เล่าเรื่องจีน (ในโอกาสฉลองวันชาติจีน ครบรอบ 70 ปี) ตอนที่ 1
เหตุการณ์ก่อกำเนิดประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ ถ้าจะเล่าย้อนไทม์ไลน์ไปก็คงต้องตั้งต้นที่ช่วง "การปฏิวัติสาธารณรัฐ" แต่ว่าเหตุการณ์ก่อนหน้านั้น ได้แก่ ขบวนการอี้เหอกวน (ศึกพันธมิตร 8 ชาติ) , รัฐประหารอู้ซีว์ (戊戌政变) ,ขบวนการเลียนแบบตะวันตก (洋务运动) ,วาระสุดท้าย ซูสีไทเฮา - นานาชาติรุมทึ้ง ตั้งแต่สงครามฝิ่น เรื่อยมาจนถึงหลังแปดชาติพันธมิตรเข้ารุกรานจีน ได้ทำให้สถานภาพของประเทศจีนในขณะนั้นมีสภาพกึ่งเมืองขึ้น รัฐบาลจีนก้าวเข้าสู่สภาพฟอนเฟะและไร้สมรรถภาพ จนทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนต่างทุกข์ร้อนไปทั่วทุกหัวระแหง ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ ซุนจงซัน (孙中山) หรือซุนยัตเซ็น (孙逸仙) ก็ได้ลุกขึ้นมาแล้วเลือกเส้นทางที่จะผลักดันการปฏิวัติ เพื่อล้มล้างอำนาจของราชวงศ์ชิง
ซุนจงซัน ถือกำเนิดในมณฑลกวางตุ้ง และได้เดินทางติดตามมารดาไปยังฮาวาย ทำให้ได้เห็นความยอดเยี่ยมของเรือกลไฟ และความยิ่งใหญ่ของมหาสมุทร การเดินทางครั้งนั้นทำให้ซุนได้รับการศึกษาสมัยใหม่ไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษ ประวัติศาสตร์อังกฤษ คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ภายหลังได้เดินทางไปยังฮ่องกง และได้เข้าศึกษาจนจบวิชาการแพทย์ จากนั้นก็ได้เปิดรักษาคนในมาเก๊า และกวางตุ้ง
ในระยะแรกซุนเองก็ไม่ได้กล่าวถึงการปฏิวัติ กระทั่งในปีค.ศ. 1894 ได้ทดลองส่งหนังสือให้กับหลี่หงจาง ซึ่งในนั้นได้มีการเสนอรูปแบบการปฏิรูปในหลายประการ ทว่าหนังสือดังกล่าวถูกหลี่หงจางปฏิเสธ ด้วยความผิดหวัง ทำให้ซุนได้ไปจัดตั้งสมาคมซิงจงที่ฮ่องกง ผลักดัน “การขับไล่อนารยชน ฟื้นฟูประเทศจีน สร้างรัฐบาลแห่งมหาชนขึ้น”
ในปีค.ศ. 1905 ซึ่งตรงกับรัชกาลของฮ่องเต้กวงซี่ว์ปีที่ 30 มีการจัดประชุมขึ้นที่โตเกียว และในที่ประชุมนั้นซุนได้เสนอให้มีการจัดตั้งสมาพันธ์เพื่อการปฏิวัติขึ้น โพยหลังจากการปรึกษาหารือ ในที่สุดสมาพันธ์ถงเหมิงก็ได้ถือกำเนิดขึ้น
ในปีค.ศ. 1905 ซึ่งตรงกับรัชกาลของฮ่องเต้กวงซี่ว์ปีที่ 30 มีการจัดประชุมขึ้นที่โตเกียว และในที่ประชุมนั้นซุนได้เสนอให้มีการจัดตั้งสมาพันธ์เพื่อการปฏิวัติขึ้น โพยหลังจากการปรึกษาหารือ ในที่สุดสมาพันธ์ถงเหมิงก็ได้ถือกำเนิดขึ้น
>นอกจากนั้นซุนยังได้เสนอหลัก 3 ประการแห่งประชาชน หรือที่เราเรียกกันว่า ลัทธิไตรราษฎร์ (三民主义)ซึ่ง มีหลักการสำคัญได้แก่ ประชาชาติ หรือ การล้มล้างอำนาจการปกครองของราชวงศ์แมนจู ให้ทุกชนชาติในจีนมีสิทธิอันเท่าเทียมกัน หลักประชาสิทธิ คือให้ประชาชนมีสิทธิ มีอำนาจตรงในการปกครองตนเอง และหลักประชาชีพ คือให้มีความเสมอภาคในกรรมสิทธิ์ที่ดินและทางสังคม
