ช่องในกลุ่มหมวดหมู่เด็ก เยาวชน และครอบครัว หมายเลขช่อง 13-15 ซึ่ง บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด (ช่อง3) ได้หมายเลขช่อง 13, บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) หมายเลขช่อง 14, บริษัท ไทยทีวี จำกัด (เครือทีวีพูล) ได้หมายเลขช่อง 15
ช่องในกลุ่มหมวดหมู่ข่าวสารและสาระ เริ่มจากหมายเลขช่อง 16-22 บริษัท ไทย นิวส์ เน็ตเวิร์ค (ทีเอ็นเอ็น) จำกัด ได้หมายเลขช่อง 16, บริษัท ไทยทีวี จำกัด (ทีวีพูล) หมายเลขช่อง 17, บริษัท ดีเอ็น บรอดคาสท์ จำกัด (เครือบริษัท เดลินิวส์ทีวี) หมายเลขช่อง 18, บริษัท สปริงนิวส์ เทเลวิชั่น จำกัด หมายเลขช่อง 19, บริษัท 3เอ. มาร์เก็ตติ้ง จำกัด หมายเลขช่อง 20, บริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด หมายเลขช่อง 21, บริษัท เอ็นบีซี เน็กซ์ วิชั่น จำกัด (เครือเนชั่น) หมายเลขช่อง 22
ช่องในกลุ่มหมวดหมู่วาไรตี้ทั่วไปแบบความคมชัดปกติ SD หมายเลขช่อง 23-29 ผลการเลือกลำดับคือ บริษัท ไทย บรอดคาสติ้ง จำกัด (ในเครือเวิร์คพอยท์) ได้หมายเลขช่อง 23, บริษัท ทรู ดีทีที จำกัด หมายเลขช่อง 24, บริษัท จีเอ็มเอ็ม เอสดี ดิจิทัล ทีวี จำกัด หมายเลขช่อง 25, บริษัท แบงคอก บิสสิเนส บรอดแคสติ้ง จำกัด (เครือเนชั่น) หมายเลขช่อง 26, บริษัท อาร์.เอส.เทเลวิชั่น จำกัด หมายเลขช่อง 27, บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด (เครือช่อง 3) หมายเลขช่อง 28 และบริษัท โมโน บรอดคาซท์ จำกัด หมายเลขช่อง 29
และช่องในกลุ่มหมวดหมู่วาไรตี้ทั่วไปแบบความคมชัดสูง HD หมายเลขช่อง 30-36 บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ได้หมายเลขช่อง 30, บริษัท จีเอ็มเอ็ม เอชดี ดิจิทัล ทีวี จำกัด หมายเลขช่อง 31, บริษัท ทริปเปิล วี บรอดคาสท์ จำกัด (เครือไทยรัฐ) หมายเลขช่อง 32, บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด(เครือช่อง 3) หมายเลขช่อง 33, บริษัท อมรินทร์ เทเลวิชั่น จำกัด หมายเลขช่อง 34, บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด (เครือช่อง7)หมายเลขช่อง 35 และบริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด ของ นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ได้หมายเลขช่อง 36
