เอเอฟพี/เอเจนซีส์ -
เจ้าหน้าที่รักษาความมั่นคงกระจายกำลังออกไปรักษาการณ์ทั่วทั้งฟิลิปปินส์ ในวันนี้
(8 พ.ค.)
อันเป็นวันสุกดิบก่อนหน้าการเลือกตั้งใหญ่ของประเทศ
ซึ่งจะมีทั้งการชิงชัยตำแหน่งประมุขฝ่ายบริหาร และสมาชิกฝ่ายนิติบัญญัติ
ตั้งแต่ระดับประเทศไปจนถึงท้องถิ่น ทั้งนี้
ภายหลังจากช่วงเวลาการรณรงค์หาเสียงที่มีการโจมตีใส่กันอย่างดุเดือด ขมขื่น
และมีเหตุบาดเจ็บล้มตาย โดยจุดเด่นที่สุดย่อมเป็นเรื่องที่ โรดริโก ดูเตอร์เต
ตัวเก็งที่จะชนะได้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่
ปราศรัยข่มขู่ว่าจะใช้วิธีเข่นฆ่าอาชญากรจำนวนนับพันนับหมื่นให้จบสิ้นชีวิตไปเลย ผลการสำรวจความนิยมของสำนักต่าง
ๆ แสดงให้เห็นว่า ดูเตอร์เต นายกเทศมนตรีของดาเวา เมืองทางภาคใต้ของประเทศ
เป็นผู้ที่มีคะแนนนำอย่างชัดเจนในการเลือกตั้งซึ่งกำหนดจัดขึ้นในวันจันทร์ (9)
เมื่อผู้ออกเสียงนับล้าน ๆ
ต่างแสดงความพอใจต้อนรับการประกาศกร้าวของเขาที่จะใช้กำลังเจ้าหน้าที่ความมั่นคงเข้าจัดการเด็ดขาดกับอาชญากรรมซึ่งกำลังทวีตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว
รวมทั้งคำขู่คุกคามของเขาที่ว่าจะปิดรัฐสภาเสียเลย
หากฝ่ายนิติบัญญัติคัดค้านไม่ให้ความร่วมมือกับเขา ประธานาธิบดี เบนีโญ อากีโน
ซึ่งไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้ในคราวนี้
เนื่องจากข้อจำกัดทางรัฐธรรมนูญที่ให้ดำรงตำแหน่งประมุขประเทศได้เพียงสมัยเดียว 6
ปีเท่านั้น
ได้ออกมากล่าวเตือนหลายต่อหลายครั้งถึงอันตรายที่เมื่อได้ขึ้นดำรงตำแหน่งแล้ว
ดูเตอร์เต จะกลายเป็นจอมเผด็จการ
และในการกล่าวปราศรัยวันสุดท้ายของการหาเสียงเมื่อวันเสาร์ (7) เพื่อช่วย มาร์ โรซาส ที่เป็นผู้สมัครซึ่งพรรคลิเบอรัลของเขาส่งเข้าประกวด
อากีโน ถึงขั้นเปรียบเทียบ ดูเตอร์เต กับ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำของพรรคนาซีเยอรมัน
ทางด้าน ดูเตอร์เต ก็กล่าวหาโจมตีคณะบริหารของอากีโน ว่า กำลังวางแผน “โกงอย่างมโหฬาร” เพื่อทำให้อดีตรัฐมนตรีมหาดไทย
โรซาส ซึ่งผลโพลชี้ว่ามีคะแนนนิยมเป็นอันดับ 2 กลายเป็นผู้ชนะได้สืบทอดตำแหน่งประธานาธิบดีต่อไป
พวกผู้สนับสนุนของนายกเทศมนตรีปากกล้าผู้นี้ ยังเตือนว่า จะเกิด “การปฏิวัติ” ของประชาชน
ถ้าดูเตอร์เตกลายเป็นผู้พ่ายแพ้ ทว่า
ในเวลาเดียวกันนั้นก็มีบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องโยงใยอยู่กับฝ่ายทหาร
ออกมาข่มขู่ว่าอาจจะเกิดการทำรัฐประหารยึดอำนาจ หากดูเตอร์เตเป็นผู้ชนะ บรรยากาศของช่วงการเลือกตั้งในฟิลิปปินส์
ซึ่งตามปกติก็มีความสับสนอลหม่าน
และมีความเคยชินในวัฒนธรรมทางการเมืองที่นิยมใช้ความรุนแรงกันอยู่แล้ว
จึงยิ่งเพิ่มทวีความตึงเครียดมากขึ้นไปอีก “ถ้อยคำโวหารที่พวกเขาพูดกันออกมามีความเลวร้ายเอามาก
ๆ การตอบโต้กันของพวกเขาก็มีความเลวร้ายเอามาก ๆ
และนี่เท่ากับเป็นการส่งสัญญาณไปถึงพวกผู้สนับสนุนจำนวนมากให้เตรียมตัวและใช้ความก้าวร้าวรุนแรงเพิ่มมากขึ้นอีก”
อีริก อัลเวีย ผู้นำของกลุ่มเฝ้าติดตามการเลือกตั้งที่ใช้ชื่อว่า “ขบวนการพลเมืองแห่งชาติเพื่อการเลือกตั้งที่เสรี” (National
Citizens Movement for Free Elections) กล่าวให้ความเห็นกับเอเอฟพี “การรณรงค์หาเสียงคราวนี้ ก่อให้เกิดการแตกแยก
และทำให้ประชาชนจำนวนมากเกิดการแตกขั้วแบ่งข้าง
พวกเขาต่างรู้สึกว่าสามารถทำอะไรก็ได้เพื่อให้พวกเขาได้สิ่งที่ต้องการ” อัลเวีย ชี้ว่า
ความรุนแรงที่เกิดขึ้นมานั้นส่วนใหญ่เกิดในระดับท้องถิ่น
แต่เมื่อพวกผู้นำออกมาใช้ถ้อยคำโวหารอันโกรธเกรี้ยวเช่นนี้
ก็ยิ่งทำให้เรื่องลุกลามออกไป ตามตัวเลขของตำรวจทั่วประเทศ
มีผู้เสียชีวิตไปแล้วอย่างน้อย 15 คน
จากเหตุรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งในปีนี้ คดีต้องสงสัยว่าจะเป็นเหตุรุนแรงเช่นนี้กรณีล่าสุด
ได้แก่
คดีที่มีคนร้ายขว้างระเบิดมือเข้าไปในบ้านของขุนศึกทางการเมืองทรงอำนาจผู้หนึ่งในเขตจังหวัดมากีนดาเนา
เมื่อคืนวันเสาร์ (7) ซึ่งทำให้เด็กหญิงอายุ 9 ปี ผู้หนึ่งเสียชีวิต ทั้งนี้ ตามคำแถลงของ ผู้บังคับการตำรวจ โจนาธาน เดล
โรซาริโอ ผู้ทำหน้าที่โฆษกให้แก่กองกำลังเฉพาะกิจตำรวจติดตามการเลือกตั้ง
ซึ่งตั้งฐานอยู่ในกรุงมะนิลา โฆษกผู้นี้กล่าวว่า กำลัง 90% ของตำรวจทั่วประเทศ
ซึ่งมีอยู่ราว 135,000 คน ได้เข้าทำหน้าที่ต่าง ๆ
อันเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งแล้ว และได้รับอำนาจให้ถือปืนเล็กยาวจู่โจมได้ ทางด้านกองทัพก็แถลงเช่นกันว่า
กำลังทหารก็ได้รับมอบหมายให้เข้าทำหน้าที่ต่าง ๆ เกี่ยวกับการเลือกตั้ง การเลือกตั้งของฟิลิปปินส์นั้น
จัดพร้อมกันในวันเดียวตั้งแต่การชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดี, รองประธานาธิบดี,
สมาชิกวุฒิสภาจำนวนครึ่งสภา, สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด
ไปจนถึงระดับท้องถิ่นตั้งแต่ ผู้ว่าการจังหวัด, สมาชิกสภาจังหวัด
จนถึง นายกเทศมนตรี, สมาชิกสภาเทศบาล จากการที่มีผู้สมัครมากกว่า
44,000 คน เข้าแข่งขันเพื่อชิงตำแหน่งต่าง ๆ ราว 18,000
ตำแหน่งทั่วประเทศเช่นนี้ ยังส่งผลทำให้มีเรื่องการซื้อสิทธิขายเสียงเพิ่มขึ้นแบบพุ่งพรวด “ยุทธศาสตร์ที่ใช้กันก็เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
เราได้เห็น ... การเปลี่ยนจากเพียงแค่ใช้เงินเพื่อซื้อเสียงกันโดยตรง
มาเป็นการใช้มูลค่าของสิ่งของอื่น ๆ อย่างเช่น หมู, วัวควาย”
เจมส์ จิเมเนซ โฆษกของคณะกรรมการการเลือกตั้งฟิลิปปินส์
บอกกับเอเอฟพี “เรากำลังได้รับแจ้งเรื่องราวต่าง
ๆ อย่างเช่น มีคนแจกข้าวของที่บรรจุอยู่ในถัง (พลาสติก)
ซึ่งติดชื่อของผู้สมัครเอาไว้ บางรายก็แจกปี๊บที่ใส่พวกของชำต่าง ๆ เอาไว้ข้างใน” จิเมเนซ กล่าวว่า
พวกนักการเมืองกำลังถูกบังคับให้ต้องหันมาใช้วิธีซื้อเสียง เพราะกลอุบายอย่างอื่น
ๆ เป็นต้นว่า การโกงในขั้นตอนนับคะแนน เป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำได้แล้ว
