นักวิเคราะห์ดังประเมิน
ซาอุดีอาระเบียและบรรดาประเทศเศรษฐีน้ำมัน แถบอ่าวเปอร์เซีย
ตั้งความหวังให้นางฮิลลารี คลินตัน
ว่าที่ผู้สมัครตัวแทนพรรคเดโมแครตเป็นฝ่ายคว้าชัยชนะเหนือโดนัลด์ ทรัมป์
จากฟากฝั่งรีพับลิกัน ในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2016
เพราะเป็นที่แน่ชัดว่า
การก้าวเข้าสู่ตำแหน่งผู้นำหญิงเมืองลุงแซมของฮิลลารี
จะเป็นผลดีและช่วยเอื้อประโยชน์ด้านพลังงานให้แก่บรรดาชาติอาหรับมากกว่า โรเบิร์ต
แม็คนอลลี ประธานบริษัทที่ปรึกษาด้านพลังงาน “Rapidan Group” ซึ่งมีฐานอยู่ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.ของสหรัฐฯ
เป็นผู้ที่ออกมาเปิดเผยประเด็นนี้ต่อสื่อดังอย่าง “ซีเอ็นบีซี”
เมื่อวันพฤหัสบดี (2 มิ.ย.)
ระหว่างเดินทางเข้าร่วมสังเกตการณ์การประชุมของสมาชิกกลุ่มโอเปก (Organization
of the Petroleum Exporting Countries : OPEC) หรือกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันเป็นสินค้าออกรายใหญ่ที่กรุงเวียนนา
เมืองหลวงของออสเตรีย “มันไม่ใช่เรื่องที่เป็นความลับดำมืดอีกต่อไปแล้ว
เวลานี้บรรดาผู้มีอำนาจทางการเมือง
ทั้งในซาอุดีอาระเบียและรัฐอาหรับแถบอ่าวเปอร์เซียต่างสวดภาวนาให้ฮิลลารี คลินตัน
ได้เป็นประธานาธิบดีคนต่อไปของอเมริกา เพราะรัฐเศรษฐีน้ำมันฝ่ายสุหนี่เหล่านี้
ไม่ต้องการเผชิญหายนะครั้งใหญ่ จากนโยบายต่างประเทศและพลังงานภายใต้สโลแกน “อเมริกาต้องมาก่อน”ของโดนัลด์ทรัมป์”แม็คนอลลีกล่าว ประธานบริษัทที่ปรึกษาด้านพลังงาน Rapidan Group ระบุว่า
ไม่มีสมาชิกกลุ่มโอเปกชาติใด โดยเฉพาะในแถบอ่าวเปอร์เซีย
ที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในสหรัฐอเมริกาแบบ “พลิกขั้ว” ภายในชั่วระยะเวลาเพียงแค่ข้ามคืนเพราะการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วที่ว่านี้
จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจและการเมืองในแถบอ่าวเปอร์เซีย
ที่เต็มไปด้วยดินแดนที่ต้องพึ่งพารายได้จากการส่งออกน้ำมัน ที่มีสัดส่วนมากกว่า 90
เปอร์เซ็นต์ในรายได้ทั้งหมดของประเทศ “คำถามหลักที่สมาชิกโอเปกหยิบยกกันมาหารือในเวลานี้
ไม่ใช่คำถามที่ว่า เมื่อใดราคาน้ำมันในตลาดโลกจะผ่านพ้นช่วงขาลงอีกต่อไป เพราะคำถามยอดฮิตที่คาใจผู้มีอำนาจในโอเปกที่สุดในยามนี้
คือ คำถามที่ว่า จะเกิดอะไรขึ้นกับตลาดน้ำมันและประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน หากว่า
ชายที่ชื่อ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯคนต่อไป” แม็คนอลลี กล่าวเสริม ตลอดระยะเวลาการหาเสียงที่ผ่านมา
มหาเศรษฐีฝีปากกล้าจากนิวยอร์กอย่างโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ตั้งคำถามมาโดยตลอด
ถึงความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับซาอุดีอาระเบีย ซึ่งทรัมป์เห็นว่า
ถึงเวลาแล้วที่สหรัฐฯจะต้องเลิกดำเนินนโยบายต่างประเทศโดยเฉพาะในตะวันออกกลางเพื่อ
“เอาอกเอาใจ” ซาอุดีอาระเบีย
หวังแลกเปลี่ยนกับผลประโยชน์ด้านพลังงานที่รัฐบาลริยาดห์
จะมอบตอบแทนให้กับวอชิงตัน ไม่น่าแปลกใจว่า นโยบายของทรัมป์ที่ต้องการให้อเมริกา “เป็นอิสระ” ในด้าน
พลังงานและหลุดพ้นจากการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ
จะสร้างความกังวลใจให้กับซาอุดีอาระเบียและรัฐอาหรับย่านอ่าวเปอร์เซียไม่น้อย เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
ทรัมป์ประกาศชัดเจน ระหว่างการหาเสียงที่มลรัฐนอร์ธดาโกต้า ว่า
เขาต้องการให้อเมริกาเป็นอิสระอย่างสิ้นเชิงในด้านพลังงาน
ทั้งการเลิกนำเข้าน้ำมันจากนอกประเทศ และการหันมาขุดค้นสำรวจแหล่งพลังงานภายในประเทศตัวเองด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ
ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในทางกลับกัน เป็นที่ทราบกันดีว่า
หัวใจหลักในนโยบายต่างประเทศของนางฮิลลารี คลินตัน
อดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง-อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯนั้นยังคงมีซาอุดีอาระเบียและรัฐอาหรับในตะวันออกกลางเป็นแกนกลาง
ยังไม่นับรวมกับกลุ่มผลประโยชน์ด้านพลังงานอีกนับไม่ถ้วน
ที่มีสายสัมพันธ์ยึดโยงกับอดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน สามีของเธอ
ซึ่งเงื่อนไขเหล่านี้ดูจะเป็นผลดีและเป็นที่ต้องการของประเทศผู้ผลิตน้ำมันอาหรับ
ที่ไม่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงแบบสุดขั้วในวอชิงตันหากทรัมป์ได้ครองอำนาจ “พวกผู้มีอำนาจในซาอุฯและรัฐอาหรับแถบอ่าวเปอร์เซียต่างเชื่อว่า
พวกเขาจะสามารถพูดคุยและต่อรองผลประโยชน์ทั้งทางการเมืองและพลังงานกับฮิลลารีและบิลคลินตันได้ง่ายกว่าการพูดคุยกับทรัมป์”แม็คนอลลีกล่าวทิ้งท้าย ไม่ว่าผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯในช่วงปลายปีนี้จะออกมาในรูปแบบใด
และชัยชนะจะตกเป็นของฮิลลารี คลินตัน หรือโดนัลด์ ทรัมป์ แต่เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า
บรรดาผู้มีอำนาจในรัฐเศรษฐีน้ำมันอาหรับแถบอ่าวเปอร์เซีย
ที่นำโดยซาอุดีอาระเบียคงต้อง “ลุ้นตัวโก่ง” เพื่อให้ฮิลลารีเข้าป้ายคว้าชัย
เพราะดูเหมือนไม่มีรัฐอาหรับรัฐใดที่ต้องการจะเห็นนโยบาย “America First” ทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองของโดนัลด์ ทรัมป์ ถูกนำมาปฏิบัติใช้งานจริง
หากทรัมป์เป็นฝ่ายที่ได้เดินเข้าสู่ทำเนียบขาว
เอพี/เอเจนซีส์/MGR ออนไลน์ - หลังจากที่มีรายงานการกระทำผิดของบาทหลวงในศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกถึงคดีการล่วงละเมิดทางเพศเด็ก และมีเสียงกดดันจากทั่วโลกให้ทางสำนักวาติกันอย่าปกป้องคนกระทำผิด ล่าสุดในวันเสาร์ (4 มิ.ย.) สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสได้ทรงออกกฎระเบียบแคนอนลอว์ (Canon Law) ใหม่ อนุญาตให้สามารถปลดบิชอปที่กระทำความผิดเนื่องมาจากละเลยต่อหน้าที่ในการดูแลคดีการล่วงละเมิดทางเพศออกจากการเป็นพระ และยังให้กำกับบทลงโทษว่า “เป็นเหตุผลอุกฉกรรจ์ด้านศีลธรรม”ทำให้ต้องถูกไล่ออก เอพีรายงานวันนี้ (4 มิ.ย.)ว่า ในวันนี้มีการแถลงการณ์จากสำนักวาติกันถึงบทกฎระเบียบแคนอนลอว์ (Canon Law) ใหม่ ที่สามารถลงโทษบิชอปที่รับผิดชอบในคดีปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศได้ ด้วยการสั่งให้ออกจากการเป็นพระ หากทางสำนักวาติกันพบว่าบิชอปผิดเหล่านั้นละเลยต่อการปฏิบัติต่อหน้าที่ เอพีชี้ว่า กฎหมายใหม่ของสำนักวาติกันที่ออกมาล่าสุดนี้เป็นการตอบต่อเสียงเรียกร้องจากทั่วโลกถึงปัญหาบาทหลวงคาทอลิกล่วงละเมิดทางเพศเด็ก และที่ผ่านมามีการกล่าวอ้างจากเหยื่อว่า บิชอปผู้มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลคดีการล่วงละเมิดทางเพศเหล่านี้ กลับปกป้องพระที่กระทำความผิดด้วยกันเอง ด้วยการปกปิดซ่อนเร้น และแอบสั่งการย้ายบาทหลวงเหล่านั้นออกจากเขตการปกครองที่มีปัญหาไปประจำอยู่ในที่แห่งใหม่ แทนที่จะนำเรื่องเข้าแจ้งต่อตำรวจในพื้นที่เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย เอพีรายงานต่อว่า ในกฎระเบียบแคนอนลอว์ใหม่ ซึ่งพระประมุขแห่งโฮลีซี โป๊ปฟรานซิสทรงตระหนักดีว่า ได้มีการกำหนดให้บิชอบต้องออกจากหน้าที่หากถูกพบว่าปฏิบัติงานด้วยความเลินเล่อ แต่ทว่าโป๊ปฟรานซิสทรงตรัสให้ความเห็นว่า ทรงต้องการให้กฎหมายใหม่มีความชัดเจนยิ่งขึ้น ด้วยการให้ระบุลงไปในความผิดลงไปว่า “เป็นเหตุผลอุกฉกรรจ์ด้านศีลธรรม”และจะทำให้บิชอปเหล่านั้นต้องถูกไล่ออกจากความเป็นพระทั้งนี้ มีรายงานว่า ทั้งบาทหลวง แม่ชี รวมไปถึงสมาชิกในคณะต่างๆ ของศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกได้กระทำความผิดล่วงละเมิดทางเพศเป็นจำนวนมากในช่วงศตวรรษที่ 20 และ 21 และนำไปสู่การสอบสวน ดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งการล่วงละเมิดเกิดขึ้นในทั้งเด็กหญิง และเด็กชาย และพบว่ามีอายุต่ำที่สุดแค่ 3 ปี และในช่วงอายุมีการพบถูกตกเป็นเหยื่อล่วงละเมิดมากที่สุดอยู่ในราว 11-14 ปี โดยคดีความเหล่านี้เริ่มเป็นที่สนใจและรับรู้ไปทั่วโลกในช่วงปี 80 โดยก่อนที่จะมีกฎหมายใหม่ของสำนักวาติกันเกิดขึ้นในวันนี้ (4 มิ.ย.) เดอะการ์เดียน ได้รายงานในกลางเดือนที่ผ่านมาว่า แหล่งข่าวล็อบบี้ยิสต์ของรัฐในอเมริกาได้ออกมาเปิดเผยว่า ศาสนจักรคาทอลิกในอเมริกาได้ทุ่มเงินจำนวนหลายล้านดอลลาร์ในช่วงตลอด 10 ปีที่ผ่านมาเพื่อปกป้องบรรดาพระที่กระทำผิดจากการล่วงละเมิดทางเพศไม่ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ได้เกิดขึ้น โดยมีรายงานว่าเงินเหล่านี้ได้หว่านลงไปเพื่อต่อต้านการออกมาตรการใหม่ที่กำหนดให้บรรดาพระที่กระทำผิดต้องรับผิด สื่ออังกฤษรายงานต่อว่า พบว่า นับตั้งแต่ปี 2007 เป็นต้นมา หน่วยงานล็อบบี้ยิสต์ของบิชอปในนิวยอร์กได้หว่านเม็ดเงินลงไปไม่ต่ำกว่า 1.1 ล้านดอลลาร์ในปัญหาที่เกี่ยวข้องกับระยะเวลาต่อการออกมาตรการลงโทษที่เกี่ยวข้องกับคดีทางเพศ ซึ่งเดอะการ์เดียนพบว่าเกือบครึ่งของเงินทั้งหมดไปตกอยู่ในมือของเหล่าล็อบบี้ยิสต์ในช่วงระยะเวลานั้น และในอีกจำนวนเงินเกือบ 700,000 ดอลลาร์ได้ถูกจ่ายออกไปเพื่อทำการล็อบบี้การออกกฎหมายที่กระทบกับศาสนจักร ทั้งนี้ ตามกฎหมายในรัฐนิวยอร์กที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ อดีตเหยื่อล่วงละเมิดเด็กสามารถยื่นฟ้องทางกฎหมายต่อบาทหลวงผู้กระทำผิดได้จนกระทั่งเด็กเหล่านั้นมีอายุครบ 23 ปี แต่ ส.ว.รัฐนิวยอร์กมีความเห็นต้องการเพิ่มระยะเวลาให้เหยื่อสามารถมีสิทธิเพื่อต่อสู้กับโบสถ์คาทอลิกของอเมริกาที่ทรงพลังและอำนาจได้
เอเจนซีส์/MGR
ออนไลน์ - มูฮัมหมัด อาลี นักชกแชมป์โลกรุ่นเฮฟวีเวตชาวสหรัฐฯ
ได้เสียชีวิตลงแล้วอย่างสงบในวัย 74 ปี ที่โรงพยาบาลฟินิกส์
รัฐแอริโซนา ในคืนวันศุกร์ (3 มิ.ย) ตามเวลาท้องถิ่น
ด้วยโรคระบบการหายใจล้มเหลว ที่เป็นผลพวงมาจากการป่วยด้วยโรคพาร์กินสัน หลังจากที่อาลีถูกส่งตัวด่วนเข้ารับการแอดมิตในวันพฤหัสบดี
(2 มิ.ย)
ด้านครอบครัวออกแถลงการณ์ประกาศจะจัดพิธีศพที่บ้านเกิดของนักชกระดับตำนานโลกในเมืองลุยซ์วิล
(Louisville) รัฐเคนตักกี ในขณะที่โปรโมเตอร์ ดอนคิง ชี้ “จิตวิญญาณของโมฮัมหมัด อาลี ยังคงอยู่” ในขณะที่ ออสการ์
เด ลา โฮยา ฉายาว่า “โกลเด้น บอย” ร่วมทวีตไว้อาลัยโดยโชว์ภาพถ่ายคู่
ซึ่งรวมไปถึงการทวีตไว้อาลัยของ จอร์จ โฟร์แมน คู่ปรับตลอดกาล ทวีตและไมค์ไทสัน NBC NEWS สื่อสหรัฐฯรายงานวันนี้
(4 มิ.ย.) มูฮัมหมัด อาลี ที่เป็นระดับไอคอนของโลก ไม่ว่าจะในด้านกีฬาที่เป็นถึงตำนานผู้ยิ่งใหญ่อดีตแชมเปียนเฮฟวีเวตของโลกถึง
3 สมัย และการเป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน
ได้เสียชีวิตลงแล้วในโรงพยาบาลฟินิกส์ รัฐแอริโซนา โฆษกครอบครัวอาลียืนยันกับNBCNEWS
“หลังจากที่ต้องต่อสู้กับโรคพาร์กินสันมาจนถึง 32 ปีเต็ม มูฮัมหมัด อาลี ได้จากไปอย่างสงบในวัย 74 ปี
เจ้าของเข็มขัดแชมป์โลก 3 สมัยรุ่นแชมเปียนเฮฟวีเวตได้เสียชีวิตลงในค่ำวันนี้”บ็อบกันเนล(BobGunnell)โฆษกครอบครัวอาลีแถลงกับสื่อสหรัฐฯ
ด้านโปรโมเตอร์คู่ใจ ดอน คิง ได้เปิดเผยผ่าน CNN สื่อสหรัฐฯ
ให้ความเห็นหลังการสูญเสียมือชกระดับตำนานของโลก ว่า ในความรู้สึกเขา อาลี
ยังไม่ตาย “จิตวิญญาณของเขายังคงอยู่ตลอดไป” และยังให้ความเห็นต่อว่า “อาลีเป็นบุคคลผู้ยิ่งใหญ่เป็นแชมเปียนของผู้คนเป็นเหนือความที่สุดตลอดกาล”
