วันเสาร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

การลาออกของขุนพลเพลงจากอาณาจักรแกรมมี่

ถามว่าเป็นเรื่องที่น่าตกอกตกใจอะไรหรือแปลกใจอะไรหรือไม่ ก็ตอบได้ว่าไม่เห็นแปลก เป็นเรื่องที่เข้าใจได้อยู่แล้ว ก่อนหน้านั้นก็มีการย้ายเข้า ย้ายออกของบรรดาโปรดิวเซอร์หรือนักแต่งเพลง รวมถึงศิลปินในสังกัดแกรมมี่อยู่แล้วเป็นเรื่องปกติ จนแทบจะนับไม่ถ้วนอยู่แล้ว แต่หนนี้เป็นเรื่องดัง สะเทือนเลื่อนลั่นช็อกวงการกันไป ก็เพราะการลาออกครั้งนี้เป็นในระดับหัวกะทิทั้งสิ้น และเป็นรุ่นบุกเบิกก่อตั้งแกรมมี่มาด้วยกันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น อนุวัฒน์ สืบสุวรรณ นิติพงษ์ ห่อนาค อัสนี-วสันต์ โชติกุล ส่วนฟากศิลปิน ก็ระดับแม่เหล็กอย่าง เสก โลโซ มาช่า วัฒนพานิช ทีนี้ในฐานะผู้เขียนบล็อกเป็นถึงแฟนพันธุ์แท้แกรมมี่มานับตั้งแต่ยุคก่อตั้ง ผู้เขียนจึงมีมุมมองต่อเรื่องนี้ต่างจากคนทั่วไปดังนี้

ก่อนอื่นขอแยกประเด็นออกเป็น 3 ส่วนด้วยกัน คือมุมมองต่อเรื่องนี้ที่มองไปยังค่ายเพลงหรือตัวธุรกิจ (บริษัทบันเทิงมหาชน) มุมมองต่อเรื่องนี้ที่มองในฐานะแฟนเพลงคนหนึ่งต่ออุตสาหกรรมเพลง และสุดท้ายมุมมองต่อเรื่องนี้ที่มองไปยังตัวศิลปินหรือผู้ทำงานเบื้องหลังศิลปินต่ออุตสาหกรรมเพลง ซึ่งบทวิเคราะห์ก็จะแตกต่างกัน ซึ่งผู้อ่านจะได้นำไปชั่งน้ำหนักในแต่ละมุมมองแล้วสรุปเป็นผลึกความคิดรวบยอด ซึ่งจะทำให้ผลึกความคิดของท่านผู้อ่านแตกฉานต่อปรากฏการณ์หรือเหตุการณ์ในวงการเพลงในขณะนี้ได้อย่างเฉียบคม รอบด้าน



มุมมองของข้าพเจ้า(ผู้เขียน) ที่มองมายังค่ายเพลง หรือธุรกิจบริษัทสื่อบันเทิงอย่างแกรมมี่ และอุตสาหกรรมเพลงไทย



จริงๆ ข้าพเจ้าได้เคยวิเคราะห์ไปบางส่วนแล้วในบทความที่ชื่อว่า “ปัดฝุ่นตู้เพลงในดวงใจ” ซึ่งเป็นบทความแรกของบล็อกนี้ เมื่อเดือนมิถุนายน ถึงมุมมองที่มีต่ออุตสาหกรรมเพลงไทยในบ้านเราว่ามาถึงยุคเปลี่ยนผ่าน ครั้งสำคัญอีกครั้งนึง ก่อนหน้านี้ ถ้ายังจำกันได้ วงการเพลงถ้านับกันจริงๆ ก็ถือว่าเพิ่งจะมาเรียกกันว่าวงการเพลงก็เมื่อ 50-60 ปีมานี้เอง ยุคแรกเป็นเพลงไทยเดิม เพลงพื้นบ้าน และพัฒนามาเป็นเพลงสุนทราภรณ์ ยุค 2 เป็นเพลงเพื่อชีวิตกับเพลงลูกทุ่ง ภายหลังมาแยกกันชัดเจน และลูกทุ่งดูจะมีวิวัฒนาการที่ต่อเนื่องและชัดเจนกว่า ยุค 3 เป็นยุคเพลงลูกกรุง และเพลงไทยสากล (ยุคนี้ถือว่าเริ่มจะมีห้องบันทึกเสียง มีระบบค่ายเพลงแบบหลวมๆ แล้ว) ยุค 4 เป็นยุคเพลงสตริงคอมโบ้ ชาโดว์ และฟอร์มตัวเป็นวงดนตรีมากมาย (ยุคนี้ก่อกำเนิดค่ายเพลงแรกๆ คือนิธิทัศน์ อามีโก้ โรต้า อาร์เอส รถไฟดนตรี) ยุค 5 เป็นยุคทองของวงการดนตรีไทยเรียกว่ายุคเพลงป็อป (ยุคนี้ถือกำเนิดค่ายเพลงยักษ์ใหญ่อย่างแกรมมี่ คีตา มาจนถึงเบเกอรี่มิวสิค) และปัจจุบันวงการเพลงไทยยังอยู่ในยุคนี้แหละ และกำลังก้าวผ่านไปเป็นยุคใหม่ ที่ผมยังไม่ได้ตั้งชื่อว่าเป็นยุคอะไร แต่ดนตรีมีความหลากหลายมากขึ้น กลุ่มผู้ฟังก็มีรสนิยมฟังเพลงหลากหลายมากขึ้น พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีด้วย ยุคนี้ไม่ได้เปิดแผ่นเสียงฟังกัน ไม่ได้เปิดเทปคาสเซ็ทแล้ว ไม่ค่อยได้ซื้อ cd ฟังกันแล้ว ใช้ดาวน์โหลดเพลงกันทางอินเตอร์เน็ต หรือทางโทรศัพท์มือถือฟังกันมากกว่า แม้กระทั่งเครื่องเล่นซีดีวอล์คแมนก็ดูเชยไปเสียแล้ว เพราะเขาฟังผ่านทาง i-pod i-phone หรือ i-pad แล้ว ดังนั้นในเมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป รวมถึงความหลากหลายของรสนิยมการฟังและแนวเพลงมีมากขึ้น ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น และมีความบันเทิงมากมายที่มาแย่งความสนใจเขาไปได้หลายทาง ทั้งภาพยนตร์ เกมส์ คลิปวีดีโอ เพลง หนังสือ เรียลลิตี้โชว์ ฯลฯ ทำให้ผู้ผลิตสื่อเองก็จำเป็นต้องปรับตัวตามให้ทัน หาไม่แล้วก็จะต้องล้มหายตายจากไปแบบล้มทั้งยืน ซึ่งเห็นกันมามากแล้ว ขนาดวงการเพลงในยุคก่อนหน้านี้ที่เทคโนโลยียังไม่ก้าวล้ำนำสมัยเท่าปัจจุบัน เรายังได้เห็นค่ายเพลงล้มหายตายจากไปแบบเงียบๆ มากมายเลย แล้วยุคนี้จะเหลือรอดได้มันต้องเก่งจริงๆ ทั้งทางด้านทุน บุคลากร วิสัยทัศน์ การบริหารจัดการ รวมถึงตัวศิลปินเองด้วย ปรากฎการณ์ที่พี่ดี้ลาออกจากแกรมมี่ รวมถึงศิลปินท่านอื่นๆ ทั้งที่อยู่เบื้องหน้าและเบื้องหลังดังๆ ตบเท้ากันลาออกจากชายคาแกรมมี่ ซึ่งก็เป็นที่ที่ให้เขาได้แจ้งเกิดด้วยเช่นกัน ในมุมมองของผู้เขียนจึงเป็นเรื่องสัจจธรรม(อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) ของชีวิตมากกว่าเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ มนุษย์มักจะดิ้นรน เสาะแสวงหาสิ่งที่ดีกว่าอยู่เรื่อยไป ตราบเท่าที่ชีวิตยังมีลมหายใจอยู่ นี่ไม่ใช่เป็นการกระแนะกระแหนกันนะครับ เพราะโดยส่วนตัวแล้วนิยมชมชอบทั้งตัวพี่ดี้ และศิลปินที่ได้เอ่ยนามมาแล้วทุกท่านจริงๆ (ลองไปอ่านบทความที่ชื่อ “ปัดฝุ่นตู้เพลงในดวงใจ” ของข้าพเจ้าดูแล้วจะทราบ) แต่อย่างที่บอกค่ายเพลงเขาต้องทำทุกอย่างให้เขาอยู่รอดด้วยเช่นกัน