เนื่องจากการลงคะแนนได้เปลี่ยนมาใช้ระบบอัตโนมัติเป็นส่วนมากนับตั้งแต่ปี 2000 พวกกลุ่มสังเกตการณ์ติดตามการเลือกตั้ง
บอกว่า การจ่ายเงินซื้อเสียงอาจจะมีราคาต่ำมากเพียงแค่ 100 เปโซ
(2.10 ดอลลาร์) สำหรับตำแหน่งอย่างเช่น สมาชิกสภาเทศบาลตำบล
และจะมีราคาสูงขึ้นสำหรับตำแหน่งสูง ๆ ขึ้นไป ของขวัญของฝากเล็ก ๆ น้อย ๆ
ซึ่งถือเป็นความผิดตามกฎหมาย ทว่า มีประสิทธิภาพทีเดียว
สำหรับที่พวกนักการเมืองจะนำมาใช้เรียกแรงสนับสนุน ในประเทศซึ่งประมาณอย่างหยาบ ๆ
แล้ว ราวหนึ่งในสี่ของประชากรจำนวนทั้งสิ้น 100 ล้านคน
ยังคงมีชีวิตอยู่ในระดับต่ำกว่าเส้นยากจน
มาตรการหนึ่งที่ประกาศออกมาใช้เพื่อขัดขวางการซื้อสิทธิขายเสียง
ก็คือ คณะกรรมการการเลือกตั้งสั่งห้ามนำโทรศัพท์มือถือเข้าไปในสถานที่ลงคะแนน
ทั้งนี้ ด้วยจุดประสงค์ที่จะห้ามไม่ให้ใครถ่ายภาพบัตรลงคะแนนของพวกเขา
เพื่อนำไปเป็นหลักฐานยืนยันแก่ผู้ซื้อเสียง ว่า
พวกเขากาบัตรให้แก่ผู้สมัครถูกคนแน่ ๆ
เอเจนซีส์ / MGR
online – มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 12 ราย
และได้รับบาดเจ็บอีกนับสิบจากเหตุระเบิดหลายครั้งทั้งในกรุงแบกแดดและพื้นที่โดยรอบเมืองหลวงของอิรัก
รายงานซึ่งอ้างแหล่งข่าวด้านความมั่นคงของอิรักระบุว่า
เหตุโจมตีด้วยระเบิดครั้งที่รุนแรงที่สุด เกิดขึ้นในวันอาทิตย์ (8 พ.ค.) ที่เขตอาบูกราอิบ ทางตะวันตกของกรุงแบกแดด โดยแรงระเบิดในจุดนี้ส่งผลให้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิตอย่างน้อย
3 ราย และมีพลเรือนเสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ 2 ราย ขณะที่จำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บมีอีกอย่างน้อย 16 ราย ข้อมูลเบื้องต้นของทางการอิรักระบุว่า
เหตุโจมตีดังกล่าวเป็นฝีมือของมือระเบิดฆ่าตัวตายรายหนึ่ง ที่จุดระเบิดที่ผูกติดกับตัวเองบริเวณด้านนอกเต็นท์จัดพิธีศพภริยา
ของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นรายหนึ่งในอีกด้านหนึ่งมีรายงานว่า
ได้เกิดเหตุระเบิดอีกจุดหนึ่งซึ่งคร่าชีวิตพลเรือนไป 3 ราย
และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 10 รายในย่านการค้าขายของเมืองมาดาอิน
ที่ตั้งอยู่ห่างจากกรุงแบกแดดไปทางตะวันออกเฉียงใต้ไปราว 20 กิโลเมตร นอกจากนั้นยังมีเหตุโจมตีด้วยระเบิดอีก
2 จุดกลางกรุงแบกแดด เป็นเหตุให้มีพลเรือนเสียชีวิตอย่างน้อย
4 รายและมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 17 ราย ก่อนหน้านี้เมื่อวันศุกร์
(6) เพิ่งเกิดเหตุระเบิด 2 ครั้งซ้อนที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปอย่างน้อย
9 รายในย่านที่พักไม่ไกลจากกรุงแบกแดดเช่นเดียวกัน ทั้งนี้
ข้อมูลล่าสุดที่มีการเผยแพร่โดยสำนักงานสหประชาชาติในอิรักระบุว่า
เฉพาะในเดือนเมษายนที่ผ่านมาเพียงแค่เดือนเดียว
มีชาวอิรักเสียชีวิตจากเหตุโจมตีลักษณะต่างๆ รวม 741 ราย
ขณะที่ยอดผู้ได้รับบาดเจ็บมีทั้งสิ้น 1,374 ราย
ซาดิก ข่าน
บุตรชายของชาวปากีสถานที่อพยพเข้ามายึดอาชีพเป็นคนขับรถเมล์ในลอนดอน
สามารถเอาชนะคู่แข่งที่เป็นทายาทอภิมหาเศรษฐี
ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีคนใหม่ของนครหลวงสหราชอาณาจักร ทั้งนี้เส้นทางเดินเข้าสู่ศาลาว่าการนครลอนดอนของเขา
ถือได้ว่ามีท้องเรื่องดุจดังเทพนิยายสมัยใหม่เรื่องหนึ่ง ซาดิก ข่าน (Sadiq Khan) บุตรชายของคนขับรถประจำทางชาวปากีสถาน ได้รับการประกาศในวันเสาร์ (7
พ.ค.) ว่าเป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง
ได้ขึ้นเป็นนายกเทศมนตรีกรุงลอนดอนคนใหม่ ภายหลังสามารถยังความปราชัยอย่างชนิดที่เรียกได้ว่ายับเยิน
ให้แก่คู่แข่งขันคนที่ได้คะแนนใกล้เคียงเขาที่สุด
นี่หมายความว่าพรรคเลเบอร์หวนกลับมาปกครองเมืองหลวงของสหราชอาณาจักรอีกครั้ง
ภายหลังว่างเว้นไป 8 ปี ผู้สมัครจากพรรคฝ่ายค้านวัย 45
ปีผู้นี้ กลายเป็นชาวมุสลิมคนแรกที่ได้เป็นพ่อเมืองของนครหลวงแห่งสำคัญในโลกตะวันตก
เมื่อการนับคะแนนของการเลือกตั้งท้องถิ่นในสหราชอาณาจักร ที่เรียกขานกันว่า “ซูเปอร์ เทิร์สเดย์” (Super Thursday) ใกล้เสร็จสิ้นลง
อันที่จริงชัยชนะของ ข่าน ดูจะเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้ว
เมื่อตอนที่นับคะแนนโดยดูจากการเลือกในอันดับแรกสุด (first preference
votes) ซึ่งปรากฏว่าเขาได้ไป 46% นำหน้าคู่แข่งคนสำคัญ
คือ แซค โกลด์สมิธ (Zac Goldsmith) แห่งพรรคคอนเซอร์เวทีฟ
อยู่ 9% นับเป็นหลักหมายแสดงถึงการกลับมาบริหารเมืองหลวงสหราชอาณาจักรของพรรคเลเบอร์
ภายหลังทางคอนเซอร์เวทีฟครองอำนาจอยู่ 8 ปี การเลือกตั้งคราวนี้ใช้ระบบที่เรียกกันว่า
supplementary vote หรือ contingent vote กล่าวคือ ผู้ลงคะแนนสามารถโหวตได้ว่าจะเลือกผู้สมัครคนใดเป็นอันดับแรกสุด
และจะเลือกผู้สมัครคนใดเป็นอันดับสอง (second preference vote) ในเวลานับคะแนนนั้น
จะเริ่มต้นด้วยการนับผู้ที่ได้เลือกเป็นอันดับแรกสุดก่อน
หากไม่มีผู้สมัครคนใดได้คะแนนเกินครึ่งหนึ่งของผู้ใช้สิทธิออกเสียง
ก็จะนำเอาเฉพาะคนได้คะแนนสูงที่สุดที่ 1 และที่ 2 มาพิจารณาอีกครั้ง คะแนนจากรอบแรกของผู้สมัครทั้งสองยังคงอยู่ตามเดิม
แต่จะนับบัตรลงคะแนนกันอีกรอบ โดยถ้าคนไหนได้รับเลือกเป็นอันดับสอง
ก็จะได้คะแนนเพิ่มขึ้นมา และผู้ที่ได้คะแนนทั้งหมดเกิน 50% ของจำนวนผู้มาใช้สิทธิ
จะเป็นผู้ชนะ ถึงแม้มองกันในทางคณิตศาสตร์แล้ว ดูเป็นไปไม่ได้ที่ โกลด์สมิธ
จะสามารถไล่แซง ข่าน ได้ในการนับคะแนนผู้ได้รับเลือกเป็นอันดับสอง
แต่ก็ต้องทำการนับกันเพื่อให้ได้ผู้ชนะอย่างเป็นทางการ ซึ่งปรากฏว่า ข่าน
ได้ไปทั้งสิ้น 57% เจรามี
คอร์บิน (Jeremy Corbyn) หัวหน้าพรรคเลเบอร์
ทวิตแสดงความยินดีกับ ข่าน ตั้งแต่ก่อนมีการประกาศผลอย่างเป็นทางการแล้ว โดยกล่าวว่า
“รอไม่ไหวที่จะได้ทำงานกับคุณเพื่อสร้างลอนดอนที่ยุติธรรมสำหรับทุกคน!
