วันพฤหัสบดีที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

โลก 360 องศา - (สถานการณ์ในยูเครน, สถานการณ์ในเวเนซูเอล่า, ตึกถล่มที่เกาหลี)


เอเจนซีส์ - กลุ่มติดอาวุธจำนวนหลายสิบคน เมื่อวันพฤหัสบดี (27 ก.พ.) บุกเข้ายึดและชักธงชาติรัสเซียขึ้นเหนืออาคารที่ทำการรัฐบาลและรัฐสภาของเขตปกครองตนเองไครเมีย อันเป็นภูมิภาคของยูเครนซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นผู้พูดภาษารัสเซีย ขณะที่สำนักข่าวของแดนหมีขาวก็รายงานคำแถลงของ วิกตอร์ ยานูโควิช ผู้ถูกฝ่ายค้านในกรุงเคียฟปลดออกจากตำแหน่งประธานาธิบดียูเครน โดยเขาประกาศลั่นว่ายังคงเป็นประมุขประเทศที่มีความชอบธรรม ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ยิ่งตอกย้ำความกังวลเกี่ยวกับกระแสแบ่งแยกดินแดน และทำให้รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯออกมาเรียกร้องให้รัสเซียต้องแสดงความโปร่งใสในการฝึกซ้อมความพร้อมรบทางทหารตามแนวชายแดนติดต่อยูเครน อย่าใช้จังหวะก้าวที่อาจทำให้เกิดการตีความผิด หรือ “นำไปสู่การคำนวณอย่างผิดพลาดในช่วงเวลาอันละเอียดอ่อน” สำนักข่าวหลายแห่งของรัสเซีย เมื่อวันพฤหัสบดีต่างรายงานคำแถลงของยานูโควิช ที่ยืนยันความถูกต้องชอบธรรมในตำแหน่งประธานาธิบดียูเครนของตน “ขณะนี้เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า ประชาชนทางตะวันออกเฉียงใต้และในไครเมียไม่ยอมรับสุญญากาศอำนาจและรัฐบาลเถื่อนในเคียฟที่ได้รับแต่งตั้งจากม็อบ” คำแถลงนี้ระบุ


ยานูโควิช ยังอ้างว่า ตนและผู้ช่วยใกล้ชิดได้รับการคุกคามจากกลุ่มหัวรุนแรง และร้องขอทางการรัสเซียให้ความคุ้มครอง โดยที่สำนักข่าวอินเทอร์แฟ็กซ์ของรัสเซียอ้างแหล่งข่าวในเครมลินที่เผยว่า มอสโกจะรับประกันความปลอดภัยของยานูโควิชในดินแดนของรัสเซีย เวลานี้ยังไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า นี่เป็นคำแถลงของยานูโควิชจริงหรือไม่ และเจ้าตัวหลบซ่อนอยู่ที่ใด แม้สื่อบางสำนักระบุว่า เวลานี้เขากบดานอยู่ในมอสโกก็ตาม ขณะที่โฆษกของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ระบุว่า ไม่สามารถแสดงความเห็นเกี่ยวกับคำแถลงดังกล่าวได้เนื่องจากยังไม่มีข้อมูล กระนั้น การกล่าวอ้างในคำแถลงเกี่ยวกับการแข็งข้อในบางพื้นที่ดูเหมือนเป็นความจริงชัดเจนขึ้น หลังจากมีกลุ่มติดอาวุธที่สนับสนุนรัสเซียหลายสิบคนบุกยึดรัฐสภาและอาคารที่ทำการรัฐบาลหลายแห่งในไครเมียเอาไว้ โดยที่ไม่มีการสู้รบใดๆ ที่อาคารรัฐสภาและตึกที่ทำการรัฐบาลในเมืองซิมเฟโรโพล เมืองหลวงของเขตปกครองตนเองแห่งนี้ ปรากฏธงชาติรัสเซียปลิวไสวตั้งแต่เช้าวันพฤหัสบดี และนายกรัฐมนตรีอนาโตลี โมฮิลยอฟ ของไครเมีย ยืนยันว่า มีกลุ่มติดอาวุธราว 50 คนยึดอาคารรัฐบาลไม่ให้เจ้าหน้าที่เข้าไปทำงาน โดยปฏิเสธไม่ยอมเจรจากับเจ้าหน้าที่ ขณะที่สำนักข่าวอินเตอร์แฟกซ์อ้างปากคำของผู้เห็นเหตุการณ์รายหนึ่งซึ่งเล่าว่า มีคนประมาณ 60 คนพร้อมอาวุธจำนวนมากอยู่ภายในอาคารเหล่านี้ คนเหล่านี้ซึ่งพูดภาษารัสเซีย เข้ามายึดตึกเอาไว้ตั้งแต่เช้ามืด ต่อมาในตอนสาย มีตำรวจราว 100 คนรวมตัวอยู่ที่ด้านหน้าอาคารรัฐสภา และต่อมามีผู้คนจำนวนใกล้เคียงกันพากันถือธงชาติรัสเซีย เดินขบวนไปยังอาคารดังกล่าวพร้อมกับตะโกนว่า “รัสเซีย, รัสเซีย”

ทางด้าน อาร์เซน อาวาคอฟ รักษาการรัฐมนตรีมหาดไทยยูเครนแถลงว่า กองกำลังของกระทรวง รวมทั้งกำลังตำรวจทั้งหมดได้ยกระดับการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือสถานการณ์ในไครเมีย นอกจากนั้น ยังมีการตรึงกำลังล้อมรัฐสภาของไครเมีย เพื่อนำประชาชนออกจากบริเวณโดยรอบของอาคารที่ถูกยึด

อวาคอฟเสริมว่า กองกำลังความมั่นคงในภูมิภาคดังกล่าวได้ดำเนินมาตรการอื่นๆ เพื่อป้องกันการดำเนินการของกลุ่มหัวรุนแรง และหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าในใจกลางเมือง ส่วน อเล็กซานเดอร์ ตูชิร์นอฟ รักษาการประธานาธิบดียูเครน แถลงเรียกร้องต่อคณะผู้นำทางทหารของกองทัพเรือภาคทะเลดำของรัสเซีย ซึ่งมีกองบัญชาการใหญ่อยู่ที่ไครเมียว่า หากฝ่ายรัสเซียมีความเคลื่อนไหวทางทหารใดๆ นอกเขตฐานทัพของแดนหมีขาวแล้ว ยูเครนจะถือว่าเป็นการแสดงความก้าวร้าวรุกรานด้วยกำลังทหาร

