เอเจนซีส์ - กลุ่มติดอาวุธจำนวนหลายสิบคน เมื่อวันพฤหัสบดี (27 ก.พ.) บุกเข้ายึดและชักธงชาติรัสเซียขึ้นเหนืออาคารที่ทำการรัฐบาลและรัฐสภาของเขตปกครองตนเองไครเมีย อันเป็นภูมิภาคของยูเครนซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นผู้พูดภาษารัสเซีย ขณะที่สำนักข่าวของแดนหมีขาวก็รายงานคำแถลงของ วิกตอร์ ยานูโควิช ผู้ถูกฝ่ายค้านในกรุงเคียฟปลดออกจากตำแหน่งประธานาธิบดียูเครน โดยเขาประกาศลั่นว่ายังคงเป็นประมุขประเทศที่มีความชอบธรรม ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ยิ่งตอกย้ำความกังวลเกี่ยวกับกระแสแบ่งแยกดินแดน และทำให้รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯออกมาเรียกร้องให้รัสเซียต้องแสดงความโปร่งใสในการฝึกซ้อมความพร้อมรบทางทหารตามแนวชายแดนติดต่อยูเครน อย่าใช้จังหวะก้าวที่อาจทำให้เกิดการตีความผิด หรือ “นำไปสู่การคำนวณอย่างผิดพลาดในช่วงเวลาอันละเอียดอ่อน” สำนักข่าวหลายแห่งของรัสเซีย เมื่อวันพฤหัสบดีต่างรายงานคำแถลงของยานูโควิช ที่ยืนยันความถูกต้องชอบธรรมในตำแหน่งประธานาธิบดียูเครนของตน “ขณะนี้เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า ประชาชนทางตะวันออกเฉียงใต้และในไครเมียไม่ยอมรับสุญญากาศอำนาจและรัฐบาลเถื่อนในเคียฟที่ได้รับแต่งตั้งจากม็อบ” คำแถลงนี้ระบุ
ยานูโควิช ยังอ้างว่า ตนและผู้ช่วยใกล้ชิดได้รับการคุกคามจากกลุ่มหัวรุนแรง และร้องขอทางการรัสเซียให้ความคุ้มครอง โดยที่สำนักข่าวอินเทอร์แฟ็กซ์ของรัสเซียอ้างแหล่งข่าวในเครมลินที่เผยว่า มอสโกจะรับประกันความปลอดภัยของยานูโควิชในดินแดนของรัสเซีย เวลานี้ยังไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า นี่เป็นคำแถลงของยานูโควิชจริงหรือไม่ และเจ้าตัวหลบซ่อนอยู่ที่ใด แม้สื่อบางสำนักระบุว่า เวลานี้เขากบดานอยู่ในมอสโกก็ตาม ขณะที่โฆษกของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ระบุว่า ไม่สามารถแสดงความเห็นเกี่ยวกับคำแถลงดังกล่าวได้เนื่องจากยังไม่มีข้อมูล กระนั้น การกล่าวอ้างในคำแถลงเกี่ยวกับการแข็งข้อในบางพื้นที่ดูเหมือนเป็นความจริงชัดเจนขึ้น หลังจากมีกลุ่มติดอาวุธที่สนับสนุนรัสเซียหลายสิบคนบุกยึดรัฐสภาและอาคารที่ทำการรัฐบาลหลายแห่งในไครเมียเอาไว้ โดยที่ไม่มีการสู้รบใดๆ ที่อาคารรัฐสภาและตึกที่ทำการรัฐบาลในเมืองซิมเฟโรโพล เมืองหลวงของเขตปกครองตนเองแห่งนี้ ปรากฏธงชาติรัสเซียปลิวไสวตั้งแต่เช้าวันพฤหัสบดี และนายกรัฐมนตรีอนาโตลี โมฮิลยอฟ ของไครเมีย ยืนยันว่า มีกลุ่มติดอาวุธราว 50 คนยึดอาคารรัฐบาลไม่ให้เจ้าหน้าที่เข้าไปทำงาน โดยปฏิเสธไม่ยอมเจรจากับเจ้าหน้าที่ ขณะที่สำนักข่าวอินเตอร์แฟกซ์อ้างปากคำของผู้เห็นเหตุการณ์รายหนึ่งซึ่งเล่าว่า มีคนประมาณ 60 คนพร้อมอาวุธจำนวนมากอยู่ภายในอาคารเหล่านี้ คนเหล่านี้ซึ่งพูดภาษารัสเซีย เข้ามายึดตึกเอาไว้ตั้งแต่เช้ามืด ต่อมาในตอนสาย มีตำรวจราว 100 คนรวมตัวอยู่ที่ด้านหน้าอาคารรัฐสภา และต่อมามีผู้คนจำนวนใกล้เคียงกันพากันถือธงชาติรัสเซีย เดินขบวนไปยังอาคารดังกล่าวพร้อมกับตะโกนว่า “รัสเซีย, รัสเซีย”
