วันพฤหัสบดีที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ท่องโลก (E) ทางความคิดไปกับคีย์เวิร์ดที่ขึ้นต้นจาก A-Z อักษร E


ท่องโลกทางความคิดไปกับคีย์เวิร์ดที่ขึ้นต้นจาก A-Z อักษร E

 

ท่องโลกด้วยอักษรตัว E

Engagement

Encouragement

Endorsement

Embrace

Empowerment

 


Engagement แปลว่า การสู้รบ 

การมีส่วนร่วมทางสังคม (Civic Engagement) โดย วลัยพรรณ เกษทอง

สวัสดีท่านผู้อ่าน เปิดศักราชแห่งปี 2018 หรือ 2561 กันแล้ว บทความแรกของปีนี้ที่อยากจะเขียนให้ท่านผู้อ่านก็คือเรื่องของ การมีส่วนร่วมทางสังคม เพราะไหน ๆ เราก็มาอยู่เมืองลุงแซมซึ่งเป็นประเทศที่ถือเป็นเจ้าพ่อแห่งประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก จะเห็นว่าไม่ว่าทำอะไร ไม่ว่าจะผ่านกฏหมาย สร้างถนน เพิ่มภาษีท้องถิ่น เวนคืนที่ดิน รัฐบาลก็จะต้องมีการเปิดทำประชาพิจารณ์ลงคะแนนเสียงก่อนที่จะทำการตัดสินใจในกิจกรรมนั้น ๆ  เพราะฉะนั้นเมื่อเราอยู่เมืองลุงแซมแล้ว เราก็ควรจะเรียนรู้ถึงกระบวนการมีส่วนร่วมทางสังคมเหล่านี้ให้มาก เพื่อที่เราจะได้ใช้ในการพิทักษ์ผลประโยชน์ของเรานะคะ

การมีส่วนร่วมทางสังคม (Civic engagement หรือ civic participation) หมายถึงการกระทำของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลซึ่งเกิดขึ้นเพื่อมีวัตถุประสงค์ในการจัดการปัญหาหรือสิ่งที่เป็นเรื่องที่สังคมมีความห่วงใย หรืออาจจะหมายถึงการที่ประชาชนในชุมชนทำงานร่วมกันเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในชุมชน การมีส่วนร่วมทางสังคมยังรวมถึงการที่ชุมชนมาทำงานร่วมกันทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเมืองและไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง เป้าหมายโดยรวมคือเพื่อจัดการปัญหาสาธารณะหรือเสริมสร้างคุณภาพของชุมชนก็ได้

การมีส่วนร่วมทางสังคมมีได้หลายรูปแบบ เริ่มตั้งแต่การเป็นอาสาสมัคร การทำงานร่วมกับกับชุมชน การเข้าไปมีส่วนร่วมในองค์กรและการทำงานกับภาครัฐ เช่น การมีส่วนร่วมในการเลือกตั้ง การมีส่วนร่วมเหล่านี้อาจจะเป็นการเข้าไปจัดการปัญหาผ่านการทำงานของบุคคลใดคนหนึ่งโดยตรง  การทำงานกับชุมชน หรือการทำงานผ่านองค์กรซึ่งมีตัวแทนที่ได้รับเลือกตั้งไป บุคคลจำนวนมากจะรู้สึกถึงความรับผิดชอบที่จะต้องเข้าร่วมกิจกรรมอย่างแข็งขันเพราะรู้สึกว่าเป็นหน้าที่ของพวกเขาที่มีต่อชุมชน การเข้าร่วมของเยาวชน" จะมีเป้าหมายที่คล้ายคลึงกันที่จะพัฒนาสิ่งแวดล้อมของชุมชนและสร้างความสัมพันธ์ แม้ว่าการเข้าร่วมของผู้เยาว์นี้จะเน้นไปในส่วนของการสร้างและพัฒนาศักยภาพของผู้เยาว์ก็ตาม

 

ในการศึกษาวิจัยโดย Tuff University ได้แบ่งการมีส่วนร่วมทางสังคมออกเป็น 3 ประเภทคือ การออกเสียงทางสังคม การออกเสียงเลือกตั้งและการออกความคิดเห็นทางการเมือง

