สถานการณ์ไฟไหม้ป่าครั้งใหญ่ในชิลียังวิกฤติ... คร่าชีวิตผู้เคราะห์ร้ายแล้วถึง 16 ศพ บ้านโดนเผาวอดกว่า 500 หลัง ทางการระดมเจ้าหน้าที่ดับเพลิงกว่า 1,200 นายเร่งควบคุมเพลิงไม่ให้ลุกลามไปมากกว่านี้...สำนักข่าวต่างประเทศรายงานความคืบหน้าเหตุการณ์ไฟไหม้ป่ารุนแรงครั้งใหญ่ ที่เมืองวัลปาไรโซ ของชิลี และประธานาธิบดีมิเชล บาเชเลต ผู้นำของประเทศได้ประกาศให้เป็นพื้นที่ประสบหายนภัย ซึ่งเป็นการอนุญาตให้ทหารเข้ามาช่วยควบคุมสถานการณ์แล้วว่า เมื่อ 14 เม.ย. สถานการณ์ไฟไหม้ป่ายังคงรุนแรงและน่ากลัวมาก โดยทางการชิลีได้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่ดับเพลิงกว่า 1,200 นาย รวมทั้งได้ใช้เครื่องบินถึง 17 ลำ ช่วยกันเร่งฉีดน้ำเพื่อพยายามดับไฟและควบคุมเพลิงไม่ให้ลุกลามเข้าไปในเขตที่อยู่อาศัยของประชาชนมากกว่านี้ หลังเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 16 ศพ และเผาผลาญบ้านเรือนวอดวายไปแล้วกว่า 500 หลัง อีกทั้งยังต้องเร่งอพยพผู้คนมากขึ้น เนื่องจากมีบ้านเรือนหลายพันหลังกำลังเสี่ยงที่จะถูกไฟไหม้ ตามรายงานของสำนักงานป้องกันภัยพิบัติฉุกเฉินของชิลี แจ้งว่า อิทธิพลของกระแสลมแรงจากมหาสมุทรแปซิฟิกยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ให้ไฟลุกไหม้กินพื้นที่เป็นบริเวณกว้างเกือบ 5,000 ไร่แล้ว อีกทั้งไฟยังโหมลุกลามเข้าไปในเขตที่อยู่อาศัยมากขึ้น จนถือเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของชิลี จำต้องทิ้งบ้าน อพยพหนีไฟที่กำลังลุกลามมาถึง สำหรับผู้ประสบภัยที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ไฟไหม้ป่าที่เมืองวัลปาไรโซ ซึ่งเป็นเมืองท่าริมมหาสมุทรแปซิฟิก ส่วนใหญ่เนื่องจากถูกไฟไหม้ตามร่างกาย ส่วนผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสได้ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลในกรุงซานติเอโก เมืองหลวง ซึ่งอยู่ห่างออกไปราว 80 กิโลเมตร อีกทั้ง การเกิดไฟไหม้ป่าอย่างรุนแรง ทำให้ทางการต้องเร่งอพยพนักโทษที่เรือนจำในเมืองวัลปาไรโซด้วย ซึ่งเป็นมาตรการป้องกันเบื้องต้นก่อนไฟจะลุกลามมาถึง
ซีเอ็นเอ็น - ผู้ประท้วงฝ่ายฝักใฝ่รัสเซียบุกยึดอาคารราชการเพิ่ม ในอีกเมืองทางภาคตะวันออกของยูเครนเมื่อวันจันทร์(14) เพิกเฉยต่อเส้นตายของรัฐบาลที่ให้ขีดเส้นให้ออกจากตึกของทางการในเมืองอื่นๆซึ่งผ่านพ้นไปแล้วและยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น ขณะที่รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศเคียฟเสียงอ่อย