ญี่ปุ่น-ไตัฝุ่น"นอกูรี"พัดถล่มโอกินาวา ตาย 2 ไต้ฝุ่น"นอกูรี"คร่าชีวิตประชาชนไป 2 คนแล้ว หลังพัดถล่ม เกาะโอกินาวา ทางตอนใต้ของญี่ปุ่นโดยผู้เสียชีวิตเป็นชายวัย 62 ปีพลัดตกจากเรือหลังเกิดคลื่นสูงและลมแรง ส่วนผู้เสียชีวิตอีกรายเป็นชาวประมง 81 ปี ในจังหวัดคุมาโนโตะ รายงานยังระบุด้วยว่า มีผู้บาดเจ็บรวมทั้งสิ้น 26 คน ทางการแนะนำประชาชนกว่า 600,000 คนที่อาศัยใกล้ชายฝั่งและพื้นที่ต่ำอพยพออกจากพื้นที่ แต่มีเพียง 1,000 คนที่ยอมอพยพ อย่างไรก็ตามทางการญี่ปุ่นได้ยกเลิกคำเตือนพายุไต้ฝุ่นนอกูรีที่เข้าพัดถล่มเกาะโอกินาวา เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาแล้ว หลังพายุดังกล่าวอ่อนกำลังลงและเคลื่อนตัวผ่านเกาะโอกินาวาไปแล้ว ไต้ฝุ่นนอกูรีพัดถล่มโอกินาวา ด้วยความเร็วลม 216 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สร้างความเสียหายให้บ้านเรือน ร้านค้า ต้นไม้หักโค่น ทับสายไฟขาด รถยนต์หลายคันคว่ำ เนื่องจากลมแรง ขณะที่ประชาชนกว่า 100,000 คนไม่มีไฟฟ้าใช้ นอกจากนี้ สนามบินเกาะโอกินาวะต้องยกเลิกเที่ยวบินกว่า 100 เที่ยวบิน โดยขณะนี้ ร้านค้า โรงเรียน และสนามบินต้องปิดทำการชั่วคราว
สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียว แจ้งความคืบหน้าเกี่ยวกับพายุไต้ฝุ่นนี้ว่าขณะนี้จังหวัดโอกินาวะได้ประกาศปิดท่าอากาศยานนาฮะ รวมทั้งได้ยกเลิกการเดินทางทางเรือไปยังเกาะต่างๆ ภายในจังหวัดโอกินาวะแล้ว ส่วนท่าอากาศยานนาริตะ ฮาเนดะ และคันไซ ยังเปิดให้บริการตามปกติ นอกจากนี้ได้ประกาศเตือนคนไทยในญี่ปุ่นทางเว็บไซต์ http://www.thaiembassy.jp ว่า ควรงดการเดินทางไปยังจังหวัดโอกินาวะในช่วง 2-3 วันนี้ และหากประสงค์ขอรับความช่วยเหลือในกรณีฉุกเฉิน ให้ติดต่อที่ฮอตไลน์ +819044357812 ขณะนี้พายุไต้ฝุ่นนอกูรีเคลื่อนผ่านโอกินาวาแล้ว และผ่านเมืองสำคัญอาทิ นางาซากิ และฟูกูโอกะ ของเกาะคิวชูและกำลังเคลื่อนผ่านไปทางทะเลจีนตะวันออก คาดว่า ในกลางดึกคืนนี้จะขึ้นฝั่งที่เกาะคิวชูด้วยความเร็วลดลงเหลือประมาณ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และจะอ่อนกำลังลงกลายเป็นพายุโซนร้อน
อิรักเผยกลุ่มก่อการร้ายยึด “วัสดุนิวเคลียร์” ภายในมหาวิทยาลัยเมืองโมซุล-ร้อง UN เร่งป้องกันความเสี่ยง รอยเตอร์/เอเจนซีส์ – รัฐบาลอิรักยื่นหนังสือขอความช่วยเหลือจากองค์การสหประชาชาติ กรณีกลุ่มติดอาวุธอิสลามิสต์บุกยึด “วัสดุนิวเคลียร์” เพื่อการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ภายในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งทางตอนเหนือของประเทศ โดยขอให้ยูเอ็นช่วย “ยับยั้งอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการที่กลุ่มติดอาวุธนำวัสดุเหล่านั้นออกมาใช้ ทั้งในอิรักและต่างแดน” โมฮาเหม็ด อาลี อัล-ฮากีม เอกอัครราชทูตผู้แทนอิรักประจำยูเอ็น ได้ส่งหนังสือแจ้งไปยัง บัน คี มุน เลขาธิการสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม เกี่ยวกับสารประกอบยูเรเนียมเกือบ 40 กิโลกรัมที่ถูกเก็บไว้ภายในมหาวิทยาลัยโมซุล “กลุ่มก่อการร้ายได้เข้ายึดครองวัสดุนิวเคลียร์ในสถานที่ซึ่งรัฐไร้อำนาจควบคุม” อัล-ฮากีม ระบุ พร้อมเตือนว่าสารอันตรายเหล่านั้น “อาจถูกนำไปผลิตเป็นอาวุธทำลายล้างสูง” “วัสดุนิวเคลียร์แม้มีจำนวนจำกัดดังที่ได้กล่าวไปแล้ว แต่กลุ่มติดอาวุธก็อาจนำไปใช้งานเดี่ยวๆ หรือใช้ร่วมกับวัสดุอื่นๆ เพื่อก่อการร้าย หากมีความชำนาญพอ” อัล-ฮากีม ยังเตือนด้วยว่า วัสดุอันตรายเหล่านี้อาจถูกลักลอบนำออกไปจากอิรัก
อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวในรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งทราบรายละเอียดเรื่องนี้ชี้ว่า วัสดุนิวเคลียร์ที่กลุ่มติดอาวุธยึดไปไม่น่าจะเป็นยูเรเนียมสมรรถนะสูง ดังนั้นจึงยากที่จะนำไปผลิตอาวุธได้ ขณะที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงอีกรายก็กล่าวทำนองเดียวกันว่า ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นยังไม่เป็นภัยคุกคามในมุมมองของวอชิงตัน กลุ่มติดอาวุธมุสลิมสุหนี่ที่เรียกตนเองว่า “รัฐอิสลาม” (Islamic State – IS) สามารถยึดครองพื้นที่ตอนเหนือของอิรักและซีเรียได้อย่างกว้างขวาง โดยก่อนหน้านี้พวกเขาเคยเป็นที่รู้จักในชื่อ “รัฐอิสลามในอิรักและเลแวนต์” (ISIL) “สาธารณรัฐอิรักได้แจ้งให้ประชาคมโลกทราบถึงอันตรายที่เกิดขึ้น และขอความช่วยเหลือหรือการสนับสนุน เพื่อยับยั้งอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการที่กลุ่มติดอาวุธนำวัสดุเหล่านั้นออกมาใช้ ทั้งในอิรักและต่างแดน” อัล-ฮากีม ระบุในจดหมาย ทบวงการปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) แถลงว่า รัฐบาลอิรักได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันทางกายภาพต่อวัตถุนิวเคลียร์ (Convention on the Physical Protection of Nuclear Material) เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา(7) ซึ่งกำหนดให้รัฐภาคีต้องป้องกันโรงงานและวัสดุนิวเคลียร์ให้มีความปลอดภัย ทั้งระหว่างการใช้งานที่มีจุดประสงค์เชิงสันติ การเก็บรักษา และการขนส่ง “อนุสัญญาฉบับนี้ยังกำหนดมาตรการความร่วมมือระหว่างรัฐภาคีในการค้นหาและกู้คืนวัสดุนิวเคลียร์ที่ถูกขโมย บรรเทาผลทำลายล้างที่เกิดจากรังสี ตลอดจนป้องกันและต่อต้านการละเมิดที่เกี่ยวข้อง” ไอเออีเอ ระบุ
เอเจนซีส์ - ลุ้นระทึกศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีอินโดนีเซียในวันพุธ (9 ก.ค.) ซึ่งถือได้ว่าเข้มข้นและคู่คี่ที่สุด โดยหลังจากปิดหีบลงคะแนนไม่นาน ผู้สมัครทั้งสองคนต่างอ้างตัวเป็นผู้ชนะ ขณะที่ผลสำรวจอย่างไม่เป็นทางการแต่แม่นยำมากชี้ว่า “โจโควี” ผู้ว่าจาการ์ตา นำพลโท “สุเบียนโต” อดีตบุตรเขยของอดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โต อย่างเฉียดฉิวไม่ถึง 5% ทั่วทั้งประเทศอินโดนีเซีย เปิดหน่วยเลือกตั้งให้ไปใช้สิทธิเลือกประธานาธิบดีกันเมื่อวันพุธ (9) โดยผลการนับคะแนนด่วนอย่างไม่เป็นทางการแต่แม่นยำอย่างมากที่เรียกว่า “quick count” ระบุว่า โจโค วิโดโด ผู้ว่าการมหานครจาการ์ตา กวาดคะแนนไป 52% จากบัตรเลือกตั้งที่นับแล้ว 