วันอาทิตย์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ปฏิบัติการค้นฟ้าหาเสียงจริงตัวจริงไปร้องสู้ไฟให้ได้ไมค์ทองคำแล้วกลับมาแจ้งเกิดในเวทีดันดารา


ตอนนี้ในบรรดารายการประกวดร้องเพลงหรือเรียลลิตี้ที่เฟ้นหานักร้อง ผู้เขียนชอบดูอยู่ 2 รายการ ก็คือ The Voice Thailand กับ Keep Your Light Shinning Thailand (ร้องสู้ไฟ) ซึ่งทั้ง 2 รายการเป็นรายการประกวดร้องเพลงแบบแฟรนส์ไชส์จากต่างประเทศด้วยกันทั้งคู่ แต่จุดเด่นและกติกาแตกต่างกัน แต่ถือเป็นเวทีคุณภาพมาตรฐานสูงที่สุดอยู่ในขณะนี้ เพราะได้เห็นผู้เข้าประกวดที่มีฝีไม้ลายมือ พรสวรรค์ ความสามารถทางการร้อง การเอ็นเตอร์เทน ศักยภาพทางการร้อง และเสียงร้อง ที่เรียกได้ว่า คัดเอาหัวกระทิ ผู้เก่งกล้า มืออาชีพ มาจากทั่วประเทศไทยได้เลย ไม่มีกฏเกณฑ์ข้อจำกัดด้านคุณสมบัติของผู้เข้าประกวดมากนัก ขอเพียงสามารถผ่านกฏเกณฑ์กติกาของรายการได้เป็นพอ ไม่เน้นหน้าตามากนัก เอาเสียงเป็นหลัก ตอบโจทย์รายการประกวดร้องเพลงได้ตรงดี ผู้เข้าแข่งขันต้องมีความสามารถทางการร้อง หรือทักษะด้านการร้องเพลงมาในระดับหนึ่ง บางคนสามารถร้องเพลงสากลได้ดีกว่าเพลงไทยเสียอีก แต่ไม่เข้าใจว่า ทำไมประเทศไทย จึงมีรายการประเภทประกวดร้องเพลงเยอะเสียเหลือเกิน ประเทศไทยเราขาดแคลนนักร้องเหรอ ก็ไม่น่าจะใช่ หรือหาคนไปประกวดในระดับจักรวาล โอลิมปิก ก็ไม่ใช่อีก เหตุใดจึงต้องเฟ้นหานักร้องกันพร่ำเพรื่อเช่นนี้ เห็นบางคนจบรายการไปก็ไม่เห็นมีซิงเกิ้ล หรือได้ออกอัลบั้มเสียที จนลืมไปแล้วว่าคนๆ นี้เคยผ่านเวทีประกวดร้องเพลงมาก่อน ฉะนั้น ผู้เขียนจึงสมมติฐานเอาเองว่า ที่เขายังจัดประกวด หรือชอบที่จะทำรายการประเภทนี้กันมากมาย เป็นเพราะต้องสร้างคอนเท็นต์รายการให้กับช่อง เติมเต็มให้มันครบๆ (เหมือนเช่นช่องทีวีช่องหนึ่งๆ ควรจะต้องมี รายการประเภท ข่าว กีฬา ละคร การ์ตูน ซีรี่ย์ เกมส์โชว์ และก็ต้องมีเรียลลิตี้โชว์หรือประกวดอะไรซักอย่าง ให้มันครบ) อีกประการหนึ่งก็คือ มันเป็นรายการประเภทที่หาสปอนเซอร์เข้ารายการได้ง่าย เหตุเพราะยังไงก็ต้องมีคนดู เรียกร้องความสนใจได้ และก็ช่วงหลังๆ หารายได้อีกต่างหาก ผ่านการส่ง sms โหวดผู้เข้าประกวด ซึ่งถ้าเป็นเมื่อก่อน รายการประเภทอย่างนี้ เขาตัดสินผู้ชนะด้วยสายตากรรมการ คอมเมนเตเตอร์ หรือกูรูประจำรายการเท่านั้น ไม่ได้ให้โอกาสคนดูในห้องส่งหรือทางบ้านมีส่วนร่วมในการตัดสินเลย มีเพียงช่วง 10 ปีให้หลัง เทรนด์กระแสรูปแบบเรียลลิตี้ที่ฮิตในอเมริกาและยุโรป นิยมใช้ซุ่มเสียงจากการโหวตของคนดูทางบ้านมาร่วมตัดสินด้วย ซึ่งก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีก็คือเป็นช่องทางหารายได้เข้ารายการ สามารถหยั่งกระแสความนิยมจากคนดูได้ แต่ข้อเสียก็คือผลการตัดสินผู้ชนะบางครั้งพลิกความคาดหมาย พลิกโผแบบสุดๆ ไม่เป็นไปตามความสามารถหรือกระแสสังคมส่วนใหญ่ จนถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมของผู้ชนะในรายการ หรือมาตรฐานของทางรายการ บางครั้งไปไกลถึงความเคลือบแคลงในผลโหวต ถึงขนาดตั้งประเด็นเรื่องการทุ่มโหวต หรือล็อคผลการแข่งขัน ไปถึงขนาดนั้นก็มี