บีบีซี -
คริสตินา กริมมี นักร้องสาววัย 22 ปี
ผู้เคยเข้าร่วมแข่งขันในเวที “เดอะ วอยซ์” รายการประกวดร้องเพลงทางโทรทัศน์ในสหรัฐอเมริกา
ถูกชายคนร้ายบุกยิงได้รับบาดเจ็บสาหัส
ขณะนักร้องสาวผู้นี้กำลังแจกลายเซ็นให้กับแฟนเพลงหลังเพิ่งลงจากเวทีคอนเสิร์ตที่พลาซ่า
ไลฟ์ ในเมืองออร์แลนโด มลรัฐฟลอริดาของสหรัฐ เหตุเกิดเมื่อเวลาประมาณ 22.45
น.ของวันที่ 10 มิถุนายนตามเวลาท้องถิ่น
โดยนักร้องสาวได้ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลท้องถิ่นในทันที
แต่ก็ทนพิษบาดแผลไม่ไหวและสิ้นใจในที่สุด ส่วนชายคนร้ายที่ถูกพี่ชายของกริมมีจับตัวไว้ได้
กลับใช้อาวุธปืนในมือยิงตัวเองตาย ตำรวจในเมืองออร์แลนโดได้ทวีตข้อความแจ้งข่าวการเสียชีวิตของนักร้องสาวรายนี้ว่า
“ด้วยความเสียใจอย่างสุดซึ้ง เราขอยืนยันว่าคริสตินา กริมมี
ได้เสียชีวิตแล้วจากอาการบาดเจ็บ” ขณะที่โฆษกของนักร้องสาวกล่าวว่า
“เป็นเรื่องเศร้าเสียใจอย่างยิ่งที่เราขอยืนยันว่าคริสตินาได้จากไปแล้วและได้ไปอยู่กับพระเจ้า” รายงานข่าวระบุว่า ชายคนร้ายที่พกพาอาวุธปืนมา 2 กระบอก
ได้เปิดฉากกราดยิงขณะที่กริมมีกำลังแจกลายเซ็นให้แฟนเพลงร่วมกับวง บีฟอร์ ยู
เอ็กซิท ด้านโฆษกหญิงกรมตำรวจออร์แลนโด กล่าวว่า พี่ชายของนักร้องสาวได้เข้ารวบตัวคนร้ายในทันทีหลังก่อเหตุ
ในระหว่างที่ต่อสู้กันอยู่นั้น
คนร้ายได้ใช้อาวุธปืนยิงตัวเองและเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ และว่า
พี่ชายของกริมมีถือเป็นฮีโร่ที่หยุดคนร้ายได้ก่อนที่จะไปทำร้ายคนอื่นอีก
ขณะนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังสอบสวนเหตุโจมตีที่เกิดขึ้น
โดยเฉพาะกรณีที่คนร้ายสามารถนำเอาอาวุธปืนผ่านเข้ามาในสถานที่จัดงานได้อย่างไร ทั้งนี้
กริมมี ได้เข้าร่วมประกวดร้องเพลงบนเวที เดอะ วอยซ์ อเมริกา ในปี 2557 โดยผ่านเข้ารอบสุดท้ายและได้ที่ 3 การเสียชีวิตของนักร้องสาวจุดกระแสตกตะลึงและโกรธขึ้งจากแฟนเพลงที่เข้ามาโพสต์ข้อความแสดงความรู้สึกในสื่อสังคมออนไลน์จำนวนมากด้วย
เอเจนซีส์ - กลยุทธ์ต่อต้านก่อการร้ายของอเมริกาถูกเพ่งเล็งอีกครั้ง หลังมือปืนที่เคยถูกเอฟบีไอสอบปากคำและปล่อยตัวถึงสองครั้ง ก่อคดีสะเทือนขวัญด้วยการบุกกราดยิงบาร์เกย์ในออร์แลนโด เมื่อวันอาทิตย์ (12) ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 50 คน และบาดเจ็บอีก 53 คน โดยคนร้าย โทร.แจ้ง 911 พร้อมประกาศว่า ตนเองภักดีต่อกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ก่อนก่อเหตุกราดยิง ด้าน โอบามา และ คลินตัน ระบุว่า เป็นการก่อการร้ายและอาชญากรรมจากความเกลียดชังที่ตอกย้ำความจำเป็นในการควบคุมอาวุธปืน ขณะที่ทรัมป์ฉวยความดีเข้าตัวด้วยการอ้างว่าเหตุการณ์นี้สนับสนุนข้อเสนอของตนในการแบนชาวมุสลิมไม่ให้เข้าอเมริกาพร้อมเรียกร้องให้โอบามาลาออก ตำรวจออร์แลนโดบุกเข้าสู่ไนต์คลับชื่อว่า “พัลส์” แล้ววิสามัญฆาตกรรมมือปืนเพื่อปิดฉากการกราดยิงครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกัน ซึ่งไม่เพียงนำมาซึ่งความเศร้าโศกเท่านั้น แต่ยังกระตุ้นให้ชาวเกย์และเลสเบียนรวมพลังต่อต้านการใช้ความรุนแรง โดยกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศกว่า 100,000 คน นัดเข้าร่วมขบวนพาเหรดสีรุ้งในลอสแองเจลิสที่จัดขึ้นตามกำหนด ส่วนที่นิวยอร์ก พิธีแจกรางวัลละครเพลง โทนี อะวอร์ดส์ จัดขึ้นตามกำหนดเช่นเดียวกันแต่อุทิศให้เหยื่อการสังหารหมู่ที่ออร์แลนโด ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ระบุว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการก่อการร้าย และเป็นการกระทำจากความเกลียดชัง ด้านเจ้าหน้าที่เผยไม่พบหลักฐานการมีสมาชิกกลุ่มหัวรุนแรงต่างชาติเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้ บุคคลสำคัญในชุมชนมุสลิมอเมริกา รวมถึงพระสันตะปาปาฟรานซิส กับบรรดาผู้นำโลก ต่างประณามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในออร์แลนโด ซึ่งถือเป็นการก่อการร้ายครั้งร้ายแรงที่สุดในอเมริกานับจากวินาศกรรม11กันยายน2001 สำนักงานสอบสวนกลางของสหรัฐฯ (เอฟบีไอ) ยอมรับว่า เคยสอบปากคำ โอมาร์ มาทีน วัย 29 ปี มือปืนในเหตุการณ์นี้สองครั้ง แต่ไม่พบแนวโน้มการก่ออาชญากรรม โรนัลด์ ฮอปเปอร์ เจ้าหน้าที่พิเศษของเอฟบีไอ สำทับว่า คนร้าย โทร.