วันจันทร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

โลก 360 องศา - (อเมริกาเผชิญภัยหนาวสุดในรอบ 38 ปี,ทำประชามติชาวกาตาลัน,ชาวเม็กซิโกลุกฮือเหตุนักศึกษา 43 คนสูญหาย,กองทัพไนจีเรียยึดคืนเขตเมืองชิบ็อก,ญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย,ประชุมผู้นำกลุ่มจี 20)



ทั่วประเทศสหรัฐฯ ต้องเผชิญกับสภาพอากาศหนาวเย็นถึงจุดเยือกแข็ง บางพื้นที่อุณหภูมิติดลบ นับเป็นเดือนพฤศจิกายนที่มีอากาศหนาวเย็นที่สุดในรอบ 38 ปี  พยากรณ์อากาศคาดว่า ในวันนี้พื้นที่ทั่วประเทศตั้งแต่รัฐไอดาโฮไปจนถึงเนบราสกา และ ไอโอวา ไปยังทางใต้ที่รัฐเท็กซัส และ สุดแนวพื้นที่ทางตะวันออกของประเทศที่แถบเกรท เลคส์ จะยังคงเผชิญกับอุณหภูมิที่หนาวเย็นที่สุดเป็นประวัติการณ์ของเดือนพฤศจิกายนต่อไปอีก ที่รัฐนิวยอร์ค ได้รับผลกระทบหนักที่สุด เมื่อวานนี้พายุหิมะที่เกิดขึ้นทำให้บางพื้นที่ในเมืองบัฟฟาโรเกิดหิมะท่วมสูงถึง 6 ฟุต โดยในช่วงระยะเวลา 1 ชั่วโมง หิมะที่ตกลงมาวัดปริมาณได้ 7.6-12.7 เซนติเมตร รถยนต์ และ รถบรรทุกขนาดใหญ่จำนวนมาก ติดค้างอยู่ตามท้องถนนที่ถูกหิมะท่วมสูงที่ตกขาวโพลนแทบทุกพื้นที่  มีรายงานว่า นักกีฬาหญิงในทีมบาสเก็ตบอลของมหาวิทยาลัย Niagara ติดอยู่ในรถบนถนนหลวงเกือบ 24 ชั่วโมง ซึ่งอากาศหนาวเย็นเช่นนี้ โดยปกติจะเกิดขึ้นช่วงปลายเดือนธันวาคมไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์  ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ค เผยว่าได้เตรียมเจ้าหน้าที่จากกองกำลังพิทักษ์แห่งชาติ เข้ามาช่วยเจ้าหน้าที่ในนิวยอร์คช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ว และได้ประกาศภาวะฉุกเฉินในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักในพื้นที่ 10 แห่ง มีรายงานรถไฟแอมแทร็ค ทางเมืองอัลเบนีไปยังบัฟฟาโรต้องระงับการให้บริการด้วย

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงมาดริด ประเทศสเปน เมื่อวันที่ 9 พ.ย. ว่า ชาวสเปนเดินขบวนในอย่างน้อย 52 เมืองทั่วประเทศเมื่อวันเสาร์ เพื่อแสดงพลังคัดค้านแผนการลงประชามติอย่างไม่เป็นทางการ ที่จะมีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 9 พ.ย. ของชาวแคว้นกาตาลุญญา ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อแยกดินแดนเป็นเอกราช โดยในกรุงมาดริดประชาชนหลายร้อยคนฟังการอ่านแถลงการณ์ของ นายมาริโอ มาร์กัส โยซา นักเขียนผู้พิชิตรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ซึ่งกล่าวถึงการลงประชามติครั้งนี้ว่า ไม่เคารพ "หลักนิติธรรม หรือเจตจำนงที่แท้จริงของประชาชน"  ที่เมืองบาร์เซโลนา ซึ่งเป็นเมืองเอกของแคว้นกาตาลุญญา เกิดการกระทบกระทั่งกันเล็กน้อย ระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุนและฝ่ายคัดค้านการลงประชามติ ทางด้าน นายอาเธอร์ มาส ผู้นำแคว้นกาตาลุญญา กล่าวเตือนว่า ความเคลื่อนไหวใดๆ ของสเปน ในการขัดขวางการลงประชามติเชิงสัญลักณ์ในครั้งนี้ จะถือเป็นการโจมตีประชาธิปไตยโดยตรง  ศาลรัฐธรรมนูญสเปนมีคำสั่งในสัปดาห์นี้ ให้รัฐบาลแคว้นปกครองตนเองกาตาลุญญาระงับการลงประชามติ แต่รัฐบาลชาตินิยมของชาวกาตาลัน ประกาศจะเดินหน้าจัดการหยั่งเสียงประชามติตามแผนที่กำหนดไว้ ส่วน นายกรัฐมนตรีมาเรียโน ราฆอย ของสเปน กล่าวว่า สเปนไม่สามารถจัดการลงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชเหมือนสกอตแลนด์ เนื่องจากสเปนมีรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษรบัญญัติห้ามไว้ ขณะที่ของอังกฤษไม่มี  ชาวแคว้นคาตาโลเนียออกไปลงคะแนนเสียงในการทำประชามติถามประชาชน ว่าคาตาโลเนียควรจะแยกตัวเป็นอิสระจากประเทศสเปนหรือไม่ ฝ่าฝืนคำสั่งศาลที่สั่งให้พวกเขาระงับการทำประชามติครั้งนี้...สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ชาวแคว้นคาตาโลเนียออกไปลงคะแนนเสียงในการทำประชามติเชิงสัญลักษณ์ ว่าพวกเขาควรจะแยกตัวเป็นอิสระจากประเทศสเปนหรือไม่แล้ว ในวันอาทิตย์ (9 พ.ย.) โดยไม่ฟังเสียงต่อต้านอย่างหนักจากรัฐบาลกลางสเปน รวมถึงคำสั่งศาลซึ่งระบุให้ระงับการโหวตครั้งนี้  ชาวกาตาลันจำนวนมากออกไปใช้สิทธิ์ตั้งแต่เช้า โดยบัตรลงคะแนนจะถามผู้มาใช้สิทธิ์ว่า แคว้นคาตาโลเนียควรมีสถานะเป็นรัฐหรือไม่ หากใช้คาตาโลเนียควรแยกตัวเป็นอิสระหรือไม่ เคลาดิโอ วาบันกา ผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวอัลจาซีรา รายงานจากเมืองบาร์เซโลนา เมืองเอกของแคว้นคาตาโลเนีย ว่า สถานที่หลายพันแห่งรวมทั้งโรงเรียนเอกชน ถูกใช้เป็นหน่วยเลือกตั้ง ขณะที่รัฐบาลท้องถิ่นคาตาโลเนียคาดว่า จะมีอาสาสมัครเข้ามาช่วยเหลือในหน่วยเลือกตั้งต่างๆทั่วทั้งแคว้นกว่า 40,000 คน  ด้านนาย มิเกล อันโซ มูราโด นักวิเคราะห์การเมืองชาวสเปน ให้สัมภาษณ์กับอัลจาซีราว่า ผู้สนับสนุนการลงคะแนนเสียงประชามติอย่างไม่เป็นทางการครั้งนี้ จำเป็นต้องรวบรวมคะแนนโหวตให้ได้เกิน 2 ล้านเสียง เพื่อกดดันรัฐบาลกลางให้เห็นด้วยกับการทำประชามติอย่างเป็นทางการ  ทั้งนี้ แคว้นคาตาโลเนียมีประชากรประมาณ 7.5 ล้านคน เป็นหนึ่งในแคว้นที่มั่งคั่งที่สุดของสเปน คาตาโลเนียเริ่มผลักดันการขยายอำนาจปกครองตนเองในปี 2006 หลังพวกเขาออกกฎบัตรกำหนดสถานะตนเองเป็น 'ประเทศ' ก่อนจะถูกศาลรัฐธรรมนูญปฏิเสธในปี 2010 ซึ่งทำให้ความต้องการแยกดินแดนของชาวกาตาลันเพิ่มขึ้นอีก  ประธานาธิบดี อาร์ตูร์ มาส ผู้นำรัฐบาลท้องถิ่น เป็นผู้ผลักดันการทำประชามติครั้งนี้ โดยฝ่าฝืนคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญซึ่งมีคำสั่งเมื่อวันอังคาร (4 พ.ย.) ให้ระงับการทำประชามติ