ไม่ขอวิจารณ์ว่าเวทีใดเป็นอย่างไร แต่ต้องให้ความเป็นธรรมว่า ผู้เข้าแข่งขันหรือประกวด ย่อมไม่สามารถโกงผลการแข่งขันด้วยตัวของตนเองได้ คนที่ทำได้ก็คือกลุ่มคนดูกับผู้ผลิตรายการเท่านั้น ดังนั้นจึงป่วยการที่จะมาวิพากษ์วิจารณ์ว่านักร้องหรือผู้ชนะจากเวทีประกวดแห่งนั้นดีกว่าผู้ชนะจากเวทีประกวดอีกแห่งหนึ่ง หรือเก่งกว่าอีกแห่งหนึ่ง ในเมื่อตัวแปรของการตัดสินไม่ได้อยู่ที่ตัวผู้เข้าแข่งขันหรือ ผู้ประกวดแต่เพียงอย่างเดียว ขึ้นอยู่กับฐานแฟนคลับคนดูประจำรายการนั้น ผู้ผลิตรายการ และกฏเกณฑ์กติกาของแต่ละรายการอีกด้วย อีกทั้งเราไม่ได้เฟ้นหานักร้องที่ร้องดีที่สุด เก่งที่สุดในประเทศไทยในแต่ละปี เพื่อไปแข่งขันชิงเหรียญทองโอลิมปิกที่ไหน การดูรายการประกวดประเภทนี้ ผู้เขียนจึงนั่งดูแบบขำๆ เอาใจช่วยผู้เข้าแข่งขันมันทุกเวที ทุกรายการที่เฝ้าดู ไม่ได้เชียร์ใครเป็นพิเศษ ไม่คิดโหวตให้เสียตังค์ อาจมีเอาใจช่วยน้องเป็นบางคนในแต่ละเวที เนื่องจากเดี๋ยวนี้ นักร้องมันเยอะเหลือเกิน ไอ้ที่มีอยู่ยังไม่เห็นผลงานเลย แล้วที่ประกวดกันอยู่นี่ มันคืออะไรกัน จำชื่อยังไม่ค่อยจะได้เลย ยกเว้นชื่อแปลกๆ พ่อแม่ขยันตั้งชื่อให้แปลกแหวกแนว ไม่ซ้ำใคร ตั้งข้อสังเกตว่าในช่วง 3-4 ปีมานี้ แทบหาเพชรเม็ดงามจากเวทีประกวดร้องเพลงไม่ค่อยมี หรือเท่าที่หามาได้ ยังไม่เห็นฉายแววที่จะเรียกใช้คำว่า “ศิลปิน” ได้เลยซักคน ส่วนใหญ่จะไปตกล่องปล่องชิ้นกับการเป็นนักแสดงหรือดารามากกว่าหรือด้านอื่น ในขณะที่มนต์ขลังของนักร้องเวทีประกวดมันเริ่มจางหายไปนับจากที่ไม่มีเวทีประกวดสไตล์ประเภทสยามกลการมิวสิคอวอร์ด,ซูบารุอวอร์ด  ยุคหลังมากลายเป็นรายการแบบเดอะสตาร์ ,เอเอฟ, เคพีเอ็นอวอร์ด  เพิ่งจะมามีรายการแบบเดอะว้อยส์ กับร้องสู้ไฟ ที่มันพอจะดึงเอาศักยภาพของนักร้องแบบเก่าๆ กลับมาได้บ้าง เพียงเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอ กติกา ที่สามารถดึงเอาจุดเด่น ศักยภาพ ไหวพริบของนักร้องออกมาได้มากกว่ารูปแบบการประกวดแบบเก่าดั้งเดิมได้  กล่าวโดยสรุปก็คือ การประกวดร้องเพลงในยุคสมัยปัจจุบัน กติกา หรือรูปแบบการนำเสนอ เกณฑ์การคัดเลือกมันโหดหิน และยากกว่าสมัยก่อนมาก จำนวนผู้เข้าแข่งขันก็มากกว่ายุคสมัยก่อนเยอะมาก แต่ดูเหมือนเรากลับได้เพชรเม็ดงามที่พร้อมนำมาเจียระไน ฉายแวว ส่องประกาย วาวสุกใส เจิดจรัสน้อยกว่า เมื่อเทียบกับเพชรเม็ดงามในยุคอดีต อาจเป็นการอุปทานของผู้เขียนหรือตั้งข้อสมมติฐานผิดก็เป็นได้ ดังนั้นบทความนี้จึงจะไม่ชี้ประเด็นไปที่ผู้เข้าประกวดแข่งขัน หรือผู้ชนะจากเวทีประกวดแข่งขันเวทีใดเก่งกว่ากัน หรือมีความสามารถทางการร้อง ศักยภาพ เสน่ห์เหนือกว่ากัน แต่จะไปเน้นเปรียบเทียบที่ตัวรายการเลยจะดีกว่า ว่าเวทีไหนที่สามารถปั้นเพชรเม็ดงาม หรือเสาะแสวงหาเพชรเม็ดงาม มาผ่านกระบวนการเจียระไนให้ออกมาได้เป็นเพชรเลอค่า เปี่ยมคณค่า ความงามได้มากกว่ากัน  ก่อนอื่นผู้เขียนจึงตั้งเกณฑ์คุณสมบัติที่จะต้องมีของรายการประกวดร้องเพลงขึ้นมาก่อน จากนั้นนำเอารายการต่างๆ มาวิเคราะห์ให้คะแนนเพื่อเปรียบเทียบคุณสมบัติในแต่ละข้อ แล้วได้ผลสรุปที่ออกมาได้ดังนี้ 

