เอเจนซีส์ - ชาวเวียดนามรวมตัวประท้วงจีนครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 3 ปี ในวันนี้ (11) จากความไม่พอใจที่จีนเข้าไปตั้งแท่นขุดเจาะน้ำมันในน่านน้ำที่พิพาทกันอยู่ ขณะที่ทางการฮานอย ดูเหมือนจงใจไม่ปฏิบัติตามธรรมเนียมที่เคยเป็นมา โดยปล่อยให้ประชาชนก่อม็อบ พร้อมไฟเขียวให้สื่อรายงานสถานการณ์นี้อย่างใกล้ชิด ผู้ชุมนุมราว 1,000 คน ซึ่งมีทั้งทหารผ่านศึก และนักศึกษา ชูป้ายข้อความต่อต้านจีน เป็นต้นว่า “จีนปล้นน้ำมันของเรา” และร้องเพลงปลุกใจในบริเวณสวนสาธารณะซึ่งอยู่ตรงข้ามสถานทูตจีนในกรุงฮานอย ทหารผ่านศึกวัย 74 ปี คนหนึ่งกล่าวว่า นี่เป็นการประท้วงต่อต้านจีนครั้งใหญ่ที่สุดที่เกิดขึ้นในเมืองหลวงเท่าที่เขาเคยเห็นมาก่อน “ความอดทนของเรามีขีดจำกัด เรามาที่นี่เพื่อแสดงเจตจำนงของประชาชนเวียดนามในการปกป้องอธิปไตยของเรา ไม่ว่าจะต้องแลกด้วยอะไรก็ตาม เราพร้อมตายเพื่อปกป้องประเทศ” การชุมนุมครั้งนี้นับเป็นครั้งใหญ่ที่สุดตั้งแต่ปี 2554 เมื่อเรือของจีนเข้าตัดสายเคเบิลที่ใช้สำหรับการสำรวจแหล่งน้ำมันโดยวิธีวัดคลื่นไหวสะเทือนของเรือฝ่ายเวียดนาม ในคราวนั้น ทางการเวียดนามปล่อยให้มีการประท้วงอยู่หลายสัปดาห์ก่อนสลายการชุมนุมเนื่องจากมีการขยายผลสร้างกระแสต่อต้านรัฐบาล สำหรับครั้งนี้ ตำรวจทั้งใน และนอกเครื่องแบบตั้งด่านสกัดป้องกันไม่ให้ผู้ประท้วงเข้าสู่สถานทูตจีน แต่ไม่ได้สลายการชุมนุม แม้ปกติแล้วรัฐบาลคอมมิวนิสต์จะควบคุมการชุมนุมของประชาชนอย่างเข้มงวดเพื่อสกัดกระแสประท้วงต่อต้านรัฐบาลก็ตามจีนและเวียดนามมีกรณีพิพาทช่วงชิงดินแดนหมู่เกาะพาราเซล และหมู่เกาะสแปร็ตลีย์ ในทะเลจีนใต้มายาวนาน เคยถึงขั้นปะทะสู้รบกันด้วยกำลังอาวุธ ถึงแม้ในปีหลังๆ มานี้ มีเพียงแค่การปะทะคารมทางการทูตเกี่ยวกับสิทธิในการสำรวจน้ำมัน และการทำประมงในน่านน้ำดังกล่าวเป็นระยะๆ ความตึงเครียดระหว่างประเทศเพื่อนบ้านที่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์คู่นี้ ได้พุ่งขึ้นรุนแรงอีกครั้ง หลังจากตอนต้นเดือนพฤษภาคม จีนเคลื่อนย้ายแท่นขุดเจาะน้ำมันขนาดยักษ์ ไปติดตั้งในน่านน้ำใกล้กับหมู่เกาะพาราเซลที่แย่งชิงกรรมสิทธิ์กัน เวียดนามได้ออกคำแถลงตอบโต้ทันควันว่า การตัดสินใจของจีน “ผิดกฎหมาย” พร้อมส่งกองเรือตรวจการณ์จำนวนหลายสิบลำไปยังบริเวณดังกล่าว แต่ไม่สามารถฝ่าด่านกองเรือคุ้มกันของจีนซึ่งมีจำนวนมากกว่าเข้าไปได้ ถึงแม้ทั้งสองฝ่ายต่างยืนยันว่า เรือที่ส่งไปในพื้นที่ดังกล่าวไม่มีเรือของฝ่ายทหารรวมอยู่ด้วยเลย โดยมีแต่เรือของหน่วยงานพลเรือน เช่น หน่วยยามฝั่ง เท่านั้น แต่ต่างฝ่ายต่างก็กล่าวหากันว่า