และ คิง ยังกล่าวถึงอาลีในขณะที่ต้องล้มป่วยด้วยโรคฟาร์กินสัน ว่า “ถึงแม้ว่าเขาต้องป่วยด้วยโรคพาร์กินสัน แต่ความรักของเขาในชีวิตและผู้คน
ยังคงมีอยู่อย่างไม่เปลี่ยนแปลง” โดยยืนยันว่า “ความมั่นคงทางจิตใจของอาลีนั้นแข็งแกร่งไม่ใช่เป็นคนที่จะถูกคว่ำ คำว่าพ่ายแพ้ไม่ได้อยู่ในพจนานุกรมของโมฮัมหมัดอาลี” ทั้งนี้ CNN รายงานว่า ออสการ์ เด ลา โฮยา (Oscar
De La Hoya) ฉายาว่า “โกลเด้น บอย” แชมป์โลกระดับตำนานอีกคน ได้ทวีตภาพคู่ของเขา และ โมฮัมหมัด อาลี
พร้อมกล่าวไว้อาลัย RIP ต่อนักชกผู้ยิ่งใหญ่ซึ่งเป็นแชมเปียนตลอดกาล
และมีรายงานว่า คู่ปรับตลอดกาลของอาลี จอร์จ โฟร์แมน ได้ทวีตข้อความไว้อาลัย
และรวมไปถึง ไมค์ ไทสัน ซึ่ง จอร์จ โฟร์แมน ในวัย 67 ปี
ได้กล่าวถึงอาลี ว่า “ส่วนที่ดีที่สุดของผมได้จากไปแล้ว”
ทั้งนี้ NBC NEWS รายงานว่า ที่ผ่านมา
อาลีต้องผจญกับโรคพาร์กินสันมาถึง 3 ทศวรรษ
และมีปัญหาการป่วยด้านระบบประสาทเพิ่มขึ้น
ซึ่งส่งผลต่อระบบการออกเสียและด้านร่างกายของนักชกระดับตำนานผู้นี้
ซึ่งทางครอบครัวของนักชก ยืนยันว่า จะมีการจัดพิธีศพขึ้นในบ้านเกิดของอาลีที่เมืองลุยซ์วิล(Louisville)รัฐเคนตักกีต่อไป โดยมีรายงานว่า
อาลีถูกส่งตัวด่วนเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลในวันพฤหัสบดี (2 มิ.ย.)
จากปัญหาโรคระบบการหายใจของอาลีที่สืบเนื่องมาจากการล้มป่วยด้วยโรคพาร์กินสัน
และก่อนหน้านี้ กันเนลกันได้ให้สัมภาษณ์ว่า ทางครอบครัวได้เข้าเยี่ยม
ยืนรายล้อมเตียงของคนไข้ สนทนา และใช้เวลาอยู่กับโมฮัมหมัด อาลี ในช่วงเวลาสั้น ๆ
ในระหว่างที่เขาเข้ารับการรักษาตัว
ด้านโฆษกประจำตัวของไลลา (Laila) ลูกสาวของอาลี
ได้แถลงในวันพฤหัสบดี (2 มิ.ย) ว่า
ในขณะนี้สิ่งสำคัญที่สุดตรงหน้า คือ สุขภาพของบิดา โมฮัมหมัด อาลี และไลลาตื้นตันใจต่อความห่วงใยที่หลั่งไหลส่งมายังครอบครัวของเธอในขณะที่เธอได้ใช้เวลาที่มีค่ากับบิดาในโรงพยาบาล
สื่อสหรัฐฯรายงานว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
อาลีต้องประสบปัญหากับโรคพาร์กินสันขั้นร้ายแรงมากขึ้น
ซึ่งโรคร้ายนี้นำไปสู่โรคการติดเชื้อในระบบหายใจในภายหลัง ซึ่งคาดว่า
เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของราชากำปั้นระดับตำนาน โดยก่อนหน้านี้ ในเดือนธันวาคม 2014
โมฮัมหมัด อาลี ถูกส่งตัวเข้าโรงพยาบาลเพื่อรักษาตัวเป็นเวลาหลายวัน
และในเดือนมกราคม 2015 เขาต้องกลับเข้าไปที่โรงพยาบาลอีกครั้งจากปัญหาโรคระบบทางเดินปัสสาวะอักเสบ
อาลีขึ้นชกมวยครั้งแรกเมื่ออายุได้เพียง 12 ปี
โดยมีครูฝึกเป็นตำรวจเชื้อสายไอริช ชื่อ โจ มาร์ติน จุดประสงค์แรกคือ
ให้อาลีใช้เป็นทักษะการต่อสู้เพื่อปกป้องจักรยานราคา 60 ดอลลาร์ของตน
จากเด็กละแวกบ้านด้วยกัน และอาลีได้ขึ้นชกมวยอาชีพครั้งแรกเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม1960โดยมีแองเจโลดันดีเทรนเนอร์ชื่อดังระดับโลกเป็นผู้ฝึกสอน
อาลีผู้ได้รับฉายาว่า “โบยบินเหมือนผีเสื้อ
ต่อยเจ็บเหมือนผึ้ง“” ขึ้นชิงแชมป์โลกครั้งแรกกับ ซอนนี่
ลิสตัน ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 1964ที่หลายฝ่ายคาดกันว่าเขาต้องเป็นฝ่ายแพ้
และในการชกครั้งประวัติศาสตร์ของอาลี และของวงการมวยโลก คือ การพบกับ จอร์จ
โฟร์แมน ซึ่งขณะนั้นโฟร์แมนเป็นแชมป์โลกอยู่ และเป็นการชิงแชมป์โลกครั้งที่ 3
ในชีวิตของอาลี ในศึกที่มีชื่อว่า “The Rumble in the
Jungle” ที่กรุงกินซาซา ประเทศซาอีร์
การชกครั้งนี้ไม่เพียงแต่เป็นการจัดชกมวยระดับโลกเป็นครั้งแรกใจกลางทวีปแอฟริกาด้วย
แต่หากยังมีนัยทางการเมืองแฝงอยู่ด้วย
เพราะในขณะนั้นกระแสการเหยียดสีผิวกระเพื่อมรุนแรงมากในทั่วทุกมุมโลก