รายการที่ลิสต์นำเอามาวิเคราะห์ใส่ค่าของคะแนนมีด้วยกัน 14 รายการ โดยแบ่งเป็นกลุ่มพรีเมียร์ลีค อยู่ 7 รายการ ได้แก่ รายการ ไทยแลนด์ก็อตทาเล้นท์,เคพีเอ็นอวอร์ด,ทรูอคาเดมีแฟนเทเชีย,เดอะสตาร์,เดอะว้อยส์,ร้องสู้ไฟ,เดอะวินเนอร์อีส
อีกกลุ่มหนึ่งเรียกว่ากลุ่มดิวิชั่น 1 มีอยู่อีก 7 รายการ ได้แก่  มาสเตอร์คีย์,ชิงช้าสวรรค์,ดันดารา,สงครามเพลงกิ๊กดู๋,จันทร์พันดาว,ชุมทางเสียงทอง,เสียงสวรรค์พิชิตฝัน ส่วนรายการที่นอกเหนือจากนี้ไม่ได้นำมาคำนวณใส่ค่าคะแนน ที่ต้องจัดแบ่งเป็น 2 เกรดหรือ 2 กลุ่มเพราะว่ามาตรฐานของเวที,ความหลากหลายของแนวเพลงและจำนวนของผู้เข้าประกวดเป็นสำคัญ และฯลฯ และจากการประเมินด้วยเกณฑ์คุณสมบัติทั้ง 10 ข้อ ในแต่ละหัวข้อ มี 5 คะแนนเต็ม พบว่า เวทีที่มีค่าคะแนนสูงสุดเมื่อเปรียบเทียบ อันดับ 1 คือ รายการ The Voice Thailand ค่าคะแนนเฉลี่ย อยู่ที่ 45 คะแนน จาก 50 
          อันดับ 2 คือ รายการ Thailand Got Talent ค่าคะแนนเฉลี่ย อยู่ที่ 44 คะะแนน
          อันดับ 3 คือ มี 2 รายการเท่ากัน คือรายการ The Star กับ Keep Your Light Shinning Thailand อยู่ที่ 43 คะแนน

 
 