สำหรับ รัฐมนตรีกลาโหม ชัค เฮเกล ของสหรฐฯ ได้ออกคำแถลงในวันพฤหัสบดีจากกรุงบรัสเซลส์, เบลเยียม ซึ่งเขากำลังไปร่วมการประชุมขององค์การนาโต ระบุว่า สหรัฐฯคาดหมายให้ประเทศอื่นๆ เคารพอธิปไตยของยูเครน และหลีกเลี่ยงการกระทำลักษณะยั่วยุ ดังนั้นสหรัฐฯจึงเฝ้าติดตามการฝึกซ้อมทางทหารของรัสเซียตามบริเวณชายแดนติดต่อกับยูเครน “ผมคาดหมายว่ารัสเซียจะมีความโปร่งใสเกี่ยวกับกิจกรรมเหล่านี้ และผมขอเร่งเร้าให้พวกเขาอย่าได้ใช้จังหวะก้าวใดๆ ที่อาจถูกตีความผิด หรือ นำไปสู่การคำนวณอย่างผิดพลาดในช่วงเวลาอันละเอียดอ่อน” ทั้งนี้ เมื่อวันพุธ ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย เพิ่งออกคำสั่งให้ทหาร 150,000 คน พร้อมเครื่องบินรบ 90 ลำ รถถัง 880 คัน และเรือรบ 80 ลำ ฝึกซ้อมแสดงความพร้อมสู้รบในพื้นที่ภาคตะวันตกของประเทศ รวมทั้งตามแนวชายแดนติดกับยูเครน ตลอดจนให้เพิ่มการรักษาความปลอดภัยศูนย์บัญชาการกองทัพเรือภาคทะเลดำ หลังจากรัสเซียออกข่าวคำสั่งของปูติน ทางด้าน จอห์น เคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ออกคำแถลงเตือนทันควันว่า หากรัสเซียเข้าแทรกแซงทางทหารต่อยูเครน อาจนำมาซึ่งผลลัพธ์รุนแรง ทว่ามอสโกปฏิเสธทันทีเช่นกันว่า การซ้อมรบดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ในยูเครน กระนั้น ดูเหมือนว่า การแสดงแสนยานุภาพครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อแสดงให้ทั้งรัฐบาลใหม่ของยูเครนและตะวันตกตระหนักว่า เครมลินพร้อมดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง ในส่วนความเคลื่อนไหวภายในยูเครนนั้น ในวันพฤหัสบดี รัฐสภายูเครนลงมติแต่งตั้งอาร์เซนีย์ ยัตเซนยุค อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศซึ่งเป็น 1 ในแกนนำฝ่ายค้านที่เข้าร่วมการชุมนุมต่อต้านยานูโควิชในกรุงเคียฟช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ให้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการ โดยมีภารกิจสำคัญคือ การรับมือกระแสแบ่งแยกดินแดนจากภูมิภาคที่สนับสนุนรัสเซีย และการฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ เวลานี้เคียฟต้องการเงินอัดฉีดราว 35,000 ล้านดอลลาร์เพื่อหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ที่ถึงกำหนดในปีนี้ และเรียกร้องให้ตะวันตกยื่นมือช่วยเหลือ เกี่ยวกับเรื่องนี้ เคร์รีแถลงเมื่อวันพุธ (26) ว่า วอชิงตันกำลังเตรียมการอัดฉีดเบื้องต้น 1,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่อียูกำลังวางแผนค้ำประกันเงินกู้มูลค่า 1,500 ล้านดอลลาร์แก่ยูเครน

ยูเครน 26 ก.พ. - สถานการณ์ในยูเครนยังเต็มไปด้วยความเสี่ยงจะเกิดการแตกแยกครั้งใหญ่ในประเทศ เมื่อชนกลุ่มน้อยชาวรัสเซียในหลายเมืองที่มีพรมแดนติดกับประเทศรัสเซีย ลุกฮือประท้วงต่อต้านการโค่นอำนาจประธานาธิบดีวิกเตอร์ ยานูโควิช ขณะที่มหาอำนาจตะวันตก ทั้งสหรัฐและอังกฤษ ต่างยืนกรานจะร่วมมือกับรัสเซียในการนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่ยูเครน ตามวิถีทางที่ชาวยูเครนต้องการ

ก่อนหน้านั้น นายจอห์น แคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ได้หารือกับนายวิลเลียม เฮก รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ โดยเห็นพ้องว่า ชาวยูเครนควรตัดสินอนาคตของตัวเองตามวิถีทางประชาธิปไตยประเทศตะวันตก และประเทศตะวันออกจะไม่แข่งขันกันช่วงชิงยูเครน เสมือนการทำสงครามเย็นในอดีต

ขณะเดียวกัน รัฐสภายูเครนซึ่งเวลานี้เต็มไปด้วยกลุ่มฝ่ายค้าน ได้ลงมติให้มีการนำตัวนายยานูโควิช พร้อมสมุนไปขึ้นศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศ ในข้อหาสั่งการให้มือปืนสไนเปอร์ยิงผู้ประท้วงที่ชุมนุมอย่างสงบ จนมีผู้เสียชีวิตนับร้อย โดยจนถึงขณะนี้ นายยานูโควิช ซึ่งถูกออกหมายจับ ยังคงหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย ส่วนอียูกำลังเร่งหาทางปล่อยเงินกู้ก้อนใหญ่ให้ยูเครนนำไปกอบกู้เศรษฐกิจที่กำลังจะล้มละลาย และเตือนว่า รัฐบาลเอกภาพชุดใหม่ของยูเครนที่จะจัดตั้งขึ้น ควรประกอบด้วยกลุ่มคนที่หลากหลาย รวมถึงกลุ่มที่สนับสนุนนายยานูโควิช และชนกลุ่มน้อยชาวรัสเซียด้วย ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้ยูเครนต้องแตกแยกออกเป็นเสี่ยงๆ.

