วันอาทิตย์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2557

การตลาดแบบ ป็อปคอร์น ร้อนๆ คั่วสดจากเตาทุกวัน ลองชิมดูมั๊ยค่ะ/ครับ

ไม่น่าเชื่อว่า สิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่า “ป็อปคอร์น” จะกลายเป็นทอล์คออฟเดอะทาวน์ในสังคมไทยมากในช่วงปลายปีที่แล้วต่อต้นปีที่ผ่านมา เริ่มจากประเด็นลูกค้าใจร้อนขอเรียกร้องสิทธิความเป็นธรรมจากผจก.โรงภาพยนตร์แห่งหนึ่ง(เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์) จนกลายเป็นการวิวาทะ ทะเลาะเบาะแว้ง จนเป็นที่มาของคลิปแฉพฤติกรรมของลูกค้ากับ ผจก.โรงหนังว่อนเน็ต,โซเชียลมีเดีย และต่อยอดไปสู่ผลการวิจัยธุรกิจโรงภาพยนตร์ที่พบว่ารายได้หลักของโรงหนังไม่ได้มาจากกำไรจากค่าตั๋วหนังซักเท่าไร แต่ผลกำไรหลักมาจากผลกำไรจากป็อปคอร์นและเครื่องดื่มที่ขายหน้าโรงหนัง พวกคอมโบ้เซ็ตนั้นราคาขายแพงพอๆ กับราคาตั๋วหนังหรือมากกว่า และผลกำไรนั้นปาเข้าไป 80-90%กันเลยทีเดียว โดยที่ลูกค้าเองก็ยินดีจะจ่าย และไม่ได้รู้สึกรู้สาอะไรมากนัก สำหรับลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูงอยู่แล้ว ป็อปคอร์นกลายมาเป็นกระแสพูดถึงอีกครั้ง เมื่อกลายมาเป็นสัญลักษณ์หรือรูปแบบการต่อสู้กันทางการเมือง ครั้นเมื่อเหตุการณ์การปะทะกันของมวลชน กปปส.กับกลุ่มชายฉกรรจ์ที่เป็นมวลชนของนายโกตี๋ ที่เป็นฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลปู ยิ่งลักษณ์ และกลุ่มชายฉกรรจ์ที่ถูกสังคมตั้งข้อสังเกตว่าเป็นกลุ่มที่เข้ามาช่วยเหลือมวลชนของ กปปส.นั้นใส่ชุดคลุมหน้าไอ้โม่ง ถือถุงป็อปคอร์น เพื่อปกปิดอาวุธปืน อันเป็นที่มาของคำว่า “นักรบป็อปคอร์น” ที่กลายมาเป็นกองกำลังพิทักษ์ กปปส.กลุ่มของหลวงปู่พุทธอิสระ หรือจะเรียกว่าอะไรก็ตาม ฯลฯ แต่กระแสการตลาดที่กลับมาตอกย้ำสินค้าป็อปคัลเจอร์ชนิดนี้ให้โด่งดังขึ้นไปอีก คือ การเปิดตัวแฟรนส์ไชส์ต้นตำรับ “การ์เร็ต ป็อปคอร์น” จากอเมริกา ซึ่งมาเปิดตัวในไทยเป็นครั้งแรก และยิ่งตอกย้ำกระตุ้นดีมานด์ ความอยากบริโภคป็อปคอร์นขึ้นไปอีกกับป็อปคอร์นแบรนด์ไทยสัญชาติไทย ชื่อว่า “ต็อบคอร์น” ของเถ้าแก่น้อย ที่แตกไลน์ต่อยอดมาจากขนมสาหร่ายทอด อันโด่งดังและประสบความสำเร็จมาแล้ว วันนี้เราจึงอยากมาสำรวจสมรภูมิของร้านป็อปคอร์น ซึ่งเป็นตลาดพรีเมี่ยม และไฮพรีเมี่ยมของไทยว่ามีเจ้าใดกันบ้าง






มูลค่าการตลาดของผลิตภัณฑ์ป็อปคอร์นในตลาดพรีเมี่ยมนั้น ปัจจุบันตลาดป๊อปคอร์นในประเทศไทยมีมูลค่าประมาณ 2,000 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก คือ ตลาดป๊อปคอร์นสำเร็จรูปบรรจุซองมีมูลค่าประมาณ 300-400 ล้านบาท , ตลาดป๊อปคอร์นหน้าโรงภาพยนตร์มีมูลค่าตลาดกว่า 1,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 600-700 ล้านบาทเป็นตลาดป๊อปคอร์นคั่วสดพรีเมี่ยม

