิน เดวิดเจียง หมีเซี๊ยะ หวีอันอัน ค่ายอาร์ทีวี ฉายช่อง 3
36. 14 นางสิงห์จ้าวยุทธจักร วังหมิงฉวน ฝงเป่าเป่า ค่ายทีวีบี ช่อง 3
37. เทพบุตรชาวดิน โจวเหวินฟะ เจิ้งอวี้หลิง ค่ายทีวีบี ช่อง 5
38. สมิงสาวใจเพชร หวงซิงซิ่ว ทังเจิ้นเอี้ย หยังพ่านพ่าน ค่ายทีวีบี ช่อง 3
39. ประกาศิตมังกรหยก เดวิดเจียง อู๋เว่ยกั๊วะ ฉีเส้าเฉียน ค่ายเอทีวี ช่อง 3
40. 13 องค์รักษ์ล่าพระกาฬ ทังเจิ้นเอี้ย หลี่หลินหลิน ค่ายทีวีบี ช่อง 3
41. 8 เทพอสูรมังกรฟ้า ทังเจิ้นเอี้ย หวงเย่อหัว หวงซิงซิ่ว เฉินอวี้เหลี่ยน สือซิ่ว ค่ายทีวีบี ช่อง 3
42. สองเทพบุตรโลกันต์ หลี่เหลียงเว่ย หวงเย่อหัว โอวหยังเพ่ยซัน หยังพ่านพ่าน ค่ายทีวีบี ช่อง 7


ยุครุ่งเรืองของหนังจีนชุดทางทีวีคือยุค RTV (ATV) VS ปะทะ TVB นั่นแหละ เกร็ดต่อมาก็คือ ซีรี่ย์กำลังภายในเรื่องแรกของ TVB คิดว่าเป็นจอมใจจอมยุทธ (ตำนานอักษรกระบี่) ปี 1976 แต่ไม่ใช่หนังโบราณเรื่องแรกของทีวีบีเพราะมีเก่ากว่านั้น เช่น เรื่องซูสีไทเฮา ปี 1975 เวอร์ชั่นวังหมิงฉวนเล่น ฯลฯ ส่วน ATV นั้นต่อเนื่องและแปลงมาจาก RTV ดังนั้นต้องหาซีรี่ย์กำลังภายในเรื่องแรกของ RTV ซึ่งหายาก ที่เคยผ่านตามีตั้งแต่ปี 1974 แต่รู้สึกเป็นแนวกังฟูเรื่องเหลียงเทียนไหล หรือแนวประวัติศาสตร์เรื่องซานกว๋อชุนชิว หรือสามก๊ก ปี 1976 และยังมีซีรี่ย์กำลังภายในปี 1977 ก็คือ ซาเสี่ยวเอี้ย นำแสดงโดย ว่านจื่อเหลียง ฉีเส้าเฉียน อันนี้ไม่แน่ใจว่าใช่เรื่องแรกของ RTV หรือเปล่า


ยุค CTV หรือเจียซื่อ เรื่องที่โด่งดังที่สุดน่าจะเป็นมังกรหยก เวอร์ชั่นไป่เปียวกับหมีเซียะเล่น ถึงขนาดต้องวิ่งกลับจากโรงเรียนเพื่อมาชมให้ทันช่วงเย็นทางช่อง 7 สี สำหรับไป่เปียวที่รับบทก๋วยเจ๋งนั้น แจ้งเกิดจากเรื่องนี้ และยังมีงานที่โด่งดังอีกเรื่องก็คือยอดยุทธจักรมังกรฟ้า หลังจากนั้นก็ไม่มีผลงานเด่นอีก ในส่วนของหมีเซียะ ที่รับบทอึ้งย้ง เธอยังได้รับความนิยมไปอีกหลายเรื่อง เรื่องเด่นๆ ที่เธอแสดงก็คือ จิ้งจอกภูเขาหิมะ ศึกชิงเจ้ายุทธจักร และมาดังเปรี้ยงปร้างในเรื่องศีก 2 นางพญาที่แสดงปะทะกับหวีอันอัน เรื่องต่อมาที่ประทับใจก็คือ เรื่อง หลวงจีนซันเต๋อ คิวบู๊สุดยอด และบทสนุกมาก จนเรียกได้ว่าสนุกที่สุดในยุคนั้นเลย
