วันจันทร์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2557

10 สุดยอดปรากฏการณ์ทางการตลาดแห่งปี 2014


ปีเก่า 2014 กำลังจะผ่านไป ที่ถือเป็นอีกปีที่โหดหินสำหรับการทำธุรกิจ แต่ก็เป็นปีที่มีสีสันและสร้างปรากฏการณ์ทางการตลาดในหลายรูปแบบที่คุณเองก็ไม่อาจจะเชื่อว่า กระแสเหล่านี้มันมารวมกันอยู่ในปีนี้เลยหรือ เราจะมาประมวลกันดังนี้

อันดับ 10. กระแสโซเชียลคอมเมิร์ซ (Social Commerce) มาแรง  ไม่ว่าจะเป็น Fanpage บน Facebook, Line Account, Instragram คนดัง, Blog Celebrity คนดังหันมาทำธุรกิจบนโซเชียล หรือบรรดา Net Idol ที่ลุกขึ้นมาทำคลิป โปรโมตตนเอง ผ่านคลิปแนะนำตนเองหรือสร้างวิวาทะเด็ดๆ อัพลงยูทูปบ้าง,social cam บ้าง, ผ่าน web channel ,web page ต่างๆ เป็นของตนเอง การแชร์คลิปไวรัลมาร์เก็ตติ้งที่สร้างสถานการณ์ชวนให้คนเข้ามาดูบ้าง พอตอนหลังก็มาเฉลยว่าเป็นการโปรโมตสินค้า ซึ่งมีอยู่หลายตัวในปีนี้ ทั้งหลายทั้งปวงรวมๆ เรียกว่า กระแสโซเชียลคอมเมิร์ซ ที่ก่อร่างสร้างตัวเป็นรูปธรรมอย่างเห็นได้ชัดก็ในปีนี้เอง เดี๋ยวนี้การจะรัก จะชอบ จะเกลียด จะเป็นติ่ง ไม่ติ่ง สามารถสร้างเพจแอนตี้คนดังเหล่านั้นได้ หรือแม้กระทั่งการฝากร้านขายสินค้าบนไอจี ของคนดัง การเข้าไปเม้นต์ วิวาทะแรงๆ ในไอจีของกรุ๊ปเฟรนด์หรือของคนดังต่างๆ เพื่อสร้างข่าวให้ตนเอง หรือทำไอจีปลอม เพซบุ้คปลอมเพื่อหลอกขายสินค้าให้คนอื่นหลวมตัวโอนเงินมาให้ แต่สุดท้ายก็หนีหายไป จนเกิดความเสียหาย จนเกิดการฟ้องร้องเจ้าของไอจีหรือเฟซตัวจริงก็มีให้เห็นมากมาย ลุกลามไปจนถึงกระทั่งมีการแฮ็กไอจี หรือแอ็คเค้าท์บัญชีกันแล้ว ทั้งหลายเหล่านี้ เป็นภัยสมัยใหม่ที่มาพร้อมๆ กับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีด้วยเช่นกัน ปีถัดๆ ไปเราอาจได้เห็นรุปแบบที่แปลกๆ ใหม่ๆ มากขึ้นอีก หากการพัฒนาก้าวหน้าของโปรแกรม หรือแอพพลิเคชั่นต่างๆยังคงมีอยู่ต่อไป ไอ้วายร้าย อาชญากรโซเชียลก็จะติดตามตัวคุณไปตลอดนั่นแหละ หากว่าเราหลีกหนีมันไม่พ้น ก็เลิกเล่นมันไปเสียจะดีกว่า หรือไม่ถ้ายังจำเป็นต้องมีต้องเล่น ก็จะต้องหาทางระมัดระวัง ป้องกันตนเองให้มากยิ่งขึ้นไป เพราะในโลกนี้ ไม่มีอะไรที่สวยหรู หรือได้อยู่ฝ่ายเดียวตลอด มันก็ย่อมจะมีสิ่งเลวร้าย ให้สูญเสียชื่อเสียงเงินทองเจือปนอยู่ด้วยเสมอ




