วันพุธที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2562

บุคคลแห่งปี 2019


ประวัติ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ อดีตนายกรัฐมนตรี 3 สมัยของไทย ถึงแก่อสัญกรรม สิริอายุ 98 ปี
จากการถึงแก่อสัญกรรมของ  พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ ซึ่งจากไปอย่างสงบเมื่อช่วงเช้าวันที่ 26 พฤษภาคม 2562 สิริอายุ 98 ปี นั้น
สำหรับ พล.อ. เปรม เกิดที่ ต.บ่อยาง อ.เมืองสงขลา จ.สงขลา เป็นบุตรชายคนรองสุดท้อง จากจำนวน 8 คน ของรองอำมาตย์โทหลวงวินิจทัณฑกรรม (บึ้ง ติณสูลานนท์) ต้นตระกูลติณสูลานนท์ กับนางวินิจทัณฑกรรม (ออด ติณสูลานนท์)


การศึกษา และ ราชการทหาร

พล.อ. เปรม สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา สงขลา ในหมายเลขประจำตัว 167 และโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เมื่อปี 2480 จากนั้นเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเทคนิคทหารบก รุ่นที่ 5 สังกัดเหล่าทหารม้า  ภายหลังสงคราม  พล.อ. เปรม รับราชการอยู่ที่ จ.อุตรดิตถ์ และได้รับทุนไปศึกษาต่อที่โรงเรียนยานเกราะของกองทัพบกสหรัฐ ที่ฟอร์ตน็อกซ์ รัฐเคนทักกี้ แล้วกลับมารับตำแหน่งรองผู้บัญชาการโรงเรียนยานเกราะ ต่อมามีการจัดตั้งโรงเรียนทหารม้ายานเกราะ ศูนย์การทหารม้า ที่ จ.สระบุรี

เมื่อจบการศึกษาในปี 2484 พล.อ. เปรม ได้เข้าร่วมรบในสงครามอินโดจีนระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ที่ปอยเปต ประเทศกัมพูชา จากนั้นเข้าสังกัดกองทัพพายัพ ภายใต้การบังคับบัญชาของหลวงเสรีเริงฤทธิ์ (จรูญ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์) ทำการรบในสงครามโลกครั้งที่สอง ระหว่างปี 2485 - 2488 ที่เชียงตุง
พล.อ. เปรม ได้รับพระบรมราชโองการเป็นผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้า ยศพลตรี เมื่อปี 2511 ในช่วงระยะเวลา 5 ปี  ย้ายไปเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 2 ดูแลพื้นที่ภาคอีสาน ในปี 2516 และเลื่อนเป็นแม่ทัพภาคที่ 2 ดูแลพื้นที่ภาคอีสานเมื่อปี 2517 ได้เลื่อนยศเป็นพลเอก ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก เมื่อปี 2520 และเลื่อนเป็นผู้บัญชาการทหารบก ในปี 2521

นอกจากยศ พลเอก แล้ว พลเอกเปรม ยังถือว่าเป็นหนึ่งในบุคคล ที่ในปัจจุบันที่มิใช่พระบรมวงศานุวงศ์ ที่ได้รับยศ พลเรือเอก ของกองทัพเรือ และ พลอากาศเอก ของกองทัพอากาศ ด้วย จากการพระราชทานโปรดเกล้าฯ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2529 ในระหว่างที่ พลเอกเปรม ยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่
ตำแหน่งทางการเมือง

ในปี 2502 ในสมัยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ พล.อ. เปรม ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ จากนั้นได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติ และวุฒิสมาชิก ช่วงปี 2511-2516 ในสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร
พล.อ. เปรม รับตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นครั้งแรกในรัฐบาล พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีอย่างต่อเนื่องในรัฐบาลนั้น ในช่วงปลายรัฐบาล พล.อ. เกรียงศักดิ์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ควบคู่กับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก


พล.อ. เปรม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต่อจาก พล.อ. เกรียงศักดิ์ เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2523 เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 16 ของไทย ซึ่งตลอดระยะเวลาของพลเอกเปรมในการบริหารประเทศ ได้มีผลงานสำคัญมากมาย เช่น การปรับปรุงประมวลกฎหมายรัษฎากรและกฎหมายสรรพสินค้า เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่สังคม การสร้างงานตามโครงการสร้างงานในชนบท (กสช.) การจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐบาล และเอกชน (กรอ.) เพื่อส่งเสริมบทบาททางการค้าและการลงทุนของภาคเอกชนภายในประเทศ การดำเนินการปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในประเทศไทยอย่างได้ผล โดยนำนโยบายการใช้ "การเมืองนำการทหาร" ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 เป็นผลให้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยอ่อนกำลังลงและสลายตัวไปในที่สุด
พล.อ. เปรม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 3 สมัย ประกอบด้วยช่วงปี 2523-2526, 2526-2529 และ 2529-2531


หลังพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นองคมนตรี ในวันที่ 23 สิงหาคม 2531 จากนั้นในวันที่ 29 สิงหาคม 2531 ได้รับโปรดเกล้าฯ ยกย่องให้เป็นรัฐบุรุษ และในวันที่ 4 สิงหาคม 2541 มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้เป็นประธานองคมนตรี และในวันที่ 2 ธันวาคม 2559 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้เป็นประธานองคมนตรี จึงนับว่า พล.อ.เปรม เป็นประธานองคมนตรี 2 รัชกาล

เครดิตข้อมูลและภาพจาก Kapook.com


ในปีนี้ เพจหยิกแกมหยอก ยังขอมอบรางวัล "บุคคลแห่งปี"  ให้กับบุคคลสำคัญอีก 2 ท่าน ที่ทำประโยชน์และคุณงามความดีให้กับสังคมไทย และมีบทบาทมากทางสังคม ได้แก่




คุณไทด์  บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์    จากบทบาทหัวหน้าทีมกู้ภัย ของมูลนิธิร่วมกตัญญู ที่ลงไปช่วยเหลือเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่ภาคอีสาน ในปีนี้ และบทบาทการเป็นฮีโร่ช่วยคนมากมายก่อนหน้านี้ ที่ทำงานช่่วยเหลือสังคมมาอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ  (ทางเพจไม่ขอลงประวัติ รายละเอียดผลงาน สำหรับบุคคล 2 ท่านหลัง)




และ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา

ศาสตราจารย์สาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการโรคทางสมอง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์โรคติดเชื้อ โรคอุบัติใหม่ สภากาชาดไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ในรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา 

อาจารย์มีบทบาทในการเป็นผู้นำสนับสนุนให้มีการนำกัญชามาใช้ในเชิงการแพทย์ และผลักดันให้มีการนำกัญชามาสกัดทำเป็นตัวยา เพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่ไม่สามารถรักษาด้วยยาอื่นให้หายขาดได้ อาทิ ผู้ป่วยโรคมะเร็ง เป็นต้น อีกทั้งอาจารย์ ยังเป็นแกนนำในคณะกรรมการปฏิรูปด้านสาธารณสุข ให้มีการต่อต้าน หรือแบน 3 สารเคมีอันตรายที่ใช้ในเชิงการเกษตร อาทิ สารพาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอส จนเคยถูกข่มขู่ เอาชีวิตมาแล้ว แต่อุดมการณ์และความตั้งใจที่ดีของอาจารย์ ก็มีส่วนผลักดันให้กระแสสังคมได้ตื่นตัว ออกมาปกป้องและสร้างการรับรู้ ให้ตระหนักถึงอันตราย และมาตรฐานในการรักษาความปลอดภัยให้แก่เกษตรกร และภาคประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภคโดยตรงของผลผลิตจากการเกษตร อีกด้วย

จึงคู่ควรแล้วที่บุคคลทั้ง 3 ท่าน ในปีนี้ จะได้รับรางวัล "บุคคลแห่งปี 2019" ในปีนี้

บทวิเคราะห์และเรียบเรียงโดย หยิกแกมหยอก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น