ชาวเม็กซิโกหลายพันคนลุกฮือประท้วงในหลายพื้นที่ทั่วประเทศเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งหาตัวนักศึกษา 43 คน ที่หายตัวไปหลังออกมาชุมนุมเรียกร้องความไม่เป็นธรรมในการจ้างงานและปะทะกับตำรวจ ขณะที่เมื่อต้นสัปดาห์ได้พบหลุมฝังศพ 28 ศพที่ยังไม่ทราบว่าเป็นใครอยู่ในสภาพไหม้เกรียม เมื่อเดือนที่แล้ว นักศึกษาของวิทยาลัยครูแห่งหนึ่งในเมืองทางตอนใต้ของเม็กซิโก เดินทางมาประท้วงที่เมืองอีกัวลา รัฐเกร์เรโร เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมในการจ้างงานของครูที่อยู่ต่างจังหวัด หลังจากประท้วงเสร็จและกำลังจะเดินทางกลับโดยรถประจำทาง ได้มีชายหลายคนพร้อมอาวุธเปิดฉากยิงใส่รถประจำทางสามคัน และอีกคันหนึ่งที่เป็นของทีมฟุตบอลในท้องถิ่น ทำให้นักศึกษาสามคน นักฟุตบอลหนึ่งคน คนขับรถประจำทางและผู้โดยสารในแท็กซี่หนึ่งคนเสียชีวิต และอีกหลายคนได้รับบาดเจ็บ จากนั้นตำรวจยังไล่ล่าและเชื่อว่าได้ยิงใส่กลุ่มนักศึกษาต่อ มีเจ้าหน้าที่ 22 คน ที่ถูกควบคุมตัวฐานเกี่ยวข้องกับการยิงนักศึกษาครั้งนั้น  โอมาร์ การ์เซีย นักศึกษาคนหนึ่งที่รอดชีวิตเล่าว่าเห็นตำรวจนำตัวเพื่อนคนอื่น ๆ ไปเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 กย. ขณะนั้นมีรายงานว่านักศึกษา 57 คนหายตัวไป แต่สี่วันถัดมามีการประกาศว่านักศึกษา 13 คนเดินทางกลับบ้าน แต่มีรายงานว่ารายชื่อซ้ำซ้อนกัน สุดท้ายแล้วยังเหลือนักศึกษาที่หาตัวไม่พบอีก 43 คน ขณะที่เมื่อต้นเดือนนี้อัยการประกาศว่าพบหลุมฝังศพตื้น ๆ หกหลุม มีศพอยู่ข้างใน 28 ศพ อยู่ในสภาพไหม้เกรียม ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชจะต้องใช้เวลาหลายคนหรือหลายสัปดาห์เพื่อพิสูจน์ดีเอ็นเอ นายเอ็นริเก พีนา ประธานาธิบดีเม็กซิโกรับปากว่าจะนำตัวผู้ก่ออาชญากรรมในครั้งนี้มาลงโทษให้ได้

เอเอฟพี กองทัพไนจีเรียสามารถยึดเมืองชิบ็อก (Chibok) ในรัฐบอร์โนคืนจากกลุ่มติดอาวุธโบโกฮารัมได้สำเร็จ หลังจากที่ถูกช่วงชิงไปเมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว(13) โดยเมืองแห่งนี้เป็นบ้านของนักเรียนหญิง 200 กว่าชีวิตซึ่งถูกโบโกฮารัมลักพาตัวไปตั้งแต่เดือนเมษายน  การปกป้องเมืองชิบ็อกมีผลอย่างยิ่งต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาลประธานาธิบดี กู๊ดลัก โจนาธาน และกองทัพไนจีเรีย ซึ่งกำลังเผชิญเสียงติเตียนจากทั้งพลเมืองตนเองและนานาชาติที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวประกันกลับมาได้ และปล่อยให้เด็กหญิงเหล่านั้นตกอยู่ในเงื้อมมือของโบโกฮารัมนานถึง 7 เดือนแล้ว  พล.