1.การเกี่ยวข้องทางสังคม ได้แก่ การเข้าร่วมแก้ไขปัญหากับชุมชน การเป็นอาสาสมัครให้กับองค์กรที่ไม่เกี่ยวกับการเลือกตั้งอย่างสม่ำเสมอ การเป็นสมาชิกกลุ่มหรือองค์กร การเข้าร่วมกิจกรรมหาทุนไม่ว่าจะเป็นการเดิน วิ่งหรือขี่จักรยานหรือการหาทุนให้กับองค์กรการกุศลด้วยกิจกรรมอื่น การลงสมัครเป็นตัวแทนเพื่อเข้าไปรับเลือกในตำแหน่งทางการเมือง เป็นต้น

2.การเลือกตั้ง ได้แก่ การไปออกเสียงเลือกตั้งอย่างสม่ำเสมอ การชักชวนคนมาลงคะแนนเสียง การติดสัญลักษณ์เพื่อชักจูงคนให้มาเลือกตั้ง การบริจาคเงินให้กับแคมเปญเลือกตั้ง การอาสาสมัครทำงานให้กับผู้สมัครหรืองอค์กรเกี่ยวกับการเมือง การช่วยลงทะเบียนผู้มีสิทธิ์ออกเสียง เป็นต้น

3.การออกความคิดเห็นทางการเมือง ได้แก่ การติดต่อผู้แทน การติดต่อสื่อไม่ว่าจะเป็นสื่อสิ่งพิมพหรือสื่อวิทยุ โทรทัศน์ การประท้วง การส่งอีเมล์ไปเพื่อร้องเรียน การเขียนคำร้องเรียนและไปแจกใบปลิว การบอยคอท (ดื้อแพ่ง) เป็นต้น

พอจะรู้คร่าว ๆ ถึงว่าการมีส่วนร่วมทางสังคมคืออะไร มีประเภทไหนบ้างแล้ว ฉบับหน้าเราจะไปพูดถึงตัวอย่างของการมีส่วนร่วมทางสังคมที่เขาทำกันในประเทศกันค่ะ

บทความนี้มีไว้เพื่อให้ข้อมูลทั่วไปไม่ใช่เป็นการให้คำแนะนำ หากท่านมีข้อสงสัยใด ๆ เกี่ยวกับเนื้อหาในบทความ อยากจะถามคำถามในกรณีส่วนตัวท่านสามารถโทร.มาสอบถามกับผู้เขียนได้ที่เบอร์ (850)598-1709 หรือ (626)999-4751 หรือจะอีเมลมาหาผู้เขียนที่ walaipank@gmail.com ก็ได้ค่ะ หากผู้เขียนไม่ได้รับสายก็ฝากข้อความไว้ได้ จะติดต่อท่านกลับไปภายหลัง รวมทั้งถ้าอยากจะติดตามบทความย้อนหลังก็สามารถติดตามได้ที่เวบไซด์ของหนังสือพิมพ์เสรีชัย http://www.sereechai.com/ คอลัมน์ เรียนรู้เมื่ออยู่เมืองลุงแซม   อ้างอิง:   https://en.wikipedia.org/wiki/Civic_engagement

เครดิตข้อมูลบทความจากเพจ sereechai.com

 





Encouragement แปลว่า การให้กำลังใจ

กำลังใจ

คำว่า กำลังใจ ภาษาอังกฤษ ก็มีหลายคำครับ แต่ความหมายและวิธีใช้ไม่ค่อยตรงกับภาษาไทยเป๊ะ ต้องหัดให้เข้าใจความหมาย และก็ใช้ให้ถูดที่ เวลาจะบอกว่าให้กำลังใจใครในการทำอะไร ก็ใช้ได้ว่า encourage  someone to do something ออกเสียง-เอน-[เค้อ]-ริจ- เน้นที่พยางค์ที่สองนะครับ รากศัพท์ก็มาจากคำว่า courage ความกล้า encourage ก็คือ ทำให้เกิดความกล้า ซึ่งจะแปลว่า ให้กำลังใจแบบไทยก็ได้ ก็หมายถึง พูดสนับสนุน หรือ พูดเชียร์ หรือ อะไรก็ได้ที่เป็นการให้กำลังใจ ดูตัวอย่างเช่น

•He is encouraging his friend to enter the competition.  เขาพูดให้กำลังใจเพื่อนเขาให้เข้าการแข่งขัน