เริ่มจาก ป็อปคอร์น ของเจ้าตลาดเดิม ก็คือบรรดาร้านป็อปคอร์นตรงเคาน์เตอร์เอ้าท์เล็ตของโรงภาพยนตร์เครือใหญ่ๆ นั่นแหละ ได้แก่ เมเจอรซีเนเพล็กซ์ เอสเอฟ ฮอลลีวู้ด และอื่นๆ สนนราคาโดยประมาณของเครือเมเจอร์เป็นดังนี้

Popcorn M : 90 บาท    ,     Popcorn L :120 บาท       , น้ำอัดลม : 75 บาท



Garrett Popcorn สัญชาติอเมริกัน เปิดตัวใหญ่ครั้งแรกในไทย ที่สยามพาราก้อน เมื่อต้นปี จุดเด่นอยู่ที่ความโดดเด่นของการเป็นป็อปคอร์นระดับพรีเมียม ที่ตีคู่แข่งเสียกระเจิดกระเจิงด้วยรสชาติใหม่หลากหลาย และคุณภาพที่คัดสรรมาอย่างดีจนลงตัว โดยได้รับการการันตีว่า “ไม่ว่าคุณจะกินป็อปคอร์นจาก การ์เร็ตป็อปคอร์น จากที่สาขาไหนในโลก รสชาติจะเหมือนกันทุกที่ทั่วโลก” คั่วสดจากเครื่องคั่วที่ทันสมัยที่สุด การไปเปิดตลาดในแต่ละประเทศ การ์เร็ตจะมองถึงทำเลที่ตั้งเป็นสำคัญ โดยจะเลือกโลเคชั่นที่ดีที่สุดของเมืองนั้น เพื่อเป็นการการันตีว่าจะสามารถเข้าถึงลูกค้าได้มากที่สุด ลูกค้าเดินทางมาได้สะดวกที่สุด เพื่อให้ทางร้านค้าสามารถให้บริการลูกค้าได้ตามเป้าหมาย โดยเป้าหมายไม่ใช่เรื่องตัวเลขยอดขาย แต่เป็นการบริการลูกค้าให้ได้กว่า 6,000 คนต่อสัปดาห์ ซึ่งปัจจุบันการ์เร็ต มีสาขาแล้วกว่า 40 สาขาใน 10 ประเทศทั่วโลก โดยสาขาที่ทำรายได้ดีที่สุด คือ ชิคาโก ประเทศอเมริกา เป็นต้น รองลงมาคือ ชิบูย่า ที่ประเทศญี่ปุ่น และมาลุ้นกันว่าประเทศไทยจะเป็นอันดับที่สามหรือไม่ ด้วยความที่เป็นแบรนด์เก่าแก่ และผู้บริโภคชาวไทยบางส่วนรู้จักกันเป็นอย่างดีอยู่ก่อนแล้ว ทำให้การทำตลาดในเมืองไทยไม่น่าจะเป็นเรื่องยาก เพียงแค่แปะป้ายให้รู้ว่า การ์เร็ตจะ coming soon ก็มีสาวกที่ตั้งหน้าตั้งตารออยู่เป็นจำนวนมาก แม้ว่าสนนราคาจะแพงกว่าป็อปคอร์นโดยทั่วไป คือจะอยู่ราว 99-2,300 บาท แต่เมื่อดูแถวเข้าคิวของลูกค้า ก็เชื่อมั่นได้ว่า จะประสบความสำเร็จเดินตามรอยของโรตีบอยและคริสปี้ครีมได้ไม่ยาก แต่จะยืนระยะอยู่ได้อย่างยาวนาน ครองใจผู้บริโภคคนไทยได้นานแค่ไหน กาลเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ เฉกเช่นแฟรนส์ไชส์ขนมชนิดอื่นๆ