ดูเหมือนว่าสงครามครั้งนี้จะไม่มีคราบความเสียใจของผู้ผิดหวัง ตรงกันข้าม ผ่านปี 2557 เพียงไม่ถึงเดือน กลับกลายเป็นว่ามีหลายความเห็นมองว่าผู้ชนะการประมูลบางรายอาจต้องเหนื่อยหนักเพียงเพื่อให้เป็น “ผู้อยู่รอด” ในสมรภูมิดิจิตอลทีวีเฟสแรก เพราะไหนจะต้องแบกต้นทุนค่าใบอนุญาตแสนแพง (ช่องในกลุ่มเด็กประมูลกันหลัก 600 ล้าน,ช่องกลุ่มข่าว ประมูลกันหลัก 1,000 ล้าน,ช่องในกลุ่มวาไรตี้ SD ประมูลกันหลัก 2,000 ล้าน และช่องในกลุ่มวาไรตี้ HD ประมูลกันหลัก 3,000 ล้าน) ไหนยังต้องมีค่าบริการโครงขาย (MUX) เพื่อส่งสัญญาณไปต่างจังหวัด และค่าเช่าสัญญาณดาวเทียมไทยคมเพื่อให้เป็นไปตามกฎ Must Carry ของ กสทช. ไหนจะต้องเจอคู่แข่งฟรีทีวีในระบบดิจิตอล 24 ช่อง บวกกับฟรีทีวีระบบอะนาล็อก 6 ช่อง และยังมีช่องดาวเทียมอีกนับไม่ถ้วน ขณะที่คาดการณ์กันว่าเม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อทีวีอาจไม่โตขึ้น ภายหลังจัดเรียงแนวรบทีวีดิจิตอลครบทั้ง 24 ช่อง สิ่งที่ “เจ้าของช่อง” ต้องรีบดำเนินการต่อไปคือ การเตรียม “คอนเทนต์” เพื่อสามารถออกอากาศให้ได้ภายในเมษายนที่จะถึงนี้ ซึ่งไม่ใช่ว่าจะหยิบรายการอะไรมายำใส่ในผังรายการได้เหมือนก่อน เพราะในสงครามดิจิตอลทีวี ผู้ชมมีทางเลือกเพิ่มขึ้นมากมาย นี่เป็นชนวนให้เกิด “ศึก” แย่งชิงตัวผู้ผลิตคอนเทนต์/รายการแถวหน้าขึ้นเล็กๆ
“การเปิดช่องทีวีดิจิตอลประเภทธุรกิจ 24 ช่อง หมายถึงต้องผลิตรายการ 2 แสนรายการต่อปี ฉะนั้นการแข่งขันมันจะรุนแรง แต่ไม่ใช่แบบฟรีทีวียุคก่อนที่ผู้ผลิตคอนเทนต์ต้องวิ่งเข้าหาสถานีเพื่อขาย “ของ” แต่ยุคทีวีดิจิตอล เจ้าของช่องต้องมาตามตัวผู้ผลิตคอนเทนต์ให้ไปทำ เพราะรายการน้อยกว่าช่อง” จาฤก กัลย์จาฤก ประธานกรรมการบริหาร บมจ. กันตนา กรุ๊ป กล่าว ด้วยประสบการณ์ไม่ต่ำกว่า 30 ปีในการผลิตรายการโทรทัศน์หลากหลายรูปแบบป้อนฟรีทีวีไทยมาแล้วแทบทุกช่อง รวมถึงการมีส่วนร่วมประมูลสถานีไอทีวีเมื่อ 15 ปีก่อน บวกกับการเป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์ในเวียดนามและกัมพูชามากว่า 20 ปี อีกทั้งมีความพร้อมทั้งด้านขุมพลังคอนเทนต์ เทคโนโลยีและบุคลากร รวมถึงเม็ดเงินลงทุน ตลอดจนศักดิ์ศรีของหนึ่งในโปรดักชั่นส์เฮ้าส์ใหญ่ของเมืองไทย ทำให้หลายคนคาดว่า กันตนาจะเข้าร่วมชิงชัยในสงครามทีวีดิจิตอลครั้งนี้ “ขณะที่ทุกคนประกาศตัวว่าจะประมูล กันตนาประกาศว่าเราจะไม่ประมูล เพราะเหตุว่าการลงทุนสูงมาก บวกกับกฎระเบียบของ กสทช. ที่ระบุว่า ทุกช่องต้องมีคนนอกเข้ามาผลิตรายการร่วม 50% จึงไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องเข้าไปแข่งประมูล เราใช้โอกาสนี้เป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ป้อนให้กับทุกช่องที่ต้องการดีกว่า ซึ่งเราก็เป็นมาตั้งแต่อดีต เรารู้ตัวว่าเราทำหน้าที่นี้ดีกว่า เหมาะสมกับเรามากกว่า” อย่างไรก็ดี