 
อันดับ 9. การเปิดตัว i-phone 6 ซึ่งทุกๆ ปี Apple ก็จะสร้างข่าว launch product ตัวใหม่ๆ ของตนเองออกมา ปีนี้พิเศษหน่อยตรงมี ข่าวหลุดออกมาก่อนการเปิดตัว โดยไม่ได้ตั้งใจของหน่วยงานอิสระของรัฐอย่าง กสช. เกี่ยวกับการตรวจสอบการจดทะเบียนลิขสิทธิ์ต้นแบบนำเข้าที่นำมาให้ กสช.ตรวจสอบก่อนจะนำเข้ามาขายในราชอาณาจักรจริง แต่เจ้าหน้าที่ของ กสช.ดันปากโป้งมาแจงออกสื่อว่า ได้ตรวจสอบโมเดลต้นแบบของเครื่อง i-phone 6 ว่ามี 2 แบบ พอเรื่องหลุดรอดผ่านออกมาถึงสื่อ กลายเป็นที่ถกเถียงกันว่า นี่เป็นการนำเอาความลับทางการค้ามาบอกแก่สาธารณะชนก่อนที่เขาจะเปิดตัวสินค้าหรือไม่ คือถ้าเป็นในเมืองนอกก็ต้องถือว่าทางบริษัทแม่อาจจะเสียหาย ยิ่งเป็นบริษัทระดับโลกอย่าง Apple ความลับรั่วออกมาก่อนเปิดตัวสินค้าทั่วโลกเช่นนี้ มันไม่เคยมีเคสนี้มาก่อน ในเชิงธุรกิจก็ต้องถือว่าเสียหาย เพราะว่าหากคู่แข่งทราบก็อาจ launch สินค้าตัดหน้า หรืออาจมีผลต่อสาวกผู้บริโภคอาจผิดหวัง เมื่อกระแสข่าวลือถูกส่งต่อออกไป ทั้งเจ้าหน้าที่ของ กสช.ท่านนั้น หรืออย่างบริษัท Apple ต่างก็ต้องออกมาแก้ข่าวกันเป็นพัลวัน บอกว่าไม่เป็นไร ไม่กระทบต่อแผนการตลาดเปิดตัวสินค้า แต่พอถึงวันจริงเปิดตัวสินค้า ก็ปรากฏว่าออกมาตรงตามข่าวที่รั่วออกมาก่อนหน้านี้ทุกประการ  ทำให้งานนี้ไม่มีเซอร์ไพร์สเกิดขึ้นในหมู่สาวก i-phone หรือแอ็ปเปิ้ล ในเมืองไทยเลย ไม่เหมือนเมื่อคราวก่อน ๆ  แต่ไฮไลท์กลับไปอยู่ตรงที่สินค้านวัตกรรมตัวใหม่ อย่าง Apple watch ที่ทำออกมาได้น่าใช้ น่าสนใจมาก ด้วยรูปลักษณ์ที่เก๋ไก๋ ประโยชน์ใช้งานคุ้มค่า สนนราคาก็ไม่แพงด้วย

อันดับ 8.การเปิดตัว,ตื่นตัวของทีวีดิจิตอลช่องใหม่ๆ จำนวนมาก รวมถึงการแจกคูปองเพื่อไปแลกกล่องรับสัญญาณหรืออุปกรณ์ส่วนควบต่างๆ ของ กสทช. คูปองมีมูลค่าใบละ 690 บาท ซึ่งแจกไปตามบ้านที่มีอยู่ในระบบทะเบียนราษฏร์ ครัวเรือนละ 1 ใบ ซึ่งสามารถสร้างกระแสความคึกคักของการตื่นตัวเรื่องทีวีดิจิตอลขึ้นมามากมาย แม้ช่วงกลางปีจะเกิดกรณีดราม่าของช่อง 3 กับ กสทช. และรวมตัวกันของผู้ประกอบการดิจิตอลทีวีที่ยื่นหนังสือเรียกร้องความเป็นธรรมในเรื่องการดำเนินการล่าช้าของ กสทช.ในหลายๆ เรื่องทำให้รายได้ไม่เป็นไปตามเป้า (เรียกร้องขอให้เลื่อนการจ่ายค่าสัมปทานออกไป) จากหลายๆ กรณี อาทิ แจกคูปองเงินสดแลกอุปกรณ์ล่าช้า, การดำเนินโครงการขยายเครือข่าย MUX ล่าช้าไม่เป็นไปตามแผนการที่วางไว้และไม่ครอบคลุมในหลายพื้นที่, การจัดตั้งองค์กรวัดเรตติ้งยังไม่สำเร็จ ฯลฯ มีข่าวแพร่งพรายมาเป็นระยะถึงผู้เล่นในธุรกิจทีวีดิจิตอลหลายรายส่อแววเดี้ยง ต่างต้องดิ้นรนหนีตาย จากภาระค่าใช้จ่ายและรายได้ที่ไม่เป็นไปตามเป้า เนื่องจากผู้ประกอบการสินค้ารายใหญ่รั้งรอที่จะยังไม่โยกเงินเม็ดโฆษณาเข้าสู่ทีวีดิจิตอล เป็นผลจากการวัดเรตติ้งที่ยังไม่ชัดเจนนั่นเอง ซึ่งเป็นผลมาจากความล่าช้าของหลายๆ เรื่องที่ กสทช.ไม่เร่งรัดให้ได้ตามแผน และรีบเร่งเปิดประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิตอลโดยที่ยังไม่มีความพร้อม ทั้งๆ ที่ควรจะต้องวางโครงข่ายให้เสร็จสิ้นเสียก่อน เป็นต้น แต่อย่างไรก็ดี ในเมื่อผู้เล่นจำต้องลงสนามก่อนเวลาอันสมควร จำต้องสัปประยุทธิ์ไปตามเกม ทำเท่าที่จะทำได้ไปก่อน ประชาชนจึงได้เห็นการแข่งขันแบบไม่ค่อยเต็มที่ เต็มสูบนักของทีวีดิจิตอลหลายๆ ช่อง ที่ยังไม่ยอมงัดเอากลยุทธ์ของดีมาสู้กัน หรือยังไม่กล้าลงทุนทำหรือซื้อรายการดีๆ มาลงอย่างเต็มที่นัก  

 
 
อันดับ7. การเปิดตัวสนามแข่งรถแห่งใหม่ระดับเอเซียที่ชื่อ Chang International Circuit บนอาณาจักรสปอร์ต่คอมเพล็กซ์ของเจ้าพ่อกีฬาอย่างคุณเนวิน ชิดชอบ ประธานสโมสรบุรีรัมย์ยูไนเต็ด และอยู่ภายใต้การบริหารงานเดียวกับสนาม i-moblie Stadium แล้วต่อยอดไปเป็นสินค้าหมวดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับมอเตอร์คาร์ อาทิ การขายอุปกรณ์การแต่งรถ ,กิจกรรมส่งเสริมการตลาดอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับสินค้าของรถยนต์ ไม่ว่าจะเป็น ชุดแต่ง สนามซ้อม น้ำมันเครื่อง ศูนย์แต่ง ซ่อมบำรุง การนำเข้าพริตตี้จากต่างประเทศ ฯลฯ

 
 
 
อันดับ 6. การกลับมาของซุปตาร์ตัวแม่ หมายเลข 1 ของวงการอย่างอั้ม พัชราภา ไชยเชื้อ พร้อมๆ กับการประกาศศักดาความเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ของทีวีดิจิตอลเรตติ้งอันดับ 1 ของเมืองไทยอย่างช่อง 7HD   ถ้าปีที่แล้วกระแสเจมส์จิ คือซุปตาร์เกิดใหม่ชั่วข้ามคืน มาปีนี้ก็เป็นปีของการคัมแบ็กของซุปตาร์ตัวแม่ของวงการอย่างอั้ม พัชราภา ไชยเชื้อ เธอกลับมาทวงบัลลังก์แชมป์ของซุปตาร์หมายเลข 1 ฝ่ายหญิงได้อย่างเต็มภาคภูมิ หลังจากที่ช่วงหลายปีก่อนหน้านี้ถูกกระแสของซุปตาร์ฝ่ายหญิงจากช่องคู่แข่งแย่งเนื้อที่ข่าวสารบนหน้าสื่อไปเกือบหมด แต่ปีนี้ต้องนับเป็นปีของอั้มอย่างแท้จริง ทั้ง lucky in love and lucky in game ทั้งเรื่องราวชีวิตรักส่วนตัวก็สมหวัง กลับมารีเทิร์นรักกับแอมป์ พิธาน มหาเศรษฐีหนุ่มได้ทันก่อนช่วงปลายปี และผลงานด้านละครเรื่อง “พราว”  สามารถกระชากเรตติ้งสูงสุดให้กับละครช่อง 7 และเป็นการกลับมาทวงบัลลังก์แชมป์ซุปตาร์ฝายหญิงเบอร์ 1ได้แทบจะทุกโพล ทุกสำนัก บทบาทการเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ให้กับช่อง 7HD  “เราเลือกสรร คัดแล้ว คัดอีก” จัดเป็นแคมเปญโฆษณาที่ใช้อั้มเป็นสื่อกลาง ตัวแทน ตอกย้ำความเป็นเบอร์ 1 ของช่อง 7 ในด้านมาร์เก็ตแชร์ และช่องทีวีเรตติ้งสูงสุดของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอนาล็อกหรือดิจิตอล