•I am feeling encouraged (to do something).  ฉันรู้สึกมีกำลังใจ (ในการทำอะไรสักอย่าง)

encouragement  ก็เป็นคำนาม แปลว่า การให้กำลังใจ หรือ สิ่งที่ให้กำลังใจ เช่น

•All he needs now is some encouragement.  สิ่งที่เขาต้องการตอนนี้คือกำลังใจจากคนอื่น

 

ครับ encouragement เป็นกำลังใจที่มาจากคนอื่น หรือปัจจัยภายนอก แต่ในภาษาไทย กำลังใจก็เป็นคำกลาง ๆ อาจจะมีในตัวเองก็ได้ ในทำนองเดียวกัน discourage  ก็แปลว่า ทำให้เสียกำลังใจ ถ้าใคร feel discouraged ก็แปลว่า รู้สึกเสียกำลังใจ หรือ หมดกำลังใจ เช่น

•Just let him do it.  There is no need to discourage him.   ให้เขาทำไปเถอะ ไม่ต้องไปพูดให้เขาเสียกำลังใจ

อีกคำหนึ่งที่มีความหมายว่า กำลังใจได้ ก็คือ will  เป็นกำลังใจแบบความมุ่งมั่น คล้ายกับอีกคำคือ determination  คำว่า will คำเดียวกับที่ใช้เป็นกริยาเสริมที่แปลว่า จะนี่แหละครับ ใช้เป็นกริยาแท้ตามด้วยกรรมก็ได้ แปลว่ามุ่งมั่นในสิ่งนั้น ใช้เป็นนามก็ได้ แปลว่า พินัยกรรมก็ได้ หรือ ความมุ่งมั่นก็ได้

•He has a lot of will power.   เขาเป็นคนที่มีความมุ่งมั่นสูงมาก

•His leg was hurt during the race but he willed himself to the finish line.

•He has lost his will to go on.   เขาหมดกำลังใจที่จะไปต่อ

ในหนังสตาร์วอร์สตอนที่สาม ถ้าใครเคยดู ตอนเจ้าหญิงแพดมีจะตาย หมอที่ตรวจรักษาก็ตรวจไม่พบว่าเป็นอะไร ทุกอย่างปกติ แล้วก็พูดว่า  She has lost the will to live.  ก็แปลว่า เธอหมดกำลังใจที่จะอยู่ต่อ  ก็เป็นอาการที่มีอยู่จริงครับ คนที่หมดกำลังใจในการทำอะไร ก็ทำให้กำลังกายหายไปด้วย  ก็ขอให้ผู้อ่านทุกท่าน มีกำลังใจในการต่อสู้ชีวิตต่อไปนะครับ ให้ประสบความสำเร็จที่ยิ่ง ๆ ขึ้นไปในปีใหม่นี้

•May you all be full of the will to live and realize your dream.   ขอให้ทุกท่านเต็มไปด้วยกำลังใจในการดำรงชีวิต และสร้างความฝันให้เป็นจริง

เครดิตข้อมูลบทความจากเพจ BetterEnglishforThai.net

 



Endorsement แปลว่า การรับรอง

เรื่องเล่าจากผู้โดยสาร เมื่อต้องเปลี่ยนพาสปอร์เล่มใหม่ และวีซ่ายังติดในเล่มเก่า

วันนี้มีเรื่องเล่าที่ค่อนข้างเป็นประโยชน์กับผู้เดินทางได้ไม่มากก็น้อย จากคุณ "เมย์" ผู้โดยสารของบริษัทฯ ที่อนุญาติให้เรามาถ่ายทอดเพื่อเป็นองค์ความรู้ให้กับผู้โดยสารทุกท่าน ว่าด้วยเรื่อง "เปลี่ยนพาสปอร์ตเล่มใหม่ และวีซ่าเก่า"  เนื่องจากคุณเมย์ จำเป็นต้องบินไปเยอรมันด่วน และมีวีซ่าที่เป็นประเภทเดินทางหลายครั้งอยู่แล้ว แต่เมื่อมาตรวจหนังสือเดินทางดูปรากฎว่า กำลังจะหมดอายุ ซึ่งไม่สามารถใช้เดินทางได้ เลยต้องไปทำหนังสือเดินทางเล่มใหม่ ทางที่กรมการกงศุล แนะนำให้ ทำ Endorsement  คือ การรับรองสถานะวีซ่าทั้งหมด ในเล่มเก่า เพื่ออิงกับเล่มใหม่