หวังแก้ไขปัญหาด้วยการเจรจาและต้องการหลีกเลี่ยงเหตุนองเลือด แต่ก็ยืนยันพร้อมจะปกป้องบูรณภาพแห่งดินแดน วิดีโอจากสถานที่ชุมนุมในเมืองฮอร์ลิฟคา ทางตะวันออกของยูเครน พบเห็นผู้ประท้วงกำลังเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่และเดินฝ่าเข้าไปยังตัวอาคารสถานีตำรวจ ซึ่งอยู่ในสภาพที่ถูกไฟเผาไหม้เล็กน้อยและกระจกแตกกระจัดกระจาย ขณะเดียวกันก็พบเห็นชายคนหนึ่งในชุดตำรวจโดนทำร้ายจนได้รับบาดเจ็บและถูกนำตัวขึ้นรถฉุกเฉิน ปฏิบัติการบุกยึดครั้งล่าสุดนี้ กลายเป็นเรื่องยุ่งยากซับซ้อนหนใหม่ของรัฐบาลในกรุงเคียฟ ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ผู้ชุมนุมตามเมืองอื่นๆทางภาคตะวันออก ได้เพิกเฉยต่อเส้นตายของประธานาธิบดีรักษาการ โอเล็กซานเดอร์ ตูร์ชีนอฟ ที่ยื่นคำขาดให้ออกจากตึกราชการที่บุกยึดในเวลา 14.00 น.ตามเวลาในเมืองไทย ไม่อย่างนั้นจะต้องเจอกับปฏิบัตการต่อต้านก่อการร้ายอย่างเต็มรูปแบบของกองกำลังติดอาวุธยูเครน อย่างไรก็ตามเส้นตายดังกล่าวผ่านพ้น โดยไม่พบเห็นสัญญาณว่ามันได้รับการใส่ใจจากเหล่าผู้ประท้วงทั้งในเมืองโดเนตสก์และสลาเวียนส์ก ทั้งนี้ไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆบริเวณอาคารรัฐบาลท้องถิ่นในเมืองโดเนตสก์ ซึ่งถูกบุกยึดมานานกว่า 1 สัปดาห์ ส่วนในสลาเวียนส์ก พบเห็นผู้ชุมนุมฝ่ายฝักใฝ่รัสเซีย ยังคงจัดตั้งแนวป้องกันรอบๆสถานีตำรวจที่บุกยึด เมื่อถูกถามว่าทำไมรัฐบาลยูเครนถึงยังไม่มีท่าทีจะเคลื่อนไหวขับไล่ผู้ประท้วงแม้เส้นตายผ่านพ้นไปแล้ว นายดานีโล ลุบคีฟสกี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศบอกกับผู้สื่อข่าวว่ารัฐบาลยังคงเชื่อมั่นในแนวทางการแก้ไขปัญหาทางการเมือง อย่างไรก็ตามแม้มีความประสงค์หลีกเลี่ยงเหตุนองเลือด แต่รัฐบาลก็ยังคงมีความตั้งใจปกป้องบูรณภาพแห่งดินแดนของประเทศ ความไม่สงบระลอกล่าสุดนี้เป็นหนึ่งในหลายเหตุการณ์ซึ่งกระพือความตึงเครียดระหว่างยูเครนกับรัสเซีย โดยเคียฟกล่าวหามอสโกปลุกระดมปัญหาในพื้นที่ภาคตะวันออกของประเทศ ซึ่งประชากรส่วนใหญ่พูดภาษารัสเซีย หลังจากอดีตประธานาธิบดีวิกตอร์ ยานูโควิช ผู้ฝักใฝ่เครมลิน ถูกลุกฮือชุมนุมต่อต้านต่อกรณียกเลิกข้อตกลงการค้ากับสหภาพยุโรปแล้วหันไปกระชับสัมพันธ์กับมอสโก ก่อนโดนโค่นอำนาจในเดือนกุมภาพันธ์ ไม่นานหลังจากรัฐบาลใหม่หันสู่ทิศทางเข้าฝักใฝ่ตะวันตก เหล่านักเคลื่อนไหวฝ่ายฝักใฝ่รัสเซียก็บุกยึกแหลมไครเมีย ในแถบทะเลดำ ก่อนดำเนินการทำประชามติผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของมอสโกในเดือนมีนาคม และนับตั้งแต่นั้นเหล่าผู้ประท้วงฝักใฝ่เครมลินก็หลั่งไหลสู่ท้องถนนในหลายเมืองทางตะวันออก โดยบางแห่งก็บุกรุกและบุกยึดอาคารราชการ บางส่วนก็ถึงขั้นเรียกร้องเอกราชตามอย่างไครเมีย