ในวันพุธ (29 ม.ค.) หรือหนึ่งวันหลังจากที่รัฐสภายูเครนลงมติยกเลิกกฎหมายห้ามการประท้วงทั้งที่เพิ่งผ่านความเห็นชอบเมื่อวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา บรรดาสมาชิกของสภาแห่งนี้ก็เปิดประชุมฉุกเฉินต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 โดยมุ่งพิจารณาเรื่องการนิรโทษกรรมผู้ชุมนุมประท้วง ลีโอนิด คราฟชุค ประธานาธิบดีคนแรกนับจากยูเครนได้รับเอกราชและขึ้นบริหารประเทศระหว่างปี 1991-1994 แถลงต่อรัฐสภาว่า ทั่วโลกและยูเครนเองต่างรับรู้ว่า ประเทศกำลังอยู่บนขอบเหวของสงครามกลางเมือง “ขณะนี้ได้เกิดรัฐบาลคู่ขนานและการปฏิวัติโดยพฤตินัยขึ้น” คราฟชุคพาดพิงถึงผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลที่ขับไล่เจ้าหน้าที่และเข้ายึดอาคารสถานที่ราชการหลายแห่งทั่วประเทศ “นี่คือการปฏิวัติ และเป็นสถานการณ์รุนแรงที่ต้องดำเนินการด้วยความรับผิดชอบสูงสุด เราต้องลดบรรยากาศการเผชิญหน้าระหว่างฝ่ายต่างๆ และตกลงแผนการเพื่อแก้ไขความขัดแย้ง โดยต้องดำเนินการทีละขั้นตอน” อดีตประธานาธิบดีแถลงต่อสมาชิกรัฐสภาตลอดช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา คราฟชุคได้เข้าร่วมการประชุมโต๊ะกลมเพื่อคลี่คลายวิกฤต นอกจากนั้น ในการประชุมรัฐสภาฉุกเฉินคราวนี้ยังมีอดีตประธานาธิบดีอีก 2 คนเข้าร่วมด้วย ได้แก่ ลีโอนิด คุชมา (ครองอำนาจระหว่างปี 1994-2005) และวิกเตอร์ ยุชเชนโก (2005-2010) ตอกย้ำความสำคัญของการอภิปรายนัดนี้ที่มีประเด็นหลักคือ การนิรโทษกรรมผู้ประท้วง คณะรัฐบาลของยานูโควิชนั้น เสนอนิรโทษกรรมผู้ประท้วงทุกคนที่ถูกกล่าวหาว่าก่ออาชญากรรมที่ไม่รุนแรง โดยมีเงื่อนไขว่าผู้ประท้วงจะต้องออกจากอาคารและถนนทุกสายที่ยึดครองอยู่ในกรุงเคียฟ ทว่า ฝ่ายค้านยืนกรานว่า รัฐบาลต้องนิรโทษกรรมโดยไม่มีเงื่อนไข และเดินหน้าเรียกร้องให้ยานูโควิชลาออก ตามหลังนายกรัฐมนตรีมืย์โคลา อาซารอฟ และคณะรัฐมนตรี โดยที่การออกจากตำแหน่งของอาซารอฟและรัฐบาลของเขา ถือเป็นการอ่อนข้อครั้งใหญ่ที่สุดของฝ่ายยานูโควิช นับตั้งแต่ที่ประชาชนเริ่มออกมาประท้วงเมื่อสองเดือนที่แล้ว เนื่องจากไม่พอใจที่รัฐบาลยกเลิกการลงนามข้อตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป (อียู) ภายใต้การกดดันจากรัสเซีย และต่อมาก็พัฒนาเป็นการต่อสู้มุ่งโค่นล้มยานูโควิช อาร์เซนีย์ ยัตเซนยุค หัวหน้าพรรคฟาเธอร์แลนด์และ 1 ในผู้นำฝ่ายค้านประกาศว่า การลาออกของอาซารอฟเมื่อวันอังคาร (28) แม้ถือเป็นก้าวย่างสำคัญ แต่ก็เกิดขึ้นสายเกินไปเสียแล้ว ดังนั้นจึงยังไม่เพียงพอ ขณะที่ วิตาลี คลิตช์โก อดีตแชมป์มวยโลกรุ่นเฮฟวีเวตและหัวหน้าพรรคยูดาร์ขานรับว่า อาซารอฟควรลาออกไปตั้งแต่เมื่อ 2 เดือนที่แล้ว และขั้นตอนที่เหมาะสมต่อจากนี้ไปคือ การลาออกของยานูโควิช ทางด้าน ยูเลีย ทิโมเชนโก อดีตนายกรัฐมนตรีที่เวลานี้ถูกจำคุก ซึ่งฝ่ายค้านมองว่า เป็นการแก้แค้นทางการเมืองโดยยานูโควิช ได้ออกคำแถลงกล่าวว่า การยอมจำนนของรัฐบาลเป็นผลลัพธ์อันดับแรกจากการต่อสู้ของประชาชน “แต่เท่านี้ยังไม่พอ เราต้องต่อสู้ต่อไป!” เธอระบุในคำแถลง

สื่อยูเครนยังรายงานว่า สมาชิกพรรครีเจียนส์ ปาร์ตี ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล เผยว่า รัฐสภายังอาจจะอภิปรายญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อลดทอนอำนาจของประธานาธิบดี และหวนกลับไปใช้ระบบที่ให้อำนาจแก่นายกรัฐมนตรีตามเดิม อินนา โบกอสลอฟสกา อดีต ส.ส.พรรครีเจียนส์ที่แปรพักตร์มาอยู่กับผู้ประท้วง สำทับว่า ฝ่ายรัฐบาลนั้นไม่สามารถตกลงกันได้เรื่องการประกาศภาวะฉุกเฉิน เนื่องจากถูกขัดขวางจากมหาเศรษฐีที่สนับสนุนรัฐบาลคือ ไรนาต แอ็กเมตอฟ และเซียร์เกย์ ติกิปโก ทางด้านนานาชาติ เมื่อวันอังคาร ประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ ได้กล่าวสนับสนุนการประท้วงอย่างสันติในยูเครนระหว่างการแถลงนโยบายประจำปีของเขา ส่วนรองประธานาธิบดี โจ ไบเดน ได้โทรศัพท์คุยกับยานูโควิช แสดงความยินดีต่อความคืบหน้าที่เกิดขึ้น พร้อมสนับสนุนให้ผู้นำยูเครนร่วมกับฝ่ายค้านเพื่อหาทางแก้ไขความขัดแย้งอย่างสันติต่อไป วันเดียวกันนั้น บรรยากาศการประชุมสุดยอดอียู-รัสเซีย ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงบรัสเซลส์ ถูกครอบงำด้วยสถานการณ์ในยูเครน โดยประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน เตือนเจ้าภาพให้ยุติการแทรกแซงยูเครน อย่างไรก็ดี แคทเธอลีน แอชตัน ประธานฝ่ายนโยบายการต่างประเทศอียู ที่เดินทางถึงเคียฟตั้งแต่วันอังคาร ยังคงเดินหน้าหารือกับฝ่ายต่างๆ เพื่อหาทางยุติความขัดแย้งโดยไม่ฟังเสียงวิพากษ์จากผู้นำเครมลิน นอกจากนั้น ในวันพุธ แอนเดอร์ส ฟ็อกห์ ราสมูสเซน เลขาธิการองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ยังวิจารณ์มอสโกที่กดดันกระทั่งเคียฟยกเลิกทำสัญญาการค้ากับอียูอันนำไปสู่การประท้วงรุนแรงจนถึงขณะนี้ ราสมูสเซนยังประณามการใช้ความรุนแรงของตำรวจยูเครนต่อผู้ประท้วง และเรียกร้องให้ผู้นำยูเครนปฏิเสธแรงกดดันและหันมากระชับสัมพันธ์กับนาโตและอียู เช่นเดียวกัน แคนาดาประกาศเมื่อวันอังคารว่า จะไม่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ยูเครนที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามผู้ชุมนุมเข้าประเทศ สถานการณ์การเมืองยูเครนยังส่งผลต่อเศรษฐกิจที่เปราะบางอยู่แล้ว ซึ่งเป็นเหตุผลที่สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ส อธิบายในการประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือตราสารหนี้ของยูเครนลง 1 ขั้น จาก B- มาอยู่ที่ CCC+