แจ้ง 911 พร้อมประกาศว่า ตนเองภักดีต่อกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ก่อนก่อเหตุกราดยิง ขณะเดียวกัน สำนักข่าวอามัคที่มีสายสัมพันธ์กับไอเอส ประกาศว่า นักรบไอเอสเป็นผู้ก่อเหตุครั้งนี้ แต่ไม่ได้แสดงหลักฐานยืนยันนอกจากอ้าง“แหล่งข่าวคนหนึ่ง”เท่านั้น รายงานระบุว่า พ่อแม่ของมาทีนเป็นชาวอัฟกานิสถาน ตัวเขาเองเกิดที่นิวยอร์กในปี 1986 แต่อาศัยอยู่ที่พอร์ต เซนต์ ลูซี รัฐฟลอริดา ซึ่งใช้เวลาในการเดินทางไปออร์แลนโดประมาณ2ชั่วโมง มีร์ เซ็ดดิก พ่อของมาทีน ให้สัมภาษณ์สถานีเอ็นบีซี นิวส์ ว่า บุตรชายอาจมีแรงจูงใจในการก่อเหตุจากความเกลียดชังพวกรักร่วมเพศ แต่คงไม่ใช่เรื่องศาสนาอย่างแน่นอน ซิโตรา ยูซูฟี อดีตภรรยาที่หย่าขาดจากคนร้ายตั้งแต่ปี 2011 หลังแต่งงานได้เพียง 4 เดือน เผยคนร้ายชอบใช้กำลังกับเธอ มาทีนยังมีความผิดปกติทางอารมณ์และทางจิต ไม่ได้เป็นพวกเคร่งศาสนาแต่ใฝ่ฝันอยากเป็นตำรวจ นอกจากนั้น อิหม่ามของมิสยิดในฟลอริดาที่มาทีนไปสวดมนต์เป็นประจำมาตลอดเกือบ 10 ปี บอกว่า มาทีนเป็นคนพูดจาสุภาพนุ่มนวล แต่ไม่ค่อยสุงสิงกับคนอื่น อย่างไรก็ตาม ฮอปเปอร์ เผยว่า มาทีนเคยแสดงพฤติกรรมที่เป็นสัญญาณอันตราย ด้วยการบอกกับเพื่อนร่วมงาน ว่าตนเองสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายทำให้เอฟบีไอต้องนำตัวไปสอบปากคำเมื่อปี2013 หนึ่งปีให้หลัง มาทีนถูกสอบปากคำอีกครั้ง โดยเจ้าหน้าที่ผู้ต้องการตรวจสอบการติดต่อของเขากับ โมเนอร์ โมฮัมหมัด อาบูซัลฮา ชาวฟลอริดา ที่ต่อมากลายเป็นพลเมืองอเมริกันคนแรกที่ก่อเหตุระเบิดฆ่าตัวตายในซีเรีย ซึ่งถูกระบุว่าเป็นสมาชิกเครือข่ายอัล-กออิดะห์ เอฟบีไอสรุปว่า การติดต่อดังกล่าวไม่มีความสลักสำคัญอันใดและไม่บ่งชี้ความสัมพันธ์หรือภัยคุกคามในขณะนั้น การสังหารหมู่ครั้งนี้มีขึ้นขณะที่การหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกากำลังเข้มข้น ซึ่งแน่นอนว่า ผู้สมัครคนสำคัญต้องรีบออกมาแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ ฮิลลารี คลินตัน ว่าที่ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครต เลื่อนการหาเสียงร่วมกับโอบามา และทวีตให้กำลังใจครอบครัวเหยื่อในออร์แลนโด นอกจากนี้ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ผู้นี้ ยังระบุเช่นเดียวกับโอบามาว่า เหตุการณ์สังหารหมู่ล่าสุดเป็นการก่อการร้ายและการกระทำจากความเกลียดชังซึ่งย้ำเตือนถึงความจำเป็นในการควบคุมอาวุธปืน ด้าน โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกัน ไม่รอช้าที่จะอวดอ้างว่า การโจมตีล่าสุดพิสูจน์ว่า เขาเป็นฝ่ายถูกในการเรียกร้องให้ห้ามชาวมุสลิมเดินทางเข้าอเมริกา มหาเศรษฐีจากนิวยอร์กผู้นี้ยังเรียกร้องให้โอบามาลาออก เพราะไม่กล้าประกาศว่า การสังหารหมู่ที่เกิดขึ้นเป็นฝีมือของ “อิสลามหัวรุนแรง” พร้อมให้สัญญาว่าจะปราศรัยเรื่องนโยบายความมั่นคงในวันจันทร์(13) ทั้งนี้ เหตุกราดยิงในพัลส์เกิดขึ้นและจบลงในเวลา 3 ชั่วโมง ตั้งแต่เวลา 2.00 น. วันอาทิตย์ (13.00 น.) เมื่อเสียงปืนชุดแรกดังแทรกเสียงดนตรี โดยมือปืนมีปืนไรเฟิลจู่โจมและปืนพกอย่างละกระบอก การสังหารหมู่จบลงด้วยการที่ตำรวจใช้ยานยนต์หุ้มเกราะที่เรียกว่า“แบร์แคต” พุ่งชนกำแพงเข้าไปในไนต์คลับและวิสามัญฆาตกรรมมือปืนที่จับตัวประกันนับสิบคนไปอยู่รวมกันในห้องน้ำ
เอเอฟพี - กระทรวงกลาโหมรัสเซียออกประกาศหยุดยิงเป็นเวลา 48 ชั่วโมงที่เมืองอะเลปโปของซีเรีย
เพื่อบรรเทาสถานการณ์ความรุนแรง หลังจากที่มีเหตุปะทะอย่างหนักระหว่างกองกำลังฝ่ายรัฐบาล
กบฏ และนักรบญิฮัดจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตราว70ราย
“ด้วยการริเริ่มจากฝ่ายรัสเซีย
ช่วงเวลาหยุดยิง (regime of silence) จะถูกบังคับใช้ในเมืองอะเลปโปเป็นเวลา
48 ชั่วโมง ตั้งแต่ 00.01 น. ของวันที่
16 มิ.ย.เป็นต้นไป
โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดความรุนแรงทางอาวุธ และทำให้สถานการณ์กลับคืนสู่ความสงบ”คำแถลงจากกระทรวงกลาโหมรัสเซียเมื่อช่วงกลางดึกวันพุธ(15)ระบุ อย่างไรก็ตาม
คำแถลงนี้ไม่ได้ระบุว่ารัสเซียได้ไปเจรจาเรื่องการหยุดยิงกับฝ่ายใดมาแล้วบ้าง มอสโกอ้างว่า
กองกำลังอัล-นุสรา ฟรอนท์ ซึ่งเป็นเครือข่ายอัลกออิดะห์
ได้ใช้จรวดโจมตีหลายย่านในเมืองอะเลปโป
และยังส่งรถถังเข้าโจมตีทางฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองด้วย คำสั่งหยุดยิงซึ่งรัสเซียประกาศล่วงหน้าเพียง
1 ชั่วโมงมีขึ้นในขณะที่ จอห์น เคร์รี
รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ
ออกมากล่าวเตือนรัสเซียและซีเรียให้เคารพข้อตกลงหยุดยิงซึ่งกำลังถูกท้าทายอย่างหนักจากการสู้รบในเมืองอะเลปโป รัสเซียซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญของประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-อัสซาด
แห่งซีเรีย ส่งฝูงบินขับไล่เข้าไปช่วยทิ้งระเบิดหนุนหลังกองทัพฝ่ายรัฐบาลซึ่งต้องต่อสู้ทั้งกับกองกำลังฝ่ายกบฏซีเรียและพวกนักรบญิฮัด
ศูนย์สังเกตการณ์สิทธิมนุษยชนซีเรียซึ่งมีฐานในกรุงลอนดอนรายงานว่า
ตั้งแต่การสู้รบปะทุขึ้นทางตอนใต้ของเมืองอะเลปโปเมื่อวันอังคาร (14) ก็มีนักรบถูกสังหารไปแล้วราว
70 ราย ขณะที่มูลนิธิ Medecins du Monde ระบุว่า โรงพยาบาลแห่งหนึ่งทางตะวันออกของอะเลปโปถูกระเบิดได้รับความเสียหายอย่างหนัก
รอยเตอร์- เจ้าหน้าที่สหรัฐฯและอิรักในวันศุกร์(10มิ.ย.)