ทางด้าน อาร์เซน อาวาคอฟ รักษาการรัฐมนตรีมหาดไทยยูเครนแถลงว่า กองกำลังของกระทรวง รวมทั้งกำลังตำรวจทั้งหมดได้ยกระดับการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือสถานการณ์ในไครเมีย นอกจากนั้น ยังมีการตรึงกำลังล้อมรัฐสภาของไครเมีย เพื่อนำประชาชนออกจากบริเวณโดยรอบของอาคารที่ถูกยึด
อวาคอฟเสริมว่า กองกำลังความมั่นคงในภูมิภาคดังกล่าวได้ดำเนินมาตรการอื่นๆ เพื่อป้องกันการดำเนินการของกลุ่มหัวรุนแรง และหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าในใจกลางเมือง ส่วน อเล็กซานเดอร์ ตูชิร์นอฟ รักษาการประธานาธิบดียูเครน แถลงเรียกร้องต่อคณะผู้นำทางทหารของกองทัพเรือภาคทะเลดำของรัสเซีย ซึ่งมีกองบัญชาการใหญ่อยู่ที่ไครเมียว่า หากฝ่ายรัสเซียมีความเคลื่อนไหวทางทหารใดๆ นอกเขตฐานทัพของแดนหมีขาวแล้ว ยูเครนจะถือว่าเป็นการแสดงความก้าวร้าวรุกรานด้วยกำลังทหาร
สำหรับ รัฐมนตรีกลาโหม ชัค เฮเกล ของสหรฐฯ ได้ออกคำแถลงในวันพฤหัสบดีจากกรุงบรัสเซลส์, เบลเยียม ซึ่งเขากำลังไปร่วมการประชุมขององค์การนาโต ระบุว่า สหรัฐฯคาดหมายให้ประเทศอื่นๆ เคารพอธิปไตยของยูเครน และหลีกเลี่ยงการกระทำลักษณะยั่วยุ ดังนั้นสหรัฐฯจึงเฝ้าติดตามการฝึกซ้อมทางทหารของรัสเซียตามบริเวณชายแดนติดต่อกับยูเครน “ผมคาดหมายว่ารัสเซียจะมีความโปร่งใสเกี่ยวกับกิจกรรมเหล่านี้ และผมขอเร่งเร้าให้พวกเขาอย่าได้ใช้จังหวะก้าวใดๆ ที่อาจถูกตีความผิด หรือ นำไปสู่การคำนวณอย่างผิดพลาดในช่วงเวลาอันละเอียดอ่อน” ทั้งนี้ เมื่อวันพุธ ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย เพิ่งออกคำสั่งให้ทหาร 150,000 คน พร้อมเครื่องบินรบ 90 ลำ รถถัง 880 คัน และเรือรบ 80 ลำ ฝึกซ้อมแสดงความพร้อมสู้รบในพื้นที่ภาคตะวันตกของประเทศ รวมทั้งตามแนวชายแดนติดกับยูเครน ตลอดจนให้เพิ่มการรักษาความปลอดภัยศูนย์บัญชาการกองทัพเรือภาคทะเลดำ หลังจากรัสเซียออกข่าวคำสั่งของปูติน ทางด้าน จอห์น เคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ออกคำแถลงเตือนทันควันว่า หากรัสเซียเข้าแทรกแซงทางทหารต่อยูเครน อาจนำมาซึ่งผลลัพธ์รุนแรง ทว่ามอสโกปฏิเสธทันทีเช่นกันว่า การซ้อมรบดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ในยูเครน กระนั้น ดูเหมือนว่า การแสดงแสนยานุภาพครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อแสดงให้ทั้งรัฐบาลใหม่ของยูเครนและตะวันตกตระหนักว่า