วันเสาร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

โค้งสุดท้ายก่อนถึงงานประกาศผลรางวัลออสการ์ครั้งที่ 91 (ปี 2019)




งานออสการ์ครั้งที่ 91 ในปีนี้ เป็นการรวบรวมผลงานที่ออกฉายในปี 2018 จะจัดงานกันขึ้นที่ ดอลบี้เธียเตอร์ ฮอลลีวู้ดสตรีท ลอสแอนเจลิส มลรัฐแคลิฟอร์เนียเช่นเคย ถ่ายทอดโดยสถานีโทรทัศน์ ABC ของสหรัฐ โดยพิธีกรผู้ดำเนินรายการในปีนี้อุบไว้ ไม่ทราบว่าเป็นใคร แต่ได้แรงบันดาลใจจาก ออสการ์ปี 1989 ที่ Rob lowe อดีตนักแสดงชายที่รุ่งเรืองในยุค 80’s ออกมาร้องเพลงคู่กับสโนว์ไวท์  มีภาพยนตร์ที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในปีนี้ 8 เรื่อง มีภาพยนตร์ที่ได้เข้าชิงรางวัลมากที่สุดในปีนี้ จำนวน 10 สาขาถึง 2 เรื่อง ก็คือ The Favourite กับ Roma รองลงมาคือ A Star is Born และ Vice ได้เข้าชิงจำนวน 8 สาขาเท่ากัน  อันดับ 3 คือ Black Panther เข้าชิง 7  สาขารางวัล และสุดท้ายเรื่อง BlacKkKlansman ได้เข้าชิง 6 รางวัล นอกนั้นก็ลดหลั่นกันลงไป ภาพยนตร์ที่เข้าชิงในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในปีนี้มีความโดดเด่นแตกต่างกันไป แต่จุดร่วมของหนังที่ได้เข้าชิงสาขาหนังเยี่ยมในปีนี้อย่าง Roma เป็นภาพยนตร์ที่ออกฉายทาง Netflix จึงเป็นปีแรกที่หนังจาก Netflix ได้เข้าชิงในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมของออสการ์ ในปีนี้หนังที่เล่นประเด็นเรื่องเพศและการเหยียดผิวหรือกดขี่ (Black Panther,Bohemian Rhapsody,Green Book,If Beale Street Could Talk) ยังคงมีอีกแล้ว ในกรณีของ BlacKkKlansman กลายเป็นหนังเสียดสีแสบทรวงที่มักมีแทรกมาทุกปี ปีละเรื่อง ที่มีตัวละครหลักเป็นคนผิวสีแฝงตัวเข้าไปในกลุ่มคนยิวผิวขาว ซึ่งแค่พล็อตเรื่องก็น่าสนใจแล้ว และยังมีผู้อำนวยการสร้างเป็นคนเดียวกับที่เขียนบทและกำกับเรื่อง Get Out ยิ่งทำให้รู้สึกว่าหนังเรื่องนี้จะเป็นขวัญใจนักวิจารณ์อย่างแน่นอน  ด้าน Black Panther เป็นหนังแนวซุปเปอร์ฮีโร่จากค่ายมาร์เวล ที่แหกโผมาเข้าชิงหนังเยี่ยมได้อย่างไร ถ้าไม่ได้อานิสงส์กระแสการชาบูคนผิวสีในช่วงนี้หนักมาก อีกประเด็นหนึ่งที่ออสการ์มักให้ความสำคัญคือหนังแนวอัตชีวประวัติบุคคลสำคัญทั้งทางการเมืองหรือปูชนียบุคคลด้านต่างๆ (Vice ,The Favourite, Bohemian Rhapsody) อีกแนวนึงที่ออสการ์ชอบมากในช่วงหลังๆ ก็คือ งานด้านกำกับภาพหรือโชว์องค์ประกอบศิลป์ (The Favourite,Green Book ,Roma) งานด้านภาพวิชวลกราฟฟิกที่เจ๋งจริงๆ ปีนี้ ไม่มีเรื่องใดได้เข้าชิง