ไม่สามารถยืนยันรายงานข่าวจากสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งของอิรัก ที่ระบุว่า อาบู
บาการ์ อัล-บักดาดี ผู้นำสูงสุดของกลุ่มหัวรุนแรงรัฐอิสลาม(ไอเอส)
ได้รับบาดเจ็บจากปฏิบัติการโจมตีทางอากาศในทางเหนือของประเทศ
พันเอกคริส การ์เวอร์ โฆษกของพันธมิตรนานาชาติที่นำโดยสหรัฐฯต่อสู้กับพวกไอเอส
เปิดเผยผ่านอีเมล์ว่าเขาเห็นรายงานข่าวดังกล่าวแล้ว
แต่ไม่สามารถยืนยันได้ในเวลานี้ ด้านกองกำลังชาวเคิร์ดและเจ้าหน้าที่ความมั่นคงอาหรับในทางภาคเหนือของอิรักก็บอกว่าไม่สามารถยืนยันรายงานข่าวดังกล่าวได้เช่นกัน
สถานีโทรทัศน์อัล ซูมาริยา อ้างแหล่งข่าวท้องถิ่นในจังหวัดนิเนเวห์
ทางภาคเหนือของอิรัก
ระบุว่านายบักดาดีและแกนนำคนอื่นๆของไอเอสได้รับบาดเจ็บในวันพฤหัสบดี(9มิ.ย.) จากปฏิบัติการโจมตีทางอากาศของพันธมิตรนานาชาติถล่มหนึ่งในกองบัญชาการของกลุ่มติดกับชายแดนซีเรีย
สื่อมวลชนแห่งนี้มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับเหล่านักการเมืองชีอะห์และกองกำลังอิรักที่กำลังสู้รบกับพวกไอเอส
อย่างไรก็ตามในอดีตที่ผ่านมา ก็เคยมีรายงานข่าวหลายต่อหลายครั้งว่านายบักดาดี
ซึ่งมีชื่อจริงว่า อิบราฮิม อัล-ซามาร์ราอี เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บหลังอ้างตัวว่าเป็นกาหลิบของมุสลิมทั้งมวลเมื่อ2ปีก่อน พวกสุหนี่หัวรุนแรงสุดโต่งกลุ่มนี้กำลังตกอยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างหนักทั้งในอิรักและซีเรีย
โดยดินแดนที่อยู่ภายใต้การยึดครองของพวกเขาลดลงอย่างมากนับตั้งแต่ปี 2014 ขณะที่เหล่าแกนนำของพวกเขาต้องเคลื่อนย้ายไปเรื่อยๆหรือไม่ก็หาแหล่งกบดาน เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา
สหรัฐฯประกาศยกระดับความเข้มข้นในการทำสงครามกับพวกไอเอส
ด้วยระดมโจมตีทางอากาศหนักหน่วงขึ้นและส่งทหารเข้าไปยังพื้นที่เพิ่มเติม
เพื่อให้คำปรึกษาและช่วยเหลือกองกำลังพันธมิตร
เอเอฟพี
- นักรบอย่างน้อย 70 คนถูกสังหารในช่วงเวลาไม่ถึง
24 ชั่วโมง ของการปะทะรุนแรงระหว่างกองกำลังฝักใฝ่รัฐบาล
นักรบญิฮาด และฝ่ายกบฏในจังหวัดอเลปโปของซีเรีย กลุ่มสังเกตการณ์ฯ ระบุในวันพุธ(15)
นักรบโปรรัฐบาลซึ่งได้รับการสนับสนุนจากการโจมตีทางอากาศของรัฐบาลและรัสเซียได้ชิงคืนหมู่บ้านเซย์ตัน
และคาลาซา
จนถึงพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองอเลปโปหลังจากสูญเสียการควบคุมพื้นที่เหล่านี้เมื่อไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้า
กลุ่มสังเกตการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในซีเรีย (Syrian ObservatoryforHumanRights)ระบุ แต่ กลุ่มอัล-นุสราฟรอนท์ เครือข่ายของกลุ่มอัลกออิดะห์
ได้เริ่มการโจมตีโต้กลับเพื่อยึดคืนหมู่บ้านคาลาซาเมื่อช่วงเช้าวันนี้ (15)
รามี อับเดล เราะห์มาน ผู้อำนวยการกลุ่มระบุ“คาลาซาเป็นเนินเขาสูงที่มองลงไปเห็นพื้นที่ส่วนใหญ่บริเวณตอนใต้ของจังหวัดอเลปโป”
เขากล่าว พื้นที่ดังกล่าวสามารถมองไปเห็นเส้นทางเสบียงของฝ่ายรัฐบาลรอบพื้นที่ทางตอนใต้ของเมืองอเลปโป
ซึ่งเชื่อมโยงสนามบินเนย์รับของรัฐบาลกับพื้นที่ตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองนี้
และเชื่อมพื้นที่ที่ถูกควบคุมโดยทหารรัฐบาลกับพื้นที่ตะวันตกของเมืองนี้เขากล่าว พื้นที่ยึดครองของฝ่ายกบฏและนักรบญิฮาดในตอนใต้ของจังหวัดอเลปโปเผชิญกับการโจมตี
และการยิงปืนใหญ่อย่างหนักหน่วงตลอดทั้งคืน
กลุ่มสังเกตการณ์กลุ่มนี้ซึ่งมีฐานในอังกฤษและอาศัยเครือข่ายของแหล่งข่าวภายในซีเรียเพื่อรวบรวมข้อมูล
ระบุ ฝ่ายรัฐบาลก็ตีกระหน่ำเส้นทางเสบียงสำคัญและพื้นที่ทางตอนเหนือของเมืองอเลปโปตลอดทั้งคืนเช่นกันกลุ่มสังเกตการณ์ฯระบุ
หนังสือพิมพ์อัล-วาตัน ซึ่งใกล้ชิดกับฝ่ายรัฐบาลรายงานว่า มีการโจมตีทางอากาศของรัสเซียในจังหวัดนี้ในวันพุธ(15)
“เครื่องบินขับไล่ของรัสเซียเริ่มปฏิบัติภารกิจในอเลปโปใหม่อีกครั้ง
โดยพุ่งเป้าที่ตำแหน่งของของกลุ่มอัล-นุสราฟรอนท์และกลุ่มติดอาวุธแนวร่วม” อัล-วาตัน รายงาน มอสโคเริ่มการโจมตีทางอากาศเพื่อสนับสนุนรัฐบาลดามัสกัสในเดือนกันยายนปีที่แล้ว
เมืองอเลปโปครั้งหนึ่งเคยเป็นศูนย์กลางทางการค้าของซีเรีย
แต่กลับกลายเป็นสนามรบนับตั้งแต่ปี 2012เมื่อกลุ่มกบฏยึดพื้นที่ตะวันออกของเมืองบีบกองทัพให้ไปอยู่ทางฝั่งตะวันตก
ในภาคตะวันตกของอเลปโป การยิงปืนใหญ่ของฝ่ายกบฏได้ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 คน และบาดเจ็บอีก 3 คนในวันพุธ (15) สำนักข่าวซานาของทางการรายงาน สงครามในซีเรียคร่าชีวิตคนไปแล้วกว่า 280,000
คน
และทำให้มีผู้พลัดถิ่นฐานหลายล้านคนนับตั้งแต่มันเริ่มต้นด้วยการปราบปรามการประท้วงต่อต้านรัฐบาลอย่างเหี้ยมโหดในปี
2011
รอยเตอร์ - อิหร่านเปิดเผยในวันอังคาร (14 มิ.ย.) บรรลุข้อตกลงกับบริษัทโบอิ้ง
โคสำหรับจัดหาเครื่องบินแก่พวกเขา
เท่ากับเป็นการกลับมาเปิดน่านฟ้าต้อนรับฝูงบินใหม่จากสหรัฐฯ
เป็นครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษภายใต้ข้อตกลงนานาชาติปลดเปลื้องมาตรการคว่ำบาตรต่อโครงการนิวเคลียร์รายละเอียดของข้อตกลงดังกล่าวยังคงคลุมเครือ
แต่แหล่งข่าวตะวันตกและตะวันออกกลางระบุว่าเมื่อได้รับความเห็นชอบ