เครมลินพร้อมดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง ในส่วนความเคลื่อนไหวภายในยูเครนนั้น ในวันพฤหัสบดี รัฐสภายูเครนลงมติแต่งตั้งอาร์เซนีย์ ยัตเซนยุค อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศซึ่งเป็น 1 ในแกนนำฝ่ายค้านที่เข้าร่วมการชุมนุมต่อต้านยานูโควิชในกรุงเคียฟช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ให้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการ โดยมีภารกิจสำคัญคือ การรับมือกระแสแบ่งแยกดินแดนจากภูมิภาคที่สนับสนุนรัสเซีย และการฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ เวลานี้เคียฟต้องการเงินอัดฉีดราว 35,000 ล้านดอลลาร์เพื่อหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ที่ถึงกำหนดในปีนี้ และเรียกร้องให้ตะวันตกยื่นมือช่วยเหลือ เกี่ยวกับเรื่องนี้ เคร์รีแถลงเมื่อวันพุธ (26) ว่า วอชิงตันกำลังเตรียมการอัดฉีดเบื้องต้น 1,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่อียูกำลังวางแผนค้ำประกันเงินกู้มูลค่า 1,500 ล้านดอลลาร์แก่ยูเครน
ยูเครน 26 ก.พ. - สถานการณ์ในยูเครนยังเต็มไปด้วยความเสี่ยงจะเกิดการแตกแยกครั้งใหญ่ในประเทศ เมื่อชนกลุ่มน้อยชาวรัสเซียในหลายเมืองที่มีพรมแดนติดกับประเทศรัสเซีย ลุกฮือประท้วงต่อต้านการโค่นอำนาจประธานาธิบดีวิกเตอร์ ยานูโควิช ขณะที่มหาอำนาจตะวันตก ทั้งสหรัฐและอังกฤษ ต่างยืนกรานจะร่วมมือกับรัสเซียในการนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่ยูเครน ตามวิถีทางที่ชาวยูเครนต้องการ
ก่อนหน้านั้น นายจอห์น แคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ได้หารือกับนายวิลเลียม เฮก รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ โดยเห็นพ้องว่า ชาวยูเครนควรตัดสินอนาคตของตัวเองตามวิถีทางประชาธิปไตยประเทศตะวันตก และประเทศตะวันออกจะไม่แข่งขันกันช่วงชิงยูเครน เสมือนการทำสงครามเย็นในอดีต
ขณะเดียวกัน รัฐสภายูเครนซึ่งเวลานี้เต็มไปด้วยกลุ่มฝ่ายค้าน ได้ลงมติให้มีการนำตัวนายยานูโควิช พร้อมสมุนไปขึ้นศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศ ในข้อหาสั่งการให้มือปืนสไนเปอร์ยิงผู้ประท้วงที่ชุมนุมอย่างสงบ จนมีผู้เสียชีวิตนับร้อย โดยจนถึงขณะนี้ นายยานูโควิช ซึ่งถูกออกหมายจับ ยังคงหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย ส่วนอียูกำลังเร่งหาทางปล่อยเงินกู้ก้อนใหญ่ให้ยูเครนนำไปกอบกู้เศรษฐกิจที่กำลังจะล้มละลาย และเตือนว่า รัฐบาลเอกภาพชุดใหม่ของยูเครนที่จะจัดตั้งขึ้น ควรประกอบด้วยกลุ่มคนที่หลากหลาย รวมถึงกลุ่มที่สนับสนุนนายยานูโควิช และชนกลุ่มน้อยชาวรัสเซียด้วย ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้ยูเครนต้องแตกแยกออกเป็นเสี่ยงๆ.
