เวลาผ่านไปไวราวกับนั่งเครื่องไทม์แมชชีนย้อนเวลา จำได้ว่าเพิ่งจะได้ดูหนังที่ได้ชิงรางวัลยอดเยี่ยมของปีที่แล้วยังไม่ครบ 9 เรื่องเลย แต่เผลอแป๊บเดียวออสการ์ครั้งที่ 86 กำลังมาแล้ว พร้อมกับหนังเยี่ยมอีก 9 เรื่องใหม่ บอกตรงๆ เพิ่งจะได้ดูไปไม่กี่เรื่องเอง แนวทางของปีนี้ก็ดูจะซ้ำรอยคล้ายๆ กับครั้งที่แล้ว คือจะมีหนังที่พูดถึงการปลดแอกความเป็นทาสอยู่ 1เรื่องคล้ายๆ กัน( 12 Years a Slave กับ Les Miserables) มีหนังที่จิ้ชิงตัวประกันเกี่ยวเนื่องกับการเมืองเหมือนๆ กัน( Captain Phillips กับ Argo) มีหนังที่โชว์การกำกับภาพสวยๆโชว์วิชวลเอ็ฟเฟ็คท์เหมือนๆ กัน(Gravity กับ Life of Pi) มีหนังที่ให้คุณค่าของความรักความเป็นมนุษย์เหมือนๆ กัน(Her กับ Amour) มีหนังที่ตีแผ่ เสียดสี และจิกกัดสังคมอเมริกันเหมือนๆ กัน(American Hustle กับ Django Unchained) มีหนังที่เล่าเรื่องวิถีชีวิตของคนป่วยในสังคมเหมือนๆ กัน(Dasllas Buyers Club กับ Silver Linings Playbook) และมีหนังที่ว่าด้วยอัตชีวประวัติของบุคคลจริงที่มีชื่อเสียงในอดีตเหมือนๆ กัน(The Wolf of Wall Street (จริงๆ มีหลายเรื่องเช่น 12 กับ Captain แต่ยกมาเรื่องเดียว กับ Lincoln) เป็นต้น จะเห็นว่าเป็นปีที่ใกล้เคียงและเกือบจะลอกสูตรกันมาเลยกับปีที่แล้ว หาความแตกต่างหรือโดดเด่นแทบไม่มี ดังนั้น ผลรางวัลหรือการตัดสิน ผู้เขียนยังคิดว่าน่าจะออกมาในอีหรอบเดียวกัน หรือใกล้เคียงกัน ในหลายๆ สาขา แต่เพื่อให้มันแตกต่างหรือไม่ซ้ำรอยทางเดียวกันนัก กรรมการออสการ์หรือมวลมหาประชาชนของทางออสการ์ อาจจะมีการพลิกโผในบางสาขาให้แตกต่างจากแนวทางของปีที่แล้วอย่างแน่นอน เพื่อไม่ให้เดาทางหรือจับทางได้ทั้งหมด ไม่งั้นหมดสนุก และจะเป็นปีที่ออสการ์จืดชืดที่สุดก็เป็นได้ เกริ่นนำมาเพื่อจะเข้าสู่หมวดรางวัลสำคัญดังนี้
Best Picture : Nominations 9 Choice
1."12 Years a Slave"
2."The Wolf of Wall Street"
3."Captain Phillips"
4."Her"
5."American Hustle"
6."Gravity"
7."Dallas Buyers Club"
8."Nebraska"
9."Philomena”
Best Director : Nominations 5 Choice
1.Steve McQueen -- "12 Years a Slave"
2.David O. Russell -- "American Hustle"
3.Alfonso Cuaron -- "Gravity"
4.Alexander Payne -- "Nebraska"
5.Martin Scorsese -- "The Wolf of Wall Street"
Best Original Screenplay : Nominations 5 Choice
1."American Hustle" -- David O. Russell and Eric Warren Singer
2."Blue Jasmine" -- Woody Allen
3."Her" -- Spike Jonze
4."Nebraska" -- Bob Nelson