#YesWeKhan” การลงคะแนนเมื่อวันพฤหัสบดีที่
5 พฤษภาคมคราวนี้ มีชาวลอนดอนมาใช้สิทธิกัน 45% ซึ่งถือว่าสูงแล้ว และเชื่อกันว่าการที่มีผู้ออกมาโหวตกันมากเช่นนี้ ข่าน
คือผู้ที่ได้รับอานิสงส์ ทั้งนี้เขาได้คะแนนโหวตไปรวมทั้งสิ้นราว 1.1 ล้านเสียง ข่าน
เป็นอดีตทนายความทางด้านสิทธิมนุษยชน และก็เป็น ส.ส.ของเขตทูตทิ่ง (Tooting)
อันเป็นเขตทางใต้ของลอนดอนมาตั้งแต่ปี 2005 เขาเป็นรัฐมนตรีคนสำคัญทีเดียวในคณะรัฐมนตรีพรรคเลเบอร์ของอดีตนายกรัฐมนตรีกอร์ดอน
บราวน์ และภายหลังเลเบอร์พ่ายแพ้การเลือกตั้งทั่วไป โดยที่ เดวิด คาเมรอน
หัวหน้าพรรคคอนเซอร์เวทีฟ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทนที่ เขาก็ยังมีชื่อเป็น “รัฐมนตรีเงา” คนหนึ่งของพรรคเลเบอร์ที่กลายสภาพเป็นฝ่ายค้าน อย่างไรก็ตาม
ข่านตัดสินใจลาออกจากการเป็นรัฐมนตรีเงาเมื่อปีที่แล้ว
และเริ่มการรณรงค์หาเสียงเพื่อเป็นนายกเทศมนตรีกรุงลอนดอน สืบแทน บอริส จอห์นสัน (Boris
Johnson) ซึ่งครองตำแหน่งมา 2 สมัยและแสดงความจำนงไม่ต้องการลงแข่งขันอีก
ข่าน พึ่งพาอาศัยรากเหง้าภูมิหลังของตนเองที่เป็นลูกของชนชั้นผู้ใช้แรงงาน
และเติบโตขึ้นมาในหมู่บ้านแฟลตการเคหะสภาเทศบาลลอนดอน
เป็นประกาศนียบัตรรับรองอันแข็งแกร่ง ในการต่อสู้กับ โกลด์สมิธ
ซึ่งมีภูมิหลังมาจากครอบครัวอภิสิทธิ์ชน
โกลด์สมิธนั้นแม้ไม่ได้สำเร็จการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย
และถูกไล่ออกจากโรงเรียนพับลิกสคูลระดับเยี่ยมที่สุดอย่าง อีตัน (Eton) แต่เขาคือลูกชายของ เซอร์เจมส์ โกลด์สมิธ (Sir James Goldsmith) อภิมหาเศรษฐีที่ปัจจุบันล่วงลับไปแล้ว และเป็นน้องชายของ เจมิมา ข่าน (Jemima
Khan) แทบจะตลอดช่วงเวลารณรงค์หาเสียงเพื่อเป็นนายกเทศมนตรีลอนดอนคราวนี้
เขามีคะแนนนิยมตามหลัง ข่าน มาโดยตลอด ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากความพยายามอันประสบความล้มเหลวของบางผู้บางคนในฝ่ายของเขาที่จะเชื่อมโยง
ข่าน เข้ากับบุคคลที่เป็นพวกอิสลามิสต์สุดโต่งบางคน เจมิมา ซึ่งเป็นอดีตภรรยาของ
อิมรอน ข่าน (Imran Khan) นักคริกเก็ตชื่อก้องชาวปากีสถาน
ที่ในปัจจุบันกลายเป็นนักการเมืองคนสำคัญไม่น้อยในประเทศนั้น
ได้ทวิตแสดงความรู้สึกของเธอ ภายหลังผลการเลือกตั้งปรากฏชัดเจนออกมาว่า “เศร้าที่การรณรงค์หาเสียงของ แซค ไม่ได้สะท้อนให้เห็นถึงคนที่ฉันรู้จัก
เขาเป็นนักการเมืองที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม, มีความคิดอิสรเสรี
และมีความซื่อสัตย์” ชัยชนะของ ข่าน ต้องถือว่าเป็นชัยชนะส่วนตัวค่อนข้างมาก
เนื่องจากตัดแย้งเป็นตรงกันข้ามอย่างชัดเจนกับผลการเลือกตั้งท้องถิ่นโดยรวมในวันซูเปอร์
เทิร์สเดย์ ของพรรคเลเบอร์ กล่าวคือ เลเบอร์พ่ายแพ้ยับในสกอตแลนด์ จนอยู่ในอันดับ 3
ตามหลังพรรคชาตินิยมชาวสกอตต์ และพรรคสกอตติช คอนเซอร์เวทีฟ
ที่สามารถฟื้นตัวขึ้นมาอีกครั้ง
ถึงแม้ยังสามารถดิ้นรนต่อสู้จนรักษาพื้นที่ในสภานิติบัญญัติแคว้นเวลส์
และในสภาเทศบาลของท้องถิ่นต่างๆ ในแคว้นอิงแลนด์เอาไว้ได้เป็นส่วนใหญ่ จากลูกคนขับรถเมล์ที่อพยพมาจากปากีสถาน
ภายหลังการรณรงค์หาเสียงซึ่งได้เห็นฝ่ายคู่แข่งสำคัญของเขา พยายามที่จะโยงใย
ข่าน เข้ากับพวกอิสลามิสต์สุดโต่งแล้ว
มาถึงตอนนี้นายกเทศมนตรีคนใหม่ก็ต้องเผชิญภารกิจในการนำเอาชุมชนต่างๆ
ที่มีความแตกต่างหลากหลายของลอนดอนเข้ามารวมตัวสามัคคีกัน
เพื่อรักษาฐานะความเป็นนครระดับท็อปของโลกเอาไว้ให้ได้ ในการกล่าวปราศรัยรับตำแหน่ง
ข่านให้สัญญาที่จะเป็น “นายกเทศมนตรีของชาวลอนดอนทุกๆ คน”
และกล่าวว่า บิดาผู้ล่วงลับของเขา
ซึ่งอพยพมาจากปากีสถานในช่วงทศวรรษ 1960 จะต้อง “ภาคภูมิใจมาก” “ผมไม่เคยนึกฝันเลยว่า
คนอย่างผมนี่จะได้รับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีของลอนดอน และผมต้องการที่จะกล่าวขอบคุณสำหรับชาวลอนดอนทุกผู้ทุกคนซึ่งทำให้สิ่งที่เป็นไปไม่ได้กลายเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ในวันนี้”
เขากล่าว เขาให้คำมั่นที่จะทำงานเพื่อจัดหาที่อยู่อาศัยและการคมนาคมขนส่งซึ่งประชาชนสามารถจ่ายไหวให้มากขึ้น,
ที่จะลดมลพิษ, และที่จะส่งเสริมให้มีตำแหน่งงานมากขึ้นและเป็นงานที่ให้ค่าตอบแทนดียิ่งขึ้น “ผมต้องการให้ชาวลอนดอนทุกผู้ทุกคนได้รับโอกาสแบบที่นครของเราได้มอบให้แก่ผมและแก่ครอบครัวของผม
เป็นโอกาสที่ไม่เพียงให้ได้รอดชีวิตเท่านั้นแต่ให้ได้เติบโตเจริญรุ่งโรจน์อีกด้วย”
เขากล่าว เส้นทางเดินสู่ศาลาว่าการนครลอนดอนของข่าน
ว่าไปแล้วก็เหมือนกับเป็นเทพนิยายสมัยใหม่เรื่องหนึ่ง เขาเกิดในลอนดอนเมื่อปี 1970
ในครอบครัวที่พ่อแม่เดินทางอพยพมาจากปากีสถานไม่นานนัก
ข่านเป็นลูกคนที่ 5 ในจำนวนพี่น้องผู้ชาย 7 คน และพี่สาวอีกคนหนึ่ง เขาเติบโตในหมู่บ้านแฟลตการเคหะของเทศบาลในย่านทูตทิ่ง
ซึ่งเป็นย่านที่อยู่อาศัยที่ประกอบด้วยคนเชื้อชาติต่างๆ คละเคล้ากัน
และต้องนอนบนเตียงแบบ 2 เตียงซ้อนกันอยู่จนกระทั่งเขาอายุ 24
ปี ข่านชอบเล่าอยู่เรื่อยๆ
ว่า บิดาของเขาเป็นคนขับรถประจำทางทาสีแดงที่ขึ้นชื่อของลอนดอน
ส่วนมารดาเป็นช่างเย็บผ้า พี่ชายของเขาคนหนึ่งเป็นช่างซ่อมรถ เขาเป็นนักมวยที่ว่องไวบนเวที