เรือของอีกฝ่ายหนึ่งได้พุ่งชนกระแทกใส่เรือของฝ่ายตนในลักษณะ “ยั่วยุ” ครั้งแล้วครั้งเล่า ทำให้สถานการณ์อยู่ในภาวะตึงเครียด ทางด้านญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ได้ออกมาแสดงความกังวลต่อสถานการณ์นี้ พร้อมระบุกล่าวโทษจีนว่ากำลังกระทำการในลักษณะ “ยั่วยุ” ขณะที่การประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศของอาเซียนในวันเสาร์ (10) ได้ออกคำแถลงแสดงความกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้ และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องใช้ความอดทนอดกลั้น ที่ผ่านมา ทางการเวียดนามเคยยอมให้มีการชุมนุมประท้วงจีนบ้าง แต่บ่อยครั้งที่สลายการชุมนุมด้วยความรุนแรง และเข้าจับกุมแกนนำรวมแล้วหลายสิบคน ซึ่งเป็นพวกที่รณรงค์เรียกร้องเสรีภาพทางการเมือง และสิทธิมนุษยชนพร้อมกันไปด้วย อย่างไรก็ตาม ในการชุมนุมวันนี้ (11) ทางการเวียดนามไม่ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นใดๆ รวมทั้งไม่มีคำสั่งสลายการชุมนุม ซ้ำยังมีกลุ่มที่เห็นชัดว่าเป็นพวกสนับสนุนรัฐบาลปะปนอยู่ในหมู่ผู้ประท้วงด้วย ซึ่งอาจตีความได้ว่า รัฐบาลเวียดนามต้องการแสดงความไม่พอใจต่อจีนผ่านการประท้วงของประชาชน นอกจากที่บริเวณหน้าสถานทูตจีนในกรุงฮานอยแล้ว ยังมีการชุมนุมต่อต้านจีนที่นครด่าหนัง ทางตอนกลางของเวียดนาม และที่นครโฮจิมินห์ ทางภาคใต้ของประเทศ ขณะเดียวกัน สื่อของรัฐที่ถูกควบคุมอย่างเข้มงวดได้รายงานข่าวกรณีพิพาทแท่นขุดเจาะน้ำมันอย่างใกล้ชิด รวมทั้งรายงานข่าวการชุมนุมประท้วงครั้งนี้อย่างกระตือรือร้น ผิดกับในอดีตซึ่งผู้สื่อข่าวที่ทำข่าวการประท้วงจะถูกเลือกปฏิบัติ และบางครั้งถึงขั้นถูกทำร้าย. นานาชาติเร่งภารกิจช่วยนักเรียนหญิงตัวประกันไนจีเรีย คาดอาจใช้มาตรการคว่ำบาตร ผู้คนทั่วโลกจี้ กลุ่ม "โบโค ฮาราม" ปล่อยเด็กๆ อย่างไม่มีเงื่อนไข
สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน เมื่อวันที่ 11 พ.ค. ว่า นานาชาติร่วมปฏิบัติการช่วยเหลือเด็กนักเรียนหญิงชาวไนจีเรีย 276 คน ยังตกเป็นตัวประกันถูกกลุ่มติดอาวุธอิสลามิคหัวรุนแรง “โบโก ฮาราม” ลักพาตัวไปจากโรงเรียนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตั้งแต่ 15 เม.ย.