ยุคนี้เรื่องเทคนิคการถ่ายทำ การถ่ายภาพ ยังไม่เนี๊ยบ และภาพไม่สวย อาศัยพลังดารา ซึ่งส่วนใหญ่ดึงตัวมาจากชอว์บราเธอร์เกือบทั้งหมด แต่ค่ายนี้ก็มีอันต้องปิดตัวไปอย่างรวดเร็ว ทีมงานดาราทั้งหมดจึงย้ายไปอยู่ RTV หรือลี่เตอ

ยุค RTV หรือลี่เตอ ยุคนี้แหละถือได้ว่าเป็นยุคทองของหนังจีนกำลังภายในทางทีวีที่ดีที่สุดแล้ว ดังทุกเรื่อง จัดได้ว่าครบเครื่ององค์ประกอบทั้งในส่วนของพลังดารา ที่ส่วนใหญ่ยกทีมมาจากชอว์บราเธอร์ และ CTV บทประพันธ์ชื่อดังจากงานของกิมย้งและโกวเล้ง มือเขียนบทและคิวบู๊ การเดินเรื่องสนุก กระชับฉับไว เทคนิคการต่อสู้ คิวบู๊ยอดเยี่ยมไม่แพ้ชอว์บราเธอร์ มักถ่ายนอกสตูดิโอ ทำให้การลำดับภาพดูเหมือนชมภาพยนตร์มากกว่าดูทีวี เครื่องแต่งกาย ฉากสวยงาม ผู้แสดงทั้งนำและตัวประกอบเล่นได้อย่างสมบทบาท ซีรี่ย์ชื่อดังในค่ายนี้ที่ผู้เขียนประทับใจก็เช่น ศึกศรสวาท ซาเสี่ยวเอี้ย เพชฌฆาตดาวตก (ดาวตก ผีเสื้อ กระบี่) นักสู้ผู้พิชิต ที่เลสลี่จางแจ้งเกิดจากเรื่องนี้แสดงนำคู่กับเหวินเซียะเอ๋อ และที่จัดได้ว่าเป็นงานดีที่สุด ดังที่สุดของค่ายนี้ ก็คือ กระบี่ไร้เทียมทาน (เป็นซีรี่ย์ที่ได้รับการโหวตเป็นหนังจีนกำลังภายในในดวงใจอันดับ 1 ในเกือบทุกเว็บไซต์ที่เกี่ยวกับภาพยนตร์จีนกำลังภายในเรื่องนี้มักติดอยู่ในอันดับ 1-3 ตลอดกาล) อันดับรองลงมาคือศึกสายเลือด ยอดยุทธจักรมังกรฟ้า ศึกสองนางพญา ไอ้มังกรหมัดสิงโต นักชกผู้พิชิต ฤทธิ์หมัดสะท้านบู๊ลิ้ม กระบี่แค้นคำรณ ซิมเซ่งอี่ (พยัคฆ์ลำพอง) ฯลฯ ทั้งหมดนี้ควรหามาดูอย่างยิ่ง หากท่านใดยังไม่เคยได้ชม ก็ควรค่าแก่การหามาชมได้ น่าจะมีให้ชมได้ทาง youtube หรือ vcd/dvd ลิขสิทธิ์ พอผ่านจากยุค RTV จนเปลี่ยนชื่อมาเป็น ATV แล้วก็ยังมีอีกหลายเรื่องที่ยังคงโดดเด่นและเป็นสุดยอดสำหรับหนังของค่ายนี้อีกหลายเรื่อง อาทิ นางพญากระบี่มาร มู่กุ้ยอิง บูเช็คเทียน ซูสีไทเฮา งักฮุย ประกาศิตมังกรหยก เฮ้งบ่อกี้ ฯลฯ