หน้าตาแบบนี้ครับ 

เนื่องจากการเดินทางค่อนข้างเร่งรีบ ในอีกวันสองวันที่จะถึง แต่ทางผู้โดยสารได้ทำการ ตรวจสอบไปยังสถานทูตเยอรมันที่ได้วีซ่า ปรากฎว่า สถานฑูติ บอกว่าต้องทำ Endorsement วีซ่า ด้วยเช่นกัน  การทำแก้ไขมาเล่าใหม่นี้ ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง และ จำเป็นต้องใช้เอกสารบางตัว เหมือนกับการขอวีซ่าใหม่

ผู้โดยสารไม่มีเวลาขนาดที่จะทำเอกสารตามขั้นตอนดังกล่าว  และได้ทำการเข้าไปยังสถานทูตโดยตรงเพื่อสอบถามถึงกรณีนี้ "สถานทูต ได้แจ้งว่า ความจริงแล้วไม่จำเป็น ต้อง endorse visa ให้ทำเฉพาะแค่หนังสือเดินทางก็ได้แล้ว

แต่ที่ถูกต้องคือต้องยื่น endorse ให้มันถูกต้องด้วย กรณีของคุณเมย์ไม่ทัน ทำตามขั้นตอนเลยตัดสินใจไปเช็คอิน โดยใช้หลักการแค่ endorse แค่หนังสือเดินทางอย่างเดียว

ในขั้นตอนการเช็คอินไม่มีปัญหาแต่อย่างใด และไม่มีปัญหาในการเข้าเมืองด้วย  อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้โดยสารที่หนังสือเดินทางหมดอายุ ขอให้ท่านตรวจสอบกับสถานทูต เรื่องวีซ่าทุกครั้งว่า endorse หนังสือเดินทางเพียงพอหรือไม่ที่จะเดินทาง หรือต้องทำ endorse วีซ่าด้วย เพื่อป้องกันความล่าช้าในการเดินทางต่อไป

ขอขอบคุณคุณเมย์อีกครั้งที่เล่าเรื่องราวที่เป็นประโยชน์ให้ทางเราครับ

แผนกบัตรโดยสารและราคา

เครดิตข้อมูลบทความจากเพจ www.kmt.co.th

 


Embrace แปลว่า โอบกอด

Embrace (เอ็มเบรส) แปลไทยว่า โอบกอด” / "อ้าแขนรับ"

คำว่า Embrace ในความหมายทางกายภาพหมายถึง การโอบกอด หรือการสวมกอดด้วยความรัก อย่างเช่น

Everyone embraced each other with excitement when the Olympian won gold medal. ทุกคนสวมกอดกันด้วยความดีใจเมื่อนักกีฬาโอลิมปิคชนะเลิศได้เหรียญทอง

แต่นอกจากความหมายทางกายภาพแล้ว Embrace ยังใช้กับความหมายนามธรรมได้ด้วย ซึ่งในที่นี้จะแปลว่า อ้าแขนรับหรือ การยอมรับอย่างเช่น

Thailand embraced democracy in 1932. ประเทศไทยยอมรับระบอบประชาธิปไตยในปี 1932 (2475)

ซึ่งในความหมายนามธรรมแบบนี้ เราจะเห็นการใช้คำว่า Embrace กับทั้งเรื่องการปรับเปลี่ยนการปกครอง ไปจนถึงจากเปลี่ยนไปศาสนา หรือในภาพยนตร์และนิยาย มักจะมีสำนวน

Embrace the darkness/dark side ประมาณว่า มาจอยฝั่งชั่วกันเถอะ

เครดิตข้อมูลบทความจากเพจเฟซบุ๊ Onelaword


 



Empower แปลว่า ให้อำนาจ



Empowerment ภารกิจ "ผู้นำ"

เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ดิฉันได้รับเกียรติจากสถาบันการศึกษาที่เก่าแก่ อายุกว่าร้อยปี ให้ไปแบ่งปันความรู้เรื่อง Communication through Empowerment หรือการสื่อสารเพื่อสร้างพลังอำนาจในองค์กร ในงานแสดงมุทิตาจิตให้กับอาจารย์ ผู้บริหารที่กำลังจะเกษียณอายุราชการ และผู้บริหารรุ่นใหม่ที่จะดูแลองค์กรต่อไป  