Tob Corn : น้องใหม่มาแรง สายพันธุ์ไทย มีแบ็คดีคือเถ้าแก่น้อย ราคาสบายกระเป๋า เปิดตัวไปแล้วสาขาแรกที่ศูนย์การเทอร์มินัล 21 เปิดตัวบนพื้นที่กว่า 30 ตารางเมตรในอาณาเขตเถ้าแก่น้อยแลนด์ ถือเป็นการทดสอบตลาดใหม่ด้วยแนวคิด “Popcorn Beyond Imagination by Tob” รสชาดสร้างสรรค์แปลกใหม่เหนือจินตนาการ ด้วยการชูจุดเด่นเน้นการตกแต่งแบบครัวเปิด เพื่อให้ลูกค้าได้เห็นกรรมวิธีการทำไปพร้อมๆ กับการได้สัมผัสกลิ่นหอมของป็อปคอร์นที่คั่วสดใหม่ด้วยเครื่องคั่วที่ได้มาตรฐาน ส่งตรงจากอเมริกา มาถึงการต่อสู้ด้านรสชาติ ที่ร้านต็อบคอร์น มีรสชาติให้ลูกค้าได้เลือกทั้งหมด 6 รส ทั้งรูปแบบตะวันออกและตะวันตก ได้แก่ รสโนริ เทริยากิ, สูตรออริจินัลในแบบจแปนนิสสไตล์ ,คริสปี้ โคโคนัทสูตร East meet West, ปารีส คาราเมล ,คาราเมล อัลมอนด์ ,คาราเมล แมคคาเดเมีย และสตรอเบอร์รี่ มีขนาดให้เลือก 3 ขนาด คือ เล็ก กลาง ใหญ่ ระดับราคาเบาๆ อยู่ที่ เริ่มต้น 59-299 บาทเท่านั้น และในอนาคตอาจมีการพัฒนารสชาติใหม่ๆ เพื่อสนองความต้องการคนไทยโดยเฉพาะ อาทิ รสข้าวเหนียวทุเรียน, รสต้มยำกุ้ง ,รสน้ำปลาหวาน ฯลฯ ในช่วงเปิดตลาด ผู้บริโภคคนไทยอาจจะยังไม่ค่อยมั่นใจในแบรนด์นัก จึงมีการทำตลาดแบบ มีการแจกให้ลูกค้าได้ทดลองชิมฟรี เพื่อให้ลูกค้าได้รู้จักและสัมผัสถึงรสชาติ ความแปลกใหม่ และคุณภาพที่ไม่เป็นสองรองใคร ในสนนราคาที่ตอบโจทย์คนไทยได้สบายกระเป๋ากว่า โดยมีการตั้งเป้าเปิดสาขาในเฟสแรก จำนวน 6 สาขา รวมยอดขายอยู่ที่ 50 ล้านบาทในปีแรก และตั้งเป้ายอดขายให้ถึง 1,000 ล้านบาท เมื่อเปิดสาขาจนครบ 100 สาขาในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งร้าน Tob Corn ชิงเปิดตัวก่อนร้านของ Garrett Popcorn เพียง 6 วัน เพื่อสร้างการรับรู้ในหมู่ผู้บริโภคคนไทย ก่อนที่กระแสของ Garrett Popcorn จะมาแรงกลบกระแสของ Top Corn เสียก่อน

นอกจากนี้การมาของป็อปคอร์น 2 เจ้าใหญ่ ทั้งเทศและไทย ยังผลให้เจ้าตลาดเดิมอย่าง TORO ต้องชิงปล่อยสปอตโฆษณา เพื่อย้ำเตือนให้ตลาดได้รับทราบว่า ตนเองยังอยู่ ไม่ได้ไปไหน หาซื้อง่าย ไม่ต้องต่อคิว ราคาห่อใหญ่เพียง 20 บาทเท่านั้น นอกจากนี้ตลาดนิชมาร์เก็ตอย่าง ร้านชานมที่ชื่อว่า Tea Story ก็เกาะกระแสนี้ด้วยเช่นกัน ด้วยการออกป็อปคอร์นเป็นของตนเอง ในแพ็กเก็จน่ารักซึ่งมาพร้อมกัน 3 รส ได้แก่ มะม่วงหิมพานต์ (Milk Conflake) ,อัลมอนต์ (Milk & Honey Pop) และคาราเมล (Caramel) ในสนนราคาถุงละ 130-230 บาทเท่านั้น เรียกว่าการมาของ 2 เจ้าใหญ่พลอยกระตุ้นให้ตลาดคึกคักกันทั้งระบบ ไม่เว้นแม้แต่ ป็อปคอร์นแฮนด์เมดที่ขายกันตามท้องตลาดโดยทั่วไปก็พลอยขายดีกันไปตามๆ กัน อย่างเทน้ำเทท่าไปด้วยในตัว