โดยได้เรียนรู้กีฬาชนิดนี้จากการที่ต้องป้องกันตัวในเวลาอยู่บนท้องถนนสมัยเด็ก
เมื่อต้องต่อสู้กับพวกที่ด่าทอด้วยคำพูดเหยียดเชื้อชาติใส่เขา พี่ชายของเขา 2
คนก็เป็นผู้ฝึกสอนกีฬาชกมวยอยู่ในเวลานี้
เขายังเคยลงวิ่งรายการลอนดอนมาราธอนในปี 2014 ด้วย ตอนที่เรียนหนังสือในโรงเรียน
เขาเคยต้องการศึกษาต่อด้านวิทยาศาสตร์และมีอาชีพเป็นทันตแพทย์
ทว่าอาจารย์คนหนึ่งเกิดเห็นพรสวรรค์ของเขาในเรื่องการโต้วาที
และชักนำให้เขาหันไปเรียนนิติศาสตร์
เขาสำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยนอร์ท
ลอนดอน และเริ่มต้นเป็นทนายความฝึกหัดในปี 1994 ณ
สำนักงานกฎหมาย คริสเตียน ฟิชเชอร์ (Christian Fisher legal firm) ซึ่งในที่สุดเขาก็ได้เป็นทนายความหุ้นส่วน (partner) คนหนึ่งของสำนักงานกฎหมายแห่งนี้
เขามีความชำนาญเป็นพิเศษทางด้านสิทธิมนุษยชน
และได้เป็นประธานของ “ลิเบอร์ตี” (Liberty) กลุ่มรณรงค์เรียกร้องเสรีภาพพลเมืองอยู่ 3 ปี เขาเคยเป็นทนายว่าความแก้ต่างให้
หลุยส์ ฟาร์ราข่าน (Louis Farrakhan) หัวหน้าขบวนการ “เนชั่น ออฟ อิสลาม” (Nation of Islam movement) และ
บาดาร์ อาหมัด (Babar Ahmad) ซึ่งเขารู้จักจากการไปมัสยิดแห่งเดียวกัน
อาหมัดถูกจำคุกในสหรัฐฯภายหลังยอมรับว่าจัดหาความสนับสนุนต่างๆ
ให้แก่ระบอบตอลิบานในอัฟกานิสถาน เคยถูกข่มขู่เอาชีวิต ข่านเข้าร่วมพรรคเลเบอร์ตั้งแต่อายุ 15
ปี เมื่อตอนที่นายกรัฐมนตรีมาร์กาเรต แธตเชอร์ ของพรรคคอนเซอร์เวทีฟ
กำลังรุ่งเรืองเฟื่องฟู เขาได้รับเลือกตั้งเป็นตัวแทนจากเขตทูตทิ่ง
เข้าไปในนั่งอยู่ในสภาเขตวันด์สเวิร์ธ (Wandsworth local borough) ซึ่งพวกคอมเซอร์เวทีฟครอบงำอยู่เมื่อปี 1994 และได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของเขตนี้ในปี
2005 จนถึงเวลานี้
เขาก็ยังพำนักอยู่ในย่านนี้กับ ซาดิยา (Saadiya) ภรรยาที่เป็นทนายความเช่นกันของเขา
และบุตรสาววัยรุ่น 2 คนของทั้งคู่ นายกรัฐมนตรีกอร์ดอน
บราวน์ ได้แต่งตั้งให้เขาเป็นรัฐมนตรีดูแลกิจการชุมชนในปี 2008 ต่อมาก็ได้เป็นรัฐมนตรีคมนาคม ซึ่งถือเป็นรัฐมนตรีสำคัญระดับวงในคณะรัฐมนตรี
(cabinet) และกลายเป็นรัฐมนตรีมุสลิมคนแรกที่ได้เข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีระดับวงใน ในสภาผู้แทนราษฎร
เขาออกเสียงให้รับรองการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน
ซึ่งทำให้เขาถูกข่มขู่เอาชีวิตหลายครั้ง
ในการหาเสียงเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีลอนดอนคราวนี้ เขามุ่งโฟกัสไปที่เรื่องการจัดหาที่อยู่อาศัยที่พอจะจ่ายกันไหวให้แก่ชาวลอนดอน
และการระงับไม่ขึ้นค่าโดยสารระบบคมนาคมขนส่งสาธารณะ ข่านถือเป็นนายกเทศมนตรีคนที่ 3
ของกรุงลอนดอน
นับตั้งแต่ที่มีการปฏิรูปกฎหมายและจัดตั้งตำแหน่งนี้ขึ้นมา โดย 2 คนแรก คือ เคน ลิฟวิ่งสโตน (Ken Livingstone) แห่งพรรคเลเบอร์
(ปี 2000-2008) และ บอริส จอห์นสัน แห่งพรรคคอนเซอร์เวทีฟ
(ปี 2008-2016)
รอยเตอร์ -
สภาพอากาศร้อนกับลมแล้งโหมกระพือไฟป่าลามทั่วแหล่งพลังงานในอัลเบอร์ตาของแคนาดา
โดยมีแนวโน้มแผ่ขยายครอบคลุมพื้นที่กว้างขึ้นอีกเท่าตัว รวมทั้งเข้าใกล้เขตพื้นที่โครงการทรายน้ำมัน
แม้จะมีการคาดว่าสภาพอากาศที่เย็นลงในวันอาทิตย์ (8) อาจช่วยให้สามารถควบคุมเพลิงได้บ้าง
อย่างไรก็ตาม หากไม่มีฝนตกลงมาอย่างหนัก
ก็เป็นไปได้ว่าไฟป่าอาจลามต่อเนื่องนานเป็นเดือน ไฟป่าครั้งร้ายแรงที่ส่งผลให้ทางการแคนาดาต้องอพยพประชาชนทั้ง 88,000
คน ออกจากเมืองฟอร์ตแมคเมอร์เรย์ รัฐอัลเบอร์ตา ก่อนหน้านี้
ถูกคาดหมายว่า จะลุกลามสองเท่าครอบคลุมอาณาบริเวณ 1,872,200 ไร่
ในช่วงคืนวันเสาร์ (7) ซึ่งเป็นวันที่ 7 ของเหตุการณ์ที่คาดว่าจะเป็นภัยธรรมชาติที่สร้างความสูญเสียมากที่สุดในประวัติศาสตร์แคนาดา เจ้าหน้าที่รัฐอัลเบอร์ตา ชมเชยผู้อพยพ ว่า
มีความอดทน พร้อมระบุว่า เมืองคัลการี และ เอ็ดมอนตัน
ซึ่งเป็นเมืองเอกของอัลเบอร์ตา เหมาะที่สุดที่จะได้รับการสนับสนุนระยะยาว เช่น
การรักษาพยาบาล กับค่าใช้จ่ายสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉิน บ่งชี้ว่า
วิกฤตไฟป่าอาจไม่จบลงง่าย ๆ เจ้าหน้าที่ดับเพลิง คาดว่า
ไฟป่าที่เคลื่อนตัวไปทางตะวันออกเฉียงเหนือตามแรงลม
ทั้งยังได้เชื้อไฟจากป่าที่แห้งแล้งหนักถึงขนาดจุดไฟติด
น่าจะลามถึงพื้นที่ส่วนที่ติดกับรัฐซัสกาเชวานในช่วงคืนวันเสาร์ ฟอร์ตแมคเมอร์เรย์
เป็นศูนย์กลางทรายน้ำมันของแคนาดา เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (6) มีการระงับการผลิตน้ำมันดิบราวครึ่งหนึ่งจากกำลังผลิตทั้งหมดทั่วประเทศ
หรือ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน (บีพีดี) แชด มอร์ริสัน
ผู้จัดการแผนกป้องกันไฟป่าของอัลเบอร์ตา แถลงว่า
เจ้าหน้าที่ดับเพลิงเริ่มจัดการกับไฟป่าทันทีที่ตรวจพบทางตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองเมื่อเวลา
18.00 น. ของวันอาทิตย์ที่ 1 พฤษภาคม มอร์ริสัน ยังคาดว่า
ไฟป่าจะเผาไหม้บริเวณชายขอบโครงการที่ดำเนินการโดย ซันคอร์ เอเนอร์จี
แต่ตั้งข้อสังเกตว่าโครงการดังกล่าวรวมถึงโครงการอื่น ๆ
มีความสามารถและทรัพยากรในการรับมือไฟป่า