งานนี้ จึงมีพลังอำนาจมากมายทั้งเก่าและใหม่ ซึ่งได้ผสมผสานความต่างกันเอาไว้ ดิฉันบอกกับตัวเองว่า การที่ดิฉันได้มีโอกาสได้ไปแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ในวันนั้น ดิฉันถือว่าโชคดีมากๆ ค่ะ

เราเริ่มต้นด้วยการเช็คความเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่าวันเวลาที่ผ่านมา แต่ละท่านใช้เวลาหมดไปในเรื่องใดบ้าง ระหว่างการใช้เวลาบริหารจัดการหรือ Management และภาวะผู้นำ หรือ Leadership

หากแต่ละท่านใช้เวลาที่ผ่านมาในการทำงานส่วนใหญ่ในการบริหารจัดการ (Management) ท่านมักจะ

๐ กำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายของผลการปฏิบัติงาน

๐ กำหนดแบ่งงานให้ผู้ใต้บังคับบัญชา/พนักงาน

๐ แจกแจงและจ่ายงานให้ผู้ใต้บังคับบัญชา/พนักงาน

๐ กำหนดและขีดเส้นตายของงานและติดตามงาน

๐ ทำงานตามที่ได้รับมอบหมาย ทำงานตามหน้าที่ แต่หากท่านใช้เวลาที่ผ่านมาในการทำงานมุ่งเน้นเรื่องภาวะผู้นำ (Leadership) ท่านมักจะ มีการพูดคุย สื่อสารเรื่องวิสัยทัศน์กับพนักงาน ให้มองเห็นและเกิดความเข้าใจภาพอนาคตร่วมกัน

๐ ให้ข้อแนะนำ เสนอแนะ วิธีการในการทำงาน

๐ ทำงานกับพนักงานด้วยสัมพันธภาพที่ดี มีความเข้าใจพนักงาน ให้เกียรติซึ่งกันและกัน พนักงานมีส่วนร่วมในการทำงาน

๐ มีเวลาในการให้คำปรึกษาพนักงานทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ อย่างแท้จริง

๐ มีความตระหนักอยู่เสมอว่า มีอนาคตใครบ้างที่ขึ้นอยู่กับฉัน

ท่านผู้อ่านลองไปในตัวนะว่า หากท่านเป็นผู้บริหารก็ให้ประเมินตนเอง แต่หากท่านเป็นลูกน้องก็ลองประเมินนายตนเองดู ส่วนใหญ่ดิฉันมักจะได้คำตอบว่า ถ้าผู้บริหารประเมินตนเอง ก็จะบอกว่าส่วนใหญ่ใช้เวลาในการเป็นภาวะผู้นำมากกว่าการบริหารจัดการ แต่ในทางกลับกัน ลูกน้องก็จะบอกว่านายใช้เวลาในการบริหารจัดการมากกว่าการใช้ภาวะผู้นำ ไม่มีใครผิด ไม่มีใครถูกค่ะ เพราะต่างฝ่ายต่างมุมมอง

ทีนี้เรามาดูความหมายของ Empowerment กันก่อน

ถ้าเราถามผู้บริหารว่า Empowerment หมายถึงอะไร ในมุมมองของเขา เราอาจจะได้ยินคำตอบว่า เขาต้องการให้ลูกน้องของเขา



๐ เป็นคนโปรแอคทีฟ กระตือรือร้น มีการคิดการวางแผนงานล่วงหน้า

๐ เป็นผู้ที่สามารถรับผิดชอบในงานได้มากขึ้นและสูงขึ้น

๐ เป็นผู้ที่ทุ่มเทในการทำงานเพื่อให้ได้ผลงานที่เป็นเลิศ

๐ เป็นผู้ที่สามารถมองเห็นปัญหาและคิดวิธีการแก้ไขปัญหาได้ ไม่ใช่เป็นผู้สร้างปัญหา หากเราถามลูกน้องว่า Empowerment หมายถึงอะไร ในมุมมองของเขา เราอาจจะได้ยินคำตอบว่า เขาต้องการ