80% ขณะที่ ปราโบโว สุเบียนโต ได้คะแนน 48% ทั้งนี้ ควิกเคาต์ เป็นการสุ่มนับคะแนนจากทั่วประเทศ ที่สามารถคาดการณ์ผลได้อย่างแม่นยำเป็นที่เชื่อถือกันมากนับตั้งแต่การเลือกตั้งทั่วไปในปี 2004 ขณะที่ผลการนับคะแนนอย่างเป็นทางการจริงๆ คณะกรรมการการเลือกตั้งมีกำหนดจะประกาศในวันที่ 22 กรกฏาคม ทั้งนี้สืบเนื่องจากอินโดนีเซียประกอบด้วยหมู่เกาะกว่า 17,000 เกาะ อยู่ใน 3 เขตเวลา และมีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งรวมจำนวนถึง 190 ล้านคน “ณ ขณะนี้ ควิกเคาต์ชี้ว่า โจโควี-คัลลา เป็นผู้ชนะ” ผู้ว่าการ วิโดโด หรือที่รู้จักเรียกขานกันในชื่อ “โจโควี” แถลงเช่นนี้หลังจากการลงคะแนนตามหน่วยเลือกตั้งต่างๆ ปิดลงไม่กี่ชั่วโมง โดยที่ “คัลลา” ซึ่งเขากล่าวถึงนั้น หมายถึง ยูซุฟ กัลลา ผู้สมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีในทีมของเขา อย่างไรก็ดี ขณะที่ผู้สนับสนุนโจโควีร่วมยินดีกับชัยชนะอยู่นั้น โมฮัมหมัด มาห์ฟูด ผู้รับผิดชอบทีมรณรงค์หาเสียงของสุเบียนโตก็แถลงตอบโต้ว่า ควิกเคาต์ภายในของโพล 3 สำนักชี้ว่า สุเบียนโต-ฮัตตา ต่างหากที่คะแนนกำลังนำ ทั้งนี้ ฮัตตา ที่เขากล่าวถึงคือ ฮัตตา ราจาซา ผู้สมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีในทีมของสุเบียนโต กระนั้น มาห์ฟูดก็ขอให้ผู้สนับสนุนสุเบียนโตอยู่ในความสงบขณะที่ทางการยังคงนับคะแนนอยู่
ทางด้านประธานาธิบดีซูซิโล บัมบัง ยุทโธโยโน เรียกร้องให้ผู้สมัครทั้งสองฝ่าย “ยับยั้งชั่งใจ” และขอให้พวกผู้สนับสนุนงดประกาศชัยชนะอย่างโจ่งแจ้ง จนกว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งจะประกาศผลในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า วิโดโด นั้น ถึงแม้ขาดประสบการณ์การเมืองระดับชาติ แต่เสน่ห์ของเขาอยู่ที่การแสดงตนเป็นคนของประชาชน ซึ่งส่งเสริมการปฏิรูปประชาธิปไตย และไม่มีประวัติมัวหมองเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น เหมือนนายทหารหรือนักธุรกิจชั้นนำที่ปกครองอินโดนีเซียในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา เขาเป็นผู้สมัครคนแรกนับแต่ที่อินโดนีเซียเปลี่ยนมาใช้วิธีให้ประชาชนเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรง ที่ไม่มีความพัวพันเชื่อมโยงกับยุคสมัยประธานาธิบดีซูฮาร์โต ซึ่งเป็นผู้นำทหารที่ปกครองแดนอิเหนาแบบเผด็จการอย่างยาวนานระหว่างปี 1966-1998 ตรงข้ามกับสุเบียนโตที่เป็นทั้งอดีตลูกเขยของซูฮาร์โตและก็เป็นทหารเก่า ที่ปัจจุบันเป็นนักธุรกิจมั่งคั่ง เมื่อไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ วิโดโด วัย 53 ปี ที่ไต่เต้าจากคนธรรมดาจนกลายมาเป็นผู้ว่าการจาการ์ตาในปี 2012 ยังมีคะแนนนำสุเบียนโตไม่เห็นฝุ่น แต่หลังจากที่พลโทวัย 62 ปี ได้รับการรับรองจากพรรคการเมืองใหญ่ที่สุดและมีการจัดการดีที่สุดหลายๆ พรรค รวมทั้งปรับปรุงแคมเปญรณรงค์หาเสียงให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ตลอดจนใช้วิธีป้ายสีฝ่ายตรงข้าม คะแนนนิยมของสุเบียนโตก็ตีตื้นขึ้นมากระทั่งหายใจรดต้นคอวิโดโด