ในบรรดาหนังที่เข้าชิงในปีนี้ที่โดดเด่นด้านการแสดงมากๆ ก็ได้แก่ ฝ่ายชายเป็นการสู้กันระหว่าง Christian Bale จาก Vice และ Rami Malek  จาก Bohemian Rhapsody เพียง 2 คนเท่านั้นจริงๆ แต่นอกเหนือจากนี้ที่พอจะเป็นตัวสอดแทรกได้ ยังมี Viggo Mortensen จากเรื่อง Green Book ด้วย แต่ความโดดเด่นของเรื่องนี้กลับไปตกที่บทสมทบชายที่เด่นกว่า (Mahershala Ali ซึ่งรับบทเป็น Don Shirley นายจ้างของ Viggo อีกที) ซึ่งกำลังเป็นกระแสในอเมริกา ประเด็นการเหยียดผิวที่เป็นที่พูดดึงไปทุกวงการ ทั้งวงการการเมือง,กีฬา,บันเทิงนักแสดง ไปจนถึงประเด็นประท้วงในช่วงปีหลังๆ ที่ต้องการให้คนผิวสี ได้มีบทบาททางสังคมที่เท่าเทียมกับคนผิวขาวบ้าง) ส่วนฝ่ายหญิงเป็นการสู้กันที่สูสีหลายคนระหว่าง Olivia Colman จาก The Favourite ,Lady Gaga จาก A Star is Born ,Yalitza Aparicio จาก Roma และ Glenn Close จาก The Wife แต่รายหลังไม่ได้เข้าชิงในสาขาหนังเยี่ยม ในปีนี้จะเป็นปีที่ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมออสการ์ อาจ Landslide คือเรื่องใดเรื่องหนึ่ง จะชนะได้อย่างถล่มทลายอีกปีนึง คือสาขาภาพยนตร์และผู้กำกับอาจจะเป็นเรื่องเดียวกันก็ได้ เพราะหนังตัวเต็งอย่าง Roma ,Green Book,A Star is Born และ Bohemian Rhapsody ต่างได้ไปเข้าชิงและกวาดรางวัลมาจากหลายเวที ทั้งในสาขาสำคัญๆ อย่าง ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ผู้กำกับยอดเยี่ยม นักแสดงนำ หรือบทภาพยนตร์ มาแล้ว เป็นต้น





ในส่วนของสาขาบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่มเป็นการสู้กันของหนังตัวเต็งทั้ง 2 เรื่องคือ Green Book VS Roma อย่างสูสี แต่ในส่วนของสาขาบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยมนี่สิคาดเดาได้ยากสุดๆ เพราะมันมีความดีงามไปคนละด้าน และที่เขามาชิง ไม่มีเรื่องใดโดดเด่นแบบเต็ง 1 เสียด้วย เอาเป็นว่าผู้เขียนชอบอยู่ 3 ใน 5 เรื่อง คือ The Ballad of Buster Scruggs, BlacKkKlansman และ A Star is Born (เรื่องนี้เคยสร้างมาถึง 4 เวอร์ชั่นแล้วคือฉบับปี 1937,1954,1976 และ 2018) เรื่องใดสมควรได้รางวัลบทดัดแปลงยอดเยี่ยมนั้น คงต้องเป็นหน้าที่หนักของคณะกรรมการออสการ์แล้วแหละ ส่วนตัวผู้เขียนคิดว่า เรื่องใดก็ได้ ศักดิ์ศรีเท่าเทียม แต่ความยอดเยี่ยมไม่ต่างกัน