5."Dallas Buyers Club" -- Craig Borten and Melisa Wallack
Best Adapted Screenplay : Nominations 5 Choice
1."12 Years a Slave" -- John Ridley
2."Before Midnight" -- Julie Delpy, Ethan Hawke and Richard Linklater
3."The Wolf of Wall Street" -- Terence Winter
4."Captain Phillips" -- Billy Ray
5."Philomena" -- Steve Coogan and Jeff Pope
หนังที่ผู้เขียนให้เป็นตัวเต็งในการประกาศผลรางวัลออสการ์ครั้งนี้มีเพียง 5เรื่อง คือ 12 Years a Slave,Captain Phillips, Her,American Hustle และ Nebraska และในจำนวนนี้มีถึง 2 เรื่องที่ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนั้นไม่เข้ารอบในการถูกเสนอชื่อเข้าชิงในตัวเลือกสุดท้าย ได้แก่ Paul Greengrass จาก Captain Phillips , Spike Jonze จาก Her , โดยเฉพาะ2 เรื่องคู่ชิงตัวเต็งอย่าง 12 Years a Slave VS American Hustle นั้นได้เข้าชิงในสาขาบทภาพยนตร์และนักแสดงนำด้วย จึงเป็น 2 เรื่องที่โดดเด่น ที่อาจจะคว้ารางวัลในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมปีนี้ไปครอง ถ้าเทียบฟอร์ม 2 เรื่องนี้ว่าเป็นอย่างไรนั้น
12 Years a Slave (12 ปีกับการเป็นทาสในระบอบทักษิณ...เอ๊ยไม่ใช่ ปลดแอก คนย่ำคน กูต้องการเป็นเสรีชน) ผู้กำกับ สตีฟ แม็คควีน,นักแสดงนำ ชีวีเทล เอจิโอฟอร์,ไมเคิล ฟาสส์เบนเดอร์,เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบตช์ ผู้อำนวยการสร้าง แบรด พิตต์)
ตัวหนังเล่าเรื่อง เหตุการณ์ปี 1841 หนุ่มผิวสีจากแซราโทกราสบริงก์ นิวยอร์ก นามว่าโซโลมอน นอร์ธัพ ผู้มีชีวิตเป็นเสรีชน เขาถูกลักพาตัวไปขายเป็นทาสให้นายจ้างจอมโหดทางใต้ของอเมริกา ถูกกดขี่ให้ทำงานในไร่ฝ้ายอยู่ถึง 12 ปี กว่าจะสามารถติดต่อกับครอบครัวจนได้รับอิสรภาพกลับคืนมา และเขาได้นำอัตชีวประวัติของเขาออกตีพิมพ์เป็นหนังสือชื่อเดียวกับเรื่องคือ Twelve Years a Slave ถ่ายทอดเรื่องราวระหว่างที่เขาถูกลิดรอนเสรีภาพ ออกมาขายเมื่อปี 1853 และใช้เวลากว่า 160 ปี กว่าบทบันทึกของเรื่องราวนี้จะถึงมือของผู้กำกับที่ชื่อ สตีฟ แม็คควีน (ผู้กำกับ Shame) ที่กำลังหาพล็อตว่าด้วยคนถูกยัดเยียดสถานะความเป็นทาส แบบเดียวกับที่เกิดเหตุการณ์ขึ้นจริงกับโซโลมอน นอร์ธัพ “ผมอยากเล่าเรื่องของทาส เลยคิดถึงพล็อตที่ให้ชายผู้เป็นอิสระเสรีชน ถูกลักพาตัวไปเป็นทาส เพราะผมอยากให้คนดู ตามติดเขาเข้าสู่เรื่องราวและกลายเป็นคนๆ นั้นจริงๆ” ผู้กำกับจากแดนผู้ดีเผย “ผมวางบทกับจอห์น ริดลีย์ มันออกมาดีมากแต่ก็ต้องใช้เวลาพอสมควร ภรรยาผมเลยเสนอว่า