อ. โอลาจีเด โอลาเลเย โฆษกกองทัพ ส่งข้อความแจ้งผู้สื่อข่าวเอเอฟพีว่า ทหารสามารถยึดเมืองคืนจากกลุ่มโบโกฮารัมได้เมื่อช่วงค่ำวันเสาร์ที่ผ่านมา(15)   ปฏิบัติการฟื้นคืนความสงบเรียบร้อยกำลังดำเนินการ เมืองปลอดภัยดีแล้วนายพลผู้นี้ระบุ นักรบโบโกฮารัมได้บุกโจมตีเมืองชิบ็อกเมื่อวันพฤหัสบดี(13) โดยเกิดการยิงปะทะกับเจ้าหน้าที่ความมั่นคงท้องถิ่นอยู่นานหลายชั่วโมง จนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากทั้ง 2 ฝ่าย ชาวบ้านหลายคนเล่าว่า พวกทหารไนจีเรียต่างพากันหนีตาย ทิ้งหน่วยเฝ้าระวังชุมชนให้ต่อสู้กับโบโกฮารัมเพียงลำพังทั้งนี้ ยังไม่มีรายงานเกี่ยวกับจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากปฏิบัติการยึดคืนเมืองเมื่อวันเสาร์(15)
ประธานาธฺบดี กู๊ดลัก โจนาธาน ได้ประกาศเมื่อวันอังคารที่แล้ว(11) ว่าจะลงชิงเก้าอี้ผู้นำไนจีเรียสมัยที่สอง พร้อมสัญญาว่าจะกวาดล้างกลุ่มติดอาวุธโบโกฮารัมที่ก่อเหตุโจมตีและลักพาตัวประชาชนอย่างต่อเนื่องตลอด 5 ปีที่ผ่านมานี้  เมื่อวานนี้(16) ยังเกิดเหตุระเบิดฆ่าตัวตายที่ตลาดแห่งหนึ่งในเมืองอาซาเร รัฐเบาชี คร่าชีวิตชาวบ้านไปอย่างน้อย 13 คน โดยตำรวจระบุว่า มือระเบิดเป็นผู้หญิง ชาย 2 คนที่ชาวบ้านสังเกตเห็นว่าเดินเข้าไปในตลาดพร้อมกับมือระเบิด รายหนึ่งถูกรุมประชาทัณฑ์จนเสียชีวิต ส่วนอีกรายตำรวจควบคุมตัวไว้ได้ ล่าสุด ยังไม่มีกลุ่มใดออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุวินาศกรรมครั้งนี้ แต่รัฐเบาชีซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของไนจีเรียมีพรมแดนติดกับอีก 3 รัฐซึ่งเป็นเขตอิทธิพลของกลุ่มอิสลามิสต์โบโกฮารัม


เอเอฟพี เศรษฐญี่ปุ่นเข้าสู่ ภาวะถดถอยในไตรมาสสามระหว่างเดือนกรกฎาคม-กันยายนที่ผ่านมา ตามข้อมูลอย่างเป็นทางการที่รัฐบาลโตเกียวเผยแพร่วันนี้(17) ซึ่งคาดว่าจะทำให้นายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ต้องเลื่อนแผนขึ้นภาษีการขายในปีหน้าออกไปก่อน และอาจตัดสินใจประกาศเลือกตั้งก่อนกำหนดการลงทุนด้านที่อยู่อาศัย (residential investment) ที่ลดลง ตลอดจนการใช้จ่ายเงินทุน (capital spending) และการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่ยังคงซบเซา ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของญี่ปุ่นหดตัวลง 0.4% ในไตรมาสสาม หรือ 1.6% เมื่อเทียบต่อปี (annualized rate) ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า การปรับขึ้นภาษีจาก 5% เป็น 8% เมื่อเดือนเมษายนกลายเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากเพียงใด และยิ่งทำให้คำโฆษณาของ อาเบะ ที่ว่าจะพลิกฟื้นเศรษฐกิจญี่ปุ่นซึ่งใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งดูไกลความจริงเข้าไปทุกที  