สถานการณ์จลาจลในเวเนซุเอลา ขยายตัวไปยังหมู่เกาะแคริบเบียนแล้ว นายเฮซุส อารีอาส ฟูเอนเมเยอร์ กงสุลใหญ่เวเนซุเอลาประจำเกาะอารูบาในทะเลแคริบเบียน กล่าวว่า ชาวเวเนซุเอลาคนหนึ่งขับรถพุ่งชนประตูสถานกงสุล โดยเจตนาที่จะก่อให้เกิดความเสียหาย แม้จะไม่มีใครได้รับบาดเจ็บก็ตาม ซึ่งส่งผลให้นายเอเลียส จาอัว รัฐมนตรีต่างประเทศ ต้องสั่งปลดเจ้าหน้าที่ทูตประจำเกาะอารูบา เกาะโบแนร์ และเกาะคูราเซา ในทันที เพื่อความปลอดภัย สำหรับเกาะดังกล่าวเป็นดินแดนในอาณัติของเนเธอร์แลนด์ สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงการากัส ประเทศเวเนซุเอลา เมื่อวันที่ 21 ก.พ. ว่าประธานาธิบดีนิโคลาส มาดูโร ผู้นำเวเนซุเอลา มีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตสื่อมวลชนของผู้สื่อข่าวจากสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็น 7 คน พร้อมกับเนรเทศกลุ่มผู้สื่อข่าวเหล่านี้ออกนอกประเทศ ฐานเจตนารายงานข่าวบิดเบือนความจริง ด้วยการนำเสนอภาพและข้อมูลที่สื่อว่า เวเนซุเอลากำลังตกอยู่ในภาวะ "สงครามกลางเมือง" ทั้งที่ในความเป็นจริงควรนำเสนอรายงานเกี่ยวกับวิถีชีวิตของประชาชน ที่ต่างทำหน้าที่ของตัวเองเพื่อพัฒนาประเทศมากกว่า อย่างไรก็ตาม ผู้นำเวเนซุเอลายังคงอนุญาตให้รายการข่าวของซีเอ็นเอ็นทั้งที่เป็นภาษาอังกฤษและภาษาสเปนออกอากาศในประเทศได้ ขณะที่ตัวแทนของสถานีซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองแอตแลนตา ในรัฐจอร์เจีย ออกมาแสดงความหวังว่า มาดูโรจะทบทวนการตัดสินใจ แต่ยืนยันจะยังคงเกาะติดสถานการณ์ในเวเนซุเอลาต่อไป ความเคลื่อนไหวของรัฐบาลเวเนซุเอลาในการเนรเทศทีมข่าวซีเอ็นเอ็นออกนอกประเทศ เกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ชุมนุมต่อต้านนโยบายควบคุมราคาสินค้าจำเป็นและมาตรการคุ้มครองชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่ไม่มีประสิทธิภาพ ผลจากการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 8 ศพ


หลังคารีสอร์ทถล่มนักศึกษาดับ 9 คน เกิดอุบัติเหตุหลังคารีสอร์ทที่เกาหลีใต้พังถล่มขณะที่มีงานปฐมนิเทศนักศึกษา ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 9 คน นักศึกษา 80 คนได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย หลังจากหอประชุมรีสอร์ทที่เมืองคยองจู ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเกาหลีใต้พังถล่มลงมา เจ้าหน้าที่หน่วยงานจัดการเหตุฉุกเฉินแห่งชาติยืนยันมีผู้เสียชีวิตแล้ว 9 คน อีก 17 คนได้รับบาดเจ็บอาการหนัก และคาดว่ามีอีกประมาณ 10 คนที่ยังคงติดอยู่ใต้ซากตึก แต่ขณะนี้ยังไม่มีรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการกู้ภัย ด้านสำนักข่าวยอนฮัปของเกาหลีใต้เผยภาพปฏิบัติการกู้ภัยเมื่อช่วงเช้ามืดที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่กู้ภัยได้นำร่างผู้บาดเจ็บออกจากใต้อาคารที่พังถล่ม รวมถึงภาพหญิงสาวคนหนึ่งที่ยังติดอยู่ใต้ซากอาคาร สื่อท้องถิ่นรายงานว่า สาเหตุอาจเกิดจากหิมะทับถมหลังคาจนแบกรับน้ำหนักไม่ไหวและพังลงมา แต่ทางการยังคงสอบสวนหาสาเหตุที่แท้จริงอยู่ หลังคาได้พังลงมาขณะที่นักศึกษาประมาณ 1,000 คน จากมหาวิทยาลัยปูซานร่วมงานปฐมนิเทศ โดยในช่วงที่เกิดเหตุมีนักศึกษา 560 คนอยู่ในหอประชุม แต่นักศึกษาหลายคนสามารถออกมาได้ด้วยตนเอง

วันเสาร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

เจาะลึกหนังตัวเต็งรางวัล "ออสการ์" ครั้งที่ 86


เวลาผ่านไปไวราวกับนั่งเครื่องไทม์แมชชีนย้อนเวลา จำได้ว่าเพิ่งจะได้ดูหนังที่ได้ชิงรางวัลยอดเยี่ยมของปีที่แล้วยังไม่ครบ 9 เรื่องเลย แต่เผลอแป๊บเดียวออสการ์ครั้งที่ 86 กำลังมาแล้ว พร้อมกับหนังเยี่ยมอีก 9 เรื่องใหม่ บอกตรงๆ เพิ่งจะได้ดูไปไม่กี่เรื่องเอง แนวทางของปีนี้ก็ดูจะซ้ำรอยคล้ายๆ กับครั้งที่แล้ว คือจะมีหนังที่พูดถึงการปลดแอกความเป็นทาสอยู่ 1เรื่องคล้ายๆ กัน( 12 Years a Slave กับ Les Miserables) มีหนังที่จิ้ชิงตัวประกันเกี่ยวเนื่องกับการเมืองเหมือนๆ กัน( Captain Phillips กับ Argo) มีหนังที่โชว์การกำกับภาพสวยๆโชว์วิชวลเอ็ฟเฟ็คท์เหมือนๆ กัน(Gravity กับ Life of Pi) มีหนังที่ให้คุณค่าของความรักความเป็นมนุษย์เหมือนๆ กัน(Her กับ Amour) มีหนังที่ตีแผ่ เสียดสี และจิกกัดสังคมอเมริกันเหมือนๆ กัน(American Hustle กับ Django Unchained) มีหนังที่เล่าเรื่องวิถีชีวิตของคนป่วยในสังคมเหมือนๆ กัน(Dasllas Buyers Club กับ Silver Linings Playbook) และมีหนังที่ว่าด้วยอัตชีวประวัติของบุคคลจริงที่มีชื่อเสียงในอดีตเหมือนๆ กัน(The Wolf of Wall Street (จริงๆ มีหลายเรื่องเช่น 12 กับ Captain แต่ยกมาเรื่องเดียว กับ Lincoln) เป็นต้น จะเห็นว่าเป็นปีที่ใกล้เคียงและเกือบจะลอกสูตรกันมาเลยกับปีที่แล้ว หาความแตกต่างหรือโดดเด่นแทบไม่มี ดังนั้น ผลรางวัลหรือการตัดสิน ผู้เขียนยังคิดว่าน่าจะออกมาในอีหรอบเดียวกัน หรือใกล้เคียงกัน ในหลายๆ สาขา แต่เพื่อให้มันแตกต่างหรือไม่ซ้ำรอยทางเดียวกันนัก กรรมการออสการ์หรือมวลมหาประชาชนของทางออสการ์ อาจจะมีการพลิกโผในบางสาขาให้แตกต่างจากแนวทางของปีที่แล้วอย่างแน่นอน เพื่อไม่ให้เดาทางหรือจับทางได้ทั้งหมด ไม่งั้นหมดสนุก และจะเป็นปีที่ออสการ์จืดชืดที่สุดก็เป็นได้ เกริ่นนำมาเพื่อจะเข้าสู่หมวดรางวัลสำคัญดังนี้