ทั้งนี้ ผู้ดำเนินการทรายน้ำมันอย่างน้อย 10 ราย ลดกำลังผลิตแล้ว เนื่องจากต้องอพยพคนและดำเนินการมาตรการฉุกเฉินอื่น ๆ โครงการทรายน้ำมันของซันครูด
เผยว่า จะระงับปฏิบัติการทางเหนือของอัลเบอร์ตา พร้อมอพยพพนักงานหนีควันไฟ
แต่ยืนยันว่า ไม่มีภัยคุกคามจากไฟป่าแต่อย่างใด นอกจากนั้น อากาศที่มีแนวโน้มเย็นลงในวันอาทิตย์ (8) อาจทำให้เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมเพลิงได้ มอร์ริสัน ยังคาดว่า
หากไม่มีฝนตกลงมาอย่างหนัก ไฟป่าอาจลุกลามนานเป็นเดือน แม้ยังไม่มีการประเมินความเสียหายของทรัพย์สินในฟอร์ตแมคเมอร์เรย์อย่างครบถ้วน
ทว่า นักวิเคราะห์คนหนึ่ง คาดว่า ความสูญเสียที่ประกันภัยต้องจ่ายอาจเกินกว่า 7,000
ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แดเนียลล์ ลาริวี รัฐมนตรีกิจการภายในของอัลเบอร์ตา แถลงว่า
ยังไม่สามารถควบคุมไฟป่าได้ และเตือนประชาชนไม่ให้พยายามเดินทางกลับบ้าน เจ้าหน้าที่ดับเพลิงกว่า 500
คน กำลังต่อสู้กับไฟป่า ทั้งภายในและรอบ ๆ ฟอร์ตแมคเมอร์เรย์
ร่วมกับเฮลิคอปเตอร์และเครื่องบินบรรทุกน้ำ 14 ลำ
ทางด้านตำรวจได้นำประชาชนอีกกลุ่มอพยพออกจากแหล่งทรายน้ำมันทางเหนือของฟอร์ตแมคเมอร์เรย์เมื่อวันเสาร์
ซึ่งเป็นการเดินทางที่ยากลำบาก
เนื่องจากต้องผ่านพื้นที่มอดไหม้และมีกลุ่มควันหนาทึบลาริวี ยังตั้งความหวังว่า
จะนำประชาชนราว 25,000 คน
ที่หนีขึ้นไปทางเหนือตอนแรกแล้วถูกตัดขาด กลับลงไปทางใต้ภายในวันเสาร์ นอกจากนั้น ขณะนี้ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า ฟอร์ตแมคเมอร์เรย์จะฟื้นตัวเร็วแค่ไหน
ราเชล น็อตลีย์ นายกรัฐมนตรี อัลเบอร์ตา แถลงเมื่อเช้าวันเสาร์ว่า
ได้ปิดระบบแก๊สทั้งหมดในเมืองฟอร์ตแมคเมอร์เรย์ ระบบไฟฟ้าได้รับความเสียหาย
ขณะที่น้ำประปาไม่สามารถดื่มได้ อย่างไรก็ตาม สก็อตต์ ลอง จากสำนักงานบริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินของอัลเบอร์ตา
กล่าวว่า
ทางสำนักงานได้เริ่มวางแผนการอพยพประชาชนกลับทันทีที่สถานการณ์ปลอดภัยแล้ว
ซึ่งแม้ไม่สามารถบอกได้ว่าเมื่อใด แต่เชื่อว่าคงจะไม่ยาวนานหลายเดือน
รอยเตอร์ -
ตุรกียิงปืนใหญ่สังหารกลุ่มติดอาวุธกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) 55
คน ในภาคเหนือของซีเรียเมื่อช่วงเย็นวันเสาร์ (7) แหล่งข่าวกองทัพระบุ
ในการตอบโต้การยิงจรวดนานหลายสัปดาห์ใส่เมืองพรมแดนแห่งหนึ่งของตุรกี นอกเหนือจากการสังหารนักรบกลุ่มนี้
การยิงปืนใหญ่ใส่แคว้นซูราน และแคว้นทัลเอลฮิสน์ทางตอนเหนือของอเลปโป
รวมทั้งเขตบารากิดาห์และเขตคูซัคสิก ยังได้ทำลายเครื่องติดตั้งขีปนาวุธ 3 เครื่อง และยานพาหนะ 3 คันด้วย
แหล่งข่าวระบุในวันอาทิตย์ (8) เมื่อช่วงวันเสาร์ (7)
การโจมตีทางอากาศของกลุ่มพันธมิตรที่นำโดยสหรัฐฯ
ในซีเรียได้คร่าชีวิตกลุ่มติดอาวุธไอเอส 48 คน
รายงานจากสำนักข่าวอนาโดลูของทางการระบุ เมืองพรมแดนคิลลิสของตุรกี
ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามกับแนวหน้าของดินแดนที่ไอเอสยึดครองในซีเรีย
ถูกจรวดโจมตีอยู่เป็นประจำในช่วงไม่กี่สัปดาห์มานี้ เมืองคิลลิสอยู่ห่างเมืองอเลปโปไปทางเหนือราว
60 กิโลเมตร อเลปโปเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในซีเรีย
และรางวัลทางยุทธศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดในสงครามกลางเมืองนี้ที่ดำเนินมากว่า 5
ปี กองทัพตุรกีมักตอบโต้ด้วยการระดมยิงปืนใหญ่เข้าสู่ภาคเหนือของซีเรีย
แต่เจ้าหน้าที่กล่าวว่า
มันเป็นเรื่องยากที่โจมตีเป้าหมายเคลื่อนที่ของกลุ่มไอเอสด้วยปืนครก
เจ้าหน้าที่ตุรกี กล่าวว่า พวกเขาจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากพันธมิตรตะวันตกมากกว่านี้ในการปกป้องพรมแดน จนถึงตอนนี้
การยิงจรวดใส่เมืองคิลลิสทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วราว 20 คน
และบาดเจ็บเกือบ 70 คน อนาโดลู รายงาน
เอเจนซีส์/MGR
online - บิญาน ซานเกเนห์ รัฐมนตรีกระทรวงปิโตรเลียมของอิหร่าน
ออกมาเปิดเผยในวันเสาร์ (7 พ.ค.) โดยระบุ
กำลังการผลิตน้ำมันรายวันของอิหร่านในขณะนี้ได้เพิ่มสูงขึ้นจนแตะระดับ 2.4 ล้านบาร์เรลต่อวันแล้ว กำลังการผลิตน้ำมันของอิหร่านขยับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ที่มาตรการคว่ำบาตรทั้งปวงถูกยกเลิกไปเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา
ภายใต้ข้อตกลงประวัติศาสตร์ในเรื่องโครงการนิวเคลียร์ “ระหว่างช่วงเวลาที่เราถูกคว่ำบาตร
กำลังการผลิตน้ำมันของเราอยู่ที่ราว 1.35 ล้านบาร์เรลต่อวันเท่านั้น
แต่ยอดการส่งออกน้ำมันของเราในชั่วโมงนี้ได้ปรับเพิ่มขึ้นมาเป็น 2.4 ล้านบาร์เรลต่อวันแล้ว” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงปิโตรเลียมของอิหร่านกล่าวระหว่างเข้าร่วมพิธีเปิดนิทรรศการนานาชาติว่าด้วยน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในกรุงเตหะราน
ซึ่งมีบริษัทพลังงานเกือบ 2,000 แห่ง จาก 38 ประเทศเข้าร่วม เมื่อไม่นานมานี้ สำนักข่าวฟาร์ส รายงานว่า
อิหร่านเริ่มการส่งออกน้ำมันไปยังลูกค้ารายสำคัญอย่างกรีซ ในปริมาณ 60,000 บาร์เรลต่อวัน
ถือเป็นการรื้อฟื้นสายสัมพันธ์ด้านพลังงานครั้งเก่าก่อนระหว่างรัฐบาลเตหะราน