ตัวเลขที่ออกมาถือว่าผิดจากความคาดหมายของนักเศรษฐศาสตร์ ซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะขยายตัวราว 0.5% จากการสำรวจความคิดเห็นโดยหนังสือพิมพ์ธุรกิจนิกเกอิ  ปรากฏการณ์เช่นนี้ทำให้มีความเป็นไปได้สูงที่ อาเบะ จะประกาศเลือกตั้งก่อนกำหนดในเดือนธันวาคมปีนี้ และเลื่อนแผนขึ้นภาษีการขายเป็น 10% ในเดือนตุลาคมปีหน้าออกไปก่อน  เศรษฐกิจญี่ปุ่นเปิดตัวในไตรมาสแรกของปีด้วยอัตราการขยายตัว 1.6% ซึ่งทำให้นโยบายเศรษฐกิจแบบ อาเบะโนมิกส์เป็นที่กล่าวขานด้วยความคาดหวัง ทว่าผลของการปรับขึ้นภาษีเมื่อเดือนเมษายนกลับทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นหดตัว 1.9% ในไตรมาสสอง (เมษายน-มิถุนายน) หรือ 7.3% เมื่อเทียบรายปี เนื่องจากผู้บริโภคและภาคธุรกิจต่างชะลอการจับจ่ายใช้สอย  เดือนที่แล้ว ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ได้ขยายมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเชิงรุกเพื่อรับมือกับภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มซบเซา แต่จากตัวเลขจีพีดีที่ออกมาทำให้หลายฝ่ายจับตาว่า บีโอเจ จะยังคงเดินหน้าอัดฉีดเม็ดเงินต่อไปอีกหรือไม่  ก่อนหน้านี้ อาเบะ ระบุว่า เขาจะรอดูตัวเลขจีดีพีประเมินรอบสุดท้ายของไตรมาส 3 ซึ่งจะประกาศในเดือนธันวาคม ก่อนตัดสินใจเกี่ยวกับการขึ้นภาษีรอบสอง  อย่างไรก็ดี มาร์เซล ธีเลียนต์ จากสถาบัน แคปปิตอล อีโนโคมิกส์ ได้ออกมาให้ความเห็นหลังทราบตัวเลขล่าสุดว่า อุปสงค์ภายในประเทศแทบไม่กระเตื้องขึ้นในไตรมาสที่ผ่านมา  จากตัวเลขจีดีพีเบื้องต้นที่รัฐบาลญี่ปุ่นแถลงวันนี้ มีความเป็นไปได้สูงที่นายกรัฐมนตรี อาเบะ จะเลื่อนแผนขึ้นภาษี และประกาศเลือกตั้งก่อนกำหนด
แม้การขึ้นภาษีจะช่วยให้รัฐมีเงินรายได้มาลดหนี้สาธารณะของญี่ปุ่นที่สูงถึง 200% ของจีดีพี แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้ อาเบะ ตกที่นั่งลำบาก เพราะต้องพยายามสร้างสมดุลระหว่างการลดหนี้กับแผนกระตุ้นเศรษฐกิจที่เน้นการใช้จ่าย  สื่อญี่ปุ่นรายงานว่า นายกรัฐมนตรีมีแผนประกาศเลือกตั้งในวันที่ 14 ธันวาคม ซึ่งเร็วกว่ากำหนดถึง 2 ปี เพื่อฟื้นคะแนนนิยมของรัฐบาล โดยผู้สังเกตการณ์ชี้ว่า อาเบะ ต้องการหยั่งเสียงประชาชนในช่วงที่ฝ่ายค้านยังตั้งตัวไม่ติดจากการพ่ายแพ้ในศึกเลือกตั้งเมื่อ 2 ปีก่อน หนังสือพิมพ์ไมนิจิชิมบุน ระบุว่า อาเบะ จะออกคำสั่งจัดทำร่างงบประมาณเพิ่มเติมในวันพรุ่งนี้(18) ก่อนประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร


เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์-เจ้าหน้าที่ระดับสูงของฝ่ายชาวเคิร์ดเผย กลุ่มติดอาวุธญิฮัดรัฐอิสลาม (ไอเอส) มีนักรบเข้าร่วมกว่า 200,000 คน ถือเป็นตัวเลขนักรบที่สูงกว่าข้อมูลข่าวกรองของชาติตะวันตกหลายเท่า  ฟูอัด ฮุสเซน ประธานคณะเสนาธิการร่วมของประธานาธิบดีมัสซูด บาร์ซานี แห่งเขตปกครองเคอร์ดิสสถานในอิรัก เปิดใจให้สัมภาษณ์กับ ดิ อินดีเพนเดนท์ ออน ซันเดย์โดยระบุ ในความเป็นจริงแล้วกลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม (ไอเอส) มีกำลังนักรบในสังกัดสูงถึงกว่า 200,000 คน  ฮุสเซนระบุว่า กำลังรบของกลุ่มไอเอสที่มีสูงถึงกว่า 200,000 คนนั้นถือเป็นตัวเลขที่สูงกว่า 7-8 เท่า เมื่อเทียบกับข้อมูลข่าวกรองของชาติตะวันตกที่ระบุกลุ่มไอเอสมีนักรบไม่เกิน 31,500 คน  ประธานคณะเสนาธิการร่วมของผู้นำเคอร์ดิสถานในอิรักยังระบุว่า ในเวลานี้กลุ่มไอเอสสามารถยึดครองพื้นที่ราว 1 ใน 3 ของอิรัก และ 1 ใน 3 ของดินแดนซีเรียได้แล้ว คิดเป็นพื้นที่รวมกันกว่า 250,000 ตารางกิโลเมตร หรือคิดเป็นขนาดพื้นที่พอกับสหราชอาณาจักรทั้งประเทศ  นอกจากนั้น ข้อมูลข่าวกรองที่รวบรวมได้จากเจ้าหน้าที่ชาวเคิร์ดในพื้นที่ระบุว่า ขณะนี้มีพลเรือนผู้บริสุทธิ์จำนวนระหว่าง 10-12 ล้านคนติดค้างอยู่ในพื้นที่ยึดครองของกลุ่มไอเอส  ผมขอยืนยันได้ว่า ในความเป็นจริงแล้วกลุ่มไอเอสมีนักรบในสังกัดสูงถึงกว่า 200,000 คน หาใช่มีกำลังเพียงไม่กี่หมื่นคนอย่างที่หน่วยข่าวกรองตะวันตกระบุ นี่ถือเป็นเรื่องที่น่าเศร้าที่โลกตะวันตกกระโจนเข้าสู่ความขัดแย้งนี้ โดยที่พวกเขาแทบไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับนักรบไอเอสที่เป็นศัตรูฟูอัด ฮุสเซน กล่าว  ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา สำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (ซีไอเอ) เผยข้อมูลว่า กลุ่มนักรบไอเอสในอิรักและซีเรียน่าจะมีกำลังพลในสังกัดระหว่าง 20,000 – 31,500 คนเท่านั้น โดยข้อมูลของทางซีไอเอนั้นส่วนใหญ่ได้มาจากการประเมินจากความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญซึ่งมิได้อยู่ในพื้นที่ รวมถึงอาศัยการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียม  ความเคลื่อนไหวล่าสุดบ่งชี้ถึงความผิดพลาดในการประเมินสถานการณ์ของสหรัฐฯและชาติพันธมิตร ที่ประเมินศักยภาพของกลุ่มนักรบญิฮัดนี้ต่ำเกินไป  ล่าสุด พลเอก มาร์ติน เดมพ์ซีย์ ประธานคณะเสนาธิการร่วมของสหรัฐฯ ได้เปิดเผยระหว่างการเดินทางเยือนกรุงแบกแดดของอิรักแบบไม่แจ้งล่วงหน้าเมื่อวันศุกร์ (14 พ.ย.) โดยยอมรับเป็นครั้งแรกว่า สหรัฐฯประเมินแสนยานุภาพของกลุ่มไอเอสต่ำเกินไป และว่าอาจจำเป็นต้องส่งทหารอเมริกันจำนวน 80,000 คนกลับเข้าไปในอิรัก จึงจะเป็นการเพียงพอต่อการกวาดล้างกลุ่มไอเอส