การถือกำเนิดสมาพันธ์ถงเหมิง ที่ได้จับอาวุธลุกขึ้นต่อสู้กับราชสำนัก ถือเป็นการสั่นคลอนฐานะผู้ปกครองอย่างราชสำนักชิงเป็นอย่างยิ่ง จนกระทั่งเดือนเม.ย.ปีค.ศ. 1911ที่มีการลุกฮือขึ้นที่เนินดอกไม้เหลือง (黄花岗)ในกวางเจา มีบุคคลสำคัญและสมาชิกพันธ์ล้มตายเป็นจำนวนมาก มีการเก็บรวบรวมศพ 72 ศพไปฝังรวมไว้ โดยในประวัติศาสตร์ได้เรียกขานเป็น 72 วีรบุรุษ ณ เนินดอกไม้เหลือง อย่างไรก็ตามแม้ว่าการลุกฮือครั้งนี้จะประสบความล้มเหลว แต่เลือดเนื้อและชีวิตของวีรชนเหล่านี้ก็ได้ปลุกกระแสให้มีการล้มล้างราชวงศ์ชิงที่เข้มแข็งยิ่งขึ้น
<ฮ่องเต้องค์สุดท้าย - อวสานราชวงศ์ชิง
ระหว่างนั้น ในปีค.ศ.1908 ตรงกับรัชกาลฮ่องเต้กวงซี่ว์ปีที่ 34 ฮ่องเต้กวงซี่ว์ได้เปิดประชาวรอย่างหนัก จนในเดือนต.ค.ราชสำนักชิงต้องมีราชโองการแต่งตั้งให้ไจ้เฟิง เป็นผู้สำเร็จราชการ กระทั่งถึงวันที่ 21 เดือนต.ค. ในที่สุดฮ่องเต้กวงซี่ว์ก็เสด็จสวรรคต
พระนางซูสีไทเฮาได้มีราชโองการแต่งตั้งบุตรของไจ้เฟิงนามอ้ายซินเจี๋ยว์หลอ ผู่อี๋ (溥仪) หรือปูยีที่มีพระชนม์พรรษาเพียง 3 ปีขึ้นครองราชย์ มีชื่อรัชการว่าเซวียนถ่ง (宣统) แต่เนื่องจากที่พระองค์เป็นฮ่องเต้คนสุดท้ายในยุคราชวงศ์ของจีน ดังนั้นจึงมักถูกขนานนามว่าฮ่องเต้องค์สุดท้าย หรือจักรพรรดิองค์สุดท้าย ในขณะที่ซูสีไทเฮาเอง ก็ได้สวรรคตในเวลาเพียงไม่กี่วันหลังมีราชโองการแต่งตั้งผู่อี๋
ฮ่องเต้พระองค์สุดท้ายของจีน
ในช่วงเวลาที่ผู่อี๋ได้ครองราชย์ไม่ถึง 3 ปี หลังยุทธการเนินดอกไม้เหลืองแล้ว กลุ่มผู้นำสมาพันธ์ถงเหมิงได้ตัดสินใจย้ายศูนย์กลางการปฏิวัติไปยังเขตลุ่มน้ำแยงซีเกียง ในวันที่ 10 ต.ค. ได้เกิดสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงขึ้นที่อู่ชัง ทำให้กองทัพปฏิวัติที่นั่นจำเป็นต้องลุกขึ้นก่อการก่อนเวลาที่กำหนด บุกเข้ายึดเมืองอู่ชัง จากนั้นในวันถัดมากลุ่มปฏิวัติในฮั่นหยาง และฮั่นโข่วที่ได้ข่าวก็ได้ลุกขึ้นยึดเมืองทั้งสอง จนกระทั่งกลุ่มปฏิวัติสามารถควบคุมเมืองทั้งสามในอู่ฮั่นได้จนหมดสิ้น
การลุกฮือที่ประสบความสำเร็จในอู่ชัง ได้ปลุกกระแสการล้มล้างราชวงศ์ชิงให้ยิ่งขว้างขวางออกไป และส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ของราชสำนักต้าชิงเป็นอย่างยิ่ง จนกระทั่งในลำดับต่อมา ได้มีการจัดทั้งรัฐบาลทหารหูเป่ย และปรกาศเอกราชขึ้น หลังจากนั้นหูหนัน ส่านซี ซันซี หยุนหนัน เจียงซี กุ้ยโจว เจียงซู กว่างซี อันฮุย ฝูเจี้ยน กว่างตง ซื่อชวนก็ได้ทยอยกันประกาศเองราช ล้มล้างราชวงศ์ชิง ซึ่งประวัติศาสตร์ได้เรียกการปฏิวัตินี้ว่าการปฏิวัติซินไฮ่ (辛亥革命) ตามปีที่เกิดเหตุการณ์ขึ้น