นี่จึงเป็นอีกปีหนึ่งที่การตัดสินรางวัลออสการ์ในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมดูจะตัดสินยากอีกปีหนึ่ง เพราะจะออกลูก Landslide ก็ได้ คือเรื่องเดียวกวาดแทบทุกรางวัลหลัก หรือแบ่งๆ กันไป ยอดเยี่ยมเรื่องหนึ่ง ผู้กำกับอีกเรื่องหนึ่ง แต่ขอร้องว่ารางวัลบทกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมควรไปในทิศทางเดียวกัน เป็นปีที่ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าเรื่องใดจะมาวิน เพราะโดยส่วนตัวผู้เขียนก็เพิ่งได้ดูเป็นบางเรื่องเท่านั้น ผู้เขียนชอบอยู่ 2 เรื่องและขอฟันธงว่า ปีนี้เบียดกันอยู่เพียงแค่ 2 เรื่องนี้เท่านั้น นั่นก็คือ Roma กับ Green Book  จึงขอโฟกัสอยู่แค่เพียง 2 เรื่องนี้เท่านั้น มิใช่ว่าเรื่องอื่นจะไม่ดี หรือไม่มีสิทธิ์ได้รางวัล แต่โดยองค์รวมและความเข้มข้นของการเดินเรื่อง และประเด็นในหนัง ผู้เขียนขอยกให้ 2 เรื่องนี้เป็นคู่ชิงที่แท้จริงในโค้งสุดท้าย สำหรับ Roma นั้น ทั้งตอนดู trailer และตัวเต็มของภาพยนตร์ให้อรรถรสในแบบที่เคยดูเรื่อง The Pianist (2002) ,Life is Beautiful (1997) หรือ City of God (2002) แม้เนื้อหาจะไม่ใกล้เคียงซักเท่าไหร่ แต่ได้อารมณ์หดหู่ในแบบนั้น เมื่อต้องเห็นชะตากรรมของตัวละครที่พลิกผันไปแบบนั้น และที่สำคัญคืองานด้านภาพสวยมากๆ  ส่วน Green Book ไม่ได้เร้าอารมณ์คนดูเหมือนเรื่องแรก แต่เป็นงานโชว์ไดอะล็อคที่ขยี้ปมหรือประเด็นปัญหาระหว่างชนชั้น การเหยียดเพศ ที่มีอยู่จริงในสังคมคนอเมริกัน ล้วงลึกประเด็นของหนัง แล้วค่อยหาทางคลี่คลายประเด็นหรือทางออกของหนังในตอนท้ายกับบทสรุปที่ค่อนข้างมองโลกในแง่บวก ทีมนักแสดงที่เล่นดี จนเราเชื่อ อารมณ์ของหนังดูคล้ายตอนที่ผู้เขียนเคยได้รับจากการชม ภ.เรื่อง The Intouchables (2011) แต่โดยรวมยังคงยกให้ 2 เรื่องตัวเต็งนี้เบียดเข้าวินได้ ในอัตรา 52 : 48 คือน้ำหนักเทไปให้ Roma เหนือ Green Book นิดๆ แต่รู้สึกประเด็นในหนัง Green Book กำลังเป็นกระแสหลักในสังคมคนอเมริกันและทั่วโลกเผชิญอยู่ในเวลานี้มากกว่า กำลังชั่งใจว่าออสการ์จะเลือกให้รางวัลหนังยอดเยี่ยมกับหนังที่เต็มไปด้วยการเร้าอารมณ์และภาพสวย ตัดต่อเยี่ยมอย่าง Roma หรือจะเลือกให้ Green Book ซึ่งมันสะท้อนประเด็นปัญหา การเหยียดเพศ การเสียดสีสังคม การแบ่งแยกชนชั้น ที่เป็นกระแสในยุคนี้มากกว่า ถ้าจะมีตัวสอดแทรกที่อาจกลายเป็นม้ามืดที่จะเข้ามาเบียดคว้าชัยไป ก็อาจเป็น Bohemian Rhapsody หรือไม่ก็ The Favourite โดยส่วนตัวผู้เขียนยังชอบเรื่อง A Star is Born และ BlacKkKlansman อีกด้วย อยากให้ได้รางวัลติดไม้ติดมือไปบ้าง เพราะบทดีเช่นกัน  กล่าวโดยสรุปเชียร์ Roma กับ Green Book ที่จะคว้ารางวัลหนังเยี่ยมไป เรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นผู้ชนะได้รางวัลไป ก็ไม่ถือว่าพลิกความคาดหมาย


Best Picture : Nominations  8 choice ผู้เข้าชิงหนังยอดเยี่ยม ได้แก่

“Black Panther”
“BlacKkKlansman”
“Bohemian Rhapsody”
“The Favourite”
“Green Book”
“Roma”
“A Star is Born”
“Vice”

Best Direction : Nominations 5 choice  ผู้เข้าชิงผู้กำกับยอดเยี่ยม ได้แก่

Spike Lee, BlackkKlansman
Pavel Pawlikowski, Cold War
Yorgos Lanthimos, The Favourite
Alfonso Cuaron, Roma
Adam McKay, Vice

Best Original Screenplay : Nomination 5 choice  ผู้เข้าชิงบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม ได้แก่

The Favourite (Deborah Davis and Tony McNamara)
First Reformed (Paul Schrader)
Green Book (Nick Vallelonga, Brian Currie and Peter FArrelly)
Roma (Alfonso Cuaron)
Vice (Adam McKay)


Best Adapted Screenplay : Nomination 5 choice  ผู้เข้าชิงบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม ได้แก่

The Ballad of Buster Scruggs (Joel and Ethan Coen)
BlackkKlansman (Charlie Wachtel, DAvid Rabinowitz, Kevin Wilmott and Spike Lee)
Can You Ever Forgive Me? (Nicole Holofcener and Jeff Whitty)
If Beale Street Could Talk (Barry Jenkins)
A Star is Born (Eric Roth, Bradley Cooper, Will Fetters)




Roma หนังเวรี่ส่วนตัวของ Alfonso Cuarón ที่มาแรงทุกเวทีประกาศรางวัล และคุณต้องดู!

บทความโดย พัชชา พูนพิริยะ ,จากเพจ The Standard co
Roma คือผลงานภาพยนตร์จากผู้กำกับ อัลฟอนโซ กัวรอน ที่เคยชนะรางวัลออสการ์จากเรื่อง Gravity เมื่อปี 2013 ในตอนนี้ Romaกลายเป็นภาพยนตร์ที่ผู้คนตั้งความหวังไว้มากที่สุด และได้รับกระแสตอบรับดีเกินคาดที่สุด