เอเจนซีส์ ผู้นำของกลุ่ม 20 ประเทศเศรษฐกิจรายสำคัญของโลก (จี20) ตกลงกันในวันอาทิตย์ (16 พ.ย.) ที่จะดำเนินมาตรการใหม่ๆ เพื่อเป็นการกระตุ้นส่งเสริมเศรษฐกิจโลกโดยรวมให้เติบโตเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษอีก 2.1% ภายในปี 2018 รวมทั้งยังเห็นพ้องต้องกันในเรื่องจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และปราบปรามการเลี่ยงภาษี อย่างไรก็ดี บรรยากาศของการประชุมซัมมิตที่ออสเตรเลียคราวนี้ ก็ถูกบดบังกลบรัศมีจากความสัมพันธ์ตะวันตก-รัสเซีย ที่ตกต่ำเลวร้ายจากกรณียูเครน ถึงขั้นประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน บินกลับก่อนปิดประชุมอย่างเป็นทางการ  ประธานาธิบดีปูตินแห่งรัสเซีย เดินทางออกจากนครบริสเบน ไม่นานนักก่อนที่การประชุมสุดยอดกลุ่มจี20 จะปิดฉากลงอย่างเป็นทางการในวันอาทิตย์ หลังจากประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ กล่าวหาว่าเครมลินรุกรานยูเครน และผู้นำอังกฤษก็เตือนว่า ความขัดแย้งอาจยืดเยื้อ ขณะที่ผู้นำโลกตะวันตกอีกหลายชาติขู่ออกมาตรการลงโทษรอบใหม่ หากมอสโกไม่ยอมถอนกำลังทหารและอาวุธออกจากยูเครน  ผมคิดว่า ประธานาธิบดีปูตินคงพอรับรู้ว่า ตัวเองมาถึงทางแยกสำคัญ ซึ่งหากรัสเซียยังบ่อนทำลายเสถียรภาพยูเครนไม่เลิก จะมีมาตรการลงโทษและมาตรการอื่นๆ ตามมานายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอนของอังกฤษ กล่าว และว่า การลงโทษย่อมมีต้นทุนที่ต้องจ่าย แต่ต้นทุนจะสูงมากกว่านั้นหลายเท่าตัว หากยอมให้ความขัดแย้งยืดเยื้อต่อไปในยุโรป  ทั้งนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศสหภาพยุโรป (อียู) มีกำหนดประชุมในวันจันทร์ (17) นี้ เพื่อพิจารณามาตรการขั้นต่อไป ซึ่งอาจรวมถึงการเพิ่มมาตรการลงโทษรัสเซีย  ด้านโอบามาสำทับว่า การโดดเดี่ยวรัสเซียเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไมได้ เขากล่าวว่าเรายึดมั่นความจำเป็นในการเคารพหลักการสากล คุณต้องไม่บุกรุกชาติอื่น ไม่อัดฉีดเงินหรือสนับสนุนให้ตัวแทนเข้าไปทำลายประเทศอื่นที่มีกลไกการเลือกตั้งประชาธิปไตยในช่วงเช้าวันอาทิตย์ โอบามา พร้อมด้วยนายกรัฐมนตรีโทนี แอ็บบอตต์ ของออสเตรเลีย ซึ่งเป็นเจ้าภาพการประชุม และนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ แห่งญี่ปุ่น ยังได้ร่วมประชุมกันและออกคำแถลงต่อต้านความพยายามของมอสโกในการบ่อนทำลายเสถียรภาพในยูเครนตะวันออก