เมื่อถึงเดือนม.ค. ปีค.ศ. 1912 สมาคมถงเหมิงได้ประชุมหารือกันที่นานกิง และจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวขึ้น และตั้งชื่อประเทศเป็น สาธารณรัฐจีน (中华民国) จากนั้นในเดือนถัดมาก็ได้บีบให้ฮ่องเต้ของราชวงศ์ชิงลงจากตำแหน่ง นับว่าเป็นการเปิดศักราชหน้าใหม่ของแผ่นดินมังกร และถือเป็นจุดจบของราชวงศ์ชิงที่มีอายุกว่า 200 ปี และเป็นการปิดฉากการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชกว่า 2,000 ปีของจีนลง
ส่วนผู่อี๋ หรือปูยี หลังจากที่สละราชสมบัติแล้ว ในปีค.ศ. 1917 ภายใต้ความพยายามของจางซวิน (张勋) ที่ผลักดันทำการปฏิวัติและประกาศฟื้นคืนราชวงศ์ชิงขึ้นมาใหม่ โดยยกให้ผู่อี๋กลับมาเป็นฮ่องเต้อีกครั้ง ทว่าเหตุการณ์ดังกล่าว ได้ถูกการรวมตัวต่อต้านจากทุกฝ่าย ท่ามกลางสถานการณ์และแรงกดดัน ทำให้อีก 12 วันให้หลังก็จำต้องประกาศยอมแพ้ และทำให้ผู่อี๋ต้องหลุดจากราชบัลลังก์อีกครั้ง
เมื่อมาถึงปีค.ศ. 1924 กองทัพของเฝิงอี้ว์เสียง (冯玉祥) ได้ปิดล้อมพระราชวังต้องห้าม พร้อมหันปากกระบอกปืนใหญ่เข้ามาในวัง แล้วบังคับให้ผู่อี๋ลงนามยกเลิกการเรียกเป็นฮ่องเต้ และกำหนดเวลาให้ออกไปภายในเวลา 2 วัน จากนั้นจึงได้อาศัยความสัมพันธ์ที่มีกับชาวญี่ปุ่น ช่วยให้ปลอมตัวเป็นพ่อค้า แล้วหลบไปพักอยู่ที่จางหยวน กับจิ้งหยวน
ปีค.ศ. 1931 หลังจากที่ญี่ปุ่นได้บุกยึดพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ได้ตั้งประเทศแมนจูกั๋ว (满洲国) ขึ้น จากนั้นก็ได้ลอบนำตัวผู่อี๋ไปยังแมนจู โดยผู่อี๋ยอมให้ความร่วมมือ และรับการแต่งตั้งให้เป็นฮ่องเต้ อย่างเป็นทางการในปีค.ศ. 1934
กระทั่งญี่ปุ่นพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศแมนจูกั๋วก็ถูกล้มล้างไป และในปีค.ศ. 1945 ขณะที่ทาหารญี่ปุ่นได้นำตัวผู่อี๋มายังสนามบินเสิ่นหยางเพื่อเดินทางกลับญี่ปุ่น ก็ถูกทหารของรัสเซียจับตัวไป แต่ก็ได้รับการดูแลจากทางรัสเซียเป็นอย่างดี จนถึงกับเคยเขียนหนังสือแสดงความจำนงต้องการอยู่ในรัสเซียตลอดชีวิตอยู่หลายครั้ง
ปีค.ศ. 1950 ผู่อี๋และนักโทษจากสงครามแมนจูกั๋วถูกส่งตัวกลับมาให้กลับรัฐบาลจีน และถูกกุมขังอยู่ร่วมกับนักโทษอื่นๆในสถานควบคุมที่ฮาร์บิน ใช้ชีวิตในฐานะนักโทษรหัสหมายเลข 981 เป็นเวลาเกือบ 10 ปี กระทั่งได้รับการนิรโทษกรรมในวันที่ 4 ธ.ค. 1959 กลายเป็นหนึ่งในประชาชนธรรมดาคนหนึ่งของจีน จนกระทั่งเสียชีวิตที่ปักกิ่งในปีค.ศ. 1967 ในขณะที่มีอายุรวม 61 ปี จึงถือเป็นอันจบสิ้นของฮ่องเต้องค์สุดท้ายแห่งแผ่นดินมังกร
เครดิตข้อมูลบทความจากคอลัมน์ธารประวัติศาสตร์ ตอน ราชวงศ์ชิงตอนจบ ,MGR online 31 ก.ค. 2551
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น