ในวันพุธ (29 ม.ค.) หรือหนึ่งวันหลังจากที่รัฐสภายูเครนลงมติยกเลิกกฎหมายห้ามการประท้วงทั้งที่เพิ่งผ่านความเห็นชอบเมื่อวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา บรรดาสมาชิกของสภาแห่งนี้ก็เปิดประชุมฉุกเฉินต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 โดยมุ่งพิจารณาเรื่องการนิรโทษกรรมผู้ชุมนุมประท้วง ลีโอนิด คราฟชุค ประธานาธิบดีคนแรกนับจากยูเครนได้รับเอกราชและขึ้นบริหารประเทศระหว่างปี 1991-1994 แถลงต่อรัฐสภาว่า ทั่วโลกและยูเครนเองต่างรับรู้ว่า ประเทศกำลังอยู่บนขอบเหวของสงครามกลางเมือง “ขณะนี้ได้เกิดรัฐบาลคู่ขนานและการปฏิวัติโดยพฤตินัยขึ้น” คราฟชุคพาดพิงถึงผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลที่ขับไล่เจ้าหน้าที่และเข้ายึดอาคารสถานที่ราชการหลายแห่งทั่วประเทศ “นี่คือการปฏิวัติ และเป็นสถานการณ์รุนแรงที่ต้องดำเนินการด้วยความรับผิดชอบสูงสุด เราต้องลดบรรยากาศการเผชิญหน้าระหว่างฝ่ายต่างๆ และตกลงแผนการเพื่อแก้ไขความขัดแย้ง โดยต้องดำเนินการทีละขั้นตอน” อดีตประธานาธิบดีแถลงต่อสมาชิกรัฐสภาตลอดช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา คราฟชุคได้เข้าร่วมการประชุมโต๊ะกลมเพื่อคลี่คลายวิกฤต นอกจากนั้น ในการประชุมรัฐสภาฉุกเฉินคราวนี้ยังมีอดีตประธานาธิบดีอีก 2 คนเข้าร่วมด้วย ได้แก่ ลีโอนิด คุชมา (ครองอำนาจระหว่างปี 1994-2005) และวิกเตอร์ ยุชเชนโก (2005-2010) ตอกย้ำความสำคัญของการอภิปรายนัดนี้ที่มีประเด็นหลักคือ การนิรโทษกรรมผู้ประท้วง คณะรัฐบาลของยานูโควิชนั้น เสนอนิรโทษกรรมผู้ประท้วงทุกคนที่ถูกกล่าวหาว่าก่ออาชญากรรมที่ไม่รุนแรง โดยมีเงื่อนไขว่าผู้ประท้วงจะต้องออกจากอาคารและถนนทุกสายที่ยึดครองอยู่ในกรุงเคียฟ ทว่า ฝ่ายค้านยืนกรานว่า รัฐบาลต้องนิรโทษกรรมโดยไม่มีเงื่อนไข และเดินหน้าเรียกร้องให้ยานูโควิชลาออก ตามหลังนายกรัฐมนตรีมืย์โคลา อาซารอฟ และคณะรัฐมนตรี โดยที่การออกจากตำแหน่งของอาซารอฟและรัฐบาลของเขา ถือเป็นการอ่อนข้อครั้งใหญ่ที่สุดของฝ่ายยานูโควิช นับตั้งแต่ที่ประชาชนเริ่มออกมาประท้วงเมื่อสองเดือนที่แล้ว เนื่องจากไม่พอใจที่รัฐบาลยกเลิกการลงนามข้อตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป (อียู) ภายใต้การกดดันจากรัสเซีย และต่อมาก็พัฒนาเป็นการต่อสู้มุ่งโค่นล้มยานูโควิช อาร์เซนีย์ ยัตเซนยุค หัวหน้าพรรคฟาเธอร์แลนด์และ 1 ในผู้นำฝ่ายค้านประกาศว่า การลาออกของอาซารอฟเมื่อวันอังคาร (28) แม้ถือเป็นก้าวย่างสำคัญ แต่ก็เกิดขึ้นสายเกินไปเสียแล้ว ดังนั้นจึงยังไม่เพียงพอ ขณะที่ วิตาลี คลิตช์โก อดีตแชมป์มวยโลกรุ่นเฮฟวีเวตและหัวหน้าพรรคยูดาร์ขานรับว่า อาซารอฟควรลาออกไปตั้งแต่เมื่อ 2 เดือนที่แล้ว และขั้นตอนที่เหมาะสมต่อจากนี้ไปคือ การลาออกของยานูโควิช ทางด้าน ยูเลีย ทิโมเชนโก อดีตนายกรัฐมนตรีที่เวลานี้ถูกจำคุก ซึ่งฝ่ายค้านมองว่า เป็นการแก้แค้นทางการเมืองโดยยานูโควิช ได้ออกคำแถลงกล่าวว่า การยอมจำนนของรัฐบาลเป็นผลลัพธ์อันดับแรกจากการต่อสู้ของประชาชน “แต่เท่านี้ยังไม่พอ เราต้องต่อสู้ต่อไป!” เธอระบุในคำแถลง