แอ็บบอตต์ระบุว่า ระหว่างการประชุมซัมมิตจี20 คราวนี้ เขาได้พูดคุยอย่าง เข้มข้นกับปูตินเกี่ยวกับสถานการณ์ในยูเครน โดยตัวเขาประณามสิ่งที่เกิดขึ้นในยูเครนตะวันออกขณะนี้ และเรียกร้องรัสเซียให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ในการสอบสวนการก่ออาชญากรรมกับเที่ยวบินเอ็มเอช17 ที่ถูกยิงตกเหนือพื้นที่ยึดครองของกบฏโปรรัสเซียในยูเครนตะวันออกในเดือนกรกฎาคม  นอกจากนั้น ยังมีรายงานว่า ผู้นำแคนาดาแสดงท่าทีลังเลที่จะจับมือกับประมุขเครมลิน  ในส่วนปูตินนั้น ก่อนเดินทางกลับได้ให้สัมภาษณ์สั้นๆ โดยแสดงความเชื่อมั่นว่า ขณะนี้ มีความเป็นไปได้ในการแก้ไขวิกฤตยูเครน แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดใดๆ เขาให้เหตุผลว่า ที่ต้องเดินทางกลับก่อน เนื่องจากต้องใช้เวลาบินนาน และต้องการพักผ่อนนอนหลับสัก 4-5 ชั่วโมง ก่อนเริ่มทำงานในวันจันทร์  นอกจากวิกฤตยูเครนแล้ว ประเด็นความมั่นคงและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศยังเบียดเข้ามาในวาระการหารือของผู้นำจี20 ซึ่งในตอนแรกมุ่งเน้นหนักประกาศผลักดันเศรษฐกิจโลกให้ขยายตัวเพิ่มพิเศษอีก 2.1% ในช่วง 5 ปีข้างหน้า เป้าหมายดังกล่าวหมายความว่าจะทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้นอีก 2.2 ล้านล้านดอลลาร์ และสร้างงานนับล้านๆ ตำแหน่ง โดยที่ประเทศต่างๆ จะดำเนินมาตรการใหม่ๆ ภายในประเทศและระหว่างประเทศ รวมแล้วกว่า 800 มาตรการ เป็นต้นว่า การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การขยายการค้า และการสร้างศูนย์โครงสร้างพื้นฐานทั่วโลกเพื่อจับคู่นักลงทุนที่มีศักยภาพกับโครงการต่างๆผู้นำจี20 ยังตั้งเป้าลดช่องว่างระหว่างชาย-หญิงในการมีส่วนร่วมด้านแรงงาน ลงมาให้ได้ 25% ในปี 2025 อันจะทำให้มีการจ้างงานผู้หญิงเพิ่มขึ้นกว่า 100 ล้านคน และช่วยลดปัญหาความยากจน  คำแถลงของที่ประชุมยังให้คำมั่นในการปราบปรามการเลี่ยงภาษีทั่วโลก  ขณะเดียวกัน อเมริกาและอีกหลายประเทศสามารถเอาชนะความพยายามของเจ้าภาพออสเตรเลีย ที่ต้องการตัดประเด็นการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศออกจากวาระการประชุม ทั้งนี้ ออสเตรเลียเป็นหนึ่งในประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อหัวสูงที่สุดในโลก  ทั้งนี้คำแถลงสุดท้ายของซัมมิตจี20คราวนี้ เรียกร้องการดำเนินการอย่างแน่วแน่และมีประสิทธิภาพเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ตามเป้าหมายในการรับรองพิธีสารที่มีผลผูกพันตามกฎหมาย ในการประชุมภาวะโลกร้อนของสหประชาชาติ ที่ปารีสในปีหน้า  ผู้นำจี20 ยังสนับสนุนกองทุน กรีน ไคลเมตของยูเอ็น ที่มีจุดหมายในการช่วยเหลือประเทศยากจนรับมือกับปัญหานี้ โดยโอบามาประกาศสมทบเงินเข้ากองทุน 3,000 ล้านดอลลาร์ และญี่ปุ่นร่วมลงขัน 1,500 ล้านดอลลาร์นอกจากนี้ ผู้นำโลกยังเห็นพ้องร่วมกันต่อสู้กับไวรัสอีโบลา ซึ่งคาเมรอนกล่าวเมื่อวันเสาร์ (15) ว่า ไม่ได้เป็นแค่วิกฤตด้านมนุษยธรรมเท่านั้น แต่ยังเป็นภัยคุกคามด้านความมั่นคงด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น