 
อันดับ 5. เกิดปรากฏการณ์กระแสดนตรีเต้นรำที่ระบาดไปทั่วทุกหัวระแหง ที่เรียกว่า EDM จริงๆ ก็ไม่ได้มีอะไรใหม่ และจริงๆ ก็เข้ามาเมืองไทยตั้งนานแล้ว เพียงแต่ยังไม่บูมเท่าปีนี้ ปีนี้นับเป็นปีที่บูมสุดขีดของดนตรีแนวนี้ในประเทศไทย เริ่มตั้งแต่การกลับมาคืนวงการเพลงของสุกี้ สุโกศล แคลปป์ กับโปรเจ็คท์งานดนตรีในชื่อชุด Monkey Disco Boy  ที่เน้นงานดนตรีแนวนี้ EDM เกิดศิลปินแนวนี้ขึ้นมามากมาย อาทิ Boom Boom Cash การนำเข้าการแสดงสด live party ที่มีธงนำคือ EDM ชนกันถึง 2 งานใหญ่ก็คือ 808 Festival กับ Waterzonic ส่วน Gravity(แมงมุมยักษ์) จัดไปแล้ว ทุกงานบัตร sold out หมดเกลี้ยง และในช่วงต้นปีหน้าก็ยังมีงานใหญ่อย่าง Maya Music Festival อีก 1 งาน นำโดยกฤษฏ์ ศรีภูมิเศรษฐ์ ผู้จัดงาน เจ้าของบริษัทอีเว้นต์และพิธีกรชื่อดัง ซึ่งร่วมกับ ททท. สร้างงานอีเว้นต์นี้ให้เป็นงานระดับโลก โดยเชิญ ดีเจ และศิลปินระดับโลก เข้ามา ปีหน้าคาดว่าจะเป็นยุคบูมของ EDM อย่างเต็มที่ มีงานคอนเสิร์ตดนตรีแนวนี้ที่จ่อรอคิวจัดอีกเพียบเลย แว่วว่า งาน Gravity 2015 ก็มีแนวโน้มจัดต่ออีกปีหน้า และอื่นๆ อีกมากมาย