ทำไมไม่มองหาเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงหล่ะ” เธอเป็นนักประวัติศาสตร์ เราก็เลยลองค้นคว้าหาข้อมูลกัน จนเธอไปได้หนังสือชื่อ Twelve Years a Slave มาให้ ผมมือสั่นเลย หนังสือทุกๆ หน้ามันเผยความจริงออกมาทั้งหมด” จากเรื่องราวสุดสะเทือนใจที่พบว่าไม่ค่อยเป็นที่รู้จักกันนัก แม็คควีนยิ่งเหมือนมีแรงฮึดให้เดินหน้าถ่ายทำหนังท่ามกลางไอร้อนแผดเผา ที่หลุยส์เซียน่า โดยให้ ชีวิเทล เอจิโอฟอร์(แสดงใน American Gangster) มารับบทนอร์ธัพ ที่ทุ่มเทกรำงานหนักจนถึงขั้นได้รับบาดเจ็บระหว่างถ่ายทำในฉากในไร่ ร่วมด้วยไมเคิล ฟาสส์เบนเดอร์ ในบทนายทาสใจโหด แบรด พิตต์รับบทสมทบเล็กๆ เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบตช์ รับบทนักบวชแบบติสท์ และพอล เกียแมตติ ในบทพ่อค้าทาส “ตัวหนังค่อนข้างน่ากลัวนะ มันสยดสยองในตัวของมันเอง มีฉากทรมานจิตใจในตลาดค้าทาส ที่เผยรายละเอียดให้เห็นวิธีที่พ่อค้าจัดการกับเขา” เกียแมตติพูดถึงฉากหลังในศตวรรษที่ 19 ที่สะท้อนถึงความทุกข์ทรมานจากความแตกต่างของสีผิวอย่างสมจริงสมจัง ขณะที่ชิวีเทล นักแสดงอังกฤษเชื้อสายไนจีเรีย ก็เผยว่านับถือในความทุกข์ยากของนอร์ธัพไม่น้อย “ก่อนมาถ่ายทำเรื่องนี้ ผมเพิ่งเสร็จจากการถ่าย Half of a Yellow Sun ทางตอนใต้ของไนจีเรีย ช่วงวันท้ายๆ เราอยู่กันแถวๆ ปราสาททาสในคาลาบาร์ ซึ่งเป็นที่ที่เรือออกจากท่า พาคนแอฟริกันไปเป็นทาสที่หลุยส์เซียน่า อีก 2 วันต่อมา ผมก็ต้องนั่งเครื่องบินผ่านจุดนั้นอีก มันทำให้ผมติดใจว่าเรื่องราวเหล่านี้เป็นประสบการณ์ของคนผิวสี และโซโลมอนก็เป็นส่วนหนึ่งของเผ่าพันธุ์ของผมด้วยเช่นกัน
รางวัลที่ได้รับมาแล้วของหนังเรื่องนี้คือ
-ผู้กำกับ,บทดัดแปลง,ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม,ภ.ยอดเยี่ยมแห่งปี ของสมาคมนักวิจารณ์ภ.แอฟริกันอเมริกัน
-ติด 1 ใน10ภ.ยอดเยี่ยมแห่งปี ของสถาบันภ.อเมริกัน
-นักแสดงนำชาย,นักแสดงสมทบหญิง,บทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม จากสมาคมนักวิจารณ์ภ.ออสติน
-ภ.ยอดเยี่ยม,ผู้กำกับ,บท,นักแสดงนำชาย,นักแสดงสมทบหญิง,ทีมนักแสดง จากวัฏจักรนักวิจารณ์ภาพยนตร์ของคนผิวสี
-นักแสดงยอดเยี่ยม,นักแสดงสมทบหญิง,บทภ.ดัดแปลง จากสมาคมนักวิจารณ์ภ.โทรทัศน์อเมริกัน
-10 หนังเยี่ยม,ภาพยนตร์,ผู้กำกับ,นักแสดงนำชาย,นักแสดงสมทบหญิง,เพลงประกอบ,การตัดต่อ,ทีมนักแสดงยอดเยี่ยม จากสมาคมนักวิจารณ์ภ.บอสตันออนไลน์,และนักวิจารณ์สังคมบอสตัน
-ภาพยนตร์,ผู้กำกับ,นักแสดงนำชาย,นักแสดงสมทบหญิง,นักแสดงสมทบชาย,บทดัดแปลง จากวัฏจักรนักวิจารณ์ภาพยนตร์แห่งฟลอริด้า
Etc.