ข้อตกลงนี้จะเกี่ยวข้องกับการที่ อิหร่านแอร์ สายการบินแห่งชาติของอิหร่านจะสั่งซื้อเครื่องบินโบอิ้งมากกว่า100ลำทั้งผ่านการซื้อโดยตรงจากโบอิ้งเองและจากเหล่าบริษัทเช่าซื้อ “บริษัทแห่งนี้จะแถลงรายละเอียดต่างๆ ของข้อตกลงในอีกไม่กี่วันข้างหน้า”
สำนักข่าวเมห์รของอิหร่านรายงานโดยอ้างคำสัมภาษณ์ของนายอับบาส
อาคอนดิ รัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาถนนและเมือง แหล่งข่าวเผยว่า จนถึงตอนนี้ข้อตกลงยังเป็นแผนการคร่าวๆ
อย่างกว้างขวาง
และข้อตกลงอย่างเป็นทางการจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อโบอิ้งได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลสหรัฐฯ
ในการขายเครื่องบินแก่อิหร่านเสียก่อนขณะที่เตหะรานถูกห้ามซื้อเครื่องบินของอเมริกามาเป็นเวลาเกือบ40ปีแล้ว ณ
ปัจจุบันโบอิ้งได้รับอนุญาตเพียงแค่นำเสนอสินค้าแก่อิหร่านแอร์และสายการบินอื่นๆ
จำนวนหนึ่ง ในความพยายามต่อสู้แข่งขันกับแอร์บัสของยุโรป
ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่กี่เดือนเพิ่งบรรลุข้อตกลงเบื้องต้นสำหรับจัดหาเครื่องบิน118ลำแก่อิหร่านในมูลค่ากว่า27,000ล้านดอลลาร์ “เราอยู่ระหว่างติดต่อพูดคุยกับสายการบินต่างๆ
ของอิหร่านที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลสหรัฐฯ
เกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะซื้อเครื่องบินโดยสารและการบริการจากโบอิ้ง” โฆษกของโบอิ้งระบุในอีเมล “การพูดคุยระหว่างเรากับเหล่าลูกค้ายังไม่มีการหารือในรายละเอียด
และตามมาตรฐานของเรา เราจะยอมให้ลูกค้าแถลงข้อตกลงใดๆ เมื่อบรรลุข้อตกลงแล้วและการบรรลุข้อตกลงใดๆจะผูกพันกับความเห็นชอบจากรัฐบาลสหรัฐฯ”
รอยเตอร์รายงานเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าอิหร่านใกล้บรรลุข้อตกลงประวัติศาสตร์ในการซื้อเครื่องบินจากโบอิ้งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เหตุปฏิวัติอิสลาม
1979 และคาดหมายว่าข้อตกลงซื้อเครื่องบินมากกว่า 100 ลำดังกล่าวจะบรรลุเร็วๆนี้ ประธานของอิหร่านแอร์บอกกับรอยเตอร์ว่ากำลังหารือกับโบอิ้งเกี่ยวกับการมอบความสนับสนุนฝูงบินเก่าๆ
ของพวกเขาภายใต้ข้อตกลงระหว่างเตหะรานกับ 6 ชาติมหาอำนาจเมื่อปีที่แล้ว
สำหรับผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรแลกกับการที่เตหะรานระงับกิจกรรมทางนิวเคลียร์ อิหร่านต้องการเครื่องบินราวๆ
400 ลำสำหรับฟื้นฟูฝูงบินของพวกเขาหลังถูกคว่ำบาตรมาหลายทศวรรษ
และเตรียมพร้อมสำหรับขยายโครงการต่างๆ ขณะที่เจ้าหน้าที่ระดับสูง 2 คนของเตหะรานเคยกล่าวเมื่อปีที่แล้ว
คาดหมายว่าอิหร่านจะซื้อเครื่องบินจากโบอิ้งราวๆ 100 ลำเมื่อมาตรการคว่ำบาตรถูกยกเลิก
เอเจนซีส์
/ MGR online - เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน
รัฐมนตรีกลาโหมของซาอุดีอาระเบียเปิดใจผ่านสำนักข่าว “เปตรา
นิวส์” ของรัฐบาลจอร์แดน
โดยยอมรับเป็นครั้งแรกว่าราชอาณาจักรกลางทะเลทรายของพระองค์เป็นผู้ให้การสนับสนุนทางการเงินรายใหญ่ในสัดส่วน
20 เปอร์เซ็นต์ หรือ 1 ใน 5 ของเงินที่นางฮิลลารี คลินตัน
ใช้ในการหาเสียงชิงเก้าอี้ตัวแทนพรรคเดโมแครตในช่วงที่ผ่านมา
และพร้อมเพิ่มการสนับสนุนอีกเพื่อส่งอดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งผู้นี้ก้าวเข้าสู่ทำเนียบขาวในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐฯคนต่อไป
บทสัมภาษณ์ของเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน รัฐมนตรีกลาโหมของซาอุดีอาระเบีย
ควบกับตำแหน่งมกุฎราชกุมาร ได้ถูกเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของสำนักข่าวรัฐบาลจอร์แดน
โดยพระองค์ระบุว่าในความเป็นจริงแล้วซาอุดีอาระเบียคือผู้บริจาครายใหญ่ให้แก่ทั้งพรรคเดโมแครต
และพรรครีพับลิกันในการเลือกตั้งเกือบทุกครั้งที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี
เจ้าชายโมฮัมเหม็ดกล่าวว่า ราว 20 เปอร์เซ็นต์ หรือ 1
ใน 5 ของเงินที่นางฮิลลารี คลินตัน
ใช้ในการหาเสียงเพื่อชิงเก้าอี้ตัวแทนพรรคเดโมแครตในช่วงที่ผ่านมาเป็นเงินสนับสนุนที่นางคลินตันได้รับโดยตรงจากซาอุดีอาระเบีย
แต่ไม่มีการเปิดเผยว่ายอดเงินบริจาคทั้งหมดว่ามีจำนวนเท่าใดและขัดต่อกฎหมายสหรัฐฯหรือไม่
ด้านแหล่งข่าวทางการทูตในกรุงอัมมานของจอร์แดนเปิดเผยว่า
ราชวงศ์ซาอุดีอาระเบียพร้อมจ่ายเงินสนับสนุนเพิ่มเติมเพื่อส่งนางฮิลลารี คลินตัน
เข้าสู่ทำเนียบขาวในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนต่อไป เพื่อหลีกเลี่ยง “ยุคแห่งความไม่แน่นอน” หากปล่อยให้โดนัลด์ ทรัมป์
มหาเศรษฐีฝีปากกล้าจากฝั่งรีพับลิกัน ได้เก้าอี้ผู้นำสหรัฐฯ ไปครอง ในวันอังคาร (14
มิ.ย.) ทางเว็บไซต์ของสำนักข่าวเปตราได้ออกคำแถลงที่อ้างว่า
เว็บไซต์ของตนถูกโจมตีจากแฮกเกอร์ และว่ารายงานข่าวเรื่องบทสัมภาษณ์ของเจ้าชายโมฮัมเหม็ด
บิน ซัลมานที่ถูกเผยแพร่ออกไปผ่านทางเว็บไซต์ของตนก่อนหน้านี้นั้นเป็นเพียงข่าวที่ถูกกุขึ้น
อย่างไรก็ดี รายงานข่าวชิ้นเดียวกันนี้กลับถูกนำไปตีพิมพ์เผยแพร่ใหม่อีกครั้งผ่านเว็บไซต์ของสถาบัน
Persian Gulf Affairsในกรุงวอชิงตันดี.ซี.ในเวลาต่อมา ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา
ได้มีการเผยแพร่มุมมองของนักวิเคราะห์ดังที่ประเมินว่า
ซาอุดีอาระเบียและบรรดาประเทศเศรษฐีน้ำมันแถบอ่าวเปอร์เซีย ตั้งความหวังให้นางฮิลลารี
คลินตัน ว่าที่ผู้สมัครตัวแทนพรรคเดโมแครตเป็นฝ่ายคว้าชัยชนะเหนือโดนัลด์ ทรัมป์
จากฟากฝั่งรีพับลิกัน ในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2016 เพราะเป็นที่แน่ชัดว่าการก้าวเข้าสู่ตำแหน่งผู้นำหญิงเมืองลุงแซมของฮิลลารีจะเป็นผลดีและช่วย
“เอื้อประโยชน์ด้านพลังงาน” ให้แก่บรรดาชาติอาหรับมากกว่า
โรเบิร์ต แม็กนอลลี ประธานของบริษัทที่ปรึกษาด้านพลังงาน “Rapidan Group” ซึ่งมีฐานอยู่ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.ของสหรัฐฯ
เป็นผู้ที่ออกมาเปิดเผยประเด็นนี้ต่อสื่อดังอย่าง “ซีเอ็นบีซี”
เมื่อ 2 มิ.ย. ระหว่างเดินทางเข้าร่วมสังเกตการณ์การประชุมของสมาชิกกลุ่มโอเปก
(Organization of the Petroleum Exporting Countries : OPEC) หรือกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันเป็นสินค้าออกรายใหญ่ที่กรุงเวียนนาเมืองหลวงของออสเตรีย
“มันไม่ใช่เรื่องที่เป็นความลับดำมืดอีกต่อไปแล้ว เวลานี้บรรดาผู้มีอำนาจทางการเมือง
ทั้งในซาอุดีอาระเบียและรัฐอาหรับแถบอ่าวเปอร์เซีย ต่างสวดภาวนาให้ฮิลลารี คลินตัน
ได้เป็นประธานาธิบดีคนต่อไปของอเมริกา
เพราะรัฐเศรษฐีน้ำมันฝ่ายสุหนี่เหล่านี้ไม่ต้องการเผชิญหายนะครั้งใหญ่จากนโยบายต่างประเทศและพลังงานภายใต้สโลแกน
“อเมริกาต้องมาก่อน”ของโดนัลด์ทรัมป์”แม็กนอลลีกล่าว ประธานบริษัทที่ปรึกษาด้านพลังงาน Rapidan Group ระบุว่า
ไม่มีสมาชิกกลุ่มโอเปกชาติใดโดยเฉพาะในแถบอ่าวเปอร์เซียที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในสหรัฐอเมริกาแบบ
“พลิกขั้ว” ภายในชั่วระยะเวลาเพียงแค่ข้ามคืน
เพราะการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วที่ว่านี้จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจและการเมืองในแถบอ่าวเปอร์เซียที่เต็มไปด้วยดินแดนที่ต้องพึ่งพารายได้จากการส่งออกน้ำมันที่มีสัดส่วนมากกว่า
90 เปอร์เซ็นต์ในรายได้ทั้งหมดของประเทศ “คำถามหลักที่สมาชิกโอเปกหยิบยกกันมาหารือในเวลานี้
ไม่ใช่คำถามที่ว่าเมื่อใดราคาน้ำมันในตลาดโลกจะผ่านพ้นช่วงขาลงอีกต่อไป
เพราะคำถามยอดฮิตที่คาใจผู้มีอำนาจในโอเปกที่สุดในยามนี้ คือ คำถามที่ว่า
จะเกิดอะไรขึ้นกับตลาดน้ำมันและประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน หากว่าชายที่ชื่อ โดนัลด์
ทรัมป์ ได้ก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนต่อไป” แม็กนอลลีกล่าวเสริม
ตลอดระยะเวลาการหาเสียงที่ผ่านมา มหาเศรษฐีฝีปากกล้าจากนิวยอร์กอย่างโดนัลด์
ทรัมป์ ได้ตั้งคำถามมาโดยตลอด ถึงความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับซาอุดีอาระเบีย
ซึ่งทรัมป์เห็นว่าถึงเวลาแล้วที่สหรัฐฯ
จะต้องเลิกดำเนินนโยบายต่างประเทศโดยเฉพาะในตะวันออกกลางเพื่อ “เอาอกเอาใจ” ซาอุดีอาระเบีย
หวังแลกเปลี่ยนกับผลประโยชน์ด้านพลังงานที่รัฐบาลริยาดห์จะมอบตอบแทนให้แก่วอชิงตัน
ไม่น่าแปลกใจว่า นโยบายของทรัมป์ที่ต้องการให้อเมริกา “เป็นอิสระ”
ในด้านพลังงานและหลุดพ้นจากการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศจะสร้างความกังวลใจให้แก่ซาอุดีอาระเบียและรัฐอาหรับย่านอ่าวเปอร์เซียไม่น้อย
ก่อนหน้านี้ ทรัมป์ประกาศชัดเจนระหว่างการหาเสียงที่มลรัฐนอร์ทดาโกตา ว่าเขาต้องการให้อเมริกาเป็นอิสระอย่างสิ้นเชิงในด้านพลังงาน
ทั้งการเลิกนำเข้าน้ำมันจากนอกประเทศ
และการหันมาขุดค้นสำรวจแหล่งพลังงานภายในประเทศตัวเองด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ
ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในทางกลับกัน เป็นที่ทราบกันดีว่าหัวใจหลักในนโยบายต่างประเทศของนางฮิลลารี
คลินตัน อดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง-อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ
นั้นยังคงมีซาอุดีอาระเบียและรัฐอาหรับในตะวันออกกลางเป็นแกนกลาง
ยังไม่นับรวมกับกลุ่มผลประโยชน์ด้านพลังงานอีกนับไม่ถ้วนที่มีสายสัมพันธ์ยึดโยงกับอดีตประธานาธิบดีบิล
คลินตัน สามีของเธอ
ซึ่งเงื่อนไขเหล่านี้ดูจะเป็นผลดีและเป็นที่ต้องการของประเทศผู้ผลิตน้ำมันอาหรับ
ที่ไม่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงแบบสุดขั้วในวอชิงตัน หากทรัมป์ได้ครองอำนาจ “พวกผู้มีอำนาจในซาอุฯและรัฐอาหรับแถบอ่าวเปอร์เซียต่างเชื่อว่าพวกเขาจะสามารถพูดคุยและต่อรองผลประโยชน์ทั้งทางการเมือง
และพลังงานกับฮิลลารี และบิล คลินตันได้ง่ายกว่าการพูดคุยกับทรัมป์” แม็กนอลลีกล่าวทิ้งท้าย
รอยเตอร์- ผลสำรวจชี้ประชากรในรัฐสมาชิกใหญ่ๆ
สนับสนุนการรวมกลุ่มเป็นสหภาพยุโรป (EU) น้อยลงอย่างมากในช่วง1ปีที่ผ่านมา ผลสำรวจความคิดเห็นชิ้นนี้ถูกเผยแพร่เมื่อวันอังคาร
(7 มิ.ย.)
ก่อนจะมีการจัดทำประชามติในอังกฤษว่าด้วยการอยู่ร่วมหรือออกจากกลุ่มอียู 28
ประเทศในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า สถาบันวิจัยพิว (Pew Research Center) ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.