หลังจากเข้าฉายครั้งแรกและได้รับรางวัล The Golden Lion จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิสเมื่อเดือนสิงหาคม 2018 ชื่อของภาพยนตร์ Roma ก็ได้รับความสนใจขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่า Netflix เจ้าของลิขสิทธิ์ ตั้งใจนำภาพยนตร์เข้าฉายในโรงเพื่อให้ Roma ผ่านหลักเกณฑ์ของเวทีประกาศรางวัล แต่ก็เกิดปรากฏการณ์ตั๋ว sold out แบบรอบชนรอบทั้งในนิวยอร์ก ลอสแอนเจลิส ซานฟรานซิสโก ลอนดอน โทรอนโต และเม็กซิโก ซิตี้ บ้านเกิดของผู้กำกับ

จนล่าสุด Netflix ได้ขยายโรงภาพยนตร์เข้าฉายกว่า 500 แห่งในกว่า 40 ประเทศทั่วโลก และเข้าฉายกว่า 100 โรงภาพยนตร์ในสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ยังเปิดให้ชมผ่าน Netflix ตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคมนี้

ฮอร์เก ลุยส์ บอร์เกส นักเขียนชาวอาร์เจนตินา บอกว่าความทรงจำนั้นขุ่นมัวและกระจัดกระจายเหมือนกระจกร้าวที่มองอะไรไม่ชัดเจน แต่สำหรับผมแล้ว ความทรงจำเหมือนรอยร้าวบนผนัง ต่อให้คุณจะเอาปูนมาโบก เอาสีมาทาทับ แต่รอยร้าวก็จะยังคงอยู่อย่างนั้น ไม่ต่างอะไรกับความเจ็บปวดที่เคยเกิดขึ้นในชีวิตคนเรา ไม่ว่าจะผ่านไปนานเท่าไร เราจะยังจดจำมันได้ และมันไม่เคยเลือนหายไป

อัลฟอนโซ กัวรอน ได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับไอเดียการเขียนบทภาพยนตร์ขาวดำเรื่อง Roma ที่ทำให้เขาได้ย้อนกลับไปทบทวนอดีตในวัยเด็ก ซึ่งแตกต่างความทรงจำจากช่วงชีวิตวัยรุ่นของเขาที่เราเคยได้เห็นผ่านหนัง Y Tu Mamá También (2001)

ผมเกิดในครอบครัวชนชั้นกลาง และสิ่งนั้นกลายมาเป็นความรู้สึกผิดที่ฝังรากลึกอยู่ในใจ ผมรู้สึกผิดที่ตัวเองอยู่ในสถานะที่เหนือกว่าทางสังคม ทางเชื้อชาติ ทางชนชั้น แต่ในตอนนั้นผมเด็กเกินกว่าจะเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมความรู้สึกนี้ของกัวรอนทำให้ Roma เป็นการรวบรวมเอาความทรงจำในวัยเด็กของเขาที่ทั้งส่วนตัวและเต็มไปด้วยรายละเอียดที่สมจริง นำมาเล่าอย่างละเอียด อ่อนโยน และจับใจคนดูความทรงจำเหมือนรอยร้าวบนผนัง ต่อให้คุณจะเอาปูนมาโบก เอาสีมาทาทับ แต่รอยร้าวก็จะยังคงอยู่อย่างนั้น ไม่ต่างอะไรกับความเจ็บปวดที่เคยเกิดขึ้นในชีวิตคนเรา ไม่ว่าจะผ่านไปนานเท่าไร เราจะยังจดจำมันได้ และมันไม่เคยเลือนหายไป – อัลฟอนโซ กัวรอน

Roma เป็นภาพยนตร์ขาวดำที่กัวรอนสร้างขึ้นเพื่อมอบให้กับพี่เลี้ยงและแม่บ้านในวัยเด็กของเขา เธอมีชื่อว่า ลิโบ ซึ่งเป็นตัวละครหลักของเรื่อง ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่ส่วนตัวมากๆ สำหรับเขาเลยทีเดียว ในภาพยนตร์ พี่เลี้ยงของเขามีชื่อว่า คลีโอ รับบทโดย ยาลิตซา อปาริซิโอ ซึ่งกัวรอนให้สัมภาษณ์ว่าเขาทำหนังเรื่องแรก Sólo con Tu Pareja ในปี 1991 ก็เพื่อให้มีวันที่ตนเองได้ทำหนังเรื่อง Roma เขายังถึงกับขนานนามให้ Roma เป็นภาพยนตร์เรื่องที่สำคัญที่สุดในชีวิตการทำงานภาพยนตร์ของเขาเลยทีเดียว

ลิโบเป็นคนที่มีอิทธิพลกับชีวิตของผมมาก เป็นเหมือนพี่สาว เป็นเหมือนแม่ เธออยู่กับผมตลอดเวลาตั้งแต่ผมจำความได้ เธอมักจะเล่าชีวิตอันแสนโลดโผนให้ผมฟัง ซึ่งในเวลานั้นผมมองว่ามันน่าตื่นเต้นเหมือนได้ฟังเรื่องผจญภัย แต่ผมก็ยังเด็กเกินไป และไม่เคยจะถามลิโบจริงๆ จังๆ ว่าชีวิตเธอต้องเจอกับอะไรบ้าง