ดาราดังของค่ายนี้ ได้แก่ ฝ่ายชาย ฉีเส้าเฉียน เดวิดเจียง บรู๊ซเหลียง อู๋เว่ยกั๋วะ หวงเหยินเซิน ว่านจื่อเหลียง พานจื้อเหวิน เหอเจียจิ้ง หลินกั๊วะสง ม้อเส้าชง เลสลี่จาง ฝ่ายหญิง ก็จะมี หมีเซียะ หวีอันอัน หลิวเซียะหัว เว่ยชิวหัว (2 รายหลังเป็นเด็กปั้นนางเอกเบอร์ 1 ของค่าย คล้ายๆ อั้ม พัชราภาและนุ่นวรนุช ของช่อง 7) หม่าเหมียนเอ๋อ และ หลี่ไฉฟ่ง เป็นต้น
นอกจากดาราในกลุ่มที่มาจากชอว์บราเธอร์แล้ว นักแสดงที่เป็นเด็กสร้างของ ATV นั้น ดังสู้คู่แข่งคือ TVB ไม่ได้ไม่ว่าจะเป็น พานจื้อเหวิน หวงเหยินเซิน เหอเจียจิ้ง หรือหลินกั๊วะสง พลังดาราน้อยกว่า อีกทั้งความสามารถในการแสดงก็สู้ไม่ได้ ทำให้ภายหลังช่วงยุคปลาย ATV ไม่ได้รับความนิยมจากผู้ชมเท่าที่ควร จนมีผลต่อการผลิตซีรี่ย์ลดลง จนในที่สุดทุกวันนี้ ATV ไม่ได้ผลิตซีรี่ย์เองแล้ว แต่นำเข้าซีรี่ย์จากไต้หวันและจีนมาฉายแทน

ยุค TVB หรือ อู๋เซี่ยน ถ้าจะกล่าวถึงยุคทองของทีวีฮ่องกงจริงๆ ต้องถือว่า TVB คือสถานีโทรทัศน์ที่ได้รับความนิยมในด้านเรตติ้งสูงสุดของฮ่องกง คล้ายช่อง 7 สีของบ้านเรา และหากจะเล่าถึงตำนาน TVB แล้วต้องย้อนไปในสมัยยุคแรกๆ ซึ่งยุคแรกๆ TVB มีดาราที่ย้ายมาจาก RTV และ CTV บางส่วน เป็นยุคก่อตั้ง ได้แก่ หวังหมินฉวน เจ้าหย่าจือ ว่านจื่อเหลียง หวงเหยินเซิน ดาราในยุคแรกของ TVB ฝ่ายชาย ได้แก่ จูเจียง (ฤทธิ์มีดสั้น) หลิวสงเหยิน (ฤทธิ์ดาบวงพระจันทร์,เล็กเซียวหงส์) เจิ้งเส้าชิว (จอมใจจอมยุทธ์,จอมโจรจอมใจชอลิ้วเฮียง) โจวเหวินฟะ (เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้,เทพบุตรชาวดิน) หลี่เหลียงเหว่ย (เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้) ฝ่ายชายนั้นจะมีเจิ้งเส้าชิวกับโจวเหวินฟะ เป็นหัวหอก เจิ้งเส้าชิวจะถนัดเล่นกำลังภายใน และทุกเรื่องที่เล่น เขาจะร้องเพลงนำทุกเรื่องเนื่องจากมีเสียงร้องและพรสวรรค์ด้านร้องเพลงดี เพลงประกอบไพเราะทุกเรื่อง (รายละเอียดเกี่ยวกับเพลงประกอบตอนท้าย) ส่วนโจวเหวินฟะ จะถนัดเล่นแนวสากล แต่ภายหลังทั้งเจิ้งเส้าชิวและโจวเหวินฟะ (โจวเหวินฟะ มาเล่นกระบี่เย้ยยุทธจักร ส่วนเจิ้งเส้าชิว มาเล่นเจ้าพ่อตลาดหุ้น) ก็สลับมาเล่นแนวสากลและแนวโบราณกำลังภายในได้ด้วยกันทั้งคู่ ฝ่ายหญิง ได้แก่ หวังหมินฉวน ต้องถือว่าเธอเป็นนางฟ้าเบอร์ 1 ของค่าย คล้ายๆ แอน ทองประสมของช่อง 