เอเอฟพี – ผลสำรวจซึ่งเผยแพร่วันนี้(14) พบว่าชาวมาเลเซียเกินครึ่งเชื่อว่ารัฐบาลกำลัง “ปกปิดข้อมูลบางอย่าง” เกี่ยวกับการสูญหายของเครื่องบินมาเลเซียแอร์ไลน์ส เที่ยวบิน MH370 เว็บไซต์ข่าว มาเลเซียน อินไซเดอร์ อ้างผลสำรวจซึ่งพบว่า ร้อยละ 54 ของชาวมาเลเซียที่ตอบคำถามเชื่อว่ารัฐบาลไม่ได้ให้ข้อมูลอย่างโปร่งใสเกี่ยวกับการหายไปของเที่ยวบิน MH370 และคนบนเครื่องอีก 239 ชีวิต โดยมีเพียงร้อยละ 26 เท่านั้นที่เชื่อว่ารัฐบาลมาเลเซียพูดความจริงทุกอย่าง ขณะที่อีกร้อยละ 20 ไม่แน่ใจ มาเลเซียน อินไซเดอร์ ได้มอบหมายโครงการสำรวจความคิดเห็นต่อสถาบันวิจัยเมอร์เดกา ซึ่งได้สอบถามความเห็นชาวมาเลเซียกว่า 1,000 คน ระหว่างวันที่ 24-30 มีนาคมที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่เชื่อว่า เครื่องบินมาเลเซียแอร์ไลน์สซึ่งนำผู้โดยสารและลูกเรือ 239 คนออกเดินทางจากัวลาลัมเปอร์ไปยังปักกิ่งเมื่อวันที่ 8 มีนาคม น่าจะพบจุดจบแล้วบริเวณมหาสมุทรอินเดียตอนใต้ และตลอด 1 เดือนเศษที่ผ่านมาทีมค้นหานานาชาติก็ยังคงติดตามหากล่องดำของโบอิ้ง 777-200 ลำนี้ ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งเดียวที่ช่วยไขปริศนาชะตากรรมของ MH370 ได้
แนวร่วมรัฐบาล บาริซาน เนชันแนล (บีเอ็น) ซึ่งครองอำนาจปกครองมาเลเซียมาตั้งแต่ได้รับเอกราชในปี 1957 กำลังเผชิญวิกฤตความเชื่อมั่นครั้งใหญ่ โดยนักวิเคราะห์ชี้ว่าตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา กลุ่มบีเอ็นได้ใช้อำนาจโดยมิชอบควบคุมการทำงานของตำรวจและศาลเพื่อปิดบังพฤติกรรมทุจริตของนักการเมือง และยังใช้เป็นเครื่องมือเอาผิดผู้ที่ต่อต้านด้วย ในวันนี้ รัฐบาลมาเลเซียยังถูกทั่วโลกโลกวิจารณ์ว่าไร้สมรรถภาพในการรับมือปัญหาเครื่องบินสูญหาย เริ่มตั้งแต่การแถลงข้อมูลที่สับสนและขัดแย้งกันเอง ตลอดจนความลังเลที่จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกระบวนการสืบสวน ซึ่งรัฐบาลมาเลเซียก็อ้างว่าจำเป็นต้อง “ระมัดระวังคำพูด” แต่ไม่ได้ปกปิดข้อมูลอย่างแน่นอน นอกจากชาวมาเลเซียเองแล้วครอบครัวชาวจีนที่เป็นญาติผู้โดยสาร 154 คนบนเครื่องบิน MH370 ก็เชื่อว่ามาเลเซียปิดบังความจริงอยู่เช่นกัน ผลสำรวจครั้งนี้ยังพบว่า ชาวแดนเสือเหลืองร้อยละ 51 ยัง “เชื่อมั่น” ในรัฐบาลชุดปัจจุบัน ในขณะที่ร้อยละ 45 ไม่เชื่อมั่นอีกต่อไป สถาบันวิจัยเมอร์เดกาได้เผยแพร่ผลสำรวจอีกชิ้นหนึ่งเมื่อราว 2 สัปดาห์ก่อน ซึ่งระบุว่า ชาวมาเลเซียร้อยละ 43 พอใจการรับมือปัญหาเครื่องบินสูญหายของรัฐบาล ขณะที่ร้อยละ 50 ไม่พอใจ