Best Picture : Nominations 9 Choice

1."12 Years a Slave"

2."The Wolf of Wall Street"

3."Captain Phillips"

4."Her"

5."American Hustle"

6."Gravity"

7."Dallas Buyers Club"

8."Nebraska"

9."Philomena”


Best Director : Nominations 5 Choice

1.Steve McQueen -- "12 Years a Slave"

2.David O. Russell -- "American Hustle"

3.Alfonso Cuaron -- "Gravity"

4.Alexander Payne -- "Nebraska"

5.Martin Scorsese -- "The Wolf of Wall Street"


Best Original Screenplay : Nominations 5 Choice

1."American Hustle" -- David O. Russell and Eric Warren Singer

2."Blue Jasmine" -- Woody Allen

3."Her" -- Spike Jonze

4."Nebraska" -- Bob Nelson

5."Dallas Buyers Club" -- Craig Borten and Melisa Wallack


Best Adapted Screenplay : Nominations 5 Choice

1."12 Years a Slave" -- John Ridley

2."Before Midnight" -- Julie Delpy, Ethan Hawke and Richard Linklater

3."The Wolf of Wall Street" -- Terence Winter

4."Captain Phillips" -- Billy Ray

5."Philomena" -- Steve Coogan and Jeff Pope

หนังที่ผู้เขียนให้เป็นตัวเต็งในการประกาศผลรางวัลออสการ์ครั้งนี้มีเพียง 5เรื่อง คือ 12 Years a Slave,Captain Phillips, Her,American Hustle และ Nebraska และในจำนวนนี้มีถึง 2 เรื่องที่ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนั้นไม่เข้ารอบในการถูกเสนอชื่อเข้าชิงในตัวเลือกสุดท้าย ได้แก่ Paul Greengrass จาก Captain Phillips , Spike Jonze จาก Her , โดยเฉพาะ2 เรื่องคู่ชิงตัวเต็งอย่าง 12 Years a Slave VS American Hustle นั้นได้เข้าชิงในสาขาบทภาพยนตร์และนักแสดงนำด้วย จึงเป็น 2 เรื่องที่โดดเด่น ที่อาจจะคว้ารางวัลในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมปีนี้ไปครอง ถ้าเทียบฟอร์ม 2 เรื่องนี้ว่าเป็นอย่างไรนั้น



12 Years a Slave (12 ปีกับการเป็นทาสในระบอบทักษิณ...เอ๊ยไม่ใช่ ปลดแอก คนย่ำคน กูต้องการเป็นเสรีชน) ผู้กำกับ สตีฟ แม็คควีน,นักแสดงนำ ชีวีเทล เอจิโอฟอร์,ไมเคิล ฟาสส์เบนเดอร์,เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบตช์ ผู้อำนวยการสร้าง แบรด พิตต์)

ตัวหนังเล่าเรื่อง เหตุการณ์ปี 1841 หนุ่มผิวสีจากแซราโทกราสบริงก์ นิวยอร์ก นามว่าโซโลมอน นอร์ธัพ ผู้มีชีวิตเป็นเสรีชน เขาถูกลักพาตัวไปขายเป็นทาสให้นายจ้างจอมโหดทางใต้ของอเมริกา ถูกกดขี่ให้ทำงานในไร่ฝ้ายอยู่ถึง 12 ปี กว่าจะสามารถติดต่อกับครอบครัวจนได้รับอิสรภาพกลับคืนมา และเขาได้นำอัตชีวประวัติของเขาออกตีพิมพ์เป็นหนังสือชื่อเดียวกับเรื่องคือ Twelve Years a Slave ถ่ายทอดเรื่องราวระหว่างที่เขาถูกลิดรอนเสรีภาพ ออกมาขายเมื่อปี 1853 และใช้เวลากว่า 160 ปี กว่าบทบันทึกของเรื่องราวนี้จะถึงมือของผู้กำกับที่ชื่อ สตีฟ แม็คควีน (ผู้กำกับ Shame) ที่กำลังหาพล็อตว่าด้วยคนถูกยัดเยียดสถานะความเป็นทาส แบบเดียวกับที่เกิดเหตุการณ์ขึ้นจริงกับโซโลมอน นอร์ธัพ “ผมอยากเล่าเรื่องของทาส เลยคิดถึงพล็อตที่ให้ชายผู้เป็นอิสระเสรีชน ถูกลักพาตัวไปเป็นทาส เพราะผมอยากให้คนดู ตามติดเขาเข้าสู่เรื่องราวและกลายเป็นคนๆ นั้นจริงๆ” ผู้กำกับจากแดนผู้ดีเผย “ผมวางบทกับจอห์น ริดลีย์ มันออกมาดีมากแต่ก็ต้องใช้เวลาพอสมควร ภรรยาผมเลยเสนอว่า ทำไมไม่มองหาเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงหล่ะ” เธอเป็นนักประวัติศาสตร์ เราก็เลยลองค้นคว้าหาข้อมูลกัน จนเธอไปได้หนังสือชื่อ Twelve Years a Slave มาให้ ผมมือสั่นเลย หนังสือทุกๆ หน้ามันเผยความจริงออกมาทั้งหมด” จากเรื่องราวสุดสะเทือนใจที่พบว่าไม่ค่อยเป็นที่รู้จักกันนัก แม็คควีนยิ่งเหมือนมีแรงฮึดให้เดินหน้าถ่ายทำหนังท่ามกลางไอร้อนแผดเผา ที่หลุยส์เซียน่า โดยให้ ชีวิเทล เอจิโอฟอร์(แสดงใน American Gangster) มารับบทนอร์ธัพ ที่ทุ่มเทกรำงานหนักจนถึงขั้นได้รับบาดเจ็บระหว่างถ่ายทำในฉากในไร่ ร่วมด้วยไมเคิล ฟาสส์เบนเดอร์ ในบทนายทาสใจโหด แบรด พิตต์รับบทสมทบเล็กๆ เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบตช์ รับบทนักบวชแบบติสท์ และพอล เกียแมตติ ในบทพ่อค้าทาส “ตัวหนังค่อนข้างน่ากลัวนะ มันสยดสยองในตัวของมันเอง มีฉากทรมานจิตใจในตลาดค้าทาส ที่เผยรายละเอียดให้เห็นวิธีที่พ่อค้าจัดการกับเขา” เกียแมตติพูดถึงฉากหลังในศตวรรษที่ 19 ที่สะท้อนถึงความทุกข์ทรมานจากความแตกต่างของสีผิวอย่างสมจริงสมจัง ขณะที่ชิวีเทล นักแสดงอังกฤษเชื้อสายไนจีเรีย ก็เผยว่านับถือในความทุกข์ยากของนอร์ธัพไม่น้อย “ก่อนมาถ่ายทำเรื่องนี้ ผมเพิ่งเสร็จจากการถ่าย Half of a Yellow Sun ทางตอนใต้ของไนจีเรีย ช่วงวันท้ายๆ เราอยู่กันแถวๆ ปราสาททาสในคาลาบาร์ ซึ่งเป็นที่ที่เรือออกจากท่า พาคนแอฟริกันไปเป็นทาสที่หลุยส์เซียน่า อีก 2 วันต่อมา ผมก็ต้องนั่งเครื่องบินผ่านจุดนั้นอีก มันทำให้ผมติดใจว่าเรื่องราวเหล่านี้เป็นประสบการณ์ของคนผิวสี และโซโลมอนก็เป็นส่วนหนึ่งของเผ่าพันธุ์ของผมด้วยเช่นกัน