American Hustle (อเมริกันสรรเลว เอ๊ย....ไม่ใช่ โกงกระฉ่อนโลก)
บทหนังเรื่องนี้เคยชื่อ American Bullshit ของเอริก วอร์เรน ซิงเกอร์ (ผู้เขียน International,2009) เคยติดอยู่ในอันดับที่ 8 ในบัญชีดำ ของรายชื่อบทภาพยนตร์ที่ดีที่สุดที่ยังไม่ถูกสร้างเป็นหนัง เค้าโครงดัดแปลงมาจากเรื่องจริง กรณีปฏิบัติการลับ Abscam สุดอื้อฉาวของเอฟบีไอในช่วงปลายทศวรรษที่70 จนถึงต้นทศวรรษที่ 80 ในหนังคริสเตียน เบล รับบทเป็นเออร์วิง โรเซนเฟลด์ มิจฉาชีพตัวพ่อ (ที่ว่ากันว่าเป็นตัวละครที่มีพื้นฐานมาจาก เมลวิน เวน์เบิร์ก นักต้มตุ๋นตัวจริง ผู้เป็นหัวหอกในปฏิบัติการ Abscam) มาพร้อมกับ ซิดนีย์ พรอสเซอร์ (เอมี อดัมส์) คู่หูและชู้รักสาวสุดเซ็กซี่สะท้านอารมณ์ของเขา เขาทั้งคู่ถูกบังคับจากเจ้าหน้าที่เอฟบีไอที่ชื่อริชชี่ ดิมาโช (แบรดลีย์ คูเปอร์) ให้มาช่วยวางแผนจัดฉากตลบหลังมาเฟียและนักการเมืองฉ้อฉล โดยในไม่ช้าพวกเขาก็เริ่มดำดิ่งสู่วงการคอร์รัปชั่นที่ทั้งมีเสน่ห์ยั่วยวน แต่ขณะเดียวกันกลับลวงล่อให้พวกเขาต้องเสี่ยงต่อการติดกับเสียเอง โดยหนังยังมีเจเรมี เรนเนอร์ ในบทคาร์ไมน์ โพลิโท นักการเมืองผู้ทะเยอทะยานและคาดเดายากที่ตกเป็นเหยื่อของแผนลวงดังกล่าว รวมทังเจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ ในบท โรชาลีน ภรรยาของเออร์วิง ทีสุดจะหุนหันพลันแล่นและสามารถทำให้แผนทั้งมวลพังทลายลงได้โดยง่าย แรกเริ่มเดิมที เบน เอ็ฟเฟล็ค ถูกคาดหมายให้มากำกับเรื่องนี้ ทว่าเมื่อโปรเจ็คท์ตกมาอยู่ในความรับผิดชอบของเดวิด โอ รัสเซลล์ ซึ่งกำลังมือขึ้น เขาก็ไม่รอช้า สั่งรื้อบทใหม่เสียเลย! “ผมคิดว่าเอริกเขียนบทไว้ดี แต่ผมมันผู้กำกับยอดนักเขียน จึงต้องทำอะไรตามแบบของตัวเอง เล่าเรื่องด้วยวิธีของตัวเอง ผมก็เลยลื้อเขียนใหม่ ตั้งแต่หน้าแรกโดยเปลียนวิธีเข้าหาเนื้อเรื่องใหม่ซะ เพราะผมไม่อยากทำหนังที่เน้นเล่า “เหตุการณ์” ผมสนใจจะมองเข้าไปในตัวบุคคลที่มาพร้อมกับอารมณ์ ชีวิต เซ็กซ์ เรื่องรักโรแมนติก เสื้อผ้าอาภรณ์ ชีวิตสังคม มากกว่า แล้วค่อยผูกโยงเหตุการณ์ทั้งหลายเข้ามา กระตุ้นให้ตัวละครขยับเขยื้อนเรื่องราวไปเพื่อแสดงให้เห็นการปะทุพลุ่งพล่านทางอารมณ์และการปฏิสัมพันธ์กันของพวกเขา” (หรือสรุปง่ายๆดังที่รัสเซลล์ พูดเองว่า บทหนังเดิมของซิงเกอร์เป็นประเภทที่ขับเคลื่อนด้วยเหตุการณ์ แต่ตัวของเขาอยากทำหนังที่ ขับเคลื่อนด้วยตัวละครจริงๆ)