เอเอฟพี - พบผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็นอย่างน้อย 71 รายและบาดเจ็บ 124 คน จากเหตุคนร้ายวางระเบิดโจมตีสถานีรถบัสแห่งหนึ่งย่านชานเมืองหลวงของไนจีเรีย ในชั่วโมงเร่งด่วนตอนเช้าวันจันทร์(14) ขณะที่ประธานาธิบดีกล่าวโทษว่าเป็นฝีมือของกลุ่มอิสลามิส์โบโก ฮารัม เหตุระเบิดที่สถานีรถบัสเอ็นยานยา ทางใต้ของเมืองอาบูจา ตอนประมาณ 6.45 น.ตามเวลาท้องถิ่น (ตรงกับเมืองไทย 12.45น.) ทำเศษชิ้นส่วนอวัยวะมนุษย์กระจัดกระจายทั่วอาคารผู้โดยสารและยานพาหนะได้รับความเสียหายหลายสิบคน ก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลว่าสถานีแห่งนี้ถูกโจมตีด้วยระเบิด 2 ครั้ง แต่ต่อมายืนยันว่ามันได้รับความเสียหายจากอานุภาพของแรงระเบิดครั้งเดียว "ระเบิดถูกซุกซ่อนในยานพาหนะคันหนึ่งที่จอดอยู่ภายในสถานี" คาร์เลส โอเตกบาเด หัวหน้าทีมค้นหาและช่วยเหลือจากศูนย์จัดการสถานการณ์ฉุกเฉินแห่งชาติกล่าว ส่วนโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่ายอดผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 71 รายและบาดเจ็บ 124 คน โดยผู้ได้รับบาดเจ็บถูกส่งไปรักษาตัวตามโรงพยาบาลต่างๆในพื้นที่ประธานาธิบดีกูดลัค โจนาธาน รุดลงตรวจพื้นที่เกิดเหตุในทันที และประกาศว่าไนจีเรียจะได้รับชัยชนะเหนือเหตุความไม่สงบอันโหดร้ายทารุณจากฝีมือของกลุ่มโบโก ฮารัม อย่างแน่นอน ขณะที่พวกหัวรุนแรงเหล่านี้ถูกกล่าวโทษว่าลงมือสังหารผู้คนทางเหนือและตอนกลางของประเทศหลายพันศพนับตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมา "ประเด็นของโบโก ฮารัม คือประวัติศาสตร์ที่เลวร้ายในช่วงแห่งการพัฒนาของเรา" โจนาธานกล่าว "แต่เราจะผ่านพ้นมันไปได้ โบโก ฮารัม เป็นประเด็นเพียงชั่วคราว" เอ็นยานยา เป็นย่านที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น โดยเฉพาะพวกข้าราชการ ลูกจ้างรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ประชาสังคม ที่มีรายได้น้อยไม่สามาถจ่ายค่าที่พักราคาแพงในย่านกลางกรุงได้ ขณะที่โบโก ฮารัม สังหารผู้คนไปแล้วกว่า 1,500 ชีวิตในปีนี้ แต่ส่วนใหญ่เหตุการณ์ความไม่สงบ มักเกิดขึ้นตามหมู่บ้านห่างไกลในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น