ตอนที่ผมเขียนบทก็เหมือนกับการเข้าไปทำความรู้จักชีวิตของลิโบทีละน้อยๆ ผมได้เห็นในตอนนั้นเองว่าเวลาเรารักหรือผูกพันกับใครสักคนมากๆ เราจะมองเขาด้านเดียว เราไม่เคยรู้ว่าเขามีด้านที่ผิดพลาดและขื่นขมในชีวิตด้วยเหมือนกัน ตอนนั้นแหละที่ผมได้เห็นชีวิตด้านอื่นๆ ของลิโบ และทำให้ผมยิ่งรักเธอมากขึ้น

Roma โดดเด่นด้วยการถ่ายแบบฟิล์มขาวดำ ซึ่งกัวรอนต้องการสะท้อนภาพความทรงจำในวัยเด็กของเขา แต่กัวรอนได้เลือกการถ่ายขาวดำแบบดิจิทัลที่แตกต่างจากการใช้ฟิล์มขาวดำยุค 40s-50s ที่มีแสงเงาแบบดรามาติก ผลที่ออกมากลับเพิ่มความแปลกใหม่ให้กับภาพยนตร์อย่างมาก และที่น่าสนใจคือตลอดทั้งเรื่องตัวละครยังสื่อสารด้วยภาษาสเปนและมิกซ์เทก ซึ่งเป็นภาษาท้องถิ่นในเม็กซิโกอีกด้วย

ยังมีรายละเอียดอีกมากมายที่ทำให้ Roma เป็นภาพยนตร์ที่ดูเหมือนจะติสท์ แต่กลับน่าดูสุดๆ อย่างการที่กัวรอนต้องไปรวบรวมเฟอร์นิเจอร์เก่าจากญาติๆ ของเขาเพื่อมาใช้ประกอบในการถ่ายทำ ทำให้เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งที่เราเห็นในภาพยนตร์กว่า 70% เป็นภาพสะท้อนชีวิตวัยเด็กจริงๆ ของผู้กำกับทั้งหมด หรือฉากในโรงพยาบาลที่นักแสดงทั้งหมดคือหมอและพยาบาลตัวจริง เพื่อเพิ่มความสมจริงให้กับหนังที่สุด

Roma ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงเวที Golden Globe ปีล่าสุดในสาขา Best Screenplay – Motion Picture, Best Director – Motion Picture และ Best Motion Picture – Foreign Language โดยก่อนหน้านี้ Roma ได้รับรางวัลมาแล้วจากหลากหลายเวที ทั้งภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเวที Venice Film Festival 2018, Santa Barbara International Film Festival, Philadelphia Film Critics Circle Awards, New York Film Critics Circle Awards, Hollywood Film Awards และอีกมากมาย ทั้งยังมีการฟันธงจากสื่อหลายสำนักว่า Roma มีสิทธิ์ได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเวทีออสการ์ในปี 2019 อีกด้วย และถ้าหากเป็นเช่นนั้นจริง Roma จะเป็นภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศเรื่องแรกที่ชนะรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในเวทีออสการ์

อัลฟอนโซ กัวรอน ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อถึงการร่วมงานกับ Netflix ว่า “Roma เป็นภาพยนตร์ขาวดำ แถมยังเป็นภาพยนตร์ภาษาสเปน ซึ่งอาจไม่มีพื้นที่รองรับให้หนังมีโอกาสได้เข้าฉายมากเท่าที่ควร จึงถือเป็นเรื่องดีที่ Roma ได้เข้าฉายผ่านทาง Netflix ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้คงอยู่และไม่หายไปตามกาลเวลา





Green Book (2018) เรื่องดีงามในความอัปลักษณ์

บทความโดย ประวิทย์ แต่งอักษร  ในเพจ The Standard co

·   ที่มาของชื่อหนัง Green Book หรือสมุดปกเขียว ก็คือไกด์บุ๊กการเดินทางด้วยรถยนต์สำหรับคนอเมริกันผิวสีในช่วงเวลาที่ การแบ่งแยกยังเป็นเรื่องถูกต้องชอบธรรม
·   การเฝ้าดูทั้ง วิกโก มอร์เทนเซน และมาเฮอร์ชาลา อาลี รับส่งบทบาทที่ฉูดฉาดบาดตา แลกเปลี่ยนทัศนคติและความเห็นด้วยปฏิภาณไหวพริบอันแหลมคม และแน่นอนว่าการแสดงออกอย่างหน้าตายและอมพะนำก็สามารถเรียกเสียงหัวเราะได้อย่างสนั่นหวั่นไหวและครึกโครม