เพื่อปรับตัวไปสู่การเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ หรือ Content Provider ที่จะรองรับยุคของดิจิตอลทีวีอย่างเต็มรูปแบบ กันตนาได้ปรับรูปแบบธุรกิจครั้งใหญ่ โดยเฉพาะใน “สายงานโทรทัศน์” ซึ่งปัจจุบันมีคอนเทนต์อยู่ 3 กลุ่ม ได้แก่ คอนเทนต์ในช่องทีวีดาวเทียม ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 5 ช่อง คอนเทนต์ที่กันตนาผลิตเองเพื่อป้อนช่องฟรีทีวี (Local Content) ซึ่งนอกจากจะมีกลุ่มละครซึ่งออกอากาศทางช่อง 7 ยังมีรายการหลากหลายประเภทซึ่งออกทั้งทางช่อง 5, 7 และโมเดิร์นไนน์ แต่ที่พิเศษสุดสำหรับปีนี้คือ คอนเทนต์จากต่างประเทศ (International Content) ซึ่งจาฤกยอมรับว่าปีนี้ถือเป็นยุคใหม่ของกันตนา เพราะบริษัทได้ทุ่มงบไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท ในการซื้อฟอร์แมตคอนเทนต์จากต่างประเทศเข้ามาเพื่อจุดพลุให้กับ “กันตนา” ในฐานะ Content Provider บนสมรภูมิดิจิตอลทีวีที่ดุเดือด
“การเกิดของดิจิตอลทีวี 24 ช่อง นอกจากเผชิญการแข่งขันกันเอง ยังต้องสู้กับฟรีทีวีช่องเดิมที่มีฐานผู้ชมเหนียวแน่น ดังนั้นการแข่งขันเพื่อแจ้งเกิดช่องใหม่ จึงจำเป็นต้องมีคอนเทนต์แตกต่าง ปีที่ผ่านมา เราจึงบินไปซื้อรายการลิขสิทธิ์ต่างประเทศทั้งซีรีส์และฟอร์แมทเรียลลิตี้ไว้กว่า 40 รายการ เพื่อเตรียมพร้อมด้านการผลิตคอนเทนต์ป้อนช่องทีวีดิจิตอลในเมืองไทย” ศศิกร ฉันท์เศรษฐ์ ประธานบริหารสายธุรกิจรายการโทรทัศน์ บมจ. กันตนา กรุ๊ป เล่า ล่าสุด กันตนาได้ซื้อลิขสิทธิ์รูปแบบรายการและซีรีส์ชื่อดังระดับโลกมาหลากหลายรายการ อย่างที่คนไทยรู้จักดีก็เช่น Gossip Girl, Ugly Betty, The Face และ American Idol โดยกันตนามีแผนจะนำคอนเทนต์ฟอร์แมตเหล่านี้มาผลิตในเวอร์ชั่นไทย โดยศศิกรเผยว่า ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการเฟ้นหาตัวนักแสดง ทั้งนี้ การลงทุนสร้างฉากสำหรับคอนเทนต์ฟอร์แมตต่างประเทศเพื่อการผลิตในเวอร์ชั่นไทย กันตนาทุ่มเม็ดเงินอีกกว่า 200 ล้านบาทเพื่อสร้างสตูดิโอขึ้นมาใหม่ โดยจาฤกหวังผลว่าสตูดิโอแห่งนี้จะสามารถให้บริการประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะในกลุ่มอาเซียนที่จะเข้ามาใช้บริการถ่ายทำรายการที่เป็นลิขสิทธิ์ฟอร์แมทเดียวกันได้ด้วย ซึ่งถือเป็นอีกบริการที่นอกจากจะทำให้ได้รายได้ ยังทำให้เป้าหมายของกันตนาในการเป็น “ฮับผลิตรายการ” ของภูมิภาคนี้ชัดเจนยิ่งขึ้น