กับดินแดนในยุโรปที่เคยเป็นผู้ซื้อน้ำมันรายสำคัญจากอิหร่าน
ตั้งแต่ยุคก่อนการคว่ำบาตร มอห์เซน กัมซารี หนึ่งในผู้บริหารระดับสูงของบรรษัทน้ำมันแห่งชาติของอิหร่าน
(เอ็นไอโอซี) ระบุ การส่งออกน้ำมันจากอิหร่านไปยังกรีซได้เริ่มต้นแล้วในสัดส่วน 60,000
บาร์เรลต่อวัน รายงานข่าวระบุว่า
การส่งออกน้ำมันล็อตแรกนี้เป็นผลพวงมาจากการบรรลุข้อตกลงเมื่อเดือนมกราคม
ระหว่างเอ็นไอโอซี กับทาง “เฮลเลนิก ปิโตรเลียม” ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ด้านโรงกลั่นน้ำมันของกรีซ
โดยที่ข้อตกลงระยะยาวฉบับนี้จะช่วยให้กรีซสามารถนำเข้าน้ำมันได้ครอบคลุมสัดส่วน 1
ใน 4 ของความต้องการใช้น้ำมันทั้งหมดของประเทศกรีซ
ถือเป็นลูกค้าน้ำมันรายสำคัญของอิหร่านมายาวนานตั้งแต่ก่อนที่อิหร่านจะถูกโลกตะวันตกคว่ำบาตรเมื่อปี
2012 จากผลพวงของโครงการพัฒนานิวเคลียร์ ก่อนหน้านี้ บิญาน ซานเกเนห์
รัฐมนตรีกระทรวงปิโตรเลียมของอิหร่าน ออกมาเปิดเผยว่า
มีคำสั่งซื้อจากหลายประเทศในยุโรปซึ่งจะทำให้อิหร่านสามารถส่งออกน้ำมันสู่ทวีปนี้ได้ในปริมาณมหาศาลราว
700,000 บาร์เรลต่อวัน หรือเป็นการ “ทุบสถิติเดิม”
ที่ยุโรปเคยสั่งซื้อน้ำมันจากอิหร่านในปริมาณ 400,000 บาร์เรลต่อวัน ในยุคก่อนการคว่ำบาตร ทั้งนี้ อิหร่าน และมหาอำนาจทั้ง
6 ชาติ (กลุ่ม P5+1) ซึ่งประกอบไปด้วย 5
ชาติ “สมาชิกถาวร” ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ
คือ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย และสาธารณรัฐประชาชนจีน บวกกับอีก 1
ประเทศมหาอำนาจจากฝั่งยุโรปอย่าง เยอรมนี
สามารถบรรลุความตกลงประวัติศาสตร์ทางด้านนิวเคลียร์กันได้เมื่อ 14 ก.ค.ปีที่แล้ว ถือเป็นการปิดฉากการเจรจาแบบมาราธอนที่ใช้เวลายาวนานกว่า 1
ทศวรรษ และถือเป็นข้อตกลงซึ่งพลิกโฉมการเมือง
และความมั่นคงในภูมิภาคตะวันออกกลางครั้งใหญ่ หลังการบรรลุข้อตกลงดังกล่าว
ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ผู้นำสหรัฐฯ ออกมาแถลงยกย่องว่า
นี่ถือเป็นก้าวย่างสำคัญไปสู่ “โลกแห่งความหวังที่เพิ่มสูงขึ้น”
และตอกย้ำในเวลาต่อมาว่า ข้อตกลงประวัติศาสตร์นี้ถือเป็นแนวทางที่ดีที่สุดเพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันทางอาวุธนิวเคลียร์
และลดทอนความตึงเครียดในภูมิภาคตะวันออกกลาง ขณะที่ประธานาธิบดีฮัสซัน รูฮานี
ผู้นำสายกลางของอิหร่าน แถลงว่า
ความสำเร็จในการบรรลุข้อตกลงด้านนิวเคลียร์ครั้งนี้ถือเป็นข้อพิสูจน์ว่า
การมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันอย่างสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่ได้ผลดียิ่ง
และว่าหากการเผชิญหน้ากันอย่างศัตรูระหว่างวอชิงตัน
และเตหะรานยังดำเนินอยู่ต่อไปก็คงไม่มีความเป็นไปได้แม้แต่น้อยที่ข้อตกลงเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม
รัฐบาลอิสราเอลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ประกาศว่า
จะเดินหน้าทำทุกวิถีทางเพื่อหาทางทำลายล้างข้อตกลงอัปยศฉบับนี้
ซึ่งทางฝ่ายอิสราเอลมองว่าเป็น “การยอมจำนนครั้งประวัติศาสตร์”
ของสหรัฐฯ และโลกตะวันตกให้แก่ชาติที่ชั่วร้ายอย่างอิหร่าน ภายใต้ข้อตกลงนี้
มาตรการลงโทษคว่ำบาตรอิหร่านทั้งหลายทั้งปวงของสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (อียู)
และองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น)
ที่บังคับใช้มายาวนานได้ถูกยกเลิกเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา
แลกเปลี่ยนต่อการที่รัฐบาลเตหะรานยอมตกลงตัดทอนโครงการนิวเคลียร์ของตน ซึ่งสหรัฐฯ
และโลกตะวันตกสงสัยมาโดยตลอดว่า มีเป้าหมายในการสร้าง “ระเบิดนิวเคลียร์”
ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่เตหะรานยืนกรานปฏิเสธ นักวิเคราะห์มองว่า
การบรรลุข้อตกลงประวัติศาสตร์ครั้งนี้ถือเป็นชัยชนะสำคัญ ทั้งสำหรับบารัค โอบามา
และฮัสซัน รูฮานี
และถือเป็นผลดีต่อการลดทอนความตึงเครียดในเวทีการเมืองระหว่างประเทศที่มีมายาวนาน
ถึงแม้ว่าผู้นำทั้งสองต่างต้องเผชิญหน้าต่อแรงต่อต้านอย่างหนักหน่วงจากบรรดา “นักการเมืองสายเหยี่ยว” ภายในประเทศของตนเอง
โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ที่นักการเมืองจำนวนมากยังคงมองอิหร่านเป็นศัตรูคู่อาฆาตที่เป็น “แกนอักษะแห่งปีศาจ”
ด้านสำนักข่าวไออาร์เอ็นเอ ของทางการอิหร่าน รายงานว่า
ผลของข้อตกลงนิวเคลียร์นี้จะทำให้อิหร่านได้รับเงินนับหมื่นล้านดอลลาร์ที่ถูกอายัดไว้กลับคืนมา
ขณะที่บรรดามาตรการคว่ำบาตรที่มีต่อธนาคารกลาง บริษัทน้ำมันแห่งชาติ บริษัทชิปปิ้ง
และสายการบินของอิหร่านได้ถูกยกเลิก ถึงแม้มาตรการขององค์การสหประชาชาติในเรื่องการคว่ำบาตรห้ามซื้อขายอาวุธกับอิหร่านจะยังคงมีผลบังคับใช้ต่อไปอีก
5 ปี และห้ามอิหร่านจัดซื้อเทคโนโลยีด้านขีปนาวุธอีกนาน 8
ปี ว่ากันว่า
ผลประโยชน์ที่อิหร่านจะได้รับจากข้อตกลงนิวเคลียร์คราวนี้อาจสร้างความกังวลต่อพันธมิตรอาหรับของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคตะวันออกกลาง
โดยเฉพาะในกรณีของซาอุดีอาระเบีย ประเทศที่ปกครองโดยมุสลิมนิกายสุหนี่ ที่เชื่อว่า