ได้สอบถามความคิดเห็นประชาชนใน 10 ประเทศขนาดใหญ่ที่สุดของอียู
ซึ่งก็พบว่าส่วนใหญ่ต้องการให้อังกฤษอยู่ร่วมเป็นสมาชิกต่อไป ผู้ตอบแบบสอบถามชาวสวีเดนร้อยละ 89, ชาวเนเธอร์แลนด์ร้อยละ
75 และชาวเยอรมันร้อยละ 74 เชื่อว่าการที่อังกฤษลาออกจากอียูหรือ“เบร็กซิต”(Brexit)ไม่ใช่เรื่องที่ดี อย่างไรก็ตาม
ผลสำรวจที่น่าตกตะลึงที่สุดก็คือ ชาวยุโรปที่เห็นด้วยกับการรวมกลุ่มเป็นสหภาพลดลงอย่างมาก
ซึ่งปัจจัยสำคัญน่าจะเกิดจากกลไกจัดการปัญหาผู้อพยพและวิกฤตเศรษฐกิจของอียูที่ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ
ตัวเลขผู้สนับสนุนอียูลดลงอย่างชัดเจนในฝรั่งเศส
โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามเพียงร้อยละ 38 เท่านั้นที่พอใจในบทบาทของอียูลดลงถึง17จุดจากปีที่แล้ว ระดับความนิยมอียูในสเปนลดลง
16 จุดลงมาเหลือเพียงร้อยละ 47 ขณะที่เยอรมนีลดลง
8 จุดเหลือร้อยละ 50 ส่วนอังกฤษลดลง 7
จุดเหลือเพียงร้อยละ 44 รัฐที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังสนับสนุนความเป็นอียูมากที่สุดได้แก่ โปแลนด์
และฮังการี ซึ่งขัดแย้งกับจุดยืนของรัฐบาลทั้ง2ชาติที่มีท่าทีลังเลสงสัยในอียูมากที่สุด
ผลสำรวจของพิวพบว่า ชาวโปแลนด์และชาวฮังการีสนับสนุนความเป็นอียูร้อยละ72และร้อยละ61ตามลำดับ “ไม่ใช่แค่ชาวอังกฤษเท่านั้นที่รู้สึกไม่มั่นใจในสหภาพยุโรป”รายงานของพิวระบุ “ความไม่พอใจที่เกิดขึ้นในหมู่ชาวยุโรปนั้นน่าจะเกิดจากวิธีรับมือคลื่นผู้อพยพของบรัสเซลส์
เราพบว่าประชากรส่วนใหญ่ในทุกๆ ประเทศที่ทำการสำรวจไม่เห็นด้วยกับแนวทางเช่นนี้”
ข้อสรุปดังกล่าวเห็นได้ชัดเจนที่กรีซ
ซึ่งเป็นปราการด่านหน้าที่ต้องรองรับคลื่นผู้อพยพหลายแสนคนที่หลั่งไหลข้ามทะเลอีเจียนมาจากตุรกี
ชาวกรีซร้อยละ
94 เชื่อว่าอียูจัดการวิกฤตผู้อพยพ “ผิดพลาด” ขณะที่ชาวสวีเดน, ชาวอิตาลี
และชาวสเปน ก็รู้สึกเช่นนั้นร้อยละ 88, ร้อยละ 77 และร้อยละ75ตามลำดับ นอกจากนี้ ชาวกรีซยังเป็นกลุ่มที่คัดค้านวิธีจัดการปัญหาเศรษฐกิจของอียูมากที่สุดถึงร้อยละ
92 รองลงมาได้แก่ ชาวอิตาลี (ร้อยละ 68)
และชาวฝรั่งเศส (ร้อยละ 66) ผู้ตอบแบบสอบถามชาวกรีซและอังกฤษ “เห็นด้วย”
ถึง 2 ใน 3 ว่าบรัสเซลส์ควรจะคืนอำนาจตัดสินใจบางส่วนกลับสู่รัฐบาลกลางแต่ละประเทศซึ่งเป็นสัดส่วนสูงกว่าทุกๆชาติที่ทำการสำรวจชาวอังกฤษจะลงประชามติว่าจะอยู่หรือไปจากอียูในวันที่
23 มิ.ย.นี้ ซึ่งผลสำรวจล่าสุดจาก YouGov พบว่าค่ายโปรอียูมีคะแนนนำกลุ่มหนุนเบร็กซิตอยู่เพียง 1 แต้ม
เอเจนซีส์
-
เกิดเหตุคาร์บอมบ์โจมตีรถรับส่งตำรวจปราบจลาจลตุรกีในเมืองอิสตันบูลช่วงชั่วโมงเร่งด่วนเช้าวันอังคาร
(7 มิ.ย.) ทำให้มีผู้เสียชีวิต 11 ราย และบาดเจ็บอีก 36 คน
โดยบริเวณจุดเกิดเหตุอยู่ใกล้ๆ กับแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ, มหาวิทยาลัยใหญ่
และสำนักงานนายกเทศมนตรี
ภายหลังเหตุร้ายคราวนี้ผ่านพ้นไปหลายชั่วโมงก็ยังไม่มีกลุ่มใดออกมาประกาศอ้างความรับผิดชอบ
ขณะที่สื่อภาครัฐรายงานว่าตำรวจได้จับกุมผู้ต้องสงสัยเอาไว้4คน วาซิป ซาฮิน ผู้ว่าการนครอิสตันบูล เผยว่า
คนร้ายกดรีโมตจุดชนวนระเบิดที่ซ่อนอยู่ในรถซึ่งจอดอยู่ขณะที่รถรับส่งตำรวจขับผ่าน
เหตุร้ายคราวนี้ถือเป็นเหตุระเบิดรุนแรงครั้งที่ 4 ที่เกิดขึ้นในเมืองใหญ่ที่สุดในตุรกีแห่งนี้ในรอบปีนี้
และแม้ยังไม่มีบุคคลหรือกลุ่มใดออกมาประกาศแสดงความรับผิดชอบ
แต่เป็นที่น่าสังเกตว่ากลุ่มติดอาวุธชาวเคิร์ดได้ก่อการโจมตีในลักษณะนี้มาแล้วหลายครั้งซึ่งรวมถึงเมื่อเดือนที่แล้วในเมืองอิสตันบูลนี้เช่นเดียวกัน
ซาฮินเสริมว่า ระเบิดที่มุ่งโจมตีรถรับส่งตำรวจปราบจลาจลนั้นส่งผลให้ตำรวจ 7
นาย และพลเรือน 4 คน เสียชีวิต นอกจากนั้นในบรรดาผู้ได้รับบาดเจ็บ36คนมี3คนอาการสาหัส เหตุโจมตีนี้เกิดขึ้นในเขตเวซเนซิเลอร์
ระหว่างสำนักงาน ซึ่งเป็นที่ตั้งของหน่วยงานเทศบาลหลายแห่ง
กับมหาวิทยาลัยอิสตันบูล จนทำให้มหาวิทยาลัยต้องประกาศเลื่อนการสอบ
อีกทั้งยังอยู่ไม่ไกลจากย่านประวัติศาสตร์ของเมือง ระเบิดส่งผลให้รถหลายคัน รวมถึงอาคารสถานที่ในบริเวณที่เกิดเหตุได้รับความเสียหาย
นอกจากนั้น
สำนักข่าวอนาโดลูของทางการตุรกียังรายงานว่าได้ยินเสียงปืนหลังการระเบิดด้วย สำนักข่าวอนาโตเลียของทางการตุรกีรายงานว่า
ผู้ต้องสงสัยทั้ง 4 คนถูกนำตัวไปสอบปากคำที่กองบัญชาการตำรวจในอิสตันบูล
ทว่ายังไม่ได้แถลงรายละเอียดใดๆ ถึงแม้ยังไม่มีกลุ่มใดออกมาอ้างตนเป็นผู้ก่อเหตุ
แต่ประธานาธิบดี เรเซป ตอยยิป เออร์โดกัน ก็ออกมาพูดชี้แนะว่า เคอร์ดิสถาน
เวิร์กเกอร์ ปาร์ตี้ (พีเคเค)
ซึ่งเป็นกลุ่มนอกกฎหมายของชาวเคิร์ดอยู่เบื้องหลังการโจมตีคราวนี้ สำหรับพีเคเคแล้ว
การพุ่งเป้าโจมตีเมืองสำคัญๆ อย่างอิสตันบูลนี้ “ไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่อะไรเลย”
เออร์โดกันกล่าวภายหลังไปเยี่ยมบรรดาผู้ได้รับบาดเจ็บที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในอิสตันบูล
“เราจะต่อสู้ปราบปรามกวาดล้างพวกผู้ก่อการร้ายอย่างไร้ความปรานีไปจนถึงที่สุด”
สำนักงานของเขายังออกคำแถลงฉบับหนึ่งในเวลาต่อมา