การนำคอนเทนต์ฟอร์แมตที่เป็นที่นิยมจากต่างประเทศเข้ามา ไม่เพียงเพื่อจุดพลุชื่อเสียงให้กับกันตนา สิ่งที่กันตนาต้องการจริงๆ ก็คือ เม็ดเงินการโฆษณา ซึ่งนอกจากรายได้โฆษณาจะเป็นไปตามเรตติ้งที่เกิดขึ้นจริง จาฤกยังเชื่อว่า คอนเทนต์จากต่างประเทศยังสร้างโอกาสที่จะได้ “โกลบอลสปอนเซอร์” หรือการที่ผู้สนับสนุนรายการในต่างประเทศที่พร้อมจะสนับสนุนรายการเดียวกันที่ผลิตในเวอร์ชั่นไทยมาด้วย นอกจากนี้ ด้วยชื่อเสียงความดังในระดับสากลยังช่วยให้สปอนเซอร์ในไทยเกิดความมั่นใจได้ว่า รายการน่าจะเป็นที่นิยมเช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในต่างประเทศ อย่างไรก็ดี ในช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ระหว่างที่ยังไม่ทราบผลการประมูล และท่ามกลางความวุ่นวายทางการเมือง กันตนาเดินหน้านำเสนอคอนเทนต์จากต่างประเทศให้กับบริษัทผู้เข้าร่วมประมูลไว้ล่วงหน้า โดยหลายสถานีที่ประมูลได้ซึ่งกันตนาได้เข้าไปนำเสนอคอนเทนต์ล้วนให้การตอบรับอย่างดี อาทิ ช่อง 3 5 7 โมเดิร์นไนน์ และช่องใหม่อย่าง “ไทยรัฐทีวี” ของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ “ผมว่าคอนเทนต์รายการต่างประเทศช่วงนี้จะเข้ามาเยอะ เพราะผู้ผลิตคอนเทนต์เดิมคิดไม่ทัน ผลิตไม่ทัน อย่างเรา แค่ละครยังไม่ต้องนับการผลิตรายการรูปแบบต่างๆ เราต้องผลิตกันประมาณ 20 เรื่องต่อปี ถ้าเราจะผลิตเพิ่มขึ้นให้ได้ 40 เรื่องต่อปี เพื่อรองรับทีวีดิจิตอลที่เพิ่มขึ้น ถามว่าใครจะมาเขียนบทให้ทัน มีวิธีเดียวคือซื้อบทประพันธ์หรือซื้อฟอร์แมตที่พิสูจน์แล้วว่าฮิตแน่นอนในระดับโลก อันนี้จะทำให้เราผลิตคอนเทนต์ได้เยอะขึ้น” จาฤกกล่าว ศศิกรยอมรับว่า แม้จะเตรียมเรื่องบุคลากรมาสักระยะ และมีสร้างบุคลากรผ่าน “สถาบันกันตนา” แต่ยังมีปัญหาในด้านความคิดสร้างสรรค์ที่ผลิตไม่ทันความต้องการใช้ ด้วยเหตุนี้ กันตนาจึงหาทางออกด้วยการร่วมทุนกับบริษัทผู้ผลิตคอนเทนต์ขนาดกลางและรายย่อย เพื่อเป็นการระดมความชำนาญและความคิดสร้างสรรค์เข้ามา (Idea Pool) ล่าสุด กันตนาร่วมกับบริษัท “ลักษ์ 666” ของวิลลี่ แมคอินทอช และเสนาหอย จัดตั้งบริษัท “กันตลักษ์” เพื่อผลิตทำรายการโทเร่ ซึ่งเป็นฟอร์แมตรายการนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น เริ่มออกอากาศเมื่อวันที่ 3 มกราคม ที่ผ่านมา ทางช่องโมเดิร์นไนน์ โดยศศิกรมองว่าจะใช้กันตลักษณ์ เป็นหัวหอกในการผลิตรายการวาไรตี้แนวสนุกสนาน ซึ่งกันตนาไม่ถนัด ด้าน “ลักษณ์ 666” เอง ก็มีเจ้าของช่องทีวีดิจิตอลรายใหม่เข้ามาติดต่อหลายราย เช่น ไทยรัฐทีวี และเวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ ซึ่งจ้างผลิตรายการช่องละ 3 รายการ อีกทั้งยังต้องผลิตรายการป้อนให้ช่อง 3 โดยที่ยังมีอีกหลายช่องที่เข้ามาเจรจาแต่ยังไม่ได้ข้อตกลง นอกจากการเป็น Content Provider สำหรับช่องทีวีในประเทศไทย กันตนายังมีแผนที่จะเป็น Content Provider สำหรับภูมิภาคอาเซียนและเอเชียแปซิฟิก ซึ่งนอกจากจะเข้าไปดำเนินช่องสถานีโทรทัศน์ในเวียดนามและกัมพูชาแล้ว โดยปีนี้ยังมีแผนที่จะขยายตลาดเพิ่มไปยังอินโดนีเซีย มาเลเซีย พม่า และสิงคโปร์ “ขณะที่เม็ดเงินโฆษณา 7 หมื่นล้านบาท ไม่ได้เพิ่มขึ้น หรืออาจจะเพิ่มขึ้นนิดหน่อย แต่รายการเพิ่มขึ้น ผมว่าสักร้อยเท่า ฉะนั้นต้องจินตนาการว่าช่องรายการจะอยู่ยังไง เพราะอย่างช่อง 3 และช่อง 7 เขาก็ยังแข็งแรงอยู่เหมือนเดิม ช่องใหม่ก็ต้องคิดให้ดีว่าเงินจะถ่ายเทมายังไง ในสมรภูมิรบ เป็นธรรมดาต้องมีผู้ชนะ-ผู้แพ้ รายการโทรทัศน์ก็ต้องมีรายการเรตติ้งอันดับหนึ่งและอันดับบ๊วย ถ้าเป็นตัวจริงเสียงจริงไม่ต้องกลัว เพราะถ้ารายการอันดับบ๊วยเขาก็ต้องหาคนใหม่มาทำแทน ฉะนั้นไม่ต้องกลัวมีงานให้ทำเยอะแยะไปหมด” จาฤกทิ้งท้ายว่า ในช่วง 5 ปีนับจากนี้ หากยังอยู่ภายใต้ยุคบริหารของเขา เขาคงไม่รู้สึกอยากเป็นเจ้าของช่องอีกแล้ว เพราะไม่อยากเหนื่อย และทิ้งภาระให้ลูกหลาน ด้วยเหตุนี้ เราจึงได้เห็น กันตนาในโหมด “Play safe” อันหมายถึง “ปลอดภัย” และ “ประหยัด” แต่ก็เต็มไปด้วยโอกาสให้ไขว่คว้า บนความพร้อมและความชำนาญที่สั่งสมมากว่า 60 ปีจนกว่าที่เฟสสองของสมรภูมิรบจะเปิดฉากใหม่ และ/หรือ ผู้นำทัพชิงชัยทีวีดิจตอลคนใหม่ของกันตนาจะไม่ใช่ผู้อาวุโสวัย 61 ปีคนนี้ เวลานั้นอาจได้เห็นกันตนาในโหมดอื่น
ทีวีพูล เปิดฉากประกาศสู้ศึกทีวีดิจิตอล จับมือโพสต์พับบลิชชิ่ง ผลิตข่าวให้ช่อง THV วันละ 6 ชม. ทำสัญญาแบบเอ็กคลูซีพ ติ๋มทีวีพูลมั่นใจขึ้นแท่นเป็นเบอร์ 1 ในอีก 5 ปี…
แกรมมี่จับมือซีทีเอชจับตลาดพรีเมียมแมส คาดปีนี้ปิดรายได้ 1.5-2 พันล้าน “อาร์เอส” ดันช่อง 8 ลงสมรภูมิทีวีดิจิตอล ลั่นปีแรกกำไรแน่นอน มั่นใจปีนี้ปิดรายได้รวม 5,000 ล้านบาท เติบโต 43%
นายเดียว วรตั้งตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มงานแพลตฟอร์ม แอนด์ สปอนเซอร์ชิพ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แซท เทรดดิ้ง จำกัด เปิดเผยว่า ทางบริษัทและพันธมิตรทางธุรกิจได้ทำการเปิดแพ็กเกจ CTHZ Premier League+HD (แพ็กเกจซีทีเอชแซท พรีเมียร์ลีก พลัส เอชดี) ซึ่งจะเป็นทางเลือกใหม่ให้กับผู้บริโภคได้ชมการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอล ‘บาร์เคลย์ส พรีเมียร์ลีก’ พร้อมด้วยการแข่งขันฟุตบอลระดับโลกไม่ต่ำกว่า 