ฟังการแถลงข่าวของผู้บริหารหลายคนในแกรมมี่แล้วก็เข้าใจว่าปัจจุบันธุรกิจเพลงเพียงอย่างเดียวไม่สามารถสร้างรายได้ให้กับองค์กรในระดับที่จะให้องค์กรอยู่รอดได้แล้ว มันหมดสมัยแล้วที่จะมานั่งขายซีดีเพลง ดีวีดี หรือเทปคาสเซ็ท เพราะรายได้จากทางนี้แทบไม่เห็นเม็ดเงินกันอีกแล้ว ลำพังรายได้จากยอดดาวน์โหลดก็ไม่ใช่ว่าจะดีนัก เพราะจะดีเป็นบางเพลงกับบางศิลปินเท่านั้น นั่นแสดงว่า ผู้บริโภคไม่นิยมหรือยินยอมที่จะเสียตังค์ได้โดยง่าย เพื่อเสพงานห่วยๆ แบบสุกเอาเผากิน แบบเหมือนเมื่อสมัยก่อนกันอีกแล้ว ไม่ใช่เพราะผู้บริโภคยุคนี้ฉลาดขึ้นหรือมีรสนิยมฟังเพลงดีขึ้น แต่เป็นเพราะเทคโนโลยีได้ทลายข้อจำกัดต่างๆ ที่ในอดีตผู้บริโภคไม่มีอำนาจต่อรองออกไปได้ต่างหาก ทำให้ยุคนี้งานที่ไม่ดีจริง หมดสิทธิ์แจ้งเกิด เพราะไม่มีใครยินยอมจ่ายตังค์ให้คุณแบบง่ายๆอีกแล้ว ค่ายเพลงจึงต้องกระเสือกกระสนไปหารายได้จากทางอื่น เช่น โชว์บิซ การแสดงคอนเสิร์ต การโชว์ตัว การเป็นพรีเซ็นเตอร์สินค้า แสดงภาพยนตร์ ละคร หรือแม้กระทั่งทำทัวร์ต่างประเทศ ผู้แทนจำหน่ายขายสินค้าเครื่องสำอางค์ก็มี ในขณะที่คนที่ทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมเพลงในยุคโบราณอาจจะเคยชินกับการที่ค่ายเพลงง้อ เพราะตัวเองเคยเป็นตัวจักรสำคัญในการผลิตเพลง เป็นผู้เขียนเพลงหรือทำดนตรี ปัจจุบันก็ถูกลดบทบาทลง เพราะเพลงมันไม่สามารถขายได้ยกแพ็คเหมือนสมัยก่อน ขายได้ทีละเพลง และศิลปินคนนึง อาจมีเพลงฮิตไม่กี่เพลงก็ขายได้แล้ว ไม่เหมือนสมัยก่อนที่ต้องออกต่อเนื่องกันหลายอัลบั้ม ในเมื่องานน้อยลง ยอดขายก็ลดลง แล้วรายได้จะไม่ให้ลดตามก็เป็นไปไม่ได้ นี่คือที่มาว่าพนักงานแกรมมี่ถูกลดเงินเดือน หลายส่วนงานถูกจ้างออก และรับคนหน้าใหม่เข้ามาสู่บริษัท เพราะมาสตาร์ทกันที่เงินเดือนใหม่ที่ต้นทุนยังไงก็ต่ำกว่าคนที่อยู่มานาน จ้างเอาไว้นาน แบกภาระต้นทุนคงที่ที่สูงต่อไป นี่คือสัจจธรรมของทุกธุรกิจในโลกนี้แหละ ไม่เฉพาะธุรกิจเพลงหรอก ถามว่าการลาออกของดี้ นิติพงษ์ ห่อนาค พี่อัสนีวสันต์ คุณมาช่า จะกระทบกับแกรมมี่มั๊ย ผมตอบแทนได้เลยว่า บริษัทเขาไม่กระทบอะไรมากมายนักหรอก บริษัทเขามีบุคลากรในระดับเดียวกับคุณพี่ดี้ และคุณพี่อัสนี คุณมาช่าอีกมากมาย คนแต่งเพลงเก่งๆ ในระดับเดียวกับดี้ในค่ายยังมีอีกหลายคนมาก คนดนตรีมีฝีมือในระดับเดียวกับป้อม อัสนี อาจมีไม่เยอะในค่าย แต่เขาสามารถผลิตผลงานที่ออกมาแล้วขายได้ มีคนเก่งๆ แบบนั้นมากกว่าคุณป้อมอัสนี มีเยอะ มีศิลปินสดใหม่ ที่มีคาแรกเตอร์ จุดขายแบบเดียวกับมาช่า หรือเหนือกว่ามาช่า ยังมีอีกมาก และที่กำลังรอเจียระไนอยู่ การลาออกของดี้ และผองเพื่อนบางส่วนที่ออกไปในระยะสั้นจึงยังไม่มีผลกระทบอะไรกับแกรมมี่เลย แต่ในระยะยาวถ้าจะมี ก็น่าจะเกิดจากพฤติกรรมของผู้บริโภคในขณะนั้นจะเปลี่ยนไปขนาดไหน บุคลากรทางดนตรีที่ยังคงอยู่ใต้ชายคาแกรมมี่จะสามารถสร้างสรรค์ผลงานตอบโจทย์แฟนเพลงในอนาคตได้หรือไม่ นั่นแหละจึงจะมาวิเคระห์ได้ว่าการออกไปของบุคลากรหัวกะทิบางส่วนในตอนนี้มีผลหรือไม่อย่างไร แล้วบทบาทนับจากนี้ของดี้นิติพงษ์ และผองเพื่อนจะไปทำอะไร อย่างไร อันนี้ก็ต้องมาดูกันว่า พวกเขาจะเป็นเหมือนอย่างตัน ภาสกรนทีแห่งวงการชาเขียว,ร้านอาหารญี่ปุ่นหรือไม่ ที่ลาออกไปแล้วแต่ก็ยังสร้างโมเมนตัมต่อตลาดได้อีกมากโข สร้างแรงดึงดูดต่อผู้บริโภคได้ต่อไปอีกหรือไม่ อันนั้นค่อยมาว่ากันอีกที



มุมมองต่อเรื่องนี้ที่มองในฐานะแฟนเพลงคนหนึ่งต่ออุตสาหกรรมเพลงไทย



ต้องบอกว่าไม่ได้รู้สึกเสียดายพี่ดี้หรือพี่ป้อมแต่อย่างใด ที่เดินจากอาณาจักรแกรมมี่ไป ไม่ใช่ว่าโกรธหรือเกลียดแต่อย่างใด แต่คิดว่ายุคสมัยมันเปลี่ยนไป คุณค่าความสำคัญของคนเราย่อมแตกต่างและเปลี่ยนแปลงไปได้ อย่าไปยึดติด ในยุคสร้างอาณาจักรแกรมมี่ สมัยที่ยังมีพี่เต๋อ ดูแลบัญชาการค่ายเพลงแกรมมี่อยู่นั้น พี่ดี้ พี่ป้อม พี่โอม รวมถึงอนุวัฒน์ สืบสุวรรณ กลุ่มคนเหล่านี้มีความสำคัญต่อองค์กรมาก และต่ออุตาหกรรมเพลงมากด้วย เพราะยุคนั้นเพลงดีๆ มาจากมันสมองของคนเหล่านี้ทั้งนั้น ผู้เขียนเป็นคนนึงที่เลือกซื้องานอัลบั้มเทปในยุคนั้น โดยดูจากเครดิตปกเทป ถ้ามีรายชื่อบุคคลเหล่านี้ ก็พร้อมจะจ่ายตังค์ซื้อมาฟังได้เลย โดยที่ไม่ต้องทดลองฟังเพลงก่อนเลยด้วยซ้ำ แต่ยุคนี้มันไม่ใช่แล้วไง ยุคนี้เขาไม่ฟังเพลงสไตล์จิ๊กโก๋อกหักแบบพี่ป้อมร้องกันแล้ว เมื่อไม่นานมานี้ผู้เขียนได้มีโอกาสดูคอนเสิร์ตพี่ป้อมทางช่องกรีนชาแนล ยังรู้สึกร้องอี๋เลย คือมันเอียน เพลงพี่ผมร้องได้ทุกเพลงเลยนะ แต่มันเบื่อสไตลนี้แล้ว มากๆ เลย แม้ว่าในยุคนั้นเราอาจฟังแล้วรู้สึกว่าไพเราะ มาก พี่ดี้เขียนเพลงในยุคนั้นดีมากทุกเพลงเลยนะ แต่ยุคนี้ผมว่าภาษาเพลงของพี่มันสู้ หนึ่ง ณรงค์วิทย์ พี่นิ่มสีฟ้า หรืออีกหลายคนในค่ายไม่ได้เลย มันไม่โดนในยุคนี้อ่ะ ผมว่ายุคทองหรือมาสเตอร์พีซ ของพี่มันผ่านไปแล้วอ่ะ จึงทำให้ผลงานในยุคหลังๆ ของพวกพี่มันไม่โดนใจคนยุคนี้ก็แค่นั้น แต่ก็ยังให้กำลังใจพวกพี่ทำงานกันต่อไป แบบมีอิสระ ไม่อยู่ในกฏเกณฑ์ของค่าย จริงๆ ก็เป็นเพียงข้ออ้างของคนไม่รักกันแล้วเท่านั้น เพราะตอนที่พวกพี่อยู่ในค่ายก็แทบจะเป็นเทพเจ้ากันทั้งหมดนั่นแหละ มีใครที่ไหนจะกล้าไปแทรกแซงก้าวก่ายการทำงานของพวกพี่งั้นเหรอ มีแต่แตะเบรกเรื่องงบประมาณเท่านั้น ซึ่งก็เป็นความชอบธรรมของบริษัทเขาอยู่ดี ก็ในเมื่อบริษัทมันไม่ใช่องค์กรการกุศล ทำงานภายใต้การมองดูของนักลงทุนผู้ถือหุ้นอีกส่วนหนึ่งด้วย เขาย่อมจะต้องพยายามทำทุกวิถีทางให้บริษัทมีกำไร และควบคุมค่าใช้จ่ายอยู่ดี อันนี้เป็นกฎธรรมชาติของทุกบริษัทอยู่แล้ว ถ้าการลาออกของกลุ่มพี่ดี้นิติพงษ์ กับผองเพื่อนจะสร้างคุณูปการต่อวงการเพลงไทยก็คงจะเป็นที่พวกพี่ไปรวมตัวกันสร้างงานเพลงใหม่ๆ ที่มันไม่ต้องแคร์ต่อแนวทางของกลุ่มทุนว่าต้องเป็นเพลงตลาดตอบโจทย์เฉพาะกลุ่มผู้ฟังที่เป็นแมสมากนัก เพราะยังมีช่องว่างอีกมากในหลายกลุ่มเป้าหมายที่เขาอยากฟังงานเพลงที่มันต่างออกไปจากที่มันมีอยู่ในอุตสาหกรรมเพลงไทย เพลงแจ๊สดีๆ เพลงร็อกหนักๆ ก็ไม่ค่อยได้เห็นมีงานออกมาให้ฟังมากนัก เพลงแด๊นซ์จังหวะดิสโก้แบบยุค 80 ก็ไม่ค่อยมีให้ฟังในยุคนี้ นี่คือตัวอย่างของงานเพลงที่เป็นช่องว่างอีกมาก ที่สามารถนำเสนอได้หากหลุดกรอบจากการทำงานในระบบค่ายเพลง ผมได้แต่หวังว่าการลาออกของพวกพี่จะทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ของประเทศได้บริโภคงานเพลงดีๆ นับจากนี้ไป อย่างน้อยก็เป็นอีกทางเลือกนึงที่ไม่จำเจ และตายซาก เหมือนทุกวันนี้



มุมมองต่อเรื่องนี้ที่มองไปยังตัวศิลปินหรือผู้ทำงานเบื้องหลังศิลปินต่ออุตสาหกรรมเพลงไทย



คุณค่าของศิลปินในยุคนี้มันเป็นเพียงแค่สินค้าที่ค่ายเพลงจะเป็นผู้เจียระไนว่าจะให้เป็นอะไร มีคาแรกเตอร์แบบไหน มีจุดขายแบบไหน เพราะศิลปินจะไม่มีความเป็นตัวของตัวเองซักเท่าไหร่ ซึ่งแตกต่างจากศิลปินของต่างประเทศ และศิลปินในอดีต เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะระบบค่ายเพลงเข้ามามีบทบาทกำหนดทุกอย่างของงานเพลง ตั้งแต่คอนเซ็ปท์อัลบั้ม โปรดิวเซอร์ คนแต่งเพลง ผู้เรียบเรียงเสียงประสาน ผู้บันทึกเสียง คนทำมิวสิควีดีโอ สไตล์ลิสต์ศิลปิน คนดูแลศิลปิน เจ้าของค่าย เจ้าของสถานีเพลง สถานีช่องเคเบิ้ลทีวี ผู้จัดคอนเสิร์ต เป็นต้น ซึ่งศิลปินจะต้องเดินไปตามครรลองที่มีผู้กำหนดคาแรกเตอร์ และคอนเซ็ปท์ไว้หมดแล้ว การจะขยับเขยื้อน หรือฉีกกฎ แหกคอก ออกไอเดียในการวางตัวที่มีความเป็นตัวของตัวเอง ย่อมทำไม่ได้ง่ายนัก ถ้าเป็นศิลปินไทย ยกเว้นไม่มีสังกัดค่ายใหญ่ แต่ถ้าเป็นศิลปินจากต่างประเทศอย่างอเมริกา หรือยุโรป จะมีความเป็นอิสระมากกว่านี้ แต่ก็ต้องแลกกับความสามารถอย่างสูงมาก และการทำงานแบบมืออาชีพ และทุ่มสุดตัว ที่ตัวศิลปินจะต้องมีอยู่ในสายเลือด เพราะนั่นต้องเป็นของแท้ ตัวจริงมาจากตัวคุณจริงๆ ไม่ใช่เกิดจากสร้างสรรค์ปั้นแต่งของค่ายเพลง เราจึงเห็นศิลปินคนไทยไปโกอินเตอร์ได้น้อยมาก เพราะที่มันมีอยู่นั้นส่วนใหญ่ของเก๊ และไม่ใช่มืออาชีพอย่างแท้จริง ความสามารถก็ยังไม่สามารถเทียบชั้นต่างประเทศได้ ปรากฎการณ์การลาออกของพี่ดี้ นิติพงษ์และผองเพื่อน ส่วนหนึ่งผมคงต้องขอให้เครดิตและปรบมือให้ด้วยใจจริง เพราะอย่างน้อยผมก็เป็นอีกคนหนึ่งที่สนับสนุนการทำงานของศิลปินอิสระที่อยู่นอกกรอบการทำงานของระบบค่ายเพลง แม้ว่ายุคนึงระบบค่ายเพลงมันเวิร์คมาก เช่น ยุคแกรมมี่ตอนต้น ยุคคีตา ยุคเบเกอรี่มิวสิค แต่เมื่อวันเวลาผ่านไปซักระยะนึง จะพบว่าค่ายเพลงจะไม่ยอมพัฒนางานเพลงของตัวเองให้ดีขึ้น มักใช้มุกเดิมๆ หากินกับสูตรเดิมๆ หรือขายของเก่ากิน มันเป็นอย่างนี้ทุกค่ายเลย จึงทำให้ระบบค่ายเพลงมันเสื่อมลง ไม่เชื่อลองย้อนกลับไปอ่านบทความ “ปัดฝุ่นตู้เพลงในดวงใจ” ก็จะทราบว่า ทำไมช่วงต้นๆ หรือกลางๆ ของทุกค่ายเพลงจะเป็นช่วงที่มีงานเพลงที่ดีที่สุดของทุกค่ายเพลงเลย หลังจากนั้นงานก็จะเริ่มแป็ก ไม่สดใหม่ หรือมีพัฒนาการไปในทางที่ดีขึ้น ยุคนี้ศิลปินอิสระอาจต้องเหนื่อยเป็นหลายเท่ามากกว่าศิลปินอิสระในยุคก่อนๆ เพราะคุณต้องใช้สรรพกำลัง หรือกำลังภายในสูงหน่อยจึงจะสร้างโมเมนตัมให้ผู้คนหรือผู้บริโภคมาสนใจงานของคุณได้ เพราะตัวเลือกหรือสื่อบันเทิงมันมีมากมายเสียเหลือเกินกว่ายุคก่อน แต่ข้อดีก็คือยุคนี้คุณสามารถนำเสนองานของคุณผ่านสื่อ ช่องทางได้หลากหลายแบบไม่ต้องลงทุนด้วยงบประมาณที่สูงเหมือนค่ายเพลงใหญ่ก็สามารถแจ้งเกิดผลงานของคุณได้แล้ว เช่น ผ่านช่องทาง social network , internet tv , cable tv ซึ่งสื่อเหล่านี้สามารถโปรโมตได้ฟรีไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายมากนัก ผิดกับในอดีตต้องโปรโมตผ่านทางฟรีทีวี หรือรายการวิทยุ ที่ต้องเป็นศิลปินมีค่ายเท่านั้นจึงจะมีช่องทางแบบนั้นเป็นของตนเอง สรุปก็คือยุคสมัยมันเปลี่ยนไป พฤติกรรมการเสพสื่อก็เปลี่ยนไป ศิลปินในยุคนี้จะผลิตผลงานศิลปะก็ต้องให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของกลุ่มผู้บริโภคด้วย หาไม่แล้วเราก็จะกลายเป็นคนตกยุคไปได้โดยอัตโนมัตินั่นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น