สื่อยูเครนยังรายงานว่า สมาชิกพรรครีเจียนส์ ปาร์ตี ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล เผยว่า รัฐสภายังอาจจะอภิปรายญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อลดทอนอำนาจของประธานาธิบดี และหวนกลับไปใช้ระบบที่ให้อำนาจแก่นายกรัฐมนตรีตามเดิม อินนา โบกอสลอฟสกา อดีต ส.ส.พรรครีเจียนส์ที่แปรพักตร์มาอยู่กับผู้ประท้วง สำทับว่า ฝ่ายรัฐบาลนั้นไม่สามารถตกลงกันได้เรื่องการประกาศภาวะฉุกเฉิน เนื่องจากถูกขัดขวางจากมหาเศรษฐีที่สนับสนุนรัฐบาลคือ ไรนาต แอ็กเมตอฟ และเซียร์เกย์ ติกิปโก ทางด้านนานาชาติ เมื่อวันอังคาร ประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ ได้กล่าวสนับสนุนการประท้วงอย่างสันติในยูเครนระหว่างการแถลงนโยบายประจำปีของเขา ส่วนรองประธานาธิบดี โจ ไบเดน ได้โทรศัพท์คุยกับยานูโควิช แสดงความยินดีต่อความคืบหน้าที่เกิดขึ้น พร้อมสนับสนุนให้ผู้นำยูเครนร่วมกับฝ่ายค้านเพื่อหาทางแก้ไขความขัดแย้งอย่างสันติต่อไป วันเดียวกันนั้น บรรยากาศการประชุมสุดยอดอียู-รัสเซีย ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงบรัสเซลส์ ถูกครอบงำด้วยสถานการณ์ในยูเครน โดยประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน เตือนเจ้าภาพให้ยุติการแทรกแซงยูเครน อย่างไรก็ดี แคทเธอลีน แอชตัน ประธานฝ่ายนโยบายการต่างประเทศอียู ที่เดินทางถึงเคียฟตั้งแต่วันอังคาร ยังคงเดินหน้าหารือกับฝ่ายต่างๆ เพื่อหาทางยุติความขัดแย้งโดยไม่ฟังเสียงวิพากษ์จากผู้นำเครมลิน นอกจากนั้น ในวันพุธ แอนเดอร์ส ฟ็อกห์ ราสมูสเซน เลขาธิการองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ยังวิจารณ์มอสโกที่กดดันกระทั่งเคียฟยกเลิกทำสัญญาการค้ากับอียูอันนำไปสู่การประท้วงรุนแรงจนถึงขณะนี้ ราสมูสเซนยังประณามการใช้ความรุนแรงของตำรวจยูเครนต่อผู้ประท้วง และเรียกร้องให้ผู้นำยูเครนปฏิเสธแรงกดดันและหันมากระชับสัมพันธ์กับนาโตและอียู เช่นเดียวกัน แคนาดาประกาศเมื่อวันอังคารว่า จะไม่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ยูเครนที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามผู้ชุมนุมเข้าประเทศ สถานการณ์การเมืองยูเครนยังส่งผลต่อเศรษฐกิจที่เปราะบางอยู่แล้ว ซึ่งเป็นเหตุผลที่สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ส อธิบายในการประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือตราสารหนี้ของยูเครนลง 1 ขั้น จาก B- มาอยู่ที่ CCC+