โดยโปรโมเตอร์ผู้จัดครั้งนี้ คือ ดอน คิง ซึ่งต่อมาศึกครั้งนี้ได้สร้างชื่อให้กับ
ดอน คิง แจ้งเกิดได้ในวงการมวยระดับโลกมาจนปัจจุบัน และในการเสียเข็มขัดแชมป์โลกของ
โมฮัมหมัด อาลี พบว่า นักชกผู้ยิ่งใหญ่เสียแชมป์โลกเมื่อเป็นฝ่ายแพ้คะแนน 15
ยกแก่ ลีออง สปิงคส์ นักมวยรุ่นน้องอดีตแชมป์เหรียญทองโอลิมปิกที่มอนทรีออล
แม้ต่อมาจะเป็นฝ่ายแก้มือเอาชนะสปิงคส์ในครั้งต่อมาได้
แต่ก็กลับต้องเสียแชมป์โลกทันทีเมื่อพบกับ ลาร์รี โฮมล์ส
ที่ต่อมากลายเป็นแชมป์โลกรุ่นเฮฟวีเวตที่สามารถป้องกันตำแหน่งได้มากถึง 24 ครั้ง อาลีขึ้นชกมวยครั้งสุดท้ายก็เป็นแพ้คะแนน 10 ยก
ต่อ เทรเวอร์ เบอร์บิค ที่ต่อมากลายเป็นแชมป์โลกเฮฟวีเวต WBC โดยเกิดจากสภาพร่างกายของอาลีที่ไม่ไหวแล้ว ในวันที่ 12 พฤศจิกายน1981 มูฮัมหมัด อาลี
ถือว่าเป็นนักมวยผู้เป็นระดับตำนานในหลายด้าน นอกจากบุคลิกที่โดดเด่น กล้าคิด
กล้าพูด หลายเรื่องที่อาลีแสดงความเห็นและแสดงออกทางสังคมล้วนแต่มีนัย
มีความหมายทั้งสิ้น ประกอบกับกระแสการเมืองทั้งในสหรัฐอเมริกา
และการเมืองโลกขณะนั้น
ยิ่งทำให้อาลีกลายเป็นบุคคลที่โดดเด่นระดับไอคอนของโลกขึ้นมา หลังแขวนนวม
มูฮัมหมัด อาลี เป็นที่รับรู้กันดีว่าเป็นโรคพาร์กินสัน หรือ โรคเมาหมัด
ซึ่งเป็นผลจากการชกมวย แต่ในพิธีเปิดโอลิมปิก ที่แอตแลนตา
อาลีได้รับเกียรติจากคณะกรรมการจัดการแข่งขัน
ให้เป็นบุคคลสุดท้ายที่จุดคบเพลิงด้วยมือที่สั่นเทา แต่อาลีก็สามารถทำได้
เป็นที่ประทับใจของผู้คนทั่วโลก แม้กระทั่ง บิล คลินตัน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา
ผู้เป็นประธานพิธีเปิดถึงกับหลั่งน้ำตาด้วยความซาบซึ้ง
รอยเตอร์
- อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่านกล่าวในวันศุกร์ (3
มิ.ย.) ว่า เตหะรานไม่ต้องการร่วมมือกับศัตรูรายสำคัญอย่างสหรัฐฯและอังกฤษเกี่ยวกับประเด็นในภูมิภาค
คาเมนาอียังกล่าวหาวอชิงตันด้วยว่าไม่รักษาข้อตกลงนิวเคลียร์ที่ถูกบรรลุระหว่างเตหะรานและหกชาติมหาอำนาจรวมถึงสหรัฐฯในปี 2015 ที่มีเป้าหมายเพื่อควบคุมโครงการนิวเคลียร์ของประเทศนี้ ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว
การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจได้ถูกยกเลิกในเดือนมกราคมหลังจากอิหร่านระงับโครงการนิวเคลียร์อันอ่อนไหวที่ตะวันตกสงสัยว่ามีจุดประสงค์เพื่อสร้างระเบิดนิวเคลียร์
อิหร่านปฏิเสธว่าไม่ได้ต้องการพัฒนาระเบิดนิวเคลียร์ “อเมริกายังคงมองอิหร่านเป็นศัตรูนับตั้งแต่การปฏิวัติอิสลาม
(ปี 1979) มันเป็นความผิดพลาดใหญ่หลวงที่จะไว้ใจปีศาจอย่างอังกฤษและมัจจุราชอย่างสหรัฐฯ”
คาเมนาอี กล่าวในการปราศรัยถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์ของรัฐ “เราจะไม่ร่วมมือกับอเมริกาในเรื่องวิกฤตในภูมิภาค” เขากล่าว
และเสริมว่าเป้าหมายของพวกเขาในภูมิภาคนี้คือคัดค้านอะไรก็ตามที่เป็นเป้าหมายของอิหร่าน
หลังจากการยุติคว่ำบาตรอิหร่าน ประเทศนี้เริ่มที่จะค้าขายกับตะวันตกมากขึ้น
แต่มาตรการคว่ำบาตรบางอย่างสหรัฐฯยังคงอยู่และธนาคารสหรัฐฯ
ยังคงถูกห้ามไม่ให้ทำการค้ากับอิหร่านทั้งทางตรงและทางอ้อม
เนื่องจากวอชิงตันยังคงกล่าวหาว่าเตหะรานสนับสนุนการก่อการร้ายและการละเมิดสิทธิมนุษยชน
“พวกเขาใช้สิทธิมนุษยชน การก่อการร้าย
เป็นข้ออ้างในการเลี่ยงที่จะทำตามคำมั่นของพวกเขา”คาเมนาอีกล่าว
“หากเรายังเข้มแข็ง สามัคคี และไม่ยอมศิโรราบ
เหล่าผู้ที่พยายามข่มเหงอิหร่านและต่อต้านพวกเราจะไม่มีวันสมหวัง” เขาบอกในการประชุมเพื่อรำลึกครบรอบปีการเสียชีวิตของ อยาตอลเลาะห์รูโฮลเลาะห์คาเมนาอีผู้นำการปฏิวัติในปี1989