โดยสำนักกิจการต่างประเทศและกิจการเครือจักรภพอังกฤษออกแถลงการณ์พิจารณาใช้กำลังทหารตอบโต้กลุ่มโบโก ฮารามในระยะยาวเพื่อป้องกันเหตุรุนแรงและปราบปรามอย่างจริงจัง ขณะเดียวกัน รัฐบาลสหรัฐฯ ส่งเจ้าหน้าที่ร่วมปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือเด็กนักเรียนหญิงในไนจีเรียด้วย โดยอยู่ระหว่างวิเคราะห์ประเมินสถานการณ์และรอการร้องขอความช่วยเหลือจากกองทัพไนจีเรีย ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักกรณีตอบสนองแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างล่าช้า ทั้งอ้างว่ากำลังถูกบุคคลบางกลุ่มพยายามดึงกองทัพเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมือง ส่วนรัฐบาลจีน ฝรั่งเศสและสเปนรับปากช่วยเหลือปฏิบัติการช่วยตัวประกันเด็กนักเรียนหญิงชาวไนจีเรียด้วย ก่อนหน้านี้ คณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติแถลงอยู่ระหว่างพิจารณาใช้มาตรการเหมาะสมตอบโต้กลุ่มโบโค อาราม ซึ่งตามนัยการทูตหมายถึงอาจบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตร นอกจากนั้น ข่าวคราวการลักพาตัวเด็กนักเรียนหญิงไนจีเรีย ส่งผลให้ชาวโลกต่างแสดงปฏิกริยาเห็นใจและเรียกร้องถึงกลุ่มติดอาวุธโบโค ฮารามให้ปล่อยตัวประกันทั้งหมดทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข ทั้งนี้ กองกำลังโบโก ฮาราม เปิดฉากต่อสู้กับรัฐบาลไนจีเรียมาตลอดช่วงหลายปีท่ีผ่านมา โดยมีเป้าหมายต้องการให้ไนจีเรียเป็นรัฐอิสลาม ผลการสู้รบมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,500 คน เหตุรุนแรงระลอก ล่าสุด เกิดขึ้นเมื่อ 5 พ.ค.กลุ่มโบโก ฮาราม บุกโจมตีหมู่บ้านทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตหลายร้อยคน ขณะที่ประธานาธิบดีกู๊ดลัค โจนาธาน ผู้นำไนจีเรีย กล่าวระหว่างร่วมประชุมเศรษฐกิจเมื่อวันพฤหัสบดี ระบุการกระทำของกลุ่มโบโก ฮาราม กำลังก่อให้เกิดความพยายามหยุดยั้งเหตุรุนแรงในไนจีเรีย.
สหภาพการค้าและแรงงานในประเทศตุรกี เริ่มผละงานประท้วงเป็นเวลา 1 วัน ในวันพฤหัสบดี เพื่อแสดงความไม่พอใจต่อเหตุระเบิดที่เหมืองถ่านหินในเมืองโซมา ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 282 รายแล้ว...สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันที่ 15 พ.ค. ว่า สหภาพการค้าและแรงงานในประเทศตุรกี เริ่มผละงานประท้วงเป็นเวลา 1 วัน ในวันพฤหัสบดี เพื่อแสดงความไม่พอใจต่อเหตุระเบิดที่เหมืองถ่านหินในเมืองโซมา ทางตะวันตกของประเทศ ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 282 คน นับเป็นอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับเหมืองครั้งร้ายแรงที่สุดของตุรกี ตำรวจยิงแก๊สน้ำตาใส่ผู้ประท้วงในนครอิสตันบูล ที่เมืองอิซเมียร์ เมืองใหญ่ที่สุดลำดับ 3 ของตุรกี ห่างจากเมืองโซมา ราว 120 กม. มีผู้ชุมนุมประมาณ 20,000 คน ออกมาเดินขบวนประท้วงบนถนนหลายสาย ก่อนเกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งใช้ทั้งแก๊สน้ำตาและปืนฉีดน้ำแรงดันสูงกับผู้ชุมนุม ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลหลายคน ในเวลาต่อมา จำนวนผู้ชุมนุมลดเหลือประมาณ 5,000 คน โดยพวกเขาประกาศจะปักหลักประท้วงต่อไป จนกว่าผู้ร่วมอุดมการณ์ที่ถูกตำรวจจับกุมจะได้รับการปล่อยตัว ส่วนที่กรุงอังการา เมืองหลวงตุรกี เกิดการชุมนุมติดต่อกันเป็นวันที่ 2 หลังจากเมื่อวันพุธ เจ้าหน้าที่ใช้แก๊สน้ำตาและปืนฉีดน้ำแรงดันสูงสลายการชุมนุม โดยมีผู้ชุมนุมประมาณ 3,000 คน ออกมารวมตัวกันที่หน้าตึกกระทรวงแรงงาน ขณะเดียวกันมีรายงานเกิดการชุมนุมประท้วงที่นครอิสตันบูล, เมืองบูร์ซา, เมืองอันตัลยา และเมืองอื่นๆ อีกหลายแห่งชาวเมืองโซมา ร่วมพิธีฝังศพหมู่ผู้เสียชีวิตจากเหตุเหมืองระเบิด ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี เรเจป ไตยิป เอร์โดอัน กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก หลังเอ่ยคำพูดเหมือนปัดความรับผิดชอบขณะเยือนที่เกิดเหตุเมื่อวันพุธ โดยเขากล่าวว่า "มีอุบัติเหตุในการทำเหมืองเกิดขึ้นหลายครั้งทั่วโลก รวมถึงเหตุการณ์ที่อังกฤษในศตวรรษที่ 19" ประโยคนี้ทำให้เขาถูกชาวเมืองโซมาส่งเสียงโห่ไล่, เรียกร้องให้ลาออก และไล่เตะรถของเขาขณะที่เดินทางกลับ ขณะที่ สมาพันธ์สหภาพแรงงานสาธารณะ (พีดับเบิลยูซี) เชื่อว่า อุบัติเหตุในครั้งนี้เป็นความผิดของผู้ที่ผลักดันนโยบายให้อุตสาหกรรมเหมืองกลายเป็นของเอกชน รวมถึงผู้ที่คุกคามชีวิตของคนงานเหมือง ด้านปฏิบัติการค้นหาผู้รอดชีวิตจากเหมืองถ่านหินในเมืองโซมา เจ้าหน้าที่กู้ภัยยังคงทำการค้นหาอย่างต่อเนื่อง แต่ความหวังในการพบผู้รอดชีวิตแทบไม่มีเหลือแล้ว เนื่องจากภายในอุโมงค์เหมืองที่คนงานติดอยู่เต็มไปด้วยก๊าซพิษ โดยเจ้าหน้าที่พบศพ 8 ศพในช่วงคืนวันพุธ ทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็น 282 ราย และมีคนงานไม่เกิน 150 คน ที่ยังติดอยู่ในเหมือง
รัสเซียส่งสัญญาณจะรับรองผลการลงประชามติแยกตัวเป็นอิสระของสองภูมิภาคในภาคตะวันออกของยูเครน ทำเนียบเครมลินของรัสเซียออกแถลงการณ์วันนี้บอกว่าจะเคารพการตัดสินใจของประชาชนในภูมิภาคโดเนตสก์และลูกานสก์ ทางภาคตะวันออกของยูเครนเมื่อวันอาทิตย์ และเรียกร้องให้มีการปฏิบัติตามผลประชามติ โดยไม่ก่อให้เกิดเหตุรุนแรง การแสดงจุดยืนดังกล่าวมีขึ้นทั้งที่ก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน เตือนเมื่อวันพุธให้เลื่อนการจัดประชามติ เพื่อให้เกิดบรรยากาศที่ดีเอื้ออำนวยต่อการเจรจายุติความวุ่นวายในภาคตะวันออกของยูเครน การลงประชามติในสองภูมิภาคจัดขึ้นโดยกลุ่มฝักใฝ่รัสเซีย ที่ยึดหน่วยราชการกว่า 10 เมืองในภูมิภาคโดเนตสก์และลูกานสก์ และกองกำลังในโดเนตสก์ประกาศผลการลงประชามติว่าประชาชน 89% สนับสนุนการแยกตัวจากยูเครนและสถาปนาเป็นสาธารณรัฐประชาชนโดเนตสก์ และคาดว่าผลประชามติในลูกานสก์ที่จะประกาศในวันนี้จะออกมาคล้ายๆกัน