สถานการณ์จลาจลในเวเนซุเอลา ขยายตัวไปยังหมู่เกาะแคริบเบียนแล้ว นายเฮซุส อารีอาส ฟูเอนเมเยอร์ กงสุลใหญ่เวเนซุเอลาประจำเกาะอารูบาในทะเลแคริบเบียน กล่าวว่า ชาวเวเนซุเอลาคนหนึ่งขับรถพุ่งชนประตูสถานกงสุล โดยเจตนาที่จะก่อให้เกิดความเสียหาย แม้จะไม่มีใครได้รับบาดเจ็บก็ตาม ซึ่งส่งผลให้นายเอเลียส จาอัว รัฐมนตรีต่างประเทศ ต้องสั่งปลดเจ้าหน้าที่ทูตประจำเกาะอารูบา เกาะโบแนร์ และเกาะคูราเซา ในทันที เพื่อความปลอดภัย สำหรับเกาะดังกล่าวเป็นดินแดนในอาณัติของเนเธอร์แลนด์ สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงการากัส ประเทศเวเนซุเอลา เมื่อวันที่ 21 ก.พ. ว่าประธานาธิบดีนิโคลาส มาดูโร ผู้นำเวเนซุเอลา มีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตสื่อมวลชนของผู้สื่อข่าวจากสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็น 7 คน พร้อมกับเนรเทศกลุ่มผู้สื่อข่าวเหล่านี้ออกนอกประเทศ ฐานเจตนารายงานข่าวบิดเบือนความจริง ด้วยการนำเสนอภาพและข้อมูลที่สื่อว่า เวเนซุเอลากำลังตกอยู่ในภาวะ "สงครามกลางเมือง" ทั้งที่ในความเป็นจริงควรนำเสนอรายงานเกี่ยวกับวิถีชีวิตของประชาชน ที่ต่างทำหน้าที่ของตัวเองเพื่อพัฒนาประเทศมากกว่า อย่างไรก็ตาม ผู้นำเวเนซุเอลายังคงอนุญาตให้รายการข่าวของซีเอ็นเอ็นทั้งที่เป็นภาษาอังกฤษและภาษาสเปนออกอากาศในประเทศได้ ขณะที่ตัวแทนของสถานีซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองแอตแลนตา ในรัฐจอร์เจีย ออกมาแสดงความหวังว่า มาดูโรจะทบทวนการตัดสินใจ แต่ยืนยันจะยังคงเกาะติดสถานการณ์ในเวเนซุเอลาต่อไป ความเคลื่อนไหวของรัฐบาลเวเนซุเอลาในการเนรเทศทีมข่าวซีเอ็นเอ็นออกนอกประเทศ เกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ชุมนุมต่อต้านนโยบายควบคุมราคาสินค้าจำเป็นและมาตรการคุ้มครองชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่ไม่มีประสิทธิภาพ ผลจากการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 8 ศพ
หลังคารีสอร์ทถล่มนักศึกษาดับ 9 คน เกิดอุบัติเหตุหลังคารีสอร์ทที่เกาหลีใต้พังถล่มขณะที่มีงานปฐมนิเทศนักศึกษา ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 9 คน นักศึกษา 80 คนได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย หลังจากหอประชุมรีสอร์ทที่เมืองคยองจู ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเกาหลีใต้พังถล่มลงมา เจ้าหน้าที่หน่วยงานจัดการเหตุฉุกเฉินแห่งชาติยืนยันมีผู้เสียชีวิตแล้ว 9 คน อีก 17 คนได้รับบาดเจ็บอาการหนัก และคาดว่ามีอีกประมาณ 10 คนที่ยังคงติดอยู่ใต้ซากตึก แต่ขณะนี้ยังไม่มีรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการกู้ภัย ด้านสำนักข่าวยอนฮัปของเกาหลีใต้เผยภาพปฏิบัติการกู้ภัยเมื่อช่วงเช้ามืดที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่กู้ภัยได้นำร่างผู้บาดเจ็บออกจากใต้อาคารที่พังถล่ม รวมถึงภาพหญิงสาวคนหนึ่งที่ยังติดอยู่ใต้ซากอาคาร สื่อท้องถิ่นรายงานว่า สาเหตุอาจเกิดจากหิมะทับถมหลังคาจนแบกรับน้ำหนักไม่ไหวและพังลงมา แต่ทางการยังคงสอบสวนหาสาเหตุที่แท้จริงอยู่ หลังคาได้พังลงมาขณะที่นักศึกษาประมาณ 1,000 คน จากมหาวิทยาลัยปูซานร่วมงานปฐมนิเทศ โดยในช่วงที่เกิดเหตุมีนักศึกษา 560 คนอยู่ในหอประชุม แต่นักศึกษาหลายคนสามารถออกมาได้ด้วยตนเอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น