ตามเนื้อผ้า Green Book (2018) ก็เป็นหนัง บัดดี้ คอเมดี้ โรดมูฟวี่ และฟีลกู๊ดที่สอดแทรกไว้ด้วยมุกตลกและอารมณ์ขันที่เรียกเสียงหัวเราะได้อย่างหรรษาครื้นเครง และว่าไปแล้วก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกเท่าใดนัก เมื่อคำนึงว่านี่เป็นผลงานกำกับของ ปีเตอร์ ฟาร์เรลลี คนที่ทำหนังตลกโปกฮาเรื่อง Dumb and Dumber, Shallow Hal และ There’s Something About Mary ซึ่งหลายคนคงรู้สึกเหมือนๆ กันว่านี่เป็นหนังจำพวกที่ไม่ต้องถือสาหาความ หรือไหนๆ ก็ไหนๆ จะผนวกตัวคนทำหนังเข้าไปด้วยก็คงจะได้ (ในฐานะที่เจ้าตัวเคยชนะรางวัลราสป์เบอร์รีทองคำจากหนังเรื่อง Movie 43)

แต่ก็นั่นแหละ ถึงแม้ Green Book จะสังกัดอยู่ภายใต้แนวหนังและกรอบเนื้อหาเดียวกัน ผู้ชมก็ไม่อาจเหมารวมว่านี่เป็นหนังตลกเถิดเทิงหรือบ้าบอคอแตกแบบเดียวกัน อย่างน้อยที่สุดอารมณ์ขันและเสียงหัวเราะก็ไม่ใช่จุดหมายปลายทาง หรือว่ากันตามจริง มันเหมือนกับถูกใช้เพื่ออำพรางประเด็นนำเสนอที่เคร่งขรึมจริงจัง กระทั่งคอขาดบาดตาย และข้อสำคัญคือผูกโยงอยู่กับหน้าประวัติศาสตร์ที่เป็นทั้งความอัปยศและรอยด่างพร้อยในดินแดนที่เชื่อมั่นและชอบโอ้อวดในเรื่องเสรีภาพและความเท่าเทียม

เพื่อเป็นข้อมูล ที่มาของชื่อหนังหรือสมุดปกเขียวก็คือไกด์บุ๊กการเดินทางด้วยรถยนต์สำหรับคนอเมริกันผิวสีในช่วงเวลาที่ การแบ่งแยกยังเป็นเรื่องถูกต้องชอบธรรม จุดประสงค์ของคู่มือติดรถยนต์เล่มนี้ซึ่งเขียนโดย วิกเตอร์ เฮช. กรีน เจ้าหน้าที่ส่งพัสดุผิวสีจากเมืองนิวยอร์ก ก็เพื่อหลีกเลี่ยงความยุ่งยากและเรื่องน่าอับอายขายหน้าอันอาจจะเกิดขึ้นจากปัญหาเรื่องเชื้อชาติและสีผิว และเนื้อหาภายในได้แก่การแนะนำที่พัก ร้านอาหาร และปั๊มน้ำมันที่ต้อนรับคนผิวสี

ลำพังการมีอยู่ของไกด์บุ๊กเล่มนี้ก็ฟ้องถึงสภาวะที่คับแคบของผู้คนในสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และการที่หนังสือได้รับการตอบรับอย่างกว้างขวางจนถึงกับต้องตีพิมพ์เพื่ออัปเดตข้อมูลอย่างต่อเนื่องทุกปีก็ยิ่งฟ้องว่านอกจากนี่ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ สถานการณ์ก็เป็นอย่างที่รู้ๆ กันว่ามันสาหัสสากรรจ์

ว่ากันตามจริง บทบาทของสมุดปกเขียวตามท้องเรื่องของหนังเรื่อง Green Book ก็ไม่ได้โดดเด่นเท่าใดนัก มันถูกใช้เป็นเพียงแค่หลักฐานที่ช่วยยืนยันในสิ่งที่ประจักษ์แจ้งอยู่แล้วทั้งกับตัวละครและผู้ชม นั่นคือบรรยากาศการเหยียดผิวในอเมริกา และเรื่องราวของหนังที่ข้อมูลระบุว่า ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเรื่องจริงก็พาผู้ชมไปสำรวจแง่มุมดังกล่าว ซึ่งพูดแบบไม่อ้อมค้อม ไม่มีอะไรผิดเพี้ยนไปจากเส้นทางที่หนังเรื่องก่อนๆ เหยียบย่ำมานับไม่ถ้วน แต่ในความไม่มีอะไรแปลกใหม่ของสิ่งที่บอกเล่า คนทำหนังก็โชว์ให้เห็นการพลิกแพลงในหลายแง่มุมที่น่าสนใจ และทำให้ความเป็นหนังที่คาดเดาได้และค่อนข้างจำเจซ้ำซาก ไม่ใช่ข้อบกพร่องหรือความอ่อนด้อยสักเท่าใด