อิหร่านซึ่งเปรียบเหมือนผู้นำของฝ่ายมุสลิมนิกายชีอะห์ให้การสนับสนุนต่อศัตรูของตนทั้งในสมรภูมิที่ซีเรีย
เยเมน และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค อย่างไรก็ดี
รัฐบาลอเมริกันมองเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องเร่งฟื้นฟูความสัมพันธ์กับอิหร่านที่มี
“ศัตรูร่วมกัน” คือ กลุ่มรัฐอิสลาม
(ไอเอส) ที่กำลังยึดครองพื้นที่กว้างขวางทั้งในอิรัก และซีเรียอยู่ในเวลานี้
และถือเป็น “ภัยคุกคามใหญ่หลวง” ต่อสันติภาพของโลก
ในอีกด้านหนึ่งการยุติมาตรการคว่ำบาตรทั้งปวง
จะช่วยส่งเสริมให้เศรษฐกิจอิหร่านเติบโตอย่างรวดเร็ว เนื่องจากสามารถกลับเข้าสู่ “ตลาดน้ำมัน” ได้อีกครั้ง
แม้ในความเป็นจริงแล้วกว่าที่น้ำมันจากอิหร่านจะกลับเข้าไปซื้อขายในตลาดโลกได้อย่างเต็มรูปแบบนั้นอาจต้องรอถึงช่วงครึ่งหลังของปี
2016 ก็ตาม
รอยเตอร์ - คิมจองอึน
ผู้นำเกาหลีเหนือ กล่าวเปิดประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์
หรือที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่าพรรคผู้ใช้แรงงานเกาหลี ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล
ครั้งแรกในรอบ 36 ปี
ในวันศุกร์ (6พ.ค.)
ยกย่องความสำเร็จของประเทศในการทดสอบนิวเคลียร์และยิงดาวเทียมสู่อวกาศเมื่อไม่นานที่ผ่านมา
ท่ามกลางความกังวลขึ้นเรื่อย ๆ ว่า มันจะเป็นอารัมภบทของการทดสอบนิวเคลียร์รอบที่ 5
รายงานข่าวของสถานีโทรทัศน์แห่งรัฐเกาหลีเหนือ
ที่ออกอากาศในช่วงค่ำวันศุกร์ (6 พ.ค.)
เผยให้เห็นภาพผู้นำวัย 33 ปี
ขนาบข้างด้วยเหล่าผู้ช่วยทางทหารระดับสูงระดับสูงของเขา
ในห้องประชุมขนาดใหญ่ที่อัดแน่นไปด้วยเหล่านายทหารและผู้แทนพรรคจากทั่วประเทศหลายพันคน คาดหมายว่า
ระหว่างการประชุมครั้งนี้ นายคิมจะกระชับอำนาจการควบคุมเพิ่มเติม
เหนือประเทศที่ถูกโดดเดี่ยวจากโลกภายนอกมากขึ้นเรื่อย ๆ จากความทะเยอทะยานทางอาวุธนิวเคลียร์
ในนั้นรวมถึงการทดสอบนิวเคลียร์รอบ 4 ในดือนมกราคม
อันกระตุ้นให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติลงมติในเดือนมีนาคม
เห็นชอบยกระดับคว่ำบาตรหนักหน่วงกว่าเดิม
“ในปีแห่งการประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ 7 กองทัพและพรรค ประสบความสำเร็จใหญ่หลวงในการทดสอบระเบิดไฮโดรเจนครั้งแรกและปล่อยดาวเทียมสำรวจทรัพยากรโลก
กวางมยองซอง-4 (Kwangmyongsong-4) เพื่อเปร่งประกายความองอาจของ
จูเช โจซอน” เขากล่าวโดยอ้างถึงอุดมการณ์ที่ยึดถือในเกาหลีเหนือ
ซึ่งผสมผสานระหว่างลัทธิมาร์ก กับชาตินิยมสุดขั้วของคิม อิลซุง
ผู้ก่อตั้งเกาหลีเหนือ ซึ่งเป็นปู่ของผู้นำคิมหนุ่ม “ผลลัพธ์ออกมาประสบความสำเร็จอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน” นักวิเคราะห์ต่างชาติคาดหมายว่า
ผู้นำรุ่น 3 แห่งราชวงศ์คิม จะนำนโยบาย “บยองจิน” มาใช้อย่างเป็นทางการ พร้อม ๆ
กับการแสวงหาอาวุธนิวเคลียร์และพัฒนาเศรษฐกิจ “หลังการจับกระต่าย
2 ตัว อาวุธนิวเคลียร์และพัฒนาเศรษฐกิจ
มีความเป็นไปได้ว่าเขาจะประกาศให้ประเทศของเขาเป็นรัฐอาวุธนิวเคลียร์
และนั่นคือเป้าหมายหนึ่งเดียว” หยาง มู-จิน
จากมหาวิทยาลัยศึกษาเกาหลีเหนือในกรงโซล ระบุ “เขาอาจวางพิมพ์เขียว
5 หรือ 7 ปี สำหรับพัฒนาเศรษฐกิจ” ผู้สื่อข่าวต่างประเทศที่ได้รับเชิญให้ไปรายงานข่าวการประชุม
ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปภายในศูนย์วัฒนธรรม 25 เมษายน
ขณะที่คาดหมายว่าจะมีผู้แทนของพรรคผู้ใช้แรงงานเกาหลีทั่วประเทศหลายพันคนมาร่วมประชุมสมัชชาที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี
1980 ก่อนที่นายคิมจะลืมตาดูโลกเสียอีก สำนักข่าวยอนฮับของเกาหลีใต้
รายงานโดยอ้างสถานีโทรทัศน์แห่งรัฐเกาหลีเหนือระบุว่า สมัชชาพรรคแรงงานแดนโสมแดง “จะเปิดตัวพิมพ์เขียวอันเลิศเลอที่จะนำพาประเทศไปสู่ชัยชนะขั้นเด็ดขาดแห่งการปฏิวัติของเรา”ภายใต้การนำของคิมจองอึน อนุญาตให้เศรษฐกิจตลาดนอกระบบเติบโตได้
แม้ไม่ได้บรรจุอยู่ในนโยบายของรัฐบาลอย่างเป็นทางการ แต่ขณะเดียวกัน
การพบเห็นแท็กซี่และรถยนต์ส่วนตัวบนท้องถนนมากขึ้น เช่นเดียวกับสินค้าต่าง ๆ
ในร้านค้าและอาคารต่าง ๆ อยู่ระหว่างก่อสร้างมากมาย ก็พิสูจน์ได้อย่างชัดเจนว่าชาวเกาหลีเหนืเริ่มมั่งมีมากขึ้นและใช้จ่ายบริโภคมากขึ้น เกาหลีใต้สั่งเฝ้าระวังขั้นสูง
ท่ามกลางความคาดหมายว่าเกาหลีเหนือจะทดสอบนิวเคลียร์ครั้งที่ 5 ในช่วงเวลาเดียวกับเปิดประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์ ขณะที่ในทางเทคนิคแล้ว
เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ยังคงอยู่ในภาวะสงคราม เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างปี 1950
- 1953 สิ้นสุดลงด้วยข้อตกลงสงบศึกชั่่วคราว ไม่ใช่สนธิสัญญา
อาจไม่ต้องรอดูกันให้ยืดเยื้อยาวนานอีกต่อไป
สำหรับศึกชิงชัยตำแหน่งตัวแทนพรรครีพับลิกัน เพราะในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดนัลด์
ทรัมป์ มหาเศรษฐีชื่อดังส่อเค้าว่ากำลังจะได้เป็นตัวแทนพรรครีพับลิกันแบบแบเบอร์ในการลงสนามเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ
ในช่วงปลายปีนี้ หลังจากที่ในวันอังคาร (3 พ.ค.)