อันดับ 4. กระแสการตลาดเกี่ยวกับการประกวดนางงามฟีเวอร์ เป็นปีที่คึกคักเกี่ยวกับการประกวดนางงาม มีเวทีใหญ่ในประเทศถึง 4 เวที ไม่นับเวทีประกวดสาวประเภท 2 และเวทีประกวดท้องถิ่นต่างๆ หรือการประกวดมิสทีน มิสยูนิเวอร์ซิตี้ต่างๆไม่นับ ถึงขนาดมีการสร้างละครเจาะลึกวงการนางงามถึง 2 เรื่องในปีเดียวกัน นั่นก็คือ ปีกมงกุฎ ของช่อง 7 และสงครามนางงาม ของช่อง one    จริงๆ เรื่องวงการประกวดขาอ่อนไทยนั้นมีกรณีดราม่าเกี่ยวกับผู้จัดการประกวดมาก่อนเมื่อซัก 1-2 ปีมานี้ ถึง 2 เวที เป็นกรณีผู้ได้ลิขสิทธิ์จัดประกวด 2 เวทีใหญ่ เวทีแรกคือมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ ซึ่งแต่เดิมคุณแดง สุรางค์ เปรมปรีด์เคยอยู่ช่อง 7 จัดประกวดเวทีนี้จึงยืนโรงจัดประกวดอยู่ช่อง 7 มานมนานแล้ว พอแกออกจากช่อง 7 มา ก็เลยหนีบเอาลิขสิทธิ์หนีตามออกมาด้วย มาจัดอยู่ช่อง 5 ซักพัก แล้วก็ย้ายมาช่อง 3 ในปัจจุบัน (คาดว่าอนาคตอาจย้ายไปช่อง one เนื่องด้วยสายสัมพันธ์ของคุณแดงกับคุณบอยแนบแน่นกันมากๆ ) เวทีต่อมาก็คือเวทีมิสไทยแลนด์เวิลด์ซึ่งเดิมทีช่อง 3 เคยไว้วางใจให้คุณณวัฒน์ อิสรไกรสีล เป็นผู้ดูแลการจัดงานประกวดมาพักใหญ่ (ประมาณ 7 ปี) แต่พอมาปี 2014 ทางผู้ใหญ่ช่อง 3 มีการปลดคุณณวัฒน์ออกแล้วตั้งคุณสุพล วิเชียรฉายมาเป็นผู้ดูแลการประกวดแทน (ซึ่งก็ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด) จากการเป็นผู้จัดการการประกวดมาหลายปี ทำให้คุณณวัฒน์ล่วงรู้แนวทางการสรรหาและจัดงานเป็นอย่างดี คุณณวัฒน์ก็เลยบ่ายหน้าไปช่อง 7 และนำเสนอเป็นผู้จัดประกวดเวทีใหม่ขึ้นมาเอง โดยใช้ชื่อว่า มิสแกรนด์ไทยแลนด์ เพื่อหาผู้ชนะไปประกวดมิสแกรนด์อินเตอร์เนชั่นแนล จึงกลายเป็นอีกเวทีใหญ่ขึ้นมาในปีนี้ ก่อนหน้าที่จะมีการคัดสรรหรือประกวดมิสแกรนด์ไทยแลนด์ในปีนี้ คุณณวัฒน์ก็มีกรณีกับคู่กรณีเจ้าของผู้ได้ลิขสิทธิ์การจัดประกวดมิสเอิร์ธ เจ้าเก่าฟ้องหาว่าคุณณวัฒน์ละเมิดลิขสิทธิ์ แต่คุณณวัฒน์ก็แจ้งความฟ้องกลับคู่กรณี เนื่องจากมีหลักฐานว่าได่ลิขสิทธิ์มาอย่างถูกต้องจากเจ้าของสิทธิ์ที่ฟิลิปปินส์ เมื่อเคลียร์ตรงนี้เรียบร้อย เรื่องราวการดราม่าเกี่ยวกับผู้จัดจบไป ก็มีกรณีดราม่าของผู้เข้าประกวดเข้ามาอีกหลายกรณี ที่เป็นกระแสอื้อฉาวที่สุด ก็คือเวทีประกวดมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ กรณีของน้องฝ้าย เวฬุรีย์ เจ้าของตำแหน่งมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ประจำปี 2014 ถูกกระแสแอนตี้ ข้อครหานินทาถึงความไม่เหมาะสมทั้งมีเส้นมีสาย ทั้งรูปร่างหน้าตา ทัศนคติเกียวกับด้านการเมือง เธอโดนกดดันหนักและกระแสแอนตี้ในโลกโซเชียลรุนแรงจนกระทั่งต้องแถลงข่าวขอสละสิทธิ์จากตำแหน่งโดยสมัครใจ นั่นเป็นกรณีแรก ความวัวยังไม่ทันหายความความก็เข้ามาแทรก เมื่อผู้ประกวดเวทีเดียวกันในปีเดียวกันที่ได้รองอันดับ 2 น้องน้ำเพชร ถูกก่องประกวดปลดออกจากตำแหน่ง ข้อหาเคยมีประวัติถ่ายแบบแนววาบหวิว ไม่เหมาะสมมาก่อน ซึ่งไม่ค่อยบ่อยนักที่นางงามจากเวทีประกวดเดียวกันจะมีเรื่องฉาวโฉ่ถึง 2 กรณีในปีเดียวกัน พอมาปลายปีอีกเวทีหนึ่ง น้องเมญ่าจากเวทีประกวดมิสไทยแลนด์เวิลด์ ผู้ผ่านเข้ารอบการประกวดมิสเวิล์ดเป็นอันดับ 11 ทั้งๆ ที่ได้ตำแหน่งมิสพีเพิลช้อยส์ หรือคะแนนโหวตป็อปปูล่าร์สูงสุด ตามกติกาเดิม ต้องติด 1 ใน 5 คนสุดท้าย แต่มีการเปลี่ยนแปลงกติกาแบบฟ้าผ่า ทำให้เธอไม่ได้เข้ารอบมา กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เป็นมืออาชีพของเวทีประกวดมิสเวิลด์ และกระแสดราม่าเกี่ยวกับนางงามจากเวทีนี้ของไทยไม่เคยผ่านเข้ารอบลึกๆ หรือได้ตำแหน่งใหญ่มาได้แม้สักคนเดี่ยว ผิดกับเวทีน้องใหม่อย่างมิสแกรนด์ไทยแลนด์ที่เพิ่งจัดประกวดในไทย ส่งไปประกวดเวทีระดับโลกก็ได้ตำแหน่งเลย เริ่มจากน้องเฟิร์ส ภัทราพร ไปได้ตำแหน่งมิสอินเตอร์คอนติเนนทัล 2014 ,ส่วนน้องปลา ปรภัสสร (ผู้ได้รับตำแหนงมิสแกรนด์ไทยแลนด์) ไปได้รองอันดับ 1 มิสซูปราเนชั่นแนล 2014  ส่วนน้องศศิไปรอลุ้นเวทีมิสเอิร์ธ นี่เป็นเพียงตัวอย่างของความคึกคักของการจัดประกวดเวทีขาอ่อนในบ้านเรา ซึงในปีนี้ถือได้ว่ามีสีสันที่สุด การแข่งขันดุเดือดที่สุด กระแสดราม่าและสามารถแย่งพื้นที่สื่อเป็นระยะๆ นับแต่ต้นปียันปลายปี กำลังจะบอกว่าการตลาดเกี่ยวกับการจัดประกวดนางงามในบ้านเรามีมูลค่าการตลาดมหาศาลนับเป็นพันล้านทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นมูลค่าของเงินรางวัลล่อใจ สปอนเซอร์สนับสนุน เมื่อได้รับตำแหน่งแล้วจะได้รับการเซ็นสัญญากับทางต้นสังกัดคือสถานีโทรทัศน์ที่เป็นผู้จัดการประกวด ได้เป็นดาราของช่อง ได้เล่นละคร ได้เป็นพรีเซ็นเตอร์แบรนด์เครื่องสำอางค์ต่างๆ หรือคอนซูเมอร์โปรดักท์ ได้ค่าตัวออกงานอีเว้นท์ต่างๆ ค่าพรีเซ็นเตอร์โฆษณา การออกงานโชว์ตัวตามอีเว้นท์สำคัญระดับชาติตลอดทั้งปี และอาจได้เป็นนางแบบอาชีพ (หากว่าสนใจเบนเข็มมาทางนี้) หรือเป็นภรรยาของบรรดาเศรษฐี นักการเมืองใหญ่ๆ ในบ้านเรา เหล่านี้คือมูลค่าการตลาดของนางงาม ที่สามารถต่อยอดไปได้หลากหลาย นี่คือที่มาที่ทำไมจึงมีคนแย่งกันเป็นผู้จัด หรือแย่งลิขสิทธิ์การจัดประกวดกันอย่างดุเดือดขนาดนั้น ซึ่งเบื้องหลังคือผลประโยชน์กำไรที่แบ่งกันระหว่างผู้จัดและสถานีโทรทัศน์ที่จัดประกวด  