๐ ได้รับการมอบหมายอำนาจ หน้าที่ให้มากขึ้นและสูงขึ้น

๐ เปิดโอกาสให้ได้ลองทำงานด้วยตนเอง ไม่ถูกนายไล่บี้ ไล่จิก

๐ เปิดโอกาสให้เขาได้ตัดสินใจเอง

หากเรามองผิวเผิน จะเห็นได้ว่าทั้งสองฝ่ายให้ความหมายของ Empowerment ได้คล้ายคลึงกัน แต่ลึกๆ แล้วทั้งสองฝ่ายมองไม่ตรงกันหรอกค่ะ ดังนั้นหากมองไม่ตรงกันจะอันตรายมากค่ะ

มาตกลงกันค่ะว่าทั้งผู้บริหารและลูกน้องจะมองได้ตรงกันและได้ประโยชน์ร่วมกัน ต้องมองร่วมกันง่ายๆ ว่า Empowerment หมายถึงการที่ผู้บริหารได้ดึงเอาศักยภาพความรู้ ความสามารถพรสวรรค์ของลูกน้อง ดึงเอาพลังในตัวลูกน้องออกมา โดยให้เขารู้สึกที่จะมุ่งมั่นทุ่มเทให้กับงานที่ทำหรือที่ได้รับมอบหมาย

วันนั้นที่ดิฉันไปแบ่งปันความรู้ในงานข้างต้น เราก็ได้คุยกันว่า หากต่อไปนี้เวลาที่ผู้บริหารจะ “EMPOWER” ก็ให้นึกถึงสิ่งต่อไปนี้ค่ะ

Establish Desired Results: ทั้งผู้บริหารและลูกน้องต้องตกลงร่วมกันว่าอยากได้ผลลัพธ์อะไรร่วมกัน เพราะบ่อยครั้งสิ่งที่ผู้บริหารต้องการอาจไม่ใช่สิ่งที่ลูกน้องต้องการค่ะ ดังนั้นจึงควรตกลงผลที่ต้องการจะได้ร่วมกันก่อน

Motivation: การสร้างแรงจูงใจ ผู้บริหารต้องสร้างแรงจูงใจ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ เพราะลูกน้องต้องการแรงจูงใจแตกต่างกัน บางเรื่องเป็นสิ่งที่กระตุ้นจูงใจผู้บริหารซึ่งอาจไม่กระตุ้นจูงใจลูกน้องค่ะ ดังนั้นผู้บริหารต้องรู้จักลูกน้องตนเองดีด้วย

Power: อำนาจที่จะมอบหมายให้ ต้องระบุขอบเขตให้ชัดเจน จะได้ไม่ล้ำเส้นในบางเรื่อง

Open Environment: ผู้บริหารต้องสร้างบรรยากาศให้เปิดกว้าง และต้องสร้างบรรยากาศของการไว้วางใจในซึ่งกันและกัน

Willingness to Contribute and Commit: การตกลงร่วมกันแบบชนะ+ชนะ จะทำให้ลูกน้องมีความเต็มอกเต็มใจที่จะมุ่งมั่น ทุ่มเท เพื่อให้งานที่ได้รับมอบหมายสัมฤทธิผลค่ะ

Expectations on Accountability: ความคาดหวังที่ชัดเจนต่อกัน จะต้องตกลงเรื่องความรับผิดชอบที่ชัดเจนและมีการวัดผลที่ชัดเจน

Resources: ทรัพยากรต้องจัดให้ผู้ที่ได้รับมอบอำนาจ เช่น เวลา งบประมาณ จำนวนคน เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ เป็นต้น

ท่านผู้อ่านเห็นแล้วนะคะ ว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อนพอควรค่ะในการ Empowerment ดังนั้นผู้บริหารต้องทำตัวเหมือนคนปลูกต้นไม้ ที่จะคอยบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์พืชให้เติบโต งอกงาม ให้ชีวิตที่อยู่ข้างในได้ออกมาได้อย่างสวยงามค่ะ งานนี้ต้องเป็นงานของผู้นำค่ะ

โดย ดร.เกศรา รักชาติ: Ph.D. Leadership and Human Behavior ผู้มีประสบการณ์ตรงจากการสร้าง Learning Organization วิทยากรและที่ปรึกษาทางด้าน Learning Organization, Leadership, Coaching, Communication & Interpersonal Skills, ทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาองค์กร

เครดิตข้อมูลจากเพจ nationejobs.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น