การ์เร็ต ป๊อปคอร์น VS ต๊อบคอร์น   (บทความวิเคราะห์แผนการตลาด จากเว็บไซต์ของ Voice TV)

Voice Market พาชมบรรยากาศช็อปแห่งแรกของไทยของ Garrett Popcorn ที่ชั้น G สยามพารากอน

ในช่วงเช้าคนมาต่อแถวบางตา แต่มาคึกคักในช่วงเที่ยง โดยคนที่มาต่อแถวนั้น เพื่อ"ซื้อ" ไม่ใช่การต่อแถวเพื่อรับแคมเปญการตลาดเพื่อ "แจก" เหมือนอย่างที่ขนมจากต่างประเทศเคยใช้ โดยตัวแทนของการ์เร็ต ป๊อปคอร์น "สุชาติ เจียรานุสสติ" กรรมการผู้จัดการผู้มีอำนาจ บริษัท คาราเมล คริสป์ จำกัด มั่นใจว่า Garrett Popcorn จะเป็นป๊อปคอร์นที่ครองใจคนไทยเช่นเดียวกับทั่วโลกและจะไม่ใช่เพียงแค่กระแส "ฮิต" ชั่วคราวที่พุ่งสูงขึ้นและหายไปแน่นอน การ์เร็ต ป๊อปคอร์น เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1949 หรือ พ.ศ. 2492 ผ่านมาถึงวันนี้ มีอายุ 65 ปีแล้ว แต่เป็นกระแสดังจริงจัง เมื่อช่วง 1- 2 ปีที่ผ่านมา

การ์เร็ต ป๊อปคอร์น เปิด 40 แห่งทั่วโลก ได้แก่ เมืองชิคาโก้ และ ลาสเวกัส สหรัฐอเมริกา ,ดูไบ ฮ่องกง ญี่ปุ่น คูเวต มาเลเซีย อังกฤษ สิงคโปร์ และในปี 2557 จะเปิดตัวเพิ่มเติมที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บราซิล และ เกาหลีใต้ โดยช็อป ที่พารากอนของไทย เป็นช็อปที่ 40 รสยอดนิยม คือ ชิคาโก้ มิกซ์ เพราะเป็นการรวมเอารสคาราเมล คริสป์ และ รถชีส เข้าด้วยกันในกล่องเดียว ป๊อปคอร์นแต่ละถุง คั่วใหม่ในหม้อทองแดงด้วยมือ ทุกวัน ใช้วัตถุดิบคุณภาพดี 7 อย่าง ไม่ใส่สารกันเสีย

"ต๊อบคอร์น" ป๊อปคอร์นแนวใหม่ คั่วสดวันต่อวันแบบพรีเมียม สาขาแรกตั้งอยู่ที่ศูนย์การค้าเทอร์มินัล 21 อโศก โดย "ต๊อบคอร์น" มีจุดเด่นที่รสชาติหลากหลาย มีให้เลือก 6 รสชาติ ทั้งในรูปแบบตะวันออกและตะวันตก ได้แก่ โนริ เทริยากิ ป๊อปคอร์นสูตรออริจินัล ในแบบแจแปนนิสสไตล์ , คริสปี้ โคโคนัท ป๊อปคอร์นสูตร East meet West , ปารีส คาราเมล , คาราเมล อัลมอนด์ , คาราเมล แมคคาเดเมีย และสตรอว์เบอร์รี่ โดยวางจำหน่ายในขนาด เล็ก (S) , กลาง (M) , ใหญ่ (L) ราคาเริ่มต้น 59 บาทขึ้นไป ตลาดรวมป๊อปคอร์นในไทย มีมูลค่า 300-400 ล้านบาทต่อปี ตลาดป๊อปคอร์น บริเวณหน้าโรงภาพยนตร์ มีมูลค่าตลาดกว่า 1,000 ล้านบาท และตลาดป๊อปคอร์นคั่วสดพรีเมียม มีการสาธิตให้เห็นกรรมวิธีการทำ ใช้เครื่องคั่วป๊อปคอร์นที่นำเข้ามาจากสหรัฐอเมริกา สัมผัสกลิ่นหอมของป๊อปคอร์นที่คั่วสดๆ ทุกวัน ร้านต๊อบคอร์น ตั้งเป้าที่จะมีร้านต๊อบคอร์น รวมทั้งสิ้น 6 แห่ง และมีแผนขยายเพิ่มขึ้นเป็น 100 แห่งภายใน 5 ปี ขยายช่องทางการจำหน่ายไปแถบประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี มีแผนขยายช่องทางจำหน่ายไปยังร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ภายในไตรมาส 3 รวมทั้งพัฒนารสชาติใหม่ๆ ในสไตล์ไทยๆ อาทิ ข้าวเหนียวทุเรียน , ต้มยำกุ้ง , น้ำปลาหวาน เป็นต้น