รางวัลที่ได้รับมาแล้วของหนังเรื่องนี้คือ

-ผู้กำกับ,บทดัดแปลง,ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม,ภ.ยอดเยี่ยมแห่งปี ของสมาคมนักวิจารณ์ภ.แอฟริกันอเมริกัน

-ติด 1 ใน10ภ.ยอดเยี่ยมแห่งปี ของสถาบันภ.อเมริกัน

-นักแสดงนำชาย,นักแสดงสมทบหญิง,บทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม จากสมาคมนักวิจารณ์ภ.ออสติน

-ภ.ยอดเยี่ยม,ผู้กำกับ,บท,นักแสดงนำชาย,นักแสดงสมทบหญิง,ทีมนักแสดง จากวัฏจักรนักวิจารณ์ภาพยนตร์ของคนผิวสี

-นักแสดงยอดเยี่ยม,นักแสดงสมทบหญิง,บทภ.ดัดแปลง จากสมาคมนักวิจารณ์ภ.โทรทัศน์อเมริกัน

-10 หนังเยี่ยม,ภาพยนตร์,ผู้กำกับ,นักแสดงนำชาย,นักแสดงสมทบหญิง,เพลงประกอบ,การตัดต่อ,ทีมนักแสดงยอดเยี่ยม จากสมาคมนักวิจารณ์ภ.บอสตันออนไลน์,และนักวิจารณ์สังคมบอสตัน

-ภาพยนตร์,ผู้กำกับ,นักแสดงนำชาย,นักแสดงสมทบหญิง,นักแสดงสมทบชาย,บทดัดแปลง จากวัฏจักรนักวิจารณ์ภาพยนตร์แห่งฟลอริด้า

Etc.



American Hustle (อเมริกันสรรเลว เอ๊ย....ไม่ใช่ โกงกระฉ่อนโลก)

บทหนังเรื่องนี้เคยชื่อ American Bullshit ของเอริก วอร์เรน ซิงเกอร์ (ผู้เขียน International,2009) เคยติดอยู่ในอันดับที่ 8 ในบัญชีดำ ของรายชื่อบทภาพยนตร์ที่ดีที่สุดที่ยังไม่ถูกสร้างเป็นหนัง เค้าโครงดัดแปลงมาจากเรื่องจริง กรณีปฏิบัติการลับ Abscam สุดอื้อฉาวของเอฟบีไอในช่วงปลายทศวรรษที่70 จนถึงต้นทศวรรษที่ 80 ในหนังคริสเตียน เบล รับบทเป็นเออร์วิง โรเซนเฟลด์ มิจฉาชีพตัวพ่อ (ที่ว่ากันว่าเป็นตัวละครที่มีพื้นฐานมาจาก เมลวิน เวน์เบิร์ก นักต้มตุ๋นตัวจริง ผู้เป็นหัวหอกในปฏิบัติการ Abscam) มาพร้อมกับ ซิดนีย์ พรอสเซอร์ (เอมี อดัมส์) คู่หูและชู้รักสาวสุดเซ็กซี่สะท้านอารมณ์ของเขา เขาทั้งคู่ถูกบังคับจากเจ้าหน้าที่เอฟบีไอที่ชื่อริชชี่ ดิมาโช (แบรดลีย์ คูเปอร์) ให้มาช่วยวางแผนจัดฉากตลบหลังมาเฟียและนักการเมืองฉ้อฉล โดยในไม่ช้าพวกเขาก็เริ่มดำดิ่งสู่วงการคอร์รัปชั่นที่ทั้งมีเสน่ห์ยั่วยวน แต่ขณะเดียวกันกลับลวงล่อให้พวกเขาต้องเสี่ยงต่อการติดกับเสียเอง โดยหนังยังมีเจเรมี เรนเนอร์ ในบทคาร์ไมน์ โพลิโท นักการเมืองผู้ทะเยอทะยานและคาดเดายากที่ตกเป็นเหยื่อของแผนลวงดังกล่าว รวมทังเจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ ในบท โรชาลีน ภรรยาของเออร์วิง ทีสุดจะหุนหันพลันแล่นและสามารถทำให้แผนทั้งมวลพังทลายลงได้โดยง่าย แรกเริ่มเดิมที เบน เอ็ฟเฟล็ค ถูกคาดหมายให้มากำกับเรื่องนี้ ทว่าเมื่อโปรเจ็คท์ตกมาอยู่ในความรับผิดชอบของเดวิด โอ รัสเซลล์ ซึ่งกำลังมือขึ้น เขาก็ไม่รอช้า สั่งรื้อบทใหม่เสียเลย! “ผมคิดว่าเอริกเขียนบทไว้ดี แต่ผมมันผู้กำกับยอดนักเขียน จึงต้องทำอะไรตามแบบของตัวเอง เล่าเรื่องด้วยวิธีของตัวเอง ผมก็เลยลื้อเขียนใหม่ ตั้งแต่หน้าแรกโดยเปลียนวิธีเข้าหาเนื้อเรื่องใหม่ซะ เพราะผมไม่อยากทำหนังที่เน้นเล่า “เหตุการณ์” ผมสนใจจะมองเข้าไปในตัวบุคคลที่มาพร้อมกับอารมณ์ ชีวิต เซ็กซ์ เรื่องรักโรแมนติก เสื้อผ้าอาภรณ์ ชีวิตสังคม มากกว่า แล้วค่อยผูกโยงเหตุการณ์ทั้งหลายเข้ามา กระตุ้นให้ตัวละครขยับเขยื้อนเรื่องราวไปเพื่อแสดงให้เห็นการปะทุพลุ่งพล่านทางอารมณ์และการปฏิสัมพันธ์กันของพวกเขา” (หรือสรุปง่ายๆดังที่รัสเซลล์ พูดเองว่า บทหนังเดิมของซิงเกอร์เป็นประเภทที่ขับเคลื่อนด้วยเหตุการณ์ แต่ตัวของเขาอยากทำหนังที่ ขับเคลื่อนด้วยตัวละครจริงๆ)