ที่ผ่านมา ทรัมป์เป็นฝ่ายเก็บชัยชนะในการเลือกตั้งขั้นต้นที่มลรัฐอินดีแอนา
จนทำให้คู่แข่งคนสำคัญที่เหลือในสังเวียนอย่าง เท็ด ครูซ
ตัดสินใจประกาศถอนตัวจากการชิงตำแหน่งตัวแทนพรรคไปแล้ว เมื่อเท็ด ครูซ
วุฒิสมาชิกคนดังจากมลรัฐเทกซัส ออกมายอมรับแบบสิ้นท่าในวันอังคาร (3) โดยระบุ ตัวเขามองไม่เห็นหนทางที่เป็นไปได้เหลืออยู่อีกแล้ว
ในการที่เขาจะได้รับการเสนอชื่อเป็นให้ตัวแทนพรรครีพับลิกันในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ
2016 และครูซได้ประกาศขอถอนตัวจากการแข่งขันอย่างเป็นทางการ การตัดสินใจของครูซที่กลายเป็น
“ข่าวดี” สำหรับทรัมป์ในครั้งนี้
มีขึ้นภายหลังจากที่มีการประกาศผลการเลือกตั้งขั้นต้นที่มลรัฐอินดีแอนาซึ่งชี้ชัดว่าครูซเป็น
ฝ่ายพ่ายแพ้ยับเยินให้แก่ทรัมป์ โดยที่ส.ว.ดังจากเทกซัสได้คะแนนเพียง 36.6 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ทรัมป์ได้คะแนนราว 53.3 เปอร์เซ็นต์ “เรากำลังจะเป็นฝ่ายที่คว้าชัยชนะในเดือนพฤศจิกายนนี้
ซึ่งจะถือเป็นชัยชนะขั้นเด็ดขาด และผมขอย้ำยุทธศาสตร์เดิมของผมที่ว่า
อเมริกาจะต้องมาก่อน” ทรัมป์ประกาศกร้าวท่ามกลางกลุ่มผู้สนับสนุน
ณ ศูนย์บัญชาการการเลือกตั้งในอาคารทรัมป์ ทาวเวอร์ ในมหานครนิวยอร์ก
หลังคว้าชัยเด็ดขาดในมลรัฐอินดีแอนา ชัยชนะสำหรับทรัมป์ที่อินดีแอนาถือเป็นชัยชนะในศึกเลือกตั้งขั้นต้นเป็นมลรัฐที่
7 ติดต่อกันแล้ว
ท่ามกลางความล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่าของเหล่าสมาชิกขบวนการหยุดยั้งสกัดกั้นทรัมป์
ที่มุ่งหวังที่จะยับยั้งไม่ให้มหาเศรษฐีฝีปากกล้าผู้นี้
ได้รับเสียงจากตัวแทนผู้ลงคะแนนถึงครึ่งหนึ่ง
ก่อนหน้าที่จะถึงการประชุมใหญ่ของพรรครีพับลิกันในช่วงเดือนกรกฎาคมนี้ ในอีกด้านหนึ่ง
การตัดสินใจประกาศถอนตัวจากสังเวียนชิงตำแหน่งตัวแทนพรรครีพับลิกันของเท็ด ครูซ
ถือเป็นเรื่องที่พลิกโผอยู่มิใช่น้อย เนื่องจากวุฒิสมาชิกคนดังที่มีจุดยืนอนุรักษนิยมแบบสุดขั้วรายนี้
ได้ประกาศย้ำมาโดยตลอดว่า
เขาจะเดินหน้าชิงชัยเพื่อเป็นผู้สมัครของพรรครีพับลิกันไปจนกระทั่งถึง “วันสุดท้าย” การเลือกที่จะก้าวถอยออกมาของครูซทำให้เวลานี้เหลือเพียง จอห์น คาซิก
ผู้ว่าการมลรัฐโอไฮโอ ซึ่งได้คะแนนนิยมต่ำมากเพียงรายเดียวเท่านั้น
ที่ยังคงยืนกรานจะเป็นคู่แข่งขันของโดนัลด์ ทรัมป์
เพื่อให้ได้เป็นตัวแทนรีพับลิกัน ในการลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ
ในช่วงปลายปีนี้ ทั้งนี้
มีการประเมินว่า เมื่อเวลาล่วงเลยถึงวันที่ 7 มิถุนายน
ซึ่งถือเป็นวันสุดท้ายของการจัดเลือกตั้งขั้นต้น ของฝ่ายรีพับลิกัน
โดยที่จะมีการชิงชัยใน 5 มลรัฐและหนึ่งในนั้นคือรัฐใหญ่อย่างแคลิฟอร์เนีย
นั้น โดนัลด์ ทรัมป์
น่าจะได้คะแนนตัวแทนผู้ออกเสียงเกินครึ่งตามที่ต้องการสำหรับการเป็นตัวแทนของพรรคในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีที่คาดว่าจะมีคู่แข่งเป็นนางฮิลลารี
คลินตัน จากฝั่งเดโมแครต นักวิเคราะห์การเมืองอเมริกันจากหลายสำนักลงความเห็นตรงกันว่า
การคว้าชัยชนะอย่างต่อเนื่องของทรัมป์ เปรียบเหมือนกับเป็น “กระจกบานใหญ่”
ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า
ชาวอเมริกันจำนวนหลายล้านคนที่เบื่อหน่ายเอือมระอา
ต่อเหล่านักการเมืองจากกลุ่มอำนาจเก่า ยังพร้อมที่จะเทคะแนน
ให้กับมหาเศรษฐีปากกรรไกรจากนิวยอร์กผู้นี้ ที่ถูกมองเป็นนักการเมืองทางเลือกใหม่ กระแสที่มาแรงแบบต่อเนื่องและดูเหมือนจะฉุดไม่อยู่ของโดนัลด์
ทรัมป์ ตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา ทำให้หลายฝ่ายเริ่ม “มองข้ามช็อต”ไปแล้วว่า หากผู้สมัครจากฝั่งรีพับลิกันรายนี้เป็นฝ่ายที่เข้าวินคว้าตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯมาครองได้ในท้ายที่สุด
นโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน” ของทรัมป์จะถูกแปรเปลี่ยนมาประยุกต์ใช้ให้เกิดผลในทางปฏิบัติได้อย่างไร
และจะเกิดผลกระทบอย่างไรบ้าง หากแนวนโยบายนี้ซึ่งมีใจความสำคัญว่า บรรดาพันธมิตรของสหรัฐฯทั้งในเอเชียและยุโรปจะต้องควักกระเป๋าตัวเองมากขึ้นแทนการหวังพึ่งแต่การปกป้องจากกำลังทหารและยุทโธปกรณ์ของสหรัฐฯ
ในการดูแลความมั่นคงอย่างเช่นที่ผ่านมา ถูกนำมาปรับใช้อย่างเต็มรูปแบบ
(เครดิตอ้างอิง : คอลัมน์ข่างต่างประเทศ , MGR online)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น