ซึ่งกล่าวว่าประธานาธิบดี เออร์โดกันยังประกาศว่าพวกคนร้ายที่ก่อเหตุคราวนี้จะ “ต้องจ่ายค่าเลือดเนื้อที่พวกเขาเข่นฆ่าสังหาร”
รอยเตอร์
/ เอเจนซีส์ / MGR online – ยอดการส่งออกน้ำมันของอิหร่าน
พุ่งสูงขึ้นแตะระดับ 2.1 – 2.3 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนเมษายนและเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
ถือเป็นการปรับเพิ่มขึ้นกว่าระดับ 1.3 ล้านบาร์เรลต่อวันเมื่อช่วงเดียวกันของปี
2015 ทั้งนี้ เป็นข้อมูลจากรายงานฉบับล่าสุดของรอยเตอร์
ซึ่งประเมินจากปริมาณน้ำมันของอิหร่านที่ทำการขนถ่ายลงเรือบรรทุกน้ำมัน
จากท่าเรือหลักทางภาคใต้ของสาธารณรัฐอิสลามแห่งนี้ตลอดระยะเวลากว่า2สัปดาห์ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี
การปรับเพิ่มขึ้นของยอดการส่งออกน้ำมันของอิหร่านในเวลานี้ยังคงเทียบไม่ได้
กับปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่าน ที่ออกสู่ตลาดโลกในช่วงก่อนการ“คว่ำบาตร”ที่เคยทำไว้ถึงวันละ2.5ล้านบาร์เรล รายงานล่าสุดของรอยเตอร์ระบุว่าน้ำมันที่ผลิตโดยอิหร่านในขณะนี้ถูกส่งออกไปยังประเทศปลายทางในภูมิภาคเอเชียมากที่สุด
โดยเฉพาะอินเดียจีนและญี่ปุ่นรวมถึงเวียดนาม ขณะที่ยอดการส่งออกน้ำมันจากอิหร่านสู่ประเทศต่างๆ
ในยุโรปกำลังปรับเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างสำคัญผ่านการขนส่งของเรือบรรทุกน้ำมันสัญชาติกรีซและตุรกี ทั้งนี้ อิหร่านและมหาอำนาจทั้ง 6 ชาติ (กลุ่ม
P5+1) ซึ่งประกอบไปด้วย 5 ชาติ “สมาชิกถาวร” ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ
คือ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย และสาธารณรัฐประชาชนจีน บวกกับอีก 1
ประเทศมหาอำนาจจากฝั่งยุโรปอย่างเยอรมนี
สามารถบรรลุความตกลงประวัติศาสตร์ทางด้านนิวเคลียร์กันได้เมื่อ 14 ก.ค.ปีที่แล้ว ถือเป็นการปิดฉากการเจรจาแบบมาราธอนที่ใช้เวลายาวนานกว่า 1
ทศวรรษ
และถือเป็นข้อตกลงซึ่งพลิกโฉมการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคตะวันออกกลางครั้งใหญ่
หลังการบรรลุข้อตกลงดังกล่าว ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ผู้นำสหรัฐฯ
ออกมาแถลงยกย่องว่านี่ถือเป็นก้าวย่างสำคัญไปสู่“โลกแห่งความหวังที่เพิ่มสูงขึ้น”
และตอกย้ำในเวลาต่อมาว่าข้อตกลงประวัติศาสตร์นี้
ถือเป็นแนวทางที่ดีที่สุด
เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันทางอาวุธนิวเคลียร์และช่วยลดทอนความตึงเครียดในภูมิภาคตะวันออกกลาง
ขณะที่ประธานาธิบดีฮัสซัน รูฮานี ผู้นำสายกลางของอิหร่าน
ออกแถลงว่าความสำเร็จในการบรรลุข้อตกลงด้านนิวเคลียร์ครั้งนี้
ถือเป็นข้อพิสูจน์ว่า
การมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันอย่างสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่ได้ผลดียิ่ง
และว่าหากการเผชิญหน้ากันอย่างศัตรูระหว่างวอชิงตันและเตหะรานยังดำเนินอยู่ต่อไปก็คงไม่มีความเป็นไปได้แม้แต่น้อยที่ข้อตกลงเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอิสราเอลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี เบนจามิน
เนทันยาฮูประกาศว่าจะเดินหน้าทำทุกวิถีทาง เพื่อหาทางทำลายล้างข้อตกลงอัปยศฉบับนี้
ซึ่งทางฝ่ายอิสราเอลมองว่าเป็น “การยอมจำนนครั้งประวัติศาสตร์”
ของสหรัฐฯ และโลกตะวันตก ให้กับชาติที่ชั่วร้ายอย่างอิหร่าน ภายใต้ข้อตกลงนี้ มาตรการลงโทษ
คว่ำบาตรอิหร่านทั้งหลายทั้งปวงของสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (อียู) และสหประชาชาติ
(ยูเอ็น) ที่บังคับใช้มาอย่างต่อเนื่องยาวนานได้ถูกยกเลิกเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา
เพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่รัฐบาลเตหะรานยอมตกลงตัดทอนโครงการนิวเคลียร์ของตน
ซึ่งสหรัฐฯ และโลกตะวันตกสงสัยมาโดยตลอดว่ามีเป้าหมายในการสร้าง“ระเบิดนิวเคลียร์”ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่เตหะรานยืนกรานปฏิเสธ
นักวิเคราะห์มองว่า การบรรลุข้อตกลงประวัติศาสตร์ครั้งนี้
ถือเป็นชัยชนะครั้งสำคัญยิ่ง ทั้งสำหรับบารัค โอบามา และฮัสซัน รูฮานี
และยังถือเป็นผลดี
ต่อการลดทอนความตึงเครียดในเวทีการเมืองระหว่างประเทศที่มีมายาวนาน
ถึงแม้ว่าผู้นำทั้งสอง ต่างต้องเผชิญหน้ากับแรงต่อต้านอย่างหนักหน่วง จากบรรดา “นักการเมืองสายเหยี่ยว” ภายในประเทศของตนเอง
โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ที่นักการเมืองจำนวนมากยังคงมองอิหร่านเป็นศัตรูคู่อาฆาตที่เป็น“แกนอักษะแห่งปีศาจ”ด้านสำนักข่าวไออาร์เอ็นเอของทางการอิหร่านรายงานว่า
ผลของข้อตกลงนี้จะทำให้อิหร่านได้รับเงินนับหมื่นล้านดอลลาร์ที่ถูกอายัดไว้กลับคืนมา
ขณะที่บรรดามาตรการคว่ำที่มีต่อธนาคารกลาง บริษัทน้ำมันแห่งชาติ บริษัทชิปปิ้ง
และสายการบินของอิหร่านได้ถูกยกเลิก
ถึงแม้มาตรการขององค์การสหประชาชาติในเรื่องการคว่ำบาตรห้ามซื้อขายอาวุธกับอิหร่าน
จะยังคงมีผลบังคับใช้ต่อไปอีก 5 ปี และห้ามอิหร่านจัดซื้อเทคโนโลยีด้านขีปนาวุธอีกนาน8ปี ว่ากันว่าผลประโยชน์ที่อิหร่านจะได้รับจากข้อตกลงคราวนี้
อาจสร้างความกังวลต่อชาติพันธมิตรอาหรับของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคตะวันออกกลาง
โดยเฉพาะในกรณีของซาอุดีอาระเบีย ประเทศที่ปกครองโดยมุสลิมนิกายสุหนี่
ที่เชื่อว่าอิหร่านซึ่งเปรียบเหมือนผู้นำของฝ่ายมุสลิมนิกายชีอะห์
ให้การสนับสนุนต่อศัตรูของตนทั้งในสมรภูมิที่ซีเรีย เยเมน และประเทศอื่นๆ
ในภูมิภาค อย่างไรก็ดี รัฐบาลอเมริกันในเวลานี้ มองเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องเร่งฟื้นฟูความสัมพันธ์กับอิหร่าน
ที่มี “ศัตรูร่วมกัน” คือ
กลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ที่กำลังยึดครองพื้นที่กว้างขวางทั้งในอิรักและซีเรียอยู่ในเวลานี้และถือเป็น“ภัยคุกคามใหญ่หลวง”ต่อสันติภาพของโลก ในอีกด้านหนึ่งการยุติมาตรการคว่ำบาตรทั้งปวง
จะช่วยส่งเสริมให้เศรษฐกิจอิหร่านเติบโตอย่างรวดเร็ว เนื่องจากสามารถกลับเข้าสู่ “ตลาดน้ำมัน”ได้อีกครั้ง แม้ในความเป็นจริงแล้ว
กว่าที่น้ำมันจากอิหร่านจะกลับเข้าไปซื้อขายในตลาดโลกไดอย่างเต็มรูปแบบนั้นอาจต้องรอถึงช่วงครึ่งหลังของปี2016นี้ก็ตาม
เกิดเหตุเครื่องบินสายการบินอียิปต์แอร์
เที่ยวบิน MS804 หายไปจากจอเรดาร์เหนือทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
ยังไม่ทราบชะตากรรมผู้โดยสารและลูกเรือรวม 66 คนบนเครื่อง
คาดเครื่องตกในทะเล ด้านอียิปต์แอร์ยืนยันยังไม่พบเครื่องบินขออย่าแพร่ข่าวเท็จ รายงานจากสำนักข่าว CNN ระบุว่า
เครื่องบินแอร์บัส เอ 320 ของสายการบินอียิปต์แอร์ลำนี้
ได้เดินทางจากกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส มายังปลายทางที่กรุงไคโร ประเทศอียิปต์
แต่แล้วกลับขาดการติดต่อไปหลังจากเพิ่งจะเข้าสู่น่านฟ้าของอียิปต์
และบินอยู่ที่ความสูง37,000ฟุตเหนือทะเลเมดิเตอร์เรเนียน สายการบินอียิปต์แอร์เผยว่า
เครื่องบินลำนี้ขาดการติดต่อไปเมื่อเวลา 02.45 น. ของวันที่ 19
พฤษภาคม 2559 ตามเวลาท้องถิ่นกรุงไคโร
บนเครื่องบินลำนี้มีคนอยู่ทั้งหมด 66 คน โดยเป็นลูกเรือ 10
คน และผู้โดยสาร 56 คน
และในจำนวนผู้โดยสารทั้ง 56 คนนี้ เป็นชาวฝรั่งเศส 15
คน, อียิปต์ 30 คน,
อังกฤษ 1 คน, เบลเยียม 1
คน, อิรัก 2 คน, คูเวต 1 คน, ซาอุดีอาระเบีย 1
คน, ซูดาน 1 คน, ชาด 1 คน, โปรตุเกส 1 คน, แอลจีเรีย 1 คน และแคนาดา 1
คน หลังเกิดเหตุทางสายการบินได้ส่งทีมกู้ภัยออกค้นหาเครื่องบินแล้ว
แต่ยังไม่มีใครทราบชะตากรรมของเครื่องบินลำนี้ โดยนายเชรีฟ อิสมาอิล
นายกรัฐมนตรีอียิปต์ ได้แถลงต่อสื่อมวลชนว่า ณ
ขณะนี้เรายังไม่รู้อะไรเกี่ยวกับการหายไปของ MS804 มันเร็วเกินไปที่จะไปสรุปอะไรในตอนนี้
เช่นเดียวกับทางด้านนายกรัฐมนตรีมานูเอล วอลส์ ของฝรั่งเศส ที่เปิดเผยว่า
"เรากำลังประสานกับทางการอียิปต์อย่างใกล้ชิด
ทั้งกรมการบินพลเรือนและทางกองทัพ
จนถึงตอนนี้ยังไม่มีทฤษฎีใดมายืนยันการหายไปของเครื่องบินลำนี้" ส่วนทางกรมการบินพลเรือนอียิปต์
ได้เผยเกี่ยวกับเหตุการณ์หายไปจากเรดาร์ของ MS804 ว่า
เชื่อว่าเครื่องบินน่าจะตกลงในทะเลแล้ว เช่นเดียวกับที่ในเวลาต่อมา
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอียิปต์
ได้เปิดเผยแถลงการณ์ที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวในระหว่างพบปะหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของฝรั่งเศส
ซึ่งระบุว่าเที่ยวบิน MS804 อาจจะเกิดอุบัติเหตุจนเครื่องตกแล้วจริงๆ
ในเวลาต่อมา นายเชรีฟ อิสมาอิล นายกรัฐมนตรีอียิปต์
ได้เปิดเผยกับสื่อมวลชนที่มารอสัมภาษณ์ ณ บริเวณท่าอากาศยานไคโร โดยระบุว่า ขณะนี้
ปฏิบัติการค้นหาเครื่องบินกำลังเป็นไปด้วยดี
โดยมีการวางกำลังกระจายในบริเวณที่ขาดการติดต่อกับนักบิน ทั้งนี้
ด้านกองทัพเรืออังกฤษและกรีซ
ได้ยืนยันแล้วว่าจะให้ความช่วยเหลือในปฏิบัติการค้นหาเครื่องบินด้วย ทั้งนี้เนื่องจากมีญาติบางส่วนของผู้โดยสารชาวฝรั่งเศส
ได้แสดงความประสงค์ที่จะเดินทางไปยังประเทศอียิปต์เพื่อเกาะติดสถานการณ์
ทางสายการบินอียิปต์แอร์ จึงเสนอให้ญาติ ๆ ได้โดยสารเครื่องบินสู่กรุงไคโรโดยไม่ต้องเสียค่าบริการใด
ๆ โดยคาดว่าจะมีการออกเดินทางกันในช่วงบ่ายของวันนี้ตามเวลาท้องถิ่นที่ประเทศฝรั่งเศสอย่างไรก็ดี
ในช่วงเวลาฉุกเฉินที่ผู้คนทั่วโลกกำลังเกาะติดสถานการณ์เครื่องบินหายดังกล่าว
ได้มีแหล่งข่าวหลายแหล่งเผยข้อมูลชวนแตกตื่นไปต่าง ๆ นานา
บ้างก็ว่าเครื่องบินตกลงในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนแน่นอนแล้ว
บ้างก็มีการยืนยันจุดตกว่าอยู่บริเวณนอกชายฝั่งประเทศกรีซ
ทำให้เกิดการแชร์ข้อมูลคลาดเคลื่อนอย่างกว้างขวาง จนในที่สุด สายการบินอียิปต์แอร์
ได้มีแถลงการณ์สั้น ๆ ผ่านทวิตเตอร์ ปฏิเสธข่าวพบเครื่องบินทุกข่าวเผยสถานะMS804คือ"หาย"ยังไม่ทราบสาเหตุ "อียิปต์แอร์ขอปฏิเสธข้อมูลเท็จทั้งหลายที่เผยแพร่โดยเว็บไซต์ข่าวและบนโซเชียลมีเดีย
เกี่ยวกับสาเหตุการหายไปของเที่ยวบิน MS804 สายการบินขอยืนยันว่าเรายังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการหายไปของเที่ยวบินนี้
อียิปต์แอร์ขอให้สื่อทั้งหลายตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่เผยแพร่ออกมาด้วย" (เครดิตข้อมูล : ข่าวแปล จากหน้าข่าวต่างประเทศ, MGR online )
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น