“งานของผมคือทำให้คนดูรักตัวละครเหล่านี้ให้ได้ แม้พวกเขาจะชั่วช้าด่างพร้อย แต่เมื่อคุณเข้าใกล้ก็จะมองเห็นได้ถึงแง่มุมที่เป็นมนุษย์และไม่ยากที่จะหลงรักตัวละครเหล่านั้น” รัสเซลล์กล่าว ความสามารถในการสร้างตัวละครและการกำกับนักแสดงของเขาอาจารันตีได้จากการที่ The Fighter และ Silver Linings Playbook เข้าชิงออสการ์สาขาการแสดงรวมถึง 7ตัว และคว้ามาได้ 3ตัว (คริสเตียน เบล, เมลิสซา ลีโอ จากThe Fighter และเจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ จาก Silver Linings Playbook)
ABSCAM มาจากการย่อคำ 2 คำเข้าด้วยกัน นั่นคือ Abdul และ Scam ซึ่งแปลความได้ง่ายๆว่าแผนของอับดุล มีที่มาจาก Abdul Enterprises,Ltd. ชื่อบริษัทปลอมๆ ที่สำนักงานสืบสวนกลางสหรัฐ หรือ FBI ใช้เป็นฉากบังหน้าใน “ปฏิบัติการล่อลวง” (Sting Operation –ปฏิบัติการที่ออกแบบหรือสร้างสถานการณ์สมมติขึ้นเพื่อล่อให้ผู้กระทำผิดติดกับและเข้าจับกุมด้วยหลักฐานขณะกำลังประกอบอาชญากรรม) เดิมทีใช้เป็นเป้าหมายเพื่อจับพวกลักลอลค้าของโจร ก่อนจะขยายไปสู่การคอร์รัปชั่นของเจ้าหน้าที่ของรัฐและนักการเมืองในเวลาต่อมา
ตัวหนังเล่าเรื่อง ในปี 1978 เมื่อ FBI ดึงตัวเมลวิน เวนเบิร์ก นักต้มตุ๋นมือเก๋ามืออาชีพซึ่งถูกจำคุกอยู่ให้มาช่วยงานในปฏิบัติการที่มีชื่อรหัสว่า abscam นี้ แผนก็คือให้เจ้าหน้าที่ FBI คนหนึ่งปลอมตัวเป็นคาริม อับดุล ราห์มาน ท่านชีคเก๊ๆ จากตะวันออกกลาง พร้อมจัดฉากการพบปะ(ล่อซื้อ)ระหว่างท่านชีคกำมะลอกับ เป้าหมาย ซึ่งก็คือบรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่มีพฤติกรรมขี้ฉ้อที่ยินดีรับสินบนจากท่านชีคกระเป๋าหนักแลกกับการอำนวยความสะดวกด้านกฏหมายต่างๆ เช่น การลี้ภัยทางการเมือง,ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ หรือเคลื่อนย้ายเงินทุนข้ามประเทศ โดยบันทึกเทปการพบปะแต่ละครั้งเอาไว้เป็นหลักฐาน เมื่อเจอหลักฐาน คาหนังคาเขาเช่นนี้ บรรดาโจรใส่สูทปากแข็งทั้งหลายจึงดิ้นไม่หลุด นำไปสู่การจับกุมนักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐยุคนั้นได้หลายคน เช่น วุฒิสมาชิก แฮร์ริสัน เอ.