ซึ่งมีข้อน่าสังเกตว่า รายการ Keep Your Light Shinning Thailand เป็นรายการใหม่ที่เพิ่งเข้ามาเป็นปีแรก แต่เข้ามาติดโผรายการชั้นนำลำดับต้นๆ เลย เหตุผลก็คือ ความสามารถของผู้เข้าแข่งขัน ,กติกาหรือความยากของโจทย์เพลง และเงินรางวัลนั่นเอง ในขณะที่รายการที่เหลือนั้นมีมาหลาย season แล้ว และยังคงมาตรฐานของตนเองเอาไว้ได้จึงยังจัดอยู่ในกลุ่มชั้นนำได้ จุดเด่นของรายการเดอะว้อยส์ ที่ทำให้ได้คะแนนเต็มหรือเกือบเต็มในทุกข้อ ยกเว้นเรื่องการโปรโมตศิลปินภายหลังจบรายการและผลงานภายหลังจบรายการนั่นเอง ในขณะที่รายการ Thailand Got Talent ก็คล้ายๆ กันกับ The Voice แพ้ตรงแค่ Commentator และทีมงานที่อยู่เบื้องหลัง  ส่วนรายการ The Star มีจุดด้อยเรื่องศักยภาพผู้เข้าแข่งขัน (อันเนื่องมาจากโจทย์เพลงและกติกาบางอย่างกดทับเอาไว้) โปรดักชั่นบางอย่าง (เช่น 100 คะแนนเสียงในห้องส่งยังคงใช้กระดาษเขียนและนับมือ ในขณะที่รายการอื่นใช้ปุ่มกดอิเลคทรอนิคส์กันแล้ว) ,โจทย์เพลงและความหลากหลายของโชว์ด้วย นอกนั้นจัดอยู่ในเกณฑ์ดี และมีข้อได้เปรียบเหนือกว่าทุกเวทีอื่นๆ ก็คือ ไม่ได้ซื้อแฟรนส์ไชส์มา,การโปรโมตศิลปินและผลงานภายหลังจบการแข่งขัน ที่เรียกได้ว่ายังเหนือกว่ารายการคู่แข่งอื่นๆ ส่วนอันดับอื่น มีดังนี้ อันดับ 4 รายการ True Academy Fantasia ค่าคะแนนเฉลี่ยอยุู่ที่ 38 คะแนน ,อันดับ 5 รายการ The Winner is ค่าคะแนนเฉลี่ย 31 คะแนน ,อันดับ 6 รายการ KPN Award ค่าคะแนนเฉลี่ยอยูที่ 30 คะแนน (อันดับ 4-6 ไม่ได้นำมาลงในตาราง เนื่องจากจะกินพื้นที่เลยจากบทความนี้)  ข้อสังเกตสำหรับอันดับ 4-6 รายการทรูเอเอฟ จุดด้อยคือโจทย์เพลงและกติกาการแข่งขันมีการเปลี่ยนแปลงบ่อย ไม่มีความเสถียรในแต่ละปี ทำให้การวัดมาตรฐานคุณภาพของผู้เข้าแข่งขัน,ผู้ชนะในรายการในแต่ละปีมีความได้เปรียบเสียเปรียบแตกต่างกัน แม้นว่าจะเทียบเคียงกันเองในรายการเดียวกัน เช่นเดียวกับรายการ KPN Award ที่คล้ายๆ รายการทรูเอเอฟ แต่เพิ่มมาอีกข้อคือค่ายเพลงซัพพอร์ตภายหลังจากจบการแข่งขันรวมถึงผลงาน  ส่วนรายการ The Winner is  มีจุดด้อยตรง Commentator ทีมงานเบื้อหลัง และการโปรโมตศิลปินภายหลังจบการแข่งขันรวมถึงผลงาน  เป็นต้น

    Thailand Got Talent The Voice  The Star  Keep Your Light Shinning Thailand
  เกณฑ์คุณสมบัติของรายการ (ทุกข้อ 5 คะแนนเต็ม)   ตัวจริงเสียงจริง ค้นฟ้าคว้าดาว ร้องสู้ไฟ
1.1 เรียลลิตี้/วัดผลโหวต 3 1 4 5
1.2 ประกวดทั่วไป/ใช้คณะกรรมการตัดสิน 2 4 1 0
2 วัตถุดิบ/ผู้เข้าแข่งขัน/คาแร็กเตอร์ผู้ประกวด/เสน่ห์ 5 5 5 5
3 ศักยภาพ/ความสามารถผู้เข้าแข่งขัน 5 5 3 5
4 โจทย์เพลง/ความหลากหลายของโชว์ 5 5 2 5
5 องค์ประกอบด้านโปรดักชั่น/ฉากแสงสีเสียง 5 5 3 5
6 Commentator/ครูฝึก/ทีมงาน/ตัวช่วย 4 5 5 3
7 เงินรางวัล/สิ่งจูงใจ/แรงบันดาลใจให้ประกวด 5 5 5 5
8 เอกลักษณ์ของรายการ/กติกาแข่งขัน/ความนิยมในรายการ 4 4 5 4
9 Post Production การโปรโมตศิลปินหลังจบ 3 3 5 3
10 Single เพลง/ผลงานภายหลัง/ค่ายเพลงสนับสนุน 3 3 5 3
           