อย่างที่รู้กัน คุณสมบัติประการหนึ่งของหนังคู่หูหรือหนังบัดดี้ได้แก่ตัวละครสองคนที่ผิดแผกแตกต่างกันอย่างชนิดไม่อาจหลอมรวม ทว่าถูกสถานการณ์บีบบังคับให้ต้องมาเกี่ยวข้องเชื่อมโยง ในกรณีของ Green Book หนึ่งในสองได้แก่ แอนโทนี วัลเลอลองกา หรือโทนี่ ลิป (วิกโก มอร์เทนเซน ในบทบาทการแสดงที่จะทำให้ภาพของ อารากอน นักรบเจ้าเสน่ห์จากหนังชุด The Lord of the Ringsกลายเป็น ผลงานแต่ชาติปางก่อนโดยปริยาย) หนุ่มใหญ่อิตาเลียน-อเมริกันผู้ซึ่งแนะนำตัวเองว่าทำงานด้านประชาสัมพันธ์ แต่สิ่งที่เราได้เห็นจริงๆ ก็คือบอดี้การ์ดประจำไนต์คลับของเมืองนิวยอร์ก และงานหลักคือการจับลูกค้าที่เมาอาละวาดโยนออกนอกร้าน

อีกรายละเอียดหนึ่งที่หนังบอกเกี่ยวกับโทนี่ซึ่งออกจะดูเจตนาไปสักนิด แต่ก็ช่วยให้ผู้ชมตระหนักถึง ค่าเริ่มต้นของตัวละครที่แจ่มชัดได้แก่ฉากที่เขาแอบโยนแก้วน้ำที่ช่างประปา 2 คนดื่มไว้ทิ้งลงถังขยะด้วยความรังเกียจ ซึ่งโดยอัตโนมัติ เหตุการณ์เล็กๆ นี้ก็ช่วยสนับสนุนประโยคที่น่าสนใจของ ดอน เชอร์ลีย์ (มาเฮอร์ชาลา อาลี) นักเปียโนผิวสี ผู้ซึ่งในอีกไม่นานนักโทนี่ในฐานะโชเฟอร์จะต้องขับรถพาเขาตะลอนไปเล่นคอนเสิร์ตในแดนไกลเป็นเวลานาน 2 เดือน ทำนองว่าเขาไม่จำเป็นต้องกังวลถึงการเดินทางไปรัฐทางตอนใต้ที่ขึ้นชื่อเรื่องเหยียดผิว เพราะการเหยียดผิวดำรงอยู่ทุกหนทุกแห่งอยู่แล้ว

กระนั้นก็ตาม ความแตกต่างอย่างชนิดฟ้ากับเหวระหว่างโทนี่กับดอน เอาเข้าจริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องสีผิว แต่เป็นเรื่องของรากเหง้าและกำพืด โทนี่มาจากโลกที่ไม่ได้แตกต่างไปจากหนังเรื่อง Mean Streets หรือ Goodfellas ของมาร์ติน สกอร์เซซี ที่ดูเอะอะมะเทิ่ง ปราศจากทั้งความละเอียด อ่อนไหว ตลอดจนการขัดเกลาทั้งด้านการศึกษาและรสนิยม เขาพูดในสิ่งที่ตัวเองคิดโดยไม่แคร์ว่ามันจะดูโง่หรือฉลาดอย่างไร และนั่นตรงกันข้ามกับดอนผู้ซึ่งจบด็อกเตอร์ด้านดนตรี และความสามารถในฐานะนักเปียโนของเขาได้รับการแซ่ซ้องสรรเสริญว่าอัจฉริยะ เขาแสดงออกอย่างห่างเหิน รัดกุม สำรวม และถือเนื้อถือตัว ข้อสำคัญ ไม่ปิดบังความเหนือกว่าทั้งฐานะ ชนชั้น และระดับสติปัญญา อันที่จริงในตอนที่เราได้เห็นตัวละครนี้ เขาแต่งเนื้อแต่งตัวราวกับเป็นเจ้าผู้ครองนคร นั่งอยู่บนเก้าอี้ที่อาจเรียกได้ว่าบัลลังก์ และพูดกับโทนี่เหมือนเขาเป็นข้าทาสบริวาร

ไม่มากไม่น้อย นั่นนำไปสู่สถานการณ์ที่กลับตาลปัตรและย้อนแย้ง คนขาวขับรถให้คนดำนั่งในช่วงเวลา (ค.ศ. 1962) และสถานที่ (มลรัฐทางตอนใต้ของอเมริกา) ที่การเหยียดผิวยังเป็นอุณหภูมิปกติ หรืออย่างน้อยก็เป็นอะไรที่แสดงออกได้ตรงๆ ไม่ต้องกระมิดกระเมี้ยน อ้อมค้อม หรือมีลักษณะซุ่มโจมตีอย่างในปัจจุบัน