วิลเลี่ยมส์ (เดโมแครต – นิวเจอร์ซีส์) ,สมาชิกสภาผู้แทนฯ จอห์น เจนเรทท์ (เดโมแครต –เซาส์แคโรไลน่า เขต 6) ,ริชาร์ด เคลลี่ (ริพับลิกัน-ฟลอริด้า เขต 5) ,เรย์มอนด์ เลเดอเรอ (เดโมแครต –เพนน์ซิลเวเนีย เขต 3) ,ไมเคิล ออสซี่ ไมเออร์ส (เดโมแคนต-เพนน์ซิลเวเนีย เขต 1) ,แฟรงค์ ธอมป์สัน (เดโมแครต-นิวเจอร์ซีส์ เขต 4) และ จอห์น เอ็ม เมอร์ฟี่ (เดโมแครต-นิวยอร์ก เขต 17) ยังไม่นับรวมนักการเมืองท้องถิ่นในรัฐนิวเจอร์ซีย์ ฟิลาเดลเฟียและเจ้าหน้าที่ของรัฐอื่นๆอีกหลายคน เป็นต้น
รางวัลที่ได้รับมาแล้วของหนังเรื่องนี้คือ
-บทดั้งเดิมและนักแสดงสมทบหญิงจากสถาบัน AACTA Inter Award
-สาขาการดัดแปลงบทภ.ตลกและมิวสิคัลยอดเยี่ยมจากสมาคมนักเขียนอเมริกัน
-ติด1ใน10ภ.ยอดเยี่ยมแห่งปี ของอเมริกันจากสถาบันภ.อเมริกัน
-ทีมนักแสดง,ภ.ตลก,นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมและแต่งหน้ายอดเยี่ยมจากสภาการนักวิจารณ์ภ.โทรทัศน์อเมริกัน
-นักแสดงสมทบหญิงและบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยมจากสมาคมนักวิจารณ์ภ.แห่งเดนเวอร์
-ทีมนักแสดงยอดเยี่ยมจากสมาคมนักวิจารณ์ภ.แห่งดีทรอยต์
-นักแสดงนำหญิง,สมทบหญิงยอดเยี่ยม,ภ.เพลงและตลกยอดเยี่ยม รางวัลลูกโลกทองคำ
Etc.
ไม่ว่าเรื่องใดใน 2 เรื่องนี้ได้รับรางวัลในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมก็ถือว่าสมศักดิ์ศรีด้วยกันทั้งคู่ หรือจะเป็นเรื่องอื่นๆ ใน 5 เรื่องที่เก็งกันไว้ หรือใน 9 เรื่องที่เข้าชิง ต้องถือว่าเป็นภาพยนตร์ที่ดี ที่น่าดูทั้งสิ้น เนื้อหาสามารถสอนบทเรียนชีวิต สะท้อนคุณค่าความเป็นมนุษย์ และสะท้อนภาพจริงของสังคมมนุษย์โลกทั้งในอดีตและปัจจุบันรวมถึงอนาคตได้ด้วย ทุกๆปีผู้เขียนจึงไม่ค่อยพลาดที่จะติดตามผลรางวัลออสการ์ที่ยังคงมีมนต์ขลังและสะท้อนมุมมองหลักของคนทำหนังในโลกภาพยนตร์และคนดูได้เป็นอย่างดี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น