อิหร่านเรียกร้องหลายครั้งให้วอชิงตันพยายามมากกว่านี้ในการขจัดสิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อภาคธนาคารเอเอฟพี - ฝนที่ตกลงมาอย่างหนักส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำแซนซึ่งไหลผ่านกรุงปารีสเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 30 ปีในวันนี้ (3 มิ.ย.) ขณะที่พิพิธภัณฑ์ลูฟร์ (Louvre) ต้องปิดทำการเพื่อขนย้ายโบราณวัตถุออกจากห้องใต้ดิน ทางการปารีสเตือนให้ประชาชนหลีกเลี่ยงพื้นที่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำ ซึ่งคาดว่าระดับน้ำจะเพิ่มถึงระดับสูงสุด 6 เมตรภายในวันนี้ (3) ขณะที่อีกหลายเมืองในเยอรมนีและฝรั่งเศสก็กำลังเผชิญกับอุทกภัยครั้งเลวร้ายเช่นกัน เจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งเหตุชายคนหนึ่งเสียชีวิตที่เขต Évry-Grégy-sur-Yerre ทางตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงปารีส หลังถูกกระแสน้ำจากแม่น้ำพัดพาไปขณะกำลังขี่ม้า ส่วนที่เยอรมนี ชายวัย 65 ปีคนหนึ่งถูกพบกลายเป็นศพที่เมืองซิมบัค อัม อินน์ (Simbach am Inn) ในแคว้นบาวาเรีย ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตจากน้ำท่วมใหญ่ในเยอรมนีเพิ่มขึ้นเป็น10รายในสัปดาห์นี้ ฝนที่ตกต่อเนื่องหลายวันยิ่งเพิ่มบรรยากาศหดหู่ให้แก่ชาวฝรั่งเศส ซึ่งกำลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการนัดหยุดงานแบบไม่มีกำหนดของสหภาพแรงงานรถไฟ เซโกลีน โรยาล รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมฝรั่งเศส แสดงความกังวลว่าอาจจะพบผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นหลังจากที่ระดับน้ำในหมู่บ้านต่างๆ ลดลง ส่วนถนนหลายสายเวลานี้กลายสภาพเป็นลำคลองสีโคลน โมฮาเหม็ด อามีน นักท่องเที่ยวจากเมืองเวนิสในอิตาลี ยืนดูระดับน้ำในแม่น้ำแซนที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆบนสะพานแห่งหนึ่งในกรุงปารีสอย่างอารมณ์ดี “ผมชินกับการเดินลุยน้ำถึงเข่าในช่วง Aqua Alta” เขากล่าว โดยหมายถึงปรากฏการณ์น้ำทะเลหนุนสูงที่เมืองเวนิส ซึ่งจะเกิดเป็นประจำในฤดูหนาว“แต่คนที่ปารีสคงไม่คุ้น”หลายเมืองทางตอนกลางของฝรั่งเศสกำลังเผชิญหายนะจากอุทกภัยครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบกว่า 100 ปี โดยมีคำสั่งอพยพชาวเมืองกว่า 5,000 คนตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้วขณะที่บ้านเรือนกว่า19,000หลังไม่มีไฟฟ้าใช้ ทางการปารีสได้นำแท่งแบริเออร์ไปเรียงเป็นเขื่อนป้องกันน้ำท่วมตลอดริมฝั่งแม่น้ำแซน ส่วนเส้นทางรถไฟที่ตัดขนานไปกับแม่น้ำก็ต้องปิดให้บริการชั่วคราว ริมฝั่งแม่น้ำแซนยังเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์เลื่องชื่อของฝรั่งเศสที่มีผู้เข้าชมมากที่สุดในโลก รวมถึงพิพิธภัณฑ์ศิลปะออร์เซย์ (Musée d'Orsay) ซึ่งเมื่อวานนี้ (2) ได้ปิดทำการเร็วกว่าปกติเพื่อขนย้ายผลงานศิลปะล้ำค่าขึ้นไปไว้ที่ชั้นบนของอาคาร สำนักอุตุนิยมวิทยาทั้งในฝรั่งเศสและเยอรมนีเตือนให้ประชาชนเตรียมรับมือกับฝนที่จะตกหนักต่อเนื่องไปอีกตลอด 24 ชั่วโมงข้างหน้า ประธานาธิบดี ฟรองซัวส์ ออลลองด์ แห่งฝรั่งเศส ระบุว่า รัฐบาลจะประกาศภาวะ “ภัยพิบัติทางธรรมชาติ” ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันพุธหน้า (8 มิ.ย.) ซึ่งเป็นขั้นตอนที่จะนำไปสู่การอนุมัติเงินชดเชยแก่ผู้ประสบภัย
เอเอฟพี - มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 9 ราย
ในอุทกภัยที่ก่อความเสียหายร้ายแรงในเยอรมนี และ ฝรั่งเศส
ขณะที่หน่วยกู้ภัยต้องล่องเรือชูชีพไปตามท้องถนนสายต่าง ๆ
ที่กลายสภาพเป็นแม่น้ำโคลน เพื่อช่วยเหลือชาวบ้านจำนวนมากติดค้างอยู่ในที่พักอาศัย
ในกรุงปารีส
เจ้าหน้าที่ต้องจัดทำแนวกั้นน้ำท่วมฉุกเฉินหลายจุดตามแม่น้ำแซน
ที่เอ่อล้นในวันพฤหัสบดี (2 มิ.ย.)