  คะแนนรวม 44 45 43 43

ทีนี้มาดูในกลุ่มของดิวิชั่น 1 ผลการวิเคราะห์ให้ค่าคะแนนเปรียบเทียบ พบว่า
รายการประกวดอันดับ 1 ในกลุ่มนี้ ได้แก่ ชิงช้าสวรรค์ ไมค์ทองคำ ได้ค่าคะแนนเฉลี่ยสูงถึง 42 คะแนน (เป็นรองแค่ 3 อันดับในกลุ่มแรกเท่านั้น)
                        อันดับ 2 คือรายการสงครามเพลงกิ๊กดู๋ ได้ 39 คะแนน
และอันดับ 3 รายการดันดารา ได้ 38 คะแนน  อันดับ 4 รายการมาสเตอร์คีย์เวทีแจ้งเกิด ได้ 27 คะแนน (รายการที่เหลือไม่ได้นำเอามาลงในตาราง เหตุผลเดียวกับข้างต้น)  ข้อสังเกตคือรายการชิงช้าสวรรค์ ค่าเฉลี่ยคะแนนสูงที่สุดในกลุ่มนี้ เหนือคู่แข่งทุกรายการ มีข้อด้อยเพียงข้อเดียวคือโจทย์เพลงและความหลากหลายของโชว์ เนื่องจากประกวดแนวเดียวนั่นคือลูกทุ่ง ซึ่งก็คล้ายๆ กันกับรายการอื่นๆ ในกลุ่มนี้ ที่ไม่ติดอันดับในตาราง ได้แก่ จันทร์พันดาว, ชุมทางเสียงทอง, เสียงสวรรค์พิชิตฝัน, คว้าไมค์คว้าแชมป์ เป็นต้น  ส่วนรายการสงครามเพลงกิ๊กดู๋ กับดันดารา คะแนนโดยเฉลี่ยอยู่ในเกณฑ์สูงทุกด้าน ยกเว้น ผลงานของผู้เข้าประกวดภายหลังจบรายการไปแล้ว ฮึ ขาดอยู่อย่างเดียวเอง ปัดโธ่ ดันไม่สุดนี่นา! หรือแค่นี้ก็ดังพอแล้ว

 
 


    MasterKey  ชิงช้าสวรรค์ ดันดารา สงครามเพลง
  เกณฑ์คุณสมบัติของรายการ (ทุกข้อ 5 คะแนนเต็ม) เวทีแจ้งเกิด ไมค์ทองคำ   กิ๊ก vs  ดู๋
1.1 เรียลลิตี้/วัดผลโหวต        
1.2 ประกวดทั่วไป/ใช้คณะกรรมการตัดสิน 4 5 5 5
2 วัตถุดิบ/ผู้เข้าแข่งขัน/คาแร็กเตอร์ผู้ประกวด/เสน่ห์ 3 3 5 5
3 ศักยภาพ/ความสามารถผู้เข้าแข่งขัน 3 5 5 5
4 โจทย์เพลง/ความหลากหลายของโชว์ 3 2 5 5
5 องค์ประกอบด้านโปรดักชั่น/ฉากแสงสีเสียง 3 5 2 3
6 Commentator/ครูฝึก/ทีมงาน/ตัวช่วย 5 5 5 5
7 เงินรางวัล/สิ่งจูงใจ/แรงบันดาลใจให้ประกวด 3 5 3 3
8 เอกลักษณ์ของรายการ/กติกาแข่งขัน/ความนิยมในรายการ 3 5 5 5
9 Post Production การโปรโมตศิลปินหลังจบ 0 4 3 3
10 Single เพลง/ผลงานภายหลัง/ค่ายเพลงสนับสนุน 0 3 0 0
           
  คะแนนรวม 27 42 38 39

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น