“งานของผมคือทำให้คนดูรักตัวละครเหล่านี้ให้ได้ แม้พวกเขาจะชั่วช้าด่างพร้อย แต่เมื่อคุณเข้าใกล้ก็จะมองเห็นได้ถึงแง่มุมที่เป็นมนุษย์และไม่ยากที่จะหลงรักตัวละครเหล่านั้น” รัสเซลล์กล่าว ความสามารถในการสร้างตัวละครและการกำกับนักแสดงของเขาอาจารันตีได้จากการที่ The Fighter และ Silver Linings Playbook เข้าชิงออสการ์สาขาการแสดงรวมถึง 7ตัว และคว้ามาได้ 3ตัว (คริสเตียน เบล, เมลิสซา ลีโอ จากThe Fighter และเจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ จาก Silver Linings Playbook)

ABSCAM มาจากการย่อคำ 2 คำเข้าด้วยกัน นั่นคือ Abdul และ Scam ซึ่งแปลความได้ง่ายๆว่าแผนของอับดุล มีที่มาจาก Abdul Enterprises,Ltd. ชื่อบริษัทปลอมๆ ที่สำนักงานสืบสวนกลางสหรัฐ หรือ FBI ใช้เป็นฉากบังหน้าใน “ปฏิบัติการล่อลวง” (Sting Operation –ปฏิบัติการที่ออกแบบหรือสร้างสถานการณ์สมมติขึ้นเพื่อล่อให้ผู้กระทำผิดติดกับและเข้าจับกุมด้วยหลักฐานขณะกำลังประกอบอาชญากรรม) เดิมทีใช้เป็นเป้าหมายเพื่อจับพวกลักลอลค้าของโจร ก่อนจะขยายไปสู่การคอร์รัปชั่นของเจ้าหน้าที่ของรัฐและนักการเมืองในเวลาต่อมา

ตัวหนังเล่าเรื่อง ในปี 1978 เมื่อ FBI ดึงตัวเมลวิน เวนเบิร์ก นักต้มตุ๋นมือเก๋ามืออาชีพซึ่งถูกจำคุกอยู่ให้มาช่วยงานในปฏิบัติการที่มีชื่อรหัสว่า abscam นี้ แผนก็คือให้เจ้าหน้าที่ FBI คนหนึ่งปลอมตัวเป็นคาริม อับดุล ราห์มาน ท่านชีคเก๊ๆ จากตะวันออกกลาง พร้อมจัดฉากการพบปะ(ล่อซื้อ)ระหว่างท่านชีคกำมะลอกับ เป้าหมาย ซึ่งก็คือบรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่มีพฤติกรรมขี้ฉ้อที่ยินดีรับสินบนจากท่านชีคกระเป๋าหนักแลกกับการอำนวยความสะดวกด้านกฏหมายต่างๆ เช่น การลี้ภัยทางการเมือง,ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ หรือเคลื่อนย้ายเงินทุนข้ามประเทศ โดยบันทึกเทปการพบปะแต่ละครั้งเอาไว้เป็นหลักฐาน เมื่อเจอหลักฐาน คาหนังคาเขาเช่นนี้ บรรดาโจรใส่สูทปากแข็งทั้งหลายจึงดิ้นไม่หลุด นำไปสู่การจับกุมนักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐยุคนั้นได้หลายคน เช่น วุฒิสมาชิก แฮร์ริสัน เอ.วิลเลี่ยมส์ (เดโมแครต – นิวเจอร์ซีส์) ,สมาชิกสภาผู้แทนฯ จอห์น เจนเรทท์ (เดโมแครต –เซาส์แคโรไลน่า เขต 6) ,ริชาร์ด เคลลี่ (ริพับลิกัน-ฟลอริด้า เขต 5) ,เรย์มอนด์ เลเดอเรอ (เดโมแครต –เพนน์ซิลเวเนีย เขต 3) ,ไมเคิล ออสซี่ ไมเออร์ส (เดโมแคนต-เพนน์ซิลเวเนีย เขต 1) ,แฟรงค์ ธอมป์สัน (เดโมแครต-นิวเจอร์ซีส์ เขต 4) และ จอห์น เอ็ม เมอร์ฟี่ (เดโมแครต-นิวยอร์ก เขต 17) ยังไม่นับรวมนักการเมืองท้องถิ่นในรัฐนิวเจอร์ซีย์ ฟิลาเดลเฟียและเจ้าหน้าที่ของรัฐอื่นๆอีกหลายคน เป็นต้น

รางวัลที่ได้รับมาแล้วของหนังเรื่องนี้คือ

-บทดั้งเดิมและนักแสดงสมทบหญิงจากสถาบัน AACTA Inter Award

-สาขาการดัดแปลงบทภ.ตลกและมิวสิคัลยอดเยี่ยมจากสมาคมนักเขียนอเมริกัน

-ติด1ใน10ภ.ยอดเยี่ยมแห่งปี ของอเมริกันจากสถาบันภ.อเมริกัน

-ทีมนักแสดง,ภ.ตลก,นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมและแต่งหน้ายอดเยี่ยมจากสภาการนักวิจารณ์ภ.โทรทัศน์อเมริกัน

-นักแสดงสมทบหญิงและบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยมจากสมาคมนักวิจารณ์ภ.แห่งเดนเวอร์

-ทีมนักแสดงยอดเยี่ยมจากสมาคมนักวิจารณ์ภ.แห่งดีทรอยต์

-นักแสดงนำหญิง,สมทบหญิงยอดเยี่ยม,ภ.เพลงและตลกยอดเยี่ยม รางวัลลูกโลกทองคำ

Etc.