หลังจากมีฝนตกหนักต่อเนื่องหลายวัน ในนั้นรวมถึงพื้นที่พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์สถานที่จัดแสดงงานศิลปะอันประเมินค่ามิได้
ที่เยอรมนี กระแสน้ำอันเชี่ยวกรากได้ซัดสต๊อกไม้ของโรงเลื่อยแห่งหนึ่งในเมืองซิมบัค
อัม อินน์ หายไปทั้งหมด ขณะที่กองไม้ขาดมหึมาไหลบ่าไปปิดกั้นถนนสายต่าง ๆ ของเมือง
บนถนนสายหนึ่ง
ผู้สัญจรผ่านไปมาได้พบกับภาพแปลกตารถยนต์คันหนึ่งจอดเป็นแนวดิ่งกับกำแพงบ้าน
เนื่องจากถูกกระแสน้ำซัดไปแน่นิ่งอยู่บริเวณดังกล่าวขณะเดียวกันรถยนต์จำนวนมากก็หงายท้องอยู่บนถนนที่ปกคลุมไปด้วยโคลน
ในบรรดาผู้เสียชีวิตที่ซิมบัค รวมถึงผู้หญิง 3 คน
จากครอบครัวเดียวกัน คุณแม่กับลูกสาว และคุณยาย ซึ่งติดอยู่ภายในบ้านของพวกเขา “กระแสน้ำพัดมาเร็วมาก จนชาวบ้านแทบไม่มีเวลาหนีเลย” โฆษกตำรวจกล่าว ตำรวจเผยว่า พบเห็นศพชายคนหนึ่งในซิมบัค ส่วนผู้หญิงวัย 80 ปี ถูกพบสิ้นลมหายใจในเมืองจัลบัค ที่อยู่ห่างออกไปไม่กี่กิโลเมตร
หลังจากบ้านของเธอพังครืนลงจากการถูกกระแสน้ำซัด ยอดผู้เสียชีวิตดังกล่าว
ส่งผลให้ตัวเลขเหยื่อของอุทกภัยครั้งนี้เพิ่มเป็น 9 ราย
ในนั้น 4 ราย
เสียชีวิตเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ในรัฐบาเดน-เวือร์ทเทมแบร์ก ทางภาคใต้ของเยอรมนี
ขณะที่โฆษกรัฐบาวาเรีย เผยกับเอเอฟพีว่ามีชาวบ้านสูญหาย 4 คน นางอังเกลา แมร์เคิล
นายกรัฐมนตรีเยอรมนี กล่าวระหว่างแถลงข่าวว่า “ดิฉันร่ำไห้แก่ผู้คนที่ต้องสญเสียชีวิตในอุทกภัย
ดิฉันขออยู่เคียงข้างครอบครัวทั้งหลายที่ประสบภัยหายนะครั้งนี้” ในส่วนของฝรั่งเศส เมืองบางแห่งทางภาคกลางของประเทศ
ประสบกับอุทกภัยครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบกว่าศตวรรษ และต้องอพยพชาวบ้านแล้วมากกว่า 5,000
คน นับตั้งแต่สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานอุตุนิยมวิทยาฝรั่งเศส
บรรยายภาพสถานการณ์ว่าเลวร้ายกว่าอุทกภัยในปี 1910 โดยแม้แต่ใจกลางของกรุงปารีสก็ยังถูกน้ำท่วม
มีบ้านเรือนราว 24,400 หลัง
ต้องอยู่โดยปราศจากไฟฟ้าใช้ในภูมิภาคปารีส และ ลัวแร
ขณะที่ปัญหาน้ำท่วมบีบให้ต้องปิดการสัญจรของหนึ่งในเส้นทางเดินรถไฟสายหลักของเมืองหลวง
นอกจากนี้แล้ว ฝนยังส่งผลกระทบต่อเทนนิส แกรนด์ สแลม เฟรนช์ โอเพ่น
ที่ต้องเผชิญการเลื่อนเกมการแข่งขันหลายต่อหลายครั้งในช่วงต้นสัปดาห์
ส่งผลให้เหล่านักหวดลูกสักหลาดที่ต้องการผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ มีโปรแกรมการแข่งขันที่อัดแน่น
แถบตอนกลางของกรุงปารีส เส้นทางท่องเที่ยวริมแม่น้ำถูกน้ำท่วม เช่นเดียวกับแถว
ๆรูปปั้นจำลองเทพีเสรีภาพ ทั้งนี้ หน่วยกู้ภัยในย่านลองจูโม
ใช้เรือชูชีพแจวไปตามท้องถนนสายต่าง ๆ ขณะที่ในเมืองมอนทาร์จิส
เห็นแต่เพียงหลังคารถยนต์โผล่ขึ้นมาเหนือน้ำ มีชาวบ้านราว 200 คน ต้องค้างคืนอยู่ในโรงยิมเนเซียมในเมืองเนมัวร์ส ทางใต้ของปารีส
และนายกรัฐมนตรี มานูเอล วาลส์
ซึ่งลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมศูนย์ควบคุมวิกฤตของเมืองแห่งนี้ เผยว่า
จำเป็นต้องอพยพผู้คนเพิ่มเติมอีกอย่างน้อย 2,000 คน “สถานการณ์ยังคงตึงเครียดและยากลำบากในหลายพื้นที่ เรายังกังวลใจอย่างมาก”
โรงเรียนและถนนสายต่าง ๆ ในออสเตรีย
ก็ถูกน้ำท่วมเช่นกันในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา แต่ตอนนี้น้ำได้ลดระดับลงแล้ว