ผู้สมัครทั้งสองคนนี้มีนโยบายและบุคลิกแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง วิโดโดนั้นพูดจานุ่มนวล ชอบสวมรองเท้ากีฬาและเสื้อผ้าลำลอง แอบย่องไปเยี่ยมชาวบ้านในสลัม และยังชอบดนตรีเฮฟวี่เมทัล ขณะที่สุเบียนโตเป็นคนเสียงดัง โปรดปรานรถหรู และในการรณรงค์หาเสียงครั้งหนึ่งเขาได้ปรากฏตัวโดยขึ้นนั่งบังคับม้าราคาแพง เขาได้รับการสนับสนุนจากพวกพรรคการเมืองอิสลามแนวทางแข็งกร้าวเกือบทั้งหมด และก็สร้างความกังวลให้แก่พวกนักลงทุนต่างชาติที่กลัวว่า หากเขาได้รับชัยชนะ จะมีการนำลัทธิกีดกันการค้ามาใช้ในภาคการเงินและการเกษตร รวมทั้งมีการหวนกลับไปใช้นโยบายแบบเผด็จการเพิ่มมากขึ้น อิกตาร์ นูวาบากิต นักวิเคราะห์การเมืองจาก อินโดนีเซีย อินสติติวท์ ออฟ ไซนส์ ชี้ว่า ชาวมุสลิมมากมายชอบบุคลิกคล่องแคล่วและเข้มแข็งของปราโบโว เพราะเชื่อว่า จะสามารถคัดง้างนโยบายการต่างประเทศของพวกเพื่อนบ้านและสหรัฐฯได้ รวมถึงจัดการกับปัญหาคอร์รัปชั่นที่ระบาดอย่างหนักได้ ขณะที่ชาวอิเหนาอีกมากมายชื่นชอบความเอาใจใส่และความติดดินของโจโควี ช่วงการหาเสียงที่ผ่านมาทั้งสองฝ่ายต่างสาดโคลนใส่กัน แต่วิโดโดชี้ว่า คะแนนนิยมของตนที่นำโด่งอยู่กว่า 12% ในเดือนพฤษภาคมก่อนดิ่งฮวบเหลือเพียง 3.5% ในช่วงก่อนการเลือกตั้งนั้น มาจากการกล่าวหาว่า เขาไม่นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งถือเป็นข้อกล่าวหาอุกฉกรรจ์อย่างยิ่งในประเทศที่มีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลกอย่างอินโดนีเซียขณะเดียวกัน ดูเหมือนแคมเปญหาเสียงของสุเบียนโตจะมีประสิทธิภาพและมีเงินทุนสนับสนุนอุ่นหนาฝาคั่งกว่า นอกเหนือจากที่ได้รับการสนับสนุนจากสถานีทีวีใหญ่ที่สุด 2 แห่งของอินโดนีเซีย ฮัมดี มูลัค นักวิเคราะห์การเมืองจากมหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย ชี้ว่า แม้แคมเปญสาดโคลนของสุเบียนโตสามารถโจมตีภาพลักษณ์ของวิโดโดโดยตรง ทว่า อดีตของสุเบียนโตที่แนบชิดกับระบบเผด็จการทหาร รวมถึงการลักพาตัวนักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยในช่วงก่อนซูฮาร์โตตกบัลลังก์ ก็เป็นสิ่งที่ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงจำนวนมากจำขึ้นใจ โดยเฉพาะพวกที่กลัวว่า ระบอบเผด็จการโหดร้ายจะฟื้นคืนชีพ และคนเหล่านี้เองที่เทคะแนนให้วิโดโด เฉกเช่นเดียวกับคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรงครั้งที่ 3 ของอินโดนีเซีย โดยผู้ชนะจะเป็นประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งคนที่ 2 หลังจากยุทโธโยโนที่ครองตำแหน่งมาแล้วสองสมัย และจะพ้นหน้าที่ในเดือนตุลาคมนี้ ภายหลังจากปกครองอินโดนีเซียอย่างมีเสถียรภาพแต่ไร้ซึ่งความเด็ดขาด ผู้นำอิเหนาคนใหม่ยังต้องรับภาระหนักอย่างยิ่งจากปัญหาการเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัว คอร์รัปชั่นกระจาย ความยากจน และความกังวลว่า ชาวมุสลิมหัวรุนแรงที่ไปร่วมรบในตะวันออกกลางอาจกลับมาฟื้นเครือข่ายก่อการร้ายในอินโดนีเซีย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น