3(จอมโจรจอมใจ,คมเฉือนคม) เจ้าหย่าจือ (เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้,เจ้าแม่กวนอิม) และนางฟ้าที่เหลือได้แก่ หลีซือฉี หวงซู่อี้ หวงซินซิ่ว โอวหยังเพ่ยซัน และเจิ้งอวี้หลิง (รายหลังนี่ถือเป็นนางเอกคู่บุญของโจวเหวินฟะ เพราะมาเล่นประกบคู่กันในเรื่องใด เรตติ้งพุ่งกระฉูดทุกเรื่อง เช่น เทพบุตรชาวดิน) จริงๆ แล้วพระเอกเบอร์ 1 และนางเอกเบอร์ 1 ของค่ายนี้ จะจับกันเป็นคู่ๆ ยุคแรกก็ เจิ้งเส้าชิว กับหวังหมินฉวนหรือ โจวเหวินฟะ กับเจิ้งอวี้หลิง ต่อมา TVB ปั้นพระเอกคนใหม่คือ เยิ่นต๊ะหัว โด่งดังและแจ้งเกิดจากคมเฉือนคม ยุคต่อมาเป็นยุคทองของ TVB อย่างแท้จริง ที่เรียกว่า ยุค 5 พยัคฆ์ทีวีบี ซึ่งได้แก่ ทังเจิ้นเยี่ย( 8 เทพอสูรมังกรฟ้า) เหมียวเฉียวเหว่ย (เหยี่ยวถลาลม,ชอลิ้วเฮียงถล่มวังค้างคาว) หวงเย่อหัว (มังกรหยก,2 เทพบุตรโลกันต์,เหยียวถลาลม) หลิวเต๋อหัว (มังกรหยก ภาคจอมยุทธ์อินทรี) เหลียงเฉาเหว่ย (ดาบมังกรหยก,อุ้ยเสี่ยวป้อ) พร้อมๆ กันนั้นก็มี นางเอกที่โด่งดังขึ้นมาในยุคนี้ที่เรียกว่า 9 เทพธิดามังกร ได้แก่ หลันเจี๋ยอิง เหมยเยี่ยนฟาง ส้างซันอันนา จางมั่นอวี้ อู๋จินหยู เจิงหัวเชี่ยน หลิวเจียหลิง หลอเหมยเหว่ย ชิวซู่เจิน และเส้าเหม่ยฉี ส่วนใหญ่จะเป็นนักเรียนการแสดงของช่อง คล้ายๆ นักเรียนการแสดงช่อง 3 บางคนอาจได้มาจากเวทีประกวดมิสฮ่องกง ก็คล้ายๆ ได้มาจากเวทีประกวดมิสไทยแลนด์เวิลด์อีกนั่นแหละ โมเดลคล้ายๆ กับ ช่อง 3 ใครเลียนแบบใครไม่ทราบ ซึ่งในยุคนี้มีซีรี่ย์ที่เป็นตำนานของค่ายเต็มเลย ไม่ว่าจะเป็น มังกรหยก แจ้งเกิด หวงเย่อหัว กะองเหม่ยหลิง, มังกรหยก ภาคจอมยุทธ์อินทรีและกระบี่เย้ยยุทธจักร แจ้งเกิดหลิวเต๋อหัว , 8 เทพอสูรมังกรฟ้า แจ้งเกิดทังเจิ้นเยี่ย , อุ้ยเสี่ยวป้อ แจ้งเกิด เหลียงเฉาเหว่ยและหลิวเต๋อหัว , ศึกลำน้ำเลือดแจ้งเกิด เหลียงเฉาเหว่ย เฉินอวี้เหลียน , เหยี่ยวถลาลมแจ้งเกิด เหมียวเฉียวเหว่ยและหวงเย่อหัว ฯลฯ ยุคทองผ่านพ้นไป เมื่อดาราที่มีพลังแม่เหล็กทั้งหลายผันตัวเองไปเป็นนักแสดงอิสระกันเกือบหมด ผ่านจากยุคนี้ ก็มีดาราในกลุ่มที่เล่นซีรี่ยชุด ขวัญใจโปลิศ คู่แค้นสายโลหิต และเพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด ก็ดังมาแพ็คกลุ่ม ได้แก่ อู๋ฉี่หัว กวนหลี่เจี๋ย หลิวชิงหวิน หลี่ฟาง ถูต้าอวี้ เฉินถิงเหว่ย พานหงปิน หลอเจียเหลียง เวิ่นเจ้าหลุน ถัดมาก็มีการปั้นพระเอกหน้าใหม่ที่ดังมากอีก 2-3 คน คือ กู่เทียนเล่อ กั๊วะจิ้นอัน จางเจ้าฮุย เจิ้งอวี้เจี้ยน ส่วนดาราด้านฝ่ายหญิง ที่ปั้นมาในยุคนี้ ได้แก่ หลี่เหม่ยเสียน เติ้งชุ่ยเหวิน เจิงหัวเชี่ยน และโจวไห่เม่ย เยอะแยะมากมายเสียเหลือเกิน ต่อมาเป็นยุคของ 4 จตุรเทพของฮ่องกง ซึ่งได้แก่ หลิวเต๋อหัว กั๊วะฟู่เฉิง หลี่หมิง และจางเซ๊ยะโหย่ว ซึ่งทั้ง 4 คนดังจากการออกอัลบั้ม ซิงเกิ้ลเดี่ยว และเล่นภาพยนตร์จอเงินมากกว่า สำหรับดาราในยุคหลัง แต่ไม่มีใครโดดเด่นเทียบเท่ายุคแรกกับยุค 5 พยัคฆ์ ด้านหลิวเต๋อหัวกับเหลียงเฉาเหว่ยพอดังแล้วก็ไปรับเล่นหนังใหญ่จนไม่ได้หวนกลับมาเล่นจอแก้วอีกเลย จนมาถึงยุคทีวีฮ่องกงตกต่ำนั่นคือยุคปัจจุบัน ที่ไม่มีซีรี่ย์เรื่องใดประสบความสำเร็จในแง่เรตติ้งหรือรายได้เทียบเท่าซีรี่ย์ในอดีต นานๆ จึงจะมีซีรี่ย์ฟอร์มใหญ่มาให้ได้ชมกัน อีกทั้งพลังดารา รวมถึงเทคนิคการถ่ายทำแม้จะพัฒนาด้านอุปกรณ์ การถ่ายภาพ กราฟฟิคดีไซน์ต่างๆ ไปไกลแล้ว แต่มนต์ขลัง หรือเสน่ห์บางอย่างแบบที่มีในหนังกำลังภายในแบบยุคก่อนแทบไม่มี ดูแล้วไม่สนุก ดาราไม่มีเสน่ห์ เนื้อเรื่องแม้จะกระชับฉับไว แต่ก็ขาดความเร้าใจ น่าติดตาม อาจเป็นเพราะสังคมยุคนั้นความบันเทิงมีอยู่น้อย ผู้ชมมีทางเลือกไม่มาก ผิดกับสมัยนี้ สิ่งเร้ายั่วตายั่วใจ มันมีหลากหลายทาง ทำให้มนต์เสน่ห์ของหนังจีนกำลังภายในมันหมดสิ้นไปแล้ว ประกอบกับการมาของซีรี่ย์เกาหลีที่สดใหม่กว่า ทั้งพลังดารา เสน่ห์ที่เป็นธรรมชาติของเขาที่ทำให้คนรัก เฉกเช่นเดียวกับหนังจีนกำลังภายในในอดีตเคยมีมานั่นแหละ คือจุดขายที่ทำให้ซีรี่ย์เกาหลีกลบกระแสหนังจีนเสียสนิทในยุคนี้ ขอภาวนาให้มนต์เสน่ห์ของหนังจีนกำลังภายในแบบเก่าๆ หวนคืนกลับมาอีกซักหน เพื่อให้คนรุ่นหลังได้มีโอกาสได้เชยชมบ้างก็ยังดี ไม่เสียชาติเกิด



และนี่คือ เพลงนำซีรี่ย์จีนที่โด่งดังมากที่สุด ในยุคอดีต









 


 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น