และว่าไปแล้ว ขณะที่ข้อมูลที่หนังถ่ายทอดไม่ใช่เรื่องเซอร์ไพรส์สำหรับคนดูที่รู้ข้อเท็จจริงอยู่แล้วถึงระดับความน่าสะอิดสะเอียนของพฤติกรรมเหยียดผิวในอเมริกา แต่จนแล้วจนรอดก็ยังคงเป็นเรื่องน่าขัดเคืองอยู่ดี และบางครั้งก็นึกไม่ออกจริงๆ ว่าผู้คนที่มีสติสัมปชัญญะและสามัญสำนึกตอนนั้นปล่อยให้เหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร เช่น การที่คนผิวสีไม่ได้รับอนุญาตให้ไปไหนมาไหนหลังพระอาทิตย์ตกดิน หรือนั่งในร้านอาหารของคนขาวทั้งๆ ที่เขาเป็นแขกคนสำคัญ หรือฉากหนึ่งที่น่าเชื่อว่าคนทำหนังไม่ได้แสดงออกอย่างเกินเลย นั่นคือเหตุการณ์หลังจากดอนเพิ่งจะเล่นคอนเสิร์ตจบและได้รับเสียงปรบมือกึกก้อง แต่เขากลับไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ห้องน้ำซึ่งจำกัดเอาไว้เฉพาะคนขาว และภาพห้องน้ำของคนผิวสีที่เจ้าของบ้านผายมือให้เห็นก็ย่ำยีความรู้สึกของทั้งตัวละครและคนดูอย่างไม่น่าให้อภัย
  
อย่างที่พวกเราคาดเดาได้ไม่ยาก มรรคผลจริงๆ จากการเดินทางไกลครั้งนี้ไม่ใช่การทำให้บรรดาผู้คนที่อยู่กับสังคมเหยียดผิวทางตอนใต้เปิดกว้างและยอมรับมากขึ้น เพราะนั่นเป็นเรื่องเพ้อฝันเกินไป ทว่าตัวละครที่หวนกลับไปเป็นเหมือนกับในตอนเริ่มต้นไม่ได้อีกแล้วก็คือโทนี่ ผู้ซึ่งระหว่างการร่อนเร่พเนจรไปบนท้องถนน มิตรภาพที่งอกเงยก็ทำให้เจ้าตัวตระหนักในสิ่งที่ผู้ชมน่าจะรู้คำตอบดีอยู่แล้วตั้งแต่ต้นว่า สุดท้ายแล้วความแตกต่างในเรื่องสีผิวเป็นเพียงแค่ภาพลวงตา

รวมๆ แล้ว Green Book ไม่ใช่หนังที่ทะเยอทะยาน ทั้งในแง่ของเนื้อหาสาระซึ่งก็ดังที่กล่าวว่าไม่ได้พาผู้ชมไปรับรู้อะไรที่แปลกใหม่ หรือวิธีการนำเสนอซึ่งก็ดำเนินตามสูตรสำเร็จ แต่อย่างที่ใครๆ ก็น่าจะบอกได้เหมือนกัน ส่วนสำคัญของความสนุกสนานและตลกขบขันของหนังมาจากแอ็กติ้งที่สอดประสานกลมกลืนระหว่างสองนักแสดงที่พวกเขาอาจจะไม่มีภาพของการเล่นหนังตลกมาก่อนหน้าอย่างจริงๆ จังๆ กระนั้นก็ตาม การเฝ้าดูทั้งวิกโก มอร์เทนเซน และมาเฮอร์ชาลา อาลี รับส่งบทบาทที่ฉูดฉาดบาดตา แลกเปลี่ยนทัศนคติและความเห็นด้วยปฏิภาณไหวพริบอันแหลมคม และแน่นอนว่าผ่านการแสดงออกอย่างหน้าตายและอมพะนำ ก็สามารถเรียกเสียงหัวเราะได้อย่างสนั่นหวั่นไหวและครึกโครม 
แต่นั่นก็ไม่ใช่ทั้งหมดที่การแสดงอันล้ำเลิศของคนทั้งสองหยิบยื่น และในห้วงเวลาที่ตัวละครต้องเผชิญกับภาวะบีบคั้นกดดัน เราก็สัมผัสได้ถึงความอ่อนไหว อ่อนโยน ความห่วงหาอาทรในฐานะเพื่อนร่วมวิบากกรรม และทั้งหลายทั้งปวง มันไม่เพียงทำให้สิ่งละอันพันละน้อยที่ได้รับการบอกเล่าเต็มเปี่ยมไปด้วยสีสัน ความสนุกสนาน และความมีชีวิตชีวา

แต่ยังช่วยแปรเปลี่ยนให้การดูหนังเรื่อง Green Book กลายเป็นเสมือนการเดินทางที่ช่างเพลิดเพลินและน่ารื่นรมย์


บทความและเรียบเรียงโดย บล็อกหยิกแกมหยอก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น