1,000 แมตช์ตลอดปี อาทิ บุนเดสลีกาเยอรมัน, ลีกเอิงฝรั่งเศส ด้านนายฟ้าใหม่ ดำรงชัยธรรม ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มงานแพลตฟอร์ม บริษัท จีเอ็มเอ็ม แซท เทรดดิ้ง จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับซีทีเอชแซท พรีเมียร์ลีก พลัส เอชดี แพ็กเกจจะมีให้บริการในกล่องจีเอ็มเอ็ม แซท เอชดีทุกรุ่น และในตอนนี้จีเอ็มเอ็ม แซท ได้มีการเปิดตัวกล่องเอชดีรุ่นใหม่คือ รุ่นจีเอ็มเอ็ม แซท เอชดี ไลต์ (HD LITE) มูลค่า 1,590 บาท ซึ่งจะสามารถรองรับดิจิตอลได้ครบทั้ง 48 ช่อง รวมทั้งคอนเทนต์ต่างๆ ที่เป็นเอชดีอีกด้วย สำหรับเป้าหมายรายได้ในปีนี้จะอยู่ที่ 1,500-2,000 ล้านบาท เติบโตเท่าตัวหากเทียบกับปีที่แล้ว โดยคาดการณ์ว่าหากมีคูปองจาก กสทช.เข้ามาจะช่วยผลักดันตลาดให้เติบโตได้อีก ซึ่งขณะเดียวกันก็จะส่งผลให้ทางบริษัทอาจมียอดขายกล่องอยู่ที่ 1-5 ล้านกล่องในปีนี้ นายกฤษณัน งามผาติพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ซีทีเอช เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทได้ทำการร่วมมือกับทางจีเอ็มเอ็ม แซท และมั่นใจว่าจะสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้ชมได้มากยิ่งขึ้น
นายสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อาร์เอส เปิดเผยว่า ในปีนี้นับได้ว่าเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงของวงการโทรทัศน์ของประเทศไทย เนื่องจากมีการส่งสัญญาณให้มีการรับชมฟรีทีวีในระบบดิจิตอล ซึ่งทางอาร์เอสก็ได้นำช่อง 8 ก้าวสู่ไลเซนของระบบทีวีดิจิตอลด้วยเช่นกัน ซึ่งคาดว่าจะมีรายได้ในปีนี้อยู่ที่ 850 ล้านบาท เติบโต 70% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยมั่นใจว่าในปีแรกจะสามารถทำกำไรได้ทันที ซึ่งจะมีคอนเทนต์ใหม่ทางช่อง 8 ประมาณ 16 ชั่วโมง จาก 24 ชั่วโมง
“รายได้ปีนี้ตั้งเป้าอยู่ที่ 5,000 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 12% ขณะที่รายได้เติบโตประมาณ 43% โดยรายได้กว่า 73% เป็นของธุรกิจมีเดีย และแนวโน้มคาดว่าอีก 2-3 ปี จะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 90% ขณะที่ธุรกิจเพลง 13% คิดเป็น 650 ล้านบาท โดยธุรกิจเพลงจะมีแนวโน้มของรายได้ที่ลดลงตามตลาด” นายสุรชัยกล่าว
กลยุทธ์ที่จะถูกนำมาใช้ในสงครามการต่อสู้ของทีวีดิจิตอลในยุคฝุ่นตลบนี้ก็คือ