อ้างอิงที่มา :  (เว็บไซต์ Voice TV 29 มกราคม 2014)

หลายปัจจัยรุมเร้า “เถ้าแก่น้อย” เลื่อนเข้าตลาดหลักทรัพย์ พับแผนการทำตลาดนักท่องเที่ยวจีน เตรียมรุกธุรกิจใหม่“ต๊อบคอร์น” กางแผน 10 ปี ปั้น “เถ้าแก่น้อย” เป็นโกลบอลแบรนด์ทำตลาด 100 ประเทศ

นายอิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ด้วยสถานการณ์และปัจจัยหลายด้านในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ทางบริษัทต้องเลื่อนเข้าตลาดหลักทรัพย์ออกไปก่อน จากแผนเดิมที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์เพื่อระดมทุนในปีที่แล้ว ขณะเดียวกันที่ผ่านมาสินค้าของทางบริษัทก็ได้รับความนิยมจากชาวจีนเป็นอย่างมาก แต่ด้วยสถานการณ์ในขณะนี้ทำให้ต้องพักแผนที่จะทำตลาดกับนักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามาในประเทศไทยออกไปก่อนอีกด้วย

ล่าสุด ได้เปิดธุรกิจใหม่ข้าวโพดคั่วสดพรีเมียมภายใต้ชื่อ “ต๊อบคอร์น” ซึ่งจะประกอบไปด้วย 2 โมเดล คือ 1.เป็นแบบคั่วสดหน้าร้าน 2.จำหน่ายเป็นแพ็กสำเร็จรูปในร้านสะดวกซื้อ ซึ่งที่ผ่านมาตลาดป๊อบคอร์นในประเทศไทยมีมูลค่าประมาณปีละ 300 ล้านบาท (ไม่รวมป๊อบคอร์นโรงภาพยนตร์) มีอัตราการเติบโต 30-40% นับได้ว่าสูงกว่าสแน็กกลุ่มอื่น จากปัจจุบันตลาดขนมมีมูลค่าอยู่ที่ 20,000 ล้านบาท โดยในปี 2556 มีอัตราการเติบโตอยู่เพียง 3-4% นับได้ว่าน้อยสุดในรอบ 10 ปี ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับรายได้ของบริษัท แต่ในปีนี้ยังคงมั่นใจว่าภาพรวมตลาดจะโตได้ถึง 2 หลัก

“สำหรับในปีแรกได้ตั้งเป้ารายได้ของ “ต๊อบคอร์น” อยู่ที่ 100 ล้านบาท และส่วนแบ่งทางการตลาดสิ้นปีจะอยู่ที่ 15% พร้อมกับการขยายสาขาให้ได้อย่างน้อย 6 สาขา และอีก 5 ปีจะเปิดให้ได้ 100 สาขา ทั้งในประเทศและในประเทศแถบกลุ่มอาเซียน โดยในขณะนั้นจะมีรายได้ที่มาจากการขยายธุรกิจ “ต๊อบคอร์น” อยู่ที่ 1,000 ล้านบาท” นายอิทธิพัทธ์ กล่าว

พร้อมกันนี้ยังได้วางแผน 10 ปีนับจากปี พ.ศ.2557 เป็นต้นไป ต้องการให้เถ้าแก่น้อยเป็นโกลบอลแบรนด์ ซึ่งในตอนนั้นจะมียอดขายอยู่ที่ประมาณ 10,000 ล้านบาท จากตอนนี้มีอยู่ 27 ประเทศ และในปีนี้รายได้รวมของบริษัทตั้งเป้าอยู่ที่ 3,250 ล้านบาท นอกจากนี้บริษัทยังมีความสนใจที่จะไปเปิดโรงงานในอินโดนีเซีย จีน พม่า นับจากนี้ไม่เกิน 3 ปี.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น