ไม่ว่าเรื่องใดใน 2 เรื่องนี้ได้รับรางวัลในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมก็ถือว่าสมศักดิ์ศรีด้วยกันทั้งคู่ หรือจะเป็นเรื่องอื่นๆ ใน 5 เรื่องที่เก็งกันไว้ หรือใน 9 เรื่องที่เข้าชิง ต้องถือว่าเป็นภาพยนตร์ที่ดี ที่น่าดูทั้งสิ้น เนื้อหาสามารถสอนบทเรียนชีวิต สะท้อนคุณค่าความเป็นมนุษย์ และสะท้อนภาพจริงของสังคมมนุษย์โลกทั้งในอดีตและปัจจุบันรวมถึงอนาคตได้ด้วย ทุกๆปีผู้เขียนจึงไม่ค่อยพลาดที่จะติดตามผลรางวัลออสการ์ที่ยังคงมีมนต์ขลังและสะท้อนมุมมองหลักของคนทำหนังในโลกภาพยนตร์และคนดูได้เป็นอย่างดี

พิภพราชา ภาค2 (ตอน15-16)

                                                            







 
 

 

 

พิภพราชา ภาค2 (ตอน13-14)


             

พิภพราชา ภาค2 (ตอน11-12)

 



 


พิภพราชา ภาค2 (ตอน 9-10)





วันจันทร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ประกาศผลรางวัล "อ๊อดกล้า" ของสมาคมลิเกการเมืองไทย

สมาคมลิเกการเมืองไทย (Traditional Dramatic Performance of Thai Politic Association) ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มการมอบรางวัลและประกาศผลรางวัลอันทรงเกียรติ มีคุณค่าสำหรับผู้ที่มีผลงานอยู่ในแวดวงการเมืองไทยตลอดระยะเวลา 1 ปี (พิจารณาในช่วงปี 2556) ซึ่งการมอบรางวัลและประกาศผล ตลอดจนการจัดงานได้จัดทำขึ้น ปีนี้เป็นปีที่ 3 แล้ว ณ เดธโน้ตเธียเตอร์ สุสานป่าช้าสีลม มีการปูพรมดำทางเดินสู่หอเกียรติยศ ซึ่งในงานก็จะมีการแจกสูติบัตร โทฟี่ สดุดีวีรกรรม ผลงาน อันทรงคุณค่า และยกย่องตัวบุคคล ที่ได้สร้างผลงานอันยอดเยี่ยมเอาไว้ในแต่ละสาขา ซึ่งได้มีการแยกประเภทของสาขาออกเป็น 11 สาขารางวัล โดยขั้นตอนต่างๆ นั้นจะเริ่มจากการเสนอชื่อผู้เข้าชิงในแต่ละหมวด โดยสมาชิกผู้ทรงเกียรติของสมาคมจำนวน 5,000 ท่าน และคณะกรรมการผู้มีความเชียวชาญในแต่ละหมวดสาขาเป็นผู้พิจารณาประกอบรายชื่อต่างๆ จากนั้นจึงคัดเลือกรายชื่อผู้ถูกเสนอชื่อเข้าชิง ให้เหลือจำนวนหนึ่งที่มีความโดดเด่นจริงๆ เป็นรายชื่อสุดท้าย และแล้วการประกาศผลและมอบรางวัลก็ได้มีการจัดขึ้้นไปเรียบร้อยแล้ว และผลการประกาศรางวัลในปีนี้ มีดังนี้



1.ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ภ.เรื่อง กำนันปราบปูแสบ สุดแสนสิริ (กปปส.) โดย ราชดำเนิน พิกเจอร์


2.นักแสดงนำฝ่ายชายยอดเยี่ยม ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ จาก ภ.เรื่อง กำนันปราบปูแสบ สุดแสนสิริ (กปปส.)

3.นักแสดงนำฝ่ายหญิงยอดเยี่ยม ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศได้แก่ นางยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จาก ภ.เรื่อง สปอยด์แอนด์สติวปิ๊ด เลดี้

4.นักแสดงสมทบฝ่ายชายยอดเยี่ยม ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ จาก ภ.เรื่อง เพื่อน (สรยุทธ์) กูรักมึงหว่ะ

5.นักแสดงสมทบฝ่ายหญิงยอดเยี่ยม ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล จาก ภ.เรื่อง เลือดขัดดอก เดอะดราม่าติคัล

6.ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ พตท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร จาก ภ.เรื่อง คลิปถั่งเช่า เราสองสามคน

7.สาขาบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ภ.เรื่อง คลิปถั่งเช่า เราสองสามคน โดย สหบาทาฟิมล์

8.สาขาบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ภ.เรื่อง กำนันปราบปูแสบ สุดแสนสิริ (กปปส.) โดย ราชดำเนิน พิกเจอร์

9.สาขาเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ เพลงโง่งมงาย ศิลปิน นูโว เพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง พรบ.นิรโทษกรรม ต้องตาย



10.สาขาการลำดับภาพและตัดต่อ (เทคนิคพิเศษ) ยอดเยี่ยม ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ภ.เรื่อง คืนบาปร้านครัวกระแต สะพานควาย โดย ฟิมล์อาร์คิเทคเจอร์

11.สาขาภาพยนตร์แอนิเมชั่นยอดเยี่ยม ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ภ.เรื่อง The Sniper ไอ้ปื้ดอยู่บนดาดฟ้า ก.แรงงาน โดย ฟิมล์บางบอน




และสาขารางวัลพิเศษ Lifetime Achivement Award ซึ่งเป็นรางวัลพิเศษ ที่ถูกคัดเลือกโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิกิติมศักดิ์อาวุโส โดยไม่ผ่านการเสนอชื่อโดยสมาชิก หรือการโหวดจากสมาชิก แต่ได้รับการเห็นชอบร่วมกันเป็นเอกฉันท์จากคณะกรรมผู้ทรงคุณวุฒิกิติมศักดิ์อาวุโส จำนวน 11 ท่าน เพื่อมอบรางวัลให้แก่องค์กร หรือสถาบันที่มีส่วนในการส่งเสริมภาพลักษณ์อันดีเด่นให้กับวงการนักการเมืองไทย และสอดคล้องกับแนวคิดของสมาคมลิเกการเมืองไทย โดยพิจารณาจากองค์กรที่มีผลงานโดดเด่นในรอบปีที่ผ่านมา จึงขอมอบรางวัลนี้ให้กับ นสพ.มติชน,นสพ.ข่าวสด และมติชนออนไลน์ และสื่อในเครือมติชน

และนี่เป็นภาพปกบางส่วนของสื่อเครือมติชน ที่มีความเที่ยงตรง น่าเชื่อถือ ปราศจากอคติ ยอดขายดีตามแผงหนังสือโดยทั่วไป จนได้รับการยอมรับเป็นอย่างมากแห่งยุค