อันดับ 3.กระแสการทำ Ice Bucket Challenge จุดเริ่มคงมาจาก มูลเหตุที่มาคือ อดีตนักกีฬาเบสบอลระดับมหาวิทยาลัย ชื่อ Pete Frates ป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ได้เป็นคนจุดประกายแคมเปญนี้ขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือ กลุ่มผู้ป่วยโรค ALS หรือ ALS Associtaion  นายคอรีย์ กรีฟฟิน อดีตผู้จัดการของบริษัทการลงทุน เบน แคปิตอล จำกัด ถือเป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มกิจกรรมดังกล่าว โดยช่วยเปลี่ยนให้กิจกรรม Ice Bucket Challenge เป็นการระดมทุนผู้ช่วยเหลือผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง หลังจากที่เพื่อนของเขา พีท เฟรตส์ อดีตกัปตันของทีมเบสบอลมหาวิทยาลัยบอสตัน ได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคดังกล่าว (กริฟฟินบริจาคเงินกว่า 3 ล้านบาท) ให้แก่โครงการดังกล่าว  ALS Association เผย Ice Bucket Challenge ช่วยพลิกโอกาส หลังยอดรับบริจาคในช่วงที่มีผู้คนร่วมกิจกรรมการกุศลนี้ เมื่อวันที่ 20 ส.ค.ยอดอยู่ที่ 31.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเพียงแค่ 1 วันมีเงินเข้ามาถึง 8.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (บุญใหญ่! Ice Bucket Challenge วันเดียวระดมทุนได้ 8.6 ล้านเหรียญ   จริงๆ ผู้เขียนคิดว่ากระแส Ice Bucket Challenge ก็เป็นเพียงกลยุทธ์ทางการตลาดรูปแบบหนึ่ง เพื่อหารายได้สมทบทุนเข้ามูลนิธิการกุศลช่วยเหลือบุคคลที่เป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง เพียงแต่ผู้ที่ริเริ่มหรือจุดกระแสมีกุศโลบายทางการตลาดที่ชาญฉลาด ดึงเอาส่วนดีของ 3 สิ่งนี้มารวมกันเพื่อปลุกให้คนหันมาสนใจได้สำเร็จ นั่นก็คือ ใช้ 1.social network เป็นสื่อกลางในการเผยแพร่ข่าวสารประชาสัมพันธ์โครงการนี้ 2.ใช้คลิป viral แชร์กันต่อๆ กันไป (คนที่ริเริ่มทำ IBC เสร็จก็จะท้าคนต่อไปยังคนคนดังที่ทั้งรู้จักหรือไม่รู้จักอีก 3 คนเพื่อให้ทำแบบเดียวกัน คล้ายจดหมายลูกโซ่ หากไม่ทำก็ให้เสียสละบริจาคเงินเข้า ALS แทน แต่โดยมากก็จะรับคำท้าและบริจาคเงินด้วย) 3.ใช้พลังของ celeblrity คนดังเป็นคนเรียกกระแส แทบทุกวงการ ทั้งนักธุรกิจ นักการเมือง ดารานักแสดง นักร้อง นักกีฬา แม้กระทั่งผุ้นำประเทศ จนมันเป็นแคมเปญหาเงินที่ประสบความสำเร็จที่สุดภายในระยะเวลาไม่กี่เดือน ก็ได้ผู้บริจาคเงินเข้ามูลนิธินี้นับถืงเดือน ต.ค.2014 ปีนี้ มียอดเงินในมูลนิธิถึง 21.7 ล้านเหรียญสหรัฐไปแล้ว นับว่าการบริจาคเงินเล็กๆ น้อยๆ คนละไม้คนละมือกลายเป็นพลังมหาศาลมาก และโครงการนี้ก็นับว่าประสบความสำเร็จทั้งในแง่รูปแบบและจุดประสงค์โครงการ