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของทั้งเยอรมนี และ ฝรั่งเศส เหล่านักอุตุนิยมวิทยาเตือนว่าจะมีฝนตกลงมาอย่างหนักอีกในช่วง24ชั่วโมงข้างหน้า สภาพอากาศเลวร้ายเริ่มต้นเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
ด้วยเมื่อเกิดฟ้าผ่าหลายบริเวณของยุโรป ซึ่งทำให้เด็ก ๆ หลายคนในปารีส และ
ทางตะวันตกของเยอรมนี อาการสาหัสเป็นตายเท่ากัน
เอเอฟพี - รัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์เตรียมเปิดอุโมงค์รถไฟยาวที่สุดในโลกอย่างเป็นทางการในวันนี้ (1 มิ.ย.)หลังจากที่มีการร่างต้นแบบเอาไว้เมื่อเกือบ70ปีมาแล้ว อุโมงค์ก็อตธาร์ด (Gotthard Base Tunnel) มีความยาวรวมทั้งสิ้น 57 กิโลเมตร โดยเจาะผ่านเทือกเขาแอลป์ตั้งแต่เมือง Erstfeld ในรัฐอูริ (Uri) ทางตอนกลางของประเทศ ไปจนถึงเมืองโบดิโอ (Bodio) ในรัฐติชีโน (Ticino) ทางตอนใต้ ต้นแบบของอุโมงค์รถไฟที่จะมุดผ่านใต้ช่องเขา ก็อตธาร์ด พาส ถูกร่างขึ้นเมื่อปี 1947 โดย คาร์ล เอดูอาร์ด กรูเนอร์ วิศวกรชาวสวิส แต่เนื่องจากความล่าช้าของระบบบริหาร บวกกับความกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายและอื่นๆทำให้โครงการก่อสร้างอุโมงค์เพิ่งจะเริ่มต้นได้ในปี1999 ด้วยระยะเวลาในการก่อสร้างยาวนานถึง 17 ปี และงบประมาณที่ใช้ไปอีกราว 12,000 ล้านฟรังก์สวิส ในที่สุดอุโมงค์ก็อตธาร์ดก็พร้อมแล้วที่จะเปิดประตูต้อนรับขบวนรถไฟรอบปฐมฤกษ์ นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล แห่งเยอรมนี, ประธานาธิบดีฟรองซัวส์ ออลลองด์ แห่งฝรั่งเศส, นายกรัฐมนตรีมัตเตโอ เรนซี แห่งอิตาลี และเจ้าหน้าที่ฝ่ายสวิตเซอร์แลนด์จะร่วมโดยสารไปกับขบวนรถไฟเที่ยวปฐมฤกษ์นี้ด้วย อุโมงค์แห่งนี้จะเปิดใช้งานอย่างเต็มรูปแบบในเดือน ธ.ค. โดยจะสามารถย่นเวลาเดินทางจากซูริกถึงมิลานให้เหลือเพียง 2 ชั่วโมง 40 นาที หรือน้อยกว่าปัจจุบันราว 1 ชั่วโมง เส้นทางรถไฟสายใหม่นี้ยังจะช่วยให้การขนส่งสินค้าทางรางมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นกว่าเก่า โดยจะสามารถรองรับสินค้าที่มีน้ำหนักมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดจำนวนรถบรรทุกที่ใช้น้ำมันดีเซลบนท้องถนนบรรเทาปัญหาจราจรและลดมลพิษ การรถไฟแห่งสวิตเซอร์แลนด์ประเมินว่า จำนวนผู้โดยสารรถไฟจะเพิ่มขึ้นจาก 9,000 คน เป็น 15,000 คนต่อวัน ภายในปี 2020 วิโอเลตา บุลก์ กรรมาธิการด้านการขนส่งแห่งสหภาพยุโรป กล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า อุโมงค์รถไฟสายนี้เป็นเสมือน “ของขวัญจากพระเจ้าให้แก่ยุโรป” และจะเป็นเส้นทางเชื่อมต่อที่สำคัญระหว่างร็อตเตอร์ดัมและแอนต์เวิร์ปกับท่าเรือริมฝั่งทะเลเอเดรียติก เมื่อเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการ อุโมงค์ก็อตธาร์ดจะกลายเป็นอุโมงค์รถไฟที่ยาวที่สุดในโลก แซงหน้าเจ้าของสถิติเดิมอย่างอุโมงค์เซกัง (Seikan Tunnel) ในญี่ปุ่นซึ่งมีความยาว 53.9 กิโลเมตร ส่วนอุโมงค์ Channel Tunnel ซึ่งเชื่อมระหว่างเกาะอังกฤษกับฝรั่งเศส และมีความยาว 50.5 กิโลเมตร จะหล่นลงไปอยู่อันดับที่ 3
(เครดิตอ้างอิง : คอลัมน์หน้าข่าวต่างประเทศ MGR online )
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น