ทีมกู้ภัยมายังจุดเกิดเหตุเครื่องบินตกที่หมู่บ้านนาดี แขวงเชียงขวาง อุบัติเหตุเครื่องบินกองทัพอากาศ สปป.ลาว ตกที่แขวงเชียงขวาง คร่าชีวิตอย่างน้อย 14 ศพ รวมทั้ง พล.ท.ดวงใจ พิจิด รมว.กระทรวงป้องกันประเทศ และรัฐมนตรีระดับสูงอีกหลายคน ขณะจะไปร่วมงานฉลองครบรอบปี วันสำคัญของกองทัพปฏิวัติที่แขวงเชียงขวาง ..สำนักข่าวต่างประเทศรายงานอุบัติเหตุสุดสลด เครื่องบินกองทัพอากาศแบบ AN74-300 ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชน (สปป.) ลาวประสบเหตุตก ที่แขวงเชียงขวาง ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ เมื่อเวลา 06.15 น.ของช่วงเช้าวันนี้ (17 พ.ค.) เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 14 ราย สำหรับในจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเครื่องบินตกครั้งนี้ รวมถึง พล.ท.ดวงใจ พิจิด รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงป้องกันประเทศ, นายเจือง สมบูนขัน หัวหน้าคณะโฆษณาอบรมศูนย์กลางพรรค,นายทองบัน แสงอาทอน รมต.กระทรวงป้องกันความสงบ หรือกระทรวงตำรวจ และนายสุกัน มะหาราช เจ้าครองนครเวียงจันทน์ นายเสข วรรณเมธี โฆษกประจำกระทรวงการต่างประเทศของไทย เปิดเผยว่า เครื่องบินของกองทัพอากาศสปป.ลาวลำนี้ได้ทะยานออกจากท่าอากาศยานในกรุงเวียงจันทน์ เพื่อมุ่งหน้าไปยังแขวงเชียงขวาง ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และประสบเหตุตกในเขตแขวงเชียงขวาง ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองหลวงไปประมาณ 470 กม.ขณะที่สำนักข่าวต่างชาติรายงานด้วยว่า เครื่องบินตกขณะกำลังจะร่อนลงจอดและเหลืออีกเพียง 4 กิโลเมตร จะถึงสนามบินเมืองเชียงขวาง ส่วนการที่คณะผู้นำระดับสูงของทางการสปป.ลาว ได้เดินทางไปกับเครื่องบินกองทัพอากาศลำนี้ เพื่อจะไปร่วมฉลองครบรอบปี กองพันที่ 2 ของกองทัพปฏิวัติประชาชนลาว ประสบชัยชนะเหนือกองกำลังทหารที่ภักดีต่อราชวงศ์เมื่อ 55 ปีที่แล้ว และทำให้ต่อมา ลาวได้เปลี่ยนการปกครองเป็นระบอบคอมมิวนิสต์เมื่อปี 2518 ในเวลาต่อมา แหล่งข่าวในสำนักนายกรัฐมนตรีลาว ยืนยันว่า อุบัติเหตุเครื่องบินกองทัพอากาศลาวตกในครั้งนี้ เป็นเหตุให้คณะรัฐมนตรีของสปป.ลาวหลายคน รวมทั้งพล.ท.ดวงใจ พิิจิด รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ป้องกันประเทศเสียชีวิตจริง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น