อันดับ 2. ปรากฏการณ์ของ 3 ภาพยนตร์กับ 2 ซีรี่ย์ในมือของ GTH โดยเฉพาะ ภ.เรื่อง  I fine thank you love you มือขึ้นจริงๆ เมื่อปีที่แล้วสร้างปรากฏการณ์พี่มากพระโขนงกับซีรี่ย์ Hormones มาปีนี้ ฝีมือไม่ได้ตกลงไปเลย ทำให้เข้ามาอยู่อันดับ 2 ในปีนี้ (แม้อันดับจะตกจากที่ 1 มาสู่ที่ 2 แต่ดูโดยภาพรวมแล้วถือว่ามาตรฐานผลงานจัดว่าอยู่ในระดับต้นๆ ของประเทศหรือในอาเซียนด้วยซ้ำ)  การตลาดของเรื่อง I fine thank you love you จริงๆ ก็ใช้สูตรสำเร็จแบบเดียวกับเรื่องพี่มากพระโขนงมาเลย ค่ายนี้ถนัดทำคลิปโปรโมตภาพยนตร์ตัวเอง ค่อยๆ ปล่อยออกมาทีละตัว 2 ตัวเพื่อเรียกน้ำย่อย หรือกระตุ้นต่อมอยากดูไปเรื่อย ๆ ตัดตัวอย่าง teaser ให้ดูน่าสนใจ มีเพลงประกอบที่ชวนร้องตามได้ พร้อมท่าเต้นสนุกสนาน นำมุกตลกมาเป็นจุดขาย เพื่อเรียกกระแสให้คนไทยอยากดู เข้ามาดูในโรง สุดท้ายถึงบางอ้อ เพราะว่าเรื่องนี้ธีมของเรื่องเป็นหนังรักโรแมนติกนั่นเอง แต่ถ้าไม่ใช้มุกตลกมาเป็นจุดขายเรียกคนดู ไฉนเลยรายได้จะวิ่งฉิวไปไกลเกินกว่า 200 ล้านเห็นทีจะยาก เพราะสูตรสำเร็จของเมืองไทยมีแค่ ตลก ผี กระเทย เท่านั้น ขนาดแอ็คชั่นช่วงหลังยังแป๊กเกือบทุกเรื่อง