1.ดึงเอา content ที่ขายได้ดีอยู่เดิม,เรตติ้งสูง,มีแฟนคลับประจำ,ใช้บุคลากรที่เป็นที่รู้จัก-ยอมรับ หรือว่านิยมชมชอบ มานำเสนอเหมือนเดิม กลยุทธ์นี้ ผู้เขียนขอใช้คำเรียกว่า ขายของเก่า เล่าเรื่องเดิม เติมความเน่า เข้าไปอีก ถ้าเป็นช่องข่าว คุณก็จะได้เห็นนักเล่าข่าวคนเดิม นักจ้อข่าวคนดังๆ คนเดิมๆ ที่คุ้นหน้าคุ้นตา เล่าข่าวในสไตล์เดิมๆ ดราม่าข่าวแบบเดิมๆ ที่ขายได้อยู่แล้ว ถ้าเป็นละครก็จะได้ชมละครประเภทรีเมคแล้ว รีเมคอีก ดาราเจ้าบทบาทคนเดิมๆ พล็อตเรื่องแซ่บๆ เดิมๆ ที่พอเดินผ่านหน้าทีวีไปเมื่อไหร่ก็จะพบว่ายุงชุมมาก แม่ผัว ลูกสะใภ้ ตบตีแย่งสามีชาวบ้าน ไดอะล็อกจิกด่าแรงๆ มีผี กระเทย ตลกเป็นเครื่องชูโรงไม่ให้เฝือ ถ้าเรตติ้งดี เนื้องเรื่องจะยืดเป็นชาติเลยกว่าจะจบ ถ้าเป็นเกมส์โชว์อันนี้พอมีความหวังอยู่บ้าง เพราะคงต้องแข่งกันเรื่องไอเดีย ความคิดสร้างสรรค์ ความสนุก ความฮาครบรส และที่ลืมไม่ได้บรรดารายการเรียลลิตี้โชว์ต่างๆทั้งหลาย ทีนี้จะงัดมาสู้กันหลากหลายแนวมากขึ้น สร้างประเด็น ดราม่าแข่งกัน เพื่อแลกกับกระแส และผลโหวต
2.ซื้อดะ ขอให้เป็น content ที่ดี มีรางวัลการันตี หรือมีเรตติ้งสูงในต่างประเทศ อาจซื้อมาฉายเป็นแบบออริจินัลเลยก็ได้ แล้วแปลซับหรือพากย์ให้คนไทยได้ดู เช่น ซีรี่ย์ดังๆ จากต่างประเทศ,รายการสารคดีดีๆ,รายการเกมส์โชว์,เรียลลิตี้โชว์,ทอลค์โชว์,คอนเสิร์ต,กีฬา หรือซื้อแฟรนส์ไชส์ของ content นั้นแล้วมาดัดแปลงผลิตเป็นแบบโปรดักชั่นไทย เช่น เกมส์โชว์,เรียลลิตี้โชว์,รายการสอนทำอาหาร,รายการควิซโชว์ ตอบคำถาม,รายการประกวดต่างๆ ฯลฯ
3.นำ content เก่าๆ ที่เคยได้รับความนิยมมาแล้วกลับมาฉายใหม่หรือฉายรีรัน เพื่อฆ่าเวลาบางส่วนที่ไม่สามารถหารายการที่ผลิตใหม่มาลงฉายได้ครบทุกช่วงเวลา เช่น ละคร ซีรี่ย์ คอนเสิร์ต ภาพยนตร์ กีฬา เรียลลิตี้โชว์ เกมส์โชว์ สารคดี ฯลฯ
ยังจำได้ในยุคก่อตั้งทีวีสี ที่เปลี่ยนมาจากยุคทีวีขาวดำ ช่อง 3 กับช่อง 7 ก็เคยซื้อซีรี่ย์หนังจีนแข่งกันมาฉายในช่วงเวลากลางวัน เย็น จวบจนกระทั่งกลางคืนให้คนไทยดู ในยุคนั้นยังผลิตละครไม่ค่อยเยอะ จะมีละครใหม่ก็เพียงช่วงหัวค่ำหรือกลางคืนตอนไพร์มไทม์เท่านั้น นอกนั้นเป็นซีรี่ย์จีนกับซีรี่ย์ฝรั่งล้วน
เราคงยังไม่คาดหวังกับ content ใหม่ ๆ ดี ๆ สด ๆ ในช่วงแรกมากนัก แต่อาจมีบ้าง คงไม่ถึงกับไม่มีเสียเลย แต่เป็นรายการที่ต้องลงทุนสูง และใช้บุคลากรที่มีความรู้ ความเชียวชาญ กึ๋นเป็นอย่างสูง อย่างเช่นที่ แกรมมี่กับจีทีเอช ร่วมกันทำ ซีรี่ย์ฮอร์โมนส์ เมื่อปีที่แล้วจนโด่งดังไปทั่วเอเชีย แบบนั้น เรายังหวังจะมีสิ่งใหม่ๆ แบบนี้มาให้คนไทยได้ชมเยอะๆ ในช่วงเปลียนผ่านเข้าสู่ยุคทีวีดิจิตอลอย่างแท้จริง เหมือนที่ในประเทศที่เจริญแล้วเขาทำกัน