 
 
 
อันดับ 1.กระแสบอลไทยฟีเวอร์ หรือจะเรียกว่าเป็นปีของ sport marketing อย่างเต็มๆ ที่บูมสุดๆ ก็ว่าได้ มันเริ่มมาตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้วมาต่อต้นปีนี้กับกระแสกีฬาซีเกมส์ กลางปีเป็นกระแสฟุตบอลโลก มาต่อด้วยสโมสรฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลีคฟีเวอร์ ตามมาด้วยเอเชี่ยนเกมส์ช่วงปลายปี และจบด้วยฟุตบอลรายการ AFF SUZUKI CUP นี่แค่กระแสกีฬาฟุตบอลอย่างเดียว ยังไม่นับกีฬาประเภทอื่นๆ ที่ก็ฮิตไม่แพ้กันในบ้านเรา อย่างวอลเล่ย์บอล แบดมินตัน กอล์ฟ มวย ยกน้ำหนัก เทคอนโด้ ตะกร้อ โบว์ลิ่ง ฯลฯ สิงที่จะตามมาก็คือ กระแสอยากส่งเสริมให้บุตรหลานของตนเองเล่นกีฬาในหมู่บรรดาผู้ปกครองทั้งหลาย แล้วสิ่งที่จะตามมาก็คือ สนามฟุตบอล ธุรกิจสนามฝึกซ้อมต่างๆ จะบูมมาก ไม่ว่าจะเป็น สนามซ้อมบอล คอร์ทแบด สนามไดร้ฟกอล์ฟ คอร์ทเทนนิส โรงยิมสอนชกมวย โรงยิมสอนเทคอนโด้ ต่างๆ นี่เป็นเพียงแค่น้ำจิ้ม จริงๆ ธุรกิจเหล่านี้ก็มีอยู่แล้วในท้องตลาด เพียงแต่มันจะบูมมากขึ้น ใครที่มีที่ทางไม่รู้จะทำอะไรก็หันมาทำธุรกิจกีฬาก็น่าจะดี ยังไม่นับธุรกิจที่เกี่ยวกับอุปกรณ์กีฬา เครื่องแต่งกายก็จะกลับมาบูมอีกครั้งและขายดีขึ้น จากช่วงปีนี้ที่ซบเซาลงไปมากแทบทุกธุรกิจ      
ตราบใดที่กงล้อของธุรกิจยังคงหมุนไป กลยุทธ์การตลาดและการแข่งขันก็จะต้องปรับตัวตามไป ในทิศทางที่เหมาะสมและสอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในทุกยุคทุกสมัย อย่างพอเหมาะพอดี

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น